พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 296


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๙๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ แม้แต่ธรรม ถ้าเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ยังไม่ต้องพูดถึงนามธรรม และรูปธรรมได้ ขณะนี้เห็น ถ้าเข้าใจแล้วว่ามีจริง แล้วก็เป็นธรรม เห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ต่างกัน หรือเหมือนกัน

    เริ่มคิด ใช่ไหม แต่ยาก เพราะว่าถ้าไม่ได้ฟังธรรมเลย ก็คิดไม่ออกอีก รู้แต่ว่ามีสิ่งที่ปรากฏ แต่ขณะนั้นต้องฟังแล้วด้วย มิฉะนั้นก็โต๊ะ เก้าอี้ปรากฏอีก ใช่ไหม ก็เริ่มที่จะมาถึงลักษณะที่กำลังปรากฏว่า ไม่ได้จำ ไม่ได้เรียกว่าเป็นอะไร แต่ลักษณะที่ปรากฏ ปรากฏจริงๆ มีจริง ไม่ต้องเรียก ไม่ต้องคิดอะไรเลย ก็ปรากฏให้เห็นได้

    นี่คือการไตร่ตรอง และสิ่งนี้จะปรากฏได้ หรือไม่ ถ้าไม่มีเห็น เห็นไหม เพราะฉะนั้นก็เริ่มจะเข้าใจอรรถของคำว่า นามธรรมกับรูปธรรม เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่รู้ ไม่เห็นอะไรเลย ก็เป็นธรรมที่มีจริงชนิดหนึ่ง เป็นประเภทไม่รู้อารมณ์ ไม่รู้อะไรเลย ส่วนสภาพธรรมที่เห็น ได้ยิน จำ คิดนึก สุข ทุกข์ ต่างกับลักษณะนั้นๆ ซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ด้วยเหตุนี้จึงใช้คำว่า นามธรรมกับรูปธรรม เพื่อบ่งให้รู้ว่า หมายถึงสภาพธรรมอะไร

    ขั้นต้นการศึกษาลักษณะให้เข้าใจก่อน ส่วนชื่อ ทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่า หมายความถึง ธรรมที่ต่างกันเป็นอะไรบ้าง แต่ไม่ใช่เป็นนามธรรมรูปธรรมก่อน แล้วก็หา นามธรรมอยู่ที่ไหน รูปธรรมอยู่ที่ไหน เดี๋ยวนี้เป็นนามธรรม หรือเปล่า เดี๋ยวนี้เป็นรูปธรรม หรือเปล่า ก็ไปนั่งหา อันนั้นไม่ใช่

    เพราะฉะนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า การที่จะเข้าใจธรรม แม้ว่าธรรมมี ก็ขึ้นอยู่กับการศึกษาโดยถูกต้อง เพื่อที่จะได้รู้ว่า กำลังศึกษาอะไร กำลังเข้าใจอะไร ไม่ใช่ศึกษาจำตัวเลข เพราะอย่างไรก็ตาม สภาพธรรมที่ทรงประมวลไว้ ก็คือตามประเภทที่ทรงแสดง มาก หรือน้อย ก็ยังต่างระดับกันไปอีก ประมาณไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง เช่นนี้ปัญญาขั้นต่างๆ เราก็กำลังศึกษาอบรมปัญญาขั้นเรื่องราว และขั้นฟังเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แต่รู้ว่า เรื่องราวนั้นเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่มีจริงๆ ไม่ใช่เพียงเรื่องราว เหมือนเรื่องอื่นที่เราอ่านในหนังสือ

    ผู้ฟัง เมื่อก่อน เราคิดว่า มีตัวเรา หลังจากศึกษาแล้ว เราก็รู้ว่าไม่ใช่ คือ มีจิตเห็นแล้วก็รู้รูป คือรู้เรื่องราวตามที่เข้าใจเช่นนี้ ซึ่งตรงนี้ก็แสดงว่า มีการสะสมปัญญา ในส่วนที่ฝ่ายดี เป็นสภาพธรรมฝ่ายโสภณแล้ว ตามท่านอาจารย์อธิบายให้คุณวิชัยฟัง สิ่งที่ไม่ดี คือ อกุศลก็จะเยอะมาก เต็มไปหมด แต่จากที่เรามาเรียน มาศึกษา มาอบรม มาฟัง แสดงว่าเราก็ได้สะสมสิ่งที่เป็นกุศล หรือโสภณ เพื่อให้เราได้รู้มากขึ้นตามลำดับขั้น

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นการสะสมของจิต เจตสิก

    ผู้ฟัง เพราะถึงแม้สติเรายังไม่รู้ลักษณะ แต่เราก็ยังสะสมขั้นเข้าใจเรื่องของลักษณะสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีขั้นต้นอย่างนี้ ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ใช้คำว่า “วิปัสสนา” ปัญญาที่เห็นแจ้ง ชื่อ แต่ไม่รู้ว่าเห็นแจ้งอะไร ก็เป็นการศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาโดยไม่รู้ความหมาย และอรรถของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ดังนั้นเราก็ตั้งต้นศึกษาอบรมขั้นที่เป็น

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจ เข้าใจก็คือปัญญา ถ้ามิฉะนั้นเราก็อยากมีปัญญา แต่ไม่รู้ว่าปัญญานั้นต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจจะเป็นปัญญาไม่ได้

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามอาจารย์ถึงเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่จะพิจารณาผู้อื่น แล้วก็เป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ ถึงแม้จะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ แต่อดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นเหตุที่เราจะศึกษาธรรม เพราะมีคนอื่น และมีเรา แต่ความจริงทั้งหมดก็เป็นธรรมซึ่งเราไม่เคยเข้าใจว่าเป็นธรรม ตราบใดที่ความเข้าใจธรรมของเรายังไม่เพียงพอ ก็จะมีการไม่เข้าใจสภาพที่มีจริงๆ แต่ไปยึดถือสิ่งที่มีจริงนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรื่องราว จนกว่าสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทั้งๆ ที่เป็นธรรม ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม

    ก็แสดงว่าเรายึดถือสิ่งที่ปรากฏด้วยความไม่รู้ เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นเรื่องราวมากมาย เพราะฉะนั้นประโยชน์ในการเข้าใจธรรม ก็คือสามารถละความไม่รู้ และกิเลสตามลำดับขั้น

    ทุกคนมีกิเลส และหาทางที่จะให้กิเลสลดน้อยลง และเคยได้ยินได้ฟังว่า ทุกข์เพราะกิเลส คนที่มีชีวิตอยู่ มีวงศาคณาญาติ หรือมีเพื่อนฝูงมิตรสหาย มีการเห็น การได้ยิน แต่ก็รู้ว่าเป็นธรรม กับคนที่ยังมีวงศาคณาญาติ มีเรื่องราวต่างๆ แล้วก็ไม่รู้เลยว่าทั้งหมดเป็นธรรม ก็จะเห็นได้ว่า ความทุกข์ต่างกันเพราะการยึดถือ

    ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน ก็มีความเข้าใจเรื่องกิเลส และรู้ว่า แต่ละคนก็สะสมกิเลสมามาก ถ้ามีหนทางอื่นที่จะทำให้กิเลสลดน้อยลง ไม่ต้องศึกษาธรรม ไม่ต้องมีศรัทธาในคำสอนของพระบรมศาสดา คิดว่าทางอื่นก็สามารถลดกิเลส หรือดับกิเลสได้ แต่เพราะเหตุว่าทุกคนมีกิเลส และเป็นทุกข์เพราะกิเลส แล้วก็เพียงอยากให้ไม่มีกิเลส โดยไม่เข้าใจธรรม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

    ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เห็นคุณค่าของคำสอน ก็รู้ว่า ทำให้สามารถเข้าใจความจริง เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้น ละความไม่รู้ ก็ย่อมจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล จะอด จะห้ามไม่ให้คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เป็นไปไม่ได้เลย ยังไงทุกคนเกิดมาแล้ว เห็นต้องคิด ได้ยินแล้วต้องคิด จะมีเพียงเห็น เพียงได้ยิน โดยไม่คิดไม่ได้ พอคิดแล้วก็เป็นเรื่องตลอดเวลา โดยที่ไม่รู้ความจริงว่า แม้ขณะนี้ เห็น เป็นสิ่งที่สมควรรู้ยิ่งไหม มีอะไรบ้างที่สมควรรู้ยิ่ง สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ทั้งหมด ทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏ ควรรู้ยิ่ง ถ้าไม่รู้ ก็หลง ไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงก็เป็นสภาพธรรมที่เพียงปรากฏเมื่อกระทบจักขุปสาท แล้วก็ดับไป ขณะที่กำลังได้ยิน ก็ไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้ว ความลึกซึ้งของธาตุ ซึ่งเกิดเพราะปัจจัย แล้วทำกิจเห็น แล้วก็ดับไป ก็คือมีจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นี่คือควรรู้ยิ่ง ไม่ใช่ไปควรรู้ยิ่งอย่างอื่น แต่ควรรู้ยิ่งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อรู้แล้วก็ละความไม่รู้ และกิเลสตามลำดับขั้น จนสามารถดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย

    นี่คือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นขณะที่ฟังธรรม ก็คือ ขณะที่เราไม่ได้คิดถึงเรื่องวงศาคณาญาติ เรื่องวันก่อนนั้นทำอะไร พี่น้องเราวันนั้นเป็นอะไร อยู่ที่ไหน อย่างไร นั่นคือไม่ใช่ธรรมที่เรากำลังฟัง เพื่อที่จะให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร

    เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังฟังธรรม ก็ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า กำลังฟัง กำลังศึกษา เพื่อจะให้เข้าใจถูก เห็นถูก ในสิ่งที่มีจริงๆ ตามที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดง

    ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์กล่าวก็มีความเข้าใจว่า ทุกสิ่งเป็นสภาพธรรม และรู้ตัวด้วย ขณะที่คิดในเรื่องราวของผู้อื่นแล้วเป็นทุกข์ แต่หยุดคิดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ให้หยุดคิด ทางตา มีสิ่งที่ปรากฏ ควรรู้ยิ่ง ทางหู ควรรู้ยิ่ง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ควรรู้ยิ่งในสภาพธรรม ไม่ใช่ในเรื่องราวว่าเราจะไปแก้ไข อย่างไร นั่นคือเป็นเรา เป็นเขา โดยตลอดทุกภพทุกชาติ ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงว่า สิ่งที่ควรรู้ยิ่งจริงๆ คืออย่างไร คือ ความเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ได้สนทนาธรรมกับชาวต่างประเทศท่านหนึ่ง ท่านก็บอกว่า ที่ดิฉันไม่เหนื่อย ไม่เบื่อที่จะพูดเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซ้ำไปซ้ำมา กี่ปีก็ตาม ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี ๕๐ ปี ก็เพราะเหตุว่าสามารถที่จะค่อยๆ ให้คนเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งได้ใช่ไหม ก็เป็นความจริง เหมือนกับว่าเราไม่สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏได้ เพราะความไม่รู้ ไม่ใช่เพราะเรา ไม่มีเรา แต่ความไม่รู้ก็ไม่สามารถจะรู้จริงๆ แต่อาศัยการฟังว่า เป็นสิ่งที่มีจริง กำลังปรากฏ และความจริงของสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอย่างไร การฟังครั้งแรกๆ ปีแรกๆ หลายๆ ปีแรก ก็ค่อยๆ เพิ่มความเข้าใจอีกเพียงเล็กน้อย

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เราสะสมความไม่รู้มานานเท่าไร รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง จะใช้คำว่า “ขัดเกลา” หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งซึ่งมืดสนิท และกว่าจะค่อยๆ สว่างขึ้น หรือผ้าสกปรกติดแน่นด้วยน้ำมัน หรืออะไรก็ตาม แล้วจะค่อยๆ ออกไป หรือสิ่งที่มีใหญ่โตมโหฬาร กว่าจะค่อยๆ กะเทาะ สะกิดออกไปทีละเล็กทีละน้อย ต้องใช้กาลเวลาขนาดไหน ต้องเป็นปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ใช่อย่างอื่น และเป็นผู้ที่ตรง คือ สัจจะ สิ่งนี้กำลังปรากฏ จะฟังเรื่องอะไร จะคิดเรื่องอะไร หรือว่าฟังแล้ว สภาพธรรม คือสังขารขันธ์ก็กำลังน้อมไปที่จะเข้าใจลักษณะนั้น แม้ขณะนี้กำลังปรากฏ เพียงฟังเข้าใจ แต่ก็ไม่ใช่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น โดยประจักษ์แจ้งจริงๆ แต่ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น

    เพราะฉะนั้นเวลาที่มีความเข้าใจธรรม อบรมเจริญปัญญาจนสามารถถึงระดับที่ประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม ตรงกับทุกคำที่เคยได้ยิน ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้ แม้ฟัง ไม่ใช่เพียงชื่อ แข็งมี ปรากฏ แข็งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ สภาพที่กำลังรู้แข็งมี กำลังรู้แข็งนั้น แข็งนั้นจึงปรากฏ สภาพที่รู้นั้นต่างกับลักษณะที่แข็ง คือ มีลักษณะที่เราเข้าใจความเป็นจริง แล้วก็ใช้คำบัญญัติ เรียกลักษณะของสภาพที่มีจริงทั้งหมด ซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยว่า รูปธรรม เพราะว่าเป็นธรรมฝ่ายที่เป็นรูป คือ ไม่รู้อะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นเสียง เป็นอะไรทั้งหมด ก็คือธรรม และใช้รวมกันว่า รูปธรรม ส่วนธรรมที่เป็นฝ่ายรู้ ไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนเลย ลองคิดถึง ล้วนๆ เป็นธาตุรู้ที่เกิดขึ้น แล้วก็รู้สิ่งที่กำลังปรากฏอย่างรวดเร็ว แล้วก็ดับไปแต่ละขณะ นั่นคือ ธรรม..นาทีที่ ๑๒.๕๔ (นามธรรม)

    ไม่มีอะไรอื่นนอกจากนี้ ที่ควรรู้ยิ่ง นอกจากสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน แต่ไม่ใช่หมายความว่า ยังคิดอยู่ ยังคิดไป ยังห้ามคิดไม่ได้ นั่นไม่ใช่ธรรม เป็นตัวเราที่ต้องการอย่างนั้น แล้วก็สงสัยว่า ทำไมบังคับบัญชาไม่ได้ แต่หากรู้ว่า ธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย โดยเฉพาะขณะนี้ ปรากฏแล้วเพราะเกิด ไม่มีใครทำอะไรได้เลยสักอย่างเดียว สภาพธรรมใดที่เกิด เกิดแล้วใช่ไหม จึงปรากฏ สภาพธรรมทั้งหมดที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือเมตตา อิสสา อะไรๆ ก็ตามทั้งหมดที่มี เมื่อเกิดแล้วจึงปรากฏ แล้วก็ไม่มีใครไปทำให้เกิด

    ผู้ฟัง กุศลจิต อกุศลจิตที่เกิดทางใจ กับมโนกรรม ต่างกันไหม

    ท่านอาจารย์ กรรมมี ๓ อะไรบ้าง

    ผู้ฟัง มโนกรรม กายกรรม วจีกรรม

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วจริงๆ แล้ว ก็เป็นเจตนาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท

    นี่คือความเข้าใจธรรม ต้องเข้าใจขั้นต้น แล้วค่อยๆ เข้าใจความละเอียดขึ้น เจตนาเป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท เพราะฉะนั้นเจตนาเจตสิกเกิดกับกุศลจิต เจตนาที่เป็นกุศลก็มี เจตนาที่เป็นอกุศลก็มี เจตนาที่เป็นวิบากก็มี มีเมื่อไร

    ผู้ฟัง เมื่อเกิดกับวิบากจิต

    ท่านอาจารย์ เจตนาที่เป็นกิริยาก็เกิดกับจิตที่เป็นกิริยา ขณะเห็น มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหมคะ

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เป็นกรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ ความละเอียดที่เราจะพูดถึงส่วนหนึ่งส่วนใดในพระไตรปิฎก โดยที่ไม่ได้เข้าใจจริงๆ จะมีแต่ความสงสัย เพราะว่าส่วนใหญ่จะพบข้อความตอนหนึ่งตอนใดจากพระไตรปิฎก แล้วก็อ้างด้วยว่ามาจากพระไตรปิฎก เช่น อิทธิบาท มี หรือไม่ในพระไตรปิฎก อ่านเฉพาะคำว่า “อิทธิบาท” แล้วก็รู้ว่า อิทธิบาทได้แก่อะไรเท่านั้น สามารถจะเข้าใจอิทธิบาทได้ หรือไม่ เมื่อไม่สามารถจะเข้าใจได้ ก็คิดกันไปต่างๆ นานา ไม่ได้ศึกษาตั้งแต่ต้นตามลำดับว่า แท้ที่จริงแล้ว คำนี้ใช้เมื่อไร และหมายความถึงอะไร ฉันใด เรื่องของกรรมก็เหมือนกัน การที่จะให้เข้าใจเรื่อง “มโนกรรม” โดยที่ไม่เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมโดยละเอียดตั้งแต่ต้น ก็ยังคงสงสัย เพราะว่าไปถึงข้อความอีกตอนหนึ่ง จะกล่าวถึงเจตนาที่เป็นลักษณะของกรรมแต่ละกรรม ตามที่ได้ฟัง ที่กล่าวถึงเมื่อวานนี้ เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะมีความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า เจตนาเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกประเภท แต่ว่าขณะที่กำลังเห็น แม้ว่ามีเจตนาเกิดกับจิตที่เห็นเป็นวิบากจิต แต่เราก็ไม่สามารถเข้าใจลักษณะของเจตนาขณะนั้น เพราะว่าไม่ได้ปรากฏเหมือนอย่างกุศลเจตนา และอกุศลเจตนา

    ที่เราสามารถเข้าใจได้ ก็คือเจตนาที่เป็นกุศล และเจตนาที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นถ้าเจตนาที่เป็นกุศลจิตเกิดทางจักขุทวาร คือ กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ดับ ก่อนจะเห็น จิตเป็นภวังค์ เมื่อภวังคจลนะไหว ภวังค์คุปเฉทะดับไป ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม มี เป็นชาติกิริยา รู้ได้ หรือไม่ขณะนี้ รู้ไม่ได้ เพราะเร็วมาก เจตนาที่เป็นกิริยาก็ดับไป จะไม่ให้เป็นกรรมได้ไหม

    นี่คือการจะเข้าใจสภาพธรรมแม้ในขั้นการฟัง เจตนาเจตสิกที่เกิดกับปัญจทวาราวัชชนจิต คือ วิถีจิตแรกที่ยังไม่ทันเห็นเลย แต่เมื่อรูปารมณ์ หรือรูปธาตุกระทบกับจักขุปสาท แล้วภวังคุปัจเฉทะดับไป วิถีจิตแรก คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งขณะนั้นรู้ว่า มีสิ่งที่กระทบตา แต่ยังไม่เห็น เพราะฉะนั้นก็จะใช้คำว่า จักขุทวาราวัชชนจิตก็ได้ มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นกรรม หรือเปล่า

    การเข้าใจธรรม ต้องเป็นเรื่องที่ตรง เจตนาเป็นกรรม เกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้ วิบากจิตก็ได้ กิริยาจิตก็ได้ จะไม่ให้เจตนาเจตสิกเป็นกรรมในขณะนั้นไม่ได้เลย แต่โดยสหชาตกัมมปัจจัย เป็นกัมมปัจจัย เพราะเหตุว่าเกิดร่วมกับเจตสิกอื่น ก็ทำกิจโดยฐานะของวิบาก

    นี่ก็เป็นเรื่องที่จะได้เข้าใจ แม้แต่คำถามเรื่องของมโนกรรม ก่อนจะถึงคำนั้น ก็จะต้องเข้าใจว่า เจตนาเจตสิกเป็นกรรมเสมอ ไม่ว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด แต่โดยฐานะ ของกัมมปัจจัย ซึ่งเป็นปัจจัยในขณะนั้น สภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดร่วมกันเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน แต่ว่าโดยสถานใด ถ้าผัสสเจตสิกเกิด ผัสสะไม่ใช่กัมมปัจจัย เป็นอาหารปัจจัย

    นี่คือลักษณะของเจตสิกแต่ละชนิด ซึ่งเกิดร่วมกัน แต่ถ้าจะกล่าวถึงกรรม เจตนาเจตสิกขณะนั้นเป็นกรรม แต่เป็นสหชาตกัมม และเป็นวิปากปัจจัย หรือเปล่า สำหรับคนที่เรียนแล้วอยากจะรู้ ก็ไปพิจารณาไตร่ตรองได้ แต่ขณะนี้จะพูดเฉพาะเรื่องกรรม ซึ่งสงสัยเรื่องของมโนกรรม

    สำหรับจักขุวิญญาณ ก็มีกรรม และเวลาที่เราพูดถึงกุศล และอกุศล ซึ่งส่วนใหญ่เราจะเจาะจงเฉพาะกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม หลังจากที่เห็นแล้ว รูปยังไม่ดับ อกุศลจิตเกิดขึ้น มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม มี เป็นอกุศลกรรม หรือไม่ เป็น ถ้าจะกล่าวถึงที่เป็นกรรมบถ เป็นอกุศลกรรมบถ หรือยัง ยัง แต่เป็นมโนกรรม เพราะเหตุว่ายังไม่มีการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่จะล่วงออกไป ที่จะเห็นว่า เป็นการกระทำโดยกรรม สำเร็จทางกาย หรือทางวาจา แต่ว่าแม้เจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต หรืออกุศลจิตขณะใด ก็เป็นกรรม ถ้ายังไม่ล่วงออกไป ก็เป็นมโนกรรม

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวว่า การฟังพระธรรม คือ ให้เข้าใจตามสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ควรนำความคิดความเห็นมาเกี่ยวข้องด้วย ก็อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ที่ว่าเป็นความคิด หรือความเห็นในทีนี้ จะหมายถึงอะไร

    ท่านอาจารย์ บางคนบอกว่า อิทธิบาทเวลาขับรถ เป็นความคิดความเห็น หรือไม่

    อ.วิชัย ก็เป็นความเข้าใจของเขาที่เคยได้ยินมา

    ท่านอาจารย์ เราอ่านพระธรรมเพียงนิดเดียว และไม่ได้ศึกษาตามลำดับ เพราะฉะนั้นความคิดความเห็นของเรา ก็คิดตามที่เราคิดเอง

    อ.วิชัย คือ ถ้าเป็นความคิดเห็นของตัวเอง กับความคิดตามสิ่งที่ได้ยินได้ฟังตามพระธรรม มีความต่างกันแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ ต่างกันที่ได้ยินแล้วไตร่ตรอง เป็นสิ่งที่มีจริง สามารถจะเข้าใจอย่างที่กล่าวได้ หรือไม่ เช่น เห็นเป็นธรรม แล้วเป็นธรรมที่เป็นวิบาก ไม่ได้คิดเอาเอง สามารถจะไตร่ตรองเข้าใจได้ไหมว่า เห็นเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ต้องอาศัยสภาพธรรม คือ จักขุปสาท และรูปธาตุ หรือวัณณะ และจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งนั้นขณะใด ขณะนั้นก็เป็นจิตประเภทที่เป็นผลของกรรม คือ เป็นวิบากจิต ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะรู้ว่า เราไม่ได้คิดเอง แต่ว่าตามความเป็นจริง หรือเปล่า ขณะนี้มีเห็น ใครก็บังคับเห็นไม่ได้ ใช่ไหม อุปัติ เกิดขึ้น เมื่อมีการประจวบกัน โดยกรรมเป็นปัจจัย ถ้ากรรมไม่เป็นปัจจัย ก็ไม่มีการที่จักขุวิญญาณจะเกิดขึ้นเห็นเลย แม้มีจักขุปสาท และมีรูป

    ผู้ฟัง มีโน้ตมาจากท่านผู้ฟัง อยากจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์โดยเฉพาะว่า

    "ดิฉันเห็นผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง อยู่ในโรงพยาบาล แล้วเขาก็นั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจพร้อมทั้งบริกรรมพุทโธ ประมาณ ๓๐ นาทีทุกวัน ดิฉันก็สงสัยว่า เป็นมิจฉาสมาธิ หรือไม่ และควรจะนั่ง หรือไม่ เพราะเหตุใด?"

    ท่านอาจารย์ นั่งแล้วสบายไหม ต้องเป็นเรื่องสนทนา เราไม่สามารถที่กล่าวภายนอกที่ใครคนหนึ่งคนใดทำ แล้วจะไปล่วงรู้ถึงจิตใจของเขาไปหมด เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้แต่เขาเอง เขาก็ไม่รู้ว่ามีประโยชน์ หรือเปล่า แล้วทำทำไม เพื่อประโยชน์อะไร

    ก็เป็นความสงสัยแล้ว และไม่ใช่ปัญญาด้วย พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงธรรมให้เกิดอกุศล หรือความไม่รู้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นกุศล ก็คือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม เมื่อได้มีการเข้าใจคำสอน ก็สามารถจะรู้ด้วยว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรม ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567