พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 290


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๙๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙


    อ.วิชัย การที่ธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ซึ่งเป็นอินทรีย์ที่เป็นใหญ่ เรียกว่า มนินทรีย์ ที่จะเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องอาศัยจักขุปสาท ซึ่งเป็นจักขุนทรีย์ในการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา โดยสภาพของจักขุปสาท เป็นรูป ซึ่งจะรู้อะไรไม่ได้เลย แต่สามารถรับกระทบกับอารมณ์ หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ และเป็นปัจจัยแก่การที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น

    ดังนั้นจักขุปสาทจึงเป็นจักขุนทรีย์ คือ เป็นใหญ่ในการเห็น ถ้าปราศจากจักขุ หรือตา การเห็นก็มีไม่ได้ จักขุปสาท หรือตา จึงเป็นใหญ่จริงๆ ในการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาได้

    โสตินทรีย์ หรือโสตปสาท ดังนั้นการได้ยิน ขณะนี้ทุกคนก็กำลังได้ยิน มีสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เป็นใหญ่ การได้ยินเป็นใหญ่ไหม จิตได้ยินเป็นใหญ่ แต่การได้ยิน หรือจิตได้ยินจะเกิดขึ้น ต้องอาศัยรูปอย่างหนึ่งซึ่งเป็นใหญ่ที่ทำให้การได้ยินเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยรูปอย่างหนึ่ง คือ โสตปสาท ซึ่งเป็นโสตินทรีย์ คือ เป็นใหญ่ในการรับรู้ คือ การได้ยินเกิดขึ้นได้ ดังนั้นแม้มีเสียงมากมาย แต่ถ้าไม่มีโสตปสาท การได้ยินก็เกิดไม่ได้ การได้ยินเกิดได้ เพราะอาศัยโสตปสาทเป็นโสตินทรีย์ คือ เป็นใหญ่ในการรับกระทบกับเสียง และจึงเป็นปัจจัยให้เกิดการได้ยินขึ้น เพราะฉะนั้นโสตปสาทจึงเป็นโสตินทรีย์ เป็นใหญ่ ในการได้ยินเสียง โดยสภาพของโสตปสาท รู้เสียงได้ไหม ไม่ได้ แต่ว่าการรู้เสียงจากทางโสตปสาทได้ไหม ก็ไม่ได้ ดังนั้นจิตเห็นต้องอาศัยจักขุปสาท จิตได้ยินต้องอาศัยโสตปสาท จิตเหล่านี้จึงจะเกิดขึ้นได้

    ฆานปสาท การได้กลิ่น กลิ่นแม้มีมากมาย แต่ถ้าปราศจากฆานปสาทซึ่งเป็นฆานินทรีย์ กลิ่นก็ไม่ปรากฏแก่จิต หรือมนินทรีย์ ดังนั้นเมื่อมีฆานปสาทรับกระทบกับกลิ่น จึงเป็นปัจจัยให้ฆานวิญญาณ คือ จิตเกิดขึ้นรู้กลิ่นนั้นได้

    รส สิ่งที่รับกระทบรส คือ ชิวหาปสาท เป็นอินทรีย์ เพราะฉะนั้นชิวหาปสาทเป็นชิวหินทรีย์ คือ เป็นใหญ่ในการรับกระทบกับรส และเป็นปัจจัยให้เกิดการรู้รส

    กายปสาท เป็นกายินทรีย์ คือ เป็นใหญ่ รับกระทบกับรูป ๓ รูป คือ ธาตุดิน อ่อนแข็ง ธาตุไฟ คือ เย็นร้อน และธาตุลม คือ ตึงไหว ทั้ง ๓ ธาตุจะปรากฏ คือกระทบเฉพาะกับกายปสาทเท่านั้น กายปสาทจึงเป็นใหญ่ เป็นกายินทรีย์ที่เป็นปัจจัยให้เกิดการรู้โผฏฐัพพะทางกาย แต่ว่าแม้มีจักขุปสาท มีโสตปสาท มีฆานปสาท มีชิวหาปสาท มีกายปสาท แต่ถ้าขาดสภาพธรรมอย่างหนึ่งก็ไม่สามารถรู้อะไรได้ทั้งหมด ถ้าขาดจิตที่เป็นมนินทรีย์ หรือมโน เป็นธาตุอย่างหนึ่งที่เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นจิตจึงเป็นใหญ่ในการรับรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๕ หรือแม้ทางใจ มโนทวารจิตนั้นก็สามารถรู้ได้ จึงเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ

    อันนี้คืออินทรีย์ ๖ อย่าง ถ้าพิจารณา ชีวิตประจำวันก็มีอินทรีย์เหล่านี้ ตามความเป็นจริง ถ้าขาดอินทรีย์เหล่านี้ การรู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ ก็มีไม่ได้ ดังนั้นอินทรีย์จึงเป็นใหญ่ทางทวารของตนๆ

    ผู้ฟัง คุณวิจิตรพูดเมื่อสักครู่นี้ว่า มีอาการเจ็บ มีอาการคัน เป็นอินทรีย์ทางไหน

    ท่านอาจารย์ เจ็บ หรือคันมีจริง เป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เจ็บก็เป็นความรู้สึก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมก็มี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ความรู้สึกเจ็บ ความรู้สึกคัน เป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เป็นเจตสิกอะไรใน ๕๒

    ผู้ฟัง เป็นเวทนาเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เวทนาเจตสิก เวลาที่เกิดขึ้นแล้ว ขณะที่มีอาการคัน หรือเจ็บ เป็นใหญ่ไหม

    ผู้ฟัง เป็นทางเวทนาแล้ว เป็นสุขินทรีย์ หรือทุกขินทรีย์

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่ คุณวิชัยกล่าวถึงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อินทรีย์ เป็นรูป ๕ อินทรีย์ เป็นนาม ๑ อินทรีย์ แต่คุณวิชัยยังไม่ได้กล่าวถึงอินทรีย์ต่อไป คือ เวทนินทรีย์ ซึ่งทุกครั้งที่มีการกระทบ มีการรู้อารมณ์ จะต้องมีความรู้สึกเกิดต่อ จึงเป็นที่สงสัยของคุณสุรีย์ เชิญคุณวิชัยกล่าวเพิ่มเติม

    อ.วิชัย สภาพที่รู้แจ้งทางกาย เรียกว่ากายวิญญาณ โดยการเกิดขึ้นเป็นใหญ่จริงๆ ในการรู้ทางกาย ก็คือจิต รู้เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ขณะที่ร้อน สภาพที่รู้ร้อนมี ความเป็นใหญ่ในการรู้ร้อน แต่ถ้ามีความรู้สึกที่เป็นทุกข์ขึ้นมา จะเห็นความต่างระหว่างความรู้สึกที่เป็นทุกข์ กับสภาพร้อนปรากฏ สภาพที่เป็นนามธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกัน แล้วแต่ว่า สภาพธรรมใดจะปรากฏแต่จิตในขณะนั้น ความเป็นใหญ่ของจิตรู้ทางกาย ก็คือ รู้เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว แต่ถ้าเป็นความรู้สึกที่เป็นทุกข์เกิดขึ้น สิ่งนั้นคือเวทนาเจตสิก และเป็นอินทรีย์ด้วย เป็นเวทนินทรีย์

    ท่านอาจารย์ เรากำลังพูดกันเรื่องอินทรีย์ เพราะฉะนั้นเราพูดเรื่องไหน ก็จะเข้าใจเรื่องนั้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะไม่ปะปนกับทางทวาร หรือวัตถุ หรืออะไรเลย เพราะฉะนั้นเมื่อสักครู่ที่ คุณวิชัยกล่าวถึงอินทรีย์ ๖ ก็เพื่อที่จะให้เราเข้าใจความหมายของอินทรีย์ ที่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จักขุปสาทเป็นรูป โสตปสาทเป็นรูป ฆานปสาทเป็นรูป ชิวหาปสาทเป็นรูป กายปสาทเป็นรูป ๕ รูปนี้เป็นรูปที่เป็นอินทรีย์ ที่ตัวของเราตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า มีรูปที่เป็นอินทรีย์ ยังไม่กล่าวไปถึงรูปอื่น รูปอื่นก็มี แต่ยังไม่กล่าวถึง คือ จักขุปสาทเป็นอินทรีย์ ถ้าไม่มีจักขุปสาท ก็ไม่สามารถที่จะมีสีสันวัณณะปรากฏได้ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร จะมั่งมีเงินทองมหาศาล จะเป็นคนที่มีความรู้ทางโลกมากมาย แต่ถ้าไม่มีจักขุปสาทเป็นอินทรีย์ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ปรากฏไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ อินทรีย์ ๑ ที่กาย จึงเป็นจักขุปสาท เป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่จริงๆ มิฉะนั้นโลกสีสันวัณณะปรากฏไม่ได้เลย เป็นรูปธรรม สำหรับทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็โดยนัยเดียวกัน แต่ถ้าเราพิจารณาแล้ว เราก็จะเห็นความเป็นอินทรีย์นั้นๆ เช่น เสียง เสียงมีแน่ เป็นรูป เกิดจากการกระทบกันของแข็งพอเสียงเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่มีโสตปสาท คนที่ไม่มีโสตปสาท อย่างไร ก็ให้เสียงปรากฏไม่ได้ จะรู้ว่าเสียงมีลักษณะอย่างไร เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นต้องอาศัยโสตปสาทเป็นรูปที่กลางหู ที่สามารถกระทบกับเสียง ไม่ใช่อยู่ตรงอื่น ไม่ใช่อยู่ทั่วตัว แต่ว่าเป็นรูปที่สามารถกระทบเสียง

    โสตปสาทจึงเป็นรูปหนึ่งที่เป็นอินทรีย์ เป็น ๒ แล้ว พูดถึงเสียง เสียงน่าสงสัยไหม รูปร่างอะไรก็ไม่มี ก็ยังปรากฏได้ คิดดูถึงความอัศจรรย์ของธรรมแต่ละอย่างๆ สีสันวัณณะมี แต่ว่าถ้าไม่มีจักขุปสาท สีสันวัณณะปรากฏไม่ได้เลยแม้มี คนตาบอดก็จะสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่า แสงสว่างเป็นอย่างไร สีเป็นอย่างไร รถยนต์เป็นอย่างไร สิ่งที่เขากล่าวถึงเป็นอย่างไร เพราะว่ามองไม่เห็นเลย สำหรับเสียงก็เช่นเดียวกัน คนที่ไม่มีโสตปสาท ก็สงสัย จะเป็นเสียงดนตรี เสียงเพลง เสียงรถไฟ เสียงอะไรทั้งหมด ก็ไม่มีการปรากฏเลย โลกเงียบ สำหรับคนที่ไม่มีโสตปสาท เสียงใดๆ ก็ปรากฏไม่ได้เลย

    นี่คือการที่ไม่ใช่ตัวตน และการที่รูปใดจะเป็นอินทรีย์ได้ ก็ต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ พอถึงกลิ่น ดอกไม้มีกลิ่น มองไม่เห็นกลิ่น แต่เมื่อใดที่กลิ่นปรากฏ เพราะกระทบกับฆานปสาท ถ้ารูปนี้ไม่มี กลิ่นใดๆ ก็ปรากฏไม่ได้เลย กลิ่นอาหารก็ปรากฏไม่ได้ กลิ่นอะไรทั้งหมดปรากฏไม่ได้เลย แต่เมื่อมีรูปนี้เป็นอินทรีย์ สามารถกระทบกับกลิ่น จึงมีจิตที่สามารถรู้กลิ่นนั้นเกิดขึ้น คือ กำลังได้กลิ่นนั้น

    นี่คือความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ซึ่งปัญญาที่ค่อยๆ อบรม จะค่อยๆ เข้าใจ เห็นถูก จนกระทั่งแทงตลอดความจริงของสภาพธรรมซึ่งเป็นอย่างนี้ได้

    นี่สำหรับกลิ่น พอถึงรส อาหารที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ รู้ไหมว่าเค็มแค่ไหน หรือหวานแค่ไหน ไม่มีทางจะรู้ได้เลย ผลไม้ บางคนก็ยังต้องให้คนอื่นชิมก่อนว่า เปรี้ยวไหม ถ้าเปรี้ยว จะได้ไม่รับประทาน ก็แสดงว่า ไม่สามารถจะรู้โดยสีสันวัณณะเลย แม้ว่าจะเป็นผลไม้ชนิดเดียวกัน แต่ต้องกระทบกับชิวหาปสาทที่อยู่กลางลิ้น จิตเกิดขึ้นลิ้มรส จึงได้ปรากฏรสนั้นได้ มิฉะนั้นรสนั้นก็ไม่ปรากฏ ไม่ว่ารสอะไรทั้งสิ้น ปรากฏเมื่อไร ให้ทราบว่าขณะนั้นเพราะจิตกำลังลิ้มรส โดยมีชิวหาปสาทเป็นอินทรีย์ เป็นรูปที่เป็นใหญ่ในการลิ้มรส

    สำหรับที่กายที่เป็นรูป คือ กายปสาท ซึมซาบอยู่ทั่วตัว ในขณะที่ปรากฏลักษณะที่อ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อน ตึง หรือไหว ขณะนี้ทุกคนมีมหาภูตรูปที่ตัว ปรากฏลักษณะที่อ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อน ตึง หรือไหว หรือเปล่า

    กาลใดที่จิตเกิดขึ้น รู้รูปที่สามารถกระทบกายปสาท คือ ลักษณะที่อ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อนกระทบ จิตจึงเกิดขึ้นรู้ลักษณะที่แข็ง หรืออ่อน หรือเย็น หรือร้อน หรือตึง หรือไหว ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นที่กายปสาท จิตนั้นจะไม่รู้ลักษณะที่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว ซึ่งความจริงก็มีอยู่ทั้งภายในภายนอก ที่ตัวก็มี แต่ว่าต้องมีกายปสาท ถ้าไม่มีกายปสาทซึ่งเป็นรูปที่เป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ในการสามารถกระทบกับรูปที่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว จิตจะไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะที่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว

    เพราะฉะนั้นเป็นความละเอียดที่จะต้องรู้ว่า ขณะใดที่เป็นลักษณะที่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหวปรากฏ จิตเป็นสภาพที่กำลังรู้ลักษณะนั้น เพราะอาศัยกายปสาทซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัว

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความเป็นอินทรีย์ของรูป ๕ รูป คือ จักขุปสาทรูปเป็นอินทรีย์ โสตปสาทรูปเป็นอินทรีย์ ฆานปสาทรูปเป็นอินทรีย์ ชิวหาปสาทรูปเป็นอินทรีย์ กายปสาทรูปเป็นอินทรีย์

    สงสัยไหม ว่าจะต้องไปท่อง หรือไปจำ ถ้ามีความเข้าใจก็จำได้เลย และคุณวิชัยก็กล่าวถึงอินทรีย์ ๖ ยังไม่ได้กล่าวถึงอินทรีย์ ๒๒ ทั้งหมด เพียงแต่กล่าวถึงอินทรีย์ ๖ ว่า อินทรีย์ที่ ๖ ก็คือ มนินทรีย์ ได้แก่จิต ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เจตสิก แต่เป็นจิต เป็นธาตุที่เกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งนั้น เช่น ขณะนี้จิตเห็น รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ จะเป็นอื่นไม่ได้เลย แต่กำลังรู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เสียงปรากฏ จิตเป็นลักษณะที่รู้แจ้งในเสียงที่ปรากฏ ไม่ใช่เสียงอื่น และจะเปลี่ยนเสียงนั้นให้เป็นอื่นก็ไม่ได้ เมื่อเสียงนั้นเป็นอย่างนั้น สภาพที่รู้แจ้งเสียงนั้น คือ จิต

    เพราะฉะนั้นจิตทุกประเภทเป็นมนินทรีย์ไม่เว้นเลย จะนอนหลับสนิท มีจิต ก็เป็น มนินทรีย์ จะเห็น เพียงแค่เห็น แต่ว่าเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ก็เป็นมนินทรีย์

    ด้วยเหตุนี้วันนี้ก็หมดสงสัยในเรื่องอินทรีย์ ๖ ต่ออีก ๕ ก็ได้ คือ เวทนินทรีย์ เกี่ยวข้องกัน และไม่ยากที่จะเข้าใจว่า ขณะใดก็ตามที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย และทุกเวทนาเป็นอินทรีย์หมด รวมอีก ๕ เวทนา จึงเป็น ๑๑ อินทรีย์

    ก็ไม่ต้องไปคิดที่จะไปจำอินทรีย์ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง แต่การที่จะให้เข้าใจจนกระทั่งไม่ต้องท่อง ก็คือสามารถจะรู้ความเป็นใหญ่ของอินทรีย์นั้นๆ

    ผู้ฟัง จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ เป็นใหญ่ในตัว ของตัวเอง

    ท่านอาจารย์ เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นสภาพที่สามารถกระทบกับอารมณ์เฉพาะทาง

    ผู้ฟัง อย่างที่อาจารย์พูดชัดว่า จักขุได้ยินไม่ได้ พอมาถึงมนินทรีย์ ก็มีเวทนาเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ มนินทรีย์ คือ จิต หายสงสัยไหม

    ผู้ฟัง ไม่หาย

    ท่านอาจารย์ แม้ว่าจะมีจักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย ถ้าไม่มีจิต พวกนี้จะเป็นใหญ่ได้ไหม ในเมื่อไม่มีรูปกระทบ ไม่ปรากฏจิตต่างๆ ที่จะเห็น ได้ยิน เหล่านั้น แต่เพราะจิตต้องอาศัยรูปต่างๆ เหล่านี้ จึงสามารถเห็น ได้ยิน จิตเป็นใหญ่อยู่แล้วในการรู้อารมณ์ แม้ไม่เห็น จิตรู้อารมณ์อะไรก็ตาม ขณะนั้นจิตก็เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ที่กำลังรู้

    ผู้ฟัง แต่ตัวที่เรียกว่าเป็นอินทรีย์ เราเรียกว่า จักขุปสาท

    ท่านอาจารย์ จักขุปสาทเป็นรูป ที่สามารถทำให้จิตเกิดขึ้นเห็น หรือได้ยิน ได้กลิ่น

    ผู้ฟัง แต่จะเป็นใหญ่ได้ ถ้ามีมนินทรีย์เข้ามาด้วยอย่างนั้น หรือ

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของเขาก็เป็นใหญ่ แต่ขณะใดที่ไม่ได้มีกระทบ จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ เพราะว่าสภาพของรูปก็มีอายุที่สั้นมาก เกิดแล้วก็ดับแล้ว ไม่ได้ทำกิจการงานอะไร

    ผู้ฟัง แสดงว่าจักขุปสาทเป็นอินทรีย์ตัวเองไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จักขุปสาทเป็นอื่นไม่ได้ เป็นจักขุปสาท แต่โดยสภาพที่เป็นจักขุปสาทนั้นเองเป็นลักษณะของอินทรีย์ประเภทหนึ่ง

    ผู้ฟัง มันต้องประกอบกัน ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ จักขุปสาทเป็นรูป ต่างจากรูปอื่น ซึ่งรูปอื่นก็เกิดดับ จักขุปสาทก็เกิดดับ แต่ว่าลักษณะของรูปอื่นไม่ได้เป็นใหญ่ รูปที่เป็นใหญ่ ก็คือ รูปที่เป็นจักขุปสาท โสตปสาท เป็นต้น

    ผู้ฟัง ผมกำลังเข้าสู่ปัญหาที่อาจารย์สุรีย์ถามว่า เวทนามันเกิด ...

    ท่านอาจารย์ มนินทรีย์ยังสงสัยไหม

    ผู้ฟัง มนินทรีย์ คือ อะไร

    ท่านอาจารย์ มนินทรีย์ คือ จิตทุกประเภท เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงเรื่องรูปที่เป็นอินทรีย์ ก็เป็นพูดถึงเรื่องรูปแต่ละรูปที่เป็นอินทรีย์ พอพูดถึงนามที่เป็นอินทรีย์ ก็กล่าวถึงนามแต่ละนาม เช่น จิตก็เป็นอินทรีย์ คือ เป็นมนินทรีย์ จิตจะไม่เป็นอินทรีย์ไม่ได้ เพราะเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์

    ผู้ฟัง จะเรียกอีกอย่างว่า มโนวิญญาณ อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่าง จิตทุกประเภทเป็นอินทรีย์หมด เวลาที่กล่าวถึงจิต ก็โดยพยัญชนะ แล้วแต่จะใช้ สภาพคิด รู้แจ้งอารมณ์ แต่เวลาที่กล่าวถึงความเป็นใหญ่ ก็คือว่า ในขณะนั้นเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง คือผมกำลังจะอธิบายต่อ ด้วยความเข้าใจของตัวเองว่า สมมติเราได้ยิน เวลาที่เรารู้สึกมีเวทนาขึ้น อยู่ที่มนินทรีย์

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตเกิดขึ้น ต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง แล้วแต่ว่าจะเป็นเวทนาประเภทไหน ลักษณะของเวทนาทุกประเภทเป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่

    ผู้ฟัง มันเชื่อมโยงกันไปหมด เลยสับสน

    ท่านอาจารย์ ต่อไปนี้เราก็พูดถึงแต่ละอินทรีย์ ทีละอินทรีย์ เวลาพูดถึงอินทรีย์ ก็พูดถึงสภาพธรรมที่เป็นอินทรีย์ ที่เป็นรูปธรรมก็มี ที่เป็นนามธรรมก็มี รูปอะไรบ้างที่เป็นอินทรีย์ และนามอะไรบ้างที่เป็นอินทรีย์

    ผู้ฟัง ยกตัวอย่างเสียงที่ดังมาก ก็เกิดมีทุกขเวทนา

    ท่านอาจารย์ เสียงดังมาก ขณะนั้นจิตเป็นสภาพที่ได้ยินเสียง ถูกต้องไหม เวทนาอะไรเกิดกับโสตวิญญาณ นี่คือความรวดเร็วที่จะต้องแยกสภาพธรรมว่า เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และเพราะความไม่รู้ จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ถ้าเป็นความรู้ ต้องเป็นความรู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เช่น ในขณะที่เสียงปรากฏ จิตอะไรได้ยิน จิตได้ยินเกิดขึ้น เวทนาอะไรเกิดกับจิตได้ยิน เสียงจะดัง เสียงจะเบาแค่ไหนอย่างไรก็ตาม เวทนาที่เกิดร่วมกับโสตวิญญาณเปลี่ยนไม่ได้เลย มิฉะนั้นก็ไม่เป็น ปรมัตถธรรม

    จึงต้องทราบว่า เวทนาอะไรเกิดร่วมกับโสตวิญญาณที่ได้ยินเสียงนั้น เสียงเบา เสียงดัง เสียงลั่นสนั่นก็แล้วแต่

    ผู้ฟัง เป็นอุเบกขา หรืออย่างไร เสียงเบา ผมก็ชอบ

    ท่านอาจารย์ เสียงดังก็ต้องเป็นอุเบกขา จิตได้ยินจะเกิดร่วมกับเวทนาอื่นไม่ได้เลย นอกจากอุเบกขาเวทนา นี่คือสิ่งที่เราไม่รู้ เราอาจจะคิดเอง อาจจะสับสน แต่ว่าตามความเป็นจริงก็คือว่า นอกจากกายวิญญาณซึ่งรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย โดยอาศัยกายปสาท เวทนาที่เกิดกับกายวิญญาณต้องเป็นทุกข์ หรือสุขอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น จะเป็นอุเบกขาไม่ได้ และสำหรับทวารอื่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส จะเป็นเวทนาอื่นไม่ได้ นอกจากอุเบกขาเวทนา เราจะคิดอย่างไร เข้าใจอย่างไร นั่นเป็นเพราะความรวดเร็วของจิต ซึ่งเกิดดับจนเหมือนกับว่า ไม่ได้ขาดไปเลย หมดไปเลย

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ทาง ๕ ทวาร เวทนาที่เกิดกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ เป็นอุเบกขาเวทนา ที่เกิดกับกายวิญญาณ ต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือ เป็นทุกขเวทนา หรือสุขเวทนา อุเบกขาเวทนาจะเกิดกับกายวิญญาณไม่ได้

    ผู้ฟัง ที่เรียกว่า "อินทรีย์" ขณะที่ปรากฏใช่ไหม ถ้าไม่ปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่เป็น หรือว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะเห็นตอนนี้ มีอินทรีย์อะไรบ้าง ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง จักขุนทรีย์ มนินทรีย์ อุเบกขินทรีย์

    ท่านอาจารย์ ๓ อินทรีย์ และคำถาม ก็คือว่า จะรู้อินทรีย์ไหนได้ จักขุนทรีย์ก็มี มนินทรีย์ก็มี อุเบกขินทรีย์ก็มี เวทนินทรีย์ก็มี แล้วจะรู้อินทรีย์ไหนได้

    ผู้ฟัง คำตอบของอาจารย์ก็คือแล้วแต่ว่า สภาพนั้นจะปรากฏใช่ไหม เพราะว่ามีสิ่งที่จะรู้ได้หลายอย่าง เพราะเกิดพร้อมๆ กัน

    ท่านอาจารย์ อวิชชารู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง อวิชชารู้ไม่ได้ ต้องปัญญาที่จะรู้ขณะนั้นก็เป็นอินทรีย์

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะรู้ว่าเป็นอินทรีย์ ต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมก่อนใช่ไหม แม้ขั้นการฟังก็ต้องเป็นลำดับ การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตรง คือ เป็นลำดับ ถ้าไม่รู้ว่าเป็นธรรม ไม่มีทางเลยที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน แต่เมื่อรู้ว่าเป็นธรรม และลักษณะที่ต่างกันเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม จะเข้าใจสภาพที่เป็นรูปธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง หรือนามธรรมที่มีในขณะนั้นตามความเป็นจริง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567