พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 273


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๗๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น บุคคลนั้นก็จะรู้ได้ว่า หากสติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็เพียงแต่พูดเรื่องลักษณะของแข็ง แต่แข็งไม่ได้ปรากฏ จนกว่าสติสัมปชัญญะรู้แข็ง ไม่ใช่เพียงกายวิญญาณที่รู้แข็ง แต่ขณะนั้นจะรู้ว่าเป็นสติสัมปชัญญะที่เกิด แล้วก็เป็นปกติ ไม่หวั่นไหว มิฉะนั้นถ้าไม่ใช่เป็นสติสัมปชัญญะหวั่นไหวทันที แต่ถ้าเป็นสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เรา ก็เป็นปกติธรรมดาที่หลงลืมสติบ้าง และสติก็เกิดบ้าง

    อ.วิชัย ความรู้สึกขณะที่ตื่นกับขณะที่หลับนั้น แตกต่างกันมากเหลือเกิน เมื่อเทียบกับการที่ไม่ได้ฟังพระธรรมแล้ว โอกาสที่จะตื่นขึ้นก็มีน้อยมากในแต่ละวัน และถ้ายิ่งในสังสารวัฏฏ์อีกก็ยิ่งเนิ่นนาน

    ท่านอาจารย์ ในความเป็นจริง จะห้ามไม่ให้ชีวิตเป็นไปตามการสะสมนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อปฏิสนธิจิตขณะแรกมี ก็ต้องมีปวัตติ คือ ความเป็นไปตามการสะสม ซึ่งเป็นอนัตตาทั้งหมด แต่ที่ได้เป็นไปแล้วทั้งหมดโดยที่ไม่มีความเข้าใจธรรม ก็เปล่าประโยชน์ เพราะเหตุว่าเกิดมาแล้วก็สุขบ้าง ทุกข์บ้าง แล้วก็ไม่มีอะไรเหลือ และไม่มีอะไรกลับมาอีก และไม่มีความเข้าใจถูกต้อง ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตาม มีการฟังธรรม เห็นประโยชน์จริงๆ จนกระทั่งถึงขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด เมื่อนั้นจะรู้ได้ว่า สิ่งที่ได้ฟังมาทั้งหมดเป็นความจริง และจะเป็นความจริงยิ่งขึ้น เมื่อสติเจริญขึ้น ธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตรงกับที่ได้ศึกษา ขณะนั้นตื่นแล้วก็เป็นสาระ เพราะเหตุว่ากำลังมีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก สะสมที่จะเห็นความจริงของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นจะระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือไม่ มิฉะนั้นสติจะเกิดได้ หรือไม่ ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม แม้ศรัทธา ศรัทธามีหลายประเภท ศรัทธาในทาน บางคนก็สะสมมาที่จะให้ทานเป็นอุปนิสัย บางคน เห็นคนที่น่าสงสาร อดไม้ได้ ต้องให้ ไม่สบายใจเลย ถ้าไม่มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลนั้น เพราะสะสมมา หรือแม้ศรัทธาในศีล บางคนกล่าวในการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานว่า เขาไม่สามารถที่จะพูดคำหยาบในขณะที่เพื่อนฝูงมิตรสหายทั้งหลายมักจะใช้คำหยาบเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่เขาไม่พูด พูดไม่ได้ ไม่สะสมมาที่จะพูด สิ่งนี้ก็เป็นสีลุปนิสัย สะสมมาในเรื่องศีล แม้ในเรื่องความสงบของจิต เราเกิดมาแล้ว ไม่ทราบนานแสนนานเท่าไหร่ เคยอบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานมาแล้ว ก็เป็นไปได้ ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความสงบจากการที่สะสมมา เห็นประโยชน์ว่า ขณะนั้นถ้าโกรธกับไม่โกรธ อย่างใดจะดีกว่ากัน ไม่โกรธก็ต้องดีกว่าโกรธ โกรธไม่ได้นำอะไรมาให้ใคร แม้แต่คนที่กำลังโกรธ และคนที่ถูกโกรธ มีแต่เหตุที่จะทำให้เดือดร้อนทั้ง ๒ ฝ่าย ขณะนั้นเขาก็อาจจะมีจิตที่สงบด้วยเมตตา ด้วยกรุณา ด้วยมุทิตา ด้วยอุเบกขา ศรัทธาที่สะสมมาก็เป็นในระดับนั้น

    แต่ให้ทราบว่า การฟังพระธรรม ถ้าไม่มีคำสอนของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าจากการตรัสรู้ ศรัทธาในการฟังธรรมจะเกิดได้จากที่ไหน ไม่มีเลย ก็จะมีศรัทธาเพียงขั้นทาน ศรัทธาเพียงขั้นศีล ศรัทธาเพียงขั้นสงบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรืออาจจะระลึกถึงความตาย ความไม่เที่ยง เป็นต้น แต่ศรัทธาที่ไม่เสื่อมคลาย เพราะเหตุว่าเห็นประโยชน์ของการฟัง ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงพระธรรม จะไม่มีการฟังธรรม ศรัทธาในการฟังก็ไม่มี ศรัทธาที่เมื่อเข้าใจแล้วฟังต่อไปอีกก็ไม่มี และศรัทธาที่จะปรุงแต่งให้สติสัมปชัญญะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ไม่สามารถมีได้ เพราะฉะนั้นแม้ศรัทธา ตั้งแต่ขั้นต้นของการฟัง จนกระทั่งปัญญาที่เจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ มาจากใคร และมาจากที่ไหน ก็มาจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ตรัสรู้ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระมหากรุณาแสดงธรรม และศรัทธาของผู้ที่ได้ฟังจำนวนเท่าไหร่ ที่จะอบรมเจริญขึ้นไป จนกว่าจะถึงกาลที่สามารถ ที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    เพราะฉะนั้น ศรัทธาของผู้เลื่อมใสไม่หวั่นไหว คือ ผู้ที่ได้รู้แจ้งความจริงของสภาพธรรม เพราะเห็นคุณแม้ศรัทธาเริ่มต้นจากการฟัง ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม ก็จะเป็นผู้รู้ตัวเองว่า กำลังรับมรดก คือ อริยทรัพย์ ทรัพย์ทางโลก หมดไปได้ด้วยไฟ ด้วยน้ำ ด้วยโจร แต่สิ่งที่ได้สะสมมาในแต่ละชาติ ก็จะสะสมสืบต่อไป เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ประโยชน์แท้จริงของการมีชีวิตอยู่ในแต่ละชาติ คือ ขณะที่ได้ฟังพระธรรม และเข้าใจพระธรรม

    อ.วิชัย ความรู้เพียงเล็กน้อยที่ค่อยๆ รู้ขึ้น แต่ก็ประมาทตัณหา มานะ ทิฏฐิไม่ได้เลย ที่จะไม่มีความยินดีในสิ่งเหล่านั้น

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้รู้ว่า ธรรมละเอียด และโลภะมีกำลังมหาศาล พร้อมทั้งอวิชชาที่สะสมมาเนิ่นนานแล้ว ก็มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แม้ว่าอาจไม่มีความเห็นผิดที่ปรากฏชัดๆ แต่ก็มีความเห็นผิดธรรมดา คือ สักกายะ เห็นผิดว่าขณะนี้มีคน มีวัตถุ มีสิ่งต่างๆ ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นการฟังก็ต้องฟังโดยละเอียด จนกระทั่งเข้าใจ จนกระทั่งสามารถที่จะเห็นถูกต้อง แม้ในขั้นฟังก็สามารถรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เป็นสภาพธรรมที่เพียงปรากฏ หลังจากนั้นก็มีการคิดนึกจากสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อรวดเร็วมาก ประมาณไม่ได้เลย จนกระทั่งสามารถที่จะลวงให้เห็นด้วยนิมิต ที่ปรากฏรูปร่างสัณฐานต่างๆ เพราะฉะนั้นกว่าจะลอก หรือสามารถเห็นว่า ความจริง นิมิต เป็นเพียงสิ่งที่ต้องมีปรมัตถธรรม แต่ปรมัตถธรรมนั้นเกิดแล้วดับแล้ว หมดไป ส่วนที่เหลือทั้งหมด ทางตาก็เป็นรูปนิมิต ทางหู เป็นเสียงนิมิต ทางจมูก เป็นกลิ่นนิมิต ทางลิ้น เป็นรสนิมิต ทางกายเป็นโผฏฐัพพนิมิต รวมความว่า ทั้งหมดเป็นสังขารนิมิต เพราะการเกิดดับอย่างรวดเร็ว เมื่อเป็นความเข้าใจระดับนี้ จะค่อยๆ ปรุงแต่งให้คลายการที่รู้ว่าหลง หลงมานานแสนนานอยู่ในโลกของนิมิต หรือความฝัน เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม แล้วจะหลงอย่างนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ ประมาณไม่ได้เลย ถ้าความเข้าใจธรรมไม่เจริญขึ้น ด้วยความเป็นผู้ตรง และมั่นคง ในการที่จะรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ อบรม ไม่ใช่เป็นเรื่องไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เราใช้ภาษาไทยว่า “ปฏิบัติ” ก็เข้าใจว่า หมายถึง “ทำ” แต่ความจริงไม่ใช่เป็นการทำ แต่เป็นการเข้าถึง หรือถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และประจักษ์จริงๆ ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏ เกิดแล้วดับไป จึงจะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

    ผู้ฟัง กล่าวถึงสภาพเห็น หากเรายังไม่สามารถประจักษ์ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเห็นทุกครั้งก็มีจิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์ทางตา ขอคำอธิบายอารมณ์ที่จิตรู้ เพื่อมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็น อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง ในความเป็นจริงแล้ว ท่านอาจารย์ปรากฏ แต่จากการศึกษา ก็ทราบว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นสิ่งซึ่งจะเข้าใจความหมายว่า ศึกษาธรรมคืออะไร ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เพราะเวลาที่ศึกษาธรรม อาจจะคิดว่า เมื่อไรจึงจะประจักษ์อย่างที่ได้ยินได้ฟัง อย่างนี้ตัดไปได้เลย เพราะไม่มีเมื่อไร แต่ว่าขณะนี้ เดี๋ยวนี้กำลังเป็นปัจจุบัน เมื่อไร คือ ข้างหน้า ยังมาไม่ถึง จะมาถึงเมื่อไร ก็เป็นสิ่งที่รู้ไม่ได้ แต่ว่าจะรู้ได้จากขณะนี้ว่า ในขณะที่ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซ้ำไปซ้ำมา ไม่พ้นจากเรื่องนี้เลย เพื่อให้ค่อยๆ เกิดความเข้าใจ แสดงให้เห็นว่าอย่างไร ฟังไป ฟังไป ฟังไป แล้วก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพื่อให้ค่อยๆ เข้าใจ เช่น คำถามของคุณสุกัญญา ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่สามารถจะเข้าใจได้ทันที และจะเข้าใจถึงขั้นประจักษ์แจ้งด้วย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเป็นผู้ที่ตรง ก็จะรู้ว่า การฟังธรรม ไม่ใช่ฟังเพียงชื่อ แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วจะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า เริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย แม้ฟังแล้วจะไม่สามารถเห็นจริงตามนั้นได้ ทั้งที่ความจริงเป็นเช่นนั้น

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจเรื่องความจริงก่อนว่า ความจริงคืออย่างไร ส่วนการฟัง ระดับขั้นที่ฟัง ยังไม่สามารถรู้อย่างที่เข้าใจได้ แต่เมื่อสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง อาศัยการฟัง เพราะเหตุว่าถ้าไม่ฟัง เราจะนึกถึงเรื่องอื่นทันที มีเรื่องที่ต้องคิดมากมาย แม้ขณะนี้ ช่วงว่างนิดเดียว ก็คิดถึงเรื่องอื่นแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องที่จะคิด สะสมมามาก เพราะฉะนั้นการฟังแต่ละครั้ง เพื่อสะสมความเข้าใจถูกให้มั่นคงขึ้นว่า เป็นสิ่งที่ปัญญาจะแทงตลอด เมื่อมีความรู้ความเข้าใจจริงๆ เพิ่มขึ้น อย่าคิดว่าเข้าใจแล้ว แม้สิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังเผชิญหน้า เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย และเป็นธรรมที่มีการเกิด และการดับด้วย และสภาพธรรมที่กำลังเห็นก็เป็นชั่วขณะที่มีสิ่งนี้กำลังปรากฏ ขณะใดที่สิ่งนี้ไม่ปรากฏ จะชื่อว่า เห็น ไม่ได้ ถูกต้อง หรือไม่ เพราะฉะนั้น การฟัง ฟังเพื่อให้เข้าใจขึ้น แต่ต้องรู้ลักษณะของปัญญาว่า ปัญญาขั้นฟัง คือ กำลังฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริง โดยสิ่งที่มีจริงในขณะนี้กำลังเกิดดับเร็วมาก แต่ก็ฟังให้ค่อยๆ เข้าใจ จนกว่าสามารถจะเข้าใจได้

    เมื่อสักครู่ คุณสุกัญญาตอบว่าเห็นอะไร เป็นคน เป็นสัตว์ แต่จริงๆ ก็ต้องคิดอีก ไตร่ตรองอีกว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา คุณสุกัญญาไม่ได้คิดเลยที่จะเข้าใจ เพราะว่าเห็นทีไรก็เป็นสิ่งนั้นทันที ยังไม่ถึงกาลที่เริ่ม ที่จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะจริงๆ ก็คือ เพียงปรากฏแค่นี้เอง ที่จะถึงความไม่ติดข้องในนิมิต อนุพยัญชนะ เพราะว่าถ้าเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นของธรรมดา หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจิตเกิดดับเร็วมาก แต่เรามีความติดข้อง มีความไม่รู้ มีการยึดถือในสิ่งนั้นมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ความจริงว่า จะไม่ติดคือเมื่อใด จะเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมคือเมื่อใด ก็คือ ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เข้าใจ แค่ให้เข้าใจก่อน ยังไม่ต้องไปประจักษ์แจ้ง

    ผู้ฟัง เมื่อเห็น ก็บอกว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเพียงแค่ความคิดนึกที่เกิดขึ้น แต่ความคิดนึกที่เกิดขึ้นจากการศึกษาธรรม ก็มีความคิดว่า ผิดปกติแล้ว

    ท่านอาจารย์ ให้เห็นความคิดว่า สามารถทำให้คิดได้ถึงอย่างนั้นว่า ผิดปกติ ลองคิดถึงว่า คิดป็นปกติ หรือไม่ ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไรก็ตาม สภาพคิดเป็นปกติ หรือเปล่า เป็นปกติ ถ้าคิดถึงอะไรก็ตาม สิ่งที่คิดมี แล้วแต่จะคิดเป็นเรื่องราวก็ได้ เพราะฉะนั้นคิดเป็นปกติ ฉันใด เวลาที่คิดเรื่องธรรม ความคิดจะผิดปกติได้ หรือไม่ เพียงแต่เปลี่ยนเรื่องที่เคยคิดเรื่องอื่น มาเป็นการคิดถึงธรรม จะกล่าวว่า ผิดปกติได้อย่างไร ยังเหมือนเดิม ไม่มีใครรู้ว่า ใครคิดอะไรในขณะนี้ ใช่ หรือไม่ เพราะฉะนั้นขณะที่เกิดคิดเรื่องธรรม ขณะนั้นจะผิดปกติได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้นแม้แต่จะใช้คำว่า “ปกติ” และ “ผิดปกติ” ก็ต้องเป็นความละเอียดว่า ปกติคือคิด แต่เรื่องที่คิด แต่ก่อนไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย แต่เมื่อได้ยินได้ฟัง ก็สามารถมีปัจจัยทำให้คิดเรื่องนี้ได้ แต่ว่าคิดมาก หรือคิดน้อยในวันหนึ่งๆ ถ้าคิดถึงเรื่องอื่น ดูเป็นปกติเพราะชีวิตประจำวันก็คุ้นเคยที่จะคิดเรื่องนั้น แต่เมื่อเปลี่ยนเรื่องคิด ทำให้เข้าใจว่า ผิดปกติ ทั้งๆ ที่ความคิดก็เป็นความคิดนั่นเอง เพียงเท่านี้ก็ยังต้องอาศัยการพิจารณา ทำไมถึงเกิดคิดว่า ผิดปกติ หรือเปล่า นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจมีมากมาย เป็นปัจจัยให้คิดแม้ขณะนั้นว่า ผิดปกติ หรือเปล่าได้

    ผู้ฟัง ในความเป็นจริง ความคิดห้ามไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นตามเหตุ และปัจจัย แต่การที่ไปตรึก หรือการจดจ้อง ซึ่งก็รู้ว่า สิ่งนี้ไม่ใช่หนทาง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องคิดว่า เมื่อคิดแล้วมีการจดจ้อง แต่คุณสุกัญญาก็ต้องทราบความต่างของลักษณะของสติเจตสิก เวลาที่กุศลจิตเกิด มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เร็วเพียงไหน เจตสิกทั้งหลายที่เกิดพร้อมกัน ทำหน้าที่เฉพาะของตนๆ แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นลักษณะของสติ เป็นสภาพที่ระลึก เกิดแล้วดับแล้ว เร็วมากไหม จะเหมือนลักษณะที่จดจ้อง หรือไม่ นี่คือความต่างของขณะที่สติเป็นปกติ อย่าลืม "เป็นปกติ ธรรมเป็นปกติ" แม้ขณะนี้ ขณะใดก็ตามที่ฟังเรื่องหนึ่งเรื่องใด แล้วเข้าใจ ขณะนั้นก็จะมีการรู้ตรงลักษณะ ซึ่งไม่เคยรู้ เพราะว่าผ่านไปเรื่อยๆ เกิดแล้วดับแล้ว เป็นคนนั้นคนนี้อยู่ตลอดเวลา แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด จะรู้ลักษณะที่ปรากฏเป็นปกตินั่นเอง แล้วการรู้ลักษณะนั้นก็เป็นปกติ ไม่ใช่การจดจ้อง เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่จดจ้อง ขณะนั้นไม่ใช่สติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น การฟังต้องฟังให้ละเอียด แล้วสติสัมปชัญญะก็เป็นปกติเหมือน โสภณเจตสิกอื่นๆ แต่โสภณเจตสิกอื่นที่เป็นไปในทาน ในศีล ไม่ใช่ในขณะที่กำลังรู้ลักษณะ มีลักษณะ ที่กำลังปรากฏ

    เป็นความจริงที่ว่า มีลักษณะที่แข็ง แล้วเราก็รู้แข็ง เวลาใครตอบก็รู้แข็ง ขณะนั้นถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา ก็จะรู้ได้ว่า เพียงตอบว่ารู้แข็ง หรือว่าขณะนั้นกำลังมีสติเกิดรู้ลักษณะที่แข็ง นี่คือความต่างกัน เพราะฉะนั้นเป็นปกติจึงเป็นสติปัฏฐาน เป็นสติสัมปชัญญะ ถ้าผิดก็เป็นมิจฉามรรค ผิดปกติทันที เพราะฉะนั้นขณะนี้สติสัมปชัญญะเกิดได้เป็นปกติ แต่ปัญญายังไม่สามารถสละ หรือละการที่เคยยึดถือลักษณะที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าสติเกิดแล้วก็ดับไป เหมือนทุกๆ ขณะนี้เอง เพราะฉะนั้นถ้ารู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะที่เกิด ก็จะรู้ว่า วันหนึ่งๆ มีสติสัมปชัญญะบ้างไหม หรือวันนี้ไม่มีเลย เดือนนี้ไม่มีเลย ต่อไปอาจจะมีเพียงขณะหนึ่ง แล้วไม่มีอีก

    นี่เป็นการทดสอบความเข้าใจความเป็นอนัตตา และเยื่อใยในความเป็นตัวตนว่า มากมากมหาศาล พอที่จะหม่นหมองต้องการสติ โดยที่นั่นไม่ใช่หนทางเลย เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วยการอดทน ด้วยการรู้ว่าเป็น อนัตตา ด้วยการรู้ว่าบังคับบัญชาไม่ได้ แต่สังขารขันธ์ก็ปรุงแต่งให้เป็นผู้ฟังธรรมอีก ไม่ได้ทอดทิ้งละเลยการฟังธรรม และมีการเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่เป็นผู้หวังว่าจะทำให้สติเกิด ถ้าเป็นอย่างนั้นเมื่อไร ก็หมายความว่า ที่สะสมความเข้าใจว่า ธรรมเป็นอนัตตา ก็หมดไป มีแต่ความเป็นตัวตนเข้ามาบ่อยๆ เพราะฉะนั้นการสะสมความเข้าใจธรรมว่าเป็นอนัตตา ก็น้อย จนกว่าจะมั่นคงขึ้น

    ผู้ฟัง เมื่อฟังเรื่องโลภมูลจิต หรือโลภเจตสิก เราก็พอจะสังเกตได้ว่า มีจริงในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ มีเมื่อไร

    ผู้ฟัง มีเมื่อเกิด และรู้ได้เมื่อเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเราคิดถึง แต่สภาพธรรมนั้นดับแล้ว เร็วมาก

    ผู้ฟัง เมื่อศึกษาถึงลักษณะของโลภมูลจิต ก็มีความรู้สึกว่า จะสามารถกล่าวได้ว่า ในวันหนึ่งๆ จะมีอกุศลมากมายมหาศาล หากุศล ก็พยายามแหวกหา ก็หาไม่เจอ

    ท่านอาจารย์ พยายามแหวกหา แต่ว่าเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง แม้แต่กุศลขั้นทาน ขั้นศีล ซึ่งเกิดในชีวิตประจำวัน จะระลึกได้ว่า จิตขณะนั้นมีลักษณะของกุศลจิต ยังไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ก็จะทำให้ได้ ก็ไม่ได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องเข้าใจ เป็นเรื่องจะพยายามไปทำให้ได้แล้วไม่ได้ แต่ถ้าขณะที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจ ว่าทั้งหมดที่คุณสุกัญญากล่าวจริง แต่ว่ารู้จริงๆ ก็เมื่อสติเกิด ขณะนี้สิ่งที่แน่นอนจริงๆ ก็คือ สภาพธรรมเกิดดับเร็วที่สุด ประมาณไม่ได้เลย จะไปรู้สิ่งไหน เพราะฉะนั้นอยู่ในโลกของความหลง กำลังอยู่ในโลกของเรื่องราว ของสิ่งที่ปรากฏสืบต่อ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมนั้นก็ดับไปแล้ว กำลังอยู่กับนิมิตของสิ่งที่เกิดดับ จนกระทั่งปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังไม่ตื่น ยังหลับอยู่ในความคิดความจำ จนกว่าสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อใด มีลักษณะของปรมัตถธรรม หรือสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นตื่น ที่จะรู้ว่าความจริงคืออย่างนี้ ความจริงคือไม่มีใครเลย แต่มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องไปแหวกว่ายหาอะไรทั้งสิ้น แต่ว่ามีการฟังให้เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นอย่างนี้จริงๆ หรือเปล่า และเวลาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้จริงๆ ก็ด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นหนทางเดียวจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นหนทางอื่น ไม่สามารถจะรู้ได้ หรือสามารถ ลองคิดหาทาง ว่า สภาพธรรมขณะนี้มี และกำลังเป็นโลกของสมมติบัญญัติ ซึ่งความจริงถ้าไม่มีปรมัตถธรรม นิมิตของสังขารธรรมทั้งหมด มีไม่ได้เลย แต่เพราะเกิดดับเร็ว และด้วยความไม่รู้ก็ทำให้อยู่ในความไม่รู้ในสิ่งที่เกิดดับเร็ว เสมือนว่าเที่ยง เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ตลอดเวลา แต่การฟังธรรม ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณา จะมีความเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็รู้ความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติ คือ ขณะที่สติสัมปชัญญะไม่ได้เกิด แม้ฟังว่าขณะนี้สิ่งที่ปรากฏ เป็นลักษณะของสภาพธรรม แน่นอน ไม่ใช่อย่างอื่น เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏ ให้ฟังให้เข้าใจ ให้รู้ขึ้น จึงจะสามารถมีสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะ แม้ว่าจะน้อยมาก แต่ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นหนทางเดียว เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่ามีปัจจัย สติเกิดเมื่อใด ก็รู้อีกว่า ขณะนั้นสติกำลังรู้ และสติก็ดับไปเป็นปกติธรรมดา จนกว่าจะเกิดอีกเมื่อใด จึงจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้นมีความอดทนที่จะมั่นคงในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม มิฉะนั้นก็จะมีอัตตา มีโลภะ ที่ทำอย่างอื่น ที่ไม่ใช่เป็นปกติ และสติสัมปชัญญะก็เกิดแล้วทำหน้าที่ของสติสัมปชัญญะ

    ผู้ฟัง ตามที่ศึกษาพระสูตร ท่านพระสารีบุตรท่านก็มีปริวิตกของท่านเองว่า เออ อะไรหนอ เออ อะไรหนอ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567