พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 292


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๙๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เลยไม่เคยเข้าใจว่า การศึกษาปริยัติ คือ การศึกษาให้เกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มี เพื่อละความเห็นผิด และละการยึดถือด้วย แต่ลองคิดดู เมื่อไรบ้าง ที่โลภะให้โอกาสที่จะไม่ครอบงำ ที่จะให้ได้มีโอกาสแม้เพียงฟัง นี่เพียงฟัง ฟังแล้วก็ยังพิจารณาให้ถูกต้อง ไม่ให้เห็นผิดเข้าใจผิดด้วยความเป็นตัวตน เพราะเคยเป็นเราทั้งนั้นเลย อ่านพระสูตรก็เราทั้งนั้นเลย ละชั่ว ทำความดี ก็เพียรละชั่ว เพียรทำความดี ด้วยความเป็นตัวตน แต่ไม่รู้ว่า คำสอนจริงๆ คือ สอนให้เกิดปัญญารู้ว่า ธรรมเป็นธรรม

    แต่ละคำผ่านไม่ได้เลย เราพูดตามได้ตลอด ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ยาก คล้อยตามได้ แต่เป็นจริงๆ หรือยัง นี่คือความเป็นผู้ตรง ซึ่งก็เป็นบารมี เป็นสัจจะ เป็นความจริงใจ ที่เมื่อกล่าววาจาใดแล้ว ก็อบรมเจริญปัญญาที่จะให้รู้จริง ประจักษ์แจ้งความเป็นจริงของสิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า สิ่งที่มี ยากที่จะเข้าใจได้ แต่ว่ามีความอดทน หรือเปล่า ต้องเป็นบารมีด้วย ถ้าไม่มีความอดทน จะมีความเข้าใจขึ้นได้อย่างไร เพราะว่าเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง แม้ในขั้นการฟังก็ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นอดทนที่จะไม่เห็นผิด ไม่เข้าใจผิด ที่จะเป็นไปด้วยโลภะ ที่จะให้โอกาสแก่ปัญญา ที่จะไม่มีโลภะครอบงำ ในขั้นที่ให้ฟัง ให้ไตร่ตรอง ให้เห็นถูก ให้ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญา แม้ว่าสติสัมปชัญญะไม่เกิด เพราะว่าเพียงฟัง ยังไม่มีความเข้าใจที่สมบูรณ์ ที่จะมั่นคง ที่จะเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะเกิด เพราะเราจะทำ ถ้าเราจะทำ ก็ปิดไว้อีกแล้ว ฟังอย่างไรๆ เราจะทำ ก็คือว่า โลภะไม่ได้เปิดโอกาสให้มีสัมมาสติ หรือที่สัมมาสติจะเจริญ แม้จะเกิดขึ้นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมีความเข้าใจอยู่ว่า เราจะทำ

    ด้วยเหตุนี้ การฟังธรรม คือ เพื่อละความไม่รู้ เพื่อละความติดข้อง เพื่อละความเห็นผิด เพื่อละการที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และเป็นตัวตน เป็นหนทางที่ละเอียด และเป็นหนทางที่ต้องอดทน แต่ว่าเป็นความรู้ของแต่ละคนจริงๆ ซึ่งถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงหนทางนี้ หนทางผิดมีเยอะ ง่ายด้วย และไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แต่เพราะไม่รู้ จึงได้เข้าใจผิด หรือเพราะประมาท หรือเพราะคิดว่า การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นไปได้ด้วยความเป็นเรา ไม่ใช่ด้วยปัญญา นั่นคือผิดแล้ว แต่ถ้าปัญญาเกิดขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ปัญญาไม่ได้นำโทษใดๆ มาให้เลย ทางของปัญญา เป็นทางที่ทำให้กุศลทั้งหลายเจริญ และเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ก็จะมีการรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า การฟังขณะนี้ ไม่ใช่ฟังเรื่องราวของสิ่งที่มีจริง แต่กำลังฟังให้เข้าใจลักษณะที่กำลังมี จนกว่าปัญญาอีกระดับหนึ่งค่อยๆ รู้ตรงลักษณะ แล้วค่อยๆ เข้าใจ จนกว่าจะทั่ว ค่อยๆ คลาย ต้องมีการคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    ถ้ามีความเข้าใจเช่นนี้ จะเข้าใจคำว่า “ขันธ์” ไหม ที่ว่าไม่เข้าใจ หรือยาก เพราะไปคิดถึงชื่อ พยายามไปคิดเอง พยายามไปจำต่างๆ แต่ถ้าสภาพธรรมขณะนี้เป็นขันธ์ แล้วที่ใช้คำว่า “อุปาทานขันธ์” เป็นขันธ์ที่ยึดมั่นด้วยทิฏฐิว่า เป็นเรา ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นี่ความหมายหนึ่ง

    และอีกความหมายหนึ่ง ก็คือขันธ์นี้เกิดเพราะอุปาทาน ถ้าไม่มีอุปาทาน การยึดมั่น ขันธ์ทั้งหลายก็ไม่มีการเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้ ปรมัตถธรรมก็มีจิต เจตสิก รูป ถ้าฟังมากๆ ก็จะมีนัยของขันธ์ ของธาตุ ของอินทรีย์

    ท่านอาจารย์ เข้าใจว่าขันธ์อยู่ที่ไหน ในเมื่อธรรมเป็นธรรม และขณะนี้ก็เป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป หลากหลาย เพราะฉะนั้นขันธ์จึงมีทั้งที่หยาบ ละเอียด นี่คือความหลากหลาย ไม่อย่างนั้นเราจะไปหาความหลากหลายที่ไหน เสียงเมื่อสักครู่นี้ และเสียงขณะนี้ ก็คนละเสียง ความหลากหลายก็มี เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีอยู่นี่เอง ให้รู้ว่าเป็นความหลากหลายของรูป แม้แต่เป็นรูปชนิดเดียวกัน ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป นี่คือการเข้าใจในคำว่า ขันธ์

    เพราะฉะนั้นขันธ์ ก็คือ ธรรมนั่นเอง แต่ว่าธรรมที่หลากหลาย เพราะว่าไม่มีธรรมใดที่เกิดแล้วไม่ดับ ถ้ามีปัจจัยที่จะเกิดเมื่อไร เกิดแล้วดับด้วย เราก็เข้าใจแล้ว ขันธ์จะมีอย่างเดียวไม่ได้ เพราะว่าดับไปแล้ว ก็มีอย่างใหม่มาอีก มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่มีการเกิดขึ้นทั้งหมด สิ่งนั้นเป็นขันธ์ และมีสภาพธรรมซึ่งต่างกันเป็นนามธรรม รูปธรรม เพราะฉะนั้นนามธรรมก็เป็นนามขันธ์ เพราะว่าเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็หลากหลาย

    ผู้ฟัง เมื่อเราฟังรายละเอียดของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็จะทำให้เราเข้าใจว่า เป็นอนัตตา แล้วก็เป็นธรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นธรรม คือ สิ่งที่มีจริง กำลังฟังเรื่องนี้ให้เข้าใจว่า เป็นธรรมแต่ละคำ แม้แต่คำว่าขันธ์ ก็เข้าใจได้ว่า สิ่งที่มีจริงขณะนี้ไม่ใช่สิ่งเดียว เกิดแล้วดับ เสียงเกิดแล้วดับ แล้วมีเสียงใหม่เกิด ก็หลากหลายไปอีก เพราะฉะนั้นสิ่งที่มี เกิดดับๆ อย่างนี้ ก็เป็นลักษณะของธรรม ซึ่งใช้คำว่า ขันธ์ เพราะว่าหลากหลาย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะกล่าวโดยนัยไหนก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่ให้เรารู้รายละเอียด ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีเราเลย เป็นธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง ยังไม่เริ่มเข้าถึงว่า ทุกอย่างเป็นธรรม มันทุกข์มากเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะเป็นเรา ไม่ใช่เป็นปัญญา เพียงแค่นึก เรากำลังคิดด้วย คิดไปยาวเลยว่า ทุกอย่างเป็นธรรม นั่นคือเราคิด ไม่ใช่เข้าใจถูกต้องว่า ขณะนั้นเป็นธรรม คิดก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่โกรธ สภาพธรรมนี้เกิดเมื่อไรก็คิด เป็นสภาพคิด

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า จะต้องอาจหาญร่าเริงในสภาพธรรม หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ แต่ปัญญาขั้นฟัง ไม่สามารถจะอาจหาญร่าเริงได้แม้แต่น้อย

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าความติดข้องมีมากแค่ไหน เพียงแค่คิดว่า ไม่ใช่ของเราสักอย่างเดียว คุณสุกัญญายังหวั่นไหว เพียงแค่คิด ความจริงไม่ใช่แค่คิด จริงอย่างนั้นจริงๆ ขณะนี้เหมือนไม่ใช่ของเรา แต่ยังอยู่เต็มทั้งบ้าน ยังหวั่นไหว เพียงด้วยความคิด ทั้งๆ ที่ยังอยู่เต็มอย่างนี้ ยังไม่ได้ไปไหนเลย เพียงแค่คิดว่า ไม่ใช่ของเรา ยังหวั่นไหว และความจริง จริงๆ ถ้าไม่ใช่ปัญญา แล้วสูญหมด หวั่นไหวไหม เพราะฉะนั้นจึงกลัวตาย เพราะว่ากลัวสูญเสียทุกอย่างที่มี นี่แค่คิด แต่ยังมี ยังหวั่นไหว และถ้าไม่มีเลยจากการตาย กลัวไหมว่า ยิ่งกว่านี้กี่เท่า แต่นั่นด้วยการไม่รู้ความจริง

    ลักษณะของกุศลธรรมกับอกุศลธรรม จึงต่างกัน ลักษณะของปัญญา ไม่ใช่ความติดข้อง ไม่ใช่ความไม่รู้ แต่เป็นการที่เข้าใจ เริ่มเข้าใจความจริง แต่ก็รู้ว่าขณะนั้นยังไม่ได้ประจักษ์ความจริง จึงมีความเป็นตัวตน ยังมีความติดข้อง ในความคิดทุกอย่างว่ายังเป็นเราอยู่ เพราะเหตุว่าลักษณะของสภาพธรรมยังไม่ได้ปรากฏเลยตามความเป็นจริง ขณะนี้เรากล่าวได้ จิตเห็นดับ เรากล่าวได้ แต่ยังไม่ประจักษ์ความจริง เรากล่าวได้ว่า จิตได้ยินเกิดแล้วก็ดับไป กล่าวได้ แต่ยังไม่ประจักษ์ความจริง

    ถ้าได้ประจักษ์ความจริง จะตรงอย่างนี้ไหม และกำลังศึกษาเพื่อจะประจักษ์ หรือเปล่า หรือว่าเพื่อหลบหนีไป ไม่เอา คำสอนของพระพุทธเจ้าจากการตรัสรู้อย่างนี้ไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจ ไม่มีเรา หรือว่าจริงอย่างไรก็ต้องเป็นจริงอย่างนั้น เพราะหากเราคิดถึงระยะยาว เราต้องจากโลกนี้ไปแน่นอน ด้วยความเข้าใจที่จะคลายการยึดถือ เพราะจริงๆ อย่างไรก็ต้องจาก ช้า หรือเร็ว ยังไม่ทันตาย ก็จากไปตั้งเยอะแยะแล้ว ทรัพย์สมบัติต่างๆ การสูญเสียวงศาคณาญาติซึ่งเป็นที่รักต่างๆ ก็ยังจากไปอยู่เรื่อยๆ และความจริงกำลังจากไปทุกขณะ แต่เพราะความไม่รู้ ก็ไม่เดือดร้อน เพราะเหตุว่ามีสิ่งใหม่เกิดขึ้น ไม่เห็นว่าสิ่งเก่าได้หมดไปจริงๆ ไม่เหลือ เพราะว่าสิ่งใหม่สืบต่อเร็วมาก เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เป็นที่ตั้งของความยึดถือต่อไป

    กว่าจะเป็นปัญญาจริงๆ การฟังธรรม การศึกษาธรรม ไม่ใช่จำชื่อ จำจำนวน แต่เข้าใจตัวธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ทีละเล็กทีละน้อย เพราะเหตุว่าเราสะสมความไม่รู้นับชาติไม่ถ้วนเลย แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงระลึกพระชาติในยามแรกของคืนที่จะตรัสรู้ ไม่จบสิ้น คิดดูว่า แค่ไหน และจะอยู่ต่อไปอีกไม่จบสิ้นด้วย ด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้เลย เกิดเพื่อที่จะไป เพื่อที่จะดับ เพื่อที่จะหมด เพราะว่ามีปัจจัยก็เกิด แต่ก็ต้องดับ อยู่ไม่ได้ต่อไป

    จะรู้ความจริง หรือไม่รู้ความจริง ถ้าไม่อยากจะรู้ โลภะไม่ยอมปล่อย แม้แค่จะฟังให้เข้าใจ ให้ค่อยๆ รู้ เหมือนกับไม่อนุญาต ครอบงำไว้ให้อยู่อย่างนี้ ให้ไม่รู้อย่างนี้ ให้ไม่ฟังอย่างนี้ ให้ติดอยู่อย่างนี้ ก็เป็นสิ่งซึ่งแต่ละคนจะต้องพิจารณาด้วยตัวเอง สะสมมาพอที่จะเห็นว่า อะไรเป็นประโยชน์ ไม่มีใครให้ใครเป็นพระอรหันต์วันนี้หรอก ให้ก็ไม่ได้ เป็นก็ไม่ได้ เพราะว่าเป็นเรื่องของปัญญา แต่ดีไหมถ้าเราจะมีความเข้าใจถูกในสิ่งซึ่งใครก็ไม่สามารถที่จะให้เราเข้าใจได้ นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงพระธรรม เกื้อกูลด้วยพระมหากรุณา ไม่มีอีกเลยที่ใครจะมากล่าวถึงสภาวธรรมที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้อย่างละเอียด เพื่อที่จะให้คนอื่นค่อยๆ มีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูก ละความไม่รู้ ละความติดข้อง ละโลภะ เพราะเหตุว่าโลภะในอริยสัจ ๔ ทุกขสมุทยอริยสัจจ์ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็มองไม่เห็น ก็ยังขวนขวายหาอยู่ เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยให้โลภะเกิด โลภะมีเหตุปัจจัยเกิด แต่ปัญญาสามารถเห็นถูก เข้าใจถูกว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ต่างกับสภาพธรรมอื่น เกิดโดยที่ไม่มีใครอยากให้เกิด มีปัจจัยก็เกิด เกิดแล้วไม่มีใครอยากให้ดับ ก็ดับ แค่นี้ไม่อยากเข้าใจ หรือ แค่นี้ ค่อยๆ ไปแค่นี้ แค่นี้ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง ได้ยินท่านอาจารย์กล่าวบ่อยๆ ว่า ธรรมมีการเกิดจึงปรากฏขึ้นมา อยากให้ท่านอาจารย์ขยายความตรงนี้ เพราะเกิดจึงปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้คุณศุภักษรมีธรรมอะไรบ้างที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง มีเห็น

    ท่านอาจารย์ ถ้าเห็นไม่เกิดขึ้น จะมีเห็นไหม

    ผู้ฟัง ไม่มีเห็น

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นคำตอบ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ขณะนี้มีแข็งปรากฏ แต่เป็นแข็งที่เป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ ฟังให้เข้าใจว่า ถ้าแข็งไม่เกิด จะมีแข็งปรากฏได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ปรากฏต้องเกิด และต้องมีปัจจัยเฉพาะอย่างๆ ที่จะเกิดเป็นอย่างนั้นด้วย เลือกก็ไม่ได้ บังคับก็ไม่ได้ พอแน่ใจไหมว่า ทุกอย่างที่ปรากฏต้องเกิด แล้วต้องแน่ใจต่อไปอีกว่า ต้องดับ เกิดแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง ตอนนี้ก็เกิดทุกขเวทนา ปวดเมื่อย

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่ไม่มี แล้วก็เกิดมี

    ผู้ฟัง ขณะที่พูดครั้งแรกยังไม่ได้นึกถึง เมื่อมีการพูดถึงก็มีการนึกถึงว่าปวดเมื่อย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกต้องว่า ปริยัติการศึกษา คือ ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฎ เราก็ไปทำอย่างอื่น คิดว่าต้องไปรู้อย่างอื่น แต่จากการฟัง การฟังธรรม ก็คือธรรมที่กำลังมีให้เข้าใจสิ่งนั้น นี่ก็จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้สติเกิดรู้ลักษณะนั้น เพราะรู้แล้วว่า นี่เป็นธรรม และก็เกิดแล้วด้วย และถ้ามีความเข้าใจว่า ธรรมเกิดดับเร็วมาก ก็ไม่ต้องไปสนใจ สติสัมปชัญญะจะเกิดเมื่อไร ก็มีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นจากการฟังให้รู้ว่า กำลังฟังอะไร ฟังให้เข้าใจสิ่งที่มี ก็จะทำให้เกื้อกูลต่อการที่จะมีการรู้ลักษณะของสิ่งนั้นเพิ่มขึ้น โดยสติสัมปชัญญะ

    ผู้ฟัง บางครั้งลักษณะสภาพธรรมที่เกิดมันซ้ำซาก คือ ถ้าปวด ก็ปวดอยู่ตลอด หรือบางทีแข็ง ก็รู้ตัวว่าแข็ง ก็ไม่ได้รู้ว่าเป็นตัวตน หรือเห็น หรือได้ยิน บางครั้งก็ได้ยินเสียงที่ไม่น่าฟังเลย แต่ก็ต้องอดทนที่จะไม่บ่น หรือบางครั้งไม่ไหวก็เดินหนี คือ มันมีความหลากหลายของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งดูมันธรรมดาๆ บางครั้งก็เกิดความเบื่อหน่าย ไม่ทราบตรงนี้เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ชีวิตเป็นธรรมดา ผ่านไปเรื่อยๆ จนกว่าสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร รู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม เมื่อนั้นไม่ใช่ธรรมดาแล้ว สิ่งที่เราฟังเหมือนซ้ำ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยากจะรู้ว่า มีอะไรยิ่งกว่านี้ ใครหาได้ ชาติไหนจะมีอะไรพิเศษจากนี้ หรือเปล่า จากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นไปไม่ได้เลย มีแค่ ๖ ทาง ฟังซ้ำ เหมือนกับว่าเรื่องเก่า แล้วสิ่งที่ปรากฏก็ซ้ำ กำลังเห็นนี่ก็ซ้ำ เมื่อวานนี้ก็เห็นอย่างนี้ เสียงที่ได้ยินก็ซ้ำ ก็เป็นเสียง ไม่เห็นว่าจะมีอะไรต่าง หรือพิเศษ เพราะว่าไม่มีอะไรอีก แต่ว่าเวลาฟังแล้วเข้าใจ กับฟังแล้วไม่เข้าใจนี่ผิดกัน ด้วยเหตุนี้ปฏิสัมภิทามรรคจึงได้กล่าวถึงญาณจริยา คือ ขณะนี้กำลังมีเห็น มีได้ยิน บังคับไม่ได้ เป็นอุปัติ เกิดขึ้น ตามการประจวบ หรือตามเหตุปัจจัย คือ ด้วยกรรม ด้วยจักขุปสาท ด้วยสิ่งที่ปรากฏ แล้วแต่ที่จะเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมชั่วขณะนี้เกิดขึ้น แล้วยังได้กล่าวถึงอัญญาณ เกิดปรากฏแล้วก็ไม่รู้ ก็จริงอีก เตือนให้รู้ว่า สิ่งที่เราไม่รู้คืออย่างนี้ แล้วก็กล่าวถึงญาณจริยา หมายถึงปัญญาที่เห็นถูก แต่ส่วนอื่นไม่จำเป็นต้องกล่าวเลย เพราะอะไร ก็หมดไปอยู่แล้ว กุศลก็หมดไป จะเกิดในภูมิไหนก็หมดไป เคยเกิดมาแล้วในสวรรค์ที่ไหน ถ้าเคยได้ฌาน เกิดในรูปพรหมภูมิ อรูปพรหมภูมิ ก็เคยมาแล้ว ก็หมดไปแล้ว หมดไปแล้วกับความไม่รู้ จะต้องไปสนใจอะไร แต่การที่จะรู้สิ่งที่มี แล้วเคยไม่รู้ แล้วค่อยๆ รู้ขึ้น นี่เป็นสิ่งที่กล่าวถึงในปฏิสัมภิทามรรค

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การทรงแสดงธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหลากหลาย หลายนัย แล้วแต่ผู้ฟัง แล้วแต่การจะกล่าวถึงว่ามีอะไรบ้างในสังสารวัฏฏ์ ที่มีแน่นอน คือ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีวิญญาณจริยา เกิดมาแล้วต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วไม่รู้ เป็นอกุศลทั้งหมด แต่ว่าเมื่อมีการรู้ประจักษ์แจ้งเมื่อไร ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งต่างหาก จากชีวิตซึ่งผ่านไป ก็ผ่านไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกุศล แต่กุศลนั้นก็ไม่สามารถทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งก็ต่างจากขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นเน้นที่ไหน เราสามารถจะไปรู้อย่างอื่นได้ไหม หรือถ้าเรามีความเข้าใจอย่างนี้ ก็เป็นเหตุให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น ค่อยๆ รู้ความจริงว่า มีสิ่งที่มีแล้วไม่รู้ แล้วก็ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง

    ผู้ฟัง ผมเองฟังอย่างไรก็ชื่นใจท่านอาจารย์ ชื่นใจจริงๆ แล้วก็อยากจะทำตามท่านอาจารย์ แต่ฟังแล้วไม่เข้าใจ แต่ก็ยังยาก ยากอยู่อย่างนั้น ผมก็เลยไม่รู้จะพูดว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณเด่นพงศ์ไม่หวังมาก นี่หวังมาก หวังจะเข้าใจมากๆ เป็นไปไม่ได้ เลิกหวังมากก็ไม่ได้อีกใช่ไหม เพราะความเหนียวแน่นของความเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ถ้าเลิกหวัง ก็เหมือนปลาไหลลงไปตามน้ำ

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเกิด เพราะหวังเป็นโลภะ ตราบใดที่ยังหวัง ก็เป็นเรา เพื่อเรา จะได้เข้าใจมากๆ เพราะฉะนั้นก็ฟังให้เข้าใจขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย พอไหม แค่นี้พอไหม ค่อยๆ เข้าใจไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปหวังอะไรเลยทั้งสิ้น เป็นหนทางเดียวที่จะละโลภะ เพราะรู้ว่า ฟังเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น

    ผู้ฟัง บางทีมันชื่นใจว่า วันนี้ได้ของใหม่มาอีกอันหนึ่ง นิดเดียว ฟังไปนึกว่าเราดี แล้วก็ดีใจ พอฟังไปๆ มีอะไรใหม่ ไม่รู้อีก ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราก็รู้แต่ชื่อ ไม่รู้ของจริงสักที

    ท่านอาจารย์ เรา ฟังด้วยความเป็นเรา และยังมีเรา แต่ที่จริงฟังเพื่อเข้าใจว่า ไม่มีเรา ค่อยๆ ละความเป็นเรา ก็ค่อยๆ ละความหวัง

    ผู้ฟัง ก็ต้องท่องว่า ไม่มีเรา ไม่มีเรา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ท่อง รู้ว่า ฟังเรื่องธรรม ใช่ไหม ธรรมไม่ใช่เรา ถึงจะพูดว่าเรา แต่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ ท่านพระอานนท์ก็พูด พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็พูด ทุกคนต้องพูด เพื่อให้รู้ว่า หมายความถึงขันธ์ไหน แต่ขึ้นอยู่กับความติดข้อง และปัญญาว่า มีความเข้าใจในสภาพธรรมมากน้อยแค่ไหน หรือว่าติดข้องไว้แค่ไหน

    ทุกคนใช้คำ เรา แต่มีความติดข้องในขันธ์ ในสิ่งที่มีที่เคยยึดถือไว้มากน้อยต่างกัน ด้วยเหตุนี้ ลดความหวังมากๆ แล้วก็เพียรฟัง แล้วก็เข้าใจขึ้น จะเป็นประโยชน์มาก แต่ถ้ายังหวังอยู่จะทุกข์ เราไม่เข้าใจสักที วันนี้เราเข้าใจ ก็ดีใจ แล้วก็กลับมาเป็นทุกข์อีกที่เราไม่เข้าใจ แต่ถ้าไม่หวังเลย วันนี้ฟังเข้าใจก็เข้าใจ วันต่อไปฟังอีก ก็เข้าใจขึ้นอีก ก็เป็นปกติ อย่าไปต่อสู้กับโลภะเลย เพราะว่าขณะนั้นกำลังเป็นโลภะแล้ว

    ผู้ฟัง บางทีฟังวิทยากร พูดอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง พูดอย่างไรก็ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ พูดคำว่า “วิญญาณ” เข้าใจไหม

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจว่าวิญญาณเป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม เป็นจิต ใช้คำว่า “วิญญาณ” ก็ได้ ก็ค่อยๆ เข้าใจไปทีละน้อยๆ

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่อาจารย์พูดเรื่องขันธ์ ผมก็ลองมาสรุปง่ายๆ ขันธ์ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นดับไป สรุปแล้วก็สภาวธรรมทั้งหลาย ทุกอย่างเกิดขึ้นดับไปทั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง พอไปถามว่า นี่ไม่ใช่ขันธ์ ชื่อมันเยอะ จนกระทั่งเราผนวกลงมาไม่ค่อยจะถูก

    ท่านอาจารย์ แต่เราก็ต้องตั้งต้นให้ถูกต้องด้วยความมั่นคงว่า เมื่อสิ่งใดก็ตามเกิดขึ้นแล้วดับไป สิ่งนั้นเป็นขันธ์ หมดเลย จบเลยทุกอย่าง ไม่ว่าอะไร เว้นนิพพานอย่างเดียว

    ผู้ฟัง กามุปาทาน จะค่อยๆ ละคลายได้บ้าง แต่อัตตานุปาทาน มันไม่ได้เลย ตรงนี้ต้องถามว่า ทำอย่างไร เป็นอย่างไร ที่จะให้ตัวตนมันเล็กลงๆ แล้วพิจารณาอย่างไร ที่บอกว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มันเป็นสภาวธรรม มันเป็นสติ และสัมปชัญญะระลึกไม่ถึงตรงนั้น การฟัง ฟัง ฟัง ก็ยังเข้าไม่ถึง ฟังเท่านั้น จะเข้าถึง หรือ พิจารณาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็น จะให้เป็นได้ยินได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมจริงๆ จะให้ปัญญารู้จนกระทั่งหมดการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ แม้กระทั่งที่บอกว่า สภาวธรรมที่กำลังปรากฏ มันก็หมดไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่เป็นเรา เป็นปัญญา หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นปัญญาของเรา

    ท่านอาจารย์ ยังไม่มีปัญญา กำลังเป็นตัวเรา กำลังเป็นของเรา เป็นปัญญา หรือเปล่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567