พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 259


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๕๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง ความหวั่นไหวคืออะไร อะไรหวั่นไหว

    ท่านอาจารย์ เรา เป็นอกุศล เรา ไม่รู้ เรา ไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจแล้วต้องหวั่นไหวด้วย หรือ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ไม่เข้าใจนั้น เราหวั่นไหวไหม เพราะอยากเข้าใจ อยากเข้าใจแต่ไม่เข้าใจ หวั่นไหวไหม

    ผู้ฟัง ก็หวั่นไหว

    ท่านอาจารย์ เพราะเป็นเราที่ไม่เข้าใจ แต่ถ้าลักษณะที่ไม่เข้าใจมีจริง ขณะนี้มี หรือเปล่า ไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ เช่นนี้ต้องเป็นผู้ที่ตรง สภาพธรรมมี แต่ขณะใดที่ไม่เกิด จะปรากฏได้ไหม เราก็รู้จักแต่ชื่อ จำแต่ชื่อ รู้เรื่องนั้น แต่ถ้าสภาพธรรมยังไม่เกิดขึ้นให้รู้ จะรู้ลักษณะของสภาพนั้นได้ไหม หรือเพียงแต่จำเรื่องราวของสภาพธรรมนั้นไว้

    อ.กุลวิไล ศึกษาอย่างไร ถึงจะรู้ความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ท่านอาจารย์ จุดประสงค์ของการศึกษาเพื่อเข้าใจถูก เข้าใจถูกขึ้นๆ คืออยู่ในธรรม แต่ถ้าเข้าใจผิด ไม่ได้อยู่ในธรรมแล้ว เพราะถ้าไม่เข้าใจ จะมีกุศลใดๆ เกิดขึ้นมาอีกได้อย่างไร ก็นำไปสู่ความไม่เข้าใจเรื่อยๆ จากการคิดผิด ทำผิด ปฏิบัติผิด ก็มาจากความไม่เข้าใจทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อฟังแล้วเข้าใจ ไม่ตกไปสู่ความไม่เข้าใจ หรือความเห็นผิด นั่น คือ ผู้ที่อยู่ในธรรม

    ผู้ฟัง ช่วงใหม่ๆ ที่มาฟังที่นี้ ได้ยินคำว่า สุตตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา รู้สึกว่าห่างไกลมาก แต่พอฟังไปบ่อยๆ ว่า ขณะนี้ทั้ง ๓ ประการ เกิดอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ คงไม่ต้องไปกังวลว่า เป็นสุตตมยปัญญา จินตามยปัญญา หรือ ภาวนามยปัญญา แต่ว่ามีการฟัง ความเข้าใจที่เกิดจากการฟัง สำเร็จเพราะฟัง จะชื่อว่าอะไร ในเมื่อเป็นความเข้าใจที่สำเร็จจากการฟัง เพราะมีการฟัง เวลาที่ฟังแล้วก็ยังไตร่ตรองให้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงขึ้น เพิ่มขึ้น ขณะนั้นจะกล่าวว่าอะไร และขณะนั้นเมื่อมีความเข้าใจแล้ว ก็เป็นการเข้าใจขึ้นอีก เพราะว่ารู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง พิสูจน์ได้ สามารถรู้ความจริงได้ การฟังแล้วเข้าใจขึ้น นั่นก็คือการอบรมให้เกิดปัญญายิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง ฟังแล้วก็เข้าใจว่า แม้ขั้นเข้าใจจนสติปัฏฐานเกิด ก็ยังต้องมาฟังอีกเพื่อให้สติ และ ปัญญา เจริญขึ้นเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ขอให้พิจารณาว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็กล่าวมากมาย แต่ละความไม่รู้ หรือไม่?แข็ง กำลังปรากฏ แข็งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดดับ และเวลาที่จิตเกิดขึ้นรู้แข็ง เป็นเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้วให้ผล ทำให้จิตรู้แข็งเกิดขึ้น ซึ่งขณะที่รู้แข็งนั้น จะมีเวทนาเจตสิก เกิดร่วมด้วยอย่างหนึ่งอย่างใด คือ สุข หรือทุกข์ ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่ถึงฟังอย่างนั้น ก็ยังยึดถือว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นต่อให้ฟังมากสักเท่าไร ละเอียดมากสักเท่าไร ก็ตาม แต่ถ้าไม่ประจักษ์ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม ไม่มีทางที่จะแม้เพียงคลายความเป็นเรา หรือการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเราได้ ก็ต้องค่อยๆ ฟังไป การฟังเพื่อเข้าใจ ทำให้ละความต้องการ หนทางเดียวที่จะละโลภะ เพราะว่าโลภะสามารถทำให้แต่ละคนยังคงอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ต่อไป ทั้งๆ ที่อยู่มานานแสนนาน ก็ยังมีกำลังที่จะให้อยู่ต่อไปอีกนานแสนนาน เพราะไม่รู้ความจริง และมีความต้องการด้วยความเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น "กถา" หรือคำพูดใดๆ ก็ตาม ที่ไม่ทำให้ติดข้องต้องการ กถานั้นเป็นกถาที่ทำให้คลายความติดข้อง หนทางเดียวที่จะโลภะ ที่เป็นความต้องการ ซึ่งเปลี่ยนจากต้องการ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้องการผล คือ การเข้าใจธรรมมากๆ การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมได้ นี่คือความต้องการ ซึ่งเมื่อปัญญาเกิดขึ้น เป็นความรู้ที่จะค่อยๆ คลายความไม่รู้ เพราะรู้ว่า ไม่ใช่สามารถประจักษ์ลักษณะสภาพธรรมด้วยความต้องการ หรือด้วยความเป็นเรา หรือด้วยกลวิธี หรือด้วยอุบายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ต้องเพราะปัญญาอย่างเดียว ปัญญาคือความเห็นถูกต้องในลักษณะของสิ่งที่มีจริง อาศัยการฟัง การค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    วันนี้ มีใครทราบบ้างว่า อวิชชา ความไม่รู้ กับโลภะ มีมากเพียงใด ใครรู้บ้าง เกิดขึ้นครั้งละเล็กครั้งละน้อย ฉันใด และปัญญาที่จะค่อยๆ เข้าใจถูก เห็นถูกจากการฟัง จะให้มากมายต่างกับการสะสมของแต่ละขณะได้อย่างไร ในเมื่อแม้แต่อกุศล คือ อวิชชากับโลภะ ก็สะสมครั้งละเล็กครั้งละน้อย แต่ละขณะ แต่ละวาระ จนวันนี้มากแค่ไหน ก็ประมาณไม่ได้เลย แต่ไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ จนกระทั่งสามารถที่จะละความไม่รู้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ซึ่งขณะนี้ไม่รู้เลยว่า ความเข้าใจที่กำลังมี ก็ค่อยๆ สะสมสืบต่อไป จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ขณะนี้ด้วยความมีตัวตน ก็รู้สึกโมโหว่า ทำไมธรรมก็มีอยู่ตลอด ก็ไม่ได้ระลึกเลย

    ท่านอาจารย์ แล้วใครโมโห ก็เราหมดเลย จนกว่าเป็นธรรมทั้งหมด ก็ลองคิดดูว่า จะนานไหม แม้แต่การคิดเช่นนี้ สติสัมปชัญญะก็สามารถจะรู้ลักษณะนั้นซึ่งดับแล้ว และก็มีขณะอื่นต่อไป ซึ่งสติสัมปชัญญะก็รู้ต่อไปอีก จนกว่าทั้งหมดเป็นธรรม

    ผู้ฟัง พระอรหันต์ไม่มีโลภะ ถึงแม้จะเป็นโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์เลย หรือ พระอรหันต์ก็ต้องล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ เช่นนี้ไม่นับเป็นโลภะ หรือ

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์คือใคร ก่อนที่จะเห็นพฤติกรรม หรือคิดถึงการกระทำของพระอรหันต์แต่ละวัน ต้องรู้คำว่า “อรหันต์” คืออะไร จะเอาปุถุชนเป็นอรหันต์ หรือ

    ผู้ฟัง ท่านไม่มีกิเลสแล้วใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ผู้ดับกิเลสหมด ไม่เหลือเลย ดับอนุสัยกิเลส

    ผู้ฟัง ท่านต้องการอาบน้ำ ต้องการฉันอาหาร

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีปฏิสนธิแล้ว ต้องมีปวัตติ เมื่อเกิดมาแล้วต้องเป็นไป จนกว่าจะสิ้นสุดกรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนั้น เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วจะไม่มีกิเลสเป็นพืชเชื้อที่จะทำให้มีปฏิสนธิจิตอีกต่อไป แต่ระหว่างที่พระอรหันต์ยังไม่จุติ เมื่อมีปฏิสนธิแล้วต้องมีปวัตติ ไม่ใช่ว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่เห็น ไม่หิว จึงต้องทราบว่าขณะใดเป็นวิบาก ขณะใดป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล สำหรับพระอรหันต์ไม่มีกุศล และอกุศล แต่มีวิบาก และกิริยา

    ผู้ฟัง พระอรหันต์ไม่มีกิเลสที่ทำให้ปฏิสนธิ

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์ป่วยไข้ไหม

    ผู้ฟัง ป่วย

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะยังมีรูปร่างกายอยู่

    ท่านอาจารย์ เมื่อยังไม่จุติ ก็ต้องเป็นไปด้วยวิบากจิต และกิริยาจิต

    อ.อรรณพ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงจิตโดยนัยที่เป็นโสภณกับอโสภณ เพื่ออะไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้คงไม่ลืมว่า กำลังฟังชื่อ?เป็นชื่อทั้งนั้นเลย แต่ว่าเป็นชื่อที่เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ก็ต่างกับการฟังชื่ออื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า เรากำลังฟังชื่อเท่านั้น ยังไม่รู้จักตัวจริงของสภาพธรรมที่จำได้ และสามารถที่จะตอบได้ว่า จิตขณะไหน?เป็นโสภณ จิตขณะไหน?เป็นอโสภณ ด้วยการจำ แต่การศึกษาธรรม ประโยชน์จริงๆ คือ การเข้าใจคำที่ได้ยินได้ฟังละเอียดขึ้น ลึกซึ้งขึ้น เป็นเหตุเป็นผลที่จะทำให้ผู้ฟังเป็นผู้ที่ละเอียด และเป็นเหตุเป็นผลที่จะทำให้ไม่คลาดเคลื่อน ไม่เข้าใจผิด แต่ฟังด้วยความเข้าใจในเหตุผล เช่น คำที่ได้ฟัง คือ โสภณ กับ อโสภณ ในภาษาไทย ถ้าเราใช้คำว่า ดี ก็จะปะปนกัน แต่ภาษาบาลี ไม่เปลี่ยน โสภณ หมายความถึงสภาพธรรมที่ดีงาม ต้องได้แก่ จิต และเจตสิก ส่วนรูปจะดีงามได้อย่างไร ถึงแม้ว่ารูปจะน่าดู แต่เป็นกุศล หรือไม่ เป็นทาน เป็นศีล หรือไม่ เป็นไปไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้สภาพที่ดีงาม จึงไม่ใช่รูปธรรม นิพพานดีงาม หรือไม่ นี่คือการคิด ถ้าไม่คิด เราก็เพียงจำ แต่ถ้าเรามีเหตุผลว่า สภาพธรรมที่ดีงามเป็นอย่างไร เราก็สามารถเข้าใจ และไม่ลืม แล้วค่อยๆ คิด แม้ว่าขณะนี้ วันนี้ยังไม่มีคำตอบ ยังไม่ต้องตอบ ยังไม่อยากตอบเดี๋ยวนี้ แต่ถ้ามีความเข้าใจเรื่องโสภณกับ อโสภณ เพิ่มขึ้น คำตอบของเราต้องตรง และถูกต้องด้วย จะไม่ผิดเลย

    เพราะฉะนั้น เมื่อทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นโสภณ ต้องเป็นจิต และเจตสิก เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ใช้คำว่า “ปัณฑระ” เพราะเหตุว่าไม่กล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย จิตนั้นจะผ่องใส คือ ขณะนั้นไม่มีอกุศลใดๆ เกิดร่วมด้วย เป็นเพียงสภาพที่สามารถรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่เพราะเหตุว่าจิตจะเกิดตามลำพังโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าขณะใดทั้งสิ้น เมื่อจิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ด้วยเหตุนี้จิตจึงมีสภาพที่ต่างกันไปตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย พร้อมทั้งเหตุปัจจัยที่ทำให้เจตสิก นั้นๆ เกิดด้วย

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องตามลำดับ จิตที่เป็นกุศล เพราะมีเจตสิกที่ดี หรือจะใช้คำว่า กุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้ ตรงกันข้ามกับอกุศล เพราะในชีวิตประจำวันที่เราจะคุ้นเคยก็คือ คำว่า กุศล อกุศล วิบาก ส่วนกิริยานั้น ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรม ไม่มีโอกาสจะได้ยินคำนี้เลยว่า กิริยา เป็นจิต และเจตสิกประเภทหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ชีวิตประจำวันซึ่งเป็นสังสารวัฏฏ์ จะขาดกุศล อกุศล และวิบากไม่ได้ สำหรับกิริยาจิตก็ทราบแล้วว่า จิตไม่ได้มีเฉพาะที่เป็นกุศล และอกุศลเท่านั้น ยังมีจิตที่เป็นกิริยาด้วย และส่วนใหญ่กิริยาจิตก็เป็นจิตของพระอรหันต์ เพราะความหมายของกิริยาจิต คือ จิตซึ่งไม่เป็นเหตุให้เกิดผล และแม้กิริยาจิตนั้นก็ไม่ใช่ผลของเหตุ แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจการงานตามสภาพธรรมในขณะนั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป ห้ามไม่ให้เป็นไป ไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้เลย

    ด้วยเหตุนี้ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคง โสภณ หมายความถึงเจตสิกที่ดี เพราะฉะนั้นสภาพธรรมของเจตสิกที่ดี ในภาษาไทยเราก็คิดแคบ คือคิดเพียงจิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นจิตที่ดี แต่ถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียด แล้วเข้าใจความหมายซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ว่า โสภณเป็นเจตสิกฝ่ายดี ไม่ว่าจะเกิดกับจิตประเภทไหน ขณะไหน?ก็ตาม จิตประเภทนั้นเป็นเจตสิกที่ดี หรืองาม ที่ใช้คำว่า “โสภณ” ด้วยเหตุนี้ จิตที่ประกอบด้วยเจตสิกที่ดีงาม จึงไม่ใช่มีแต่เฉพาะกุศลจิตเท่านั้น ผลของกุศลจิตก็ยังประกอบด้วยเจตสิกที่ดีงามด้วยได้ และแม้แต่กิริยาจิตของพระอรหันต์ ก็ประกอบด้วยเจตสิกที่ดีงามด้วย ด้วยเหตุนี้ โสภณ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะกุศล แต่สภาพธรรมที่เป็นผลของกุศลซึ่งมีเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย จิตนั้นจะกล่าวว่าเป็นอโสภณไม่ได้ จะกล่าวว่าไม่ดีไม่ได้ เพราะเหตุว่าประกอบด้วยเจตสิกที่ดีเกิดพร้อมกันในขณะนั้น

    ด้วยเหตุนี้ถ้าเรามีความเข้าใจมั่นคง เราก็จะรู้ว่า เจตสิกฝ่ายดี เกิดเมื่อไร?กับจิตประเภทใด ชาติใด จิตนั้นเป็นโสภณ ซึ่งเป็นได้ทั้งกุศลก็เป็นโสภณ ผลของกุศล ที่มีเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วยก็เป็นโสภณ และกิริยาจิตซึ่งมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็เป็นโสภณด้วย ด้วยเหตุนี้คำว่า “โสภณ” ก็กว้างกว่าคำว่ากุศล

    การศึกษาธรรมละเอียดแม้ในเบื้องต้น ก็จะทำให้เข้าใจถูกในขั้นต่อๆ ไปได้ แต่ถ้าในเบื้องต้นยังสับสน การที่จะฟังธรรมให้มากขึ้นอีก ก็จะสับสนไปด้วย เพราะว่าคำจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาก เพราะเหตุว่าสภาพธรรมไม่ใช่มีเพียงเล็กน้อย แต่กว้างขวาง ประกอบด้วยเจตสิก และสภาพธรรมที่ต่างๆ กันไป ตามลำดับขั้นของเจตสิกนั้นๆ ด้วย แม้แต่สติก็มีหลายระดับ เพราะฉะนั้นจึงมีชื่อ มากกว่าคำว่า “สติ” คำเดียว ก็คือการจะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพื่อเห็นว่า ไม่ใช่เรา การฟังทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชาติก่อนๆ หรือชาตินี้ที่กำลังฟัง หรือว่าจะได้ฟังต่อไปอีกกี่ชาติก็ตามแต่ เพื่อให้มีความเข้าใจที่มั่นคงว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของใคร

    ด้วยเหตุนี้จุดประสงค์ของการฟังธรรม อย่าคลาดเคลื่อน อย่าให้เป็นว่า เราจะได้รู้แจ้งสภาพธรรมในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ เป็นไปไม่ได้เลยถ้าเป็นเรา ที่ไม่เป็นเรา ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จากการได้ยินได้ฟัง และมีความเข้าใจขึ้นว่า ลักษณะนั้นเป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา ต้องเป็นปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจถูก จนกว่าจะถึงระดับขั้นของปัญญาขั้นต่อๆ ไป ที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะขณะนี้ไม่ลืมว่า กำลังฟังชื่อ และฟังเรื่องของธรรม แต่ตัวธรรมที่ได้ยินทั้งหมด เช่น โสภณเจตสิก ขณะนี้สามารถจะรู้ได้ไหม ไม่รู้จักตัว แต่ได้ยินชื่อ เพื่ออะไร เพื่อที่จะได้เข้าใจถูกว่า เวลานั้นสภาพธรรมเกิดแล้ว เป็นตามที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมด คือ เป็นธรรมชนิดนั้นๆ ไม่เป็นธรรมชนิดอื่น เช่น เมตตา หรืออโทสะ คือ ความไม่โกรธ เมื่อเกิดขึ้น เป็นธรรมที่เป็นอกุศล หรือเป็นธรรมฝ่ายดี เป็นธรรมฝ่ายดี เป็นโสภณ แต่เวลาที่เกิดเมตตา ลืมที่ได้ฟังมาแล้วว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิก ขณะนั้นไม่โกรธ ไม่มีความขุ่นเคือง และมีจิตที่อ่อนโยนด้วย พร้อมที่จะเกื้อกูลช่วยเหลือ ขณะนั้นไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา แต่เป็นสภาพธรรมที่เราเคยได้ยินได้ฟังมานานแล้วว่า เป็นธรรมที่เป็นเจตสิก ที่เป็นอโทสเจตสิก และมีสัตว์บุคคลที่กำลังเผชิญหน้า และมีจิตที่อ่อนโยน พร้อมที่จะเกื้อกูลบุคคลนั้น นี่ก็คือการศึกษาธรรม เพื่อให้รู้จักตัวธรรม ซึ่งขณะนี้ก็มี แต่ว่ากำลังได้ยินชื่อของธรรมเหล่านั้น จนกว่าเมื่อไรจะรู้ว่า สภาพธรรมที่เราได้ยินชื่อทั้งหมดปรากฏให้รู้ ให้เข้าใจถูก นั่นก็คือเริ่มอบรมเจริญปัญญาที่จะค่อยๆ รู้จักธรรม หรือเห็นธรรมตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้ต้องเป็นผู้ละเอียดทุกคำที่ได้ยิน

    อกุศลจิตเป็นโสภณ หรือ อโสภณ เป็นอโสภณ โสภณจิตเป็นอกุศลจิตใช่ไหม?โสภณจิตไม่ใช่อกุศลจิต เพราะเหตุว่ามีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น กุศลเป็นโสภณจิต และกุศลวิบากเป็นโสภณจิต และกิริยาที่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นโสภณจิต

    ทบทวนซ้ำเพื่อให้มีความเข้าใจที่มั่นคงว่า อกุศลไม่ใช่โสภณจิต แต่ อโสภณจิตเป็นกุศล หรือไม่

    อกุศลไม่ใช่โสภณจิต และโสภณจิตเป็นอกุศล หรือไม่ ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นขอถามว่า อกุศลเป็นโสภณจิต หรือไม่ ไม่ใช่ และโสภณจิตเป็นอกุศล หรือไม่ ไม่ใช่ และเป็นอะไรได้อีก ถ้าไม่ใช่อกุศล

    อโสภณจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิกเลย จะไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้น อกุศลจิตเป็นอโสภณจิต แต่อโสภณจิตเป็นอกุศลจิตเท่านั้น หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะมีอเหตุกจิต

    ท่านอาจารย์ จิตที่เป็นอโสภณทั้งหมดมี ๓๐ คือ อกุศลจิต ๑๒ และอเหตุกจิต ๑๘ รวมเป็น ๓๐ ประเภทที่เป็นอโสภณจิต

    ถ้ากล่าวว่า อกุศลเป็นอโสภณ ถูกต้อง และอโสภณเป็นอกุศลด้วยก็ได้ แต่อโสภณไม่ใช่เฉพาะอกุศลเท่านั้น ยังรวมอเหตุกจิตอีก ๑๘ เป็นอโสภณจิต ๓๐

    นี่คือความละเอียดที่อาจเข้าใจแล้ว แล้วค่อยๆ คิด พรุ่งนี้เข้าใจอย่างนี้อีก หรือเปล่า ถ้าเป็นความเข้าใจที่มั่นคง ก็ไม่เปลี่ยนแปลง

    อ.อรรณพ เพราะว่าพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องนี้ ก็คือเข้าใจว่า โสภณจิตต้องมีโสภณเจตสิก เกิดร่วมด้วย อย่างน้อยต้องมีโสภณเหตุ ๒ คือ อโลภเหตุ ๑ อโทสเหตุ ๑ ส่วนอโสภณจิต ก็คือจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย ซึ่งจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลยมีอยู่ ๒ ส่วน คือ อกุศลจิต เพราะอกุศลจิตจะมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ เพราะว่าอกุศลจิตก็เป็นอกุศลจิต ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย และจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุอะไรเลย ซึ่งเป็นอเหตุกจิต ในเมื่อไม่ประกอบด้วยเหตุอะไรเลย ก็ไม่มีทั้งเหตุที่ดี และเหตุที่ไม่ดี คือ ไม่มีทั้งโสภณเหตุ และไม่มีทั้งอกุศลเหตุเกิดเลย แต่เมื่อไม่มีเหตุอะไรเกิดเลย ก็ไม่มีโสภณเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นอโสภณจิต ก็คือ อเหตุกจิต ชื่อก็บอกอยู่แล้ว คือ จิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ในเมื่อไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย จะมีโสภณเหตุเกิดได้อย่างไร เพราะฉะนั้นอเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง ไม่มีโสภณเหตุเกิดร่วมด้วย ก็เป็น อโสภณจิต ส่วนอกุศลจิตก็แน่นอนอยู่แล้ว ก็เป็นอโสภณจิต ก็คือจิต ๓๐ ดวงนี้

    ผู้ฟัง การที่เราเรียนมา ๑ ชั่วโมง จนเราเข้าใจ เกื้อกูลการระลึกรู้สภาพธรรม โดยเฉพาะที่เรียกว่า “ปฏิปัตติ” อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจ ไม่ถึงลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ "ปฏิปัตติ" เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่กำลังฟัง เราก็ทราบว่าเป็นข้อความจากคัมภีร์ต่างๆ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง แต่คัมภีร์จริงๆ อยู่ที่ไหน ไปหาได้ไหม ในหนังสือ มีแต่ตัวหนังสือ เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ "คัมภีระ" เพราะเป็นสภาพธรรมที่ลึกซึ้ง แม้เราจะได้ยินเรื่องนามธรรม จิต เจตสิก รูปธรรม ปรมัตถธรรมมี จิต เจตสิก รูป นิพพาน ก็ตามแต่ แต่ขณะนี้สภาพธรรมที่"คัมภีระ" ลึกซึ้ง มีอยู่ ซึ่งจากการฟังเรื่องราวของสภาพธรรมนั้น ก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจตามสมควร เช่น เมื่อกล่าวถึงเรื่องจิต ในขณะนี้ทุกคนมีจิตแน่นอน ก็มีคำถามสั้นๆ ว่า ขณะนี้ จิตเป็นโสภณ หรืออโสภณ ตามที่ได้ฟัง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567