พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 298


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๙๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ก่อนที่กุศลจิต และอกุศลจิตจะเกิด ต้องมีมโนทวาราวัชชนจิตเกิด รู้อารมณ์ซึ่งกุศลจิต และอกุศลจิตคิด เร็วมาก ขณะนี้ทั้งหมด ก็คือ วิถีจิต และจิตที่ไม่ใช่วิถีสลับกัน แต่วิถีจิตแรกที่ลืมไม่ได้ก็คือ เป็นกิริยาจิต เพราะว่าจากภาวะของภวังคจิตซึ่งเป็นวิบาก จะไปสู่จิตประเภทอื่นก็ต้องเป็นกิริยาจิต ซึ่งสามารถที่จะรู้อารมณ์ที่ดี หรืออารมณ์ที่ไม่ดี เป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ ได้ทั้งหมด

    ผู้ฟัง วิถีจิตแรกจะเริ่มจากมโนทวาร หรือไม่

    ท่านอาจารย์ วิถี มีวิถีจิต ๖ ทวาร ทวารมี ๖ ทวาร ถ้าเป็นทางตา ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด เราใช้คำรวมว่า “ปัญจทวาราวัชชนะ” แต่ขณะที่เป็นสิ่งที่กระทบจักขุปสาท จักขุทวาราวัชชนจิต เราสามารถแยกปัญจะ ออกเป็นแต่ละหนึ่ง แทนที่จะรวมเป็น ๕ คือ เป็นจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร ๕ ทาง จิตที่สามารถเกิดขึ้นเป็นวิถีจิตแรก เมื่ออารมณ์นั้นๆ กระทบ ถ้าเป็นทางตา ก็คือจักขุทวาราวัชชนจิต เพราะอาศัยตา ถ้าเป็นทางหู ก็เป็นโสตทวาราวัชชนจิต เพราะอาศัยหู จึงสามารถที่จะให้เสียงปรากฏได้ เป็น ๑ ขณะ ซึ่งยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยินเลย แต่เป็นวิถีจิตแรกซึ่งเปลี่ยนภาวะจากภวังค์สู่การเป็นวิถีจิต

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นสมมติว่า ผมตื่นขึ้นตอนเช้า จากภวังค์แล้วลืมตาขึ้นเห็นครั้งแรก ตอนที่จักขุปสาทกับอารมณ์บรรจบกัน จิตเกิดครั้งแรก จักขุเป็นวิถีจิตแรก ขณะนั้นเป็นกิริยาจิต หรือเป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ เป็นกิริยาจิต เปลี่ยนจากภวังค์ซึ่งเป็นวิบากแล้ว เป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง จะเป็นวิบากเมื่อไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อกิริยาจิตซึ่งรู้อารมณ์ที่กระทบไม่ว่าจะเป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ ดี หรือไม่ดีก็ตาม ดับไป ถ้าเป็นทางตา จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น ต้องรู้ว่า ก่อนเห็น เดี๋ยวนี้มีจักขุทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน และก่อนจักขุทวาราวัชชนจิตก็ต้องเป็นภวังคุปัจเฉทะ คือ ภวังค์ขณะสุดท้าย และจักขุวิญญาณดับ จักขุวิญญาณเป็นวิบากจิต

    กรรมไม่ได้ทำเพียงให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นแล้วดับไป ยังทำให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดรับรู้อารมณ์นั้นต่อ เป็นวิบาก ด้วยเหตุนี้จึงต้องรู้ว่า จิตชื่ออะไร ทำกิจอะไร และเป็นชาติอะไร เปลี่ยนชาติไม่ได้เลย จิตใดที่เป็นวิบาก ก็คือจิตที่เป็นผลของกรรม กรรมเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตนั้นๆ เกิดขึ้น เมื่อถึงกาลที่กรรมนั้นสมควรจะให้ผลนั้นๆ คุณเด่นพงศ์เลือกผลของกรรมให้เกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้ากรรมใดยังไม่สุกงอม พร้อมจะให้ผล ก็ยังไม่สามารถทำให้วิบากจิตประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้น แต่ขณะนี้เห็นแล้ว รู้ว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่ไม่สามารถจะรู้อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เป็นผลของกรรมอะไร และเป็นผลของกรรมชาติไหน แต่เมื่อเป็นวิบากจิต ก็ต้องมีเหตุ คือ กรรมที่ได้กระทำแล้ว

    ขอทบทวนเรื่องจิต โดยชาติ

    ชา - ติ คือ การเกิด ว่าจิตที่เกิดต้องเป็น ๑ ใน ๔ ชาติ เพราะเหตุว่าชาติทั้งหมดมี ๔ กุศล ๑ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล อกุศล ๑ จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล วิบาก ๑ คือ จิตเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม กิริยา ๑ คือ จิตที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต

    นี่คือ ๔ ชาติ หรือ ๔ ประเภท โดยชาติ จิตที่เกิดแล้ว จะไม่เป็นกุศลได้ไหม ได้ คือ เป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา แต่ต้องเป็น ๑ ใน ๔ แล้วแต่ว่าจะเป็นอะไร

    แต่ละจิต ต้องรู้ว่าจิตนั้นเป็นเหตุ คือ เป็นกุศล อกุศล หรือว่าจิตนั้นเป็นผล คือ เป็นวิบาก หรือว่าจิตนั้นไม่ใช่ทั้งเหตุ และผล คือ ไม่ใช่ทั้งกุศล และอกุศลซึ่งเป็นเหตุ และไม่ใช่วิบาก แต่เป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง ประเด็นข้อสงสัยของผมจริงๆ อยู่ที่ขณะใด เราจะรู้ว่าเป็นกิริยาจิต ขณะใดที่เราจะรู้ว่า เป็นวิบากจิต

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เพียงทราบว่าจิตทั้งหมด ต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ เราสามารถจะรู้ชาติของจิตไหม ในขณะที่กำลังเห็นเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม หมดไปแล้ว กรรมทำให้เห็น ใครก็ทำไม่ได้ นอกจากกรรม จะทำให้เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามใจชอบก็ไม่ได้ แล้วแต่กรรมจะทำให้เห็นอะไร และเมื่อเห็นแล้ว คนที่ยังไม่หมดกิเลส ก็จะชอบ หรือไม่ชอบในสิ่งที่เห็น เป็นอกุศล หรือว่าเป็นกุศล แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว เห็นแล้วความต่างกัน คือ ท่านเห็นทุกอย่างเหมือนคนอื่น แต่ไม่มีกุศล และอกุศลอีกเลย เห็นแล้วก็เป็นกิริยาจิต

    เรื่องจิต ๔ ชาติ ก็ต้องมีความเข้าใจว่า จิตอะไรเป็นชาติอะไร ถ้าพูดถึงอาวัชชนจิต จิตที่เป็นวิถีจิตแรกทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร จึงชื่อว่า “ปัญจทวาราวัชชนจิต” ยังไม่ใช่ขณะที่เป็นผลของกรรม แต่เป็นกิริยาจิตเพื่อที่จะเป็นบาทเฉพาะให้วิบากจิตเกิดขึ้น เป็นบาทเฉพาะ คือ จิตนี้เกิดขึ้นทำให้จิตที่เป็นชาติอื่นเกิดต่อได้

    ฟังดูเป็นชื่อ เหมือนกับยาก แต่ถ้าเรามีความเข้าใจที่มั่นคง ตั้งแต่ต้นว่า จิตไม่ใช่เรา กุศลจิตไม่ใช่เรา เป็นธรรม อกุศลจิตก็ไม่ใช่เรา วิบากจิต กำลังเห็น กำลังได้ยิน ก็ไม่ใช่เรา กิริยาจิตก็ไม่ใช่เรา ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ แล้วรู้ว่า เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า จิตใดเป็นเหตุ และจิตใดเป็นผล และจิตใดไม่ใช่ทั้งเหตุ และผล เป็นกิริยาจิตที่เกิดขึ้น ทำกิจหน้าที่ตามกาลซึ่งเกิดขึ้นที่จะต้องทำกิจนั้น

    ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้พอได้ยินชื่อ โลภมูลจิต คือ จิตที่มีโลภมูลจิตเกิดร่วมด้วย ขณะที่ติดข้องอยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นเป็นชาติอะไร

    ผู้ฟัง ชาติอกุศล

    ท่านอาจารย์ ชาติอกุศล ก็พอจะรู้ได้จากการฟัง และค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง เราได้ทราบว่า กิริยาจิตเป็นของปุถุชนก็มี ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ๒ ประเภทเท่านั้น คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต กับมโนทวาราวัชชนจิต ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์จะมีกิริยาจิตมากกว่า ๒ ประเภทนี้ไม่ได้เลย ทุกคนขณะนี้มีกิริยาจิตซึ่งเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต และกิริยาจิตซึ่งเป็นมโนทวาราวัชชนจิต เท่านั้น แต่พระอรหันต์มีกิริยาจิตทั้งหมด

    ตัวอย่าง ทุกคนพูดได้ว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นผลของกรรม พูดได้แค่นี้เอง แต่กรรมไหน ชาติไหน เป็นผลของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่วิบากจิตเกิดขึ้น และสิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็อายุสั้นมาก เพียงแค่จิต ๑๗ ขณะ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับแล้ว เพราะฉะนั้นใครสามารถจะบอกได้ รู้ได้ชัดเจนว่า ขณะไหนเป็นผลของกุศลกรรม และขณะไหนเป็นผลของอกุศลกรรม

    นี่คือความละเอียด และเป็นเรื่องที่ผู้ที่จะรู้จริงๆ ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะอะไร เพราะเราไม่ได้เกิดชาตินี้ชาติเดียว เราเกิดมาแล้วนานมาก และแต่ละชาติทำกรรมไว้ หรือเปล่า ถ้ามีจิต ก็ต้องมีกุศลจิต อกุศลจิต ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดกุศลกรรม และอกุศลกรรม ทั้งหมดนี้ลองคิดดู จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ ถ้าจิต ๑ ขณะนี้ยังไม่ดับหมดสิ้นไป ยังไม่ปราศไป จิตขณะต่อไปเกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นต่อเมื่อจิตนี้ ซึ่งมีอายุสั้นมาก สามารถจะแบ่งเป็นอนุขณะได้ ๓ ขณะ คือ ขณะเกิด อุปาทขณะ ฐีติขณะ ขณะที่ยังไม่ดับ และภังคขณะ คือขณะที่ดับ ไม่มีใครคิดที่จะต้องไปรู้จิต ๑ ขณะซึ่งเกิดดับอย่างนี้ได้ แม้ขณะที่ปรากฏเป็นคน เป็นสัตว์ นั่งอยู่ที่นี่ ก็มีอะไรมากมาย จิตก็เกิดดับสืบต่อนับไม่ถ้วน กว่าจะรู้ว่าขณะนี้สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร

    เป็นแต่เพียงเรื่องของจิต ยังไม่ถึงเรื่องของกรรม เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเกิดดับสืบต่อมานานแสนนาน ถอยกลับไปกี่กัป แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงระลึกพระชาติในอดีตก่อนที่จะถึงการตรัสรู้อริยสัจธรรม ในคืนของการได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ยามแรกเป็นยามที่พระองค์ทรงระลึกถึงพระชาติก่อนๆ นานเท่าไรก็ไม่หมด แล้วเราจะเป็นอย่างนั้น หรือ เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไปรู้ถึงกรรมที่ได้กระทำแล้วในชาติต่างๆ แต่ให้ทราบว่า จิตซึ่งเกิดแล้วดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด จิตขณะต่อไปที่เกิด มาจากไหน มาจากจิตขณะก่อนซึ่งดับไป เมื่อจิตขณะก่อนซึ่งดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในจิตนั้นก็สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อไป ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรม หรือกุศลจิต หรืออกุศลกรรม อกุศลจิต เมื่อไร ขณะไหน ในชาติไหน ก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ เห็นความต่างกัน หรือไม่ ของแต่ละจิต ซึ่งขณะนี้ก็เป็นจิตต่างๆ ซึ่งสะสมมาในแสนโกฏิกัปป์ ที่จะปรากฏเป็นความคิด หรืออัธยาศัยต่างๆ กัน

    พูดถึงกรรม เราจะรู้ได้ หรือไม่ว่า เราได้ทำกรรมชาติไหน อย่างไร แม้ในชาตินี้ กุศลจิตเกิด อกุศลจิตเกิด และได้กระทำกรรมอะไรบ้าง ทางกายบ้าง หรือทางวาจาบ้าง ก็มากมายจนกระทั่งจำไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่จะให้ไปรู้ความละเอียดของกรรมนี่ยาก แต่ให้ทราบว่า กรรมมีกิจ เป็นกุศลจิต และอกุศลจิต ซึ่งแม้เกิดดับสืบต่อสะสม ในขณะนี้ที่นั่งอยู่ ใครสามารถจะรู้ว่า กุศลจิต อกุศลจิตประเภทไหนได้สะสมมามากน้อยเท่าไร ไม่สามารถจะรู้ได้เลย จึงเป็นเหตุให้อัธยาศัยต่างๆ กัน

    เวลาที่ถึงกาลที่กรรมซึ่งประมวลมาทั้งหมดในแสนโกฏิกัปป์ ไม่ได้หายไปไหนเลย ไม่ใช่ว่าเราเพิ่งจะมีกรรมชาตินี้ชาติเดียว แต่นานแสนนานแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกุศล หรือฝ่ายอกุศล แม้แต่บารมีของพระสาวกทั้งหลาย ก็สะสมมาเช่นเดียวกับผู้ที่ไม่ได้สะสมที่จะเป็นบารมีที่จะรู้แจ้ง แต่กรรมที่ได้สะสมมาทั้งหมด ที่ประมวลไว้ สามารถจะแยกออกมาเป็นแต่ละกรรมๆ ให้เห็นชัดเจนได้ไหม เพราะว่าสะสมรวมกันอยู่ในจิต ๑ ขณะ ซึ่งเกิดแล้วก็ดับ

    ขณะหนึ่งๆ ซึ่งสะสมไปในภพหนึ่งชาติหนึ่ง ประมวลกรรมที่จะทำให้ผลของกรรมเกิดขึ้นเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ต่างกันไปทั้งสภาพของจิต และรูป ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมบ้าง แม้แต่รูปซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ต่างกันไป เพียงสัตว์ประเภทเดียว คือ ผีเสื้อ ก็ต่างกันมากแล้ว อะไรทำให้ต่างกันเช่นนั้น ถ้าไม่ใช่การประมวลของกรรมทั้งหมดในแสนโกฏิกัปป์ จนกระทำให้ปฏิสนธิจิตขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นสัตว์โลกประเภทนั้นๆ

    กรรมก็มีกิจหน้าที่ แม้ว่าจะประมวลกันมา และสะสมกันมา เป็นสังขารขันธ์ซึ่งปรุงแต่งทำให้ชาติหนึ่งๆ จะมีผลของกรรมอะไรบ้างขณะที่กรรมจะให้ผล ก็ตามกิจหน้าที่ของกรรม

    กรรมมีกิจ คือ ๑ ชนกกรรม ทำให้เกิด เมื่อเป็นอกุศลกรรมที่ครบองค์ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมเกิดขึ้นเป็นอะไรในชาติไหนก็ได้ ในชาตินี้เกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรม แต่ก็ต่างกันมากตั้งแต่เกิดจนกระทั่งจากโลกนี้ไป แล้วแต่กรรมที่ประมวล และสะสมปรุงแต่งจะให้ผลของแต่ละชีวิตมากน้อยในทางหนึ่งทางใด

    เวลาที่กรรมใดสามารถทำให้จิตซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้น กรรมนั้นทำชนกกิจ ทำกิจทำให้เกิด เวลาที่กล่าวถึงกรรมต้องจำแนกเป็นโดยกิจ หรือว่าโดยประเภทที่หนักเบา เป็นต้น แต่เวลาที่คุณเด่นพงศ์สนใจในเรื่องอุปฆาตกรรม ก็จะกล่าวเฉพาะเรื่องกิจของกรรม ซึ่งกรรมมีกิจที่ทำให้เกิดขึ้นได้ ขณะใดที่วิบากเกิดขึ้น เพราะกรรมนั้นทำกิจทำให้วิบากจิตนั้นเกิดขึ้น กรรมนั้นทำชนกกิจ คือ กิจให้เกิดวิบากประเภทหนึ่ง แต่กรรมที่มี และยังไม่ได้โอกาสที่จะทำให้เกิดวิบากขึ้น ก็มีอีกมากมาย

    บางกรรมก็ทำกิจอุปถัมภ์กรรมที่เกิดแล้วให้ผล ให้ผลมากยิ่งขึ้นก็ได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นประเภทของกรรมประเภทใด ถ้าอกุศลกรรมกำลังทำให้อกุศลวิบากเกิด แล้วก็มีอกุศลกรรมซึ่งอุปถัมภ์ทำให้อกุศลวิบากเกิดนานๆ มากๆ ขณะนั้นก็เป็นกิจของกรรมนั้น ซึ่งไม่ได้ทำชนกกิจ แต่ทำอุปถัมภกกิจ นี่ก็เป็นกิจของกรรมด้วย กิจที่ ๒

    ส่วนอีกกรรมหนึ่งก็ทำหน้าที่เบียดเบียน อุปปีฬกกิจ ซึ่งเป็นอุปปีฬกกรรม ไม่ได้ทำกิจอุปถัมภ์ แต่เบียดเบียน เคยมีใครที่กำลังมีความสุข และเกิดมีความทุกข์แทรกคั่นขึ้นมาบ้างไหม นั่นคือ กรรมนั้นมีโอกาสที่จะให้ผลเบียดเบียนกรรมที่กำลังให้ผลอยู่

    สำหรับอีกกรรมหนึ่ง ให้ผลมากกว่านั้นอีก คือ ตัดรอนกรรมที่กำลังให้ผลอยู่ เพราะฉะนั้นกรรมที่ตัดรอน ก็เป็นกรรมที่ทำให้อุปฆาตกกิจ คือ ทำหน้าที่ตัดรอน

    เป็นเรื่องของชีวิตที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม ซึ่งเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป แต่มีความละเอียด แม้แต่จะพูดเรื่องกรรม ก็ต้องเกี่ยวเนื่องกับจิต เพราะว่ากรรมเป็นนามธรรม ซึ่งไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตนาเจตสิก และมีความละเอียดอีกมาก

    พื้นฐานก็คือให้เรามีความเข้าใจว่า ไม่ว่าจะฟังธรรมเรื่องใด ที่ไหนก็ตาม ให้เห็นว่าเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง และยากแก่การที่จะละการยึดถือสิ่งที่มี ที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป

    เพราะฉะนั้นก็ใจเย็นๆ ฟังอะไรก็ขอให้เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังชัดขึ้น และไม่ข้ามขั้นด้วย เพราะว่าถ้าไม่มีพื้นฐานเรื่องจิต เจตสิก จะพูดเรื่องกรรมก็เป็นเรา แต่ความจริงก็คือเจตสิกซึ่งได้แก่ เจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่จงใจ ขวนขวาย กระทำกิจเวลาที่เกิดกับจิต ซึ่งเจตนาต้องเกิดกับจิตทุกประเภท ถ้าเกิดกับกุศลจิตก็ขวนขวายกระทำในเป็นไปในทางกุศล ถ้าเป็นอกุศลเจตนาก็ขวนขวายกระทำในกรรมที่เป็นอกุศล

    ก็เป็นเพียงคร่าวๆ ขอร่วมสนทนาเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย เพื่อความเข้าใจของผู้ฟังที่ว่า ใครไม่มีกรรม ถามกว้างๆ ใครไม่มีกรรม ไม่ได้ถามถึงกรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว หรือกรรมที่กำลังกระทำ หรือกรรมที่เป็นอนาคต แต่ถามเพียงว่า ใครไม่มีกรรม

    ผู้ฟัง ไม่มีกรรมก็ไม่มาเกิด

    ท่านอาจารย์ ก่อนเป็นพระอรหันต์ มีกรรม เป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้นจึงไม่มีกรรมอีกต่อไป ทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม ด้วยเหตุนี้พระอรหันต์ซึ่งดับกิเลสหมดแล้ว เมื่อจิตขณะสุดท้าย คือ จุติจิตเกิดขึ้น ที่ใช้คำว่า “ปรินิพพาน” หมายความว่าดับโดยรอบ ไม่มีปฏิสนธิจิตเกิดอีกเลย

    นี่คือความต่างกัน มิฉะนั้นจะไม่เห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงพระธรรม คือ ความจริงของสิ่งที่มี จากคนที่เป็นปุถุชน มีความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น สามารถดับกิเลสไปตามลำดับขั้น จนกระทั่งดับหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ได้

    ผู้ฟัง เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กิเลสท่านดับตั้งแต่ยังไม่ดับขันธปรินิพพาน เพราะฉะนั้นกรรมหมดตอนที่กิเลสหมด หรือไปหมดจริงๆ ตอนปรินิพพาน

    ท่านอาจารย์ อดีตกรรม คือ กรรมที่ได้ทำแล้ว ระหว่างที่ยังไม่ปรินิพพาน ก็ทำให้เกิดวิบาก เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    ผู้ฟัง เป็นกิริยาจิตเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ วิบากเป็นวิบาก จิตแต่ละประเภทซึ่งเกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย นี่คือสัจธรรม กุศลจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป จะให้กุศลจิตนั้นเปลี่ยนเป็นอื่นไม่ได้ อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล จะเปลี่ยนอกุศลซึ่งเกิดให้เป็นอื่นไม่ได้เลย และจิตที่เป็นวิบาก คือ จิตที่เกิดขึ้นเพราะกรรมหนึ่งกรรมใด เป็นปัจจัยทำให้วิบากเกิดขึ้นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม จะเปลี่ยนให้เป็นเหตุ คือ ให้เป็นกุศล อกุศลไม่ได้ แม้กิริยาจิต ใครก็จะไปเปลี่ยนให้กิริยานั้นให้เป็นกุศล หรือให้เป็นอกุศล หรือให้เป็นวิบากไม่ได้

    การตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะนั้นอรหัตตมรรคจิตเกิดถึงระดับความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่อรหันต์สาวก แต่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดับกิเลสพร้อมทั้งวาสนา คือ ส่วนที่ไม่ดี การสะสม การประพฤติเป็นไป ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา พระอรหันต์ทั้งหลายดับหมดแล้วก็จริง แต่การสะสมทางกาย ทางวาจา ก็ยังประพฤติเป็นไปตามการสะสม

    ผู้ฟัง กรรมเบียดเบียน ถ้าความเข้าใจธรรมพื้นฐานเบื้องต้น เป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวัน หรือเปล่า เช่น ระหว่างที่รับประทานอาหารอร่อยๆ ก็เคี้ยวก้อนกรวด หรือขณะที่กำลังรับประทานปลาอร่อยๆ ก้างปลาก็ตำ อันนี้กล่าวว่าเป็นกรรมเบียดเบียน หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ขณะกำลังมีความสุข ก็มีสภาพที่ตัดรอนความสุขนั้น หรือเบียดเบียนความสุขนั้น มากน้อยตามกำลังของกรรม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบว่าจะเป็นพื้นฐานที่ละเอียดลึกซึ้ง หรือเปล่าว่า จากความเข้าใจในขณะที่สภาพธรรมปรากฏ ก็ไม่มีเรื่องราว มีแต่ลักษณะของรูปธรรม หรือนามธรรมเท่านั้น และจะรู้ได้อย่างไรว่า ในขณะนั้นเป็นกรรมที่เบียดเบียนขณะที่รับประทานอาหาร

    ท่านอาจารย์ สามารถรู้ขณะจิตขณะนี้ได้ไหมว่า ขณะไหนเป็นวิบาก ขณะไหนเป็นกิริยา ขณะไหนเป็นกุศล เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ไม่ได้ และควรฟังเข้าใจในขั้นการฟังอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็รู้ว่า กรรมได้แก่ เจตสิก เกิดดับพร้อมจิต และมีทั้ง ๔ ชาติ เพราะว่าเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท

    ผู้ฟัง การศึกษาก็ควรเข้าใจในขณะนี้เองว่า กรรม ก็คือเจตนาเจตสิกใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โดยมากขณะที่กำลังฟังธรรม จะคิดถึงเรื่องอื่น แต่จะไม่ทำให้เข้าใจธรรม ถ้ากำลังฟังธรรม ไม่มีเรื่องอื่นเลย แต่มีสภาพธรรมซึ่งมีจริงๆ คือ จิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงการเกิด ถ้าไม่มีจิต เจตสิกเกิด จะมีคน มีสัตว์ ประเภทต่างๆ เกิดไหม ไม่มี แต่เมื่อมีจิต เจตสิกเกิด ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมบ้าง เป็นผลของอกุศลกรรมบ้าง ละเอียดต่างกันไปตามการสะสม ก็ทำให้กล่าวได้ว่า เป็นคน เป็นคนพิการ เป็นคนตาบอด เป็นคนปัญญาอ่อน เป็นคนฉลาด เป็นอะไรก็แล้วแต่ ตามสภาพของจิต แต่ต้องมีจิต เจตสิก รูป


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567