พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 252


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๕๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง มีคำถามจากผู้ร่วมสนทนา ว่า โลภะเป็นโทษ แต่ไม่ค่อยรู้ แล้วสติปัฏฐานจะเกื้อกูลได้อย่างไรที่จะให้เห็นโทษ และค่อยๆ ละได้ จนถึงละได้หมด กรุณาชี้แนะว่าขั้นตอนแต่ละขั้นเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้เข้าใจยิ่งขึ้น

    ท่านอาจารย์ ขั้นตอน คือ ฟังให้เข้าใจจริงๆ ว่า โลภะเกิดเมื่อใด และมีโทษในขณะใด เพราะเหตุว่าโลภะเป็นเหตุของทุกข์ ขณะที่กำลังเพลิดเพลินยินดีพอใจ ใครเห็นบ้างว่าเป็นทุกข์ สนุกดี เห็นนักมวยชกกัน ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นที่เป็นโลภะจะรู้ไหมว่าเป็นทุกข์ แต่คนหนึ่งแพ้ ทุกข์แล้ว ใช่ไหม ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ เมื่อไม่ปรารถนาสิ่งใด แล้วก็ประจวบ หรือพบกับสิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ แต่ไม่ใช่ทุกขอริยสัจจะ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นทุกขอริยสัจจะจริงๆ ทุกอย่างที่เกิดแล้วดับ อยู่ที่ไหน เพียงแค่เกิดให้เห็น ให้รู้ ให้ได้ยิน แล้วหมดไปเลย ไม่กลับมาอีกเลย แต่ใจที่มีความติดข้องต้องการ แสวงหา ดิ้นรน เพื่อที่จะให้ได้ ขณะที่มีความต้องการแสวงหา ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์เท่าไร เพราะมีความอยาก หรือความต้องการ แต่ถ้าไม่ได้ก็เป็นทุกข์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ทุกข์อย่างนั้น ก็เป็นทุกข์ที่เพียงพอที่จะเห็นว่าเป็นโทษ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีโลภะ เพียงแค่คิด สบายไหม สบายที่สุด เพราะไม่ต้องติดข้องอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ต้องอยากได้อะไร ไม่ต้องเดือดร้อนเพราะอะไร แต่ถ้ารับประทานอาหาร อาหารไม่อร่อย ไม่ชอบเลย รู้ไหมว่า เนื่องมาจากความติดข้องในรสที่ต้องการ แต่เมื่อไม่ได้รสที่ต้องการ ก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นก็บังกันไปบังกันมาอยู่ตลอดเวลา เป็นเหตุของทุกข์ แล้วเวลาที่ไม่ได้สิ่งที่พอใจก็เป็นทุกข์ ได้สิ่งที่ไม่ชอบ ก็เป็นทุกข์ แต่ทั้งหมดเกิดแล้วดับตามเหตุตามปัจจัย ใครจะบังคับไม่ให้เกิด ไม่มีทางเป็นไปได้เลย

    เพราะฉะนั้น การที่จะพยายามที่จะไม่ให้เกิดทุกข์ หรือจะให้เห็นว่าโลภะเป็นทุกข์ ด้วยความเป็นเรานั้น ไม่มีทางเลย เพราะเป็นแต่เพียงความคิด ทั้งๆ ที่โลภะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จะไปทุกข์กับโลภะที่ดับ หรือเปล่า ดับไปแล้ว แต่เพราะความไม่รู้ ทุกข์ทั้งหมดก็มาจากความไม่รู้ ด้วยเหตุนี้การที่จะเห็นว่า โลภะเป็นทุกข์ ก็เพราะเหตุว่าต้องเห็นการเกิดขึ้น และดับไป ต้องมีการฟัง และพิจารณาจริงๆ เป็นผู้ที่มั่นคงในการที่จะเข้าใจว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เป็นใครคนหนึ่งคนใดเลยทั้งสิ้น และลักษณะของสภาพธรรมก็เกิดเพราะเหตุปัจจัยแต่ละประเภท บังคับไม่ให้คุณนิภัทรเสียใจ บังคับได้ไหม

    อ.นิภัทร ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ตัวเองก็บังคับไม่ได้ เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นจะละทุกข์ได้ ก็ต่อเมื่อมีปัญญาที่มีความเห็นถูกในสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แล้วเมื่อไรจะถึงขณะนั้น โลภะมาอีกแล้วใช่ไหม มาเสมอ แล้วเมื่อไร ไม่เห็นแล้วว่าเป็นโลภะ แต่ความจริงขณะนั้นเดือดร้อนไหม ไม่ถึงสักที ฟังก็นานแล้ว แล้วเมื่อไรจะหมดได้ มากมายเหลือเกิน สะสมมานานแสนนาน แล้วชาตินี้ก็ยังสะสมต่อไปอีก และก็จะสะสมไปเรื่อยๆ อีก แล้วเมื่อไรจะหมด

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นการฟังด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เป็นธรรม มั่นคงขึ้น ไม่เดือดร้อนเลย เพราะรู้ว่า ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นไปเกิดขึ้นแม้แต่ปัญญา ก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นของความเข้าใจถูก ซึ่งเริ่มจากการฟัง เป็นผู้ที่แยบคาย คือ พิจารณาด้วยความถูกต้อง และมั่นคงในความเป็นอนัตตา ก็เป็นเรื่องที่ต้องฟัง และต้องเข้าใจเพิ่มขึ้น ถ้าไม่เข้าใจแล้วก็จะไปหาหนทางที่จะไปไม่ให้มีโลภะ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    อ.นิภัทร รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่เรียกว่า อุปาทาน ยึดมั่น ถือมั่น เมื่อไรจะแกะออก เมื่อไรจะคลายได้ ไม่มีทางอื่น ต้องฟังให้เข้าใจ โกรธเกิดขึ้นก็ดี โลภเกิดขึ้นก็ดี หลงเกิดขึ้นก็ดี เราไปอย่านึกว่าเรา หรือนึกว่าเราโกรธ อย่าไปนึกว่าเราโลภ เราพอใจ อย่าไปนึกว่าเราหลง ให้นึกว่าธรรมเกิดขึ้นทำหน้าที่ทั้งนั้น โลภก็ดี โกรธก็ดี หลงก็ดี ได้เหตุได้ปัจจัย ก็ต้องเกิด ห้ามไม่ให้เกิด ก็ไม่ได้ เช่นที่ท่านอาจารย์ถามผมว่า เสียใจ ห้ามได้ไหม ก็ห้ามไม่ได้ เพราะมีเหตุมีปัจจัย ก็เกิด แต่เราหลงไปเอง เราไม่รู้ว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้ว เราไปคิดว่าเป็นเราโกรธ เราเสียใจ ถ้าเรารู้อย่างนี้บ่อยๆ ไม่ใช่รู้ครั้งเดียว รู้บ่อยๆ พอรู้ ก็จะหยุด แต่ก็จะเกิดอีก รู้เนืองๆ บ่อยๆ อนุปัสสี กายานุปัสสี เวทนานุปัสสี จิตตานุปัสสี ธัมมานุปัสสี "อนุปัสสี" พิจารณาเห็นเนืองๆ บ่อยๆ ในกาย คือ รูปขันธ์ ในเวทนา คือ เวทนาขันธ์ ในสัญญา คือ สัญญาขันธ์ ในจิต คือ วิญญาณขันธ์ ในธรรม ก็รวมทั้งหมด เนืองๆ บ่อยๆ ทุกครั้งที่สามารถระลึกได้ ที่ว่า “สามารถ” คือ ฟังแล้วเข้าใจ เข้าใจว่า มีธรรม ไม่ได้อยู่ในหนังสือ อยู่ในตำรา แต่มีอยู่ที่ตัวเรา ต้องค่อยๆ สังเกต ค่อยจับทีละนิดทีละหน่อย ด้ามมีดนั้นจับเสียบ้าง อีกกี่ชาติจะสึกก็ยังไม่รู้ จับชาตินี้ด้ามมีดไม่สึก เพราะฉะนั้นยังไม่จับเลย แต่จะให้สึก จะให้บรรลุ เป็นไปได้ไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆ

    ผู้ฟัง มีคำถามว่า รูปาวจรจิตคืออะไร และรูปาวจรจิตต่างกับกามาวจรจิตอย่างไร

    อ.กุลวิไล ท่านแสดง จิต โดยภูมิของจิต มีอยู่ ๔ ภูมิ คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ และโลกุตตรภูมิ ระดับของจิตจึงแตกต่างกัน ภูมิของจิตที่เป็นกามาวจรภูมิ คือภูมิที่ยังเป็นไปกับรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และยังมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย และการคิดนึก เป็นไปกับกาม

    ส่วนภูมิที่สูงขึ้น คือ รูปาวจรภูมิ เป็นภูมิที่เห็นโทษเห็นภัยของกามด้วย ถึงแม้ว่าจะมีรูปเป็นอารมณ์ แต่ก็เป็นภูมิที่ระดับสูงขึ้น จะไม่มีธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลธรรมโดยจิต ถ้าจำแนกโดยจิตแล้ว จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นกามาวจรภูมิ จะมีจิตทั้งที่เป็นชาติอกุศล กุศล วิบาก กิริยา แต่ถ้าเป็นรูปาวจรภูมิ ก็จะมีจิตเพียง ๓ ชาติเท่านั้น คือ ชาติกุศล วิบาก และกิริยา แต่ไม่มีจิตชาติอกุศล จึงเป็นภูมิที่จิตสูงขึ้น สำหรับบุคคลที่จะเกิดในรูปาวจรภูมิ หรือรูปพรหม ก็ต้องเป็นผู้อบรมฌานจิต แล้วเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในภูมินี้ได้ ซึ่งเป็นจิตระดับที่สูงขึ้น บุคคลที่สามารถอบรมจิตในขั้นของสมถภาวนาได้แล้ว จากจิตที่เป็นกามาวจรจิต ก็เป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นรูปาวจรจิตเกิดได้

    ท่านอาจารย์ ได้ยินชื่อต่างๆ ของจิต ก็ควรจะได้เข้าใจโดยนัยต่างๆ ด้วย เช่น ได้ยินคำว่า กุศล อกุศล ก็หมายความว่า กล่าวถึงโดยชาติ คือ การเกิดของจิต ชาติของจิตที่เกิดขึ้น จะต้องเป็น ๑ ใน ๔ คือ เป็นกุศลประเภทหนึ่ง หรือ เป็นอกุศลประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุ และจิตที่เป็นวิบาก คือ เป็นผลของกุศล และอกุศลอีกประเภทหนึ่ง และจิตที่เป็นกิริยา ส่วนใหญ่แล้วเป็นของพระอรหันต์ แต่หมายถึงส่วนใหญ่ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีจิตที่เป็นกิริยาเพียงแค่ ๒ ประเภท คือ จิตที่เกิดก่อนจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตกระทบสัมผัส เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต หรือก่อนที่จะมีการรู้เรื่องทางใจ คือ มโนทวาราวัชชนจิต

    ที่กล่าวนี้ก็เป็นสิ่งที่เคยกล่าวถึงแล้ว ก็เป็นการทบทวน แต่ให้ทราบว่า เมื่อได้ยินเรื่องของกุศล หมายถึงชาติของจิต เมื่อกล่าวถึงอกุศล ก็เป็นชาติหนึ่ง คือเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น เป็นเหตุ หรือเป็นผล เป็นเหตุ แต่ถ้ากล่าวถึงรูปาวจรจิต ก็ต้องหมายความถึง ปกติธรรมดาของจิตก็จะต่างกัน คือ ถ้ากล่าวถึงกามาวจระ "กาม" หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สิ่งที่กระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มีความติดข้องวนเวียนอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่พ้นไปจากกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ที่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จิตระดับนั้นก็เป็นกามาวจรจิต คือ กามอารมณ์ที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และวันหนึ่งๆ ก็ไม่พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเลย ก็เป็นจิตระดับกามาวจรจิต ไม่มีจิตที่ต่ำว่าระดับนี้เลย เพราะฉะนั้นเกิดมาก็จะรู้ได้ว่า การที่จิตจะสูงกว่ากามาวจรจิต ต้องเป็นประเภทกุศลที่สงบจากความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จนกระทั่งที่จิตที่เป็นกุศลนั้นเกิดมากแนบแน่นในอารมณ์นั้น เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน และมั่นคง ก็เป็นฌานจิตระดับของรูปาวจรจิต เพราะเหตุว่าสงบในระดับขั้นที่ยังมีรูปเป็นอารมณ์ แต่ไม่ใช่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นการแสดงสภาพของจิตที่มีจริง แล้วแต่ว่าในยุคไหน สมัยไหน เป็นบุคคลใด และสามารถจะบรรลุถึงจิตระดับไหน เพราะว่าเพียงขั้นของจิตที่ไม่สงบ ก็ยังติดแล้วใช่ไหม โลภะก็ติด ต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต้องการอะไรในชีวิตของปุถุชน คนธรรมดาๆ ที่ยังไม่พ้นจากความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ วันหนึ่งๆ ก็คือความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงเป็นกามาวจรจิต เห็นโทษ หรือยัง เห็น หรือ หรือว่าอย่างไรๆ ก็ยังติด แม้จะกล่าวว่า เกิดดับไม่กลับมาอีก จะกล่าวว่า เพียงแค่เห็น เพียงแค่กระทบ แต่ก็ยังพอใจรสที่อร่อย รูปที่สวย เสียงที่ไพเราะ กลิ่นที่หอม ไม่สามารถจะมีความสงบจากความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้

    เพราะฉะนั้นผู้ที่จะถึงจิตระดับที่สูงกว่านี้ ต้องเป็นเพราะมีปัญญาที่เห็นโทษของความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยุคนี้สมัยนี้อาจจะมีคนที่เข้าใจผิด คิดว่าตัวเองได้บรรลุถึงฌานจิต ซึ่งเป็นกุศลจิตที่ไม่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เห็นโทษ จึงอบรมเจริญกุศลจิต ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่ใช่อกุศลจิต และกุศลจิตที่ยังเป็นไปในทาน ศีล ก็ยังเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยังเป็นระดับของกามาวจรจิต ต่อเมื่อใดที่เป็นผู้มีปัญญาระดับขั้นที่เห็นโทษจริงๆ ต้องเป็นระดับที่รู้ว่า เพียงเห็น อกุศลจิตเกิดแล้ว แล้วจะรู้อย่างนี้ไหม

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบจากความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็รู้ว่า เมื่อเห็นแล้วไม่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จิตจะสงบ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เห็น ทำอย่างไรไม่ให้ได้ยิน เป็นไปไม่ได้เลย เพราะแม้การเห็น การได้ยิน ก็เกิดขึ้นเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยว่าจะให้ผลทางตาเห็น หรือให้ผลทางหูได้ยินเสียง หรือให้ผลทางจมูกได้กลิ่น หรือให้ผลทางลิ้นลิ้มรส หรือให้ผลทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เมื่อรู้อย่างนี้ ต้องมีปัญญาที่สามารถจะรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องราว แล้วก็สันนิษฐานว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็น กำลังฟังธรรมเป็นกุศลจิต นั่นคือการคาดคะเน ไม่ใช่สติสัมปชัญญะที่สามารถจะรู้ลักษณะที่แท้จริงของจิตซึ่งเกิดต่อจากจิตเห็น และจิตได้ยิน เป็นต้น ได้ ด้วยเหตุนี้การจะให้จิตสงบซึ่งภาษาธรรมใช้คำว่า “สมถะ” หมายความว่า สงบจากอกุศล มั่นคง เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน เพราะว่าปกติธรรมดาก็ทราบว่า โลภะ โทสะ โมหะ หรือกุศลที่เป็นไปในทาน ศีล พวกนี้จะเกิดดับสืบต่อกันเพียง ๗ ขณะ แต่ถ้าเป็นความสงบยิ่งกว่านั้นด้วยความชำนาญ ก็จะเป็นกุศลจิตประเภทที่สงบ เพราะไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และสามารถมีการเกิดดับสืบต่อเกินกว่า ๗ ขณะได้ แต่ว่าต้องเป็นปัญญาจริงๆ ไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลย และอยากสงบก็ไปนั่ง แล้วขณะนั้นก็เข้าใจว่าจิตสงบแล้ว โดยที่ไม่ได้รู้เลย เพราะไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะของจิตจริงๆ

    ด้วยเหตุนี้จึงเห็นความต่างกันของจิตระดับที่ต่ำสุด คือ กามาวจรจิตกับรูปาวจรจิต ซึ่งเป็นความสงบถึงขั้นฌานจิต ซึ่งกว่าจะถึงขั้นนั้นก็เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องปัญญา เป็นเรื่องของการเป็นผู้ตรงที่เห็นโทษของอกุศลจริงๆ และมีปัญญาพร้อมกับ ปฏิสนธิจิตด้วย จึงสามารถที่จะถึงความสงบขั้นรูปาวจรจิตได้ แต่ถ้าเป็นบุคคลที่ปฏิสนธิจิตไม่ได้ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก ไม่สามารถบรรลุถึงจิตระดับนั้นได้เลย

    นี่ก็เป็นระดับขั้นของจิตที่สูงขึ้นเป็นระดับที่ ๒ จากกามาวจรจิตถึงรูปาวจรจิต และต่อไปก็จะละเอียดขึ้นที่เห็นโทษของแม้ความสงบนั้นที่ยังมีรูปนิมิต หรือบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นก็จะอบรมเจริญความสงบที่มั่นคงโดยไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ถึงภาวะความเป็นจิตที่สูงกว่าระดับของรูปาวจรจิต เป็นอรูปาวจรกุศลจิตซึ่งเป็นฌานจิต ที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ เป็นระดับขั้นที่ ๓ แต่จิตสูงสุด คือ โลกุตตรจิต เพราะเหตุว่าขณะนั้นสามารถจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรม ก็จะได้ยินชื่อต่างๆ ของจิต แต่ต้องทราบว่า โดยนัยไหน ถ้าโดยนัยของชาติ จิตเกิดเป็นกุศล จิตเกิดเป็นรูปาวจรกุศลก็มี และเมื่อมีเหตุก็ทำให้รูปาวจรวิบากเกิดในรูปพรหมภูมิ และถ้าถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แม้เป็นผู้ได้ฌานจิต มีรูปเป็นอารมณ์ ก็เป็นรูปาวจรกิริยาจิต ไม่เป็นเหตุให้เกิดผล เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจ

    ผู้ฟัง ในการทำสมถกัมมัฏฐาน ถ้ามีปัญญาเกิดขึ้นบ้าง ก็คงจะนับไม่ได้ เพราะไม่ได้นึกถึงรูปธรรมนามธรรม ในเมื่อปัญญาไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ปัญญาไม่เกิดไม่ได้ จะเป็นไปได้อย่างไร ถ้าไม่มีปัญญาจะไปถึงความสงบระดับขั้นฌานจิต ซึ่งสูงกว่าขั้นทาน ศีลอีก เป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง ไม่มีปัญญาที่เป็นโลกุตตรปัญญา

    ท่านอาจารย์ ก็มีโลกียปัญญา กับโลกุตตรปัญญา มีโลกียกุศล มีโลกุตตรกุศล

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นพรหม ก็ไม่มีโลกุตตรปัญญา

    ท่านอาจารย์ ขณะจิตนั้นเกิดขึ้นเป็นอะไร ต้องเป็นอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นกุศล ก็ไม่ใช่อกุศล เป็นขั้นของกามาวจรกุศล ก็เป็นกามาวจรกุศล จะเป็นรูปาวจรกุศลไม่ได้ ทีละ ๑ ขณะ เกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศล แต่ไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นผลของทาน หรือเป็นผลของศีล เป็นผลของความสงบของจิต มีจิตที่เมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา ไม่สามารถจะรู้ได้ แต่ก็มีอกุศลจิต เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับอกุศลจิตเป็นสมุจเฉท ก็มีปัจจัยซึ่งแม้ว่าจะเป็นผลของกุศลเกิดเป็นมนุษย์ก็ยังมีอกุศลได้ฉันใด แม้เกิดเป็นรูปพรหมยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็มีปัจจัยที่จะให้อกุศลจิตเกิดได้ตามควรแก่ภพภูมินั้นๆ

    ผู้ฟัง แต่พรหมไม่มีอกุศลจิตเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ อกุศลจิตทั้งหมด มี ๑๒ ประเภท ในพรหมภูมิไม่มีอกุศลจิตประเภทไหน

    ผู้ฟัง โทสะ

    ท่านอาจารย์ แม้อกุศลจิตก็ยังเกิดได้ทุกภูมิ ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท แต่ต้องเป็นภูมิที่มีจิต

    ผู้ฟัง ก่อนปฏิสนธิจิต มีจิตเกิดก่อนปฏิสนธิจิต ชื่อว่าจิตอะไร

    ท่านอาจารย์ จิตที่เกิดก่อนปฏิสนธิจิต คือ จุติจิต "จุติ" แปลว่า เคลื่อน พ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่หมดสภาพความเป็นบุคคลในชาติก่อน จะเป็นบุคคลในชาตินี้ไม่ได้ ชาติก่อนจะเป็นใครอยู่ที่ไหน ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ แต่รู้ว่ามีแน่นอน ฉันใด จากโลกนี้ไป คือ จิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ดับ พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ก็จะมีกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิเกิดสืบต่อ เป็นบุคคลที่ขณะนี้ไม่มีใครรู้ได้เลยว่า จากนี้ไปแล้วจะเป็นใคร เป็นมด เป็นช้าง เป็นเทพธิดา เกิดในนรก ได้หมดเลย เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ และยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีปัจจัยที่ทำให้เกิด เมื่อจิตขณะสุดท้ายของชาติหนึ่งดับไป เพราะฉะนั้นก่อนปฏิสนธิ คือ จิตขณะแรกจะเกิดในชาติไหนก็ตาม ก็จะต้องเกิดหลังจากที่จุติจิต คือ จิตที่เกิดก่อนปฏิสนธิดับไป

    ผู้ฟัง จิตดับไปแล้วก็เกิดทันที ทำไมความทรงจำในภพอดีตจึงไม่มีเลย

    ท่านอาจารย์ ตอนเป็นเด็ก คุณสุกัญญาจำได้หมดไหม ทั้งที่เป็นชาตินี้เอง

    ผู้ฟัง ไม่หมด

    ท่านอาจารย์ และยิ่งชาติก่อน ไม่ใช่บุคคลนี้เลย ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏในโลกนี้ เป็นคนละโลก โลกก่อน เฉพาะสิ่งที่ปรากฏในโลกนี้ยังจำไม่ได้หมด แล้วเหตุใดที่จะไปจำสิ่งที่ผ่านมาแล้วในชาติก่อน ซึ่งเป็นต่างบุคคลกันได้

    ผู้ฟัง เหตุที่สงสัย ก็เพราะว่าจุติจิตเกิดแล้วปฏิสนธิทันที โดยไม่มีระหว่างคั่น เมื่อจิตเกิดดับเร็วมาก ความรวดเร็วของจิต อย่างเช่นเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อวานกับเกิดวันนี้ ยังพอมีบางส่วนที่เราจำได้ และเมื่อจิตเกิดดับเพียงชั่วขณะเดียว จิตนี้ดับไป เป็นเหตุปัจจัยให้จิตอีกดวง อีกขณะหนึ่งเกิด ไม่มีระหว่างคั่นด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นก็เป็นความรวดเร็วมากของจิต แต่เหตุใดจึงจำเรื่องราวในอดีตของภพนั้นไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าจุติจากโลกไหน ปฏิสนธิในโลกไหน ถ้าปฏิสนธิในสวรรค์ จากมนุษย์ไปสวรรค์ก็จำได้ทันทีว่า เมื่อครู่นี้ก็หลับอยู่ แล้วตื่นขึ้นมาก็เป็นอีกโลกหนึ่ง แล้วแต่ภพภูมิด้วย แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ เราเกิดเป็นมนุษย์ มาจากไหนไม่ทราบ ใช่ไหม ก็แสดงให้เห็นว่า ในภูมิมนุษย์ ไม่ใช่ภูมิที่สามารถจำได้ทันที เหมือนจากโลกนี้ไปสู่โลกสวรรค์

    ผู้ฟัง มีผู้ถามว่า ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด ตรงไหนของวิถีจิต และจิตทั้งหมดหมุนเวียนกันอย่างไร ตั้งต้น และปลายสุดเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ นี่คือความสับสนของการไม่ได้ศึกษาธรรมตามลำดับ ปฏิสนธิจิตเกิดตรงไหนของวิถีจิต แสดงถึงไม่ได้รู้ความต่างของจิตที่เป็นวิถีจิตกับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567