ปกิณณกธรรม ตอนที่ 745


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๔๕

    สนทนาธรรม ที่ กนกรัตน์ รีสอร์ท อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

    วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ เวลาที่ได้ฟังพระธรรม ถ้าฟังเผินเหมือนเข้าใจ เพราะเราจำ ถ้าถามว่าธรรมคืออะไร บางคนก็ตอบเลยว่า ขันธ์ ๕ ได้ยินมา ธรรมคือขันธ์ ๕ แต่ถามว่าขันธ์คืออะไร ก็ไม่ตอบตรงๆ เลย ขันธ์คือสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ แต่ก็ไม่บอกว่าอะไรอีก แล้วบางทีก็บอกชื่อ ขันธ์ก็มี ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ตอบถูกหมดเลย อาจจะได้คะแนนเต็ม แต่ว่า ถามว่าแค่ ขันธ์ คำเดียวคืออะไร ก็ไม่รู้ แต่รู้รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ไม่ใช่พระพุทธประสงค์ ที่จะให้ใครจำคำแล้วไปตอบใคร หรือว่าเมื่อถูกใครถาม ก็ตอบได้ หรือว่าฟังมาก็เพียงให้ชื่อมา ให้ชื่อมาว่าขันธ์มี ๕ แต่เดี๋ยวนี้ขันธ์อะไร และขันธ์คืออะไร ไม่ใช่ความรู้เลย เป็นความจำเท่านั้น

    แต่ถ้าความเข้าใจคือเดี๋ยวนี้ สิ่งที่มีจริง เห็นมีจริง และเห็นก็ต้องเกิด ถ้าไม่เกิดจะมีเห็นได้อย่างไร เมื่อเห็นเกิดขึ้นแล้วเห็นก็ดับไป เห็นไม่คงอยู่เลย ขณะที่ได้ยินไม่เห็น ขณะคิดคิดได้โดยไม่เห็น เห็นเป็นอื่นไม่ได้ ทุกคำต้องตรง และไม่เปลี่ยน เห็นคือเห็น แล้วก็เห็นมีจริง และเห็นเกิดขึ้นแล้วดับไป

    พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงว่าธรรมใดๆ ที่เกิดดับ ธรรมนั้นๆ เป็นขันธ์ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นขันธ์ทั้งหมด ธรรมที่เกิดก็เป็นขันธ์ เพราะเกิดแล้วก็ดับไป ตั้งแต่คำแรกคือคำว่า ธรรม แล้วก็ต่อไปให้เข้าใจเพิ่มขึ้นว่าธรรมแม้มีจริงก็ต้องเกิดดับ ก็เพิ่มอีกคำหนึ่ง คำว่า ขันธ์ มีธรรม และมีคำว่าขันธ์ ค่อยๆ ฟัง ๔๕ พรรษามีมากมาย จนกระทั่งมีความเข้าใจว่าต่อไปนี้ใครถามว่า ธรรม ก็รู้จัก สิ่งที่มีจริง เขาถามว่า อะไรมีจริง ก็ตอบได้หรือถามเขาก็ได้ เห็นมีจริงๆ หรือเปล่า เห็นมีจริงๆ ก็ต้องมีจริงๆ เพราะฉะนั้น เห็น ก็ต้องเป็นธรรม

    พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมคือตรัสรู้ความจริงของเห็น ของทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงเดี๋ยวนี้ ให้เกิดความเข้าใจที่เกิดต้องก่อน แต่มีผู้ที่ใจร้อนแล้วก็ไม่ฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะปฏิบัติเพื่อเห็นการเกิดดับ ของสิ่งที่มีในขณะนี้คือเห็น ได้ยินต่างๆ เหล่านี้แล้วไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงคำว่า อนัตตา ก็ไม่เข้าใจ อนัตตาคือสิ่งที่มีนี่แหละไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย ใครจะทำให้เกิดเห็นได้ไหม ลองทำ ใครจะทำให้ได้ยินได้ไหม ไม่ได้ แล้วเห็นแล้วก็ดับ ใครไม่ให้ดับได้ไหม ให้มีแต่เห็นทั้งวันไม่ให้มีอย่างอื่นเลย ก็ไม่ได้ นี่คือสิ่งซึ่งไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้

    เพราะฉะนั้น อะไรที่สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังเกิดดับเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เราแต่ต้องเป็นปัญญาคือความเห็นความเข้าใจ ความจริงของสิ่งที่มีทีละเล็กทีละน้อยทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งสามารถที่จะถึงการเข้าใจลักษณะที่กำลังเกิดดับแต่ละหนึ่ง โดยความเป็นอนัตตา

    ฟังธรรมต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และเป็นผู้ที่ตรง เพื่อละความไม่รู้ และพอฟังแล้วถึงจะรู้ว่า ความไม่รู้มากขนาดไหน ไม่รู้ไปหมดทุกอย่าง ทางตากำลังเห็นก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา กำลังได้ยินก็ไม่ใช่เรา กำลังคิดก็ไม่ใช่เรา ไม่มีการรู้อะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ความไม่รู้มาก เมื่อไม่รู้ก็ยึดถือว่าสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้เที่ยง และเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ยั่งยืน จึงใช้คำว่า อุปาทาน การยึดมั่นในสิ่งที่มี

    ถ้าเราฟังเผินๆ แล้วเราท่องว่าขันธ์มี ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์วิญญาณขันธ์ และได้ยินคำว่า อุปาทาน การไม่รู้นี่แหละทำให้เกิดความยึดมั่นว่านี่มีจริงๆ ยังไม่ได้ดับไปเลย ไม่รู้ถึงการเกิดดับอย่างเร็วมาก จนกระทั่งไม่ปรากฏการเกิดดับจนกระทั่งทำให้เป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ทำให้ไปจำผิดๆ ว่า สิ่งนั้นเที่ยง แล้วก็มีเรา มีสิ่งต่างๆ กว่าเราจะสามารถเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็ต้องไม่เผิน แล้วก็ต้องฟังโดยละเอียดจริงๆ ว่า ขณะนี้เพราะไม่รู้ใช่ไหม ในเห็นจึงเป็นเราเห็น พอเป็นเรา อุปาทานแล้ว อุปาทานคือความยึดมั่นในสิ่งที่มี ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีความยึดมั่นในความเห็นผิดทิฏฐุปาทาน เห็นว่าเป็นอะไร เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด คืออัตตา เป็นอัตตวาทุปาทาน

    นี่เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ไม่เคยรู้ ยึดมั่นในอะไร ใน ๕ ขันธ์ แปลว่า ไม่เหลือเลยสักอย่างตั้งแต่ลืมตา เพราะว่าแม้ขณะนี้ที่เห็นก็มี ๕ ขันธ์ ถ้าไม่ทรงแสดงใครรู้บ้าง พูดคำว่า ขันธ์ ๕ บอกได้ว่า ขันธ์ ๕ คืออะไร แต่รู้ไหม เพียงหนึ่งขณะจิตที่เห็นพร้อม ๕ ขันธ์เลย คือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย สภาพธรรมที่มีจริงแต่ไม่รู้ รู้ไม่ได้ เป็นรูปขันธ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตาม อย่างเสียง มีจริงๆ จะบอกว่าไม่มีไม่ได้ จะบอกว่าไม่ใช่ธรรม ไม่ได้ เพราะมีจริง และเสียงก็เกิดด้วย และเสียงก็ดับด้วย เพราะฉะนั้น เสียงเป็นขันธ์ เป็นรูปขันธ์ ในขณะที่เห็นในสิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ ยังไม่ต้องไปเป็นคน เป็นอะไร เพราะนั่นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว เพียงแต่หลับตา ไม่เห็น เริ่มเข้าใจว่าเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เพราะหลับตาเดี๋ยวนี้ทันที ไม่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ลืมตาอีก มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้อีก หลับตาอีกไม่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้อีก

    นี่คือการเริ่มเข้าใจความละเอียดอย่างยิ่งของคำว่า ธรรม คือสิ่งที่มีจริง แล้วเห็นเป็นเห็น และเห็นอะไรไม่ได้เลยนอกจากเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้น ขณะเห็น มีรูปขันธ์ที่กำลังปรากฏให้เห็น แล้วก็มีความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ในสิ่งที่เห็นโดยไม่รู้ตัวเลย เวลาทุกข์เกิดขึ้น รู้ ใช้คำว่า ความรู้สึกเป็นทุกข์ เพราะไม่ใช่เห็น ไม่ใช่จำ เวลาสุขเกิดขึ้น สุขก็ตรงกันข้ามกับทุกข์ แต่ก็เป็นความรู้สึกนั้นเอง เพราะฉะนั้น ความรู้สึกก็คือสุขก็มี ทุกข์ก็มี แล้วร่างกายนี้เดี๋ยวก็ป่วยไข้ได้เจ็บ ขณะนั้นก็เป็นทุกข์กายมีจริงๆ บางครั้งก็ไม่มีทุกข์ ก็เป็นสุขเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่มากจนกระทั่งเราบอกว่าสุขหนอ แต่เมื่อไม่ใช่ทุกข์ ขณะนั้นก็เป็นสุข ขณะนั้นความรู้สึกต้องมีทุกขณะเราไม่รู้ตัวเลยว่า เรารู้สึกตลอดเวลาไม่ว่าอะไรจะมากระทบก็รู้สึก ดีใจ เสียใจ เฉยๆ เพราะฉะนั้น ดีใจพอรู้ได้ เสียใจก็รู้ ทุกข์กายก็รู้ได้ สุขกายก็รู้ได้ แต่สิ่งที่รู้ยากที่สุดคือความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้น หนึ่งขันธ์ เวทนา

    ภาษาบาลี ไม่มีคำว่า ความรู้สึก คนละภาษาแต่ความหมายเดียวกันคือสิ่งนั้นแหละภาษาบาลีเรียกว่า เวทนา แต่คนไทยชอบพูดว่าเวด-ทะ-นาแล้วคนไทยก็ไม่ได้เอาความหมายเดิมเลย พูดภาษาไหนก็ได้พูดตามใจชอบ พอบอกว่า เวทนา ทุกคนรู้เลยว่า สงสารมาก น่าเวทนา น่าสงสารเหลือเกิน แต่ความจริง เวทนา หมายความถึงความรู้สึก บังคับไม่ให้มีได้ไหม ไม่ให้รู้สึก ไม่มีทางเลยเพราะเป็นธรรม ธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีจริงไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น หนึ่งคำแล้ว เวทนาขันธ์

    รูปขันธ์เดี๋ยวนี้ อะไรก็ตามที่ปรากฏ ที่ไม่ใช่สภาพรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่สามารถรู้อะไรได้เลยเป็น รูปขันธ์ เสียงก็เป็นรูปขันธ์ แข็งก็เป็นรูปขันธ์ เพราะฉะนั้น รูปขันธ์นี่ดูไม่ยาก แต่ว่าที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เรา ยาก อย่างขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาจะบอกว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ใครว่าผิด ไม่ผิด แต่จะรู้อย่างนั้นยากมาก เพราะว่าเคยจำไว้แล้วด้วยว่า รูปร่างสัณฐานอย่างนี้ เป็นคนนั้นคนนี้

    เพราะฉะนั้น ลักษณะที่จำเราไม่รู้เลยมีจริงๆ ต้องเกิดขึ้น ต้องจำ ทุกขณะ แต่ไม่รู้เลย ไม่อย่างนั้นจะไม่มีการจำอะไรได้เลยทั้งสิ้น แต่จำเป็นสิ่งที่มีจริงเกิดขึ้น และดับไป เป็นสัญญาขันธ์ ในภาษาบาลี เมื่อกี้เราพูดขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ และสัญญาขันธ์ คือสภาพที่จำ คือไม่ใช่ให้ไปท่อง แต่ให้รู้ว่าทั้งหมดมีจริง แล้วก็เป็นธรรม คือไม่ใช่เรา มีโดยที่ว่า เมื่อมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น แข็งเกิดแล้วเป็นแข็ง ไม่ให้แข็งได้ไหม เค็มพอสัมผัสลิ้นกระทบกัน ไม่ให้เค็มปรากฏได้ไหม ไม่มีทางเป็นไปได้เลยฉันใด ไม่ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก็ไม่ได้ ไม่ให้ความจำเกิดก็ไม่ได้ เพราะว่าตามเหตุตามปัจจัย แต่ใครจะรู้ นานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ ไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งต้องเกิด บังคับบัญชาไม่ได้ ๓ ขันธ์แล้ว ใช่ไหม รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์คือจำ

    เวลานี้โกรธใครบ้างไหม ชอบอะไรบ้างไหม ไม่ใช่ความรู้สึก ไม่ใช่รูป ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่ความจำ ลักษณะที่ชอบคือความติดข้อง ถ้าไม่ติดข้อง จะไม่มีสิ่งต่างๆ บนโต๊ะนี้เลย ชอบดอกไม้ เดี๋ยวนี้มองเห็นเลย ชอบนี่ ชอบนั่น ชอบโน่น ทุกอย่างที่ชอบ มีหมดเก็บไว้ เพราะฉะนั้น ความติดข้อง ไม่ใช่แต่เฉพาะความติดข้องอย่างเดียว ความสำคัญตน ทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งนอกเหนือจากความรู้สึก และความจำ ปรุงแต่งให้จิตหลากหลาย ขณะใดก็ตามที่ความโกรธเกิดขึ้นกับจิต ไม่เป็นสุขเลย เดือดร้อนมาก คนที่เราโกรธเขาสบาย แต่คนโกรธ เดือดร้อนอยู่คนเดียว ไม่ให้โกรธก็ไม่ได้ ต้องโกรธ และจิตนี้ไม่ใช่มีแต่เฉพาะสภาพธรรมที่โกรธที่เกิดกับจิต เดี๋ยวรัก เดี๋ยวชัง เดี๋ยวต่างๆ นานามากมาย เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ทำให้จิตเป็นไปต่างๆ มีจริงๆ เป็นสังขารขันธ์ เป็นธรรม คือสิ่งที่มีจริง แต่ว่าปรุงแต่งให้จิตหลากหลาย ด้วยความจำ และด้วยความรู้สึก เพราะว่าถ้าเรามีความรู้สึกที่สบายใจ สุขใจจากอะไร เราก็แสวงหาสิ่งนั้น ชอบดูละครโทรทัศน์ไหม ชอบ คืนนี้ดูไหม แสวงหาเพราะความรู้สึก

    เราอยู่ในโลกซึ่งไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นธรรมทุกชนิดหลากหลายเป็นแต่ละหนึ่ง ใช้คำว่า ธาตุ แต่ละธาตุ หลากหลายมาก มีปัจจัยเกิด แล้วไม่ใช่เกิดเพียงอย่างเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด ต้องมีสิ่งที่เกิดร่วมกัน อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น เหลือขันธ์สุดท้าย วิญญาณขันธ์ ใหญ่ยิ่งมาก เพราะว่าเป็นธาตุที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ ที่มีคำที่เทวดาทูลถามว่า โลกอันอะไรย่อมนำไป พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อันจิตย่อมนำไป นี่คือวิญญาณขันธ์ที่เราใช้คำว่าจิต ภาษาหนึ่งๆ มีหลายคำ จะใช้คำว่า จิต ก็ได้ ใช้คำว่า วิญญาณก็ได้ ใช้คำว่า มโนก็ได้ ใช้คำว่า ปัณฑระก็ได้ ก็แล้วแต่ว่าจะกล่าวโดยนัยไหน ก็แสดงว่า จิตเมื่อมีหลายประเภท ก็เพิ่มชื่อแต่ละประเภทเข้าไปเพื่อให้รู้ว่าหมายความว่า ถึงเฉพาะจิตไหน เช่น จักขุวิญญาณเป็นจิต เป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เพราะว่า พูดถึงจิต เหมือนกับเราคุ้นเคยกับคำว่าจิต แต่พอพูดถึงวิญญาณ คนที่ไม่เข้าใจก็บอกว่า ตายแล้วถึงจะเป็นวิญญาณออกจากร่าง แต่ความจริงทั้งหมด เพราะไม่รู้ว่าธรรมทั้งหมด

    ถ้าแบ่งโดยประเภทใหญ่ๆ ตามความเป็นจริงมี ๒ อย่าง คือ ธรรมอย่างหนึ่งมีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ก็เป็นรูปขันธ์ทั้งนั้น ทุกอย่างทั้งหมด ส่วนสภาพรู้ทั้งหมดที่เกิดแล้วต้องรู้ ก็เป็นนามขันธ์ แต่นามขันธ์มี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือจิต จิตปรมัตถ์ ใช้คำว่าปรมัตถ์ คือ สิ่งที่มีจริง เกิดเมื่อไรต้องรู้สิ่งจริงๆ หนึ่งสิ่งใด ที่เราเรียกว่า โต๊ะบ้าง ดอกไม้บ้างไม่มีจิตเลย ไม่รู้อะไรเลย ใครไปกระทบสัมผัสก็ไม่รู้ ใครจะไปพูดว่า พูดชมก็ไม่รู้ แต่ว่าจิตนี้ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ คือธาตุที่เมื่อเกิดแล้วต้องรู้ สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ขณะนี้ มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น รู้ว่ามีสิ่งที่กำลังถูกเห็น เพราะมีธาตุที่กำลังเห็นสิ่งนั้น หลายคนก็บอกว่า ธาตุนี้รู้ยากมาก ธาตุรู้ ทั้งๆ ที่ตั้งแต่เกิดจนตายไม่เคยขาดธาตุรู้เลยแต่ไม่มีใครรู้จักธาตุรู้ รู้จักแต่สิ่งที่จิตรู้ อย่างขณะนี้เป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ จิตรู้ทั้งนั้น แต่ไม่รู้จักตัวจิตเลย รู้ใจแต่สิ่งที่จิตรู้ เพราะว่า พร้อมกันทันที แยกไม่ได้เลย เมื่อมีจิตธาตุรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่รู้จักจิตซึ่งไม่มีรูปร่าง แต่ธาตุจะปรากฏให้จิตรู้เป็นสีสันวัณณะต่างๆ เป็นเสียงต่างๆ เป็นกลิ่นต่างๆ ก็ไปรู้สิ่งที่ปรากฏโดยรูปร่างสัณฐาน แต่ไม่รู้จักธาตุรู้ คือ จิตที่กำลังรู้ เพราะฉะนั้น ธาตุรู้ เราจะใช้คำว่า วิญญาณก็ได้ ด้วยเหตุนี้ เรียก จิต ว่า วิญญาณขันธ์ และสำหรับสภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ นามธรรม ซึ่งไม่ใช่จิต ก็ใช้คำว่า เจตสิก ต้องเกิดกับจิต เกิดในจิต เกิดพร้อมจิต จิตรู้อะไร ธาตุรู้ซึ่งเป็นเจตสิกก็ต้องรู้สิ่งเดียวกัน แล้วก็ดับพร้อมกัน แต่เจตสิกไม่ใช่จิต และเจตสิกหลากหลายถึง ๕๒ ประเภท และก็แต่ละหนึ่งไม่ปะปนกันเลย

    เดี๋ยวนี้มีธรรม มีนามธรรม และมีรูปธรรม มีจิตแล้วก็มีเจตสิกมีรูป อีกนัยหนึ่งก็มีขันธ์ ๕ คือมี รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ซึ่งเป็นเจตสิก ๑ มีสัญญาขันธ ซึ่งเป็นเจตสิก ๑ มีสังขารขันธ์คือเจตสิกนอกจาก ๒ ขันธ์นี้แล้ว อีก ๕๐ เจตสิกเป็นสังขารขันธ์ แล้วก็มีจิตเป็นวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้น เห็นหนึ่งขณะ ทั้ง ๕ ขันธ์ สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปขันธ์ ขณะที่กำลังเห็นแจ้งคือรู้สิ่งที่ปรากฏ เป็นวิญญาณขันธ์ เป็นจิต และก็เวทนาเป็นความรู้สึก เป็นเจตสิก สัญญาความจำก็เป็นเจตสิก สังขารขันธ์ก็เป็นเจตสิก เพราะฉะนั้น ครบ ๕ ขันธ์ในหนึ่งขณะจิตที่เกิดขึ้นเห็น หลากหลายมาก แต่จำแนกธรรมทั้งหมดอีกนัยหนึ่งว่าขันธ์ ๕ ตามการยึดถือ ตามการยึดมั่น เพราะทุกคนในโลกเกิดมาในโลกนี้ก็ต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ก็ต้องได้ยินเสียง ก็ต้องได้กลิ่น ก็ต้องลิ้มรส ก็ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วจะให้ไปยึดมั่นอะไรถ้าไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏในโลกนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีในโลกนี้เพราะความไม่รู้ ยึดมั่นหมด อุปาทานขันธ์ ๕ ไม่ขาดเลยสักขันธ์เดียว และทุกขณะด้วยที่เห็น ยึดมั่นแล้ว

    ความไม่รู้มากแค่ไหน กิเลสมากแค่ไหน ความติดข้องมากแค่ไหน จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมจึงรู้ว่า หนทางที่จะรู้สภาพธรรมไม่ใช่วันเดียว ๒ วัน และไม่ใช่ว่าไปเข้าห้องปฏิบัติ ไปสำนักปฏิบัติ ไปทำนั่ง ไปทำเดินหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ไม่มีสำนักปฏิบัติ มีแต่การฟังธรรม การสนทนาธรรม ซึ่งเป็นมงคลในมงคล ๓๘ ไม่มีการที่จะไปสำนักปฏิบัติเลย มีการฟังธรรม มีการสนทนาธรรม เราขาดมงคลข้อไหน หรือกล่าวได้ว่าขาดทุกข้อ เมื่อไม่เข้าใจ ไม่รู้เลยว่าเป็นมงคล คิดว่ามงคลสำหรับสวด หรือคิดว่าสวดแล้วจะเป็นมงคล แต่คำว่าสวดแล้วเป็นมงคลไม่มีในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีเลย มีแต่การฟังธรรม แล้วก็การสนทนาธรรม เป็นมงคลเพราะนำมาซึ่งความเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นหนทางที่จะละความไม่รู้ และเป็นหนทางที่จะดับกิเลสเพราะกิเลสเกิดจากความไม่รู้ ถ้ารู้แล้วก็ดับความไม่รู้หมด กิเลสก็ไม่มีเหลือ

    การฟังธรรมอย่าฟังเผินๆ ว่า ฟังเพื่อจำ ถามก็ไม่รู้ว่าอะไร แต่ฟังทุกคำ ซักไซร้ถึงที่สุด เพื่อความเข้าใจ ซึ่งไม่ต้องจำ เพราะเหตุว่าจำแล้ว ไม่ต้องมีใครไปพยายามจำ เวลานี้จำแล้วว่า ธรรมคืออะไร จำแล้วว่า ขันธ์คืออะไร จำแล้วว่าขณะหนึ่ง ครบ ๕ ขันธ์ ธรรมไม่ว่าอะไรเลยทั้งหมดทั้งสิ้นเลย ที่จะเกิดตามลำพัง ไม่ได้ เกิดมาเลยๆ ไม่ได้เลย ต้องมีปัจจัยสิ่งที่อาศัยกัน และกันทำให้เกิดขึ้น ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตามแต่ แต่ไม่มีอะไรเลยซึ่งมีเพียงหนึ่งอย่างซึ่งจะเกิดขึ้นได้ตามลำพัง แต่ที่เห็นว่าเป็นหนึ่งอย่าง ต้องมีสิ่งที่เกิดรวมกันในที่นั้น อาศัยกัน และกัน แต่ว่าสิ่งนั้นปรากฏหนึ่ง ทีละหนึ่ง แต่ในที่นั้นต้องมีสิ่งที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้นด้วย อย่างได้ยินคำว่า มหาภูตรูป ตอนนี้มีเพิ่มขึ้นแล้ว จากรูปซึ่งภาษาไทย แปลว่า รูปะ มีคำว่า มหา ด้วย แล้วก็ภูตด้วย แล้วก็รูปด้วย แสดงว่า รูป มีหลายอย่างจึงมีชื่อหลายชื่อ ถ้ามีอย่างเดียวก็ใช้ชื่อเดียวก็ได้แต่เพราะเหตุว่าธรรมหลากหลายมาก ก็จะต้องมีชื่อสำหรับเรียกธรรมแต่ละหนึ่ง ให้ต่างกัน ตอนนี้จะมีรูปเพิ่มขึ้นแล้ว เมื่อกี้รูปขันธ์ หมายความถึงรูปอะไรก็ได้ทั้งนั้นแหละที่มี แต่ไม่สามารถที่จะรู้ เป็นรูปขันธ์ทั้งหมด ทั้งหมดหมายความว่า ไม่ใช่มีแต่เพียงรูปเดียว มีหลายๆ รูปต่างๆ กันด้วย เช่น คำว่า มหาภูตรูป ขณะนี้มีสิ่งที่แข็งกระทบที่ร่างกายก็ได้ ตรงไหนก็ได้ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า จะมีสิ่งที่มีจริงซึ่งไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้น เป็นรูปธรรม

    แต่ว่ารูปธรรมที่แข็งก็มี ที่ร้อนกระทบตัวบางครั้ง ร้อนปรากฏ เพราะฉะนั้น แข็งมีจริง ร้อนมีจริง แต่แข็งบางทีสิ่งที่แข็งไม่ได้แข็งมาก แข็งน้อยก็มี แข็งอ่อนๆ ลงไปจนไปถึงนิ่ม ก็ยังเป็นธาตุที่ เป็นที่ตั้ง ที่รองรับ เป็นลักษณะของธาตุชนิดหนึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ปฐวีธาตุ ภาษาไทยใช้คำว่าเรียกว่า ธาตุดิน แต่ไม่ได้หมายความถึง ดินที่เราปลูกต้นไม้ แต่หมายความถึง ธาตุแข็งหรืออ่อน ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ดอกไม้จับเมื่อไรอ่อนแข็งปรากฏ นั่นคือธาตุดิน ถ้าร้อนหรือเย็นก็เป็นธาตุไฟ ถ้าตึงหรือไหวก็เป็นธาตุลม และอีกธาตุหนึ่งซึ่งไม่สามารถจะกระทบได้เลย แต่ต้องมีพร้อมกันกับดิน ไฟ ลม คือธาตุน้ำ เป็นธาตุที่เอิบอาบ ซึมซาบ เกาะกุมธาตุทั้ง ๓ ไว้ไม่แยกกันเลย เพราะฉะนั้น กระทบสัมผัสเมื่อไร ก็จะมีแต่เย็นหรือร้อนปรากฏ อ่อนหรือแข็งปรากฏ ตึงหรือไหวปรากฏ แต่ธาตุน้ำไม่สามารถจะปรากฏด้วยการกระทบสัมผัสกาย ไม่กระทบกับกายปสาท นี่คือสิ่งที่มีแล้วทั้งหมด แต่ไม่เคยรู้เลยว่า เป็นธรรม จนกว่าจะได้ฟัง และไม่ใช่ไปนั่งทำอะไรที่ไหน ในห้องปฏิบัติแต่ฟังแล้ว เข้าใจขึ้นค่อยๆ เข้าใจขึ้น และรู้ว่าความจริงนี้สามารถที่จะประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาที่ค่อยๆ คลายความไม่รู้ และความติดข้อง และก็ไม่ใช่ใครสามารถที่จะไปทำให้มีการปฏิบัติเกิดขึ้นได้เลย เพราะว่าปฏิปัตติ หมายความถึง สติสัมปชัญญะคือสติปัญญาภาษาไทยใช้คำว่า รู้ตัวทั่วพร้อมด้วย แล้วคนไทยเราก็พูดคำว่า รู้ตัว แต่ว่า เดี๋ยวนี้ เมื่อวันก่อนก็ถามใครยังจำได้ เดี๋ยวนี้รู้ตัวหรือเปล่า

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    14 มี.ค. 2567