พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 268


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๖๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ที่คุณประทีปกล่าว ก็แสดงว่า คุณประทีปรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ปัญญามีแค่นี้ แต่ไม่พอใจที่จะมีปัญญาเพียงเท่านี้ แสดงว่าอยากจะมีมากกว่านี้ แต่ว่าทำอย่างไร ฟังต่อไป แล้วก็จะละความหวัง หรือความต้องการที่อยากจะมีมากกว่านี้ว่า เป็นสิ่งซึ่งแล้วแต่การฟัง แล้วแต่การเข้าใจ แล้วแต่กำลังของกิเลส และอวิชชาที่สะสมมาว่า ติดแน่นหนาแค่ไหน มีสภาพธรรมจริง แต่ถูกพอกไว้ด้วยอวิชชา และโลภะหนาแน่น แล้วก็ยาก แล้วก็ค่อยๆ ไปล้างไปขัด กว่าจะถึงการหมดที่กั้นไว้ที่จะเห็นตัวจริงของธรรม ก็คือเดี๋ยวนี้ ธรรมก็เป็นธรรม แต่อวิชชากับโลภะห่อหุ้มไว้

    ผู้ฟัง ฟังธรรมแล้ว รู้สึกว่าจะขัดแย้งกันระหว่างความเป็นอนัตตา กับ การให้ละอกุศล เมื่อก่อนที่จะฟังธรรม เราก็จะติดในรส ในเสื้อผ้า เป็นความติดข้อง แล้วก็คิดว่า ถ้าเรายังชอบรับประทานอร่อยเหมือนเดิม และชอบเสื้อผ้าสวยๆ เหมือนเดิม ก็มีความรู้สึกว่า ฟังธรรมแล้วไม่ละ ในขณะเดียวกัน ถ้าเราอยากได้สิ่งของ เราไปซื้อ เราก็บอกว่า เป็นอนัตตา ก็เหมือนกับว่า เมื่อเราฟังธรรมแล้วจะต่อสู้กันอยู่อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เราจัดการ

    ผู้ฟัง เป็นผู้จัดการโลก

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นธรรม แม้คิดก็เป็นธรรม แม้จะใส่น้ำปลา น้ำตาล หรือไม่ใส่ ก็เป็นธรรม ใครบังคับบัญชาได้ แต่ละขณะ แต่ความเป็นเราก็เข้าไปจัดการ

    ผู้ฟัง แสดงว่าเราไม่มั่นคงในอนัตตา

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เข้าใจว่า สภาพธรรมเกิดเป็นอย่างไร ก็คือขณะนั้นเป็นอย่างนั้น ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ที่จะไม่ให้ติดในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่า ขณะนั้นมีปัจจัยที่จะเกิด มีปัจจัยที่จะคิดหลากหลาย แต่ขณะนั้นก็ต้องรู้ว่า เป็นธรรม ถ้าเป็นเราจะจัดการ ก็ยังคงเป็นเราเรื่อยไป ตลอดไป

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็คือ เราจะละอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่า ขั้นการฟังเข้าใจ ไม่สามารถจะละดับกิเลสได้เลย แต่ต้องเป็นการรู้ลักษณะ เข้าใจลักษณะ และลักษณะนั้นเป็นธรรม ซึ่งไม่เป็นใครเลย เช่น แข็ง ปรากฏได้ทางกาย มีลักษณะที่เป็นของใคร หรือว่าแข็งต้องเป็นแข็ง ปรากฏเมื่อใดก็คือเป็นลักษณะนั้น และความจริงแข็งก็เกิดดับด้วย แต่เมื่ออยากจะจัดการกับแข็ง เหมือนกับอยากจะจัดการกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ก็ปิดบัง ไม่สามารถจะประจักษ์การเกิดดับได้ เพราะมัวไปจัดการ เป็นเราในขณะนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็ให้รู้ และเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนที่สุด ฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรม แต่เมื่อฟังแล้วเป็นเรื่องอื่น วันนั้นเราไปที่นั่น แล้วจิตเป็นอย่างนั้นได้ไหม เป็นธรรม หรือเปล่า นั่นคือไม่เข้าใจธรรม กำลังเป็นตัวเราที่อยากจะรู้เรื่องนั้น อยากรู้ชื่อนั้นว่า ขณะนั้นเป็นอะไร เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ต้องการเพียงรู้ชื่อ แต่รู้จริงๆ หรือไม่ว่า ขณะนั้นที่กำลังพูดเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง มีความรู้สึกว่า รู้เป็นเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่เห็นเป็นไร ก็เกิดแล้วดับแล้ว จะยุ่งอะไรอีก ปัญญามีแค่นี้ แล้วจะไปเอาปัญญาอะไรนักหนามีแค่นี้แต่อยากจะได้มากๆ แล้วจะทำอย่างไร ก็คร่ำครวญอยู่อย่างนี้แหละ

    ผู้ฟัง รู้แต่หัวข้อ

    ท่านอาจารย์ จะต้องการอะไรนักหนา ใช้คำว่า “นักหนา” ด้วย ถึงระดับไหน เห็นนี่ เกิดแล้วเห็น ดับไปแล้ว ก็เกิดเห็นอีก เปลี่ยนได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์ก็ได้แนะนำแล้ว เพราะว่าแม้กระทั่งปัญญาก็มีหลายระดับ เริ่มต้นเริ่มเข้าใจถูกในขั้นการฟัง ขั้นการศึกษา ก็จะต้องคิดเป็นเรื่องราวของธรรม แต่จะคิดเป็นเหตุเป็นผลถูกต้องตามปริยัติที่เราเรียน ก็เรียกว่าปัญญาเริ่มเจริญขึ้นในขั้นปริยัติ คือ เข้าใจปริยัติก่อน ก่อนจะเข้าถึงลักษณะที่เป็นสติปัฏฐานจริงๆ ความมั่นคงก็จะต้องมีตั้งแต่เริ่มศึกษา ถ้าเราไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย เราก็ไม่สามารถเข้าใจลักษณะของธรรมนั้นได้ แต่ก็อย่าลืมว่า อย่าเพียงจำเพียงตัวเลข เพราะลักษณะสภาพธรรมมีเกิดอยู่ แล้วก็ดับที่ตัวเรา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปมีอยู่จริงๆ เพราะฉะนั้นแม้การศึกษาเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นภาษาใดๆ ก็ตาม เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของธรรมที่มีจริง และก็มีปรากฏอยู่กับนามธรรม หรือรูปธรรม หรือขันธ์ ๕ ของเราที่เรายึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคลตัวตนนี่เอง ค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เช่นนี้ก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว และก็เป็นเบื้องต้นด้วย เราจะไปกระโดดข้ามขั้นไปถึงขั้นบรรลุธรรม เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นปัญญาก็ต้องมีระดับด้วย

    ผู้ฟัง เวลาโกรธ เราลืมไปว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วเห็นเดี๋ยวนี้ ลืม หรือไม่ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เวลาหายโกรธแล้ว ก็โกรธที่เพิ่งจะนึกว่า นี่เป็นธรรมนะ

    ท่านอาจารย์ แม้ขณะนี้ได้ยินก็เป็นธรรม แต่ก็ลืม ไม่ต้องไปถึงเวลาโกรธหรอก ก็ลืมไปเรื่อยๆ ลืมหมด ฟังก็เข้าใจ ถึงเวลาไม่ได้ฟังก็ลืม ก็จะได้รู้ลักษณะว่า หลงลืมสติคืออย่างนี้ ที่ได้ยินได้ฟังว่าเป็นธรรม หายไปไหนหมด มีแต่ปัจจัยที่จะให้คิดว่า ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมโกรธ แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็คือว่า มีเหตุปัจจัยอย่างนี้ โกรธจึงเกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น เกิดแล้วโกรธแล้ว ยังมีตัวตนจะไปแก้ไข จะไปทำสิ่งที่เกิดแล้วหมดแล้วด้วย เห็นไหม การฟังถึงต้องฟังแล้วพิจารณาจนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมขึ้น

    ผู้ฟัง ลักษณะของสภาพหลงลืมสติ แต่เป็นเราหลงลืม กับมีสติ แต่เป็นเรามีสติ แต่ไม่ใช่เป็นลักษณะสภาพของสติกับหลงลืมสติที่เป็นสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็มีการเจริญขึ้น ที่จะรู้ว่า ยังเป็นเรา แต่พอที่จะรู้ว่า มีความคิดตรึกนึกถึงสภาพธรรมนั้นว่า ขณะใดหลงลืมสติ และขณะใดเป็นลักษณะของสติ ทั้งๆ ที่ยังเป็นเรา ผู้ที่จะไม่มีความเป็นเราเลย คือ พระโสดาบัน

    ผู้ฟัง แต่ลักษณะของหลงลืมสติ ที่ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ หลงลืมสติ ไม่ใช่เรา เป็นใคร

    ผู้ฟัง ก็เป็นลักษณะสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ รู้อย่างนั้น หรือว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือเราหลงลืมสติ ที่จะว่าขณะนั้นหลงลืมสติ ไม่ใช่เรา ตราบใดที่ยังไม่รู้ ยังต้องมีความเป็นเรา แม้ว่าขณะนั้นทิฏฐิเจตสิก หรือสักกายทิฏฐิจะไม่เกิด แต่ยังไม่หมดความเป็นเรา เวลากุศลเกิด เป็นเรา หรือไม่ที่ทำกุศล ฉันใด ก็เช่นเดียวกัน ยังไม่หมด ยังมีอนุสัยกิเลส ยังไม่ได้ดับ

    ผู้ฟัง เช่น เห็น ก็คิดว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ แต่เห็นไม่ใช่คิด เห็นไม่ต้องมีใครไปบอกว่า เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ต้องมีใครไปบอก เห็น กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่แล้ว ไม่ต้องมีใครไปบอกว่า เห็น กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่จะให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาให้ถูกต้องว่า ปกติไม่เคยเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาตามความเป็นจริง เข้าใจว่าเห็นคน เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ นั่นคือขณะนั้นไม่ได้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่คิดถึงคนแล้ว

    การที่ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะว่าความจริงเป็นอย่างนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างหนึ่ง เป็นอื่นไม่ได้เลย เป็นเพียงสภาพธรรมปรากฏได้กับคนที่มีจักขุปสาทเท่านั้น และกำลังปรากฏอยู่

    เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจจริงๆ ก็คือ เริ่มที่จะเข้าใจ เพียงเริ่ม เพราะสติระลึกได้ที่จะค่อยๆ แทนที่จะเห็นแล้วก็ไม่นึกถึง หรือเข้าใจสิ่งที่ปรากฏเลย ก็เป็นคนเป็นสัตว์ไปเลย แต่จากการฟังบ่อยๆ ก็จะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏขณะนี้ ก่อนคิดนึก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ให้คิดนึก ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้รู้ว่าเป็นคน เป็นสัตว์ สภาพธรรมเกิดเร็วมากสืบต่อเป็นนิมิต เพราะว่าสิ่งใดที่เกิดแล้วดับอย่างรวดเร็ว ก็ปรากฏเป็นส่วนที่ทำให้สามารถทรงจำได้ในลักษณะของสภาพนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้จริงๆ เกิดดับอยู่ตลอดเวลา เกิดแล้วดับแล้ว แต่เมื่อยังปรากฏให้เห็น ให้ค่อยๆ เข้าใจถูกว่า ลักษณะแท้ๆ ของปรมัตถธรรม ไม่ใช่เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ มิฉะนั้นก็ยังคงติดยึดมั่นในนิมิต อนุพยัญชนะ ในสิ่งที่ปรากฏ แต่หนทางเดียวที่ทำให้คลายความยึดถือก็ด้วยการเข้าใจถูกว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้สามารถเพียงปรากฏกับจิตเห็น ทางจักขุทวารเท่านั้นเอง หมดแล้ว ชาติไหนก็เป็นอย่างนี้เท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นชีวิตไม่ใช่มีแต่เห็น มีคิดนึกสืบต่อ มีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดดับอย่างเร็ว จนกระทั่งเหมือนนายมายากล การเกิดดับของจิตทำให้หลงเข้าใจว่า มีสัตว์ มีบุคคลจริงๆ และเมื่อไรจะออกไปจากวัฏฏะได้ ถ้าไม่รู้จริงๆ อย่างนี้

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า ถ้าเป็นกุศล แต่เป็นในขั้นทาน ขั้นศีล โดยที่ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน ขณะนั้นยังไม่ละความยึดถือว่าเป็นตัวตน แต่ก็ไม่สำคัญว่าเป็นตัวตนด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่โลภมูลจิต

    อ.วิชัย แต่ขณะที่ความเป็นเรา ถ้าโลภะเกิด ก็เป็นเราด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ ทีละอย่าง

    อ.วิชัย ถ้ากล่าวอย่างที่พี่สุกัญญากล่าวว่า ที่เกิดขึ้น แต่ยังมีความสำคัญว่า เป็นเราที่หลงลืมสติละ

    ผู้ฟัง คือ เป็นลักษณะของเราหลงลืมสติกับสติที่คิดว่าเป็นปรมัตถธรรมของสติเกิด แต่ไม่ใช่ เป็นลักษณะของเรามีสติ แต่เป็นเราคิดเอง ความเข้าใจนี้ถูก หรือผิด

    อ.วิชัย บางครั้งเมื่อศึกษา ขณะที่มีความเข้าใจถูก โดยความเข้าใจเบื้องต้น ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่ขณะนั้นยังไม่ได้ละคลายความยึดถือว่าเป็นเรา โดยขั้นสติปัฏฐาน ขณะที่มีความคิดอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ความคิดว่าเป็นเราที่มีความเข้าใจอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ นี่แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นเวลาที่เป็นโลภมูลจิต ขณะนั้นเป็นอกุศล มีความติดข้องต้องการสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยไม่รู้ตัว จะรู้ตัวได้อย่างไร ในเมื่อเป็นอกุศล ปัญญาก็ไม่มี นั่นคือปกติธรรมดาเวลาที่มีการเห็น ได้ยิน เป็นต้นแล้วเกิดโลภะ แต่บางกาล บางขณะ จะมีโลภะเกิดร่วมจากการเห็นผิด ซึ่งขณะนี้เราพูดได้ โลภมูลจิตมี ๘ ประเภท แล้วก็เกิดร่วมกับ ทิฏฐิ ๔ ไม่เกิดร่วมกับทิฏฐิ ๔ เราพูดได้ แต่ลักษณะจริงๆ ไม่ได้ปรากฏเลย

    เพราะฉะนั้นจึงไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ ที่ไม่มีทิฏฐิ ที่ไม่ใช่เรา หรือว่าโลภะมี ทิฏฐิแล้วเป็นเรา เพราะเหตุว่าไม่มีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างชัดเจน ขณะที่โลภมูลจิตเกิดแล้วไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ถ้าสติสัมปชัญญะเกิด ก็จะรู้ความจริงของโลภะ แต่จะไม่เห็นทิฏฐิ เพราะว่าทิฏฐิเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นแต่ละขณะ แต่เวลาที่เกิดดับสลับกันเร็ว และด้วยความไม่รู้ลักษณะ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว ทิฏฐิไม่ได้เกิดร่วมด้วยจริง จะเห็นทิฏฐิในขณะนั้นไม่ได้ แต่รู้ว่ายังมีทิฏฐิ เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ความจริงของโลภะในขณะนั้น

    อ.วิชัย เข้าใจว่าปัญญายังไม่เพียงพอที่จะรู้ในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจริงๆ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ก็ยังไม่ได้ประจักษ์ความจริงในแต่ละลักษณะของรูป และในสภาพที่เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่มีรูปใดๆ เลย แต่ก็กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ทางหนึ่งทางใดด้วย

    ผู้ฟัง ในขณะที่เรากำลังมีสติ หรือเรากำลังหลงลืมสติ ลืมแล้วปรากฏ แต่ก็ไม่รู้ เป็นความเข้าใจขั้นการฟังแค่นี้

    ท่านอาจารย์ ทุกคนนั่งอยู่ในห้องนี้นานแล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง นาน

    ท่านอาจารย์ เรานั่ง เราเห็น เราได้ยิน เราคิด หรือว่าสภาพธรรมทั้งหมดทุกขณะ แม้แต่ผัสสเจตสิก เรากล่าวว่าเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะ เวทนาเจตสิกก็เกิดกับจิตทุกประเภททุกขณะ สัญญาที่จำก็จำทุกขณะจิต รู้ไหม เป็นเราไปหมดเลย

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า แม้ธรรมเป็นธรรม ฟังแล้วเข้าใจลักษณะของธรรมแต่ละอย่างที่พูดให้เข้าใจ แต่ไม่รู้ลักษณะจริงๆ ของธรรมอะไรเลยทั้งสิ้น ตราบใดที่สติสัมปชัญญะไม่ได้กำลังรู้ลักษณะที่มีจริงๆ แต่ละลักษณะ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจะพูดเรื่องผัสสะ เรื่องเวทนา เรื่องสัญญา เรื่องเจตนา ซึ่งก็มี ก็ไม่ได้รู้ เพราะฉะนั้นเวลาที่กล่าวถึงสติปัฏฐาน ก็จะมีคำว่า “มีสติ” กับ “หลงลืมสติ” ถ้าหลงลืมสติ คือ แม้สภาพธรรมกำลังเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เราทำเลยสักขณะเดียว เจตสิกนั่นแหละเกิดกับจิต และทำหน้าที่ทุกอย่างทุกประการ ไม่มีการที่คนหนึ่งคนใดจะเกิดแทรกเป็นตัวตน และทำอย่างหนึ่งอย่างใดได้เลย และฟังอย่างนี้จนกว่ารู้ลักษณะ โดยสติสัมปชัญญะนั่นเองที่กำลังเกิด และรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ

    การฟังธรรม ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรเลย จากไม่เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ ละความต้องการ ค่อยๆ ละความไม่รู้ นี่เป็นหนทางที่จะทำให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    อ.อรรณพ จิตแม้ประกอบด้วยสติ แม้ประกอบด้วยปัญญาด้วย ก็ได้ สำหรับผู้เป็นติเหตุกบุคคล ตอนหลับสนิทก็มีทั้งสติ มีทั้งปัญญา แต่สติ และปัญญานั้นไม่ได้ทำกิจระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เมื่อตื่นขึ้นมีการรู้อารมณ์ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง มีสภาพธรรมปรากฏในโลกทั้ง ๖ นี้ ถ้ามีการฟังธรรม มีการสะสมความเข้าใจในแนวทางการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็มีโอกาสที่สติ และปัญญาจะเกิดขึ้นเป็นชาติกุศล เป็นกุศลชาติ ซึ่งระลึก และรู้ตรงลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง จิตขณะนั้นก็ผ่องใสเป็นกุศล

    เพราะฉะนั้นการที่กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานจะเกิดขึ้น ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย ไม่ใช่จะเลือกว่า มหากุศลจิต ๘ ดวง อยากให้ดวงไหนเกิด อยากให้ดวงที่ประกอบด้วยปัญญาเกิด มีโสมนัสด้วยก็ยิ่งดี มีกำลังกล้าด้วยก็อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย แม้จะมีการเจริญสติปัฏฐานบ้าง แต่ในบางขณะก็เป็นกุศลที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยนั้นก็เป็นส่วนมากทีเดียว เพราะฉะนั้นก็ไม่มีอะไรดีกว่าการฟังธรรม และสะสมให้เข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย เหมือนพระสูตรเมื่อวาน ก็ไม่ได้แยกจากการสนทนาพื้นฐานพระอภิธรรม เพราะทุกอย่างก็เป็นพระอภิธรรม ขณะฟังธรรมเข้าใจ มีสติ มีปัญญาเกิดขึ้น เป็นสุตตมยปัญญา เมื่อฟังแล้วสะสมแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้มีการคิดถึงธรรมที่ได้ฟัง ก็มีการพิจารณาถึงธรรมที่ได้ฟัง เพราะถ้าไม่ฟังธรรม ก็คงคิดแต่เรื่องที่โลภะชอบ และโทสะที่ผูกเอาไว้ต่างๆ แต่เมื่อฟังธรรมแล้วก็มีการคิดนึกพิจารณาถึงธรรม ขณะนั้นก็มีสติ มีปัญญา ขณะที่เป็นจุดเริ่มของการสะสมก็คือ การฟังธรรม เป็นอาสยะที่ดี

    อ.วิชัย เรียนถามท่านอาจารย์ ฟังบ่อยเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ธาตุรู้ สภาพรู้ และสภาพที่ไม่รู้อารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ ถ้าพิจารณาถึงบุคคลที่สะสมปัญญามาแล้ว ก็เป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจอย่างรวดเร็วถึงแม้ได้ยินได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ก็สามารถรู้ตามความเป็นจริงในสภาพที่ปรากฏได้อย่างรวดเร็ว แต่ขณะนี้ฟังแล้วดูเหมือนเป็นสิ่งที่รู้แล้ว และไม่ได้พิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอย่างละเอียด คือเข้าใจว่า บุคคลที่มีปัญญาต้องมีความคิดที่ละเอียด แม้ได้ยินได้ฟังคำๆ เดียว สามารถรู้ละเอียดถึงลักษณะของสภาพธรรม แต่ขณะนี้ฟังแล้ว รู้สึกว่า เป็นสิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้ว ไม่ได้คิดพิจารณาอะไร

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วรู้เรื่อง เช่นนี้แน่นอน เพราะเหตุว่ากล่าวเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็กล่าวแต่เรื่องนี้นั่นเอง กล่าวแต่เรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กล่าวเรื่องอื่นไม่ได้ เพราะว่าไม่มีที่จะกล่าวถึง นอกจากสิ่งที่มีจริงๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่คนนั้นทราบว่า กำลังเข้าใจเรื่องราวของสิ่งที่มีจริง การฟังต้องฟังไปโดยตลอด ให้ทราบว่า แม้จะได้ยินได้ฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเป็นผู้ตรง ไม่ได้ประจักษ์ตรงตามที่ได้ยินได้ฟัง เช่น สภาพธรรมกำลังเกิดดับในขณะนี้ แล้วไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    เพราะฉะนั้นความละเอียดก็คือว่า เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องเป็นสิ่งที่เพียงปรากฏทางตาได้เท่านั้น นี่คือความละเอียด และกำลังเข้าใจลักษณะที่เพียงปรากฏทางตาที่ปรากฏทางนี้เท่านั้น หรือไม่ ถ้าจะเข้าใจได้ หนทางที่จะทำให้สามารถเข้าถึงการไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะ ในสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะอะไร ต้องมีเหตุทั้งหมดเลย แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ ถ้ามีความเข้าใจจนถึงขั้นที่ประจักษ์แจ้ง จากไม่มี แล้วมี นี่แน่นอน เช่นเสียงนี่ ไม่มี ขณะนั้นไม่มี แล้วเสียงปรากฏ เพราะฉะนั้นปัญญาก็สามารถจะรู้ถึงขณะซึ่งไม่มีสิ่งใดปรากฏ เพราะเหตุว่าถ้ามีสิ่งใดปรากฏ จะไม่รู้ถึงขณะที่ไม่มีสิ่งใดปรากฏ ในขณะนั้นปัญญายังไม่สามารถรู้ถึงขณะที่ยังไม่มีสิ่งใดปรากฏ แล้วเสียงปรากฏ บุคคลนั้นก็สามารถที่จะเห็นความเป็นธาตุ ซึ่งไม่มีอย่างอื่นเลย เพราะขณะนั้นไม่มีอะไร แม้แต่เสียงก็ยังไม่ได้ปรากฏ และเมื่อเสียงปรากฏก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่า เกิดแล้ว ก็ต่างกับลักษณะของสภาพธรรมอื่น

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้ยินได้ฟังที่สะสมมาแต่ละชาติ เป็นเรื่องราวต่างๆ เช่น เป็นเรื่องธาตุ เป็นเรื่องขันธ์ เป็นเรื่องอนัตตา ตลอดต่อไปจนกระทั่งถึงปัจจัย หรือ ปฏิจจสมุปปาท ทั้งหมดก็จะเป็นเพราะกำลังเข้าใจลักษณะจริงๆ ด้วยปัญญาที่ได้อบรมจนสามารถประจักษ์แจ้งความจริงได้ เพราะว่าความจริงขณะนี้ต้องมีขณะที่เสียงไม่ได้ปรากฏแน่นอนก่อนที่เสียงจะปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567