พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 248


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๔๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นสิ่งซึ่งใหม่ต่อคนที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน และเริ่มที่จะได้ยินได้ฟัง ก็จะรู้ว่า เป็นอีกโลกหนึ่ง ต่างกับโลกซึ่งเคยอยู่ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวบุคคลต่างๆ แต่ธรรมจริงๆ ปรากฏแล้วก็หมดไปอย่างรวดเร็ว นี่คือตรงกับลักษณะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    ผู้ฟัง ยังไม่หายสงสัย ที่ในขณะเดียวกันอย่างธาตุไฟ ทำไมถึงมี ๒ ลักษณะ

    ท่านอาจารย์ เหมือนที่กล่าวสักครู่

    ผู้ฟัง ใช่ แต่ยังไม่หายสงสัยว่า ทำไมถึงต้องมี ๒ ลักษณะที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญารู้สึกร้อนไหม

    ผู้ฟัง เคยร้อน แล้วก็เคยเย็น

    ท่านอาจารย์ เคยเท่านั้น หรือ หมายความว่าเคยรู้สึกร้อน หรือรู้จักร้อน ใช่ไหม ร้อนมีจริงๆ ไม่ต้องเรียกว่า “ร้อน” ได้ไหม กำลังกระทบร้อน แต่ไม่เรียกว่าร้อน ได้ไหม

    ผู้ฟัง แต่ก็คือร้อน

    ท่านอาจารย์ คำถามว่า กำลังกระทบร้อน แล้วไม่เรียกว่าร้อน ได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่เรียกว่าร้อน เราจะเรียกว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเรียก กำลังรู้สิ่งที่ร้อน มีอะไรอยู่บนเตา หม้อหนึ่ง แล้วจับหม้อนั้นก็รู้สึกร้อน ต้องไปเรียกไหมว่า หม้อร้อน

    ผู้ฟัง แต่ถ้าสิ่งนั้นปรากฏ เราก็พูดทันทีว่า ร้อน

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องพูดทันที ร้อนก่อน หรือพูดก่อน

    ผู้ฟัง ร้อนก่อน

    ท่านอาจารย์ ร้อนก่อน เพราะฉะนั้นสภาพที่ร้อนมีจริงๆ ไม่เรียกก็ได้ นี่คือธรรม แต่อาศัยชื่อ เพื่อจะแสดงว่า ธรรมมีหลากหลายต่างๆ กัน และบางขณะคุณสุกัญญารู้สึกเย็น หรือหนาวไหม

    ผู้ฟัง เย็น

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้นึกหลอกตัวเอง ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่หลอก

    ท่านอาจารย์ เย็นจริงๆ หนาวจริงๆ ไม่เรียกได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่เรียกก็เป็น

    ท่านอาจารย์ ลักษณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งต่างกับอ่อน หรือแข็ง การฟังธรรม ถ้ามีความเข้าใจตามลำดับตั้งแต่ต้น จะไม่มีความสงสัยในลักษณะที่เป็นธรรมจริงๆ แต่เพราะเหตุว่าเราไม่คุ้นเคยกับการพิจารณาให้เข้าถึงความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ธรรม” เราเพียงแต่ได้ยินคำนี้ แล้วพูดคำนี้บ่อยๆ เช่น กุศลธรรม อกุศลธรรม ธรรมเทศนา แต่ว่าจริงๆ แล้ว "ธรรมคืออะไร"

    แม้แต่จะได้ยินได้ฟังคำใดๆ มาก่อน แต่การศึกษาพระธรรมทำให้เป็นผู้ที่ละเอียด ที่จะเข้าใจคำที่ได้ยินได้ฟัง ได้ถูกต้องตั้งแต่ต้น มิฉะนั้นถ้าเราไม่มีพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้องตั้งแต่ต้น เราก็คิดเองไปเรื่อยๆ ว่า ธรรมเป็นอย่างนี้ ธรรมเป็นอย่างนั้น แต่ว่าตามความเป็นจริงถ้าเข้าใจคำว่า “ธรรม” ตามลำดับตั้งแต่ต้น ก็จะไม่สงสัยในลักษณะที่เย็น หรือร้อน เพราะมีจริงในลักษณะที่อ่อน หรือแข็ง เพราะมีจริง ซึ่งก็เป็นธรรมนั่นเอง

    ผู้ฟัง บางครั้งจิตเราไม่อยากฆ่าสัตว์ แต่เราจำเป็นต้องฆ่ามัน เราจะบาปไหม

    ท่านอาจารย์ รู้จักจิต หรือยัง

    ผู้ฟัง จิตก็คือสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ นามธรรมหมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง หมายความว่าสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ สภาพที่สามารถจะรู้ เห็น คิด นึก จำ ต่างกับรูปธรรมที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แล้วถ้าใช้คำว่า “นามธรรม” ที่เกิดขึ้น จะมี ๒ ประการ คือ จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ เช่น เห็น ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตากับจิตที่กำลังเห็น

    เวลาที่พูดถึงเรื่องจิต เราเข้าใจว่า เรารู้แล้ว แต่ความจริง เรารู้จริงๆ หรือเปล่าว่า ขณะนี้ไม่ใช่เราเห็น แต่เป็นธาตุ หรือธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่เป็นสภาพที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด มีใครจะไม่ให้จิตขณะนี้เกิดได้ หรือไม่ ไม่มีทางเลย ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อมีปัจจัยที่จะให้จิตเห็นเกิด จิตเห็นก็เกิด ขณะที่ได้ยิน กำลังได้ยิน จิตเห็นเกิด หรือไม่

    ผู้ฟัง จิตเห็นไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ จิตอะไรเกิด

    ผู้ฟัง จิตที่ฟัง

    ท่านอาจารย์ จิตที่กำลังได้ยินเสียง เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจความเป็นอนัตตาด้วย จิตมีมากมายหลากหลาย ที่กล่าวถึงบุญ และบาป ก็เป็นจิตที่เป็นกุศล และอกุศล ถ้าเป็นจิตที่ไม่ดี ก็เป็นอกุศลจิต ถ้าเป็นจิตที่ดีงาม ไม่ให้เป็นผลเป็นทุกข์เลย ก็เป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ตรงว่า จิตเป็นเรา หรือไม่

    ผู้ฟัง จิตไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นจิต กุศลจิตมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ อกุศลจิตมีไหม

    ผู้ฟัง อกุศลจิตก็มี

    ท่านอาจารย์ ขณะที่อกุศลจิตเกิด เป็นเรา หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ เมื่ออกุศลจิตมีกำลัง ก็ทำทุจริตทางกาย ทางวาจา แล้วจะเปลี่ยนอกุศลจิตให้เป็นกุศลจิตไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ตรง ที่จะรู้ด้วยตัวเองว่า อกุศลจิตเป็นอกุศลจิต

    ผู้ฟัง การเรียนทางวิทยาศาสตน์ต้องมีการฆ่าหนูทดลอง ใจจริงๆ นั้นไม่อยากฆ่าเลย แต่ว่าจะต้องเรียน อย่างนี้จะบาปไหม

    อ.วิชัย ธรรมเป็นสิ่งที่จริง และตรงตามความเป็นจริง หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าธรรมเป็นอนัตตา ดังนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมว่า เป็นส่วนที่ดีก็มี ในส่วนที่ไม่ดีก็มี ถ้าเราศึกษาธรรมโดยละเอียด ก็จะทราบว่าขณะจิตที่คิดจะฆ่า เป็นจิตที่ดี หรือไม่ดี

    ผู้ฟัง ถ้าเราลงมือฆ่า ก็แสดงว่าไม่ดีใช่ไหม

    อ.วิชัย ก็ต้องเป็นผู้ตรงที่สามารถเข้าใจได้ เพราะเหตุว่าธรรมไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้เลย ดังที่ท่านอาจารย์กล่าวแล้วว่า ธรรมเมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิด จึงเกิดขึ้น แล้วดับไปทันที ดังนั้นเมื่อมีความเข้าใจถูกว่า ธรรมที่เป็นจิตคิดจะฆ่า เป็นสิ่งที่ไม่ดี เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ขณะนั้นตรงตามความเป็นจริงที่ว่า เกิดแล้ว มีแล้ว คือ มีจิตที่คิดจะฆ่า ได้กระทำลงไปแล้ว ซึ่งต่างกับขณะที่ไม่ต้องการจะฆ่า แต่สภาวะจิตใจก็เกิดดับสืบต่อกัน บางครั้งก็มีจิตคิดจะฆ่า บางครั้งก็ไม่มีจิตที่คิดจะฆ่า

    ดังนั้นการศึกษาเบื้องต้น ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ธรรมคืออะไร มีนามธรรมที่เป็นจิต ที่เป็นสภาพที่รู้ว่ามีลักษณะอย่างไร เมื่อมีความเข้าใจถูก ก็จะเป็นผู้ที่ตรง สามารถจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพจิตอะไร เมื่อมีความเข้าใจถูก จะไม่มีข้อสงสัยว่า ขณะนั้นเป็นบาป หรือไม่ใช่บาป เพราะเหตุว่าถ้าเป็นบาป หมายความว่าเป็นจิตที่ไม่ดี ที่คิดจะฆ่า หรือคิดที่จะลักขโมยวัตถุสิ่งของต่างๆ อันนี้ก็เป็นผู้ที่ตรงที่สามารถรู้ว่า ขณะนั้นสภาพจิตมีลักษณะอย่างไร

    ดังนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมโดยละเอียดว่า ธรรมในส่วนที่ดีก็มี ธรรมในส่วนที่ไม่ดีก็มี จึงต้องมีการศึกษา มีการฟังพระธรรมที่จะเข้าใจมากขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าเบื้องต้นมีความสับสนเป็นส่วนมากว่า ขณะนั้นเป็นจิตอะไร บาป หรือไม่บาป ก็จะมีความคิดอย่างนี้ แต่เมื่อมีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูกว่า ธรรมก็คือธรรม จิตขณะนั้นเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย อยู่ที่ว่า มีความเข้าใจในสภาพจิตที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน ถ้าเข้าใจถูกก็จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่ไม่ดี แต่ขณะใดก็ตามที่รู้สึกละอายที่จะงดเว้นการกระทำนั้น ก็เป็นจิตที่ดี ที่สามารถละอาย งดเว้นในการกระทำอกุศล เช่นนี้ก็เป็นผู้ตรงที่สามารถจะรู้ได้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง แล้วศีลข้อที่ ๑ ห้ามฆ่าสัตว์ การล่วงศีลต้องมีองค์ ๕ คือ ๑. รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสัตว์ ๒. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต ๓. เราตั้งใจฆ่า ๔. ลงมือฆ่า และ ๕. สัตว์นั้นล่วงไปเพราะการฆ่าของเรา แต่ข้อที่ ๓ จริงๆ เราไม่อยากจะฆ่าเลย จะถือว่าล่วง ๕ ข้อนี้ หรือไม่

    อ.วิชัย ที่กล่าวไปแล้วต้องเป็นผู้ตรง และพระผู้มีพระภาคก็ตรัสองค์ของปาณาติบาตไว้ ๕ องค์ แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่เศร้าหมองไหม ถ้าเป็นจิตที่เศร้าหมอง ขณะนั้นก็เป็นจิตที่ไม่ดี แม้มีการกระทำ ต้องเป็นผู้ละเอียดที่สามารถรู้ว่า ขณะนั้นจิตมีเจตนาที่จะฆ่าไหมเพียงเล็กน้อย และต้องเป็นผู้ตรงที่จะเข้าใจสภาพจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

    ผู้ฟัง คือเจตนาจริงๆ ไม่อยากจะฆ่าเลย

    วิชัย จริงๆ แล้วเป็นความเข้าใจของเรา แต่ถ้าละเอียดลงไป ต้องรู้จริงๆ ต้องมีสติที่จะรู้ในขณะนั้นว่า มีเจตนาที่จะฆ่า หรือไม่ เพราะเหตุว่าความเข้าใจของเรา หรือความนึกคิดของเรา ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่มีความรู้ความเข้าใจที่มั่นคง หรือมากพอที่จะรู้สภาพจิตขณะนั้น ก็ไม่สามารถจะเข้าใจได้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นจิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปแล้ว

    ผู้ฟัง ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์อย่างนั้น เราควรทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จิตของเรา หรือของใคร ต้องพิจารณาตามความเป็นจริง จิตใดก็ตามที่ต้องการเบียดเบียนประทุษร้าย ไม่ว่าจิตของใครทั้งหมด ขณะนั้นเป็นจิตที่ดี หรือไม่ดี

    ผู้ฟัง ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ไม่ดี ต้องรับตามความเป็นจริง แล้วจริงๆ แล้วที่กล่าวว่า “ไม่อยากจะฆ่า” ขณะหนึ่ง แต่ฆ่า อีกขณะหนึ่ง และถ้าไม่มีเจตนาจะฆ่า การฆ่าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย แล้วรู้ด้วยว่า ขณะนั้นเป็นสัตว์ที่มีชีวิต ต้องการให้สัตว์นั้นตาย ใครก็ตาม ไม่ใช่เรา หรือเขา หรือใคร แต่ธรรมเป็นธรรม ขณะนั้นเป็นจิตที่มีกำลัง ที่สามารถจะเบียดเบียนบุคคลอื่นได้ถึงชีวิต เพราะฉะนั้น คงไม่มีใครอยากถูกเบียดเบียนอย่างนี้ แต่จิตที่เป็นอกุศล ก็สามารถจะกระทำการเบียดเบียนอย่างนั้นได้

    การศึกษาธรรม ไม่ใช่ให้เข้าข้างตัวเราว่า อกุศลทั้งหลายไม่ดีก็รู้ ไม่อยากทำก็จริง แต่ทำ อย่างนั้นไม่ใช่ ต้องเป็นผู้ที่ตรง ไม่ว่าเรา หรือเขา หรือใคร ไม่มีเชื้อชาติด้วย ไม่ว่าชาตินี้ทำไม่เป็นไร ชาตินั้นทำไม่ได้ หรืออะไรอย่างนี้ แต่ธรรมเป็นธรรม เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม คือ ศรัทธาที่เห็นประโยชน์ของความเข้าใจถูกในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดง ธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ใครก็ไม่สามารถเข้าใจลักษณะของจิตประเภทต่างๆ ที่กำลังมีในขณะนี้ได้ นอกจากค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การศึกษาธรรมเพื่อความเข้าใจของผู้ฟัง ผู้ศึกษาเอง เพื่อที่จะไม่ต้องถามคนอื่นว่า ทำอย่างนี้บาปไหม เพราะบาป หมายความถึงจิตที่ไม่ดีงาม เป็นอกุศลจิต ไม่ว่าเกิดขึ้นเมื่อไรกับใคร เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่า บาป หรือไม่บาป ก็คือสามารถจะรู้จิตในขณะนี้ได้ว่า ขณะนี้จิตต่างกันหลากหลาย เป็นจิตที่เป็นเหตุที่ดีก็มี เป็นเหตุที่ไม่ดีก็มี เป็นจิตที่เป็นผลของกรรมที่ไม่ดีที่ได้กระทำแล้วก็มี เป็นผลของกรรมที่กระทำแล้วที่ดีก็มีนี่คือเราไม่เคยรู้เรื่องของจิตซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไป โดยที่ว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ถ้ามีความเข้าใจ ขณะนั้นเป็นเรา หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรา และเป็นจิตที่ดีงาม หรือไม่ ที่มีความเห็นถูก เข้าใจถูก

    ผู้ฟัง เป็นจิตที่ดีงาม

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จิตที่ดีงามก็เจริญเพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท หมายความว่าไม่มีการเกิดขึ้นอีกได้เลย แต่ต้องเป็นตามลำดับขั้นด้วย แต่ที่ไม่ลืม คือ ฟัง พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ฟัง ซึ่งเป็นความเข้าใจถูกของตัวเอง

    ผู้ฟัง และจะเทียบเคียงกับที่ว่า ครั้งพระพุทธเจ้าเคยตรัสกับภรรยาของพราหมณ์ที่ไปล่าเนื้อ และภรรยาเหลาลูกดอกให้ และภรรยาพราหมณ์บรรลุถึงขั้นโสดาบัน แล้วมีคำถามว่า ทำไมนางจึงเหลาลูกดอกเพื่อให้สามีไปฆ่าสัตว์ พระพุทธเจ้าก็เปรียบเหมือนกับมือที่ไม่มีบาดแผล ถือยาพิษไป ยาพิษนั้นก็แล่นเข้าสู่มือไม่ได้ จะเปรียบเทียบกันได้ไหมกับการที่ผมปฏิบัติไป จริงๆ แล้วไม่อยากจะทำอย่างนั้นเลย

    ท่านอาจารย์ ต่อไปนี้คงไม่กล่าวอย่างนี้แล้วใช่ไหม ทำไปโดยที่ความจริงไม่อยากทำอย่างนั้น ต้องแบ่งเป็น ขณะที่ไม่อยาก กับขณะที่ทำ ปนกันไม่ได้เลย ฉันใด จิตของสามีเป็นจิตของภรรยา หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ต่างคนต่างจิต เช่นที่เราพูดว่า ต่างจิตต่างใจ ตามการสะสม เพราะฉะนั้นจะให้ปัญญาของภรรยาซึ่งเป็นพระโสดาบันแล้วไปทำการฆ่า ไม่ได้เลย แต่หน้าที่ของภรรยา มี ถึงภรรยาไม่ทำ สามีก็ทำเองได้ แต่เจตนาของสามีกับเจตนาของภรรยาก็ต่างกัน นี่ก็จะเห็นได้ว่า แม้จะอยู่ร่วมกันในสถานที่เดียวกัน แต่การสะสมที่ต่างจิตต่างใจมานานแสนนาน ทำให้แม้แต่ขณะนี้แต่ละคนที่กำลังฟังพระธรรมก็คิดต่างกัน และเข้าใจต่างกันด้วย

    ผู้ฟัง แล้วอย่างนี้ถ้าอาจารย์ให้ผมฆ่า ผมก็ให้อาจารย์ฆ่าแทนได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเรื่องสมมติเลย ธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องจริง ถ้าสมมติ ก็ไม่มีวันจบ แต่ไม่รู้ความจริง ก็ได้แต่สมมติ แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไม่ใช่อย่างนั้นเลย ทุกคำจริง พร้อมที่จะให้เข้าใจสิ่งที่ทรงแสดง เช่น ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ ไม่เคยสนใจ ไม่เคยได้ฟังพระธรรม ไม่รู้ความจริงว่า แท้จริงแล้วน่าอัศจรรย์ไหม หรือธรรมดา เห็นธรรมดา ตื่นมาลืมตาธรรมดา แต่ลองคิดดู กำลังหลับสนิท ไม่มีอะไรปรากฏ มีจิต หรือไม่ นี่คือคิดไตร่ตรองเพื่อที่จะเป็นความเข้าใจ ความต่างของคนเป็นกับคนตาย ต่างกัน หรือไม่ คนเป็นกับคนตาย

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ต่างกันอย่างไร

    ผู้ฟัง คนตายแล้วไม่สามารถจะรับรู้

    ท่านอาจารย์ คนตายไม่สามารถจะรับรู้ คือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิดนึก ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น เพราะว่าไม่มีจิตซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานแต่ละประเภทในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

    คนที่ยังไม่ตาย นอนหลับสนิท ยังมีจิตอยู่ ถูกต้องไหม ต่างกับคนตาย แต่จิตขณะนั้นไม่เห็นแล้วก็ไม่ได้ยินอะไร ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัสกาย ไม่ได้คิดนึก ไม่ฝันด้วย ขณะนั้นแสดงว่ามีอะไรของโลกนี้ปรากฏให้รู้ หรือไม่ว่า กำลังอยู่ที่ไหน ชื่ออะไร

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มีอะไรจะปรากฏเลย แม้แต่ว่าวันนี้เป็นเราไปโน่นมานี่ คิดโน่นคิดนี่ ทำโน่นทำนี่ แต่พอหลับสนิท หายไปไหนหมด ทั้งวันนี่หายไปไหนหมด ไม่เหลือเลย เพราะขณะนั้นจิตไม่ได้เกิดขึ้นเห็น ไม่ได้เกิดขึ้นได้ยิน ไม่ได้เกิดขึ้นได้กลิ่น ไม่ได้เกิดขึ้นลิ้มรส ไม่ได้เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้คิดนึก แต่จะมีคำที่เราใช้บ่อยๆ "ภวังค์" แต่บางท่านก็อาจจะไม่ทราบความหมายที่แท้จริง ว่า "ภวังคจิต" เป็นจิตที่ดำรงภพชาติ หลังจากที่ปฏิสนธิเกิดมาเป็นบุคคลนี้ ยังจากโลกนี้ไป ยังตายไม่ได้ เพราะเหตุว่ายังมีกรรมที่จะให้ผลทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนกว่าจะถึงวาระจะจากโลกนี้ไป ก็คือขณะจิตสุดท้ายเกิดแล้วดับไป และเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ไม่สามารถจะเป็นคนนี้อีกต่อไปได้ แต่ระหว่างที่ยังไม่ตาย และหลับสนิท ก็มีจิตที่ดำรงภพชาติ

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ไหม ถ้าเป็นเราไม่น่าอัศจรรย์เลย แต่ถ้าเป็นธรรม หรือเป็นธาตุ มีปัจจัยจึงเกิด และต้องเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อเป็นธาตุรู้ สภาพรู้ เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เราจะรู้ หรือไม่รู้ ไม่เป็นไร ไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ เพราะว่า อวิชชาก็ไม่สามารถจะรู้ความจริงได้ แต่ถ้าเป็นปัญญาสามารถเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่มีจริง ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ตั้งแต่เกิดจนตายทุกภพทุกชาติได้

    นี่เป็นเหตุที่เมื่อศึกษาธรรม ก็อย่าคิดเอง ปะปนศาสตร์นี้กับศาสตร์นั้น วิชานั้นกับวิชานี้ เพราะว่าวิชาอื่นไม่ใช่พระพุทธศาสนา ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ๓ ปิฎก และมีอรรถกถาจารย์ซึ่งท่านได้รจนาคำอธิบายสืบทอดกันมา ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถจะเข้าใจว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร และทรงแสดงพระธรรมเพื่อจะให้บุคคลอื่นมีความเข้าใจถูก เห็นถูก ตรงตามสภาพธรรมอย่างไร น่าอัศจรรย์ไหม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์อธิบายสักครู่เรื่องฆ่าสัตว์ เหตุนี้ถึงต้องเรียนสภาพจิตก่อนว่าเป็นอย่างไร เขาเกิดขึ้นแล้ว เป็นอย่างไรคือเป็นอย่างนั้น จะจริง หรือไม่จริง เขาก็เกิดแล้ว จะรู้ หรือไม่รู้ เขาก็เกิดแล้ว เพราะในขณะจิตนั้นเราไม่รู้ ต้องฝึกให้รู้ตรงขณะจิตนั้นด้วย

    ท่านอาจารย์ ข้อที่น่าคิดอย่างหนึ่ง คือ สามารถรู้องค์ของปาณาติบาตว่า สำเร็จลงได้เพราะเจตนา เพราะรู้ว่าสัตว์มีชีวิตเป็นต้น แต่ไม่รู้จักจิต จึงไม่รู้ว่า แม้ขณะนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการข้ามขั้นของการเข้าใจธรรม ถ้าไม่มีการเข้าใจธรรมตามลำดับขั้น แม้ว่าจะรู้เรื่องอื่น ก็ยังคงเป็นที่สงสัย และไม่สามารถจะตัดสินได้ เพราะว่าเหมือนกับว่าเราไม่มีเจตนา แต่ก็ฆ่า ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าศึกษาโดยละเอียดขึ้น ก็จะเข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ตัวสภาวรูปมีโทษไหม เพราะว่าในอริยสัจ เขาก็พูดถึงจิต เจตสิก รูป

    อ.อรรณพ รูปเป็นธรรม คือ เป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะ มีสภาพจริงๆ แต่ว่ารูปนั้นไม่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย อย่างเช่น สีที่ปรากฏทางตา สี วัณณะต่างๆ ที่ปรากฏก็เป็นสภาพของรูปอย่างหนึ่ง เป็นธรรม เป็นรูปธรรมที่ปรากฏทางตา เสียงก็เป็นรูปอีกประเภทหนึ่งที่ปรากฏทางหู กลิ่น รส เย็นร้อนอ่อนแข็งก็ปรากฏตามทวารนั้นๆ สภาพธรรมเหล่านี้เกิดแล้วก็ดับไป แต่ปัญญาในขั้นต้นก็ยังไม่รู้ในความเกิดขึ้น และดับไปของสภาพรูป แต่ด้วยกิเลสจึงติดในรูปที่ปรากฏทางตา รูปที่ปรากฏทางหู รูปที่ปรากฏทางจมูก ปรากฏทางลิ้น ปรากฏทางกาย พระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อให้ละคลายสภาพอกุศลธรรมที่ติดข้องในรูปต่างๆ โดยปัญญานั้นต้องรู้รูปตามความเป็นจริง จึงจะละคลายการติดแม้ในรูปซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ได้

    อ.วิชัย ในเบื้องต้นได้ศึกษาเรื่องของนามว่าเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ รูปซึ่งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีจริง แต่ไม่รู้อะไรเลย ถ้าในส่วนของนามธรรมซึ่งเป็นจิตเจตสิกเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ คำว่า “อารมณ์” ต่างกับอารมณ์ที่เราเข้าใจกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็คือการศึกษาธรรมตามลำดับ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567