พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 258


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๕๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ จะรู้วิบากได้ไหม ในเมื่อมีอยู่ตลอดเวลา ย่อมได้ แต่ต้องแล้วแต่ว่า ปัญญาถึงระดับไหม เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ขั้นฟังเรื่องก็ตอบได้ แต่ที่จะรู้ลักษณะของวิบาก ว่า เป็นวิบาก ซึ่งต่างจากกุศล และอกุศล เพียงขั้นฟังแล้วรู้ ไม่สามารถจะเข้าใจได้ แต่ว่าการฟังอย่างละเอียด ทำให้เข้าใจละเอียดขึ้น ย่อมน้อมไปสู่การที่จะรู้ว่า จิตไม่ใช่เราแน่นอน เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน เช่น ตามข้อความที่แสดงว่า เมื่อ วิบากจิตเกิดขึ้นเห็น หลังจากนั้นแล้วก็เป็นกุศล หรืออกุศล ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลย แต่ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น รวดเร็วอย่างนั้น วิบากจิตไม่ได้มีมากมาย หรือยั่งยืนยาวนานเลย แต่ชั่วขณะสั้นเหมือนฟ้าแลบ ทุกอย่างเป็นอย่างนั้น เพียงเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป และที่จะปรากฏได้ก็ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ถ้าตาไม่มี จักขุปสาทไม่เกิด สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏไม่ได้ ถ้าโสตปสาทไม่มี โสตปสาทไม่เกิด เสียงก็ปรากฏไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาจนบางคนก็ไม่สนใจที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เราฟังทั้งหมด แม้แต่ว่าขณะเห็นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม และก็ยังรู้ความละเอียดต่อไปอีก ว่าจิตเห็นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร เพราะเหตุว่าต้องต่างกันระหว่างจิตที่เป็นวิบากกับจิตที่เป็นกุศล และอกุศล เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต่างกัน

    ด้วยเหตุนี้ ถ้าศึกษาก็จะทราบว่า ในขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้เอง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท มี ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก (เอกัคคตาเจตสิก) มนสิการเจตสิก ชีวิตินทรียเจตสิก ก็ยังไม่ต้องจำเลย เพียงฟัง ฟังบ่อยๆ จะจำได้ครบไม่ครบก็ไม่เป็นไร เพราะเหตุว่าไม่ใช่ฟังเพื่อจะจำ แต่เพื่อจะเข้าใจความจริงว่า แม้เห็นก็ยังมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเห็นเป็นผลของกรรมแน่นอน เพราะฉะนั้นเห็นจึงเป็นวิบากจิต แต่ว่าเมื่อกรรมมี ๒ อย่าง คือ กุศลกรรม และอกุศลกรรม วิบากก็ต้องต่างเป็น ๒ ด้วย คือ กุศลวิบาก และอกุศลวิบาก

    จิตเห็น บางครั้งเห็นสิ่งที่น่าพอใจ บางครั้งเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ อย่างนี้พอตอบได้ใช่ไหม เวลาเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ไม่ใช่เรา แล้วเป็นอะไร ไม่น่าพอใจ สิ่งนั้นไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้นจิตขณะนั้นเป็นอะไร เป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของอะไร เป็นผลของอกุศลกรรม ใครทำ เราเอง ไม่ใช่มีคนอื่นทำมาให้เลย ต้องเป็นผู้ที่มั่นคง เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นผลของกรรม หรือไม่ ผลของกรรม คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ๕ ทาง แม้แต่จักขุปสาท ก็เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย เกิดมาเพื่อเป็นปัจจัยให้จิตเห็นซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้น แล้วแต่กรรมว่าเห็นอะไร เห็นสิ่งที่ดี หรือไม่ดี

    สำหรับจิตที่เป็นจิตเห็น สั้นมาก เล็กน้อยมาก มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง เพราะฉะนั้นไม่มีโลภเจตสิกเกิดกับจิตเห็น ไม่มีโทสเจตสิกเกิดกับจิตเห็น แล้วมีโมหเจตสิกเกิดกับจิตเห็นไหม ไม่มี คือ ต้องทราบแน่ว่า เพียง ๗ ดวง เท่านั้น เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้อง จะไม่เพิ่มเติมเจตสิกอื่นเข้ามาเลย เพียงแค่ ๗ ดวง เวลาได้ยิน ก็เช่นเดียวกัน เวลาได้กลิ่นก็เช่นเดียวกัน นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นความต่างของจิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งลืมเสมอว่าเป็นผลของกรรม อาจจะคิดว่า คนนั้นคนนี้ทำให้ แต่ใครจะทำให้ใครได้ นอกจากตัวเอง

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การฟังธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิบากจิต เป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ หรือวิบากจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เรารู้ได้ด้วยการประจักษ์แจ้ง แต่ค่อยๆ เข้าใจจากขั้นการฟังก่อน ถ้าไม่มีความเข้าใจขั้นการฟัง เลิกคิดที่จะไปรู้ความจริงใดๆ ของสภาพธรรม เพราะว่ารู้ไม่ได้เลย ไม่มีความเข้าใจในเบื้องต้น แล้วจะไปรู้ได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม ต้องเป็นผู้มีเหตุผล พิจารณาไตร่ตรอง แล้วก็มีความเข้าใจที่มั่นคง เพราะว่าสภาพธรรมเปลี่ยนไม่ได้ ใครจะไปเปลี่ยนกุศลจิตให้เป็นอกุศลจิตไม่ได้ ใครจะไปเปลี่ยนวิบากจิตให้เป็นกุศลจิตก็ไม่ได้ธรรมเกิดขึ้น เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่สามารถฟัง และเข้าใจความจริงของสภาพธรรมนั้น จนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น มิฉะนั้นก็จะเจริญแต่ทางโลก มีทรัพย์สมบัติมาก แต่ไม่เจริญทางธรรมเลย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดถึงผลของกรรม ก็คือวิบากจิต จะกล่าวได้ไหมว่า ขณะที่ได้ยินเสียง ขณะนั้นเรารู้แล้วว่า เป็นวิบากจิต แต่ยังไม่ทราบลักษณะ แต่จะกล่าวได้ไหมว่า เรารู้แล้วว่าเป็นวิบากจิต

    ท่านอาจารย์ กำลังได้ยินขณะนี้หมดแล้ว จะกล่าวตอนไหนเมื่อไรว่าเป็นวิบากจิต ได้ยินเกิดขึ้นได้ยินแล้วดับเลย

    ผู้ฟัง ถ้าจะรู้จริงๆ ก็คือต้องมีสติสัมปชัญญะเกิดถึงจะรู้

    ท่านอาจารย์ นี่คือแน่นอนที่สุดที่จะต้องทราบว่า ปัญญาจะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีสติ

    ผู้ฟัง เรียนถามถึงวิบากจิตทางกายกับทางใจ

    ท่านอาจารย์ ทางกายพอรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ทางกายก็ยังมีความรู้สึกว่า ต่างกับทางตา หู จมูก ลิ้น

    ท่านอาจารย์ ต่างอย่างไร

    ผู้ฟัง ต่างที่เวทนา

    ท่านอาจารย์ และต่างที่อะไรอีก

    ผู้ฟัง ต่างที่สิ่งที่ปรากฏทางกาย จะมีจำนวนมากกว่า เพราะว่าลักษณะของรูปที่ปรากฏทางกาย ก็มีถึง ๓ ประเภท

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าต่าง เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏทางกาย จะไปปรากฏทางตาได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นี่คือความต่าง เพราะฉะนั้นอารมณ์ที่จิตเกิดขึ้นรู้แต่ละทาง ต่างกัน เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องอาศัยตา และจิตเห็นเกิดขึ้น กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่แข็ง ไม่อ่อน ไม่ร้อน ไม่เย็น เกิดขึ้นเมื่อไรก็จะมีเพียงสิ่งนี้แหละปรากฏ กี่ภพกี่ชาติ ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏแก่จิตเห็น ต่างกันที่อารมณ์ด้วย และที่ว่าต่างกันที่จำนวนก็คิดว่า หมายความว่าทางตามีรูปอย่างเดียว ทางหูมีรูปอย่างเดียว คือ เสียง ทางจมูกมีรูปเดียว คือ กลิ่น ทางลิ้นมีรูปเดียว คือ รส แต่รสหลากหลายไหม รสเปรี้ยว รสเค็ม รสหวาน ก็เป็นรสทั้งหมด แต่ว่ารู้ได้ทางลิ้น แต่มหาภูตรูปมี ๔ ไม่ได้แยกกันเลย คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มหาภูตรูป ๓ คือ ธาตุดิน ลักษณะที่อ่อนแข็ง ปรากฏเมื่อกระทบกับกายปสาท และจิตเกิดขึ้นรู้ลักษณะนั้นได้ และธาตุไฟมีลักษณะที่ร้อน เวลาเห็น อาจจะคิดว่าไฟร้อน เพราะเห็นไฟ แต่ลักษณะร้อนไม่ได้ปรากฏ เพราะว่าเพียงแต่สีสันเท่านั้นที่ปรากฏ ลักษณะที่ร้อนต้องปรากฏที่กายปสาท จิตเกิดที่นั่น รู้สิ่งนั้น แล้วก็ดับไป และอีกลักษณะหนึ่ง คือ ลักษณะที่ไหว หรือตึง นั่นก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง เมื่อสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ ความสงสัยก็ไม่มี เพราะเหตุว่าเมื่อไรที่มีลักษณะแข็งปรากฏ รู้ได้เลยว่า ทางกาย จะกล่าวว่า ไม่รู้อารมณ์ทางกาย ไม่ได้

    ผู้ฟัง ลักษณะของกุศลวิบากกับอกุศลวิบากทางตา เห็นสิ่งที่ดีกับไม่ดี ก็พอเข้าใจ แต่พอเป็นกุศลวิบากกับอกุศลวิบากทางกาย

    ท่านอาจารย์ ง่ายกว่านั้นอีก คือ ถ้าเป็นทางกาย ทุกข์เกิดขึ้นทางกายเมื่อไร นั่นคืออกุศลวิบากทางกาย

    ผู้ฟัง มีเวทนาเข้ามาเกี่ยวข้อง

    ท่านอาจารย์ เวทนาต้องเกิดกับจิตทุกประเภท ไม่มีจิตสักขณะเดียวที่ไม่มีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เวลาที่นามขันธ์ คือ จิตเกิด ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกจะเกิดโดยไม่มีจิต และเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้ จิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้ เวทนาเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกประเภท แล้วแต่ว่าจะเป็นอุเบกขาเวทนา คือ อทุกขมสุขเวทนา หรือจะเป็นโสมนัสเวทนา เป็นโทมนัสเวทนา หรือเป็นทุกขเวทนา หรือเป็นสุขเวทนา ถ้าแยกกล่าวทางกาย ทางใจ ขณะใดที่ไม่รู้สึกสบายกาย นั่นคืออกุศลวิบากทางกาย

    ผู้ฟัง แล้วลักษณะของแข็งที่ปรากฏ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของเวทนาที่เป็นความทุกข์ เราก็ไม่สามารถแยกออกได้ว่า แข็งที่ปรากฏนั้นเป็นอกุศลวิบาก หรือกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ จิตรู้อารมณ์ทีละอย่าง หรือรู้ได้พร้อมกัน ๒ อย่าง

    ผู้ฟัง รู้ได้ทีละอย่าง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง แข็งปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ถ้าแข็งปรากฏ จะให้ไปรู้เวทนาได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เวลาทุกข์ ไม่สบายกายเกิดขึ้น ขณะนั้นจะให้รู้แข็งได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้ ก็รู้ได้ทีละอย่าง

    ผู้ฟัง แล้วทางใจละ

    ท่านอาจารย์ ทางใจสามารถรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน ก็มีทั้งสุขทางใจ และทุกข์ทางใจ

    ท่านอาจารย์ โดยสามารถที่จะปรากฏให้รู้ได้ ก็มีทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งรับรู้สภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กายต่อ และคิดนึก แต่ส่วนที่จะเป็นวิบากทางกาย และเกิดขึ้นรู้วิบากนั้นทางใจด้วย เป็นเรื่องที่จะต้องเรียนเรื่องวิถีจิตก่อน เช่น ทางตา เห็น เป็นวิบาก มีวิบากที่เกิดต่อจากชวนะ รู้ได้ไหม เพราะว่าปรากฏแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แม้แต่ความรู้สึกชอบ หรือไม่ชอบที่เกิดต่อ ก็ไม่รู้แล้ว แล้วจะไปรู้วิบากที่เกิดต่อจากชวนะทางตาก็ไม่ได้ ฉันใด วิบากที่เกิดทางใจต่อ ก็รู้ไม่ได้ฉันนั้น และจะกล่าวถึงทำไม จะไปติดใจสงสัยวิบากทางใจเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้น ลักษณะของเวทนาที่ปรากฏทางใจ ก็ไม่ใช่วิบาก

    ท่านอาจารย์ ทางใจรู้อารมณ์อะไร

    ผู้ฟัง ธัมมารมณ์

    ท่านอาจารย์ ธัมมารมณ์อะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ธัมมารมณ์ก็มีทั้งรูป และทั้งนาม

    ท่านอาจารย์ ก็กล่าวถึงขณะนี้ซึ่งมี หรือเปล่า ถ้าเป็นรูปเป็นนาม แต่ถ้าขณะที่กำลังคิดนึกมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ขณะที่คิด เป็นจิตที่รู้อารมณ์ทางใจ แล้วจะไปรู้ถึงวิบาก คือ ตทาลัมพนะ ซึ่งเกิดต่อจากชวนะได้ไหม คือ การศึกษา จะมีการศึกษาโดยชื่อ ก็จะทำให้เกิดความสงสัย และไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ปัญญาของแต่ละคนจริงๆ สามารถที่จะรู้ได้ระดับไหน ผู้ที่สามารถรู้ได้ ก็กล่าวได้ แต่ผู้ที่ไม่สามารถจะรู้ได้ ก็ฟัง แล้วก็พิจารณาเพียงเข้าใจ แต่รู้ว่า ไม่สามารถจะรู้อย่างนั้นได้

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นลักษณะของสุขทางใจกับทุกข์ทางใจที่เกิดขึ้น ซึ่งมีจริงในชีวิตประจำวัน แล้วเป็นสภาพธรรมที่เกิดทางใจ เราจะพิจารณาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สุขทางใจ เมื่อไร

    ผู้ฟัง เมื่อสมความปรารถนา ก็ทราบว่าเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ เมื่อคิดนึกเป็นกุศล หรือเป็นอกุศลก็ได้ เพราะเหตุว่าถ้าพูดถึงลักษณะของความรู้สึกที่เป็นสุข แยกเป็นทางใจ เป็นโสมนัสเวทนา ถ้าทางกาย ก็เป็นสุขเวทนา ถ้าเป็นทางใจ ก็เป็นทุกข์ทางใจ แต่ว่าทุกข์กายก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เวลาปวดเจ็บเกิดขึ้น ทางกาย หรือทางใจ เวทนา ความรู้สึก

    ผู้ฟัง ก็ทั้งกาย และใจ

    ท่านอาจารย์ เวลาปวด ความรู้สึกปวด อาศัยกายปสาท กายเป็นทุกข์ พระอรหันต์มีโทมนัสไหม

    ผู้ฟัง พระอรหันต์ไม่มี

    ท่านอาจารย์ มีทุกข์ทางกาย เจ็บไข้ได้ป่วย พระผู้มีพระภาคทรงประชวร แต่ไม่มีโทมนัส นี่เราก็ต้องเห็นแล้วว่า แยกกัน ถ้าทางกาย ก็ต้องเป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้ทำแล้ว แต่ถ้าเป็นโทมนัส เป็นความรู้สึกไม่แช่มชื่น เป็นทุกข์ เกิดได้ทุกทวาร ขณะใดที่ลักษณะของโทสมูลจิตเกิด ขณะนั้นต้องเวทนาต้องเป็นโทมนัสเวทนา ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ได้ เป็นชวนะมี ที่เป็นโทมนัส แล้วทางใจก็มีจริงๆ ธรรมไม่ได้พูดให้งง แต่หมายความว่า รู้จากชีวิตจริงๆ จะได้เข้าใจได้ เพราะว่าต้องสอดคล้องกัน พระธรรมที่ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง การที่จะเข้าใจเรื่องโสภณธรรม เป็นเรื่องที่ยากพอสมควรทีเดียว เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนั้นมีโสภณธรรมเกิดขึ้นแล้ว จะดูที่เวทนา หรือไม่

    ท่านอาจารย์ โสภณธรรมเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง เป็นจิตด้วย หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ได้ สภาพธรรมใดที่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย สภาพนั้นก็เป็นโสภณจิต ถ้าจิตใดมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นเป็นโสภณ เราจะรู้ หรือว่าเราเข้าใจเรื่องราว เพราะขณะนี้แม้จิตมี กำลังทำหน้าที่ของจิตแต่ละประเภท จิตก็กำลังทำหน้าที่เห็น เกิดแล้วดับไป จิตได้ยินก็เกิดขึ้นทำหน้าที่ แล้วก็ดับไป จิตอื่นๆ แต่ละขณะเกิดขึ้นทำหน้าที่ แล้วก็ดับไปทั้งนั้นเลย เราก็ยังไม่รู้ และเราจะรู้เจตสิกที่เกิดกับจิตนั้น เช่น ผัสสเจตสิกได้ไหม แต่สำหรับเวทนา ความรู้สึก มีแน่ และปรากฏให้รู้ได้ด้วย เพราะว่าเสียใจเกิด มีใครบ้างที่ไม่รู้ลักษณะที่เสียใจ

    ผู้ฟัง ไม่มี นอกจากจะลืม

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้ว่าเป็นเจตสิก ไม่รู้ว่าชื่ออะไร แต่ลักษณะนั้นเปลี่ยนไม่ได้ ภาษาบาลีจะเรียกอะไรก็ไม่จำเป็น ภาษาไทย ภาษาอื่น จะเรียกอะไรก็ไม่จำเป็น เพราะเหตุว่าลักษณะนั้นมี เกิดขึ้นทำหน้าที่ของสภาพธรรม แต่ที่เรียกเพื่อให้เข้าใจว่า เวทนา ความรู้สึกนี่ต่างกัน ทางใจเป็นโทมนัส ทางกายเป็นทุกข์ ปวด เจ็บ คัน เมื่อย พวกนี้ไม่ใช่โทมนัส แต่อาศัยกายเกิดขึ้นเป็นทุกข์ แต่เมื่อทุกข์เกิดขึ้นแล้ว โทมนัสตามมา ไม่ชอบ เสียใจ โทมนัส ที่เราป่วยไข้ได้เจ็บอย่างนี้ๆ

    ผู้ฟัง ในส่วนที่เป็นโสภณธรรมซึ่งเป็นเจตสิก ความแช่มชื่นตรงนั้นกับความปีติยินดีกับโสมนัสที่เกิดขึ้น อาการอย่างนี้เข้าใจเรื่องราวพูดว่าอย่างไร แต่ไม่รู้ว่าเป็นโลภะ หรือโสมนัส

    ท่านอาจารย์ อาการแช่มชื่น หรือปีติ ความปลาบปลื้มดีใจ เกิดได้ทั้งกับกุศล และอกุศล เพราะฉะนั้นก็จะรู้ได้จากสภาพธรรมอื่นซึ่งเกิดร่วมกัน ถ้าเป็นโลภะ สนุกมากเลย ปลาบปลื้มไหมกับความสนุกสนาน หัวเราะ เบิกบาน ขณะนั้นก็เป็นโสมนัสที่เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นเช่นนั้นจะเห็นได้ชัดเจน แต่ถ้าโลภะน้อยๆ หรือปลาบปลื้มน้อยๆ ก็มองไม่ค่อยเห็น

    ท่านอาจารย์ แต่รู้สึกได้ แม้แต่เพียง ท่านใช้คำว่า “ตาบาน” คือ มีลักษณะที่รู้ได้ว่า นัยน์ตาเบิกบาน

    ผู้ฟัง ยากที่จะเห็นตาบาน เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ รู้สึกเองได้ไหม

    ผู้ฟัง รู้สึกได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องให้คนอื่นเห็นก็ได้ แต่เรารู้สึกได้ว่า ต่างจากที่ไม่บาน ที่เราใช้คำว่า “หน้าชื่นตาบาน” เคยได้ยินไหม

    ผู้ฟัง เคยได้ยิน ตาบานอย่างเดียว หน้าไม่ต้องชื่นก็ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องดูเวลาที่ตาบาน หน้าชื่นด้วย หรือเปล่า

    ผู้ฟัง บางครั้งเราจะกล่าวถึงเรื่องการเจริญกุศล แรกๆ เราก็ควรจะรู้ว่า กุศลต่างกับอกุศลอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นเรื่องโสภณธรรมก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจตรงนี้ เวลาที่เป็นกุศล ที่เราเรียกว่า “บุญ” คือ กุศลที่เกิดขึ้น คือ ความแช่มชื่นของใจในขณะที่เป็นกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ กุศลเกิดกับอุเบกขาเวทนาก็ได้ เกิดกับโสมนัสเวทนาก็ได้ ไม่จำเป็นว่ากุศลต้องเกิดกับโสมนัสเวทนาเสมอ

    อ.อรรณพ ความเข้าใจธรรม กับความเข้าถึงธรรม ก็เป็นคนละขั้นกัน ความเข้าใจธรรมในขั้นเรื่องราว คือ ในขั้นปริยัติ ผู้ที่มีปัญญาตรัสรู้ หรือผู้ที่ตรัสรู้ตาม สามารถรู้ได้ละเอียด ก็หลากหลายไปแล้วแต่ระดับของปัญญา ซึ่งโดยปริยัติที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เข้าใจได้ในขั้นการฟังการพิจารณา ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีความเข้าใจที่เราควรจะทราบ ถ้าในภพภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณครบ คือในภพที่มีทั้งรูปธรรม และนามธรรม เช่น ความเป็นมนุษย์ จิตต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิด ซึ่งรูปที่เป็นที่เกิดนั้นต้องเหมาะควรที่จะเป็นที่เกิดของจิตประเภทนั้นๆ คือ ตา หรือจักขุปสาท เป็นรูปที่เหมาะควรที่จะเป็นที่เกิดของจิตเห็น หู หรือโสตปสาท ก็เป็นรูปที่เหมาะควรที่จะเป็นที่เกิดของจิตได้ยิน จมูก ลิ้น กาย ก็โดยนัยเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็นที่เป็นผลของกรรมดี คือ เป็นจักขุวิญญาณกุศลวิบาก หรือจิตเห็นในสิ่งที่ไม่ดี คือ จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ทั้ง ๒ ประเภทนี้ก็ต้องอาศัยจักขุปสาทเป็นที่เกิด ส่วนทางหู จมูก ลิ้น กาย ก็นัยเดียวกัน

    ผู้ฟัง ถ้าจะกล่าวถึงโสภณจิตที่เกิดในกามาวจรจิต ที่ทราบก็คือมี วิบากจิต กุศลจิต กิริยาจิต เรียนถามท่านอาจารย์ว่า ถ้าเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็คงจะเป็นกุศลจิตกับกิริยาจิต แต่วิบากจิตซึ่งเป็นโสภณจิตเหมือนกัน แต่เขาจะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะเขาไม่ได้ทำกิจนี้ หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่า วิบากจิตแต่ละประเภททำกิจอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ทำปฏิสนธิ จุติ ภวังค์ ก็เลยไม่รู้ลักษณะ

    อ.กุลวิไล นอนหลับสนิท ก็มีโสภณจิตด้วย และเป็นชาติวิบากด้วย แต่ไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้

    ผู้ฟัง ลักษณะของรูปกับนิพพาน เหตุใดจึงเป็นอโสภณ

    ท่านอาจารย์ อะไรก็ตามที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะดีงามได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ลักษณะของโสภณ ไม่ได้หมายเฉพาะนามธรรมใช่ไหม หมายถึงทุกอย่างที่ไม่ได้มี ...

    ท่านอาจารย์ มิได้ โสภณเจตสิก สภาพธรรมที่ดีงามเป็นเจตสิก เมื่อเกิดกับจิตใด จิตนั้นก็เป็นโสภณจิต โต๊ะนี้ดีงามไหม

    ผู้ฟัง โต๊ะไม่ดีงาม

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ไม่มีเจตสิกที่ดีงามเกิดร่วมด้วย และเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นแต่เพียงรูปธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย จะกล่าวว่าดีงามได้อย่างไร ไม่ได้ทำทาน รักษาศีล อะไรเลย

    ผู้ฟัง สภาพนิพพาน

    ท่านอาจารย์ นิพพานไม่ใช่สภาพที่เกิด จะมีอะไรเกิดร่วมด้วยได้ไหม

    ผู้ฟัง ความหวั่นไหวคืออะไร อะไรหวั่นไหว

    ท่านอาจารย์ เราเป็นอกุศล เราไม่รู้ เราไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจแล้วต้องหวั่นไหวด้วย หรือ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567