ปกิณณกธรรม ตอนที่ 721


    ตอนที่ ๗๒๑

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมอิมพีเรียลแม่ปิง จ.เชียงใหม่

    วันที่ ๒๗-๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    อ. คำปั่น ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ถึงความสำคัญของการที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม ซึ่งจะต้องมีความเข้าใจตั้งแต่คำแรก คือ คำว่า ธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นการสนทนาที่จะได้เข้าใจความจริง เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟังคำจริง พูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ เราก็ไม่มีโอกาสจะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้เลย ด้วยเหตุนี้ แต่ละคำสำหรับคนที่เพิ่งจะได้ฟังเป็นครั้งแรก จะบอกว่าไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลย ถูกต้องไหม เพราะเหตุว่าเป็นพระพุทธพจน์ คือวาจาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งตรัสรู้ ก่อนนั้นไม่เคยได้รู้ความจริงของสภาพธรรม ที่เมื่อเกิดมาแล้วก็ดูเหมือนจริงตั้งแต่เกิดจนตาย เห็นจริงๆ ได้ยินจริงๆ คิดจริงๆ สุขจริงๆ ทุกข์จริงๆ แต่ไม่รู้ว่าความจริงของแต่ละอย่างที่กำลังมีนั้นว่า คืออะไร ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะฟังพระธรรม ทุกคนก็มีชีวิตอยู่ตามที่มีปัจจัย ที่แต่ละคนเกิดมาต่างกัน เห็นต่างกัน คิดต่างกัน ชอบต่างกัน แต่ก็ไม่รู้ความจริงว่า ทั้งหมดนั้นคืออะไร

    ด้วยเหตุนี้ถ้าจะมีใครบอกว่า คำที่ได้ยินได้ฟัง คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใหม่มาก ไม่เคยได้ยินเลย ต้องเป็นคำที่ถูกต้อง เพราะว่าก่อนการตรัสรู้ ก็ไม่มีใครเคยได้ยินได้ฟังคำเหล่านี้เลยทั้งสิ้น แต่ว่าเมื่อได้ฟังแล้ว จะเริ่มเข้าใจความต่างกันของคนธรรมดา ธรรมดา กับ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดคำที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน แต่ว่าความเข้าใจ จากทุกคำที่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องต่างกับคนอื่นแน่นอน ด้วยเหตุนี้ คิดว่าฟังแล้ว จะเข้าใจง่ายๆ ได้ไหม เป็นคำของผู้ที่ทรงตรัสรู้ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และคนที่ได้ฟังจะเข้าใจว่า ฟังแล้วเข้าใจได้ง่ายมาก เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าทุกคำ ต้องไตร่ตรอง พิจารณาเข้าใจ มั่นคงขึ้น ว่าเป็นคำจริง มากแค่ไหน ระดับไหน ไม่ใช่คำจริงธรรมดา แต่เป็นคำจริงที่ลึกซึ้ง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็รู้ว่า ผู้ที่ได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน เพราะคนอื่นไม่สามารถที่จะกล่าวคำต่างๆ เหล่านี้ได้เลย

    การฟังธรรม หรือการศึกษาธรรม ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ฟังด้วยความเคารพในพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะได้สาระจากทุกคำ และรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไกลมาก จากการที่ฟังแล้วกว่าจะค่อยๆ เข้าใจ และรู้ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เช่น คำว่า ธรรม เราได้ยินบ่อย แต่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ ทุกขณะ ทุกกาล ไม่ว่าในอดีตหรือในปัจจุบัน หรือว่าต่อไปข้างหน้า สิ่งที่มีจริงไม่เปลี่ยน ความจริงของสิ่งที่มีจริงนั้น เป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ที่เราไม่เคยทราบมาก่อนว่า เมื่อเราเกิดมาเป็นเรา แต่ไม่รู้เลยว่าแท้ที่จริงแล้ว ที่เข้าใจว่าเป็นเรา ถูกหรือผิด ถ้าถูกแล้วไม่ต้องฟังพระธรรม แต่ถ้ารู้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ สิ่งที่กำลังมีจริงๆ เดี๋ยวนี้ และชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนถึงขณะนี้ที่ไม่เคยรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ แล้วทรงแสดงความจริงทุกอย่าง สิ่งที่มีทุกอย่างไม่ว่าในโลกไหน

    เพราะฉะนั้น ที่พระองค์ทรงแสดงไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่แสดงความจริงของสิ่งที่มีแล้ว แต่ใครก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ เช่น เห็นใหม่ไหม เกิดมาก็เห็น ใครๆ ก็เห็น แต่ไม่รู้ว่า เห็นเกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไป จริงหรือเปล่า แต่ละคำ เพราะฉะนั้น ไม่ได้มีสิ่งอื่นนอกจากสิ่งที่มีแล้วในขณะนี้ แล้วไม่รู้ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงของทุกสิ่งที่มีแต่ละหนึ่ง

    ศึกษาธรรมถ้าจะเป็นผู้ที่รอบรู้ในพระพุทธพจน์ รอบรู้ หมายความว่าเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ฟังเผินแล้วคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ฟังจริงๆ นี่ ต้องทีละคำ ถ้าเข้าใจคำที่หนึ่งถูกต้อง ก็สามารถที่จะเข้าใจคำอื่นๆ ต่อไปอีก จนกระทั่งเป็นผู้ที่รอบรู้ทุกคำที่มีจริงในขณะนี้ได้ เพราะเหตุนี้ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ลืมพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นใคร แล้วเราเป็นใคร

    มีผู้ที่สงสัยว่า ทำไมต้องถามว่า เราเป็นใคร เพราะดูเหมือนว่าทุกคนรู้ตัว ว่าแต่ละคนเนี่ยเป็นใคร แต่ความจริงรู้จริงๆ หรือเปล่าว่าเป็นใคร ถ้ารู้จักว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นใคร ก็จะรู้ว่าเราเป็นใคร เราไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ที่เลิศด้วยปัญญา พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ แล้วเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เราจึงฟังคำของผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริง และเป็นผู้ที่ดับกิเลสหมด เพราะสามารถที่จะรู้ความจริง ถ้าไม่รู้ความจริงก็ดับกิเลสไม่ได้ แล้วทรงพระมหากรุณา ให้คนอื่นได้ฟังคำจริง ซึ่งสามารถจะรู้ความจริง ที่พระองค์ได้ตรัสรู้ด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องจริงทุกคำ แต่ว่าต้องไตร่ตรอง แล้วก็เป็นเรื่องที่เป็นผู้ที่ตรง ที่จะรู้ว่า ฟังแล้วเข้าใจแค่ไหน

    อ.วิชัย การที่จะมีความเข้าใจถูกต้อง ต้องเข้าใจทีละคำ รู้ทุกคำกับเข้าใจทีละคำนี้ คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เช่น คำว่า ธรรม ยกตัวอย่างเลย รู้แค่ไหน

    อ.วิชัย เบื้องต้นก็รู้ว่า ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ก่อนนั้นเคยรู้ไหมว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง

    อ.วิชัย เคยได้ยินแต่ไม่เคยเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เคยได้ยินคำว่า ยุติธรรม กุศลธรรม อกุศลธรรม ตั้งหลายคำที่มีคำว่า ธรรม แต่ เข้าใจแม้คำว่า ธรรม คำเดียวจริงๆ หรือเปล่า เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่ฟังพระธรรมเข้าใจผิด หรือว่าคิดเองแล้วคิดว่าเข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้น เช่น สิ่งที่มีจริงๆ ภาษาบาลีใช้คำว่า ธรรม แต่ภาษาไทย ถ้าไปพูดกับเด็กๆ ธรรม คืออะไร เขาจะตอบได้ไหม ไม่สามารถจะตอบได้ แต่ถ้าบอกเขาว่า ธรรม คือสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้

    อ.วิชัย แม้ตอบอย่างนี้ก็ยากจะเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น รอบรู้เริ่มจากการรู้ว่าธรรม คืออะไร ถ้าไม่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม จะรู้จักธรรมไหม

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวถึงเรื่องของรูป เช่น แข็ง ทุกคนก็รู้ว่าแข็ง แต่จะรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าพูดภาษาไทยที่เราคุ้นเคย แข็งมีจริงไหม

    อ.วิชัย มีจริง

    ท่านอาจารย์ แข็งมีจริงไหม ตอบได้ทุกคนเลยว่าแข็งมีจริง แต่ไม่เคยรู้ว่าแข็งเป็นธรรม เพราะว่าไปศึกษาธรรม อ่านธรรม แต่รู้หรือเปล่าว่า ธรรม คืออะไร แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่าธรรม ก็คือสิ่งที่มีจริง ภาษาไทยใช้คำง่ายๆ สิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ที่มีจริง นั่นเป็นธรรม แต่ถ้าไปคิดถึงภาษาบาลี ธรรม คืออะไร ก็งง ใช่ไหม

    ไม่ว่าจะเป็นคนที่พูดภาษาไทย หรือพูดภาษาไหนก็ตาม ศึกษาธรรม คือ ศึกษาในภาษาของตนของตน เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ว่าคำนั้นเป็นคำภาษาไทยหรือเปล่า หรือว่าไม่ใช่ภาษาไทย เพราะว่าความหมายเปลี่ยน เช่น ธรรมในภาษาบาลี หมายความถึงสิ่งที่มีจริง แต่ภาษาไทยพอพูดว่าธรรม เราก็งง แต่ถ้าบอกว่า สิ่งที่มีจริง ไม่งง

    อ.วิชัย เมื่อสักครู่ กล่าวถึง แข็ง ก็รู้ว่าเป็นแข็ง ความรู้ที่จะเพิ่มขึ้นหรือว่ารอบรู้ในแข็งนี้คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่น แข็งมีจริงไหม

    อ.วิชัย มีจริงแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ควรพูดถึงแข็ง เพราะแข็งมีจริงๆ หรือเปล่า

    อ.วิชัย ควร

    ท่านอาจารย์ ควร แต่คนส่วนใหญ่คิดว่าพูดทำไมเรื่องแข็ง นี่หรือ ธรรม คิดว่าแข็งนี่ไม่ใช่ธรรม เขาก็ไม่คิดว่าแข็งนี่แหละเป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ แข็งมี ดูเหมือนเป็นธรรมดา แต่ไม่รู้จักแข็ง ถ้ารู้จักแข็ง ต้องรู้ว่าแข็งปรากฏที่ไหน และเมื่อไร ไม่ใช่คิดเอง แข็งมีจริงๆ แต่ทำไมแข็งปรากฏได้ และแข็งตรงไหน และใครทำให้แข็งเกิดขึ้น แข็งมีตลอดเวลา หรือว่าแข็งมีเพียงชั่วคราวแล้วก็หมดไป เหมือนอย่างอื่นทุกอย่าง ไม่ใช่แข็งอย่างเดียว ทุกอย่างที่มี เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นชั่วคราว สั้นมากแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่เหลือเลยสักอย่าง

    เพราะฉะนั้น ศึกษาธรรมทีละคำ และทุกคำ ที่ว่าแข็งชั่วคราวเพราะอะไร ขณะที่เห็นไม่ใช่แข็ง ขณะที่ได้ยินไม่ใช่แข็ง ขณะที่คิดไม่ใช่แข็ง เพราะฉะนั้น แข็งปรากฏชั่วคราวหรือเปล่า ดูเป็นธรรมดามากเหมือนกับจะมากพูดทำไมเรื่องแข็ง แล้วจะพูดต่อไปอีกนานเท่าไร จะจบเมื่อไรเรื่องแข็ง อยากฟังเรื่องอื่น แต่ความจริงทุกอย่างเหมือนกัน เพียงแต่ไม่รู้ว่าแข็งก็เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง เสียงก็มีจริงอย่างหนึ่ง กลิ่นก็มีจริงอย่างหนึ่ง รสก็มีจริงอย่างหนึ่ง และสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นก็มีจริงอย่างหนึ่ง ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ แต่ละทาง และบังคับบัญชาไม่ได้ด้วย ชีวิตทั้งชีวิตที่เกิดมาก็เห็นเรื่อยๆ หูก็ได้ยินไปได้เรื่อยๆ จมูกก็ได้กลิ่น ลิ้นก็รู้รส กายก็สิ่งที่กระทบสัมผัส ใจก็คิดนึกเท่านี้เองในวันหนึ่งๆ

    เมื่อแข็งเป็นส่วนหนึ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เหมือนเสียงก็มีจริง สิ่งที่ปรากฏให้เห็นขณะนี้ก็มีจริง เป็นเพียงแต่ละหนึ่งซึ่งปรากฏเพียงชั่วคราวแล้วก็ดับไป ด้วยความไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริง สิ่งที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนแล้วก็ยึดถือว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นดอกไม้ทั้งหมด แท้ที่จริงก็มีลักษณะ แต่ละหนึ่ง ซึ่งเมื่อรวมกันก็เข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง แต่เมื่อแยกออกไปเป็นทีละหนึ่ง ก็จะปรากฏว่า แต่ละหนึ่งนั้นแสนสั้น อย่าลืม ทุกคำที่ได้ฟังแล้วลืมไม่ได้ เปลี่ยนไม่ได้ เป็นความจริงถึงที่สุด

    สิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง มีจริงๆ นี่คือสัจจธรรม แล้วถ้าศึกษาต่อไป ฟังต่อไป อริยสัจจธรรมด้วย ชีวิตประจำวันทั้งหมด การศึกษาธรรมคือเข้าใจสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปรู้อย่างอื่น เพราะอะไร ยังไม่มีอย่างอื่นให้รู้ แต่ว่าสิ่งที่มีจริงๆ ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้น คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสรู้ความจริงซึ่งมีแล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรเลย แต่ว่าไม่เคยรู้ ฟังเพื่อให้รู้ น่าอัศจรรย์ที่ไม่มีใครทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้จักธรรมตามความเป็นจริง ไม่ได้ศึกษาธรรม ไม่เข้าใจธรรมด้วย

    อ.คำปั่น ในความละเอียดของความจริง จริงถึงที่สุด จะให้ผู้ฟังผู้ศึกษาเข้าใจอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เห็นจริง เห็นต้องเกิด ถ้าไม่เกิดไม่มีเห็น เห็นเกิดขึ้นแล้วดับไป นี่คือความจริงถึงที่สุด สิ่งที่เกิดดับไม่มีใครสามารถจะไปทำให้เกิดขึ้นอย่างที่ต้องการเลย ใครจะเห็นได้ ถ้าไม่มีตา ไม่มีจักขุปสาท ขณะนี้ไม่มีเห็น แต่ไม่เคยรู้เลยว่า เห็นหรือทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ เกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่เกิดไม่มี ถ้าเสียงไม่เกิด เงียบ เสียงเกิดแต่ไม่รู้ว่าเสียงเกิดจากอะไร เสียงดับไปแล้วไม่กลับมาอีกเลยสักเสียงเดียว เสียงใหม่ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เสียงเก่า

    เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อเกิดแล้วดับ มีอะไรเหลือบ้าง แต่ก็มีสิ่งซึ่งเกิดอีกไม่ขาดสาย เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิด แต่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะฉะนั้น ที่ได้ยินคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็หมายความว่า ไม่ใช่สิ่งอื่นเลย เดี๋ยวนี้เอง ทุกอย่างที่กำลังมีในขณะนี้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครบันดาลให้เกิดขึ้นเลยสักคนเดียว ไม่สามารถที่จะอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร และเกิดแล้วก็ดับไป ใครจะไปหยุดยั้งไม่ให้สิ่งที่เกิดดับไปก็ไม่ได้ เสร็จแล้วดับแล้วไม่ให้เกิดอีกก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะต้องเกิดก็เกิด เพราะฉะนั้น เกิดแล้ว อนิจจัง สภาพธรรมที่เกิดมาเพียงชั่วคราวแล้วดับไป เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ น่าพอใจไหม แค่เกิดมาปรากฎนิดเดียว แล้วก็หมดแล้ว เป็นสิ่งที่ควรพอใจหรือเปล่า เพราะเหตุว่า หาอีกไม่ได้แล้ว ไม่กลับมาอีกด้วย ถึงจะพอใจมากสักเท่าไร สิ่งนั้นก็ไม่มีวันที่จะกลับมาอีกได้เลย

    เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามที่เกิดมาแล้วก็ดับไป เป็นทุกข์ หมายความว่า ไม่ควรเป็นที่ยินดี เพราะเหตุว่าลักษณะนั้นไม่เที่ยง เพราะไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ด้วยเหตุนี้สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่มีการเกิดขึ้น ลักษณะที่สามัญทั่วไป กับสิ่งนั้นก็คือว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่คือความจริงที่สุด

    อ.วิชัย เป็นความละเอียดมากที่กล่าวถึงสภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แล้วก็เป็นอนัตตา อย่างเช่น แข็งกับเห็น หรือว่าได้ยินก็เป็นธรรมทีละอย่าง การที่จะรู้สภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นก็ต้องทีละหนึ่งด้วย แสดงว่าสิ่งที่มี เห็นสิ่งที่ปรากฏ ขณะที่ได้ยิน สีนั้นก็ไม่เหลือแล้ว

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นอย่างนี้ ลึกซึ้งไหม ใครจะดูได้ ใครคิดว่าสมควรจะรู้บ้าง ในเมื่อเกิดมาก็เป็นอย่างนี้ ชั่วคราว แล้วก็จากโลกนี้ไปโดยไม่รู้ความจริง กับผู้ที่คิดเห็นประโยชน์ เกิดมาไม่รู้ จึงหลงอยู่ในโลกสุขบ้างทุกข์บ้าง หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะไม่มีใครสามารถที่จะบันดาลให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น เพราะมีปัจจัยที่ควรเหมาะสมที่สิ่งนั้นจะเกิด สิ่งนั้นก็เกิด แล้วก็ดับไป อยากให้เกิดไหม อยากให้เกิด เกิดแล้วดับ แล้วไม่เหลือเลย ยังอยากให้เกิดอีกต่อไปไหม อยากให้เกิดก็เกิดแต่ก็ดับไปไม่เหลือเลย ยังจะอยากให้เกิดต่อไปหรือเปล่า

    อ.วิชัย แต่ก็ยังมีความพอใจอยู่ บางครั้งก็อยาก แต่ก็ไม่เกิดก็มีเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะอยากมีจริงๆ เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่โกรธ ไม่ใช่เห็น ทุกอย่างที่มีจริงเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา กว่าจะรู้แต่ละอย่างว่าเป็น อย่างนี้ต้องอาศัยกาลเวลา และรู้ว่า ทำไมเราควรจะรู้ เพราะเหตุว่า เราอยู่ในโลกนี้ไม่นาน ก็ไม่รู้อะไรเลย จากโลกนี้ไปทั้งๆ ที่อาจจะมีความติดข้องในความเป็นเรา ในรูป ในความรู้สึก ในทุกสิ่งทุกอย่าง ในสติปัญญา ในอะไรก็ได้ แต่เราก็ไม่เหลือเลย บังคับบัญชาไม่ได้ รู้ ดีกว่าไม่รู้หรือ ความจริงคืออย่างนี้แน่นอน เปลี่ยนไม่ได้ ไม่ใช่หมายความว่าให้หมดกิเลสวันนี้ แต่ว่ารู้ความจริงเสีย

    ผู้ฟัง การระลึก หรือสติปัฏฐาน ไม่ควรที่จะแสวงหาปัจจัยอื่นๆ โดยละเลยโอกาสที่จะเข้าใจในขณะนี้ ข้อความนี้ ไม่ทราบว่าจะสอดคล้องกับ ข้อความของพระพุทธเจ้าที่ตรัสกับพระเจ้าปุกุสาติว่า ไม่พึงประมาทปัญญาหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ พูดถึง สติปัฏฐาน ต้องเข้าใจแต่ละคำ ไม่ใช่คิดว่าเข้าใจแล้ว สติคืออะไร ปัฏฐานคืออะไร

    ผู้ฟัง สติคือสภาพที่ระลึก ส่วนปัฏฐาน เข้าใจว่าเป็น สิ่งที่สติระลึกได้

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมสติจะระลึกที่นั่นล่ะ ระลึกทำไม ระลึกเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ถ้าไม่มีปัญญา สติจะเกิดขึ้นระลึกสิ่งนั้นไหม เพราะเพื่อจะรู้ความจริงของสิ่งนั้น เช่น แข็งมีจริง จะระลึกที่แข็งเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง การระลึกที่แข็งบ้าง หรือว่าเห็นบ้าง เป็นการระลึกสิ่งที่มีจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ทีละหนึ่ง ใช่ไหม พร้อมกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะเข้าใจอะไร เข้าใจความจริงอะไรของแข็ง

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของแข็งนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วเดี๋ยวนี้ระลึกแข็งหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ได้ระลึก

    ท่านอาจารย์ ระลึกเพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะมีสิ่งอื่นเป็นอารมณ์อยู่

    ท่านอาจารย์ ถึงแม้ว่าควรรู้ควรระลึก แต่สติก็ไม่ได้เกิดระลึก เพราะความเข้าใจยังไม่พอ จะให้สติเกิดตามใจชอบไม่ได้ เพราะว่าสติที่กล่าว ต้องประกอบด้วยปัญญา ที่รู้ประโยชน์ของการที่รู้แข็งว่า เป็นแต่เพียงสิ่งซึ่งไม่ใช่ใครเลย เคยเข้าใจว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เช่น โต๊ะแข็ง เก้าอี้แข็ง ดอกไม้แข็ง แต่ความจริงแข็งเป็นแข็ง แข็งจะเป็นอื่นไม่ได้เลย แข็งเป็นแข็งโดยแข็งก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แข็งเกิดปรากฏแล้วหมดไป

    ข้อสำคัญที่สุดในการที่จะได้ยินได้ฟังว่า สติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏต้องทีละหนึ่ง ยากไหม จะเป็นไปได้ไหม ที่เดี๋ยวนี้มีทั้งเห็นด้วย มีทั้งได้ยินด้วย มีทั้งคิดนึกด้วย แล้วจะเกิดสติสัมปชัญญะประกอบด้วยปัญญา ที่จะรู้เฉพาะแข็งเพียงอย่างเดียว ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย ต้องมีปัญญามากพอ ที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดสติสัมปชัญญะ ที่สามารถที่จะถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมเพียงหนึ่งอย่าง และเข้าใจความหมายของคำว่า หนึ่งอย่าง หมายความว่า ต้องไม่มีอย่างอื่นเลย ยากไหม เกิดขึ้นได้ไหม ถ้าไม่มีความเข้าใจขึ้นๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    14 มี.ค. 2567