ปกิณณกธรรม ตอนที่ 732


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๗๓๒

    สนทนาธรรม ที่ เรือนทองทิพย์ จ.เชียงราย

    วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘


    ท่านอาจารย์ คนไหนก็ตามที่ไม่ได้ฟัง พระธรรมอันตรธานจากเขา ไม่ต้องคอยไปถึงกี่พันปี แต่ว่าเมื่อถึงเวลานั้นก็คือว่า ไม่มีใครอีกแล้ว ที่จะกล่าวคำจริง เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ฟังคำจริง ก็คือศาสนาอันตรธานจากคนนั้นที่เข้าใจผิด

    ในพระธรรมมีข้อความว่า อาจหาญร่าเริง หมายความว่าอะไร ทุกคำเลย มีความหมายทั้งนั้น เป็นปัญญาทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ได้ยินคำว่า อาจหาญร่าเริง หมายความว่าอย่างไร กล่าวได้เลย ตั้งแต่เกิดจนตายก็ได้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม พูดคำที่ไม่รู้จักจริงหรือเปล่า พอเข้าใจแล้วรู้เลยแน่นอนไม่ว่าคำไหนคำนั้น ไม่รู้จักเลย เพราะฉะนั้น แม้แต่อาจหาญก็ใช้กัน คืออะไร อาจหาญร่าเริง เห็นไหม ภาษาไทยคนไทยเคยพูดแล้วก็ไม่รู้ แต่พอฟังพระธรรมทุกคำชัดเจน พระธรรมสอนในสิ่งที่ถูกต้อง ความไม่ถูกต้องเป็นความดีหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ความถูกต้องเป็นความดีหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ความถูกต้องเป็นความดี

    ท่านอาจารย์ อาจหาญกล้าที่จะรู้ความจริงไหม

    ผู้ฟัง หมายถึง ผมหรือ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน คำสอนของพระพุทธเจ้า ๒,๕๐๐ กว่าปีนี้ตรัสไว้กับใคร เหมือนกำลังตรัสกับเราทุกคำ ไม่ว่าจะสถานที่โน้น ๒,๕๐๐ กว่าปี คำนั้นเป็นคำจริง ตรัสกับบุคคลในครั้งโน้น ใครก็ตามที่ได้ฟัง ก็เหมือนกับพระองค์กำลังตรัสกับคนนั้น เพราะฉะนั้น อาจหาญร่าเริง ที่จะศึกษาธรรมที่จะรู้ความจริงไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ นี่คือศรัทธาที่มั่นคงขึ้น ไม่ใช่ใครไปทำให้เลย แม้แต่ว่าอยู่ในประเทศที่สมควร คือประเทศที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม เพราะบุญที่ทำไว้แต่ปางก่อน มีโอกาสได้พบกัน เมื่อไรก็ตามแต่ แต่ความหวังดี คือพร้อมที่จะเกื้อกูล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ประเสริฐสุด ไม่ใช่เงินทองทรัพย์สมบัติ แต่ความที่จะให้คนนั้น ได้เข้าใจถูกต้อง มีค่ายิ่งกว่าอย่างอื่น เพราะซื้อหาไม่ได้เลย นอกจากสะสมมาที่จะได้ฟัง และอาจหาญที่จะฟังต่อไป และเป็นคนตรงต่อความจริง ถ้าผิดก็ทิ้ง เก็บไว้ทำไม ถ้าผิดยังเก็บไว้ไม่มีทางถูก แล้วพระธรรมทั้งหมดถูกต้อง เป็นที่พึ่งได้จริงๆ

    เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวว่าพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ไม่เปลี่ยน ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ถ้าพึ่งพระพุทธเจ้า แต่ไม่ฟังพระธรรม หมายความว่าอะไร พึ่งใครก็ไม่รู้ แต่กล่าวไปแล้วด้วยความไม่รู้ แต่มีความที่จะรู้ อาจหาญร่าเริงที่จะเป็นผู้ตรง อุชุปัฏฏิปันโน ไม่ใช่ใครเลย ผู้ฟังนั่นแหละ ดำเนินทางที่พระอริยบุคคลทั้งหลายเดินไปแล้ว ด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก ยากมากๆ เพราะต้องเป็นไปด้วยความละความต้องการ ถ้าปัญญาเกิดไม่ผิดใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ผิด

    ท่านอาจารย์ ปัญญาผิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาทำกิจละ ความไม่รู้ ความไม่รู้นี่มากมายมหาศาลเลย กี่ภพกี่ชาติ เกิดมา ถ้าตายไปก่อนได้ฟังก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก็สะสมไม่รู้เพิ่มไปอีกทุกชาติหนาขึ้นอีก สะสมสืบต่อไว้ในจิต ยังไม่ดับ เป็นพืชเชื้อที่จะให้อกุศลนั้นเกิดขึ้นอีก คุณชลิตชอบสีอะไร

    ผู้ฟัง ชอบสีเขียว

    ท่านอาจารย์ ชอบสีเขียว เห็นไหม อะไรๆ ในบ้านก็คงจะเขียวมากกว่าอย่างอื่น ค่อยๆ สะสม ทีละเล็กทีละน้อย ท่านใช้คำว่า อุปนิสยะ นิสยะแปลว่าที่อาศัย อุปะแปลว่ามีกำลัง ไปซื้อของเสื้อผ้า ไปที่เสื้อสีเขียว เพราะเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง เพราะสะสมมาคุ้นเคย จนกระทั่งทำให้จิต และโลภะ ที่สะสมอย่างนั้น พอใจอย่างนั้น ทุกอย่างเป็นธรรมบังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีจิตที่เป็นธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เหตุผลทั้งนั้นเลย ถ้าเข้าใจถูกเป็นปัญญา เห็นถูก ไม่มีเรา แต่เป็นจิต ธาตุรู้ ถ้าไม่มีธาตุรู้ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีนก ไม่มีไก่ แต่ธาตุรู้ต้องเป็นธาตุรู้ จิตเห็น เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ นกก็เหมือนกัน จิตไม่ใช่นก ไม่ใช่ช้าง ไม่ใช่มด จิตเป็นจิต และจิตเห็นก็เป็นจิตเห็นด้วย นี่คือธรรมเป็นปรมัตถธรรม ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ อีกคำหนึ่งคือ อภิธรรม ตัวธรรมนั่นแหละนอกจากจะเป็นปรมัตถะ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ยังเป็น อภิ คือ ลึกซึ้งอย่างยิ่ง

    ไปงานศพ กุสลา ธัมมา อกุศลา ธัมมา อพยากตา ธัมมา ได้ยินไหม จำได้ชินหู แล้วอะไร เห็นไหม มีประโยชน์ไหม ทั้งๆ ที่มีโอกาสจะเข้าใจแต่ไม่มีศรัทธา เพราะฉะนั้น คนที่ไปฟังสวดงานศพมากมายเลย ทุกงานศพก็ได้ยินเหมือนกันทุกคน ใครมีศรัทธาที่จะฟังให้เข้าใจ หรือใครก็ กุสลา ธัมมา ก็พูดตามได้ อกุสลาธัมมา ก็พูดตามได้ อัพยากตา ธัมมา ก็พูดตามได้ แต่พูดไปอย่างนั้นแหละ ไม่รู้ เพราะฉะนั้น จะรู้ได้ว่า รู้หรือไม่รู้ เพราะอะไร ไม่ใช่แค่ได้ยิน ไม่ใช่แค่จำ แต่ต้องมีศรัทธาที่จะเข้าใจจริงๆ ฟังด้วยความเคารพจริงๆ ไม่คิดเอง คิดเอง เราเป็นใคร แล้วคิดแล้วก็ต้องไตร่ตรองไม่คลาดเคลื่อน คือต้องสอดคล้องกับคำอื่นๆ จึงจะเป็นความถูกต้อง เพื่อที่จะให้ความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และเป็นเรา ดับหมดไม่เหลือเลย จึงจะถึงความเป็นพระโสดาบัน แต่ยังมีกิเลสอื่นที่ยังไม่ได้ดับ เพราะรู้ขึ้นตามความเป็นจริง วันนี้เข้าใจขึ้นใช่ไหม

    ผู้ฟัง มากมายเลย

    ท่านอาจารย์ มีศรัทธาแล้ว ขณะที่เข้าใจ แต่จะเพิ่มขึ้นต่อเมื่อมีการฟัง และไตร่ตรองด้วย จึงจะเข้าใจเพิ่มขึ้น

    สนทนาธรรม ที่ บ้านมิ่งโมฬี จ.ราชบุรี

    วันที่ ๑๐-๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘


    ท่านอาจารย์ ธรรมขณะนี้เกิดแล้ว เป็นแล้ว ตามเหตุตามปัจจัย แต่ว่ารู้ยาก มีโอกาสที่ได้ฟัง ได้ไตร่ตรอง ได้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น นั่นก็เป็นประโยชน์ที่สุดของชาติหนึ่งชาติหนึ่ง เพราะจะต้องอยู่ต่อไปอีกในสังสารวัฏฏ์ ธรรมเป็นธรรมดา ขณะนี้ก็เป็น เพราะฉะนั้น เท่าที่ได้ฟังธรรมมาแล้วทั้งหมด มีอะไรที่อยากที่จะสนทนากัน หรือว่าคนที่เพิ่งจะได้ฟังไม่กี่ปี เพราะว่าหลายท่านก็ฟังมาแล้ว ๔๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง แต่คนที่เพิ่งฟังปี สองปีก็มี เพราะฉะนั้น อาจจะมีหลายอย่างซึ่งก็ฟังแล้วรู้สึกว่า ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน อันนี้ต้องถูกต้อง เพราะเหตุว่าก่อนจะได้ฟังพระธรรม ได้ยินแต่คำอื่นมามากมายในสังสารวัฏฏ์ พอได้ยินคำที่เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเป็นคำใหม่ทั้งหมด เพราะเหตุว่าเป็นคำที่ไม่เคยมีใครได้รู้มาก่อน ได้เข้าใจมาก่อน เพราะฉะนั้น การที่อยู่ในโลกมาแล้วนาน ด้วยความไม่รู้ แล้วก็มีโอกาสที่จะอยู่ด้วยการเข้าใจสิ่งที่มีในชีวิต เพิ่มขึ้น ก็ดีกว่าอยู่ไปอีกโดยการไม่รู้ความจริงของธรรม

    อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องของ การที่พระสัทธรรมจะเสื่อม หรือว่าเจริญ ก็มีหลายประการด้วยกัน อย่างเช่น เหตุที่จะให้พระสัทธรรมเสื่อมก็มี ๑. ความไม่เคารพในพระศาสดา ๒. ความไม่เคารพในพระธรรม ๓. ความไม่เคารพในพระสงฆ์ ๔. ความไม่เคารพในสิกขา ๕. ความไม่เคารพในสมาธิ

    การที่ในอรรถกถาท่านกล่าวถึงความไม่เคารพในพระศาสดา เช่น การใส่รองเท้าเดินในบริเวณพระเจดีย์ หรือว่ากั้นร่มต่างๆ แต่ว่าในการที่เรามีโอกาสได้ศึกษา หรือว่าการฟังพระธรรม การที่จะรู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็จะมีความเคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าเพียงแต่ไม่ใส่รองเท้า แล้วรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า

    อ.วิชัย ยังไม่รู้จัก ถ้ายังไม่ได้ฟังพระธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แสดงความเคารพ โดยไม่ใส่รองเท้าบ้าง อะไรบ้างอย่างกิริยาภายนอกที่กล่าวกัน แต่เคารพจริงๆ ต้องรู้ว่า พระศาสดาเป็นใคร มิฉะนั้นเราก็ไปเคารพใครก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น การที่เราจะเคารพ เราก็ต้องรู้ว่าจริงๆ แล้ว ทุกคนเคารพคุณความดีเท่านั้น ไม่มีใครไปเคารพความชั่ว ความดีไม่ว่าจะอยู่ที่ใคร เด็กผู้ใหญ่ วัยไหนก็ตาม อย่างเด็กเล็กๆ กลับบ้านดูแลพ่อแม่ป่วยไข้ ทุกคนก็ชื่นชม คนขับรถแท็กซี่ หรือคนที่เก็บเงินได้เอาไปคืนเจ้าของ ทุกคนก็อนุโมทนา คนที่ช่วยเหลือคนอื่น สละชีวิตของตัวเองโดยที่ว่าเห็นแก่การที่จะทำคุณความดี ทุกคนก็ชื่นชมในคุณความดี เพราะฉะนั้น สิ่งที่ตรงก็คือว่า ความดีเป็นสิ่งที่ทุกคนยกย่องสรรเสริญ และความดีของใครจะเท่าคุณความดีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ที่ว่าเคารพในพระศาสดา ก็ต้องรู้พระศาสดาเป็นใคร การเคารพก็จะเพิ่มมากขึ้น เมื่อรู้จักคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้น ถ้าเราไม่รู้จักคุณ แล้วมีคนบอกให้กราบไหว้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระพุทธรูป เราก็เพียงแต่ทำตาม แต่รู้ไหมลองถามคนที่กราบว่า พระสัมมาสัมเจ้าตรัสรู้อะไร และสอนอะไร เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ทำตามตามกัน แต่ว่าทั้งหมด ต้องเป็นเรื่องของปัญญา ความเห็นถูก เพราะพุทธะคือปัญญา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่ทรงตรัสรู้ด้วยพระปัญญา ในสภาพธรรมที่มีจริง ตามความเป็นจริง และทรงพระมหากรุณา ทรงแสดงพระธรรมที่ลึกซึ้ง และยากยิ่งถึง ๔๕ พรรษา เพื่อประโยชน์ของคนอื่นทั้งหมด เพราะฉะนั้น ทุกคนก็กราบไหว้ในคุณความดีซึ่งเหนือบุคคลใดในสากลจักรวาล

    อ.วิชัย หมายถึงว่าขณะที่เริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น ความเคารพยำเกรง อย่างเช่น ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม พระภิษุสงฆ์ก็แวดล้อม ไม่มีการแสดงอาการคุยกัน หรือว่ากริยาอาการต่างๆ ที่เป็นการไม่เคารพ แต่ว่าก็ไม่รู้ว่า ความรู้ในการที่จะให้เกิดความเคารพยำเกรงแค่ไหนอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่รูปแบบ ไม่ใช่ฟังคนอื่นบอก แต่เป็นการรู้คุณของพระธรรม คือแต่ละคำซึ่งมีโอกาสจะได้ฟัง ถ้าไม่ได้ฟัง ไม่มีทางที่จะคิดเอง เข้าใจเองได้ เพราะว่าแต่ละคำ ทำให้คนฟังสามารถที่จะเกิดความเห็นที่ถูกต้อง มีความเข้าใจสิ่งที่มีจริง นานแสนนานมาแล้วทุกชาติ แม้เดี๋ยวนี้ก็เป็นความจริง ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ ความเคารพในธรรม คือว่าตั้งใจฟัง ด้วยความเคารพอย่างยิ่งว่า แต่ละคำมีประโยชน์ และมีความหมาย เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ คนที่ไปฟังธรรมแต่ไม่ตั้งใจฟัง คุยกันบ้าง ไม่สนใจบ้าง นั่นแสดงว่าไม่ได้เคารพในสิ่งที่กำลังฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่หายากที่จะได้ฟัง และมีประโยชน์มากด้วย

    ถ้าคนที่เห็นคุณของพระธรรม จะไม่ฟังใครเลย ที่อยู่ข้างๆ เขาจะพูดอะไรก็ตามแต่ เขาจะสะกิดหรือว่าจะคุยด้วย แต่พูดนั้นก็ตั้งใจที่จะฟังพระธรรม ถ้าคนสะกิดจะโกรธก็เรื่องของเขา แต่ว่าเขาควรจะรู้สึกตัวว่า เขากำลังรบกวน ทำประโยชน์ของคนฟังให้เสื่อม เพราะว่าเพียงพลาดแม้คำเดียว คนนั้นก็ไม่เข้าใจ ถึงไม่มีใครมาสะกิด ใจก็คิดถึงอย่างอื่น เพราะว่ามีปัจจัยที่จะทำอย่างนั้น ให้ทราบว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้ว จะดีชั่วอย่างไรก็ตาม ก็เป็นธรรมคือสิ่งที่มีจริง ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย เปลี่ยนแปลงไม่ได้เพราะอะไร เกิดแล้วดับแล้ว แต่สามารถที่แล้วเห็นถูกเข้าใจถูก ว่าแท้ที่จริงสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าไม่มีใครมาบอกมาพร่ำสอนความจริงว่า ทุกขณะเป็นสิ่งซึ่งใครก็ยับยั้งไม่ได้เลย ไม่ให้เห็นไม่ได้ ไม่ให้ได้ยินก็ไม่ได้ ไม่ให้โกรธก็ไม่ได้ ไม่ให้รัก ไม่ให้ชังก็ไม่ได้ เป็นสิ่งที่มี ห้ามไม่ได้ เพราะเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แต่เริ่มเห็นถูกเข้าใจถูก ไม่ใช่ว่าจะหมดกิเลสได้โดยรวดเร็ว แต่ถ้าไม่มีการฟังให้เข้าใจเลย ก็หมดโอกาสที่จะได้เข้าใจความจริง เพราะฉะนั้น ความจริงก็เป็นความจริง จะสามารถรู้ความจริงได้เมื่อไร ก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยที่สมควร ถ้าไม่มีการได้ยินได้ฟังเลย ฟังแล้วก็ลืม แต่ว่าถ้าได้ยินบ่อยๆ เป็นอุปนิสัยที่จะคล้อยตามไปสู่ธรรมบ่อยๆ ก็ไม่ลืม เราคิดเรื่องอื่นได้บ่อยๆ แล้วทำไมเมื่อไรจะคิดถึงธรรมได้บ่อยๆ ก็ต้องตามเหตุตามปัจจัย

    อ.วิชัย มีการสนทนาที่มูลนิธิในตอนหนึ่ง ท่านอาจารย์กล่าวถึงความเป็นผู้ที่ตรง แล้วก็คุณของอริยสงฆ์ประการหนึ่งคือ เป็นอุชุปะฏิปันโน ความเป็นผู้ปฏิบัติตรง ความเป็นผู้ตรงคือเป็นความเข้าใจ แม้แต่คำเริ่มต้นเช่น การที่จะกล่าวถึงความเป็นอนัตตาของธรรม แต่ว่าศึกษาว่าธรรมเป็นอนัตตา และก็จะแสวงหาหรือกระทำ ขณะนั้นก็ไม่ตรง ขณะที่จะมีปัจจัยให้ระลึกได้ที่ว่า ขณะนั้นแหละตรงนั้นแหละ คือเริ่มเป็นผู้ที่ไม่ตรงแล้ว

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีอะไรจริงๆ หรือเปล่า

    อ.วิชัย เห็นมีจริง

    ท่านอาจารย์ ตรงแล้วใช่มั้ย

    อ.วิชัย มีแน่นอน

    ท่านอาจารย์ นี่คือตรง เห็นไหม แม้แต่การตรง ก็ตรงต่อคำพูด ตรงต่อคำถาม แต่ถ้าถามอย่างนี้แล้วก็ตอบไปอย่างอื่น ไม่ตรงแล้ว เพราะว่าการสนทนา จะนำไปสู่การสนทนา ซึ่งเป็นคำถาม และคำตอบให้เข้าใจยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น เราจะไม่เอาความคิดเก่าๆ หรือว่าการที่เราไปคิดโน่นคิดนี่มาตอบ แต่ถ้าคำถามถามว่าอย่างนี้ คำตอบก็ต้องตอบตรงตามคำถาม ขณะนี้มีเห็นจริงๆ หรือเปล่า

    อ.วิชัย เห็นจริง

    ท่านอาจารย์ เห็นที่กำลังเห็นเดี่ยวนี้ต้องเกิดขึ้นหรือเปล่า

    อ.วิชัย ต้องเกิดแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เกิดจะมีเห็นไหม

    อ.วิชัย ก็มีไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ความจริงเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเราไม่ค่อยๆ สนทนากันแล้วก็ลืมแล้วก็ข้ามไป ไปหาอื่นมาอีกมากมาย แต่ลืมแล้วว่า เดี๋ยวนี้แม้แต่เห็นเดี๋ยวนี้เข้าใจในความเป็นธรรมแค่ไหน ถ้าไม่เตือนให้รู้ว่า เดี๋ยวนี้ เห็นมีเห็นเกิด เพื่อที่จะไปสู่ความเป็นอนัตตาว่า เห็นขณะนี้ใครทำให้เกิดขึ้นได้ไหม

    อ.วิชัย ไม่ได้ เห็นก็เกิดแล้ว

    ท่านอาจารย์ แล้วเห็นกับได้ยินเหมือนกันไหม

    อ.วิชัย ไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ไม่เหมือน เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นมีได้ยินไหม

    อ.วิชัย ขณะได้ยินก็เป็นได้ยิน ขณะที่เห็นก็เป็นเห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็น มีได้ยินไหม

    อ.วิชัย ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพื่อที่จะได้มั่นใจจริงๆ เพราะว่าคำพูด พูดเหมือนตอบตาม ไม่ใช่ แต่พูดเพราะกำลังเข้าใจทีละน้อย ถึงคำที่เรากล่าว ที่เราตอบต้องตรง แล้วก็เพิ่มความเข้าใจของเราเองขึ้นให้แน่นอน เห็นขณะนี้ไม่ใช่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ขณะที่ได้ยินไม่มีเห็น ขณะที่เห็นไม่มีได้ยิน แสดงว่าเห็นต้องเกิดขึ้น แล้วเห็นดับไป ค่อยๆ เข้าใจบ่อยๆ ธรรมไม่ใช่ว่าเราต้องไปหาอื่นมา สิ่งที่ชินด้วยความไม่รู้ ไม่รู้เลย เห็น ได้ยินขณะนี้ ก็ชินด้วยการเข้าใจขึ้นๆ ไม่ต้องไปที่อื่นเลย ที่สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏให้มั่นคง เป็นสัจจญาณแต่ละหนึ่งจริงๆ ถ้าเราไม่มีความรอบรู้ ความเข้าใจที่มั่นคงในหนึ่งอย่าง ต่อไปเราก็ไม่เข้าใจ ไม่มั่นคงผ่านไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามีความเข้าใจว่ามั่นคงรอบรู้ในหนึ่งนั้น ต่อไปก็สามารถที่จะรอบรู้ในอีกหนึ่ง และทั้งหมดก็คือว่า ได้รู้จริงๆ แล้วก็อย่างนี้จะไปทำอะไรไหม เห็นเกิดแล้วดับแล้ว เห็นอย่างนี้ยังไม่เข้าใจแล้วจะไปทำอะไร ต้องตรง

    อ.วิชัย เหมือนว่าความรู้กว่าจะค่อยๆ เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ และกว่าจะตรง พูดว่าเห็นขณะนี้เกิด กว่าจะตรง ไปไหนก็ไม่รู้ ตามทีละคำไปเรื่องอื่น จนกว่าเห็นขณะนี้ เริ่มเข้าใจโดยการที่รู้ว่า เห็นนี้เป็นสิ่งที่มีจริงแน่ เคยเข้าใจผิด เห็นว่าเป็นเรา แล้วเมื่อไรที่สามารถที่จะรู้ความจริงว่า เห็นไม่ใช่เรา เพราะอะไร เห็นมีปัจจัยเกิดขึ้นเห็นแล้วดับไป ถ้าสามารถจะเข้าใจได้จริงๆ เป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรม และก็อบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะรู้ความจริงในคำที่ได้ฟัง ในสิ่งที่มีจริงๆ และความจริงก็เป็นอย่างที่ได้ฟังด้วย เท่านี้เอง แต่ละหนึ่งๆ ๆ แต่เพราะเหตุว่า สะสมความไม่รู้มามาก นานเท่าไรแล้ว และเวลาฟัง ฟังนานเท่าไรแล้ว พอไหมกับการที่จะละคลายการที่เคยไม่รู้ และติดข้องยึดถือเห็นว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น ก็ฟังไม่ใช่ฟังเรื่องอื่น ฟังสิ่งที่มีในขณะนี้ละเอียดยิ่งขึ้น เข้าใจขึ้น

    อ.วิชัย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเป็นอันมาก อย่างเช่น ทรงแสดงเรื่องของขันธ์ ธาตุ อายตนะต่างๆ จะเกื้อกูลต่อการที่จะเข้าใจอย่างที่สนทนาสักครู่อย่างไร

    ท่านอาจารย์ อิติปิโส ภะคะวา แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคคือผู้ที่ทรงจำแนก จึงทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังแค่นี้จำแนกมานิดเดียว คือ เห็นก็มี ได้ยินก็มี คิดก็มี โกรธก็มี ชอบก็มี เบื่อก็มีมากมาย แต่เพียงที่เรายกตัวอย่างแค่เห็น พอไหม ไม่พอ เพราะฉะนั้น ทรงจำแนกจนกว่าจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ซึ่งใช้คำว่าปริยัติ หมายความว่ารอบรู้ในพระพุทธพจน์ ในวาจาสัจจะที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วด้วยพระองค์เอง ทุกคำเป็นสิ่งที่ควรรู้ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ไม่มี ถ้าไม่มีแล้วพูดถึงสิ่งที่ไม่มีก็เสียเวลา แต่สิ่งที่มี เพราะไม่รู้จึงทรงแสดงธรรม โดยละเอียดยิ่งโดยประการทั้งปวง เพื่อที่จะให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง จนกว่าสามารถที่จะดับ การที่เคยยึดถือสภาพธรรมทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตายว่าเป็นเรา ไม่มีความเห็นผิดว่าเป็นเป็นเราอีกเลย เพราะความจริงเป็นอย่างนั้น แต่ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นอย่างนั้น

    ถ้าไม่ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ เช่น เห็นแม้เดี๋ยวนี้ หนึ่งขณะนี้ เกิดได้เพราะอะไร จำแนกแล้วใช่ไหม ละเอียดขึ้นไปอีก ว่าถ้าไม่มีจักขุปสาท รูปที่อยู่ตรงกลางตา ที่สามารถที่จะกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ และเป็นปัจจัยให้กรรมหนึ่ง ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น ถ้าเป็นคนตาบอด ไม่มีกรรมที่จะทำให้จิตเห็นเกิดได้เลย แต่ต้องเป็นกรรมหนึ่ง ที่สามารถที่จะทำให้จิตเห็นสิ่งที่กระทบตา รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ลักษณะอย่างไร แล้วก็ดับไป พอไหมที่จะละการยึดถือว่าเป็นเรา ฟังแล้วนี่เห็นไหม ปัญญาไม่พอ น้อยมาก ไม่สามารถที่จะละการยึดถือได้เลย จึงต้องทรงแสดงว่าจิตเห็นเกิดได้เพราะอะไร เพียงไม่มีสิ่งที่กระทบตาเท่านั้น จิตเห็นจะเกิดไม่ได้เลย นี่แสดงการเป็นปัจจัยแล้ว แม้จะเห็นขณะนี้เหมือนดูธรรมดามากเลย แต่ความจริงถ้าไม่มีสิ่งที่กระทบตา จิตเห็นเกิดไม่ได้ แม้ว่ามีกรรม หรือถึงมีตา แต่ไม่มีรูปมากระทบจิตเห็นก็เกิดไม่ได้ ทุกอย่างเลย ถึงเวลา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 176
    11 มี.ค. 2567