พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 257


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๕๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง ตรงนี้ก็จะมั่นคงไปเลยว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็คือการเข้าใจว่าไม่ใช่เรา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ท่านอาจารย์กล่าวในลักษณะที่บอกว่า สีถูกเห็น แล้วอะไรเห็นสี เพราะว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้นต้องเข้าใจทั้งรูป และนาม แต่หากเป็นคำถามนี้ สีถูกเห็น อะไรเห็นสี สิ่งที่ถูกเห็นเป็นรูป หรือ เพราะว่าถูกเห็น เป็นลักษณะอย่างนั้น หรือ

    ท่านอาจารย์ รูปคืออะไร

    ผู้ฟัง ที่ฟังมาแล้ว รูปคือสิ่งที่ไม่รู้อะไรเลย

    ท่านอาจารย์ คำนี้เปลี่ยนไม่ได้เลย ไม่ว่าจะมองเห็น หรือมองไม่เห็นอย่างไรก็ตาม สภาพธรรมที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เป็นรูปธรรม กลิ่นมองไม่เห็น รสมองไม่เห็น ก็เป็นรูปธรรม เพราะว่าไม่สามารถจะรู้อะไรด้วย

    ผู้ฟัง แล้วคำว่าอะไรเห็นสี

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีเห็น หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ "เห็น"นั่นแหละเห็นสี หรือสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่เห็นอย่างอื่น

    ผู้ฟัง ฟังดูแล้วลักษณะที่เป็นรูปธรรมกับนามธรรมตรงนี้ก็ต้องสนใจอยู่ ก็คงไม่ต้องไปเรียนอะไรมากมาย ในชีวิตประจำวันก็มีอย่างนี้อยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ เรียนมาก แต่ไม่เข้าใจ กับเข้าใจคำทุกคำที่ได้ยินยิ่งขึ้น อย่างใดจะมีประโยชน์

    ผู้ฟัง สังเกตดูว่า มาฟังธรรมที่นี่ ก็จะพูดกันแต่ลักษณะตรงนี้ว่า การเห็นสิ่งที่ปรากฏ และก็สภาพรู้ ก็เลยเข้าใจว่าตรงนี้กำลังจะแยกความ

    ท่านอาจารย์ แล้วข้อความนี้มีในพระไตรปิฎก หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ถ้ามี ก็ชื่อว่า ฟังธรรมเพื่อเห็นถูก เข้าใจถูกในสภาพธรรมที่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง การที่เราศึกษาพระธรรม คือจะได้น้อมเข้ามาพิสูจน์ใช่ไหมว่า พระพุทธองค์ท่านตรัสเรื่องต่างๆ เป็นความจริง

    ท่านอาจารย์ ไม่มีคำเท็จเลย ไม่มีสิ่งที่ไม่จริง

    ผู้ฟัง แต่บางครั้งเรายังเข้าใจไม่ได้ ก็เลยคิดว่า นี่จริง หรือเปล่านะ

    ท่านอาจารย์ เช่นอะไร

    ผู้ฟัง เช่น สติปัฏฐาน เราจะระลึกรู้ได้จริงๆ หรือตรงสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ สิ่งนั้นมีจริง หรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้ามีความเข้าใจถูก แล้วก็รู้ความต่างกันขณะที่เพียงคิดเรื่องราวกับขณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะของสิ่งนั้น ก็เป็นความต่างกัน

    ผู้ฟัง ขอถามเรื่องศีล ๘ ที่ว่า ถือในวันอุโบสถศีล ได้ฟังที่ท่านอาจารย์บอกว่า อุโบสถศีลเป็นศีลปกติของพระอนาคามีบุคคล แล้วที่ชาวบ้านเช่นเรานี้ไปถือศีล ๘ นั้น ได้ยินคำบอกเล่าจากคนแก่ว่า ถ้าถือศีล ๘ จะทำอะไรไม่ได้เลยเกี่ยวกับการทำมาหากินในวันนั้น คือ ต้องหยุดเลย

    ท่านอาจารย์ ที่ใช้กันมี ๒ คำ ศีล ๘ กับศีลอุโบสถ ศีล ๘ เป็นปกติ จะรักษากี่วันก็ตามอัธยาศัย และศีลอุโบสถ ก็คือ ศีลที่รักษาในวันอุโบสถ

    ผู้ฟัง ถ้ารักษาศีลอุโบสถแล้ว กลับมาบ้านแล้ว เรามีงานทำ เราทำต่อได้ไหม

    ท่านอาจารย์ จุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีลกับการรักษาศีล ๘ ต่างกัน หรือเหมือนกันอย่างไร เพราะว่าศีล ๘ เป็นปกติทุกวันได้ ไม่ใช่วันอุโบสถ แต่พอถึงวันอุโบสถ ชื่อเป็นศีลอุโบสถหมายความว่าอะไร ควรจะทำอะไรในวันนั้น หรือควรจะเหมือนทุกๆ วันที่รักษาศีล ๘ แต่ศีล ๘ ไม่ได้ห้าม เป็นปกติในชีวิตประจำวันได้ แต่เพิ่มขึ้นจาก ๕ เป็น ๘

    ผู้ฟัง สำหรับศีลอุโบสถ ก็ถือในวันอุโบสถ

    ท่านอาจารย์ คือศีล ๘ นั่นแหละ แต่ในวันอุโบสถ

    ผู้ฟัง ก็คือต้องงดการทำมาหากิน

    ท่านอาจารย์ มิได้ คือ ไม่ได้เข้าใจว่ารักษาศีลด้วยอะไร เพื่ออะไร แต่เหมือนมีกฎ มีระเบียบที่จะต้องทำ ถ้าเป็นกุศลแล้วต้องบังคับไหมว่า เมื่อไร วันไหน อย่างไร จะมากจะน้อยอย่างไร สำหรับพระภิกษุทุกวันของท่านก็ต้องตามพระวินัย ซึ่งมากกว่า ๘ หรือมากกว่า ๑๐ ก็ขึ้นอยู่กับเจตนา แต่คำที่ใช้ต่างกัน เพราะเหตุว่าวันอุโบสถ พระภิกษุท่านทำอะไร แล้วผู้ที่รักษาศีลอุโบสถ รักษาแล้วทำอะไร

    ผู้ฟัง มีความคาใจว่า เราผิดไหมที่ว่า เราไปถือศีลอุโบสถ แต่ก็ไปสนทนาธรรมทั้งวันอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ทำดีแล้วยังต้องคาใจอะไรอีก หรือ ในเมื่อเป็นสิ่งที่ดี และทำแล้ว จะต้องคาใจอะไร ทำไมจะต้องมีความข้องใจ จะใช้ชื่ออะไร จะต้องทำอะไร ในเมื่อเป็นสิ่งที่ดี และได้ทำแล้วด้วย

    ผู้ฟัง ได้ฟังท่านอาจารย์ในเทปว่า เป็นศีลของพระอนาคามี

    ท่านอาจารย์ ปกติของท่านซึ่งดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ผู้รักษาศีล ๘ เป็นพระอนาคามี หรือไม่ แล้วจะเป็นปกติอย่างพระอนาคามีได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็รู้ว่าอกุศลเกิด ขณะที่ระลึกรู้ตรงนี้ จากอกุศลเกิดแล้ว

    ท่านอาจารย์ แสดงว่าเราเข้าใจธรรม หรือไม่ เรารู้ว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล หรือไม่ แล้วเรารู้ว่า ชื่อต่างกันเพราะอะไร แต่กุศลจิตเป็น หรือไม่ ถ้ารักษาอุโบสถศีล ใจคิดถึงเรื่องอื่นตลอดเลย วันนี้อาหารเป็นอย่างไร อร่อยไหม ออกจากวัดแล้วจะไปทำอะไรที่ไหน ขณะนั้นเป็นประโยชน์ไหม กับการที่เราจะใช้คำว่า “อุโบสถศีล”

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจลักษณะของกุศลจิต และอกุศลจิต ในยุคก่อนก็คงจะไม่มีธรรมตามบ้านที่จะฟังจากวิทยุ หรือเทปบ้าง ที่ไหนที่จะมีโอกาสได้ฟัง ถ้าไม่ใช่วันอุโบสถ ซึ่งเป็นวันที่ทุกคนโดยเฉพาะพระภิกษุท่านก็แสดงธรรม สนทนาธรรมได้ แต่เหตุการณ์นี้ก็ผ่านไป แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม อะไรๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม กุศลจิต และอกุศลจิตไม่ได้เปลี่ยน เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีความเข้าใจ ขณะไหนเป็นกุศล หรืออยากจะได้ชื่อเพียง รักษาอุโบสถศีล ไปวัดแต่เป็นอกุศลจิต นี่เป็นสิ่งที่ต้องตรง และไม่ต้องไปติดที่ชื่อ เพราะว่าชื่อก็เป็นแต่เพียงวันนั้นเป็นวันอุโบสถ เพราะฉะนั้นศีลที่รักษาในวันอุโบสถก็เลยชื่อว่า อุโบสถศีล เพราะว่าโดยปกติก็คงไม่ได้รับทุกวัน หรือไม่ได้เป็นอย่างนั้นทุกวัน

    อ.ธิดารัตน์ ที่ว่าถือศีล ๘ แล้ว ประโยชน์ของการรักษาศีลเพิ่มข้อขึ้น ก็เป็นการน้อมไปเพื่อขัดเกลาอกุศลของเราโดยความติดข้องต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้น จากศีล ๕ ปกติเท่านั้นเอง และสิ่งที่ควรพิจารณา หรือระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็คือลักษณะของจิตของเราที่เป็นกุศลจิต อกุศลจิตต่างๆ หรือมีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในโอกาสที่มีสภาพธรรมปรากฏ ก็เป็นเรื่องปกติ สบายๆ

    ผู้ฟัง ลักษณะของอนุสัยกิเลสที่สะสมในจิต และจิตดวงหนึ่งๆ เกิดก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป จะสะสมอย่างไร จึงจะสืบเนื่องนอนต่อไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิตเกิดต่อ ก็จะตรงกับคำถามของคุณสุกัญญาว่า จะสะสมได้อย่างไร แต่เมื่อจิตขณะหนึ่งดับไปแล้ว มีจิตขณะอื่นเกิดสืบต่อ จะสะสมที่ไหน

    ผู้ฟัง แสดงว่าจิตทุกขณะที่เกิด ก็มีอนุสัยกิเลสอยู่ตลอด

    ท่านอาจารย์ มิฉะนั้นจะไม่มีจิตที่ต่างกันสำหรับปุถุชนกับพระโสดาบัน และพระอรหันต์เลย

    ผู้ฟัง ลักษณะของจิตที่เป็นกุศล ก็จะต้องมีอนุสัยกิเลสอยู่ในจิตนั้นด้วย

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้น อนุสัยดับด้วยโสตาปัตติมรรคระดับหนึ่ง สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค ถ้าโลกุตตรมรรคจิตไม่เกิด จะดับอนุสัยกิเลสไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นในอกุศลจิต ก็ย่อมมีลักษณะที่สะสมของกุศลจิตอยู่ด้วย

    ท่านอาจารย์ แน่นนอน อาสยานุสยะ สะสมทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นลักษณะของอกุศลจิต แล้วสะสมอกุศล ก็พอเข้าใจ แต่ลักษณะของอกุศลจิตที่มีกุศลสะสมอยู่ด้วย

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญา มีโลภะไหม มีเมตตาไหม

    ผู้ฟัง ก็เป็นบางครั้ง

    ท่านอาจารย์ ทำไมมี มาจากไหน

    ผู้ฟัง ไม่ทราบเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ อยู่ดีๆ โผล่ขึ้นมา หรืออย่างไร

    ผู้ฟัง ลักษณะของเมตตาก็ต้องมีเหตุ และปัจจัย เช่น มีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ พระโสดาบันเห็นแล้วก็มีความเห็นผิด ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ หรือไม่ ก่อนนั้น ก่อนที่จะเป็นพระโสดาบันก็ยังมีความเห็นผิดได้ มีโลภะได้ แต่เมื่อเป็นโสดาบันแล้ว ไม่มีเหตุที่จะให้เกิดความเห็นผิดอีกเลย เพราะว่าได้ดับความเห็นผิดหมด แต่ผู้ที่ยังไม่ได้ดับความเห็นผิด ยังมี แต่จะเกิดเมื่อไร ตามเหตุตามปัจจัย ถ้าอารมณ์ขณะนั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ จะให้โลภะ ความยินดีติดข้องในสิ่งนั้นเกิด ก็เป็นไปไม่ได้ แต่มาจากไหน ถ้าไม่ได้สะสมอยู่ในจิตจนกว่าจะถึงโลกุตตรจิตที่จะดับอกุศล

    อ.กุลวิไล ขอให้คุณวิชัยช่วยทบทวนอีกครั้งสำหรับสภาพธรรม หรือจิตที่เป็นโสภณกับอโสภณ จะได้ทบทวนกันอีกโดยนัยที่ท่านจำแนกจิตโดยโสภณจิต และอโสภณจิต

    อ.วิชัย คำว่า โสภณ และ อโสภณ "โสภณ" หมายถึงสภาพธรรมที่ดีงาม ก็ไม่ใช่เฉพาะจิตอย่างเดียว แต่รวมถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ดังนั้นธรรมที่ดีงามเมื่อเกิดก็ต้องพิจารณาว่า เป็นธรรมที่เมื่อเกิดแล้วไม่มีโทษ และต้องเป็นสภาพธรรมที่ดีงามด้วย ซึ่งถ้ากล่าวโดยสภาพธรรมที่จำแนกจิตประเภทต่างๆ เป็น ๔ ชาติ คือ ชาติกุศล ชาติอกุศล ชาติวิบาก และชาติกิริยา ถ้ากล่าวถึงจิตชาติอกุศล จะเป็นโสภณได้ไหม เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าเมื่ออกุศลธรรมเกิด ไม่ใช่ธรรมที่ดีงามแน่นอน แต่ถ้าเป็นกุศลเกิด เป็นธรรมที่ดีงามไหม เพราะว่าโดยสภาพของกุศล เป็นสภาพที่ไม่มีโทษ ไม่มีโรค คือ ไม่มีกิเลสทั้งหลาย และโดยสภาพของกุศล ก็เป็นสภาพที่ดีงามด้วย ให้ผลเป็นสุข เมื่อกุศลเกิด ขณะนั้นกุศลจิต กุศลเจตสิกเป็นโสภณธรรม อกุศลจิต อกุศลเจตสิกเป็นอโสภณธรรม

    กล่าวถึง ๒ ชาติแล้ว คือ ชาติกุศล และชาติอกุศล เมื่อกล่าวถึงชาติวิบาก และชาติกิริยา "ชาติวิบาก" เป็นโสภณ หรือเป็นอโสภณ เป็นโสภณ ใช่ไหม เป็นอโสภณ ใช่ไหม ใช่ก็มี ไม่ใช่ก็มี สำหรับชาติวิบาก เพราะเหตุว่าต้องพิจารณาว่า โสภณธรรม หมายถึงธรรมที่ดีงาม ดังนั้นจิตชาติวิบากเมื่อเกิด ถ้าเกิดพร้อมกันกับโสภณเจตสิก จิตนั้นก็เป็นโสภณธรรมด้วย เจตสิกก็เป็นโสภณธรรมด้วย แต่ถ้าจิตเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นก็เป็นอโสภณ คือ ไม่ใช่สภาพธรรมที่ดีงาม หมายความว่าไม่ใช่เป็นอกุศล แต่ไม่มีสภาพธรรมที่ดีงามเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น

    ดังนั้น ถ้าพิจารณาคำว่า จิตชาติวิบาก เช่น ขณะที่กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะนั้นเป็นโสภณ หรืออโสภณ เพราะเหตุว่าไม่มีสภาพธรรมที่ดีงามเกิดร่วมด้วยเลย ไม่มีศรัทธา ไม่มีสติ ไม่มีอโลภะ ไม่มีอโทสะเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ดังนั้นจิตเห็นขณะที่กำลังเห็นเป็นอโสภณจิต

    ส่วน "ชาติกิริยา" เป็นโสภณ หรืออโสภณ เป็นโสภณก็มี เป็นอโสภณก็มี ถ้ากล่าวถึงจิตที่เป็นชาติกิริยาที่เป็นอโสภณจิต คือจิตอะไร เป็นอเหตุกกิริยาจิต ถ้ากล่าวถึงอเหตุกะ ก็ต้องพิจารณาว่า อเหตุกจิต หมายถึงจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย ดังนั้นอเหตุกกิริยาจิต คือ จิตชาติกิริยาที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ดังนั้นจิตที่เป็นอเหตุกกิริยาไม่มีโสภณธรรมเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ดังนั้นอเหตุกกิริยาจิตเป็นอโสภณจิต แต่ถ้ากล่าวถึงจิตของพระอรหันต์โดยมาก ยกเว้นหสิตตุปาทจิต จิตนั้นเป็นโสภณจิต เพราะเหตุว่าจิตนั้นมีสภาพธรรมที่ดีงามเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ว่ารู้ยาก ถึงแม้ว่าจะได้ฟังชื่อต่างๆ โสภณ อโสภณ กุศลวิบาก อกุศลวิบาก ก็ตามแต่ แต่ให้เข้าใจว่า ทุกคนที่เกิดมาเพราะจิตเกิด เมื่อมีปฏิสนธิจิต คือ จิตขณะแรกซึ่งเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เมื่อเริ่มปฏิสนธิที่จะหยุด ไม่ให้มีอะไรเกิดต่ออีกเลย เป็นไปไม่ได้เลย ชีวิตของแต่ละคนก็จะแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ปฏิสนธิกาลคือขณะที่เกิด และปวัตติกาล คือ เมื่อเกิดแล้วต้องเป็นไป ยับยั้งไม่ได้เลย เป็นไปเรื่อยๆ เพราะว่ามีเหตุปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมเกิดสืบต่อ จนกว่าจะถึงจุติขณะสุดท้ายเกิดขึ้น ดับไป หมดสภาพความเป็นบุคคลนี้ แต่ปัจจัยยังไม่ได้ดับ ก็ทำให้มีปฏิสนธิจิตเกิดต่อ ซึ่งเราก็เกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน ด้วยความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ก็ยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้น โอกาส กาลที่จะได้ฟังพระธรรม ก็จะทำให้มีความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งมีจริงทุกขณะ เพราะเหตุว่าเมื่อเกิดมาแล้ว ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จิตทุกประเภท นอกจากจุติจิตของพระอรหันต์ จะเป็นอนันตรปัจจัยทำให้จิตต่อไปเกิด ไม่มีใครยับยั้งได้เลย ขณะนี้เป็นปฏิสนธิกาล หรือเป็นปวัตติกาล ปวัตติกาลไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่าปฏิสนธิกาลมีขณะเดียว เมื่อเกิดแล้วก็ยับยั้งไม่ได้เลย สืบต่อไป แล้วแต่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด ซึ่งก่อนฟังพระธรรม ไม่เคยรู้เลย แท้ที่จริงแล้ว สังสารวัฏฏ์มีกิเลสแน่นอน เกิดมาแล้ว มีใครไม่มีกิเลสบ้างไหม คำว่า “กิเลส” หมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม แต่อาจจะหลงเข้าใจผิดคิดว่าดีก็ได้ กิเลสที่ใหญ่ หรือเป็นเหตุให้กิเลสทั้งหลายเจริญขึ้นไม่รู้จบ ก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ แต่ถ้าเป็นฝ่ายดีก็ตรงกันข้าม แต่ทุกคนที่เกิดมาแล้วมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ โดยไม่รู้เลยว่า ขณะใดเป็นโลภะ ขณะใดเป็นโทสะ ขณะใดเป็นโมหะ หรืออาจจะรู้บ้าง ก็เพียงเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้รู้ชัดตามความเป็นจริงในลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    ด้วยเหตุนี้จึงต้องศึกษา เพื่อที่จะให้รู้ว่า ชีวิตที่เราคิดว่า มีความสำคัญมาก เป็นเรา เป็นเขา เป็นเรื่องต่างๆ นั้น ความจริงก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งใครก็ยับยั้งไม่ได้ หรือจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าไม่มีตัวตนที่จะมีอำนาจที่จะทำให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้น เป็นไปอย่างที่ต้องการ หรือว่าไม่ให้เป็นไปอย่างที่เป็นแล้วตามเหตุตามปัจจัย ก็ไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ประโยชน์ของการศึกษาธรรม ก็คือเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม และเมื่อเกิดแล้ว ก็เกิดตามเหตุปัจจัยด้วย แล้วก็ดับไปแม้ขณะนี้เอง ฟังอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ ยังไม่พอที่จะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ขณะนี้ไม่มีอะไรที่เที่ยง ที่ยั่งยืนเลย สักอย่างเดียว เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม เช่นผู้ที่ได้ประจักษ์แล้ว เช่นที่พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประจักษ์ และทรงแสดง

    ด้วยเหตุนี้ต้องอาศัยการฟัง และพิจารณา จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตัวเอง จะไม่มีการถาม แล้วเป็นอย่างไร เป็นกุศล หรือไม่ หรือเป็นอกุศล หรือไม่ แล้วจะทำอย่างไร จะนั่งได้ไหม จะเดินอย่างนี้ได้ไหม นี่คือไม่ได้ฟังธรรม เพราะเหตุว่าถ้าฟังธรรม พิจารณาธรรม เข้าใจธรรม นั่นคือประโยชน์ของการฟัง แต่ถ้าได้ฟังแล้วยังคงไม่เข้าใจอยู่ ขณะนั้นไม่ได้ฟังธรรม หรือฟังเพียงชื่อ แต่ว่าไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ลองคิดดูที่จะเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ยากไหม ยากมาก เพราะอะไร เพราะเคยไม่รู้มานานแสนนาน ที่จะไปใจร้อน รีบเร่ง ให้รู้ความจริงของสภาพธรรม เป็นไปไม่ได้เลย แต่เมื่อฟังแล้วสามารถจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า เข้าใจขึ้นในสิ่งที่ไม่เคยเข้าใจ ขณะนี้มีจิต พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ทรงรู้แจ้งมากกว่าเพียงแค่มีจิต แต่รู้ว่า จิตที่มีในขณะนี้ต่างกันเป็นประเภทต่างๆ โดยชาติ หรือ ชา – ติ การเกิด เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี ซึ่งเป็นเหตุ เป็นกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลก็มี และจิตที่ไม่ใช่ทั้งเหตุ และผล คือ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบากก็มี เป็นกิริยาจิต ซึ่งไม่เป็นเหตุให้เกิดผลเป็นวิบากอีกต่อไป และไม่ใช่ผลซึ่งเกิดมาจากเหตุที่ได้กระทำแล้วด้วย เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นวิบากซึ่งเป็นผลของกรรมหนึ่งกรรมใด

    ด้วยเหตุนี้แม้ขณะนี้ เราศึกษาเพื่อเข้าใจความจริงให้มีความเข้าใจมั่นคงขึ้น จากการฟังแล้วฟังอีกว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริง เป็นจิตเกิดดับ แล้วก็เป็นประเภทต่างๆ แต่ที่จะให้รู้ว่า ขณะนี้เป็นวิบาก หรือว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพียงฟังนี่เข้าใจ แต่เวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นจริงๆ รู้ไหมนี่ก็แสดงให้เห็นว่า ระดับของความรู้ต้องมีต่างกัน ปัญญาขั้นฟังเริ่มรู้เรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ว่าสภาพจริงๆ ของสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งต้องต่างกันด้วย ก็ยังไม่ประจักษ์ เพราะขณะนี้แม้เห็นมี ถ้าไม่ได้ศึกษา จะทราบไหมว่า เห็นขณะนี้เป็นผลของกรรม เกิดมาแล้วต้องเป็นไปตามเหตุ คือ บางขณะเป็นผลของกรรม บางขณะเป็นกิเลส เป็นกุศล บางขณะก็เป็นอกุศล

    นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เวลาฟังธรรม ฟังเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่เกิดกับตนเองในขณะนี้ แต่จะเข้าใจได้มากน้อยขณะไหน ก็ต้องแล้วแต่ เช่น ขณะนี้ เห็น เป็นจิต มีจริงๆ โดยชาติเป็นอะไร จะมี ๔ ชาติ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา จิตเห็นในขณะนี้เป็นอะไร เป็นวิบาก ตอบได้ แน่นอน แต่วันหนึ่งๆ วิบากจิตเกิดนับไม่ถ้วนเลย ทางตาเห็นเป็นวิบากแล้ว ทางหูได้ยินก็เป็นวิบากแล้ว ทางจมูกได้กลิ่นก็เป็นวิบาก ทางลิ้นลิ้มรสก็เป็นวิบาก ทางกายกระทบสัมผัสก็เป็นวิบาก จะรู้วิบากได้ไหม ในเมื่อมีอยู่ตลอดเวลา ย่อมได้ แต่ต้องแล้วแต่ว่า ปัญญาถึงระดับไหน เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ขั้นฟังเรื่องก็ตอบได้ แต่ที่จะรู้ลักษณะของวิบากว่าเป็นวิบาก ซึ่งต่างจากกุศล และอกุศล เพียงขั้นฟังแล้วรู้ ไม่สามารถจะเข้าใจได้ แต่ว่าการฟังอย่างละเอียด ทำให้เข้าใจละเอียดขึ้น ย่อมน้อมไปสู่การที่จะรู้ว่า จิตไม่ใช่เราแน่นอน เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567