ปกิณณกธรรม ตอนที่ 735


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๓๕

    สนทนาธรรม ที่ บ้านมิ่งโมฬี จ.ราชบุรี

    วันที่ ๑๐-๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ ที่เมื่อได้ฟังธรรมแล้วก็จะขัดเกลาในเพศของบรรพชิต คือสามารถที่จะละอาคารบ้านเรือนได้ เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทมี ๔ ภิกษุ๑ ภิกษุณี๑ อุบาสก๑ อุบาสิกา๑ ภิกษุความหมายมีหลายอย่างแม้แต่คำว่า ผู้ขอ คำแปลสั้นๆ แต่ว่าไม่เหมือนคนอื่นที่ขอเลย ผู้ขอที่เป็นภิกษุ ต้องเป็นผู้ที่ทรงคุณ คือ ผู้ที่รู้คุณความดีของผู้อื่นที่กระทำต่อตน จึงประพฤติสมควรแก่การที่จะได้รับสิ่งนั้น ไม่ใช่ว่าขอเขามาก็ได้มาสบายดี ทำอะไรก็ได้ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เมื่อเป็นผู้ขอ เพราะว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้หุงหาเอง เป็นต้น

    แต่ว่ามีอัธยาศัยใหญ่ซึ่งเมื่อได้ฟังธรรมแล้ว เห็นกิเลสที่มากมาย ทำอย่างไรจะหมด ถ้าอย่างคฤหัสถ์ก็ฟังธรรม ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ตามความเป็นจริงว่า เป็นเพศที่ยังไม่สามารถที่จะละอาคารบ้านเรือนได้ ใครจะละไปได้หมด ทุกคนจะไปอยู่ป่าหมด หรือว่าจะไปเป็นภิกษุหมด เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าแต่ละคนก็แต่ละอัธยาศัย แต่ละหนึ่งจริงๆ พี่น้องมีกี่คน ถึงเป็นลูกแฝด ไม่เหมือนกัน ตามการสะสม ต่างคนก็ต่างขณะจิตซึ่งเป็นไป ด้วยเหตุนี้ แต่ละคนเป็นผู้ตรงต่อความเป็นจริง เมื่อเป็นคฤหัสถ์ก็ฟังธรรม และอบรมเจริญปัญญา และรู้ว่าปัญญาย่อมนำไปในเสิ่งไม่มีโทษทั้งปวง แต่ว่าจะมีปัญญามากแค่ไหน บางคนก็บอกว่า ฟังธรรมแล้วเหมือนเดิม ใครจะรู้ จับด้ามมีด และเมื่อไรด้ามมีดจะสึก วันไหนจะสึก อย่างบันได ขึ้นบันไดจนกระทั่งเป็นรอยเท้าแหว่งไปเลย นานเท่าไรจึงจะเป็นอย่างนั้นได้ และกิเสสอะไรที่สะสมมายิ่งกว่านั้นอีก ยิ่งกว่าสิ่งที่ปรากฏตา เพราะเหตุว่า สะสมอยู่ในจิตอยู่เรื่อยๆ ไม่ได้ออกไปไหนเลย ใครก็เอาออกไปไม่ได้ นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ถึงการที่จะตรัสรู้สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ ส่องไปถึงว่า ขณะนี้อกุศลเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะเคยเกิดมาแล้ว และเคยสะสมมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดต่อไปเรื่อยๆ

    จะเห็นความจริง ต่างกันมาก แม้แต่คำว่า ธุ-ตัง-คะ หรือธุดงค์ ก่อนที่จะเข้าใจต้องรู้จักกิเสสก่อน เพราะกิเลสมีมาก แล้วทำอย่างไรจะหมดไป ถ้าสำหรับคฤหัสถ์ก็ฟังธรรม และปัญญาที่เข้าใจขึ้นมาทีละน้อยก็ทำหน้าที่ละกิเลสซึ่งเกิดเพราะความไม่รู้ และการเข้าใจผิด และยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา จึงทำให้มีกิเลสอื่นมากทั้งในลาภ ในยศ ในสรรเสริญทุกสิ่งหมด เพราะมีการยึดถือว่าเป็นสิ่งที่เที่ยง นี่กว่าจะฟัง และเข้าใจสำหรับคฤหัสถ์ แต่สำหรับบรรพชิตที่ท่านบวช เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว เพราะเห็นโทษของกิเลสที่ตนได้สะสมมานานมาก และพร้อมที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ยากไหม จริงใจ ตรง ละอาคารบ้านเรือน ไม่ห่วงเลย มีพ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูง ความสนุกสนานต่างๆ ในเพศคฤหัสถ์ ละหมด ไม่ใช่มีใครบังคับแต่เห็นโทษของการที่ยังคลุกคลีหรือยังติดอยู่ สละได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า พระพุทธเจ้าให้สละ คำสอนทั้งหมดเลย ถ้าไม่เข้าใจ คิดว่าพระพุทธเจ้าให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ แต่พระองค์เป็นผู้ที่ตรัสว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วจะเป็นอย่างนั้นได้หรือ ที่จะบอกให้คนนั้นทำอย่างนี้ คนนี้ทำอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น แม้แต่จะอ้างว่า เป็นคำสอน ก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในคำที่ทรงแสดง ตั้งแต่คำแรก ธรรม สิ่งที่มีจริง ธรรมทั้งหมดทั้งปวง เป็นอนัตตา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เที่ยง ยั่งยืน ซึ่งเราฟังก็พอที่จะรู้ได้นิดหน่อย เกิดแล้วต้องตายทุกคน ไม่ว่าใครไม่ยั่งยืน แต่ความไม่ยั่งยืนอย่างนั้น ไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมที่จะดับกิเลส เพราะเหตุว่ายังเป็นเรายังเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ถ้าจะขัดเกลากิเลสจริงๆ ต้องรู้ว่า กิเสสอยู่ที่ไหน และกิเลสอะไรจะดับได้ก่อน

    ด้วยเหตุนี้ การที่เป็นผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้วเข้าใจก็เป็นผู้ที่รู้อัธยาศัย คฤหัสถ์เป็นพุทธบริษัทด้วย ถ้าเป็นผู้ชายก็เป็นอุบาสก ถ้าเป็นผู้หญิงก็เป็นอุบาสิกา หมายถึงผู้ที่เข้าใกล้หรือนั่งใกล้พระรัตนตรัย ถ้าเรากล่าวคำว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ แต่ไม่ได้ฟังคำสอนใดๆ ทั้งสิ้น ไกลไหม ไกลแสนไกล ถึงพระผู้มีพระภาคเสด็จบิณฑบาตที่พระนครสาวัตถี ชาวบ้านที่ไม่ได้ฟังธรรมก็ไม่รู้ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เข้าใกล้ในสมัยโน้นเพื่อเฝ้า และฟังธรรม ไม่ได้หมายความว่า เข้าไปมอง เข้าไปดู เข้าไปเห็น แต่ว่าเพื่อที่จะได้เข้าใจในสิ่งที่ฟัง จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีศรัทธาจิตผ่องใส ขณะนั้น ไม่มีโลภะติดข้อง ไม่มีโทสะความขุ่นเคือง แล้วก็พร้อมที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังมีจากพระธรรมเทศนาขณะนั้น ก็ไม่มีโมหะ ขณะนั้นก็เป็นอุบาสก อุบาสิกา ตามควรที่สะสมมา

    แต่บางท่าน ฟังแล้วศรัทธามากมั่นคงที่ได้สะสมมาแล้ว ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะบวช แต่พอฟังแล้วเห็นโทษของการครองเรือน ขอบรรพชาอุปสมบทเพื่อที่จะมีความเพียรที่จะฟังธรรมให้มากขึ้น อบรมเจริญปัญญา แม้มารดาบิดาไม่อนุญาต ท่านก็ยอมอดข้าวถึง ๗ วัน วันหนึ่งก็แย่แล้ว คืนหนึ่งอีก แล้วนี่ถึง ๗ วัน จนในที่สุดก็มีผู้ที่บอกบิดามารดาว่า ถ้าท่านผู้นี้ยังมีชีวิตอยู่ ยังได้เห็นกัน แต่ถ้าอดข้าว ๗ วัน ตายไปแล้ว ไม่มีโอกาสจะได้เห็นอีกเลย ก็ยอมให้บุตรบวช นี่ก็แสดงเห็นว่า ความต่างกันของแต่ละหนึ่ง เพราะว่าผู้ที่ไปบวชมีอัธยาศัยที่จะขัดเกลากิเลส แต่ว่าเมื่อท่านยังเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่ได้ดับกิเลส ความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่แต่ละท่านสะสมมา ก็ทำให้มีการประพฤติผิด ไม่สมควรกับเพศบรรพชิต

    เพราะฉะนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมสงฆ์ กล่าวถึงเหตุที่เกิดขึ้น แล้วก็ให้สงฆ์ลงมติความเห็นว่า ควรหรือไม่ควร ที่จะบัญญัติเป็นสิกขาบท หมายความว่า พร้อมที่จะกระทำร่วมกันในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ไม่อย่างนั้นจะอยู่เป็นสุขไหม แต่ละคนก็แต่ละอย่าง คนนี้จะเอาอย่างนั้น คนนั้นจะเอาอย่างนี้ ก็ทำให้ไม่ราบรื่นไม่ผาสุก เมื่อสงฆ์ยินยอมพร้อมใจเห็นว่าดี พระผู้มีพระภาคก็ทรงบัญญัติสิกขาบท บังคับหรือเปล่า สั่งหรือเปล่า แต่ใครจะรู้ธรรมละเอียดยิ่งเท่าพระองค์ว่า แม้กิเลสเพียงเล็กน้อย ประมาทไม่ได้เลย ย่อมนำมาซึ่งกิเลสที่ใหญ่ เพราะฉะนั้น ก็ตรงกันข้ามกับความคิดที่จะสละขัดเกลากิเลส กลายเป็นผู้ที่ตามกิเลสไป ด้วยเหตุนี้มีบัญญัติที่เพิ่มขึ้นจาก ๑ เป็น ๒ จนกระทั่งมากมายเป็น ๒๒๗ ข้อ รวมอภิสมาจาร คือการประพฤติปฏิบัติอย่างธรรมดาในชีวิตประจําวัน การเข้าบ้าน การไปหาใคร การรับประทานอาหาร ทุกอย่างหมด แม้แต่ว่า เมื่อฉันเสร็จแล้ว ล้างบาตรอย่างไร วางตรงไหน ที่ไหน ก็แสดงไว้ละเอียดยิ่งด้วยพระมหากรุณา ไม่ประมาทแม้กิเลสเพียงเล็กน้อย เพราะว่าทุกวันนี้ เราอยู่กับกิเลสโดยไม่รู้ตัวเลย ตื่นขึ้นมาอะไรมาด้วย กิเลสมาแล้ว เป็นไปตามอะไร เป็นไปตามกิเลส รับประทานอาหารอะไร รับประทานอย่างไร นั่งอย่างไร ยืนนอนอย่างไร ทั้งหมดเป็นไปตามกิเลสหมด

    เพราะฉะนั้น เป็นผู้ที่ประมาท ด้วยเหตุนี้แม้กิเลสเพียงเล็กน้อยที่ล่วงออกไป ทางกาย ทางวาจา พระผู้มีพระภาคทรงเห็นโทษจึงทรงบัญญัติว่า ผู้ที่คิดจะสละกิเลสในเพศบรรพชิต จะต้องขัดเกลามากกว่าเพศคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น ภิกษุทุกรูป ถ้าไม่ประพฤติตามพระวินัยที่บัญญัติไว้ เป็นโทษคือต้องอาบัติ จนกว่าคนนั้นสำนึก ปลงอาบัติ เห็นโทษกระทำคืนแสดงความผิดของตน นี่ก็เป็นการแสดงว่าทุกคนจะต้องเป็นผู้ที่ตรง ผิดแล้วต้องรับผิด เมื่อสามารถที่จะสำนึก และก็กระทำคืน ทำให้กลับคืนมาสู่ความเป็นภิกษุ อยู่ร่วมกับภิกษุสงฆ์ตามพระวินัยต่อไป เป็นเรื่องละเอียดมากในพระวินัยปิฎก

    แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีบุคคลซึ่งเลิศกว่านั้นอีก คือเห็นโทษของกิเลส ความติดข้องมาก แม้แต่ที่ทรงบัญญัติอนุญาต เช่น ในเรื่องของจีวร ในเรื่องของบิณฑบาต ในเรื่องของที่อยู่อาศัยแล้ว ผู้นั้นมีอัธยาศัยที่ยังคิดที่จะขัดเกลากว่าผู้อื่น ผู้ที่ไม่นอนเลย เห็นโทษของการนอน แต่เราไม่นอนไม่ได้ เมื่อคืนนี้หลับดีไหม นอนสบายไหม เห็นไหม แต่ว่ากิเลสทั้งนั้นเลย แต่ท่านเหล่านั้น มีสิ่งที่ขัดเกลายิ่งกว่านั้น ที่ใช้คำว่า ธุ-ตัง-คะ หรือธุดงค์ โดยความสมัครใจ ไม่ใช่ศีลที่ทรงบัญญัติไว้สำหรับผู้ที่เป็นภิกษุทุกรูป แต่แล้วแต่อัธยาศัยว่าใครจะขัดเกลายิ่งกว่านั้น ใช้คำว่า ธุ-ตัง-คะ ทั้งหมดมี ๑๓ ข้อ

    พระธรรมทั้งหมด ไม่ใช่ผิวเผิน ได้ยินอะไรมาก็เชื่อไปเลย เขาว่าอย่างนี้ เขาว่าอย่างนั้น ไม่ได้ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำสอนของพระองค์ทั้งหมดไม่ว่าในเรื่องของพระวินัยความประพฤติเป็นไปของพระภิกษุ ทางกาย ทางวาจา เป็นส่วนใหญ่ และก็พระสูตร พระอภิธรรม

    พระอภิธรรมเป็นธรรมที่มีจริงๆ ยากที่จะรู้ได้ ขณะนี้ ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม ซึ่งใครไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้เลย เปลี่ยนเห็นให้เป็นได้ยินได้ไหม ไม่มีทาง เพราะอะไร เห็นเกิดแล้ว ดับแล้วด้วย จะไปเปลี่ยนตอนไหน เพราะฉะนั้น จึงไม่มีทางที่จะจะทำอะไรแต่สามารถที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกในความเป็นจริง โดยฟังวาจาจริง พระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ว่าธรรมละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ประมาทไม่ได้เลย

    ฟังด้วยความเคารพในพระองค์ ไม่ใช่บุคคลอื่น เพราะว่าเป็นผู้ที่จากการที่ใครๆ ไม่สามารถจะเข้าใจสิ่งที่มีตั้งแต่เกิดจนตายได้ถูกต้อง ทุกขณะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงอนุเคราะห์ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดก็มาจากการที่เป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรม

    ด้วยเหตุนี้ ต้องไม่เผิน ต้องละเอียด ต้องรู้ว่าเป็นเรื่องของปัญญาความเห็นถูกของใคร ของตนเอง ถ้าพระสัมมาสัมเจ้าทรงแสดงพระธรรม และคนอื่นไม่สามารถที่จะเข้าใจคำที่พระองค์ตรัสได้ว่า ลึกซึ้งแค่ไหน จะมีประโยชน์อะไร แต่ว่าต่างมีอัธยาศัยต่างๆ ผู้ที่เห็นประโยชน์อย่างยิ่งว่า ธรรมลึกซึ้ง อภิธรรม ปรมัตถธรรม ก็ธรรมคือสิ่งที่มีจริงใครไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้สักคน ไม่มีเทวดาเทพเจ้าองค์ไหน แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงแสดงว่าพระองค์สามารถเปลี่ยนได้ แต่ทรงแสดงความจริงของธรรมได้ว่า ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนธรรมได้เลยเป็นปรมัตถธรรม ปรม กับอรรถ อรรถ คือความหมายซึ่งหมายความถึงลักษณะ ถ้าไม่มีลักษณะของธรรม เราจะกล่าวอะไรเรื่องธรรมได้ เพราะฉะนั้น ที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะของตนซึ่งใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และลึกซึ้งอย่างยิ่ง คำนี้ลืมไม่ได้เลย ถ้าใครมาบอกว่าง่าย ไม่ต้องฟังก็ได้ ฟังนิดเดียวก็ได้ ถูกหรือผิด ต้องไตร่ตรอง ต้องเป็นปัญญาของเราเอง ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น ก็จะเป็นผู้ที่เห็นผิด

    แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ พวกเดียรถีย์คือความเห็นอื่น แล้วก็ไม่ฟังธรรมเลยก็มี แต่ฟังคำของอาจารย์ของตน ท่านพระสารีบุตรมีอาจารย์ ชื่อสัญชัย แต่ว่าก็ไม่สามารถที่จะหมดกิเลสได้ ต่อเมื่อได้ฟังคำของท่านพระอัสสชิ จึงสามารถที่จะรู้ว่าคำจริงต่างกับคำไม่จริง และการที่ได้สะสมความเห็นถูกมาแล้วนี่ ก็สามารถที่จะละทิ้งความเห็นผิดได้ ยาก การที่จะละทิ้งสิ่งที่เคยสะสมมาแล้ว และก็สิ่งที่มั่นใจเข้าใจว่าถูกต้อง แต่ความจริงผิดทั้งนั้น เพราะผู้ที่บอกไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ด้วยเหตุนี้ จึงมีหลายท่าน ฟังคำถูก แต่ทิ้งของเก่าไม่ได้ ทิ้งผู้ที่เคยบอกสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า นับถือใคร แค่นี้ก็แสดงความต่าง เป็นผู้ที่ตรงหรือเปล่า ถูกคือถูก ผิดคือผิด ถ้ายังเก็บสิ่งที่ผิดไว้แล้วจะถูกได้อย่างไร ก็ปะปนกัน เพราะว่ายังคิดว่าสิ่งที่ผิดนั้นยังเป็นความถูกต้อง ก็เป็นสิ่งซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อต่างอัธยาศัยอย่างนี้ก็มีบุคคลต่างๆ กัน แม้เป็นพระภิกษุก็ต่างอัธยาศัย และผู้ที่สามารถที่จะขัดเกลากิเลส โดยรักษาธุดงค์ ธุดงค์ทั้งหมดมี ๑๓ ข้อบางท่านก็รักษาได้เพียงบางข้อ แต่ผู้ที่เป็นเอตทัคคะในทางรักษาธุดงค์เป็นเลิศ คือท่านพระมหากัสสปะ ผู้ที่ขัดเกลากิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ แล้วยังรักษาธุดงค์ต่อไปอีก เพราะเหตุว่าเป็นอัธยาศัย เป็นกิจวัตรที่ทำ โดยความไม่ใช่ตัวท่านเลย ไม่ทำก็ไม่ได้ ใครจะไปบอกให้ท่านไม่ทำอย่างนั้น มาทำอย่างนี้ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น นี่แสดงให้เห็นว่าธรรมเป็นใหญ่ แล้วก็เป็นอนัตตาด้วย

    ด้วยเหตุนี้ พอได้ยินใครพูดคำว่า ธุดงค์ ต้องเข้าใจก่อน ถ้ายังไม่เข้าใจ เชื่อได้อย่างไร คิดเองกันหมดเลย แต่เมื่อได้ฟังธรรมแล้วจึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า ธุดงค์จริงๆ สำหรับใคร แม้ว่ามีสิกขาบทปาฏิโมกข์สำหรับพระภิกษุแล้ว ที่ภิกษุทุกรูปต้องประพฤติตาม เพราะปฏิญาณว่าจะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต แต่ถ้าไม่ประพฤติตาม ผิดคำพูด มีโทษไหม พูดคำไม่จริงเพราะว่าพูดแล้วไม่ได้ทำตามที่พูดมีโทษมาก เพราะฉะนั้นไม่ได้ทรงบังคับใครเลย แม้คฤหัสถ์จะฟังธรรมหรือไม่ฟังธรรม แต่เมื่อรู้ว่า ผู้นี้สามารถที่จะเข้าใจได้ทรงพระมหากรุณาแสดงธรรม แม้คนนั้นจะอยู่ไกลแสนไกล อย่างสาวกคนสุดท้าย พระองค์เสด็จไปปรินิพพานที่นั่นเพราะเขามีโอกาสจะได้ฟังธรรม ถ้าไม่ได้ฟังธรรมจากพระองค์ เขาจะหมดการที่จะมีโอกาสได้รู้แจ้งสภาพธรรมหมดกิเลส และชีวิตที่อยู่มาแล้วในสังสารวัฏฏ์นานแสนนานนับไม่ถ้วน และก็จะอยู่ต่อไปอีกนานแสนนาน ตราบใดที่ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จากการฟัง ไตร่ตรอง และเริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย เพราะเหตุว่า สิ่งที่ล่วงไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึงจะรู้ได้อย่างไร

    ด้วยเหตุนี้จึงเป็นผู้ที่มีความมั่นใจว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ และท่านทรงสอนให้ผู้คนที่ได้ฟัง มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกว่า ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่มีในขณะนี้ เริ่มจากขั้นการฟัง ไม่มีทางที่จะรู้ความจริง ซึ่งเป็นสัจจธรรม หมดกิเลสไม่ได้เลย

    ธุดงค์ ไม่ใช่ปาฏิโมกขสังวรศีล หรือไม่ใช่ศีลที่เป็นปาฏิโมกข์สำหรับพระภิกษุทุกรูป แต่สำหรับรูปที่สามารถจะขัดเกลาด้วยความสมัครใจ และท่านที่เป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลส มีหรือที่จะบอกให้คนอื่นรู้ว่า ฉันกำลังขัดเกลากิเลส แม้แต่คำพูด ก็ต้องรู้ว่า บอกทำไม เพื่ออะไร ไม่ว่าใครทั้งนั้น ที่พูดคำอะไร เราสามารถจะรู้ได้เลยว่า เขาพูดทำไม ถึงไม่คฤหัสถ์ด้วยกันพูด ยังมีคำพูดที่เลียบเคียง ยังมีคำพูดที่โอ้อวด ยังมีคำพูดนานาสารพัด มาจากใจ แต่ว่าจุดประสงค์คือพูดทำไม เพื่ออะไร เพราะฉะนั้น แม้แต่ภิกษุที่ยังไม่ได้รักษาธุดงค์ แต่บวชเป็นเพศบรรพชิต ไม่ต้องบอกคนอื่นใช่ไหมว่า ฉันเป็นภิกษุ แต่ว่ากิริยาอาการความประพฤติทั้งหมด ในเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น ยิ่งเป็นผู้ที่รักษาธุดงค์ จะไม่บอกใครเลย แม้พี่กับน้อง ๒ คนก็ไม่บอก คิดออกหรือยัง บอกทำไม

    อ.ธิดารัตน์ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นพระภิกษุที่ขัดเกลาจริงๆ นี้ ไม่มีใครรู้ว่าท่านถือธุดงค์ข้อไหน ถ้ายิ่งจะให้ผู้อื่นรู้แล้วเกิดศรัทธา หรือว่าเพื่อลาภสักการะ ก็ไม่ใช่สิ่งที่สมควร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เดินธุดงค์มีไหม ใครช่วยให้เราเห็นถูก ว่าอะไรถูก อะไรผิด เพราะธุดงค์เป็นการขัดเกลาอย่างยิ่ง แล้วจะมีเดินธุดงค์หรือ ในพระไตรปิฎกมีไหม จะอ้างพระไตรปิฎกสำหรับผู้ที่ไม่รู้พระไตรปิฎก แต่ถ้าผู้ที่รู้พระไตรปิฎก อยู่ที่ไหนในพระไตรปิฎก เดินธุดงค์ เพราะฉะนั้น ยุคนี้สมัยนี้ไม่เหมือนในสมัยพุทธกาล ในสมัยพุทธกาลก็มีผู้ที่ได้สะสมการเห็นประโยชน์ของการที่จะได้เข้าใจสิ่งซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะทำให้เข้าใจได้เลยนอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิชาการใดๆ ในโลก คนอื่นกล่าวได้ แต่วิชาที่จะทำให้สิ้นกิเลส รู้จักกิเลส หรือว่าการที่เป็นคนดี มีความเห็นที่ถูกต้อง ต้องเพราะได้ฟังพระธรรม คนดีมีมาก แต่ไม่เข้าใจธรรม

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเห็นความลึกซึ้งของธรรมรู้แน่ พระศาสนาอันตรธานแน่ ในระยะเวลา ๕,๐๐๐ ปี แต่ว่าเมื่อมีผู้ที่เข้าใจ และประพฤติปฏิบัติตามเท่านั้น ถ้าไม่มีแล้วจะชื่อว่าพระศาสนาก็บ่นเพ้อกันไป ๕,๐๐๐ ปี ตอนนี้กับ ๒,๕๐๐ ปีแล้วเหลือเวลาอีกตั้ง ๒,๕๐๐ อย่าคิดอย่างนั้น ใครก็ตามที่ไม่เข้าใจ พระศาสนาอันตรธานแล้วจากคนนั้น ไม่ว่าจะต้องไปคอยถึง ๒,๕๐๐ ปี ๒,๕๐๐ ปีคือหมดสิ้นการที่จะมีผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตาม และเข้าใจจริงๆ ในพระธรรม แล้วก็จะไม่อันตรธานได้อย่างไร ในเมื่อคำนั้น ไม่ใช่คําที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้แล้วด้วยดี ตรัสไว้ดีแล้ว กลายเป็นคำของคนอื่นทีละเล็กทีละน้อยๆ แล้วก็เข้าใจผิด คิดว่าเป็นคำของพระองค์

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ว่าจะทรงปรินิพพานไปแล้ว ก็คือว่า ทุกคำแสดงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คำของคนอื่น แต่ละคำ ไม่ได้ความรู้ความเข้าใจที่จริง และถูกต้องถึงที่สุดเลย จะเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความตรง ซึ่งถ้าเป็นผู้ไม่ตรง ข้อความในพระไตรปิฎกก็แสดงไว้ชัดเจน ผู้ไม่ตรง ไม่ได้สาระจากพระธรรม เพราะพระธรรมตรง ถูกคือถูก ผิดคือผิด เหตุดีผลต้องดี เหตุไม่ดีผลจะดีไม่ได้เลยใครจะค้าน จะค้านว่าอย่างไร ผู้ที่จะค้านรู้จักสภาพธรรมเดี๋ยวนี้หรือเปล่า ว่าที่เกิดขึ้นเป็นผล และเป็นเหตุ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    11 มี.ค. 2567