พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 243


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๔๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้ จิตเกิดไม่ได้เลยถ้าไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจิตจึงต่างกันไป จิตที่เป็นกุศลเมื่อโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตที่เป็นอกุศลเมื่ออกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตที่เป็นกิริยามีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เจตสิกนั้นไม่ใช่กุศล และไม่ใช่อกุศล และจิตที่เป็นวิบาก ก็มีเจตสิกที่เป็นวิบากเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ก็เรียกว่า จิตเป็นกุศล เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีเจตสิกนั้นๆ เกิดร่วมด้วย แต่ลักษณะของจิตเป็นปัณฑระ คือ เฉพาะจิตจริงๆ ผ่องใส ในความหมายที่ว่า ไม่กล่าวถึงเจตสิกซึ่งเกิดร่วมที่ทำให้จิตเปลี่ยนสภาพเป็นจิตประเภทต่างๆ คือ เป็นอกุศลบ้าง เป็นกุศลบ้าง

    ผู้ฟัง คำว่า “ปัณฑระ” ตามที่เคยกล่าวว่า จิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกัน ถ้าปกติจิตเป็นปัณฑระอยู่แล้ว กุศล หรือไม่ใช่กุศล เขาเกิดทีหลัง ไม่ใช่ หรือ

    ท่านอาจารย์ พร้อมกันไม่แยกกันเลย

    ผู้ฟัง เพราะความเร็ว เราจึงว่าพร้อมกัน หรือว่าพร้อมกันจริงๆ

    ท่านอาจารย์ พร้อมกันแน่นอน เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายถ้าไม่มีปัจจัยก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย และเจตสิกเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดจิต และจิตก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเจตสิก ปราศจากกันไม่ได้

    ผู้ฟัง การเห็นของ ๒ สิ่ง เช่น เห็นก้อนอิฐ กับเห็นเพชร ๑ เม็ด โลภะเกิดพร้อมกันกับเห็นก้อนอิฐกับเห็นเพชร พร้อมกัน หรือไม่

    ท่านอาจารย์ จิตเห็น ไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นไม่ใช่ขณะที่เกิดความติดข้องในสิ่งที่เห็น

    ผู้ฟัง แต่ที่โลภะเกิดขึ้นหลังจากที่รู้ว่าเป็นอิฐ หรือรู้ว่าเป็นเพชร

    ท่านอาจารย์ หลังจากจิตเห็นดับไปแล้ว

    ผู้ฟัง ตรงนี้ที่ผมบอกว่า มาทีหลัง ไม่พร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่จิตเห็นเกิด ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ใช่โลภเจตสิก ธรรมเป็นสิ่งที่ใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เวลาจิตเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง จะมาก หรือน้อยก็ต่างกันตามประเภทของจิตนั้นๆ

    ผู้ฟัง ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดรู้ลักษณะที่เห็น ก็ต้องสว่าง หรือไม่

    ท่านอาจารย์ จิตไม่ใช่รูป ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคง

    ผู้ฟัง ถ้ารู้ลักษณะที่เห็นแล้ว

    ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะที่เห็นแล้ว หมายความถึงรู้ลักษณะของอะไร

    ผู้ฟัง ของนามธรรม

    ท่านอาจารย์ นามธรรมมีรูปร่างไหม

    ผู้ฟัง นามธรรมไม่มีรูปร่าง แต่ยังสงสัยว่า รู้ลักษณะนามธรรมที่เห็นแล้ว

    ท่านอาจารย์ รู้ คืออะไร ในที่นี้

    ผู้ฟัง รู้ คือ สติสัมปชัญญะเกิด

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นต้องเป็นปัญญาที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ สติไม่รู้เหมือนกับปัญญารู้ สติเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ก็จริง แต่ทำหน้าที่ระลึก คือ รู้ตรงลักษณะของปรมัตถธรรม แต่ปัญญาเข้าใจถูก เห็นถูก ไม่ได้เข้าใจผิด ปัญญาเข้าใจในสภาพซึ่ง "รู้" ว่าลักษณะรู้ไม่มีรูปร่างสัณฐานเลย เป็นธาตุซึ่งเกิดรู้ เพราะฉะนั้นตัวธาตุนั้นจริงๆ เมื่อไม่ใช่รูป จะสว่างไหม

    ผู้ฟัง ไม่สว่าง

    ท่านอาจารย์ นามธรรมทั้งหมดสว่างไหม

    ผู้ฟัง ไม่สว่าง

    ท่านอาจารย์ รูปทั้งหมดสว่างไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ รูปไหนสว่าง

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตาสว่าง

    ท่านอาจารย์ รูปเดียวในบรรดารูปทั้งหมด ที่ปรากฏทางตาได้

    ผู้ฟัง แล้วตัวอารมณ์จะไม่มาเกี่ยวข้องกับ ...

    ท่านอาจารย์ อารมณ์คืออะไร

    ผู้ฟัง อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้อะไรปรากฏให้รู้

    ผู้ฟัง ขณะนี้ก็เห็นอยู่

    ท่านอาจารย์ อะไรปรากฏ มีตาไหม มีหูไหม มีจมูก หรือไม่ เพราะฉะนั้นอะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏกับอะไร

    ผู้ฟัง กับจิตเห็น

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต สิ่งที่ปรากฏทางตาจะปรากฏได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ และจิตเห็นเป็นใคร หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็นใคร

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรไม่เป็น

    ผู้ฟัง ก็ฟังแล้วพิจารณา

    ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะฟัง แล้วก็เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏกับจิตเห็น เพราะฉะนั้น ก็เป็นความเข้าใจของเราเอง แต่รู้ว่าผู้ใดสามารถที่จะกล่าวอย่างนี้ได้ ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คนอื่นจะมีโอกาสเข้าใจอย่างนี้ได้ไหม

    ผู้ฟัง เวลาที่โสมนัสปรากฏจริงๆ ไม่เหมือนกับตอนที่เราได้ของแล้วเราดีใจ

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นสิ่งที่คิด แต่ยังตอบได้ หรือตอบไม่ได้

    ผู้ฟัง ตอบได้ แต่หมายความว่าหลังจากที่คิด แต่ก็ยังงงๆ อยู่

    ท่านอาจารย์ ตอบได้จากคิด แต่ไม่ใช่ในขณะนั้นที่สามารถที่จะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า เป็นอย่างนั้น สิ่งใดที่ล่วงไปแล้วจะตามคิดสักเท่าไร ก็เป็นแต่เพียงเรื่อง และชื่อ และเข้าใจเอาเอง เพราะว่าแม้ขณะนั้นจริงๆ ถ้าไม่ใช่สติสัมปชัญญะ ไม่มีลักษณะปรากฏจริงๆ ให้รู้ เช่น ขณะนี้พูดถึงเจตสิกทุกประเภท เวทนา ความรู้สึกก็มีตั้งหลายประเภท แต่ว่าเกิดดับเร็วมาก หมดแล้ว สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ไม่สามารถที่จะให้ความจริงได้ เพราะหมดแล้ว ได้แต่เพียงคิดถึง และวิจัยวิจารณ์ คาดคะเน แต่ไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่จะรู้ได้จริงๆ ด้วยสติสัมปชัญญะ เราพูดเรื่องโลภะ ความติดข้อง ขณะนี้รู้เห็น หรือรู้โลภะ ก็ยังบอกไม่ได้ เห็นก็มี โลภะก็มี เหมือนพร้อมกัน เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่า กำลังรู้ความจริงของสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้เลย ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด

    ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงว่า ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง เพราะว่าขณะนี้หมดโอกาสที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ และจะเป็นอย่างนี้ตลอดเวลาที่เราคิดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ขณะนี้เหมือนปรากฏ แต่ความจริงดับแล้วอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้สติสัมปชัญญะจึงค่อยๆ รู้สิ่งที่ปรากฏ ไม่ต้องไปคำนึงถึงอะไรเลย ที่อยากจะรู้ เพราะ เรา ใช่ หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ต้องมีแน่นอน

    ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อไรจะหมด เรา ที่อยากจะรู้ เราที่เป็นอย่างนั้น เรา ที่เป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ทราบว่าจิตนั้นเป็นกุศล หรืออกุศล ถ้าเทียบเคียงด้วยเวทนาว่า เป็นโทมนัส หรือโสมนัส ก็พอจะอนุมานขั้นนึกคิด ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เวลาตอบ เราตอบได้เลยว่า ถ้าเป็นความรู้สึกไม่สบายใจ ต้องเป็นโทสมูลจิต เป็นโทมนัสเวทนา เวลาที่สบายใจ เบิกบานใจ ขณะนั้นเป็นโสมนัสเวทนา แต่ลักษณะนั้นไม่ได้ปรากฏให้รู้อีกแล้วเพราะดับไปแล้ว มีแต่เดี๋ยวนี้ เวทนามีแน่นอน จะเป็นเวทนาไหนก็ตามแต่ จะรู้ได้จริงๆ เมื่อสิ่งนั้นกำลังปรากฏให้รู้ และเราจะไม่ไปคิดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้วเลย และเราจะรู้ด้วยว่า เพราะความเป็นเรา ทำให้ยังกังวลถึง คิดถึง ยังไม่หมดไป ที่อยากจะรู้ว่าเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เราจะพิจารณาจากเวทนาเป็นหลัก หรือจะพิจารณาจากจิตเป็นหลักในการที่จะรู้ว่าเป็นกุศล หรืออกุศล วิบาก กิริยา

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ยังไม่ได้รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมใดสักอย่างหนึ่ง หรือว่ากำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง

    ผู้ฟัง ขณะนี้ยังไม่มี

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ยังไม่มี เพราะฉะนั้นก็หมายความว่า เราศึกษาเรื่องราวของสิ่งที่มี และเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก จากการศึกษาทราบได้ ถ้าไม่มีกาย หรือกายปสาทตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ทุกขเวทนา ความรู้สึกเป็นทุกข์ จะมีได้ไหม

    ผู้ฟัง มีไม่ได้

    ท่านอาจารย์ มีตา เคยเจ็บตาไหม

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ มีหู เคยปวดหูไหม

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ มีกระเพาะ มีลำไส้ แล้วแต่เราจะเรียก แต่เป็นกายที่มีกายปสาทตรงไหน ก็เป็นปัจจัยให้ความรู้สึกเป็นทุกข์ที่กายเกิดขึ้น ต้องเรียกอะไร หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ต้องเรียก แต่มีลักษณะให้รู้ได้

    ท่านอาจารย์ มีให้รู้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่มีให้ไปคิดว่าชื่ออะไร

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ท่านอาจารย์กล่าวอย่างนี้ ก็หมายความว่าในขณะศึกษา ขณะฟัง ขณะอ่าน ขณะที่กำลังคิดพิจารณา ก็ต้องเป็นลักษณะเรื่องราวที่เราได้ศึกษาตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เช่น กายวิญญาณ สภาพที่รู้ทางกาย เกิดร่วมกับสุขเวทนาก็ได้ เกิดร่วมกับทุกขเวทนาก็ได้ นี่คือความที่เราฟัง และพิจารณาว่าถูกต้อง ที่กายมีกายปสาทซึมซาบอยู่ตลอด เป็นปัจจัยให้เดี๋ยวเจ็บ เดี๋ยวเมื่อย เดี๋ยวคัน เดี๋ยวปวด ก็แล้วแต่ที่กาย อาศัยกาย ทุกขเวทนานั้นจึงเกิด นี่ขั้นฟัง แต่ว่าไม่ได้เข้าใจลักษณะซึ่งเป็นสภาพธรรม เช่น เวลาที่เจ็บ ลักษณะที่เจ็บ ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ไม่มีใครไม่รู้จักเจ็บ ใช่ไหม ถ้าไม่รู้จัก ก็ตีเข้าทีหนึ่ง ก็จะรู้จักว่า เจ็บมีลักษณะอย่างไร ต้องรู้จักแน่ๆ แต่ไม่รู้ความจริงว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น เป็นลักษณะหนึ่ง ซึ่งทั้งวันก็มีลักษณะของสภาพธรรมทั้งนั้นเลย ที่จะกล่าวว่า ทุกอย่างเป็นธรรม หรือธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็เพราะเหตุว่าทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรม แต่ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น เวลาเจ็บ ไม่ใช่ให้ไปรู้ว่า เป็นทุกขกายวิญญาณ เพราะอาศัยกายปสาท สิ่งนี้จึงได้เกิดขึ้น ไม่ใช่ แต่ลักษณะที่เจ็บ ไม่เคยรู้เลยว่า ลักษณะนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดปรากฏ ต่างกับลักษณะอื่น ต่างกับเห็น ต่างกับสิ่งที่ปรากฏทางตา เพื่อที่จะได้รู้ว่า เป็นธรรมทั้งหมด นี่ก็เพียงหนึ่ง ก็ไม่รู้ใช่ไหมว่าเป็นธรรม แต่กล่าวว่า “ทุกอย่างเป็นธรรม” แล้วก็กล่าวต่อไปว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” คือ ทั้งหมดที่ได้ฟัง แต่ลักษณะจริงๆ ที่เรากำลังพูดถึง เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงทุกอย่าง ยังไม่ได้รู้ด้วยสติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น จึงรู้ความต่างกันว่า ความรู้ขั้นฟังขั้นหนึ่ง ความรู้จริงๆ ที่เกิดพร้อมกับสติสัมปชัญญะนั้นอีกขั้นหนึ่ง ความรู้ขั้นประจักษ์จริงๆ ที่จะละความเป็นเรา เป็นอีกขั้นหนึ่ง

    ผู้ฟัง แต่ความเข้าใจนั้น ก็จะต้องจำจากชื่อ หรือเรื่องราวต่างๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณประทีปจะไม่จำว่า กายวิญญาณ หรือทุกขเวทนา อกุศลวิบาก แต่ลักษณะความเจ็บมี ให้เข้าใจตรงนั้นว่า ลักษณะเป็นสภาพธรรมที่เป็นลักษณะอย่างนั้น เกิดแล้วก็ดับด้วย แต่ว่ายังไม่ประจักษ์ แต่เริ่มรู้ว่า มีลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างในชีวิตประจำวันที่ปรากฏโดยไม่รู้เลย และก็ยึดถือว่าเป็นเรา หรือของเราทั้งนั้น ถึงจะรู้จากการฟังก็เป็นขั้นฟัง เพราะว่าลักษณะจริงๆ แม้มี แต่สติสัมปชัญญะยังไม่ได้รู้ตรงลักษณะนั้นตราบใด ก็ยังคงเป็นเพียงการคิดเรื่องนั้นอยู่

    ผู้ฟัง จำเรื่องเสมอ ว่านามธรรมไม่เหมือนกับรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ลืมเสมอ ผิดปกติ หรือเป็นปกติ เพราะว่าแม้สติสัมปชัญญะที่เกิดก็ต้องมีเหตุปัจจัยน้อย หรือมากในสังสารวัฏฏ์ที่จะเกิด หรือเมื่อไม่เกิดแล้ว แล้วจะเกิดอีกนานไหม หรือบางครั้งก็อาจจะไม่เกิดเลยก็ได้ แต่ทั้งหมดเพื่อคลายความเป็นเรา แต่ทีนี้พอฟังแล้ว เป็นปัจจัยให้อยากได้เพื่อเรา ก็เป็นการสวนทางอยู่ตลอดเวลา

    ผู้ฟัง แต่เราเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ดีถ้าเจริญปัญญา ปัญญาเป็นสิ่งที่ดี ที่ต้องเจริญ แต่โดยไม่มีตัวตน ยากมาก เพราะว่าตัวตนอยากจะรู้

    ท่านอาจารย์ ก็เห็นความยากว่า เพราะเหตุใดผู้ที่เป็นผู้ตรง ก็ยังต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็รู้ได้ว่า ถ้าหลงลืมสติบ่อย ก็เพราะเหตุว่ามีเหตุที่สะสมมาที่จะหลงลืมสติ ยังมากเหลือเกิน ก็ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้สติเกิด แล้วไปคิดว่า สติเกิดมากๆ เอาเหตุนั้นมาจากไหน

    ผู้ฟัง แต่ว่าความเข้าใจขั้นการฟัง ก็ต้องสมบูรณ์เพียงพอ

    ท่านอาจารย์ ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ และเป็นไปเพื่อการละ ถึงจะกันโลภะได้

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นไปด้วยการละ ก็ครอบคลุมหมดว่า ขณะที่เป็นผู้ไม่หลงลืมสติเสมอ ก็คงไม่ถูกต้องแล้ว

    ผู้ฟัง มีคำถามจากอินเทอร์เน็ตว่า เราจะใช้อะไรเป็นตัวตัดสินว่า เมื่อไรจะเป็นจักขุวิญญาณกุศลวิบาก หรือจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ ใครมีปัญญาระดับที่จะตัดสินได้ ก็อาศัยกรรมที่จะทำให้รู้ว่า เมื่อเป็นกาลที่กุศลวิบาก คือ ผลของกุศลจะเกิด เมื่อมีรูปที่น่าพอใจ ปัจจัย คือ กรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้รูปนั้นกระทบกับจักขุปสาท ไปเรียกร้องรูปดีๆ มาให้กระทบตาเราได้ไหม เพราะไม่ใช่กาลที่กุศลวิบาก หรือกุศลกรรมจะให้ผล โดยการเห็น การให้ผลของกรรม จะทางตาเห็นก็ได้ ทางหูได้ยินก็ได้ ทางจมูกได้กลิ่นก็ได้ ทางลิ้นลิ้มรสก็ได้ ทางกายกระทบสัมผัสก็ได้ เลือกได้ไหมว่า ขอให้กรรมให้ผลทางนี้เถิด อย่าให้ผลทางอื่นเลย เลือกรับแต่กุศลวิบากทางตา ไม่รับทางอื่น หรือรับแต่กุศลวิบากทางลิ้น ไม่รับทางอื่น เลือกไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น “วิปากะ ” หมายถึงความสุกงอมพร้อมที่กรรมนั้นจะให้ผล ทางไหน ใครมีอำนาจไปบังคับ ไปขอร้องกรรมที่จะเปลี่ยนไปให้ผลทางโน้นทางนี้ได้ ด้วยเหตุนี้ถ้ายังไม่ถึงกาลที่กุศลวิบากจะเกิดขึ้น กรรมยังไม่ได้เป็นปัจจัยให้วิบากทางตาเกิด แม้รูปดีๆ น่าพอใจจะมี เกิดแล้วดับไป ๑๗ ขณะ ไม่กระทบจักขุปสาท เพราะเหตุว่าไม่ถึงกาลที่กรรมนั้นจะให้ผล นี่คือหลักที่เราสามารถจะตอบได้ว่า ถ้าเป็นเหตุที่ดี คือ กุศลกรรม ก็เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากทางตาเห็นสิ่งที่ดี ทางหูได้ยินเสียงที่น่าพอใจ ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส กายกระทบสัมผัสสิ่งที่น่าพอใจ แต่ไม่มีใครสามารถที่จะชี้ขาดว่า รูปซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะที่กำลังกระทบตา หรือหู ต่างๆ เหล่านี้ เป็นอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ เพราะเหตุว่าเกิดหลังจากที่ปัญจทวาราวัชชนจิตดับ ยังไม่ได้รู้เลยว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร แต่ก็มีปัจจัยพร้อมที่จะทำให้จิตที่เกิดดับสืบต่อเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วแต่ว่าแม้อารมณ์ที่ดีเกิดแล้วปรากฏ โลภมูลจิตก็ติดข้อง เป็นอกุศลต่อไป นี่ก็เป็นสิ่งที่ทุกอย่างที่เราศึกษาเพื่อให้เข้าใจความจริงว่า เป็นธรรม เป็นธาตุ ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงบังคับบัญชาไม่ได้ เพื่อละความเป็นเรา ไม่ใช่เรียนเพื่อให้เราได้มีอะไรดีๆ มีกุศลวิบากดีๆ ได้มีกุศลจิตมากๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่เรียนเพื่อให้เราดี หรือให้สิ่งที่ดีนั้นเป็นของเรา แต่เรียนเพื่อให้รู้ว่า ไม่มีเรา แต่เป็นธรรมทั้งหมด ทุกอย่างเป็นธาตุ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ไม่ใช่ให้เราสามารถบอกได้ว่า ขณะนี้เป็นกุศลวิบาก หรือว่าเป็นอกุศลวิบาก ผู้ที่จะบอกได้ก็มีพระองค์เดียว คือ พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็ทรงแสดงเหตุว่า เมื่อเป็นผลของกุศลกรรมเมื่อใด จิตเห็นที่ดีก็เกิดขึ้น แต่ไม่ได้ทรงแสดงทุกรูปที่เกิดว่า รูปนี้เป็นอิฏฐารมณ์ รูปนั้นเป็นอนิฏฐารมณ์ แต่ก็ใช้การวินิจฉัยของคนส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถชี้ขาดได้ว่า ขณะนั้นเป็นความพอใจของคนส่วนใหญ่ในอนิฏฐารมณ์ก็ได้

    อ.ธิดารัตน์ ปัญหาที่ผู้ที่ศึกษาใหม่ และพิจารณาธรรม ก็จะสับสนกันอยู่ ก็จะไม่ค่อยได้ความกระจ่าง เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็จะสงสัยว่าเป็นอย่างไร แต่ละคนก็พยายามศึกษา หรือสนใจลักษณะ แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงได้ ก็เกิดความสงสัย ท่านอาจารย์จะให้คำแนะนำอย่างไร ที่จะทำให้เข้าถึงลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพรู้ ขณะนี้กำลังเห็น คำนี้ไม่เปลี่ยนเลย จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจคำเดิม สภาพธรรมก็กำลังมีจริงๆ ค่อยๆ เข้าถึงลักษณะซึ่งเห็น เป็นสภาพรู้ที่สามารถเห็น กำลังเห็น รู้โดยการเห็น หรือว่า โดยการคิดนึก หรือโดยการได้ยิน

    อ.ธิดารัตน์ ก็คงจะต้องค่อยๆ ศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ลักษณะของจิตอย่างมั่นคงขึ้น และลักษณะของเจตสิกให้มั่นคงขึ้น ลักษณะของรูปธรรมต่างๆ ซึ่งมีความต่างกัน ตรงนี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้เป็นพื้นฐานความเข้าใจ ที่จะทำให้ระลึกรู้สภาพธรรมได้จริงๆ ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีวิธีอื่น ก็รู้สึกจะง่ายดีกว่านี้ใช่ไหม ทำไมถึงยากนักยากหนา จะไปใช้วิธีไหนดี ลองคิดดู มี หรือเปล่า ถ้าไม่มีก็เสียเวลาคิด คิดอย่างไรก็ไม่มีทางอื่น นอกจากเป็นความเข้าใจของตนเอง จากไหน จากการฟัง ฟังแล้วเข้าใจ พิจารณาเพิ่มขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ว่ารู้โดยการเห็น เข้าใจว่า สิ่งที่เห็นเป็นรูป นั่นก็คือรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ เข้าใจว่า สิ่งที่เห็นเป็นรูป หมายความว่าขณะนี้มีรูปที่ปรากฏแล้วเข้าใจ ก็ลักษณะที่กำลังปรากฏอย่างนี้ เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ คือ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปนึกถึง

    ผู้ฟัง การเข้าใจ ก็จะเข้าใจอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่บางขณะความเข้าใจนี้ก็จะเป็นลักษณะที่ว่า รู้สิ่งที่เห็น เป็นสภาพรู้ ความเข้าใจนี้ ...

    ท่านอาจารย์ รู้ คือ ค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้น ไม่ได้เข้าใจผิดในสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง แต่เป็นการเข้าใจว่า สิ่งที่เห็นเป็นรูป เป็นการเข้าใจว่ารู้

    ท่านอาจารย์ กำลังเข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ลักษณะที่ปรากฏ คือ ลักษณะรู้สิ่งที่เห็น

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่รู้ กำลังเข้าใจลักษณะที่ปรากฏ มีจริงๆ กำลังปรากฏ ที่ฟังมาก็คือว่า เป็นสภาพธรรม เป็นธาตุ มีจริงๆ ด้วย ก็จะค่อยๆ รู้ว่า ที่เราเคยคิดถึงรูปร่างสัณฐานว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะที่กำลังคิดถึงสัณฐาน จะเป็นความเข้าใจในลักษณะที่ปรากฏแยกกัน หรือไม่

    ผู้ฟัง แยกกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะสติสัมปชัญญะ ก็รู้ความต่างกันของสติสัมปชัญญะเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นการเห็น ความเข้าใจจะไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เห็นแล้วไม่เข้าใจ เป็นเช่นนี้เสมอๆ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ แต่เมื่อสติเกิด ...

    ท่านอาจารย์ และเห็นแล้วเริ่มเข้าใจ เป็นเรา หรือเป็นสติที่กำลังรู้ตรงเห็น จึงเข้าใจถูกได้

    ผู้ฟัง ความเข้าใจจะคิดไปถึงสิ่งที่เรียนมา

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดก็คือคิด ไม่ใช่ขณะที่กำลังเข้าใจเฉพาะส่วนที่ปรากฏในลักษณะที่มีจริงๆ ก็เป็นผู้ที่ไวขึ้น ที่จะรู้ความต่างกันว่า ขณะที่คิด ไม่ใช่ขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็เรียกว่า ยังไม่เข้าใจ เป็นแค่คิดอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้นก็ไม่เจริญในการฟังธรรม เพราะว่าปนกัน ระหว่างปัญญาขั้นที่คิดไปว่า ขณะนั้นเป็นการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    อ.กุลวิไล การฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏในขณะนี้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567