พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 260


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๖๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ เมื่อพูดถึงเรื่องจิต ในขณะนี้ทุกคนมีจิตแน่นอน ถามคำถามสั้นๆ ว่า จิตเป็นโสภณ หรืออโสภณ ตามที่ได้ฟัง

    จิตที่เป็นโสภณก็มี อโสภณก็มี นี่คือความเข้าใจ โดยที่ในวันหนึ่งๆ มีจิตทั้งที่เป็นโสภณ และอโสภณ ขณะนี้ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยแน่นอน เพราะว่าเมื่อไรที่จิตเกิดขึ้นต้องมีสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกทั้งหมดเป็นโสภณ หรืออโสภณ โดยนัยเดียวกัน เป็นโสภณก็มี อโสภณก็มี เพราะฉะนั้นวันหนึ่งเมื่อจิตเป็นอโสภณก็มี ก็ต้องเกิดร่วมกับเจตสิกประเภทนั้น แล้วแต่ว่าจิตนั้นเป็นจิตประเภทใด เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย รูปเป็นโสภณ หรืออโสภณ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือไม่

    นี่ก็คือ จะใช้คำอะไรก็ตามแต่ แต่ขอให้เข้าใจความจริง และลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ขณะนี้ทุกคนกำลังเห็น จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น เป็นผลของกรรม จิตเห็นเป็นวิบาก ถ้าเห็นสิ่งที่น่าพอใจ เป็นกุศลวิบาก ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นอกุศลวิบาก ขอถามว่า ขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่น่าพอใจ จิตที่เห็นสิ่งที่น่าพอใจ เป็นโสภณ หรืออโสภณ เป็นอโสภณ เพราะจิตเห็นไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    แม้ว่าจะได้ฟังกี่วันก็ตาม บ่อยครั้งก็ตาม แต่ต้องมั่นคง ว่าขณะใดก็ตามที่จิตนั้นไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นต้องเป็นอโสภณ เพราะบ่งถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

    เห็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าพอใจ จิตเห็นนั้นเป็นวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรม จิตเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เป็นอกุศลวิบาก เป็นโสภณ หรืออโสภณ ต้องเป็นอโสภณ

    กำลังได้ยินเสียง เสียงก็มีเสียงที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ ขณะที่ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ เป็นผลของกุศลกรรม แต่สภาพจิตไม่ใช่ตัวกุศลกรรม แต่เป็นผลของกุศลกรรม เพราะฉะนั้นจิตได้ยิน เป็นกุศลวิบากจิต เมื่อใช้คำว่ากุศลวิบาก ก็แสดงว่าเป็นผลของกุศลกรรม จึงได้ยินเสียงที่น่าพอใจ จิตได้ยินเสียงที่น่าพอใจ เป็นโสภณ หรืออโสภณ อโสภณ ไม่มีปัญหาแล้วใช่ไหม ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เราก็สามารถเข้าใจ “คัมภีระ” ความลึกซึ้งของจิตเห็น

    ถ้าให้เราคิดเอง เราก็อาจจะตอบตามความเข้าใจของเราว่า เมื่อเห็นสิ่งที่ดีก็ดี ก็น่าจะเป็นจิตที่ดี แต่เมื่อเป็นผลของกุศลกรรม เพียงเกิดขึ้นเห็น ที่จะไม่ให้เห็นนั้นไม่ได้เลย และมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวง ซึ่งไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย ตลอดชีวิตอยากเห็นสิ่งที่น่าพอใจ แต่แล้วแต่กรรมจะให้ผล ทำให้จิตเห็นสิ่งที่ดี เกิดขึ้นเมื่อไร ก็เกิดขึ้นเพียงเห็น เป็นผลของกุศลกรรม แต่จิตนั้นไม่ได้ประกอบด้วยโสภณเจตสิกเลย เพียงแค่เห็น เป็นผลของกรรมที่เกิดขึ้นเพราะความสุกง่อม ถึงกาลที่จะต้องเห็น ไม่เห็นไม่ได้เลย ถ้ากรรมที่จะให้ผลทางกาย ถึงกาลที่จะให้ผลทางกาย จะปฏิเสธหลีกเลี่ยงไม่ให้กายวิญญาณเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายนั้น เป็นไปไม่ได้เลย

    ด้วยเหตุนี้ทุกคนที่มีร่างกาย กำลังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ณ ขณะนี้ ต่อไปก็ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่า ผลของกุศลกรรมจะทำให้กุศลวิบากเกิด หรือผลของอกุศลกรรมจะทำให้อกุศลวิบากเกิด ขณะที่กำลังรู้สึกปวดเจ็บทางกาย เป็นจิตที่ประกอบด้วยทุกขเวทนา เพราะเป็นผลของอกุศลกรรม ขณะนั้นเป็นโสภณ หรือ เป็นอโสภณ ตรงกันข้ามเลย กำลังสบาย ร่างกายก็สบายดี ไม่เดือดร้อน ขณะนั้นเป็นผลของกุศลแน่นอน ทำให้ทุกขเวทนาไม่เกิด เป็นเวทนาที่เกิดพร้อมกับความสุขในขณะนั้น เป็นผลของกุศล แต่สภาพจิตเป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรม ขณะนั้นเป็นโสภณ หรืออโสภณ ต้องเป็น อโสภณ ก็ไม่มีปัญหาเลย นี่คือคัมภีระของสภาพธรรมในขณะนี้ จนกว่าจะรู้จริงๆ เพราะเหตุว่าจิตเห็นมีจริง จิตได้ยินมีจริง จิตได้กลิ่นมีจริง จิตลิ้มรสมีจริง มีจริงเมื่อใด เมื่อกำลังปรากฏ เพราะเกิด ทำกิจหน้าที่แล้วก็ดับไป เร็วมาก ขณะนี้จิตเป็นอะไร ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เป็นสภาพธรรมที่ถึงกาลที่จะเกิดก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ แต่เราสามารถเข้าใจเพิ่มขึ้นได้ว่า วันหนึ่งๆ มีทั้งจิตที่เป็นอโสภณ และจิตที่เป็นโสภณ แล้วยังสามารถรู้มากขึ้นด้วยในขั้นฟังว่าขณะไหนเป็นอโสภณ เช่น ขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ว่าจะเห็นอะไร?ได้ยินอะไร ก็เป็นอโสภณทั้งนั้น หลังจากนั้นเป็นโสภณ หรืออโสภณ แล้วแต่เหตุปัจจัย

    นี่คือชีวิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งสามารถบอกได้ว่า ขณะไหนมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นจึงเป็นโสภณจิต นอนหลับสนิท ไม่รู้อะไรเลย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ฝัน ไม่คิด ขณะหลับสนิท เป็นโสภณจิต หรืออโสภณจิต

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า ถ้าเราเกิดมาด้วยผลของกุศล แล้วถ้าเราหลับก็จะมีโสภณจิตเกิดร่วมด้วย แต่คนที่เกิดมาพิการตั้งแต่กำเนิด แล้วตอนที่นอนหลับจะไม่เป็นโสภณจิต ไม่มีโสภณจิตเกิดร่วมด้วย

    อ.วิชัย ก็คือปฏิสนธิด้วยจิตอะไร ภวังคจิตก็เป็นประเภทเดียวกับปฏิสนธิ เช่น ถ้าเกิดด้วยกุศลกรรมอย่างอ่อน ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นด้วยสันตีรณกุศลวิบาก เป็นเหตุให้พิการตั้งแต่กำเนิด แม้ขณะที่หลับสนิท ภวังคจิตก็ยังเป็นประเภทเดียวกับปฏิสนธิ ซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุ แต่ถ้าเป็นบุคคลที่เกิดมาด้วยมหาวิบากซึ่งประกอบด้วยเหตุ ขณะที่หลับสนิทเป็นภวังค์ก็ต้องเป็นมหาวิบาก เป็นประเภทเดียวกับปฏิสนธิ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เกิดด้วยผลของอกุศลกรรม เกิดในอบายภูมิ ปฏิสนธิด้วยสันตีรณอกุศลวิบาก ซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุ ขณะที่หลับสนิทก็เป็นจิตประเภทเดียวกันกับปฏิสนธิ

    ท่านอาจารย์ ธรรมต้องตรง ขณะที่นอนหลับสนิท สำหรับผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด จิตขณะนั้นเป็นโสภณ หรืออโสภณ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะปฏิสนธิด้วยสันตีรณกุศลวิบาก ซึ่งเป็นกุศลอย่างอ่อน ภวังคจิตขณะที่หลับก็จะเป็นประเภทเดียวกัน และไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นอเหตุกจิต

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตของคนที่เกิดเป็นมนุษย์ พิการตั้งแต่กำเนิดเป็นโสภณ หรืออโสภณ

    ผู้ฟัง เป็นอโสภณ

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนให้เป็นโสภณได้ไหม ไม่ได้ ธรรมต้องตรง เราใช้ชื่อแสดงให้รู้ลักษณะสภาพของจิตขณะนั้นว่า ไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิกไม่ว่าจะทำกิจใดๆ ทั้งสิ้น ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะทำสันตีรณกิจ ระหว่างที่เห็นแล้ว แล้วก็สัมปฏิจฉันนะรับอารมณ์นั้น แล้วสันตีรณจิตที่เป็นกุศลวิบากเกิดขึ้นก็ตาม ขณะนั้นก็เป็นอโสภณ เพราะเหตุว่าไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรม ต้องเข้าใจว่า ธรรมเป็นธรรม แต่เราสมมติธรรมนั้นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลประเภทต่างๆ แต่ลักษณะจริงๆ ของจิต เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ถึงเกิดเป็นคน จักขุวิญญาณของมนุษย์ที่ปฏิสนธิประกอบด้วยปัญญาเจตสิก แต่จักขุวิญญาณของบุคคลนั้นก็เป็นอโสภณ เพราะเหตุว่าไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่คือการศึกษาธรรมที่เข้าใจถูกต้องว่า ธรรมเป็นธรรม เปลี่ยนแปลงไม่ได้

    อ.วิชัย เมื่อฟังเรื่องของโสภณ และอโสภณ หรือการจำแนกจิตโดยประเภทต่างๆ ก็เข้าใจ และสามารถจำแนกได้ตามที่ได้ยินได้ฟัง แต่การฟังเรื่องลักษณะของสภาพธรรมจะพิจารณาลักษณะของสภาพธรรม และเมื่อสติปัฏฐานเกิดการเข้าใจไม่ได้คิดว่าเป็นโสภณ หรืออโสภณ ปัญญาขณะนั้นรู้การเป็นโสภณ หรืออโสภณ หรือโดยชาติของสภาพธรรมในขณะนั้น หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าแม้ขณะนี้เราก็ยังได้ยินคำว่า นามธรรมกับรูปธรรม โดยคำ “นามธรรม” จิต เจตสิกเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ รูปไม่ใช่สภาพรู้ นี่โดยชื่อ แต่ลักษณะของสภาพนั้นไม่ได้ปรากฏเลย ที่จะเป็นธรรม ปรากฏเป็นสิ่งอื่น ปรากฏเป็นนิมิตต่างๆ เช่น ลักษณะของรูปารมณ์ หรือรูปที่สามารถปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท ลองคิดดู เกิดแล้วดับเร็วมาก สิ่งที่ปรากฏที่เหลือ คือ นิมิตของรูปที่ปรากฏทางตาที่เหมือนไม่ดับเลย ก็เป็นรูปที่สามารถปรากฏเดี๋ยวนี้ทางตาจริงๆ แต่ไม่ใช่รูปที่เกิดดับ แต่เป็นนิมิตของรูปที่เกิดดับ กว่าเราจะเข้าถึงธรรมโดยลักษณะที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม ไม่ใช่เพียงชื่อ และก็ลองคิดดูว่า แม้จะได้ฟังสักเท่าไรว่า เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ก็ยังคงยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นเรา เวลาที่กำลังมีรูปนั้น เฉพาะรูปนั้นก็ตาม หรือเฉพาะนามนั้น ลักษณะนั้นเป็นอารมณ์ก็ตาม ก็ยังไม่หมด ยังไม่คลายการเห็นว่า แท้ที่จริงแล้วเราอยู่ในโลกของนิมิตเท่านั้น ตั้งแต่เกิดจนตายกี่ภพกี่ชาติ เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริงของตัวธรรมซึ่งเกิดดับ จะปรากฏแต่นิมิตทางตา นิมิตทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็คิดนึกเรื่องราวนั้นๆ

    ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมซึ่งยังไม่ได้รู้จักตัวจริงของธรรมเลย ด้วยเหตุนี้ขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ผู้นั้นก็จะรู้ว่า ไม่ใช่กำลังฟังชื่อ เช่น แข็ง เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏได้ทางกาย นี่คือสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่ลักษณะแข็งซึ่งมี แต่ไม่ได้สนใจที่จะรู้ เช่นเดียวกับรูปารมณ์ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ก็ไม่ได้มีขณะที่กำลังรู้เฉพาะลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่ามีสภาพธรรมที่นึกคิดที่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเห็นก็คิด ไม่ว่าจะได้ยินก็คิด ไม่ว่าแข็งจะปรากฏก็คิด เรื่องราวทั้งหมดก็คิดทั้งหมด ทำให้ไม่มีขณะที่กำลังรู้ที่ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม

    ด้วยเหตุนี้ ขณะที่เริ่มที่สติจะรู้ คือ เกิดขึ้น แล้วก็เป็นปกติอย่างนี้ แต่ไม่ทันที่จะไปนึกถึงเรื่องราว แต่ก็รู้ที่ลักษณะหนึ่งลักษณะใดของสภาพธรรม ชั่วขณะนั้นไม่ต้องคิดว่าเป็นรูป หรือว่าเป็นสภาพที่ปรากฏ แล้วก็มีจิต หรือนามธรรมที่กำลังรู้ สิ่งนี้จึงปรากฏ นั่นคือขณะนั้นไม่ได้รู้เฉพาะลักษณะ ไม่ใช่ปฏิปัตติ คือ ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ เพราะว่าสั้นมาก ปรากฏ และดับไป ฉันใด ทางใจก็เช่นเดียวกัน นามธรรมสั้นมาก ยังไม่ทันรู้ว่า ลักษณะนี้เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ซึ่งไม่มีสภาพใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น เพียงเกิดขึ้นแล้วก็รู้สิ่งที่ปรากฏ ในเมื่อสิ่งที่ปรากฏสั้นมาก ลองคิดดูว่า สภาพรู้ต้องสั้นกว่านั้นสักเท่าไร เพียงระลึกได้ และค่อยๆ เข้าใจว่า ขณะนี้มีสภาพที่เห็น มีจริงๆ กว่าจะเข้าถึงลักษณะที่ไม่มีรูปธรรมใดๆ เจือปนเลย เป็นธาตุรู้ ขณะนั้นจะไม่มีการไปพิจารณาว่าเป็นโสภณ หรืออโสภณ แต่เริ่มที่จะรู้ ปัญญาของผู้ที่เข้าใจธรรมก็จะเจริญขึ้นตามลำดับ จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน และเมื่อมีการรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น ก็จะเห็นความเป็นธรรม จึงจะค่อยๆ คลายการที่เคยยึดถือติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ และมีความเข้าใจความหมาย คือ อรรถของคำที่ทรงแสดงในพระไตรปิฎก เช่น รูปนิมิต สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้เป็นนิมิต เป็นสิ่งที่ปรากฏเหมือนเที่ยง เหมือนมีจริง แต่ลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏดับไป แล้วก็เกิดขึ้นสั้นมาก แต่จิตก็จะนึกถึงแต่เรื่องราว รูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ กว่าจะมีความเข้าใจที่จะคลายว่า แท้ที่จริงทุกชาติที่เราเกิดมา เราเป็นไปกับนิมิตเรื่องราวของสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรม โดยที่ไม่รู้จักปรมัตถธรรม ถ้าไม่มีความเข้าใจเพราะรู้สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม การคลายการติดข้องในชีวิตประจำวัน จะมีไม่ได้เลย

    ด้วยเหตุนี้การที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้น จนถึงการรู้แจ้งเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้น ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในความเป็นนามธรรมรูปธรรม ซึ่งความจริงขณะนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยานั่นเอง แต่สำหรับในขั้นต้นยังไม่สามารถรู้ความจริงที่ต่างกันเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา แต่ว่าเป็นธาตุรู้ สามารถรู้ได้ แม้ว่าลักษณะนั้นๆ ก็คือ สภาพธรรมที่เป็นวิบาก หรือเป็นกิริยานั่นเอง และต่อไปปัญญาก็สามารถค่อยๆ ละเอียดขึ้น

    อ.วิชัย ในขั้นต้นเมื่อฟังเรื่องโสภณกับอโสภณ ก็เป็นการพิจารณาตาม แต่ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ขณะที่เริ่มอบรม สติเกิดชั่วขณะที่สติระลึก ยังไม่มีกำลังพอที่จะรู้ถึงความเป็นโสภณ หรืออโสภณ เช่น ระลึกที่โลภะ โดยสภาพของโลภะ เป็นอโสภณ แต่ชั่วขณะที่สติระลึก เริ่มต้นยังไม่รู้ถึง แต่โดยสภาพก็เป็นอยู่แล้ว อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าแม้ลักษณะของนามธรรมที่เอื้อมมือไป โดยทฤษฎี โดยการศึกษา โดยตำรา คัมภีระ เป็นโลภมูลจิตที่ทำให้กายไหวไป สามารถจะรู้จิตที่เป็นโลภะที่ทำให้กายไหวไปไหม ต่อเมื่อใดอาหารอร่อย เราก็เรียกชื่อว่า โลภะ เพราะเหตุว่าปรากฏชัด แต่ว่าตามความเป็นจริงชีวิตประจำวันซึ่งไม่ปราศจากโลภะในการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่ด้วยโทสะ ก็ต้องเป็นโลภะ แต่ก็ไม่ได้รู้สภาพจิตในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ก็ไม่ได้ปรากฏ เพราะสติไม่ได้เกิดที่จะรู้ความเป็นจริง ตามลำดับที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ต้องกล่าวถึงเจตสิก ถ้าลักษณะสภาพของเจตสิกนั้นๆ ไม่ได้ปรากฏ ลักษณะของโทสะ สามารถที่จะรู้ได้ แต่เป็นเรา และโดยตำราเรียกชื่อได้หลายชื่อ พยาปาทก็ได้ โทสะก็ได้ ปฏิฆะก็ได้ แต่ว่าตัวสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา เกิดแล้วก็หมดไป เป็นธรรมเช่นเดียวกับธรรมอื่นๆ ทั้งหมด ธรรมต้องเป็นธรรมทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรมก็เป็นธรรม แต่ถ้าสติสัมปชัญญะไม่ได้ระลึกลักษณะนั้น จะให้ความจริง ความเข้าใจอย่างมั่นคง อย่างถ่องแท้ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมมาจากไหน แต่เมื่อสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ลักษณะนั้นปรากฏ เช่น แข็ง หรืออ่อน เย็น หรือร้อน ตึง หรือไหว จะใช้คำว่า เหนียวเหนอะหนะ ลื่น หรืออะไรก็ตาม ไม่ต้องมีคำนั้นเลย เพราะเหตุว่าลักษณะนั้นกำลังเป็นอย่างนั้น ให้รู้ว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมก็คือรู้จริงในลักษณะของสิ่งที่มีจริง ที่ได้ศึกษาแล้ว เข้าใจแล้ว แต่ต้องเป็นตามลำดับ คือ รู้ว่าเป็นธรรมแน่นอน เพราะมีจริงๆ และลักษณะของรูปธรรม ไม่ต้องกล่าว ไม่ต้องเรียก แต่เมื่อระลึกที่แข็งบ่อยๆ ก็เป็นลักษณะแข็ง จะไม่ใช้คำว่า รูปธรรม ก็ได้ ต่อเมื่อใดสภาพรู้สติระลึกเข้าใจได้ ลักษณะนั้นก็ไม่ต้องเรียกชื่อเหมือนกันว่า เป็นอะไร ที่ไปเรียกถึงกับโสภณจิต หรือประกอบด้วยเจตสิกต่างๆ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า ปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับ แต่แน่นอนลักษณะนั้นจะปรากฏแก่ปัญญาที่ละเอียดขึ้นว่า สภาพธรรมใดเป็นกุศล สภาพธรรมใดเป็นอกุศล ทั้งๆ ที่แม้ว่าเป็นกุศล หรืออกุศล แต่ปัญญาขั้นต้นไม่สามารถรู้ถึงความเป็นกุศล และอกุศลได้ เพราะต้องถึงลักษณะที่เป็นนามธรรมก่อน

    อ.วิชัย ให้เห็นความต่างของนามธรรมกับรูปธรรมก่อน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ขั้นฟัง เช่น ขณะนี้รู้แน่เลย มีรูปกำลังปรากฏ ทางตาอย่างหนึ่ง ทางหูอย่างหนึ่ง นี่คือขั้นฟัง สภาพเห็นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็รู้ว่ามี สภาพได้ยินที่กำลังได้ยินเสียงทางหู ก็รู้ว่ามี แต่ว่าลักษณะนั้นปรากฏในความเป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย เป็นลักษณะธาตุรู้ที่เกิดขึ้น และรู้ เพราะว่าสภาพธรรมที่ปัญญาจะรู้ได้ต้องทีละอย่าง เมื่อสติสัมปชัญญะกำลังระลึกที่ลักษณะนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นสภาพรู้ที่ไม่มีรูปใดๆ เจือปน จะเกิดความคิด หรือสงสัยไหม?ว่า นี่ภวังคจิต เรียกชื่ออย่างนี้ หรือว่าเป็นอะไร หรือว่าเป็นจิตไหน ถ้าขณะนั้นยังสงสัย แม้ว่าสภาพนั้นกำลังปรากฏ ก็แสดงให้เห็นว่า ปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะเพียงเริ่มที่จะเห็นลักษณะที่เป็นนามธรรม ที่ต่างกับรูปธรรม

    ผู้ฟัง ในขณะที่เรามองเห็น เราจะนึกคิดทันที หนึ่งขณะจิตนั้นก็หมดไปแล้ว เป็นบัญญัติไปหมดเลย ไม่ใช่เป็นปรมัตถธรรมที่ควรจะศึกษา ทั้งที่สิ่งที่ควรศึกษา คือ อารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ สิ่งนี้ยากมากกว่าจะถึงตรงนั้น ก็อยากจะอยู่ในขั้นพิจารณาก่อน

    ท่านอาจารย์ คงไม่ต้องกฎเกณฑ์ เพราะเหตุว่าแต่ละคนก็คือเมล็ดพืช ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลยว่า ชีวิตจะเป็นไปอย่างไร จนกระทั่งถึงวันนี้ผ่านขณะที่ปฏิสนธิมากมาย โดยที่ก่อนนั้นจะไม่รู้เลยว่า แต่ละวันอะไรจะเกิดขึ้น แต่ปฏิสนธิก็ประมวลมาซึ่งกรรมที่จะให้ผล เป็นปัจจัยให้ชีวิตดำเนินไป

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นแล้ว ต้องมีปวัตติ การสืบต่อเป็นไปของการสะสม แม้กรรม และกิเลสที่ได้สะสมมาแล้ว ทำให้แต่ละคนต่างกัน ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า การฟังวันนี้ ใครเข้าใจมากน้อยแค่ไหน แต่จะก้าวไปถึงว่า แล้วใครจะสติเกิดเมื่อไร ช่วยหน่อย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าแต่ละคนต้องเป็นไปตามการสะสม

    ด้วยเหตุนี้ประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ไปคำนึงถึงว่า เมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด เมื่อไรจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่เป็นการเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ถ้าไม่มีการเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ไม่ต้องไปคิดถึงสติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะ หรือ ปัญญาระดับต่างๆ เลย เพราะว่าชีวิตดำเนินไปแต่ละขณะ แล้วแต่ละขณะกำลังสะสม ไม่ใช่เรามุ่งต้องการตั้งใจ แต่ว่าสภาพธรรมแม้แต่การได้ฟัง แล้วก็เข้าใจความหมายของคำว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” จะทำให้เรามีความมั่นคงที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่เราจะไปทำ หรือเร่งรัด หรืออะไรเลย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567