ปกิณณกธรรม ตอนที่ 743


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๔๓

    สนทนาธรรม ที่ สวนสามพราน ริเวอร์ไซด์ จ.นครปฐม

    วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ รู้จริงๆ ว่าตรงนั้นแข็ง ลักษณะนั้น ไม่ต้องพูดก็แข็ง ธาตุรู้กำลังรู้แข็ง แต่ใครรู้บ้างว่า ขณะนั้น ไม่ใช่เรา เห็นกระทบสัมผัส มีแข็ง เป็นเราไปหมดเลย เพราะฉะนั้น แม้แต่การจะฟังให้เข้าใจก็ยังยาก เพราะเหตุว่าปัญญาต่างกันประมาณไม่ได้เลย น้ำกับฟ้า ลองคิดดูห่างไกลกันสักแค่ไหน ฝั่งนี้ของมหาสมุทรกับฝั่งโน้นของมหาสมุทร มองไปสุดสายตาก็ยังไม่เห็นฝั่งโน้นของมหาสมุทร เพราะฉะนั้น ปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงธรรมแต่ละคำมีความหมายจากการที่ เมื่อทรงตรัสรู้อย่างไร ประจักษ์แจ้งอย่างไร ทรงแสดงความจริงอย่างนั้น ซึ่งเป็นแต่เพียงส่วนน้อยของพระปัญญาคุณ อุปมาด้วยพระองค์เองเหมือนกับใบไม้ ๒-๓ ใบในกำมือ แต่พระปัญญานั้นเหมือนใบไม้ในป่า

    การที่จะฟังธรรมให้เข้าใจ ไม่ใช่ว่าฟังแค่นี้แล้วก็ไปปฏิบัติ ไปสร้างสำนักปฏิบัติ ศาลาปฏิบัติ หรืออะไรก็แล้วแต่ ด้วยความเข้าใจผิด ประมาทในคำสอนที่ลึกซึ้ง แล้วก็ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ที่จะให้ใครไปปฏิบัติ แต่ทรงแสดงความจริงให้ผู้ที่ได้มีโอกาสได้ฟัง ไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นปัญญาของตนเองปัญญานี้ใครก็ให้ใครไม่ได้ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ตรัสว่า พระองค์ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนความเห็นผิดของคนที่เห็นผิดให้กลับเป็นความเห็นถูกได้ คนไม่มีศรัทธาเปลี่ยนให้เป็นผู้มีศรัทธาก็ไม่ได้ นอกจากพระธรรมที่ได้ทรงแสดงความจริงไว้ทั้งหมดโดยประการทั้งปวง ให้คนที่ได้ยินได้ฟังไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตนเอง เป็นสมบัติที่ประเสริฐยิ่งในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งอยู่ในความมืด เกิดมาแล้วก็จากโลกนี้ไปแต่ไม่รู้อะไรเลย ไม่เข้าใจถูกต้องเลยว่า ต้องเกิดอีก ต้องเป็นอย่างนี้อีก เมื่อวานนี้ก็เป็นอย่างนี้ วันนี้ก็เป็นอย่างนี้ พรุ่งนี้ก็เป็นอย่างนี้ แล้วก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้ความจริง

    แม้แต่การฟัง ถ้าเป็นผู้ที่เคารพจริงๆ ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะไปไหว้กราบแล้วขอ นั่นไม่ใช่ที่พึ่ง แต่เพราะเหตุว่าได้ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดยิ่ง เพราะฉะนั้น มีพระรัตนตรัยคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง โดยการที่เคารพในพระปัญญาคุณ จึงต้องศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นที่พึ่ง ให้ผู้นั้นสามารถที่จะมีความเข้าใจถูกต้องทีละเล็กทีละน้อย

    ปริยัติ ไม่ใช่ฟังคำของคนอื่น ฟังพระพุทธพจน์ และไม่ใช่ฟังเสียเฉยๆ เข้าใจ และรอบรู้ในพระพุทธพจน์นี่เป็นปัญญาขั้นต้น ชื่อว่า ปริยัติ แต่ถ้าฟังแล้วพูดได้ว่า จิตมีเท่าไร เจตสิกมีเท่าไรแล้วไปสร้างสำนักปฏิบัติ แล้วก็ประพฤติปฏิบัติ ไม่มีในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะเหตุว่า ปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังถึงความจริงของสิ่งที่มีในขณะนี้แหละ จะเป็นปัจจัยให้ปฏิปัตติ ไม่ใช่เรา แต่เป็นโพธิปัคขิยธรรม ธรรมที่เมื่ออบรมแล้ว เจริญแล้ว ก็สามารถที่จะรู้ความจริง ความจริงคือเดี๋ยวนี้ สภาพธรรมเกิดแล้วดับแต่ละหนึ่ง แล้วจะเป็นเราได้อย่างไร

    คำสอนทั้งหมด ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทิ้งสักคำเดียวก็ไม่ได้ ธรรมทั้งหลาย ทุกอย่าง ความคิดก็เป็นธรรม ความเห็นผิดก็เป็นธรรม ความเห็นถูกก็เป็นธรรม ความไม่รู้ก็เป็นธรรม ความรู้ก็เป็นธรรม

    จะเห็นได้ว่าขณะนี้ทั้งหมดเป็นธรรม แต่ถ้าไม่มีปริยัติ ไม่มีการรับรู้ และเข้าใจอย่างมั่นคง จนกระทั่งเป็นสัจจญาณ กิจจญานคือปฏิบัติก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่มีเรา ที่คิดว่าเราจะไปนั่งทำสมาธิให้จิตสงบสบายดี แล้วก็จะไปรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ที่ใดก็ตามที่มีความเข้าใจผิด แล้วก็มีสำนักปฏิบัติ ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะเหตุว่า ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ไม่ได้มีสำนักปฏิบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แต่มีสำนักเดียรถีย์ เดียรถีย์ คือ ผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ก็คิดว่า ถ้าปฏิบัติอย่างนั้นๆ แล้วก็ จะหมดจดจากกิเลส ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่ากิเลสเกิดจากความไม่รู้ ไม่รู้อะไร ไม่ใช่ว่าเราฟังคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วเราไม่พิจารณาเลย ก็เชื่อตาม แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดละเอียดยิ่ง เช่น ถ้าบอกว่าไม่รู้เพราะไม่รู้ ไม่รู้อะไร ไม่ใช่ไม่รู้เฉยๆ ไม่รู้สิ่งที่ขณะนี้กำลังมีจริงๆ ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น

    ในขณะนี้กำลังเห็น รู้หรือเปล่า เมื่อไม่รู้ จึงมีการยึดมั่นติดข้องในเห็น ว่าเป็นเราเห็น ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นทั้งหมด เพราะไม่รู้ ก็ยึดถือว่า เป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ก็มีคำภาษาบาลี อัตตานุทิฏฐิ การเห็นว่าเป็นอัตตา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ตรงกันข้ามกับอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ยั่งยืน เมื่อมีปัจจัยเกิดขึ้น แล้วดับไป แล้วไม่เหลือเลย แล้วก็ไม่กลับมาอีก แล้วจะเป็นอะไรได้ ไม่ใช่ว่า ไปอยู่ที่หนึ่งที่ใด แล้วก็จะมีปัญญา จะต้องเกิดจากการฟังเข้าเข้าใจซึ่งค่อยๆ ละคลายความไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ต้องชัดเจน ไม่ใช่ไม่รู้อะไร แล้วรู้อะไร ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ คนนั้นก็เป็นผู้ที่ตรง ฟังแล้วก็จะได้เข้าใจว่าความไม่รู้มีมาก เพราะทรงแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีตั้งแต่เกิดมารู้ความจริงของอะไรบ้าง ไม่รู้เลยแล้วก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ความไม่รู้จะมากสักแค่ไหนเมื่อไม่รู้จะติดข้อง

    เมื่อเช้านี้เราก็ได้กล่าวถึงเรื่องขันธ์ ๕ ธรรมที่มีจริงๆ ทรงแสดงโดยนัยประการทั้งปวง โดยนัยนี้ โดยนัยนั้น โดยนัยต่างๆ เพื่อให้มีความเข้าใจอย่างมั่นคงว่าไม่ใช่เรา แม้แต่จะใช้คำว่า อายตนะ หรือจะใช้คำว่า ปฏิจสมุปบาท หรืออะไร ไม่ใช่สำหรับท่อง แต่ต้องรู้ว่าเดี๋ยวนี้ และแต่ละคำ

    เมื่อเป็นภาษามคธี ซึ่งเป็นภาษาที่ดำรงพระศาสนา จึงใช้คำว่า ปาล หรือบาลี เราต้องเข้าใจว่าแต่ละชาติ แต่ละท้องถิ่น แต่ละประเทศ พูดภาษาไม่เหมือนกัน แต่ธรรมไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะใช้ภาษาไหนก็ตาม แต่ที่ถูกต้องก็คือ ควรที่จะเข้าใจธรรมในภาษาของตนๆ เพราะเราจะเข้าใจคำในภาษาอื่นเท่ากับภาษาที่เราเกิดมา แล้วก็ได้ยิน แล้วก็ใช้จนชินจนเข้าใจกันได้ ได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ ต้องเข้าใจธรรมในภาษาไหนก็ได้ ไม่ใช่ว่าภาษาบาลีว่าอย่างนี้ แล้วก็แปรรูปเป็นอย่างนั้น มีอุปสรรคมีอะไร ข้างหน้าข้างหลังอย่างไร หมายความว่าอย่างไร แต่ไม่รู้ว่า เดี๋ยวนี้เองเป็นธรรม ด้วยเหตุนี้ถ้าไม่มีปริยัติ ไม่มีความรอบรู้ ไม่มีความเข้าใจจริงๆ ในพระธรรมที่ทรงแสดงให้เข้าใจ ความจริงของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ในขั้นฟัง จะไม่มีปัจจัยที่จะให้สติสัมปชัญญะเกิดขึ้น ปฏิปัตติ คือ ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ ที่กำลังปรากฏด้วยความเข้าใจจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริง จนประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้น และดับไป โดยความเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น จะทิ้งคำหนึ่งคำใดที่ได้ยินได้ฟังแล้วไม่ได้เลย พอได้ยินได้ฟังคำว่า อนัตตา ไม่ใช่เราแล้วก็ไปนั่งปฏิบัติ ไม่ได้เข้าใจความเป็นอนัตตาว่าเดี๋ยวนี้ และทุกขณะ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัยที่สมควรแก่สิ่งนั้นที่จะเกิดไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ยังไม่เกิด จะทำอย่างไรให้เกิด จากความไม่รู้เลย แล้วก็จะมีปัญญาได้อย่างไร ถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการไตร่ตรอง ไม่มีการเข้าใจขึ้น ก็ไม่ใช่ปัญญา

    นี่เพียงขั้นฟัง ยังจะต้องอบรมต่อไปอีกโดยความเป็นอนัตตาด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าใครมีความคิดที่เป็นอัตตา ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นโทษอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่านอกจากตนเองจะเข้าใจผิด ยังชักชวนคนอื่นให้เข้าใจผิดด้วย เมื่อเป็นอย่างนี้ก็จะไม่มีผู้ที่เข้าใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เท่ากับทำให้พระศาสนาลบเลือนจนในที่สุดก็อันตรธาน

    ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด แล้วก็ต้องรู้จริงๆ ว่า ถ้าใครก็ตามเห็นผิด ทำอะไรไม่ได้ แก้ไขก็ไม่ได้ นอกจากพูดความจริง วาจาสัจจะอย่างเดียว ซึ่งเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับผู้ที่มีศรัทธาที่จะเข้าใจความจริง ไม่ใช่หลอกลวง ใครบอกว่าอย่างไรก็เชื่อ ใครพูดว่าอะไรก็เชื่อ แต่ไม่ได้รู้เลยว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงโดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ที่จะทำให้เข้าใจถูกได้ เพราะฉะนั้น เปลี่ยนใครไม่ได้ นอกจากพูดถึงสิ่งที่มีจริงซึ่งเป็นวาจาสัจจะ ตามที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก

    สำนักปฏิบัติในครั้งพุทธกาลไม่มี เพราะว่าปฏิปัตติ ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมฝ่ายโสภณธรรม ฝ่ายดี ซึ่งถ้าเป็นปัญญา และสภาพธรรมฝ่ายดีที่จะเจริญขึ้นได้ ก็ต้องจากการได้ฟังพระพุทธพจน์ และก็ต้องรอบรู้ในพระพุทธพจน์ จึงจะเป็นปริยัติ และผู้นั้นก็จะไม่หลงทาง รู้ว่าคำใดเป็นความจริง คำใดเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำใดเป็นคำของคนอื่น ซึ่งไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำใดที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ให้เข้าใจ ในความเป็นอนัตตา นั่นเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าจะให้ทำ แล้วก็ไม่เกิดความเข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น ในสิ่งที่กำลังปรากฏ อันนั้นก็ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น จะเชื่อใคร หรือว่าจะฟังคำใคร

    ผู้ฟัง คำว่า ศาลา ที่เป็นสถานที่จะมีการปฏิบัติ หรือไม่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของเราแต่ละท่านๆ ว่าเข้าใจถึงระดับไหน อะไรที่มันเกิดขึ้นขณะนี้จริงๆ และไม่ใช่ ใครไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น

    ท่านอาจารย์ อยู่ในประเทศที่สมควร หมายความว่าอย่างไร ถ้าไม่มีการสนทนาธรรมที่นี่ ที่นี่จะเป็นประเทศที่สมควรไหม เพราะฉะนั้น ที่ใดก็ตามที่มีการสนทนาธรรมหรือว่าได้เข้าใจพระธรรม ที่นั้นเป็นประเทศที่สมควร เป็นถิ่นที่สมควร ที่ไหนก็ได้ บนรถไฟก็ได้ บนเครื่องบินก็ได้ ในป่าก็ได้ ที่บ้านก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เพราะฉะนั้น พระศาสนาไม่ได้อยู่ที่วัตถุ ไม่ได้อยู่ที่ศาลา ไม่ได้อยู่ที่วัด ไม่ได้อยู่ที่ไหนเลยทั้งสิ้น ถ้าที่นั้นไม่มีพระธรรม อยู่ในประเทศที่สมควรเวลานี้ ทุกคนอยู่ที่นี่ได้ฟังธรรมเพราะบุญที่ได้ทำไว้แต่ปางก่อน นี่เป็นมงคล ซึ่งจะรู้ได้ว่า ถ้าไม่มีฟัง ไม่มีการเข้าใจเลย สถานที่นี้ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร

    อ.กุลวิไล บุญกับบาปต่างกันอย่างไร และสภาพที่เป็นโลภะนั้นเป็นอย่างไร

    อ.คำปั่น ความหมายของบุญ เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตตสันดานให้บริสุทธิ์ ให้สะอาด ให้ผ่องใสก็คือธรรมที่ดีงามนั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยธรรมที่เป็นบุญก็คือจิตที่ดีงาม พร้อมกับเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งเมื่อเช้าก็ได้สนทนาในส่วนของสังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ สังขารขันธ์ซึ่งก็เป็นเจตสิกประการต่างๆ ที่เกิดประกอบกับจิต ทำให้จิตหลากหลาย แตกต่างกันออกไปตามเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย

    ขณะที่เป็นบุญเกิดขึ้น ก็ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิกฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย มีศรัทธา มีอโลภะ (ความไม่ติดข้อง) มีสติ มีอโทสะ เป็นต้นเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ อย่างเช่น ในเรื่องของการให้ทาน ซึ่งจะต้องมีสภาพธรรมเกิดขึ้น จึงมีการให้ทาน มีวัตถุสิ่งของ แล้วมีเจตนาที่จะสละเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ก็คือธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปนั่นเอง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใครเลยเพราะว่าขณะที่บุญเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นไม่ได้เลย และที่ตั้งของบุญก็มีหลากหลาย เป็นไปในทานก็มี เป็นไปในศีลก็มี เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิต และเป็นไปในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาก็มี

    อย่างเช่น ในขณะนี้ที่กำลังฟังพระธรรมมีความเข้าใจถูก เห็นถูก ก็กล่าวโดยชื่อก็ได้ว่า บุญเกิดขึ้นแล้ว ขณะนั้น เพราะว่ามีความเข้าใจเกิดขึ้นเป็นไป ถ้าเป็นบาป ความหมาย ก็คือ สภาพธรรมที่ไม่ดีเป็นอกุศลธรรมทั้งหลาย และก็เป็นสิ่งที่ผู้มีปัญญารังเกียจ เพราะว่าเป็นธรรมที่ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลย

    และเมื่อกล่าวถึงบาปก็มีหลายระดับ แต่เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมก็คือ อกุศลจิต และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย นี่คือความหมายของบาป ขณะที่เห็นได้ชัดในขณะที่เป็นบาป คือ ขณะที่มีการฆ่าสัตว์ มีการลักทรัพย์ มีการประพฤติผิดในกามเป็นต้น นี่แสดงถึงบาปที่มีกำลัง ที่นี้ถ้ากล่าวถึงอีกคำหนึ่งก็คือโลภะความติดข้องต้องการ โลภะไม่ได้มีเฉพาะตอนที่อยากได้สมบัติของผู้อื่นมากๆ เท่านั้น ชีวิตประจำวันติดข้องแม้เล็กน้อย ก็เป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป จะเรียกชื่อว่า บาป ก็ได้ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีไม่งาม แต่ก็ยังไม่มีกำลังถึงขั้นที่จะล่วงเป็นทุจริตกรรม

    ผู้ฟัง เราทำความดี เช่น ถือศีล ๕ หรือศีล ๘ หรือศีล ๑๐ แล้วแต่สถานะ ทำความดีแล้วก็แผ่เมตตา ไม่เบียดเบียนคนอื่น และเราก็อุทิศให้

    อ.ธิดารัตน์ ขณะที่ทำสิ่งที่ดีมีการให้ทาน หรือว่าการรักษาศีล (เว้นจากบาป) หรือการฟังธรรม ก็เป็นบุญ การสนทนาธรรมก็เป็นบุญ การอุทิศกุศลให้ผู้อื่นคือบุญอีกข้อหนึ่ง แล้วบุญเผื่อกันไม่ได้ กุศลจิตของใครก็ของคนนั้น ถึงแม้เราจะไปบอกเพื่อนว่าวันนี้เราฟังธรรมมา ให้เพื่อนเขาอนุโมทนา ถ้าเขาไม่มีกุศลจิตเกิดขึ้น และเห็นประโยชน์ของการฟังธรรม เขาก็ไม่ได้บุญ

    ท่านอาจารย์ เคยอนุโมทนากุศลของคนอื่นไหม หมายความว่า ขณะนั้นไม่มีจิตริษยา และก็สามารถชื่นชมในความดีของคนอื่น เพราะกุศลคือความดี เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ว่าใครทำสิ่งที่ดีแล้วก็ยินดีอนุโมทนา ขณะนั้นก็เป็นกุศลประเภทหนึ่งเป็นจิตที่ดีงาม ถ้าคนหนึ่งทำความดีแล้วก็จะไปบังคับให้คนอื่นอนุโมทนา ในความดีนั้นได้ไหม เพราะเหตุว่าใครก็ตามที่ทำความดี มีคนที่ไม่อนุโมทนาไหม เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของจิตไม่ใช่เรื่องของการที่จะไปบอกให้เขาอนุโมทนา ให้เขาทราบ ให้เขารู้ แล้วแต่เขาว่าจะอนุโมทนาไหม

    แต่บางทีไม่ต้องบอกเขาก็เห็น เขาก็รู้ ยังจะต้องไปนั่งบอกกันหรือ วันนี้ฟังวิทยุตอนเช้า อนุโมทนาด้วยอะไรอย่างนี้ ก็คงไม่ต้อง เพราะฉะนั้น กุศลที่ได้ทำแล้วคนอื่นรู้ อยู่ที่คนนั้นจะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา แล้วก็ถ้าเขาเห็นแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องบอก ใช่ไหม หรือว่าจะนั่งบอก บุญนิดบุญหน่อย บอกกันทั้งวัน เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของจิตใจ แล้วก็บังคับใครไม่ได้ แต่ทำความดี คนชื่นชมในความดีแน่นอน ไม่ว่าใครด้วย นอกจากตัวเองเป็นจิตใจที่ดีงาม แล้วคนอื่นก็ยังอนุโมทนาชื่นชมยินดีด้วย

    ผู้ฟัง สรุปแล้วคำว่า โลภบุญ ถ้าติดคำว่า โลภบุญ ก็ยังบาปอยู่ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อยากได้ อยากจะเป็นบุญได้อย่างไร บุญคือสภาพที่ดีงาม ขณะนั้นไม่มีอกุศลจิต เชิญคุณวิชัย

    อ.วิชัย เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ยากที่จะรู้ แม้ขณะนี้จะกล่าวว่าใจเป็นบุญหรือเปล่า ขณะที่ติดข้อง จะเป็นบุญได้ไหม ต้องการ แสวงหา ติดข้องต่างๆ ไม่ใช่บุญไม่ว่าจะเป็นต้องการอะไรก็ตาม แม้จะต้องการบุญก็ตาม ขณะนั้นใจไม่เป็นบุญแน่นอน เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่สงบเลย แต่ขณะที่ให้ กําลังให้ หรือขณะที่ฟังตอนนี้ เข้าใจ ต่างกับการที่จะต้องการความเข้าใจ เพราะขณะนั้นกำลังเข้าใจอยู่

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยละเอียดทั้งหมดเลยว่า นามธรรมเมื่อเกิด ต้องเป็นลักษณะอย่างหนึ่งแต่ละอย่างๆ ความติดข้องจะเป็นบุญไม่ได้ บุญจะเป็นความติดข้องไม่ได้ แต่ทั้งหมดเพื่อความเข้าใจถูก ขณะนี้จิต มีหลายประเภทมากมายเลย เห็นก็เป็นอย่างหนึ่ง ได้ยินก็เป็นอย่างหนึ่ง หลังเห็นหลังได้ยินก็จะมีจิตที่เป็นกุศล หรืออกุศลเกิดแล้ว ก็ทรงแสดงลักษณะของกุศลเป็นสภาพจิตที่ดีงาม เกิดขึ้นมีเจตสิกที่ดีงาม อโลภะ อโทสะ สติ หิริ โอตัปปะ ทรงแสดงธรรมแต่ละอย่างว่า ขณะนั้นมีความต่างกับขณะที่โลภะเกิด ขณะที่โลภะเกิดมีอวิชชาความไม่รู้ มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยก็ได้ มีมานะเกิดร่วมด้วยก็ได้ ธรรมแต่ละอย่างก็ทรงแสดงไว้โดยละเอียดเพื่อเป็นปัจจัยให้รู้ตามความเป็นจริง ขณะนั้นจึงจะรู้ว่าจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    อ.กุลวิไล อวดอุตริมนุสธรรม เป็นอนันตริยกรรมหรือเปล่า

    อ.ธีรพันธ์ การอวดอุตริมนุสธรรมคือ การอวดอ้างคุณธรรมที่ถึงขั้นที่เป็นฌาน มรรค ผลเป็นธรรมอันยวดยิ่งเหนือมนุษย์ ถ้าไม่มีจริง กล่าวอวด และผู้รู้เนื้อความ ต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่า อุตริมนุสธรรม คือ ธรรมซึ่งเหนือมนุษย์ธรรมดา ที่มนุษย์ธรรมดารู้ไม่ได้ และอวด หมายความว่า ให้คนอื่นรู้ มีความประสงค์จริงๆ ที่จะให้เขารู้ ก็ควรจะทราบว่าอะไรบ้างที่เป็นอุตริมนุสธรรม เช่นขณะนี้ คุณจริยากำลังคิดอย่างนี้ เป็นอุตริมนุสธรรมไหม

    ผู้ฟัง เป็นด้วย

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าใครจะรู้ใจคนอื่น แต่ถ้าสามารถจะบอก คนนี้กำลังคิดอย่างนั้นอย่างนี้ รู้ได้อย่างไร ข้อสำคัญที่สุด บางคนอาจจะคิดว่า ก็เขาบอก ก็เชื่อ ง่ายมากเลย แต่ว่าในพระธรรมวินัยไม่มีอย่างนั้นเลย ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงเหตุที่สมควรแก่ผลทุกประการ

    แม้แต่ว่าการที่จะกล่าวว่า จิตสงบ ก็ต้องบอกด้วยว่าสงบจากอะไร ไม่ใช่เขาบอกว่าสงบ แล้วก็สงบไปด้วย เขาไปนั่งสงบ เราก็เชื่อว่า เขาไปนั่งสงบ เขานั่งไม่กระดุกกระดิกก็เขาสงบมาก ซึ่งความจริงก็เคยมีนายแพทย์ท่านหนึ่งซึ่งท่านนำบุตรของท่านไปนั่งสมาธิ แล้วเด็กคนนั้นก็นั่งนิ่ง พ่อก็ชมเก่งมาก ลูกบอกรู้หรือขณะนั้นลูกคิดอะไร เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถจะไปรู้ใจใครได้เลย เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่บอกว่าคนโน้นกำลังคิดอย่างนี้ คนนี้ก็เป็นอย่างนั้น อวดอุตริมนุสธรรมหรือเปล่า แน่นอน ใช่ไหม เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางก่อนที่จิตจะสงบ จิตเป็นอย่างไร และกว่าจิตจะค่อยๆ สงบขึ้นได้ เพราะสงบนี่ ต้องสงบจากอกุศล หมายความว่า ขณะนั้นต้องเป็นกุศล และใครจะไปบังคับให้จิตเป็นกุศลได้ทุกคนอยากมีกุศล แต่บังคับจิตให้เป็นกุศลไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นต้องมีปัญญาพอที่จะรู้ว่า เมื่อตรึกนึกถึงอารมณ์อะไรแล้วจิตสงบ ไม่ใช่นึกถึงไอศกรีมแล้วก็จิตสงบไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ต้องมีอารมณ์ที่เมื่อระลึกถึงด้วยความเห็นที่ถูกต้อง ความเข้าใจพอสมควร จิตก็จะสงบได้ เช่น เราจะจากโลกนี้ไปเมื่อไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    14 มี.ค. 2567