พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 266


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๖๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    อ.อรรณพ ปฎิสนธิจิตของบุคคลนั้นเป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก เป็นมนุษย์ ไม่ประกอบด้วยเหตุเลย ที่บ้าใบ้บอดหนวกโดยกำเนิด แต่ผู้ที่เกิดในอบายภูมิ ก็ไม่ประกอบด้วยเหตุเหมือนกัน แต่เป็นอกุศลวิบาก ก็คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต อสุรกาย สัตว์นรก ทั้งหมด

    ผู้ฟัง ไม่ประกอบด้วยโทสะ หรือ

    อ.อรรณพ ไม่ ถ้าไม่ประกอบด้วยอกุศลเหตุ ก็คือ โลภเหตุ ๑ โทสเหตุ ๑ โมหเหตุ ๑ นั่นเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่อกุศลวิบาก ถ้าเป็นอกุศลวิบาก จะมีเพียง ๗ ประเภท แต่จิตที่จะทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ มีดวงเดียว หรือประเภทเดียว คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก เกิดในอบายภูมิ

    ผู้ฟัง ไม่มีเหตุ

    อ.อรรณพ ไม่มีเหตุใดเลย เป็นอเหตุกจิต ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ด้วยอเหตุกจิต แต่ก็ต้องเป็นกุศลวิบาก คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ที่เป็นมนุษย์ที่บ้าใบ้บอดหนวก ไม่มีเหตุอะไรเกิดร่วมด้วยเลย

    อ.วิชัย จิตแต่ละประเภท ก็จะมีกิจการงานของจิตแต่ละประเภทอยู่ ตามที่ได้กล่าวถึงเรื่องของวิญญาณ วิญญาณธาตุ ถ้าจะกล่าวทั้งหมดก็มีเป็น ๑๐ ประเภท เช่น จักขุวิญญาณ ก็มีทั้งที่เป็นกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก จิตที่เป็นชาติวิบาก เป็นผลของกรรม ซึ่งจิตชาติวิบากเมื่อเกิดแล้ว แสดงว่ากรรมนั้นได้ให้ผลแล้ว คือ ให้จิตที่เป็นชาติวิบากเกิดขึ้นทำกิจ เช่น จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำกิจอะไร ถ้าทราบชื่อ ก็เป็นทัสสนกิจ หรือกิจเห็น นี่เอง จิตได้ยิน ก็ทำกิจได้ยิน เรียกว่า สวนกิจ ก็เป็นชื่อภาษาบาลีที่เป็นชื่อของกิจ แต่เมื่อเราเข้าใจความหมาย และทราบว่า จิต ๑๐ ดวง หรือ ๑๐ ประเภท เกิดขึ้นก็ต้องทำกิจ จิตเห็นเกิดขึ้นก็ต้องทำกิจเห็น จิตได้ยินเกิดขึ้น ก็ต้องทำกิจได้ยิน จิตได้กลิ่นก็ทำกิจได้กลิ่น จิตลิ้มรสก็ทำกิจลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็ทำกิจรู้สัมผัส หรือโผฏฐัพพะ ทั้งหมดเป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจ

    แต่จิตอื่นที่เป็นชาติวิบาก ที่เป็นผลของกรรม ไม่ได้ทำกิจเหล่านี้เลย แต่ทำกิจอื่น เช่น ปฏิสนธิกิจ จิตที่ทำปฏิสนธิกิจ เป็นชาติวิบากชาติเดียว เพราะเหตุว่าเมื่อการเกิดครั้งแรกเป็นผลของกรรมในอดีตที่เป็นปัจจัยให้เกิดในภูมิต่างๆ เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นจิตขณะแรกก็เป็นชาติวิบาก เป็นผลของกรรม และสำหรับบุคคลที่ทำกุศล ที่เป็นขั้นกามาวจระ เช่น กุศลที่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนาที่เป็นขั้นกามาวจระ เมื่อให้ผล ก็เกิดในกามสุคติภูมิ แต่บุคคลเมื่อทำอกุศลกรรม เมื่อให้ผล ก็เป็นปัจจัยให้จิตชาติวิบากทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ ซึ่งปฏิสนธิจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรม ก็มีจิตเพียงประเภทเดียว คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ ไม่ว่าจะเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ก็ตาม ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็มีจิตประเภทเดียวที่ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ คือ สันตีรณจิต ส่วนบุคคลที่ปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ ก็จะมีจิต ๙ ประเภท ที่ทำกิจปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมอย่างอ่อน ก็ทำให้ปฏิสนธิในมนุษย์ หรือสวรรค์ชั้นต้นที่พิการแต่กำเนิด หรือบุคคลที่กำเนิดด้วยกุศลที่มีกำลัง ก็ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากในกามสุคติภูมิ

    นี่ก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย เมื่อได้กระทำกรรมไว้แล้ว ก็มีจิตที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลของกรรม และจิตที่เกิดซึ่งเป็นผลของกรรมนั้น เกิดมาก็ทำกิจตามหน้าที่ของจิตนั้นๆ มีกิจเห็นเป็นต้น หรือทำกิจปฏิสนธิในภูมิต่างๆ

    ผู้ฟัง การศึกษาธรรม ถ้าไม่รู้ และเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม รู้แต่เพียงเรื่องราว และชื่อธรรม ไม่ใช่เป็นการศึกษาธรรม เพราะฉะนั้นในขณะที่จะกล่าวว่า เป็นการศึกษาธรรมนั้น จะต้องรู้ และเข้าใจลักษณะของธรรม มากน้อยเพียงใด

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม การศึกษาธรรม ก็คือว่า ก่อนที่จะได้ฟัง แม้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นชีวิตประจำวัน ก็ไม่เคยรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เลย นี่คือก่อนศึกษาธรรม เพราะไม่รู้ว่าเป็นธรรม แต่เวลาที่ฟังแล้ว ก็รู้ว่า ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่อยู่ในหนังสือเลย แต่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา โดยประการทั้งปวง ที่ทำให้เราเข้าใจถูก เพื่อจะได้รู้ลักษณะของธรรม ถ้ามิฉะนั้นแล้ว เพียงชื่อ จะไม่ทำให้เราเข้าใจธรรมได้เลย เพราะฉะนั้นจะชื่อว่า ศึกษาธรรม หรือไม่ ถ้าเป็นการจำชื่อ เช่นในขณะนี้ ฟัง เข้าใจว่า สิ่งที่กำลังปรากฏมีจริงๆ เป็นธรรม นี่คือขั้นฟัง และเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ขณะเห็นเป็นธรรม หรือไม่ หรือขณะนี้มีแล้วไม่เคยเข้าใจ ดังนั้น การฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มี ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ จึงจะเป็นการศึกษาธรรม มิฉะนั้นแล้วก็เป็นเพียงการจำชื่อ และก็หมดไป แต่ละภพแต่ละชาติ เป็นโมฆะ เพราะว่าชาตินี้เราคิดภาษาอะไร ชาติหน้าเราไม่คิดภาษานี้อีกก็ได้ ในเมื่อเราไม่ได้เกิดใช้ภาษานี้ในชาติหน้า เพราะฉะนั้นที่เราจำไว้ทั้งหมดเป็นคำ ก็หายไปหมด แต่ถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม รู้ว่า การศึกษาธรรมจริงๆ เพื่อให้เข้าถึงความเป็นธรรม คือ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ศึกษาเพราะเพียงอยากรู้ หรืออยากจำชื่อ แต่ต้องรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่ศึกษาเพื่อรู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังฟังให้เข้าใจยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง ชีวิตประจำวันก็จะต้องรู้จักตัวเองดีพอสมควรว่า ต่างก็สะสมมาไม่เหมือนกัน ตรงนี้ท่านอาจารย์จะช่วยแนะนำอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ คนที่ไม่มีปัญญา จากไม่มีปัญญา จะแนะนำให้ทำอะไร หรือว่าจะแนะนำอย่างไร

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์เคยแนะนำ ก็คือ ให้ฟัง

    ท่านอาจารย์ และการฟังต้องละเอียด ฟังสิ่งใดให้เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังจริงๆ อย่าผ่าน เช่น ที่ท่านผู้ถามเมื่อครู่นี้ ท่านก็ฟังมาหลายครั้ง และท่านก็รู้ด้วยว่า ท่านยังไม่ได้เข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้นจึงถาม เพื่อจะได้เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ฟัง เช่น เรื่องวิบากจิต กุศลจิต อกุศลจิต กิริยาจิต ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นจากการฟังเพิ่มขึ้นอีก จากการไม่รู้ แล้วก็เป็นค่อยๆ รู้ จนกว่าจะรู้ จะทำอย่างไร ไม่มีตัวตนที่จะไปเร่งรัดอะไรได้ นอกจากเป็นความเข้าใจที่มาจากการฟัง การไตร่ตรอง การพิจารณา แล้วก็เป็นความเข้าใจละเอียดขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง เป็นเรื่องลำบากที่จะต้องเข้าใจว่า ขณะนั้นลักษณะของธรรมที่ปรากฏมีลักษณะอย่างไร และพอจะรู้ละเอียดได้มากน้อยเพียงใด

    ท่านอาจารย์ ที่ถามนี้เป็นเรื่องคิดมาก หรือไม่

    ผู้ฟัง ยอมรับว่า คิดมากด้วย

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรม เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง เข้าใจแล้ว ขณะต่อไปก็ไม่ได้ฟังธรรม ก็ไม่ได้นึกถึงธรรมที่ได้ฟัง ก็ฟังอีก ในขณะที่ได้ฟังเรื่องซ้ำๆ เรื่องเก่า แต่การฟังครั้งหลังๆ ก็ทำให้เข้าใจขึ้นๆ และเวลาที่ไม่ได้ฟังธรรม ก็เป็นเวลาที่ใช้ชีวิตตามความเป็นจริง ตามที่สะสมมา เพราะฉะนั้นธรรมไม่ได้ให้ไปทำอย่างอื่นเลย ฟังเข้าใจแล้ว แล้วก็ไม่เข้าใจ เป็นอวิชชา ก็เป็นความจริง แล้วจะไปคิดมากเรื่องอะไร

    ผู้ฟัง กระผมอาจจะฟังมาก และฟุ้งซ่านมาก เพราะว่าในขณะใดที่รู้ตัวเองว่า ไม่ใส่ใจ หรือสนใจในลักษณะของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็กลายเป็นตัวเราเรื่อยๆ สนใจตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าฟังธรรมเป็นธรรม ก็จบ แล้วก็ฟังอีก เข้าใจอีก ก็จบ ไม่ได้เดือดร้อนอะไรเลย เพราะรู้ว่าเป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรม กุศลก็เป็นธรรม ก็เป็นของธรรมดา มีปัจจัยก็เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง บางคราวก็เหมือนกับรู้สึกว่า ชาตินี้จะเสียชาติเกิดเสียแล้ว

    ท่านอาจารย์ ก็คือตัวเรา ไม่ใช่เป็นธรรม ฟังไปว่าเป็นธรรม แล้วก็ลืมเป็นตัวเรา แล้วก็เป็นตัวเราอย่างมากๆ ด้วย ถ้าเพิ่มความเข้าใจธรรมขึ้น ความเป็นตัวเราก็ลดน้อยลง

    ผู้ฟัง ขนาดที่ธรรมเกิดให้รู้ต่อหน้าต่อตา ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คนอื่นเป็นอย่างนี้ หรือไม่ หรือเป็นเฉพาะคุณประทีปคนเดียว

    ผู้ฟัง กระผมกำลังจะเรียนถามท่านอาจารย์ และหาเพื่อนๆ สหายธรรมด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีเพื่อน เป็นอย่างไร หรือต้องมีเพื่อน ไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ ทำไมจะต้องไปคิดถึงคนอื่น นี่ก็คิดอีกแล้ว มีความเป็นเรา และมีความหาเพื่อนอีก เพราะฉะนั้น การฟังธรรมต้องเข้าใจว่า เพื่อเข้าใจเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อไปหาเพื่อนว่าเหมือนกับเราไหม

    อ.ธีรพันธ์ ศึกษาธรรมเพื่อรู้ความจริง ความจริงก็คือ สิ่งที่พิสูจน์ได้ สามารถอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เพียงขั้นการฟัง หรือ ขั้นเข้าใจเรื่องราวของธรรม แต่เป็นขั้นที่รู้ความจริงของลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่รู้เพียงชื่อ หรือว่าเรื่องราวในตำรา เพราะว่าธรรมเกิดจากการตรัสรู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ คือ ความจริง

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่เราคิดนึก มีลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ มีทุกอย่าง เป็นจิตทั้งนั้นเลย เห็นก็เป็นจิต ได้ยินก็เป็นจิต คิดนึกก็เป็นจิต ทุกอย่างมีก็ช่างรู้ยาก ฟังเท่าไรๆ ก็ยังรู้ยาก เพราะว่าการเพียงฟัง ไม่สามารถทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ แต่เริ่มมีความเข้าใจถูกว่า มีลักษณะจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แล้วเป็นธรรมอะไรบ้าง นี่ขั้นฟัง แต่กว่าจะรู้ แม้แต่เรื่องจิต บอกง่ายๆ ก็ได้ ลักษณะของคิด ก็คือกำลังคิด แล้วก็เป็นจิตที่คิด รูปคิดไม่ได้ บอกไปเถอะ กี่คำ กี่ครั้ง?ก็ยังไม่ได้รู้ลักษณะของจิต นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่แม้มีจริง ปรากฏ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ด้วยอวิชชา ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ที่เป็นไปตามลำดับขั้นด้วย

    เพราะฉะนั้น ทุกคนก็จะเห็นได้ว่า พูดเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป ก็ยังไม่รู้ลักษณะจริงๆ ของทั้งจิต เจตสิก รูป เพราะว่ามีอวิชชามาก จากการที่ไม่เคยรู้ลักษณะของสภาพธรรมแม้มี ในแสนโกฏิกัปป์ก็เป็นอย่างนี้ แต่อวิชชาก็ไม่รู้ ไม่รู้มาโดยตลอด จะให้เป็นปัญญาที่จะรู้ได้ทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เมื่อเทียบตามความเป็นจริงว่า เคยไม่รู้มานานแสนนาน เหมือนกับสิ่งที่สกปรกมาก ดำสนิท แล้วจะเอาอะไรไปขัด ไปชำระล้างจนกว่าสิ่งสกปรกนั้นจะออกไปได้ ถ้าเป็นวัตถุ ไม่ยากเลย แต่ถ้าเป็นปัญญา ไม่ใช่อวิชชา เราก็จะได้รู้ตามความเป็นจริงว่า แม้ฟัง ก็ยังต้องพิจารณาไตร่ตรอง มิฉะนั้นเพียงแค่ฟังก็เผิน แล้วก็ไม่เข้าใจ เช่น ขณะนี้คิดมีไหม แค่นี้ก่อน คิดมี แล้วคิดที่มีจริงๆ นั้น เป็นอะไร เป็นเราคิด หรือเป็นธรรมที่กำลังมีคำที่คิดเป็นอารมณ์ ถ้ากำลังคิดคำ ก็จะเป็นแต่ละคำ ซึ่งจิตคิดแล้วก็ดับไปอย่างเร็วมาก ทั้งวันที่เราคิด ตามที่ได้เคยกล่าวแล้ว เราคิดมากกว่าพูด เพราะฉะนั้นที่เราพูด หรือกำลังพูด จะต้องน้อยกว่าที่คิดในวันหนึ่งๆ แต่ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าคิดเป็นคำ ก็คิดทีละคำได้ จะคิด ๒ คำ พร้อมกันไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความรวดเร็วว่า แม้สภาพธรรมก็มี แล้วเหตุใดไม่รู้แม้ครั้งหนึ่ง ฟังเท่าไรก็ไม่รู้สักครั้งเลย เพียงแต่เข้าใจว่าเป็นจิต เรียกชื่อได้ แต่ลักษณะของจิตขณะนี้คืออะไร กำลังเห็น ตอบว่าเป็นจิต ถ้าถาม สบายไหม โสมนัส ดีใจไหม มีจริงๆ ก็ตอบได้ว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพียงตอบได้ จนกว่าจะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมด้วยสติสัมปชัญญะ

    เพราะฉะนั้น แม้ในการฟัง ฟังเพื่อให้เข้าใจระดับขั้นของปัญญาที่ต่างกันว่า ระดับของขั้นฟัง แม้กำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง ก็ไม่ใช่กำลังรู้ลักษณะแท้ๆ ของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นการฟังจึงต่างกันที่ว่า เมื่อฟังแล้วเริ่มเข้าใจความหมายของคำว่า “หลงลืมสติ” กับ “สติเกิด” ทุกคนก็ตอบได้ หลงลืมสติ ไม่ใช่ขณะที่สติกำลังรู้ลักษณะ มีลักษณะที่สติกำลังเริ่มที่จะรู้ ยังไม่ไปที่อื่นเลย ไม่ได้ไปที่เรื่องราวต่างๆ แต่ว่ากำลังมีลักษณะให้รู้เฉพาะลักษณะนั้น เมื่อไร เมื่อนั้นก็เริ่มเข้าใจว่า ลักษณะนั้นที่ปรากฏ ไม่ใช่การที่เราไปทรงจำรูปร่างสัณฐานว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรื่องราวต่างๆ ตลอดชีวิต กว่าจะสะสางความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรม ซึ่งไม่รู้ และยึดถือมานานแสนนาน เป็นความค่อยๆ รู้ขึ้นในขั้นนี้ ต้องรู้ขั้นที่เป็นความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับสติปัฏฐานเกิด มิฉะนั้นกล่าวถึงจิตสักเท่าไร ก็ไม่ได้รู้ลักษณะของจิต เพียงแต่กำลังจำเรื่องราว และความหมายว่า จิตมีจริง และจิตไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น จิตเป็นสภาพที่เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น กำลังเห็น คนตายมีแต่รูป ไม่มีเห็น ไม่มีคิด แต่คนที่ยังไม่ตาย เห็นมี เพราะฉะนั้นเห็นก็คือจิตประเภทหนึ่ง และคิดนึกก็ไม่ได้เห็น แต่คิด คิดก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง

    ฟังเรื่องอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จะมีความรู้เพียงขั้นฟัง จนกว่าจะเข้าใจขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด ก็เริ่มจะรู้ว่า การศึกษาธรรมจากการที่ได้ฟังเรื่องราว ก็จะนำไปสู่ขณะที่กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ถ้ายังไม่นำไปสู่ ก็หมายความว่า ขั้นเรื่องราวก็สะสมไป ประโยชน์ก็คือว่า ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตาเพราะฟังละเอียด เข้าใจละเอียด เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด สามารถสละความเป็นเรา เพราะว่าเคยฟังมามากเรื่องความเป็นอนัตตา เรื่องความไม่เที่ยง เรื่องความเกิดดับของสภาพธรรม เรื่องจิตประเภทต่างๆ ที่มีทั้งจิตที่เป็น อเหตุกะ ไม่มีเหตุ คือ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วยเลย ฟังเพื่อให้เป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้สามารถเข้าใจถูก เห็นถูก จนถึงสามารถที่สละความเป็นเราได้ มิฉะนั้นก็จะไม่เห็นประโยชน์ของการฟัง แต่ฟังแล้วเข้าใจ แม้ว่าสติสัมปชัญญะยังไม่เกิด ยังไม่รู้ลักษณะ แต่สะสมความรู้เช่นนี้ เพื่อที่จะสามารถเห็นความเป็นอนัตตา เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด เพราะฉะนั้น ต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด

    ผู้ฟัง ถ้าสติเกิด ขณะที่เห็นก็จะต้องรู้ในสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะแท้ๆ ขณะนี้มีลักษณะหนึ่งที่ปรากฏได้ เสียงปรากฏไม่ได้ทางตา ไม่มีรูปร่างสัณฐาน กลิ่นปรากฏให้เห็นไม่ได้ รสปรากฏให้เห็นไม่ได้ทางตา แต่ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา ขณะนั้นสิ่งนี้มีจริงๆ เป็นธาตุ หรือเป็นธรรมชนิดหนึ่ง แต่ความคิดของเราไม่ได้เข้าใจลักษณะนี้ที่กำลังปรากฏ แต่คิดถึงรูปร่างสัณฐาน และจำ นี่คือความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด ความรู้ขั้นนี้ต้องมี มิฉะนั้นจะไม่มีอะไรที่จะปรุงแต่งให้มีการรู้ และเข้าใจลักษณะที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ก็ลักษณะหนึ่ง ทางหูลักษณะหนึ่ง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็แต่ละลักษณะ แต่สภาวธรรมทั้งหมด มีลักษณะให้รู้ได้ในความเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องเข้าใจ อย่าเป็นเรื่องไปทำ แต่เป็นเรื่องค่อยๆ เข้าใจ สิ่งที่มีอยู่เข้าใจยากมาก เพราะอวิชชาไม่สามารถรู้ได้ ถูกหุ้มห่อด้วยความไม่รู้ และด้วยความติดข้องปิดบังหนาแน่นทึบ ทั้งๆ ที่ความจริงก็เป็นความจริง ถ้าจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นเช่นนี้ แต่ปัญญาเจริญอย่างไร ปัญญาระดับไหน รู้อะไร และปัญญาระดับนั้นเจริญข้ามขั้นไม่ได้ด้วย

    ด้วยเหตุนี้ จึงเข้าใจความหมาย และอรรถของสภาพธรรมที่เป็นปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เริ่มตั้งแต่การฟัง และเริ่มตั้งแต่เริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะกำลังรู้ลักษณะนั้น จิตเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏนานๆ เป็นไปไม่ได้ เพียงรู้นิดหนึ่งก็กลับไม่รู้อีกแล้ว จนกว่าจะรู้ความต่างกันของขณะที่สติเกิดแม้เพียงเล็กน้อยว่า ขณะนั้นไม่ใช่หลงลืมสติ และหลงลืมสติ ต้องมีมากกว่าขณะที่สติเกิด แต่ก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ขณะใดสติปัฏฐานเกิด ขณะใดหลงลืมสติ และความเข้าใจเช่นนี้ กว่าจะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าเพิ่งเกิดนิดๆ หน่อยๆ และเวลาที่เกิดแล้วมีความรู้ความเห็นถูกในลักษณะนั้นแค่ไหน หรือพอมีสภาพธรรมปรากฏระลึกก็คิดต่อไปเลย ทั้งๆ ที่คิดก็เป็นธรรม แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ทั้งวันนี่เป็นธรรมทั้งหมด แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จะเริ่มรู้บ้างทีละเล็กทีละน้อย แต่ส่วนที่ไม่รู้มีมาก จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้นก็จะรู้ได้ว่า ค่อยๆ เริ่มทีละน้อย ยังไม่ได้ละอะไรเลย ละยังไม่ได้ แต่เริ่มที่จะรู้ถูก เห็นถูก เพราะสติสัมปชัญญะเกิด ไม่ใช่หลงลืมสติ จะฟังไปตลอดชีวิตไหม

    ผู้ฟัง ถ้าตอบ ณ ตอนนี้ ก็จะฟังไปตลอดชีวิต แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะไม่ให้ฟัง ก็คงไม่ได้ฟัง

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ฟังเข้าใจใช่ไหม

    ผู้ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะที่ไม่ฟัง ก็ไม่เข้าใจ ใช่ไหม?แล้วจะฟังตลอดไป หรือไม่ ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ช่วงที่จะไม่เข้าใจในชีวิตก็มากมาย ก็พอกพูนความไม่รู้ไปอีก เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้จริงๆ ก็คิดดูก็แล้วกันว่า จะต้องเป็นจิรกาลภาวนา อบรมโดยไม่สิ้นสุด คือไม่หวัง ไม่ใช่ไปคอยหวังว่าจะสิ้นสุดวันนี้แล้วจะหยุด ตอนกลางคืนไม่อบรมแล้ว เป็นเรื่องที่มีว่าความมั่นคง มีสัจจะ ความจริงใจ ที่ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีให้เข้าใจขึ้น แต่จะประจักษ์แจ้งจนกระทั่งรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นเมื่อใด ไม่ใช่เรื่องของเราจะไปกะเกณฑ์ แต่เป็นเรื่องของความเป็นจริงว่า ชีวิตแต่ละขณะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย บางคนก็ได้ฟังธรรม บางคนก็ไม่ได้ฟังธรรม คนที่เคยฟังธรรมแล้วไม่ได้ฟังก็มี หรือหยุดไป แล้วกลับมาฟังอีกก็มี นี่ก็เป็นเรื่องของธรรมที่เป็นอนัตตา แสดงให้เห็นว่า ขณะใดกว่าจะได้ฟัง กว่าจะเข้าใจ และทอดทิ้งไป ละเลยไป และกว่าจะเข้าใจอีก ก็ต้องนานอย่างนี้ แต่ก็เป็นความจริง ก็เป็นธรรมดา ปกติ จะเดือดร้อนไหม เป็นธรรม ถ้าเป็นเราก็เดือดร้อน แต่ถ้าเป็นธรรม ก็มีความเข้าใจมั่นคงขึ้นว่า เป็นธรรมที่จะต้องอบรมปัญญา ซึ่งปัญญาก็ไม่ใช่เรา จะให้ปัญญาเกิดโดยประการอื่นไม่ได้ แต่ปัญญาอบรมจากขั้นฟัง ขั้นพิจารณา ขั้นเข้าใจ จนกระทั่งถึงขั้นแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรม นี่คือศึกษา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567