พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 291


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๙๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ว่าเป็นธรรม ไม่มีทางเลยที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน แต่เมื่อรู้ว่าเป็นธรรม และลักษณะที่ต่างกันเป็นนามธรรม และรูปธรรม จะเข้าใจสภาพที่เป็นรูปธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง หรือนามธรรมที่มีในขณะนั้นตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ในความเป็นจริงแล้ว ทางทวารหนึ่งๆ จะระลึกรู้อะไรก็ได้ ที่เกิดขึ้นประกอบกันขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วคำถามต่อไปก็มีว่า แล้วจะรู้อะไรได้

    ผู้ฟัง แล้วแต่สติจะเกิดระลึกรู้

    ท่านอาจารย์ อะไรที่สติจะระลึกในขณะที่กำลังเห็น ที่สามารถรู้ได้

    อ.ธิดารัตน์ เคยเรียนถามท่านอาจารย์ ก็ขอทบทวนความเข้าใจ คือ ท่านอาจารย์จะแนะนำว่า ปัญญาจะต้องค่อยๆ รู้ลักษณะ โดยรู้สิ่งที่ปรากฏ กับสิ่งที่ปรากฏ คือ รู้นามธรรม รู้รูปธรรมก่อน แล้วปัญญาระดับที่อบรมเจริญสูงขึ้นไป จึงจะสามารถรู้โดยลักษณะของความเป็นอินทรีย์ได้ เพราะฉะนั้นปัญญาเบื้องต้นแค่รู้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมก่อน

    ผู้ฟัง เวลาที่สอบถามกัน เหมือนกับมีหลายขั้นที่ว่า รู้ก็ได้ แต่ปัญญาของเรารู้ได้ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏ มี แล้วจะรู้ไหมถ้าเป็นปัญญา หรือจะข้ามไปรู้อินทรีย์ สิ่งที่มีเป็นธรรม ปรากฏ เป็นรูปธรรม แต่ก็มีนามธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นปัญญาจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกัน มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีความเข้าใจชัดเจนว่า ไม่ใช่ตัวตนเพราะอะไร ที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าไม่ใช่มีเพียงสิ่งที่ปรากฏ แต่ต้องมีสภาพเห็นซึ่งไม่ใช่เรา มิฉะนั้นก็จะเป็นเห็นที่เป็นเราไปเรื่อยๆ แล้วสิ่งที่ปรากฏ ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปตลอด แต่ตามความเป็นจริง กว่าจะเริ่มรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา และสภาพรู้ ก่อนที่จะถึงการที่จะไปรู้อินทรีย์

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เราจะไปรู้สภาพธรรมนั้นปรากฏ แต่ปัญญาต้องเริ่มตามลำดับขั้นด้วย การเข้าใจธรรมที่ทรงแสดงโดยลักษณะต่างๆ เช่น เป็นอายตนะ เป็นธาตุ เป็น ปฏิจจสมุปบาท เหล่านี้ไม่ใช่จะมารู้ชื่อ แล้วใส่ชื่อว่า ขณะนี้จักขุปสาทเป็นจักขุนทรีย์ พูดด้วยความเข้าใจในขั้นฟัง แต่จะรู้ความเป็นจักขุนทรีย์ได้ไหม เมื่อขณะนี้แม้สิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งเป็นรูปหยาบ จักขุนทรีย์ก็เป็นรูปหยาบด้วย แต่ขณะนี้จักขุนทรีย์ปรากฏ หรือเปล่า หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏ เพราะฉะนั้นจะข้าม ไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา และไปรู้จักขุนทรีย์ ก็ลองไปคิดดูว่า สามารถไปรู้ความเป็นอินทรีย์ของรูปนั้นได้ไหม

    อ.ธิดารัตน์ อย่างความเป็นอินทรีย์ ท่านก็แสดงโดยความเป็นปัจจัยที่เป็น อินทรีย์ อย่างนี้หมายความว่า ปัญญาที่จะรู้ลักษณะของความเป็นอินทรีย์ จะต้องผ่านความรู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรมที่ต่างกัน คือ ผ่านนามรูปปริจเฉทญาณไปก่อน และจะไปรู้อินทรีย์ จะต้องรู้ด้วยความเป็นปัจจัย หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมไม่เปลี่ยนเลย แต่ความรู้ของเราค่อยๆ เกิดขึ้น หรือสามารถที่จะรู้ทั่วในสภาพธรรมนั้นว่า สิ่งนั้นเป็นธาตุ เป็นอินทรีย์ เป็นอายตนะ แสดงให้เห็นว่า แม้เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏ ปัญญาเริ่มฟัง เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ลืมบ้าง แต่ถ้าเป็นความเข้าใจจริงๆ ก็จะค่อยๆ มั่นคงขึ้น เพราะว่าจะเข้าใจรวดเดียวทั้งหมดไม่ได้ แต่จากอาศัยการฟัง ก็จะเห็นความเป็นอนัตตา ที่สำคัญที่สุดของสัจจญาณในอริยสัจธรรม ในแต่ละภพชาติ คือ ทำให้มีความเข้าใจมั่นคงว่า สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง เราจะอบรมเจริญปัญญาอย่างไร จึงจะน้อมเรื่องที่เรารู้ว่า ตัวเราที่มีจิตกับเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเกิดได้จากอะไร

    ผู้ฟัง ขั้นแรกก็ฟัง แต่เหมือนกับเราอบรมไม่เป็น ให้น้อมเข้ามาว่า สิ่งที่เราฟังเรื่องราว ก็คือขณะนี้นี่เอง

    ท่านอาจารย์ ก็เรา ไม่ใช่ปัญญา

    ผู้ฟัง ต้องอบรมปัญญาให้เกิดรู้ว่า

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเท่านั้นที่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    ผู้ฟัง จึงไม่แน่ใจว่า เมื่อเรารู้เรื่องราวแล้วก็ปิดบังสภาพธรรม ทำให้ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ปัญญาก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงแค่เข้าใจเรื่องราว และปัญญาก็เข้าใจว่า ต้องมีปัญญาขั้นต่อไปอีก ไม่ใช่เพียงขั้นเรื่องราวเท่านั้นที่จะรู้ตัวจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง แล้วต้องมั่นคงว่า ปัญญาขั้นที่เรารู้เรื่องราวธรรม จะเป็น ...

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ปัญญาเข้าใจขึ้น ก็มั่นคงขึ้น ไม่มีตัวเราอีกต่างหาก

    ผู้ฟัง ปัญญาจะมั่นคงว่า สิ่งที่เรารู้เรื่องราวของธรรม ก็จะทำให้รู้ลักษณะสภาพธรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริง มีจริง เริ่มเข้าใจจากการฟัง ถ้าไม่มีปัญญาขั้นฟัง ปัญญาขั้นที่จะรู้ลักษณะจริงของสภาพธรรมนั้น ก็ไม่มีแน่นอน และถ้าปัญญาไม่เริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่จะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็เป็นไปไม่ได้ การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เรา เป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกที่เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ความเข้าใจนั้นก็คือปัญญา และไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ อีกชื่อหนึ่ง ก็คือปัญญา ภาษาบาลี ภาษาไทยก็เข้าใจถูกต้อง ความเห็นถูกต้อง

    อ.กุลวิไล คุณอรวรรณคงกังวลว่า การฟังพระธรรม บางครั้งก็ไปอยู่ในเรื่องราวของธรรม ไปอยู่ในอรรถของธรรม แต่กังวลว่า จะไม่รู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ที่จริงแล้วพระธรรมที่ทรงแสดง แสดงถึงอรรถของลักษณะที่มีจริง เพราะฉะนั้นก็จะเป็นปัจจัยให้ไตร่ตรอง แล้วพิจารณาลักษณะสภาพธรรมนั้นถูกต้องตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง จักขุนทรีย์ที่เป็นตา ทางด้านธรรมก็คงแตกต่างจากตาที่เรารู้สึกว่าเป็นดวงตา ใช่ไหม ยกตัวอย่างที่ท่านอาจารย์บอกว่า เวทนาอะไรที่เกิดกับจิตเห็น ทราบว่าเป็นอุเบกขาเวทนา จากเรื่องของอินทรีย์ก็คือจิตที่เห็น ไม่ใช่ดวงตาทั่วๆ ไปของเรา เพราะว่าถ้าเป็นความเข้าใจธรรมดาของเรา ก็คิดว่าตา เวลาตาเจ็บ หรือโรคทางตา ท่านอาจารย์กรุณาอธิบายเพิ่มเติม

    ท่านอาจารย์ กำลังมีตา แต่ตาอยู่ตรงไหน ที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ตามความเข้าใจของเรา เราคิดว่าเราเห็นตาได้ ถูกต้องไหม นี่ก็ผิดตั้งแต่ต้น เพราะเหตุว่าตาเป็นรูปๆ หนึ่ง ไม่ใช่สีสันวัณณะ แยกกัน สีสันวัณณะที่ปรากฏ สามารถกระทบจักขุปสาท แต่ตัวจักขุปสาทไม่ใช่ตาทั้งหมดที่เราเรียกว่า ตาขาว ตาดำ ต้องเป็นเฉพาะส่วนที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ และจิตเห็นเกิดขึ้นเห็น เพราะฉะนั้นก็อยู่ตรงกลางตา และเล็กมาก ตาขาวก็ไม่ใช่จักขุปสาท ตาดำทั้งหมดก็ไม่ใช่ อะไรที่เราเห็น สิ่งที่เห็นเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    รูปอื่นทั้งหมดเรากล่าวถึง แต่มองไม่เห็นเลย เช่น แข็ง มีใครมองเห็นบ้าง เห็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏเป็นสีสันวัณณะต่างๆ ต่อเมื่อใดกระทบจึงรู้ว่าแข็ง แล้วเวลาที่หลับตา กระทบแข็งก็ปรากฏได้ แต่ไม่ปรากฏสีสันวัณณะ เพราะฉะนั้นแข็งก็เป็นรูปหนึ่ง สีสันวัณณะก็เป็นอีกรูปหนึ่ง ฉันใด จักขุปสาทก็ไม่ใช่สีสันวัณณะที่ปรากฏ แต่ทุกรูปที่เกิดจะต้องเกิดกับมหาภูตรูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งเป็นรูปที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป ที่เป็นมหาภูตรูป เป็นใหญ่ เป็นประธาน ๔ รูป รูปอื่นนอกจากนั้นทั้งหมดอาศัยมหาภูตรูป เกิดกับมหาภูตรูป แม้จักขุปสาท ในกลุ่มของรูปที่มีจักขุปสาทเกิด ก็ต้องมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เมื่อมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา รวมอยู่ด้วย ๘ รูป เป็นรูปที่แยกกันไม่ได้เลย แม้แยกกันไม่ได้ แต่รูปใดอาศัยรูปใดเกิด ใน ๘ รูปที่แยกกันไม่ได้ มหาภูตรูป ๔ เป็นใหญ่ รูปอีก ๔ รูป อาศัยมหาภูตรูปเกิด

    จักขุปสาทไม่ใช่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่เวลาที่ใดมีจักขุปสาท ที่นั่นก็จะปราศจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชาไม่ได้ แต่มีจักขุปสาทเกิดร่วมด้วยในกลาป หรือในกลุ่มนั้น และเมื่อเป็นรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน ก็มีชีวิตรูป หรือชีวิตินทรียรูปเกิดร่วมด้วยในกลุ่มที่เล็กที่สุด

    เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้ได้ว่า กลุ่มที่เล็กที่สุดที่เป็นรูปที่สามารถกระทบกับจักขุปสาท มองไม่เห็นเลย ทั้งหมดทั่วตัว หรือนอกตัว สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถกระทบจักขุปสาท จึงปรากฏกับจิตที่กำลังเห็น

    แยกไปให้ละเอียดขึ้นๆ สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่จักขุปสาท จิตเห็นไม่ใช่จักขุปสาท ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ใช่จักขุปสาท รูปอื่นๆ ก็ไม่ใช่จักขุปสาท แต่จักขุปสาทสามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา เวลาเกิดต้องเกิดร่วมกับรูปอื่นด้วย ไม่แยกไปเกิดต่างหาก

    อ.วิชัย ในความเป็นจริงแล้ว จักษุก็ทรงแสดงโดยรูป ก็จะมี ๒ อย่าง โดยความเป็นปสาทจักษุ อย่างหนึ่ง ปสาทจักษุก็คือ เป็นรูปที่รับกระทบกับวัณณรูปได้ รูปเดียวเท่านั้น และส่วนที่เป็นสสัมภารจักษุ หมายถึงต้องมีรูปอื่นๆ ด้วย เช่น ดวงตาที่เห็นเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ เพราะเหตุว่าว่าสสัมภารจักษุ เพราะเหตุว่าเป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐานอื่นด้วยที่ประกอบเป็นดวงตาขึ้นมา แต่ส่วนที่กระทบรูปจริงๆ เรียกว่า ปสาทจักษุ

    ผู้ฟัง ขันธ์ ๕ ที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด หรือหมายถึงสภาพที่เป็นตัวเราอยู่ทุกวันนี้ แต่จริงๆ แล้ว สภาพของขันธ์เป็นอย่างไร เพราะว่าเรายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวด้วยเหมือนกับเป็นพยัญชนะ แต่จริงๆ แล้วก็ยังไม่เข้าใจความลึกซึ้ง

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นถ้าไม่เข้าใจธรรม จะเข้าใจคำว่า “ขันธ์” ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีในขณะนี้ มี แน่นอน มีใครทำให้เกิดขึ้น หรือเปล่า ไม่มี ลักษณะของสิ่งที่มี และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ก็คือธรรมแต่ละชนิด

    ที่เคยไม่รู้ และก็ยึดถือว่ามีเรา ก็ทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ รู้ว่าเป็นธรรม เพียงขั้นฟัง แต่ว่ายังไม่สามารถที่จะสละความเป็นเรา ซึ่งไม่เคยคิด หรือแม้แต่จะพิจารณาว่า จริงๆ แล้วเราอยู่ที่ไหน และอะไรเป็นเรา แต่ก็เชื่อ และยึดถือมาตลอดว่า เป็นเรา เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เข้าใจธรรม เราจะเข้าใจขันธ์ไม่ได้เลย ขณะนี้สิ่งที่กำลังมีจริงๆ มีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสภาพธรรมที่มี เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม คือ ธรรมกำลังมี และไม่ได้ไปที่ไหนเลย อยู่ที่สิ่งที่กำลังปรากฏนี่เอง มีจริงๆ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง แล้วมีเสียงด้วยไหม ขณะใดที่เสียงเกิดขึ้น เสียงเป็นลักษณะที่ต่างจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงมีจริงๆ ไหม มีจริง เป็นธรรม แต่ต้องมีสภาพเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาจึงปรากฏได้ ต้องมีสภาพที่ได้ยิน เสียงจึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่มีแต่สิ่งที่ปรากฏทางตา และเสียง แต่ต้องมีสภาพที่กำลังได้ยินเสียง เสียงที่กำลังปรากฏขณะนี้ ต้องมีสภาพที่ได้ยินด้วย เสียงจึงปรากฏได้ เช่นเดียวกับในขณะนี้ต้องมีสภาพที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏอย่างนี้เอง สภาพนั้นมีจริงๆ แต่เป็นลักษณะที่ต่างกัน คือ เสียงก็เป็นอย่างหนึ่ง และสภาพที่ได้ยินเสียงก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ทางหู

    สำหรับทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ก็เป็นอย่างหนึ่ง และสภาพที่เห็นสิ่งนั้นจริงๆ ก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นจากการที่เราเข้าใจสิ่งที่มี ก็ทำให้เรารู้ว่า สิ่งที่เป็นธรรม มีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่งปรากฏ แต่ไม่ใช่สภาพรู้ แต่ในขณะที่สิ่งนั้นปรากฏ เช่น สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏขณะนี้ มีสภาพรู้ที่กำลังเห็น ใช้คำว่า “เห็น” ก็ได้ คือ หมายความว่า ไม่ใช่ไม่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เหมือนโต๊ะ เก้าอี้ จะไม่มีอะไรไปปรากฏให้โต๊ะ เก้าอี้เห็นเลย แต่ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้สภาพซึ่งเป็นธาตุรู้นั้นเห็น

    ๒ อย่างนี้เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน ก่อนที่เราจะไปใช้คำว่า นามธรรม กับรูปธรรม แล้วก็ไปจำ แล้วก็ไปคิด แล้วก็ไปท่องว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ไม่จำเป็นต้องรู้คำว่า นามธรรมกับรูปธรรม ก่อนได้ เพราะเหตุว่ามีสิ่งที่มีจริงๆ กำลังปรากฏ และลักษณะที่มีจริงนั้นก็ต่างกันจริงๆ ด้วย จึงใช้คำ เพื่อที่จะให้เข้าใจว่า สภาพธรรมที่มีจริงซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น รวมเป็นสภาพธรรมประเภทหนึ่งซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เป็นรูปธรรม

    เวลาที่กล่าวถึงคำว่า “รูปธรรม” ก็หมายความถึงสิ่งที่มี เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่สภาพที่รู้อะไรได้ ส่วนสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งต่างกับรูปธรรม ไม่มีรูปร่างเลย ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส แต่สามารถเห็น ขณะนี้กำลังเห็นด้วย เพราะฉะนั้นถ้าคิดถึงสภาพที่มีจริงที่กำลังเห็น ก็จะทำให้เข้าใจว่า มีจริงๆ แน่นอน และก็เป็นธรรมซึ่งเมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นนามธรรม ใช้คำเรียกว่า “นามธรรม” โดยไม่ใช่เราไปรู้ชื่อก่อน แล้วก็ไปหาว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม แต่ขณะนี้เองสภาพธรรมที่มีเดี๋ยวนี้ เริ่มเข้าใจถูกต้องว่า รูปธรรมคืออย่างนี้ นามธรรมคืออย่างนี้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว เห็นเมื่อสักครู่ต้องดับ เพราะว่าจิตจะเกิดขึ้นมีอารมณ์หลายๆ อารมณ์พร้อมกันไม่ได้ จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง เห็น แล้วก็ดับไป จิตอีกขณะหนึ่งเกิดขึ้น ได้ยินแล้วก็ดับไป

    แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมที่มีเพราะเกิดขึ้น ถ้ายังไม่มีปัจจัยปรุงแต่งไม่เกิด จะบอกว่ามี มีอยู่ที่ไหน แต่ว่าขณะใดก็ตามที่สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วปรากฏมี แล้วก็หมดไป ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรมก็ตาม ใช้คำว่า "ขันธ์" เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว ถ้าไม่ใช้คำ เราก็ไม่สามารถที่จะอธิบายเข้าใจได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียงที่ปรากฏขณะนี้ เพียงปรากฏแล้วหมด แล้วไม่กลับมาอีกเลย ไม่สามารถจะย้อนกลับมาอีกได้ แต่การปรากฏของเสียงแต่ละเสียง ก็หลากหลาย และจะให้ใช้คำว่าอะไร แต่ละเสียงๆ ก็พูดไป มากมายไปหมด แต่ละสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็พูดไป มากมายอีกเช่นกัน ก็รวมเป็นประเภท เป็นนามขันธ์กับรูปขันธ์ เพราะเหตุว่าลักษณะนั้นไม่เที่ยง แม้มีจริง แต่ก็หลากหลายมาก แล้วก็ปรากฏเพียงสั้นๆ ทีละ ๑ ลักษณะเท่านั้นเอง แล้วลักษณะของรูปก็หลากหลายมาก รูปทางตาอย่างหนึ่ง รูปที่ปรากฏทางหูอย่างหนึ่ง รูปที่ปรากฏทางจมูก รูปที่ปรากฏทางลิ้น รูปที่ปรากฏทางกาย ก็แต่ละอย่างไป หลากหลายจนกระทั่งรวมเป็นประเภทของรูปขันธ์ เพราะว่าแต่ละรูป ให้เข้าใจว่า ที่ใช้คำว่า “ขันธ์” ส่องถึงความไม่เที่ยง คือ มีจริง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นก็จะได้เข้าใจความหมายของสิ่งที่ปรากฏ เวลาที่พูดถึงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ จำแนกออก โดยไม่มี แต่มี จำแนกเพราะความหลากหลาย เพราะความรวดเร็ว เพราะการเกิดดับตามเหตุตามปัจจัยที่ละเอียดมาก และต่างกันมาก ไม่ว่าจะละเอียดแค่ไหน ต่างกันอย่างไร ประเภทของรูปก็เป็นประเภทนั้นๆ เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นอื่นไม่ได้ หลากหลายอย่างไรก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง หลากหลายอย่างไรก็ตาม ก็เป็นเสียงที่ปรากฏได้ทางหู เมื่อจิตได้ยินเกิดขึ้น

    สภาพธรรมเหล่านี้เป็นสภาพธรรมที่เพียงปรากฏสั้นๆ แล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น ลักษณะของขันธ์แต่ละขันธ์ คือ สิ่งที่มีจริง ก็คือเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต และความหลากหลายนี่ก็มีทั้งหยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ เลว ประณีต ภายใน ภายนอก ซึ่งก็คือสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้

    การฟังธรรม ก็คือให้เกิดปัญญาเข้าใจสิ่งที่มีแล้ว ปรากฏ ไม่ใช่จะต้องไปทำอะไรมาเลย เพราะว่าใครก็ทำอะไรไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม ก็ต้องรู้จุดประสงค์ว่า เพื่อละความไม่รู้ และละความติดข้อง ถ้าไม่ฟังธรรม จะไม่รู้เลยว่า ไม่รู้อะไรมากแค่ไหน ทางตา ไม่เคยรู้เลย หรือเมื่อวานนี้ที่เราพูดถึงเรื่องดิน ใครรู้จักดิน เห็นไหม รู้จักเผินๆ รู้ว่าดินที่เราเหยียบ หรือที่เราปลูกต้นไม้ นั่นไม่ใช่การที่เรารู้จักดิน แต่ว่ามีการจำ หรือมีการใช้ชื่อเท่านั้นเอง แต่สภาพธรรมที่จะรู้ได้ว่า เป็นจริงอย่างนั้น ด้วยการประจักษ์แจ้งความจริงถึงที่สุด ด้วยพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    การศึกษาธรรม คือ ให้ผู้ที่ได้สดับได้ฟัง เกิดปัญญาของตนเอง พิจารณา ไตร่ตรองเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมี ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่น หรือหวังอย่างอื่น หรือโดยไม่รู้อะไรเลย ก็จะไปเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งความจริงที่กล่าวย้ำอยู่เสมอ ก็คือว่า หนทางของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นคำสอน เป็นหนทางเดียว คือ ละ ละตั้งแต่สิ่งที่ไม่ดี อกุศลทั้งหลาย ละความติดข้อง

    ฟังเท่านี้ก็รู้แล้วว่า ต้องต่างจากคำสอนอื่น ตรงกันข้าม มีคำสอนที่ไหนบ้างที่ให้ละความติดข้อง มีแต่ให้เพิ่มความติดข้อง ให้ทำอย่างนี้ จะได้อย่างนั้น แต่ไม่รู้เลยว่า โทษของความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แล้วยังมีความติดข้องด้วยความไม่รู้อีก

    กว่าจะถึงเวลาที่โลภะจะเปิดโอกาส หรือปล่อยโอกาสให้มีความเข้าใจถูกจากขั้นฟัง ก็ยาก เห็นไหม เราอยู่ในความติดทั้งวัน นานแสนนาน ตลอดในสังสารวัฏฏ์ ที่ไม่ได้ฟังพระธรรมมากเท่าไร เพราะฉะนั้นสะสมมาที่จะเห็นประโยชน์ที่จะฟังไหม บางกาลฟังได้ แต่บางกาล โลภะก็ครอบงำ นี่คือครอบงำด้วยความติด แล้วแต่ว่าจะติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในเรื่องราว ในความสนุกสนาน ในวงศาคณาญาติ ในอะไรก็แล้วแต่ โลภะทั้งนั้น ซึ่งถ้าไม่ละ ไม่มีทางที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ ที่จะหมดกิเลสได้ เป็นไปไม่ได้เลย ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็เป็นไปไม่ได้

    นอกจากความติดแล้ว ยังมีความยึดถือผิด เพราะความไม่รู้หนทาง และไม่รู้จักธรรมจริงๆ เพียงฟังเผินๆ แล้วก็คิดเข้าใจว่า มีจิตกี่ประเภท มีเจตสิกเท่าไร แต่ไม่รู้เลยว่า ปัญญาจะรู้ลักษณะของสิ่งที่กล่าวถึง ในขณะที่สิ่งนั้นมีจริงๆ และกำลังปรากฏ ไม่เคยขาดไปเลยสักอย่างเดียว

    เพราะฉะนั้นก็เลยไม่เคยเข้าใจว่า การศึกษาปริยัติ คือ การศึกษาให้เกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มี เพื่อละความเห็นผิด และละการยึดถือด้วย แต่ลองคิดดู เมื่อไรบ้าง ที่โลภะให้โอกาส


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567