พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 269


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๖๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ได้ยินได้ฟังที่ได้สะสมมาแต่ละชาติ เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ เช่น เป็นเรื่องธาตุ เป็นเรื่องขันธ์ เป็นเรื่องอายตนะ ตลอดไปจนกระทั่งถึงปัจจัย หรือปฏิจจสมุปปาททั้งหมด ก็เป็นเพราะกำลังเข้าใจลักษณะจริงๆ ด้วยปัญญาที่ได้อบรม จนสามารถประจักษ์แจ้ง ความจริงได้ เพราะว่าความจริงขณะนี้ต้องเป็นขณะที่เสียงไม่ได้ปรากฏก่อนเสียงปรากฏแน่นอน แต่ว่าปัญญายังไม่ถึงที่สามารถรู้อย่างนั้น เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อเร็วมาก แต่จากการฟังจะรู้ได้ว่า สภาพธรรมที่จริงแล้วสั้นมากเหมือนกับอยู่ในความมืดสนิท เพราะว่านามธรรมไม่มีสีสันใดๆ เลยทั้งสิ้น และขณะนั้นถ้าสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏเหมือนฟ้าแลบ ซึ่งข้อความนี้มีในพระไตรปิฎก เพราะเหตุว่าเป็นความจริงอย่างนั้น และสิ่งที่ปรากฏที่เหมือนฟ้าแลบ ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ แล้วแต่ว่าจะปรากฏทางไหน

    เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับปัญญาขณะนั้นเจริญจนกระทั่งสามารถแทงตลอดด้วยความละคลายการเป็นตัวเรา หรือความเป็นตัวตน และสภาพธรรมก็ปรากฏตามความเป็นจริงอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงขณะที่สภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริงกับสติ และปัญญา ซึ่งบุคคลนั้นรู้แน่นอน ขณะนั้นที่จะไม่รู้สภาพที่เป็นสติสัมปชัญญะที่ประกอบด้วยปัญญาไม่ได้เลย เพราะว่าสติเกิดขึ้นทำหน้าที่ของสติ และปัญญาขณะนั้นก็ไม่มีความเป็นเรา เพราะว่าธาตุทั้งหลายปรากฏตามความเป็นจริงแต่ละลักษณะ ไม่ใช่ลักษณะเดียวกัน เพราะฉะนั้นเมื่อสภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับไป และสภาพธรรมอื่นเกิดต่อแล้วก็ดับไป ความหมายของคำว่า “ขันธ์” ก็แจ่มแจ้งได้ว่า สิ่งที่มีจริงๆ ที่เกิดแล้วดับไป ก็เป็นชั่วขณะที่สั้นมาก และแต่ละขณะที่เกิดดับ และไม่กลับมาอีกเลย ก็คือลักษณะของขันธ์แต่ละลักษณะ โดยความเป็นธาตุ โดยความเป็นขันธ์ โดยความเป็นอายตนะ จากไม่มี แล้วมี น่าคิดไหม ขณะนี้ฟังดูเหมือนธรรมดา ไม่มีแล้วเสียงปรากฏ นี่คือไม่ได้เข้าใจอะไรเลย แต่ขณะที่ไม่มีอะไรเลย ต้องไม่มีอะไรเลยด้วย แล้วเสียงก็เกิดขึ้นปรากฏ คนนั้นจะมีปัญญาที่เห็นความเกิดขึ้น และรู้ความเป็นอายตนะ แต่ว่าไม่ใช่โดยชื่อ และไม่ใช่กล่าวเป็นชื่อ และไม่ได้ไปนึกถึงชื่อด้วย เพราะเหตุว่าขณะนี้ที่สภาพธรรมอย่างหนึ่ง เช่น จิต เป็นธาตุรู้เกิดขึ้นแล้วดับไป แต่ไม่เห็นว่าหมดไปเลย เพราะไม่รู้ในการเกิดดับของจิต ไม่รู้ในความเป็นอนันตรปัจจัย แต่ถ้าโดยการฟังไม่สงสัยเลย จากขณะหนึ่งสู่ขณะหนึ่ง จะรู้ หรือไม่รู้ ก็คือไม่เคยขาดจิตตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้นรู้จักอนันตรปัจจัยโดยชื่อ แต่ถ้าเป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏสืบต่อ ความเข้าใจก็ชัดเจนขึ้น เพราะว่ามีลักษณะของสภาพธรรมนั้นปรากฏเป็นจริงอย่างนั้น

    ด้วยเหตุนี้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟัง มีความเข้าใจขึ้นอย่างมั่นคง และเมื่อปัญญาสามารถแทงตลอดตรง ไม่ได้ผิดจากความเป็นจริงเลย แม้ขณะนี้ก็เป็นจริงอย่างนั้น แต่ปัญญายังไม่ถึงขั้นที่จะละความเป็นเรา ไม่มีการที่จะรู้ถึงขั้นว่า ขณะนี้สภาพธรรมเกิดแล้วดับ และจากไม่มีแล้วก็มี ก็เป็นลักษณะของธาตุ และเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา จนกว่าจะสามารถประจักษ์ลักษณะของอริยสัจ ๔ เมื่อใด ก็หมดความเป็นเราเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย เพราะฉะนั้นสภาพธรรมเป็นปกติจริงๆ แต่ปัญญาจะค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ในลักษณะที่ต่างกันแต่ละทางก่อน ขั้นเข้าใจก็ต้องเป็นอย่างนั้นด้วย

    ผู้ฟัง ขอให้อธิบายคำว่า “สังเกต” “สำเหนียก” เพราะท่านอาจารย์กล่าวบ่อยมาก

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว กว่าจะฟังธรรมเข้าใจว่าทั้งหมดที่กำลังเป็นขณะนี้ ไม่ใช่มีเรากำลังไปสังเกต หรือไม่ใช่มีเรากำลังพิจารณา

    ฟังเข้าใจไหม เข้าใจคำว่า “นามธรรมต่างกับรูปธรรม” ไหม

    ผู้ฟัง พอเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นคือสภาพธรรมเกิดขึ้นทำหน้าที่ฟัง และสามารถจะเข้าใจ และสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ขณะที่กำลังเข้าใจ โสภณเจตสิกทั้งหลายเกิดทำกิจการงาน ไม่ใช่มีเราต่างหากซึ่งไปตั้งหน้าตั้งตาพิจารณา แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ทั้งหมด คือ สภาพธรรมที่เราได้ยินแต่ชื่อ เช่น มนสิการเจตสิก ปัญญาเจตสิก หรือโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิดแล้ว ทำกิจการงานแล้ว ดับแล้วด้วย จนกว่าจะถึงกาลที่ปัญญาคมกล้าขึ้น ก็เป็นปัญญาซึ่งรู้

    เพราะฉะนั้นการที่จะสนใจคำหนึ่งคำใด ก็ให้รู้ว่า ไม่ว่าจะชื่ออะไร ก็เป็นธรรมทั้งหมด และการที่จะไปแยกให้รู้ว่า นี่คือลักษณะของมนสิการเจตสิก นี่คือลักษณะของสัมมาสังกัปปะ หรือเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ก็คือคิด แต่ตามความเป็นจริงคือเกิดแล้วดับแล้ว เร็วมากทันที และขณะที่เกิด ก็ทำกิจการงานของสภาพธรรมนั้นๆ เอง จะไปเปลี่ยนแปลงกิจการงานของสภาพธรรมแต่ละอย่างก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นฟังจนกว่าจะเข้าใจ จนกว่าจะรู้ลักษณะ จนกว่าจะประจักษ์ความไม่ใช่ตัวตน คือ สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง จึงจะคลายความเป็นเราได้

    เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีความเป็นเรา อ่านพระสูตรก็คือเรา ธรรมทั้งหมดก็เลยเป็นเรา แต่เมื่อถึงสภาพธรรมที่เป็นอภิธรรม เป็นปรมัตถธรรม ไม่มีเรา ก็ต้องเข้าใจให้ตรงสอดคล้องกันด้วย

    อ.ธีรพันธ์ การศึกษาธรรมอาศัยกาลเวลา เพราะว่าธรรมคงทนต่อการพิสูจน์ แต่ว่าการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ไม่ใช่ความเป็นเราที่จะไปรู้ แต่ต้องเป็นสติสัมปชัญญะ ไม่ว่าจะเป็นขั้นทาน ขั้นศีล แต่ว่าการที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม มีสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อม คือ มีปัญญานั่นเอง

    ผู้ฟัง เวลาผมทำทาน หรือรักษาศีลก็ตาม ผมก็ตั้งอธิษฐานขอให้ถึงฝั่งพระนิพพาน หลุดจากการเวียนว่ายตายเกิด คือ การอธิษฐานอย่างนี้ถูกต้อง หรือเปล่า และเป็นโลภะ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ คนอื่นคงทราบไม่ได้ เพราะว่าจริงๆ แล้วตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ โดยเฉพาะโลภะ สามารถจะที่จะพอใจในธรรมทุกประเภทได้ เว้นนิพพาน แต่ต้องเป็นลักษณะนิพพาน นิพพานจริงๆ โลภะไม่สามารถที่จะติดข้องในสภาพของนิพพานได้ แต่ว่าขณะใดที่เป็นเพียงชื่อ ก็ไม่ทราบว่ามีความเข้าใจลักษณะของนิพพานระดับไหน ที่จะกล่าวว่าเป็นโลภะ หรือไม่ใช่โลภะ เพราะว่าบางคนก็คิดว่า นิพพานเป็นสถานที่เหมือนสุขาวดี ไปสู่สถานที่นั้น จะใช้คำว่า มีแต่ความ สงบ หรือ สบายก็ได้ อาจจะเข้าใจอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ถ้าเป็นผู้สะสมปัญญามาแล้ว มีความเข้าใจสภาพของนิพพาน และรู้ว่านิพพานไม่ใช่ถึงเพียงด้วยความต้องการ แต่ต้องถึงเมื่อพร้อมด้วยเหตุ และเหตุหนึ่งก็คือ การมีโอกาสได้ฟังธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้เข้าใจจริงๆ แล้วอบรมเจริญปัญญาที่จะเห็นถูก เข้าใจถูก ไม่ใช่เพียงต้องการถึงนิพพาน เพราะการที่จะไปนิพพานโดยความไม่รู้ หรือโดยความอยากนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นผู้ที่รู้ว่า ปัญญาเท่านั้นที่จะรู้แจ้งนิพพานได้ ซึ่งขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เริ่มต้นด้วยการฟังให้เข้าใจสิ่งที่มี เพราะฉะนั้นอาจจะเป็นกุศลในอดีตที่เคยได้ยินได้ฟังมา และไม่ได้ปรารถนาสิ่งอื่น แต่ต้องรู้ว่า เป็นการปรารถนาเพื่อที่จะดับกิเลส ปรารถนาที่จะมีปัญญาที่จะมีความเห็นถูกในสภาพธรรม ถ้ามีความเห็นถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ต้องห่วงเรื่องนิพพาน เพราะเหตุว่าขณะที่เป็นผู้ที่ตรง และจริงใจว่ามีสภาพธรรมกำลังปรากฏ และไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้นที่ไหน เมื่อไร ที่สามารถที่ทำให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงได้ เป็นผู้ที่ตรงต่อสัจจะว่า ฟังเพื่อที่จะเข้าใจถูก มีความไม่เห็นผิดในสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเป็นอย่างนี้การฟังก็เป็นประโยชน์ เพราะเหตุว่าฟังเพื่อเข้าใจถูก และเมื่อปัญญาความเข้าใจถูกเกิดขึ้น คิดก็ถูก ทำก็ถูก จนกระทั่งน้อมไปสู่การที่จะรู้แจ้งลักษณะของนิพพานได้ นิพพานเป็นธรรมที่ปัญญาสามารถรู้แจ้งได้ เมื่อได้อบรมแล้ว แต่ถ้ายังไม่อบรม ปัญญาก็จะรู้แจ้งนิพพานไม่ได้เลย ถ้าไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ ยังไม่ใช่การที่จะไปรู้แจ้งนิพพานได้

    ผู้ฟัง เมื่อผมทำทาน ผมควรอธิษฐานอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทำทานเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง หมายถึงว่า เราทำทานเพื่อละกิเลส ละความตระหนี่

    ท่านอาจารย์ และถ้าไม่มีปัญญา จะสามารถละถึงขั้นดับได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ทำทานหวังอะไร หรือไม่ หรือให้เพราะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ

    ผู้ฟัง การให้ก็เป็นประโยชน์แก่ผู้รับด้วยส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็ยอมรับว่า ทำทานตามประเพณีด้วย

    ท่านอาจารย์ คำว่า “อธิษฐาน” ต้องเข้าใจก่อนว่า หมายความถึง ความตั้งมั่นคง ขณะนี้ชาตินี้จะตั้งมั่นคงในอะไร เห็นไหม?ว่า หาไม่เจอ ก็มีแต่เพียงความหวัง หรือความต้องการอย่างที่เคยต้องการ อาจจะหวังว่าให้ไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีเคราะห์ร้ายอันตรายใดๆ ก็เป็นเรื่องของความคิด ถ้าเป็นผู้หญิงก็อาจจะหวังที่จะสวยจะงาม ชาติหน้าเกิดที่ไหนอย่างไร?เป็นเศรษฐีมั่งมี นั่นก็เป็นเรื่องของความหวัง เพราะยังมีความติดข้องอยู่ แต่ถ้ารู้ว่า ความหวังทั้งหมดเป็นเหตุของความทุกข์ หวังอะไรก็ตามแต่ สมหวัง หรือเปล่า หรือบางครั้งก็ได้มา บางครั้งก็ไม่ได้ ตามกำลังของเหตุ คือ กุศล เวลาให้ทาน หรือใส่บาตร หวังอะไร หวังเป็นพระราชา หวังเป็นนางฟ้า หวังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต แต่นิดเดียวที่ให้ ถ้าสิ่งที่ให้เป็นเหตุ ก็จะให้ผลตามกำลังของเหตุในขณะนั้น โดยไม่ต้องหวัง ต้องได้อยู่แล้ว และถ้าหวังเกินเหตุ ก็ไม่ได้อย่างที่หวัง เพราะเหตุไม่พอที่จะให้เป็นอย่างนั้น

    ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในเหตุ และผล และรู้ว่าจริงๆ แล้ว ทุกคนมีกิเลสมาก การที่จะค่อยๆ ให้กิเลสลดน้อยลง ไม่ใช่จะตั้งหน้าตั้งตาจะเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว นั่นก็ผิด เพราะเหตุว่าถ้าเห็นกำลังของอกุศล ก็จะรู้ว่า ขณะใดที่กุศลไม่เกิด ขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของกุศลจริงๆ แม้กุศลเพียงเล็กน้อย นิดหน่อยในชีวิตประจำวัน กำลังเผชิญหน้า ทำทันที ไม่ต้องคอยเลย และไม่ต้องคิดว่า กุศลนี้จะให้ผลมากน้อยแค่ไหนด้วย เพราะมีความเข้าใจถูกต้องว่า ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โอกาสของกุศล กุศลไม่เกิด ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลแน่นอน ถ้าเห็นโทษภัยของอกุศล ก็เป็นปัจจัยที่จะให้มีกุศลในแต่ละทางเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ใช่ด้วยความหวัง

    ผู้ฟัง การที่ผมอธิษฐานขอถึงพระนิพพาน จะเป็นกิเลส หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แล้วจะถึงได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ถึงได้ด้วยการศึกษา การอบรม

    ท่านอาจารย์ ขอให้ได้มีการศึกษาให้เข้าใจธรรมยิ่งขึ้น ถูกต้องขึ้น

    ผู้ฟัง จะดีกว่าใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็ตรง และเป็นเรื่องละด้วย มาวันนี้ไม่ได้อธิษฐานมาก่อนใช่ไหม แสดงให้เห็นความตั้งมั่น เราจะใช้คำอะไรก็ตามแต่ เพราะว่าบางคนฟังธรรมแล้วก็เฉยไป แต่คนที่ฟังธรรมก็อยากจะเข้าใจ มีความมั่นคงตั้งมั่น ขณะนั้นคืออธิษฐาน ไม่ต้องใช้คำพูดอะไรเลยก็ได้ เช่น คนที่มาฟังธรรมทุกอาทิตย์ อธิษฐานทุกวัน หรือเปล่า วันศุกร์ อธิษฐาน หรือไม่ ก็ไม่ต้อง ใช่ไหม หรือมี มี คนที่อธิษฐาน กลัวจะไม่ได้มา หรืออย่างไร ขอให้ได้มาทุกเสาร์อาทิตย์ ก็อาจจะมีอุปสรรคที่คิดว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ที่จะไม่มา แต่ตราบใดที่มาแล้ว ก็แสดงให้เห็นถึงความมั่นคง แม้จะไม่ต้องกล่าวก็ตามแต่ แต่ก็มีความมั่นคงที่จะได้ฟังธรรม ถ้าอธิษฐานแล้วก็ไม่มาเลย เป็นอย่างไร เดี๋ยววันอาทิตย์นี้มีธุระ วันเสาร์ต้องไปสนทนากับเพื่อน อธิษฐานแล้วก็จริง แต่ก็ยังเป็นอย่างนั้น กับการที่แม้ไม่กล่าวเป็นคำพูด แต่ความมั่นคงที่จะเจริญกุศลยิ่งขึ้นก็มี

    ผู้ฟัง คือด้วยอาชีพของผม ผมเป็นนายหน้าในการค้าหลักทรัพย์ จะต้องมีคนมาซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อเก็งกำไร ก็คล้ายๆ การพนัน ถามว่า ผมจะมีบาป จะเป็นอกุศล จะไม่ดี หรือไม่ ในอาชีพนี้

    ท่านอาจารย์ คนที่ไม่ได้ขายหลักทรัพย์มีอกุศล หรือไม่

    ผู้ฟัง ปุถุชนก็มีอกุศล

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นของธรรมดา อกุศลต้องเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย แต่ไม่ใช่กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต วาจาทุจริต ไม่ว่าไม่มีอาชีพเลย หรือมีอาชีพใดๆ ก็มีวาจาทุจริตได้ หรือไม่เกี่ยวกับอาชีพเลย ก็ยังเป็นวาจาทุจริตได้ ก็รู้ว่า วาจาทุจริตคืออะไร ขณะใดที่เว้น ขณะนั้นเป็นกุศล

    ผู้ฟัง หมายความว่า ถ้าผมให้ข้อมูลลูกค้าตามความเป็นจริง ให้ลูกค้าตัดสินใจเอง อันนี้ผมไม่เกี่ยว

    ท่านอาจารย์ เรื่องการซื้อขาย ถ้าผิดกฎหมายก็ถูกจับไปหมดแล้ว ถ้าเป็นทุจริต เขาไม่ปล่อยให้ทำหรอก แต่ว่าก็มีหลายอาชีพซึ่งไม่สุจริต แต่ก็ไม่ถูกจับ เลี้ยงปลา เป็นต้น

    ผู้ฟัง แต่อาชีพของผมไม่เข้าข่ายที่พระพุทธองค์ไม่ทรงแนะนำให้ทำ เช่น ค้าสัตว์ ค้าอาวุธอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้ค้าอาวุธอย่างนี้

    ผู้ฟัง คือไม่เกี่ยวกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วแต่ละคนรู้สึกจะมีปัญหาในชีวิต และในเรื่องความเป็นอยู่ ในเรื่องการอาชีพ แต่จริงๆ แล้วการเข้าใจธรรมจะทำให้ปัญญาในขณะนั้นเป็นปัญญาระดับไหน ระดับที่จะเว้นห่างจากอาชีพที่เป็นทุจริตจริงๆ หรือเป็นปัญญาระดับที่รู้ว่า ไม่ใช่ทุจริต แต่ว่าขณะนั้นจิตใจเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละอาชีพ แต่ความจริงท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีท่านเป็นพ่อค้า และวิสาขามิคารมารดาก็เป็นนักธุรกิจ ใช้คำว่า นักธุรกิจสำหรับในสมัยนี้ แต่สำหรับสมัยก่อน ท่านก็ค้าขาย ท่านก็ยังคงมีอาชีพอยู่ แต่ว่ามีสัมมาวาจา มีคำพูดชอบ มีการงานชอบ ก็เป็นอาชีพหนึ่ง

    ผู้ฟัง อารมณ์ที่มากระทบทางทวารทั้ง ๕ เช่น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือทางกาย แล้วทำให้เกิดความคิดนึกสืบต่อจากอารมณ์ที่มากระทบ นี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นเหตุผล และพอทำความเข้าใจได้ แต่ความคิดนึกที่ไม่ได้เกิดจากอารมณ์ทั้ง ๕ มีเหตุ ปัจจัยอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาคิดถึงเรื่องอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ก็คิดถึงที่เพื่อนๆ จะไปเจริญกุศลที่ศรีลังกา

    ท่านอาจารย์ แล้วเห็นเพื่อนมาก่อน หรือเปล่า หรือไม่เคยเห็นเพื่อนเลยถึงจะคิดถึงว่าเพื่อน หรือเคยได้ยินเรื่องศรีลังกามาก่อน หรือเปล่า หรือไม่เคยเลยถึงจะมาคิดเรื่องศรีลังกา

    ผู้ฟัง เคยได้ยิน

    ท่านอาจารย์ คิดถึงสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยจำได้ เคยรู้เรื่อง จะไปคิดถึงสิ่งที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยรู้เรื่องเลย เป็นไปได้ไหม เพราะฉะนั้นเหตุปัจจัยที่ทำให้คิด เพราะเคยเห็น เคยได้ยิน เคยจำเป็นเรื่องราวต่างๆ

    ผู้ฟัง สิ่งที่ผ่านมาแล้ว ก็เหมือนกับไม่เกิดขึ้นในขณะปัจจุบัน

    ท่านอาจารย์ แต่เป็นความจำ สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะ จำ แม้ขณะนี้ก็จำ ได้ยินคำว่า “ศรี” ก็จำ “ลัง” ก็จำ “กา” ก็จำ ก็จำไว้หมด เพราะฉะนั้นเวลาที่ความคิดเกิดขึ้น ก็คิดถึงสิ่งที่จำได้ ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่เคยเห็นเลย

    ผู้ฟัง ลักษณะการเห็นก็มีปัจจัย คือ มีรูปมากระทบกับปสาทรูปภายใน เหมือนกับอธิบายเหตุ และผลของการเกิดจักขุวิญญาณที่จะรู้อารมณ์สิ่งที่มากระทบ แต่ลักษณะของความนึกคิดกับเรื่องราวที่เคยผ่านมาในอดีต

    ท่านอาจารย์ ก็แสดงความต่างกันของจิตประเภทต่างๆ ว่า จิตเห็นไม่ได้คิดเลย คิดไม่ได้ เพียงเห็น จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของจิตนั้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น จิตเห็นจะคิดไม่ได้ จิตคิดในขณะนั้นก็ไม่ได้ทำกิจเห็น แต่คิดเรื่องที่จำไว้ได้

    ผู้ฟัง แล้วจิตคิดคืออะไร

    ท่านอาจารย์ จิต คิด คำตอบก็มีอยู่แล้วว่า เป็นจิตที่คิด ถ้าไม่มีจิต คิดได้ไหม โต๊ะ เก้าอี้ เย็น ร้อน อ่อน แข็งคิดได้ไหม แต่สภาพที่คิดต้องเป็นจิต และเจตสิก ซึ่งเกิดคิดแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง จักขุวิญญาณ คือ จิตเห็นใช่ไหม เพราะฉะนั้นจิตคิดก็ต้องมีชนิดเดียว หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ รู้สิ่งที่ปรากฏให้คิดได้ทางมโนทวาร เพราะว่าทางตา จิตที่รู้อารมณ์ทางตาต้องมีรูปที่ยังไม่ดับเท่านั้นเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่คิดเรื่องนั้น แต่กำลังมีรูปที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ จึงไม่ใช่คิด แต่เมื่อจิตเห็นคือจิตที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาดับแล้ว ภวังคจิตแม้เกิดสืบต่อก็ไม่สามารถจะกั้นมโนทวาราวัชชนจิตไม่ให้เกิดตรึกถึง นั่นคือคิดแล้ว ถึงลักษณะของสิ่งที่ดับไป และก็รู้อารมณ์เดียวกันทางใจก่อน และต่อจากนั้นก็แล้วแต่จะคิดเป็นเรื่องเป็นราว เป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ทั้งหมดที่เกิดทางมโนทวาร เป็นจิตที่คิด ไม่ใช่จิตที่เห็น จิตที่ได้ยิน

    อ.วิชัย ตามที่ได้ศึกษาในส่วนของรูป ก็พอที่จะเข้าใจได้ว่าโดยธรรมดาแล้ว มีรูปที่ปรากฏอยู่ ๗ รูป โดยปกติ ก็คือ สี เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ รูป ๗ รูปนี้ก็ปรากฏตลอดแทบจะทั้งวัน แต่ว่าโดยสภาพของนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งโดยการศึกษา เราก็พอจะเข้าใจได้ เช่น ความติดข้อง ความยินดี ความพอใจ หรือในส่วนของโทสะ ความขุ่นเคือง ความประทุษร้าย พอจะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นความเข้าใจกับลักษณะจริงๆ ของธาตุรู้ที่จะมีสิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์ เหมือนกับว่าเคยมีความเข้าใจในความติดข้อง แต่เมื่อศึกษาก็ค่อยๆ รู้ชื่อขึ้นว่าสิ่งที่ปรากฏแก่ปัญญาจะแตกต่างจากความรู้ก่อนอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ปัญญาขั้นฟังเกิด ก็จะทำให้เข้าใจสิ่งที่มี แต่ว่ายังไม่รู้ลักษณะของสิ่งนั้น แต่รู้จักชื่อ เช่น เวลากล่าวถึงนามธรรม ก็เริ่มที่จะเข้าใจว่า เป็นสภาพที่มีจริง ไม่ใช่รูปธรรม แต่ขณะนี้ก็มีนามธรรม กำลังเห็น กำลังได้ยิน เพราะฉะนั้นไม่ใช่หมายความว่า เมื่อได้ยินแล้ว นามธรรมเป็นสภาพที่ไม่มีรูปร่าง แต่เป็นธาตุที่สามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ในขั้นการฟังสามารถเข้าใจได้ แต่ขณะนี้ก็มีสภาพธรรมนั้นที่ไม่มีรูปร่างเลย และเป็นสภาพที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567