ปกิณณกธรรม ตอนที่ 749


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๔๙

    สนทนาธรรม ที่ กนกรัตน์ รีสอร์ท อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

    วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ โลภะนี่ชอบกันมากเลย แสวงหา ติดข้องแล้วก็ไม่รู้เลย ทุกข์เพราะความต้องการ การแสวงหา อยู่มาด้วยความไม่รู้ และก็อยู่ต่อไปด้วยความไม่รู้ อีกนานเท่าไรจนกว่าความรู้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ตามกำลังของความเข้าใจ เพราะฉะนั้น ต้องมีปริยัติ คือ การฟังพระพุทธพจน์ ไม่ใช่ฟังเฉยๆ รอบรู้ในแต่ละคำ ถ้าคำนี้ไม่เข้าใจ คำต่อไปก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้าเข้าใจคำว่า ธรรม เข้าใจคำว่า อนัตตา เข้าใจคำว่า รูปธรรม เข้าใจคำว่านามธรรม ก็สามารถที่จะเห็นความสอดคล้องของพระธรรมทั้งหมด ที่ทรงแสดงเพื่อให้เห็นถูกตามความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น จะเชื่อใคร จะมีใครเป็นที่พึ่ง ถ้าเชื่อคนอื่น ไม่ต้องกล่าวคำว่า มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ไม่มีคำว่า พุทธังสะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ เพราะเชื่อคำคนอื่น ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าคำของคนอื่นไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าผู้ฟังไม่ได้เกิดปัญญาเลย แต่ทุกคนที่ไปฟังพระธรรม เริ่มมีความเข้าใจเป็นปัญญาของตนเอง มีเงินทองมากมายมหาศาล ซื้อปัญญาไม่ได้ ขอใครก็ไม่ได้ อ้อนวอนไปกราบพระผู้มีพระภาคขอปัญญาก็ไม่ได้ ทรงแสดงไว้เลย พระองค์ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนสิ่งที่แต่ละคนสะสมมา ต้องเป็นบุคคลนั้น ที่มีความเข้าใจขึ้น เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ที่ชี้ทาง สำหรับเดิน แต่ว่าถ้าหลงทาง พระองค์ชี้ทางนี้ แต่เดินไปทางอื่น ไม่มีทางที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาตินี้ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาติหน้าจะรู้จักไหม ทุกชาติก็หันหลังให้พระสัทธรรม ด้วยความไม่รู้ เพราะไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า คำของพระพุทธเจ้าต้องเป็นคำจริง เมื่อฟังแล้วต้องเป็นความเข้าใจของตนเอง นี่เป็นทรัพย์ที่ประเสริฐสุด เพราะว่าติดตามไป เพราะว่าทรัพย์นี้อยู่ในใจ ความเข้าใจเป็นเจตสิก ไม่ใช่เรา ใช้คำว่า ปัญญาเจตสิก หรือว่าสัมมาทิฏฐิก็ได้ ความเห็นที่ถูกต้อง เกิดแล้วก็ดับ แต่ก็สะสม

    เพราะฉะนั้น แต่ละคน รู้ได้ว่า สะสมมาไม่เหมือนกัน บางคนโลภะมาก บางคนโทสะมาก บางคนโมหะมาก บางคนก็เมตตากรุณา ก็แล้วแต่อัธยาศัยต่างๆ กัน แต่มีครบ แต่อะไรจะมากจะน้อย ใครรู้ เมื่อเกิดขึ้นจึงรู้ ถ้าไม่เกิดขึ้นจะรู้ไหม บางคนทำฟังธรรมมาถึง ๓๐ ปี หันหลังให้พระสัทธรรม คิดเอง ที่ฟังมาผิด เขาต้องคิดต่างหาก ไม่ว่าตรัสด้วยอะไรก็ให้คิดว่าขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน ก็คิดไป ขณะนี้เป็นรูป ก็คิดไป ขณะนี้เป็นนาม ก็คิดไป เพราะฉะนั้น ไม่เข้าใจในคำว่า ตรัสรู้ ไม่ใช่ปริยัติ แต่ถึงปฏิปัตติ แล้วก็ถึงปฏิเวธ เป็น ปัญญาตามลำดับขั้น ซึ่งทรงแสดงไว้ละเอียดทุกประการในพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น พระธรรมเป็นที่พึ่ง คือ ศึกษาคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วทั้งหมด ในพระไตรปิฎก เพื่อจะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เข้าใจเมื่อไร มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง สำหรับอะไร เพื่อประพฤติตาม ไม่ใช่เราจะอยากจะประพฤติตามเหลือเกิน แต่ความเข้าใจนั่นแหล่ะ ประพฤติตามที่เข้าใจ เข้าใจแค่ไหน ก็ค่อยๆ ประพฤติตามแค่นั้น เมื่อวานนี้เราพูดที่เห็นกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ อยู่ในใจหรือเปล่า หรือว่าอยู่แล้วก็ลืมไปเลย ไม่ได้กลับมาคิดถึงเลยว่า สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ จริงแค่ไหน คำง่ายๆ ธรรมดา เราก็หลงว่าเราเห็นดอกไม้เห็นสิ่งต่างๆ แค่หลับตา เพียงไม่มีสิ่งที่ปรากฏ ไม่มีรูปร่างสีสัน ไม่มีสัณฐานใดๆ ความคิดว่า โต๊ะ ว่าคน บ้านเรือนจะมีได้ไหม ก็ไม่มี

    เพราะฉะนั้น แต่ และขณะ ปัญญาต้องเข้าถึงแต่ละลักษณะ ซึ่งไม่ใช่อย่างเดียวกัน และก็แต่ละหนึ่งเกิดขึ้นปรากฏ ขณะนั้นก็รู้เฉพาะ คือ ปฏิปัตติ ปฏิ แปลว่า เฉพาะ ปัตติ แปลว่า ถึง ไม่ใช่เราไปถึง แต่ความเห็นถูกตั้งแต่เริ่มฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้นจนกว่าจะถึงขณะซึ่งตรงนี้ที่กำลังเห็น เริ่มเข้าใจ ไม่ใช่ชื่อ แต่เป็นลักษณะที่สามารถรู้ หรือเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา พอเสียงปรากฏ ดับแล้ว ยังไม่ได้มีความเข้าใจพอ ที่พอ ที่ขณะที่เสียงปรากฏ นั่นแหละ ลักษณะของเสียงปรากฏเพราะจิตรู้ และปัญญาที่สามารถรู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง คือ ได้ยิน ไม่ใช่เสียง กว่าจะแยกออกจากกันไปได้ จึงจะค่อยๆ คลายความไม่รู้ จนกว่าจะถึงปฏิปัตติ และปฏิปัตติ และปฏิปัตติอีกนานเท่าไร จนจะถึงปฏิเวธ แทงตลอดคำที่ได้ยินทั้งหมด ตรงกับที่ได้ฟัง บังคับได้ไหม ไม่ได้ หมดหรือยัง หมดแล้ว ใครได้ยิน ไม่มีใคร ได้ยินเกิดแล้วดับไป เพราะถ้าไม่รู้อย่างนี้ อย่าหวังว่าจะไปละกิเลส อุปาทานอยู่ที่สิ่งที่ปรากฏ ขณะนี้เห็น อุปาทานก็ยึดว่าเป็นดอกไม้ โต๊ะ เก้าอี้

    เพราะฉะนั้น จะละการเข้าใจผิด ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ต่อเมื่อฟังแล้ว เมื่อไรที่มีการถึงเฉพาะแต่ละหนึ่ง ขณะนั้นปัญญาก็รู้ว่า หนึ่ง เดี๋ยวนี้มากมายหมด ยังไม่ถึงไหนเลย เพราะฉะนั้น ลักษณะของสติสัมปชัญญะต้องต่างกับสติ ในขณะที่กำลังเข้าใจ ในขั้นการฟัง นี่คือพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ๔๕ พรรษา

    ถ้าใครพูดว่า ไม่ต้องศึกษาธรรม ไม่ต้องมีปริยัติ ก็ปฏิบัติได้ ผิดหรือถูก จะเอาอะไรมาปฏิบัติ จะเอาอะไรมารู้ และใครจะรู้ถ้าไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วไม่ฟังก็รู้ได้เลยทันที ผู้นั้นประมาทคำสอน ผู้นั้นไม่เข้าใจธรรม ผู้นั้นไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้นั้นกำลังทำให้พระศาสนาลบเลือน เพราะว่า ไม่แสดงสิ่งที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้แล้ว เป็นความคิดของตัวเอง ซึ่งต้องผิด เพราะฉะนั้น ก็เป็นมงคลที่ได้มีการสนทนาธรรม และก็ปัญหาทั้งหมด คำถามทั้งหมด มีคำตอบในพระไตรปิฎก

    อ.คำปั่น เมื่อสักครู่ที่ท่านอาจารย์ได้สนทนาถึงว่า ถ้าไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาตินี้ ชาติหน้าจะรู้จักได้อย่างไร ในความละเอียดเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สมัยพุทธกาล ยังไม่ปรินิพพาน มีพวกที่มีความเห็นผิดมากไหม มาอย่างไร ไปอย่างไร พระพุทธเจ้าประทับที่พระเชตวัน ไม่แม้แต่จะมาฟังธรรม เพราะอะไร อะไรกั้นไว้ ความเห็นผิดใช่ไหม แล้วยังจะสงสัยอะไร ขณะชาตินี้เห็นผิด จะเห็นผิดไปตลอด จนถึงชาติต่อๆ ไปด้วย เว้นบุคคลในครั้งพุทธกาล เพราะเห็นผิดจึงไม่ไปเฝ้าเพื่อฟังธรรม แล้วเราก็จะเป็นคนหนึ่งในบุคคลเหล่านั้นข้างหน้า ถ้าเราไม่ฟังธรรมเดี๋ยวนี้ และไม่รู้ว่า พระธรรมนั้น คือ พูดถึงสิ่งที่มีจริงให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งเป็นปัญญาของเรา เป็นอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ที่ประเสริฐ เพราะใครก็เอาไปไม่ได้ ลมแดดยังไม่ต้อง เพราะว่าอยู่ในจิต ออกจากจิตไม่ได้ ซึ่งเกิดดับสืบต่อ แต่ละชาติจนถึงขณะนี้ และขณะต่อไป

    อ.คำปั่น ก็เป็นข้อคิดเตือนใจที่ดีว่า ขณะนี้พระธรรมยังดำรงอยู่ สืบต่อมาอยู่ ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้ศึกษา ที่จะได้สะสมความเข้าใจ จากพระธรรมในแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งในตอนต้นเรื่อง ท่านอาจารย์ ได้กล่าวถึงว่า ทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกโดยตลอด

    ผู้ฟัง ในหมู่ที่ยังเริ่มต้นแล้วไม่รู้อะไร ใช่ไม่ใช่ หรือ ถูกไม่ถูก อย่างไรถึงจะรู้ว่าเราไม่ไปสิ่งผิด แล้วก็มาสิ่งถูก ตรงนี้เป็นอะไรที่มันยากมากๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เคยได้ยินพระธรรม ใครก็คิดไม่ออก แต่เมื่อได้ยินแล้ว แล้วแต่การสะสม คนที่ได้ยินแล้วไม่สนใจก็มี และยังไปเชื่อในสิ่งที่ไม่มีเหตุผลด้วยก็มี ตามการสะสม แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่สามารถบันดาลให้ใครเห็นถูกได้ แต่ทรงแสดงความจริง วาจาสัจจะ เพราะฉะนั้น ผู้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรง จะรู้ความจริงไหม ในเมื่อมีความจริงที่กำลังมีจริงๆ สามารถที่จะรู้ได้ และก็ต้องรู้ก่อนว่า อะไรคือความจริง ต้องสิ่งที่มีจริงในขณะนั้น ขณะที่ล่วงไปแล้ว หมดแล้ว ไม่กลับมาอีก ขณะที่ยังไม่มาถึง อะไรจะเกิดก็ไม่รู้ ไปนั่งหวัง ว่าจะต้องเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้เกิด ไปรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ขณะนั้นไม่เข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ไม่เข้าใจแม้แต่คำที่พูดว่า สติ ให้มีสติอยู่ที่ลมหายใจ ยังไม่รู้จักลักษณะของสติเลย ให้มีสติได้อย่างไร น่าจะเฉลียวใจตั้งแต่เขาบอกว่า ให้มีสติ ก็คือว่า ยังไม่รู้จักสติ แล้วให้เรามีสติ ให้ได้อย่างไร ใครทำให้มีสติได้ เพราะฉะนั้น การได้ฟังธรรม และการเป็นผู้มีเหตุผลในชาตินี้ ชาติต่อไป ไปพบอะไรก็คิดได้ ในเรื่องเหตุผลว่าถูกต้องหรือเปล่า ก็สามารถที่จะมีที่พึ่งได้ คือมีความเห็นถูกเข้าใจถูกว่า ทุกอย่างที่ถูก ต้องเป็นเหตุผล

    ผู้ฟัง ฟังเอง และเข้าใจเองว่า อันนี้คือถูก อันนี้คือผิด ก็ยังฟังอะไรที่ปนไประหว่างผิดๆ ถูกๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องตรงต่อทุกคำ ถ้าบอกว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ธรรมคืออะไร เดี๋ยวนี้มีธรรมไหม เป็นอนัตตาอย่างไร ถ้าบอกว่า ธรรม คือสิ่งที่มีจริง ทุกขณะมีปัจจัยเกิดขึ้น และดับไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แล้วจะไปไหน ไปทำอะไร ไปสำนักไหน แล้วบอกให้รู้อะไร ถ้าบอกให้มีสติ ยังไม่รู้เลยว่า สติเป็นอย่างไร และจะไปมีสติ ได้อย่างไร แล้วใครจะให้มีสติ นอกจากตัวตนเข้าใจผิด คิดว่าทำให้มีสติ หรือ ทำให้สติเกิดได้ แต่ถ้าเป็นคำสอน สติ ตรงตัว ที่ทรงแสดงไว้ ระลึกได้ ระลึกได้นี่ต้องเป็นกุศลด้วย เพราะเหตุว่า สติเป็นธรรมฝ่ายดี ถ้าเราคิดได้ว่า เมื่อวานนี้ เรารับประทานอะไร คนไม่รู้ก็อาจจะบอกว่า สติ แต่ความจริงไม่ใช่สติ เพราะขณะนั้น ระลึกได้ เป็นเราที่ระลึกได้ แล้วก็ระลึกได้เรื่องอะไร ไม่ใช่เรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏให้เข้าใจได้เลย เพราะฉะนั้น สติระลึกได้ และใช้คำว่า ระลึกรู้สึกตัวทั่วพร้อม ทุกคำกำกับหมด รู้สึกตัว เคยเข้าใจว่า มีตัว จึงรู้ที่ตัว รู้สึกที่ตัวใช่ไหม ไม่ใช่เป็นรู้ที่อื่น แต่ที่ตัวเพราะเคยเข้าใจว่า มีตัว ก็ระลึกได้ที่ตัว แต่ว่าเพียงคิดถึงสิ่งที่มีที่เคยเป็นตัว ไม่ใช่สติ เพราะฉะนั้น ระลึกได้จากปัญญาที่ฟัง ว่าเคยเป็นตัว แต่ความจริงเป็นอะไร ต้องมีลักษณะของแท้ ของจริงปรากฏให้รู้ว่า เป็นสิ่งนั้นจึงจะไม่ใช่ตัว เพราะฉะนั้น ที่ตัวตรงนี้เดี๋ยวนี้ทุกคนมี รู้ตัว รู้อะไร

    ผู้ฟัง จริงๆ ถ้าศึกษาก็ทราบว่า แข็ง หรือเย็น หรืออะไรที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เมื่อกระทบสัมผัสแล้ว อะไรมี ตัวมี หรือแข็งมี

    ผู้ฟัง ถ้ารู้ตัวก็ แข็งมี ตัวไม่มี

    ท่านอาจารย์ ก็เริ่มเข้าใจถูกต้องว่า ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัว ก็เพราะแข็งนี้แหละ ที่มีอยู่ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เพราะไม่รู้ จึงเข้าใจว่า แข็งนี่แหละเป็นตัว แต่ถ้าไม่มีแข็งเลย ตัวจะมีไหม ก็ไม่มี แต่พอมีแข็ง แล้วไม่รู้ว่า แข็งเป็นแข็ง และแข็งก็เกิดขึ้น และแข็งก็ดับไปด้วย และแข็งที่ปรากฏนี่ ไม่ใช่ทั่วตัวเลย แสดงอย่างชัดเจนว่า ไม่มีตัวจริงๆ แต่มีธรรม แต่ละลักษณะ ซึ่งปรากฏได้แต่ละทาง และถ้าเป็นปัญญาที่ถึงพร้อมสมบูรณ์แข็งเกิดแล้วดับไป จึงจะรู้ว่า แข็งเป็นแข็ง เกิดดับไม่เที่ยง ความเป็นตัวตนก็ค่อยๆ คลายลง จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยเรา ไปนั่งทำ นั่งคิด แล้วก็ไม่รู้อะไรสักอย่างเดียว บอกมาก็จำไป บอกว่าอายตนะก็จำอายตนะ บอกว่าอะไรก็จำจำไป แต่ถามว่าอะไร ก็ไม่รู้ ที่ไหน ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่าพระธรรมลึกซึ้ง ไม่ใช่ว่า ใครสามารถที่จะรู้ได้เพียงฟัง ถ้าเป็นอย่างนี้ พระโพธิสัตว์ก็ไม่ต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป นาน ทรงแสดงธรรม ๔๕ พรรษา ถ้าทุกคำไม่มีประโยชน์ จะทรงแสดงทำไม

    เพราะฉะนั้น แต่ละคำลึกซึ้ง เพื่อละความติดข้อง ไม่ใช่เพื่อไปให้เราทำเพื่อได้ และอะไรก็ละความติดข้องไม่ได้ นอกจากปัญญา ปัญญาอย่างเดียวที่จะละอกุศลได้ ความติดข้องก็เป็นอกุศล ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้

    ถ้าไม่รู้ ไม่มีทางเลยไปหลงทำ หลงหวัง หลงต้องการ ก็ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งทรงแสดงพระธรรมไว้ เป็นที่พึ่งทุกคำ เราก็ไม่ได้สนใจสักคำเดียว ฟังแต่คนที่บอกเรา แล้วเขาเป็นใคร ถ้าอย่างนั้นต้องเปลี่ยนที่พึ่งแล้วใช่ไหม ก็ต้องมีชื่อคนนั้นเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ไม่มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ถ้าจะไปพึ่งคนหนึ่งคนใด แล้วพึ่งได้จริงๆ หรือ ไม่ได้รู้อะไรขึ้นมาเลย แล้วพึ่งให้ไม่รู้ ไปพึ่งทำไม เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน ไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนธาตุแข็ง ให้เป็นหวาน ให้เป็นเค็ม ธาตุแข็งก็ต้องเป็นแข็ง ธาตุไม่รู้ก็เป็นธาตุไม่รู้ ไม่มีศรัทธาจะให้เขามีศรัทธาก็ไม่ได้ ให้รู้ประโยชน์ว่า การฟังธรรมเพื่อเข้าใจถูก เพื่อละความไม่รู้ เพื่ออบรมที่จะเข้าใจคำที่ลึกซึ้งแต่ละคำ เช่น ขันธ์ ทุกอย่างที่มีจริงเป็นนามธรรม เมื่อเป็นธาตุรู้ เป็นรูปธรรม เมื่อไม่ใช่ธาตุรู้ แล้วทำไมทรงแสดงเรื่องขันธ์ ๕ แค่นี้ก็น่าจะพอ ใช่ไหม แต่ให้รู้ความจริงยิ่งกว่านั้นอีกว่า ในบรรดาธรรมทั้งหมด ความติดข้อง ความยึดมั่น อยู่ที่ไหน เมื่อไร เพราะฉะนั้น ความยึดมั่นที่ทุกคนต้องการในชาตินี้ไม่พ้นรูป แสวงหาลาภเพื่ออะไร แสวงหายศเพื่ออะไร แสวงหาชื่อเสียงเพื่ออะไรทั้งหมด ไม่พ้นจากรูป เสียงชมเชย เป็นรูปธรรมหรือเปล่า แล้วก็เสียงนั้นดับไปแล้วด้วย แต่ความติดข้องในความหมาย ในคำ ในความเป็นตัวตน ไม่ได้หายไปพร้อมเสียง แต่กลับติดข้องเพิ่มขึ้นทุกครั้ง ที่ไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจโลภะหรือกิเลสทั้งหลาย ต้องรู้ตามความเป็นจริง เมื่อสิ่งนั้นปรากฏ จึงจะละได้

    เพราะฉะนั้น ละอุปาทานขันธ์ คือ รูปขันธ์ ขณะนั้นกำลังมีรูปหนึ่งรูปใดเป็นอารมณ์ คือ จิตเกิดขึ้นรู้รูปนั้น เคยไม่รู้ ไม่เข้าใจ แต่เคยฟังมาแล้วทีละเล็กทีละน้อย จนเข้าใจ จนสามารถที่กำลังเข้าใจลักษณะของได้ยิน ซึ่งไม่ใช่เสียง หรือเสียงในขณะนั้น ก็รู้ว่าไม่ใช่ได้ยิน คือแทนที่พอได้ยินแล้วไม่รู้ ก็เป็นได้ยิน แล้วค่อยๆ รู้ขึ้น โดยความเป็นอนัตตาด้วย เพราะหนทางนี้เป็นหนทางที่จะต้องประจักษ์ความเป็นอนัตตาถึงที่สุด จึงจะไม่เหลือความเป็นตัวตน แต่ถ้ามีตัวตนไปทำ คิดว่าทำได้ แล้วจะเป็นอนัตตาได้อย่างไร แล้วโลภะก็พอใจเหลือเกิน ได้แล้วสิ่งนั้นสิ่งนี้ บางคนก็บอกนั่งได้กี่วัน ตื่นเต้นดีใจ นั่งได้เท่านั้นวัน เท่านี้วัน นั่งทำอะไร รู้อะไร ก็เป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะอะไร เพราะยุคนี้สมัยนี้ พระศาสนากำลังเสื่อม จนกว่าจะอันตรธาน คือ ไม่เหลือที่ใครจะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น พระศาสนาอันตรธานกับคนที่ไม่ศึกษาธรรม ไม่เข้าใจธรรม และเข้าใจผิด พระศาสนาอันตรธานแล้ว ไม่ต้องคอยถึง ๕,๐๐๐ ปี แต่ส่วนที่ยังมีผู้ที่ศึกษา สนใจ เข้าใจ ก็จะค่อยๆ น้อยลง น้อยลง จนกระทั่งถึงไม่มีอีกแล้ว จึงเป็นอันว่า สิ้นสุด คำสอนก็อันตรธานหมด อันตรธานจากความเข้าใจ และความเห็นถูก เพราะไม่ใช่ตัวหนังสือ ไม่ใช่วัดวาอาราม ไม่ใช่พระพุทธรูปใหญ่ๆ ไม่ใช่อาคารอะไรทั้งหมดเลย นั่นไม่ใช่คำสอนของพระศาสดา การสอนก็คือ ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพื่อละความติดข้อง และความไม่รู้

    ผู้ฟัง เริ่มต้น จะต้องไม่ประมาทในการฟัง ซึ่งตรงนี้ดูเหมือนสำคัญมากเลยเพราะว่า ถ้าเราประมาทในการฟังก็ไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นคำสอน กับไม่ใช่คำสอน คือสัทธรรม กับอสัทธรรมได้ จะขอความกรุณาท่านอาจารย์ว่า อย่างไรที่ว่าไม่ประมาทในการฟัง

    ท่านอาจารย์ ธรรม คืออะไร ได้ยินคำนี้แล้วเข้าใจแค่ไหน

    ผู้ฟัง ก็สิ่งที่มีจริงขณะนี้คือ เห็น ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีไหม มี แล้วเข้าใจ เห็น ที่กำลังเกิดดับ หรือว่าเพียงฟังเรื่องเห็นว่ามีจริงๆ กำลังเกิดดับ ความรู้ต่างกัน ใช่ไหม

    ผู้ฟัง เริ่มต้นก็ต้องฟัง เรื่องว่าเห็นเกิดดับก่อน

    ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้การเกิดดับของการเห็นเมื่อไร

    ผู้ฟัง ปัญญาเจริญขึ้น

    ท่านอาจารย์ ต้องปัญญาเจริญขึ้น ไม่ใช่ใครไปทำให้เห็น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะเข้าใจ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ว่า อยากรู้ความจริงของเห็น ของได้ยิน แล้วก็อยากรู้เร็วๆ แล้วมีสำนักที่สอนว่า ไปดูสิ ไปทำให้รู้เห็น ให้รู้ได้ยิน อย่างนี้ก็ขัดหลักอนัตตา

    ท่านอาจารย์ เพราะเป็นสำนักที่ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง ตรงนี้เห็นชัดเจนว่า เป็นการไม่ประมาทในการฟัง ถ้าประมาทก็ทันทีที่เหมือนกับว่า บอกว่าไม่มีตัวตนเป็นอนัตตา แล้วมีตัวตนไปเจริญสติ มีตัวตนไปอบรมปัญญา ก็ขัดหลักคำสอนทันที

    ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจแม้แต่สติ ได้แต่บอกว่า ให้มีสติ ให้ทำสติ แล้วทำไมไปเจาะจงที่ลมหายใจ ความเป็นอนัตตาอยู่ไหน เลือกได้หรือ จะเห็นอะไรเลือกได้ไหม ได้ยินอะไรเลือกได้ไหม คิดอะไรเลือกได้ไหม แล้วไปมีลมหายใจเป็นอารมณ์นั่นเลือกหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ชัดๆ เลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นการทำลายของสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ผู้ฟังเองนี่ อย่างที่ท่านอาจารย์ก็กล่าวเสมอว่า ไม่ใช่ว่าบังคับให้เชื่อท่านอาจารย์ แต่ว่าให้ไต่ตรองในสิ่งที่ฟังว่า จริงไหม เห็นขณะนี้ กำลังเกิดแล้วดับ บังคับบัญชาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วมาเชื่อดิฉัน ได้อย่างไร แล้วมาเชื่อดิฉันทำไม คำจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างหาก ที่ทุกคนเชื่อ มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่ว่าใครจะกล่าว ลืมไปเลยว่าใครพูด ไม่สำคัญเลย แต่ความสำคัญอยู่ที่คำที่ได้ยินได้ฟัง คำจริงเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำไม่จริงไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย

    ผู้ฟัง อย่างในความไม่รู้ที่มีมากๆ ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ก. ข. ค. ง. ใช่ เพราะว่าเวลาเขากล่าว เขาก็อ้างว่า นี่คือคำสอนพระพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ ถามให้ตรงถึงที่สุด เพื่อที่จะได้เป็นปัญญาว่า ถูกหรือผิด ทำไมต้องเชื่อ แต่ถามได้ สติคืออะไร สติเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ไม่มีปัญญาแล้วสติเกิดได้ไหม ถ้าอย่างนั้นทุกคนก็สบาย ไม่ต้องมีปัญญาก็สติเกิดได้ นี่หรือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังไม่รู้เลยว่าปัญญารู้อะไร แล้วจะมีสติไปรู้อะไร แล้วสติเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าใครจะให้สติเกิดเมื่อไรก็ได้ ให้มีสติ สั่งได้หรือ บอกได้หรือ และยังไปเจาะจงให้สติเกิดรู้นั่น รู้นี่ นั่นเป็นคำสอน หรือ รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถรู้ได้ แต่มีปัจจัยเป็นอย่างไรที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ก็ต้องเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น สติไม่ใช่สมาธิ สติไม่ใช่ปัญญา ต้องศึกษาโดยละเอียด เพราะว่าไม่ใช่เราทั้งหมด สติก็ไม่ใช่เรา ปัญญาก็ไม่ใช่เรา ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะให้สติเกิด สติจะเกิดได้อย่างไร และปัจจัยที่จะให้สติเกิดคืออะไร และสติระดับไหน สติที่เป็นอินทรีย์ หรือสติที่เป็นพละ หรือสติที่เป็นโพชฌงค์ หรือสติที่เป็นมรรค ทรงแสดงไว้ แล้วก็กรุณาตอบคำที่ถาม เพื่อจะได้เข้าใจว่าคำพูดนั้นถูกหรือเปล่า คนฟังรู้ได้ว่า คนพูดพูดถูกหรือไม่ถูก เมื่อคนฟังนั้นศึกษาพระธรรม มีความเข้าใจแล้ว จึงรู้ได้ แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมไม่มีทางเลย เขาว่า เขาบอก เชื่อเขา แล้วทำไมเราบอกไม่ได้หรืออย่างนั้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    14 มี.ค. 2567