พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 299


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๙๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ เวลาที่พูดถึงการเกิด ถ้าไม่มีจิต เจตสิกเกิด จะมีคน มีสัตว์ ประเภทต่างๆ เกิดไหม ไม่มี แต่เมื่อจิต เจตสิกเกิด ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมบ้าง เป็นผลของอกุศลกรรมบ้าง ละเอียดต่างกันไปตามการสะสม ก็ทำให้กล่าวได้ว่า เป็นคน เป็นคนพิการ เป็นคนตาบอด เป็นคนปัญญาอ่อน เป็นคนฉลาด เป็นอะไรก็แล้วแต่ ตามสภาพของจิต แต่ต้องมีจิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง ดังนั้นในขณะนี้เอง ก็จะต้องศึกษาธรรมไปตามลำดับขั้น ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นเพียงจิต เจตสิก รูป นิพพาน ซึ่งนิพพานไม่ได้กล่าวถึง ถ้ายังไม่เข้าใจตรงนี้แล้ว ก็ไม่สามารถเข้าใจเรื่องราว หรือสภาพธรรมที่เป็นเรื่องราวได้ละเอียดลึกซึ้งมากกว่านี้ ในขั้นต้นก็เข้าใจได้เพียงเท่านี้

    ท่านอาจารย์ ก่อนฟังธรรม เป็นเรา ถูกต้องไหม เป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ แต่เวลาฟังธรรม รู้ว่าเป็นธรรม เข้าใจความเป็นธรรม จนกว่าจะหมดการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เพราะจริงๆ แล้วสภาพธรรมทุกอย่างที่เกิด มีอายุที่สั้นมาก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ฟังให้เข้าใจความจริงว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ก่อนที่จะฟังธรรมขณะนั้นก็มีธรรมนั่นเอง จึงมีเรื่องราวต่างๆ ที่ตามมา

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีธรรม คือ จิต เจตสิก รูป จะมีอะไร

    ผู้ฟัง ก็ไม่มีอะไรเลย

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้ว ผลของกรรมก็เกิดอยู่ตลอดในชีวิตประจำวัน แต่ไม่สามารถพิจารณาได้ว่า สิ่งที่เกิดเป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมแล้วจะให้รู้ว่า เป็นผลของกรรมขณะไหนโดยที่ยังไม่รู้ว่าขณะนี้ไม่มีเรายังคงมีแต่เรื่องของธรรม

    ผู้ฟัง เช่นความเจ็บป่วย หรือความทุกข์ทางกาย เมื่อเกิดขึ้น ฟังธรรมก็เข้าใจว่าเป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นผลของกรรมเมื่อไร ขณะไหน

    ผู้ฟัง เมื่อเกิดทุกข์ทางกาย

    ท่านอาจารย์ ความรู้สึกที่เป็นทุกข์เพราะอาศัยกายปสาท ถ้าส่วนใดที่ไม่มีกายปสาท ความรู้สึกเป็นทุกข์ หรือเป็นสุขเกิดไม่ได้ แม้แต่ความรู้สึกที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ก็ไม่มีใครสามารถจะเลือกได้ แล้วแต่ว่าถึงกาลที่กุศลกรรมจะให้ผล สิ่งที่กระทบสัมผัสก็ทำให้เกิดสุขเวทนาทางกาย ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมเมื่อใดก็ทำให้ความรู้สึกที่เกิดเมื่อกระทบสิ่งที่มากระทบกาย ทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ รู้แค่นี้ นี่คือเรื่องของธรรม จนกว่าสามารถรู้ได้ว่า ขณะนั้นไม่มีเรา แต่มีลักษณะของสภาพสุขเวทนา เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นทางไหน สุขเวทนาจะเกิดขึ้นทางตา ทางหู ไม่ได้เลย ต้องอาศัยกายปสาท

    เพราะฉะนั้น มีรูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เป็นทางรับผลของกรรมทางกาย เรารู้จักแต่เพียงว่า ขณะนี้เจ็บ แต่ขณะที่เจ็บ จ็บมีจริงๆ และไม่ใช่เราด้วย เป็นความรู้สึก เมื่อมีสิ่งกระทบกายปสาท เป็นปัจจัยทำให้ความรู้สึกเจ็บนั้นเกิดขึ้น ก็สามารถจะเข้าใจ เพียงเข้าใจเรื่องราวว่า เจ็บนั้นเกิดขึ้นเป็นผลของอกุศลกรรม จนกว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นลักษณะของนามธรรม หรือเป็นลักษณะของรูปธรรม แต่ละอย่างก่อน และความเข้าใจทั้งหมดที่เรียนมา ก็จะทำให้ประจักษ์ว่า ไม่มีเรา แม้แต่เจ็บขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง

    ผู้ฟัง มีความสงสัยว่า จริงๆ แล้วลักษณะของสภาพธรรม แม้แต่ลักษณะของเจ็บ เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องหมดไปตามสภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป แต่จริงๆ ความเจ็บไม่ได้หมดไปเลย เปรียบเหมือนเวลาเจ็บจะเจ็บนาน

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เห็นดับไป หรือเปล่า หรือว่าเห็นนาน ถ้าไม่ดับ มีจิตได้ยินได้ หรือไม่ จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เช่น ในขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะจิตเห็นเกิดขึ้นเห็น ถ้าจิตเห็นไม่เกิดขึ้นเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ปรากฏไม่ได้เลย ฉันใด เสียงเป็นสภาพธรรมที่ไม่ได้ปรากฏทางตา ถ้ามีโสตปสาท คือ รูปที่สามารถกระทบเสียง และเสียงกระทบกับรูปนั้นแล้วจิตต้องเกิดขึ้นได้ยิน เสียงนั้นจึงปรากฏได้ แสดงว่าขณะนี้ เห็นตลอดเวลา หรือไม่ หรือว่าเห็นต้องดับไปก่อน ในขณะที่ได้ยิน ไม่มีเห็น เช่นนี้จึงจะเป็นความถูกต้อง ไม่มีเรา แต่มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจการงานของสภาพธรรมนั้น ฉันใด ทางกายขณะที่รู้สึกเจ็บ มีเห็น เกิดด้วย หรือไม่ หรือขณะเจ็บไม่เห็นอะไรเลย กำลังเจ็บเดี๋ยวนี้ได้ไหม และเห็นด้วย หรือไม่ เหมือนพร้อมกัน แต่ความจริงไม่พร้อมกัน เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่า เจ็บไม่ได้ดับไปเลยนั้นไม่ได้ เช่นเดียวกับจะกล่าวไม่ได้ว่า ขณะนี้เห็นไม่ได้ดับไปเลย

    ผู้ฟัง ลักษณะของความเจ็บ ซึ่งทุกคนจะต้องประสบ ก็ต้องใช้ความอดทนต่อความรู้สึกนั้น ถึงแม้จะศึกษามา และก็รู้ว่า สิ่งที่เจ็บก็จะต้องหาย แต่ก็ไม่หาย เพราะว่ามีความเป็นตัวเราที่เจ็บ แต่ว่ามองลักษณะไม่ออก กราบเรียนถามว่า เราควรจะพิจารณาอย่างไรถึงจะเข้าใกล้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่มีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่อยากให้ใช้คำว่า “ควรพิจารณาอย่างไร” เพราะเหมือนกับไม่ใช่ปัญญา แต่ควรจะเข้าใจถูก เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นอย่างไร ไม่ให้คลาดเคลื่อนท่านพระสารีบุตรเป็นอัครสาวก ก่อนปรินิพพาน ท่านป่วยเจ็บ หรือไม่ ท่านไม่มีกิเลส ไม่ได้ยึดถือ และจะกล่าวว่าเพราะความยึดถือจึงทำให้เจ็บได้อย่างไร เจ็บเป็นเจ็บ ความยึดถือเป็นความยึดถือ คนละอย่าง

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้น ขณะเจ็บแล้วรู้ว่าเจ็บ ถึงแม้ว่าวิบากจิตนั้นจะเกิดสืบต่ออย่างไรก็ตาม แต่ถ้าไม่เกิดความโทมนัส หรือเกิดความทุกข์ใจ อย่างนี้ก็คนละลักษณะแล้วใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้จึงต้องศึกษาธรรม ให้เข้าใจว่าเป็นธรรมละเอียดขึ้น เพราะว่าไม่มีสภาพธรรมที่เป็นเรา หรือเป็นตัวตนสักขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ แต่เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเมื่อไร ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมนั้นซึ่งเปลี่ยนให้เป็นอื่นไม่ได้ เพราะว่าเกิดขึ้นเพราะปัจจัยใด ก็เป็นไปตามปัจจัยนั้นที่ทำให้เกิดขึ้น เปลี่ยนเจ็บให้เป็นสุขได้ไหม ไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าอยู่ๆ ความเจ็บก็หายไป หมายความว่า ผลของกรรมหมดสิ้นแล้ว หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ความเจ็บอยู่ๆ ก็หายไป แล้วเวลานี้ อยู่"เห็น"หายไป หรือเปล่า เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะไม่รู้จักว่า

    ท่านอาจารย์ เพราะมีปัจจัยให้เห็นเกิด เห็นก็เกิด ถ้าใครเกิดตาบอดฉับพลัน เห็นได้ไหม เพราะฉะนั้นไม่ใช่ "อยู่ๆ " ทุกอย่างที่เกิดมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น ไม่มีอะไรเลยที่อยู่ๆ จะเกิดขึ้นมาได้ แต่เมื่อไม่รู้ ก็อยู่ๆ ทั้งนั้นเลย อยู่ๆ ก็ดีใจ อยู่ๆ ก็โกรธ อยู่ๆ ก็เจ็บ เป็นไปไม่ได้เลย สภาพธรรมนั้นเกิด จึงมีลักษณะอย่างนั้น และที่เกิดเป็นอย่างนั้น ก็เพราะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เป็นอย่างนั้น จะไม่เป็นอย่างอื่นเลย เคยขุ่นใจไหม เคยโกรธมากๆ ไหม ขณะขุ่นใจ เปลี่ยนขุ่นใจให้เป็นโกรธมากๆ ได้ไหม ไม่ได้ เพราะว่ามีปัจจัยที่จะทำให้เพียงขุ่นใจ แต่เวลาโกรธมากๆ ให้ความโกรธนั้นลดลง ให้เหลือเพียงนิดเดียวได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะมีปัจจัยที่จะทำให้ความโกรธระดับนั้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น

    นี่คือธรรม ต้องเข้าใจว่า ธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีจริง ถ้าใช้คำว่า “ธาตุ” หรือ “ธา – ตุ” ไม่เป็นของใครเลย ฉันใด ธรรมกับธาตุก็เป็นสิ่งเดียวกัน คือ เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และไม่ใช่ของใครด้วย ได้ยินดับไปแล้ว ตอนที่ได้ยิน เป็นเราได้ยิน แล้วเวลาที่ได้ยินหมดไป เราหมดไปด้วย หรือไม่ ไม่หมด หรือ แต่ว่าได้ยินไม่มี ก็ยังคงตามยึดถือสภาพธรรมซึ่งเกิดต่อไปอีก เมื่อสักครู่ได้ยิน ขณะนี้ไม่ได้ยิน ขณะนี้คิด ทั้งหมดก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่เมื่อไม่รู้ ก็ตามเป็นเราไปหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย

    ผู้ฟัง ความคิดที่เกิดขึ้น คิดแต่อกุศลตลอด

    ท่านอาจารย์ อกุศลเกิดแล้ว ควรรู้ หรือควรเสียใจ หรือควรไปทำอะไร เห็นไหม มีตัวเราซึ่งไม่ชอบอกุศล หาทางที่จะไม่ให้อกุศลเกิด แต่ไม่รู้ว่า อกุศลไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่จะไม่มีอกุศล เพราะขณะนั้นก็เป็นอกุศลแล้ว

    ผู้ฟัง แล้วควรจะเข้าใจอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรม ขณะนี้มีธรรม รู้ว่าเป็นธรรม การที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ค่อยๆ ละคลายการยึดถือ หรือการเข้าใจว่าเป็นเราทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะดับหมด ไม่มีเหลืออีกเลย นี่คือมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง ไม่ใช่พึ่งให้มีอกุศลเยอะๆ ให้มีความไม่รู้มากๆ แต่พึ่งเพื่อจะได้เข้าใจถูก เห็นถูก จนสามารถที่จะดับกิเลสอกุศลได้หมด ไม่เหลืออีกเลย

    ผู้ฟัง มีจดหมายจากท่านผู้ฟัง เป็นจดหมายที่ค่อนข้างยาว แต่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ฟังที่เริ่มต้นใหม่ๆ มาก

    วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๙

    กราบเรียนท่านอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง

    "ดิฉันเพิ่งเริ่มมาฟังการบรรยายธรรมกับท่านอาจารย์เพียง ๓ – ๔ ครั้ง แต่เมื่อตอนเด็กๆ ดิฉันเคยฟังท่านอาจารย์บรรยายธรรมทางวิทยุมาบ้างแล้วเหมือนกัน ซึ่งตอนนั้นดิฉันฟังโดยไม่ได้ตั้งใจฟัง แต่ก็ต้องฟัง ฟังไปก็รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง เหตุสืบเนื่องมาจากอดีตคุณพ่อดิฉัน ท่านตื่นแต่เช้ามาสวดมนต์ และฟังธรรมบรรยาย ตอนนั้นดิฉันเรียน ม. ๒ ตอนเช้าคุณพ่อก็จะสวดมนต์ด้วยเสียงดังก้อง และตามด้วยการเปิดฟังธรรมแบบดังลั่นๆ อยู่เป็นประจำ จะเป็นด้วยจุดประสงค์แห่งกุศโลบายของคุณพ่อ หรือไม่ก็ไม่ทราบ ที่จะทำให้ดิฉัน และคนในบ้านพลอยจำใจได้ฟังธรรมไปกับท่านอย่างไม่ได้ตั้งใจ มิหนำซ้ำบางครั้งยังก่อให้เกิดความรำคาญใจอีกต่างหาก แต่ดูเหมือนท่านจะไม่สนใจกับความรู้สึกใดๆ ของคนในบ้านเลย เพราะท่านชอบฟัง และพอใจที่จะฟังอยู่บ่อยๆ ทุกเช้า ต่อมาเมื่อดิฉันได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพ คุณพ่อก็มักจะสอบถาม และปรารภกับดิฉันบ่อยๆ ว่า สถานที่ที่เขาบรรยายธรรมออกอากาศตอนเช้าๆ นั้นอยู่ที่ไหน ลูกพอจะรู้จักไหม ซึ่งในตอนนั้นดิฉันก็ไม่สามารถจะตอบได้ จนกระทั่งดิฉันได้มีโอกาสเข้ามาอยู่กรุงเทพเพราะการแต่งงาน และท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของดิฉัน ความใฝ่ฝันของคุณพ่อก็ยังไม่ถูกลบเลือนแม้แต่น้อย ท่านยังชอบปรารภ และสอบถามอยู่เนืองๆ เช่นเคยว่า ลูกพอจะรู้บ้างไหมว่า สถานที่เขาบรรยายธรรมอยู่ที่ไหน ให้ช่วยพาท่านไปรู้จักคุ้นเคยหน่อย เพื่อจะได้มาฟังธรรมกับเขาบ้าง ตามความคิดของผู้อยู่ต่างจังหวัด คือ อยากเห็นสถานที่จริง ตัวจริง และเสียงจริงของท่านอาจารย์ และเมื่อโอกาสเหมาะสมนั้นมาถึง ดิฉันจึงไปรับท่านจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยตั้งใจว่าจะให้ท่านพำนักอยู่หลายวันหน่อย เพื่อตามหาสถานที่เขาบรรยายธรรม ในที่สุดโชคดีที่รู้ข้อมูลค่อนข้างชัดเจนจากการฟังวิทยุว่า การบรรยายธรรมทุกครั้งมาจากมูลนิธิพระอภิธรรม วัดมหาธาตุในตอนนั้น ด้วยความเคารพ และศรัทธาในพระธรรมเป็นอย่างยิ่งของท่าน ท่านจึงไม่ละความพยายามที่จะตามหาที่เรียนรู้ เพราะท่านเองก็มีความรู้พื้นฐานทั้งทางโลก และทางธรรมมาจากวัดในพม่าค่ะ ท่านเป็นคนไทยใหญ่ เชื้อสายพม่า ต่อมาท่านได้อพยพมาอยู่แม่ฮ่องสอน ท่านเล่าอย่างนี้

    เมื่อวันดีมาถึง ดิฉัน และคุณพ่อก็ได้เตรียมตัวกันตั้งแต่เช้า และพากันไปที่วัดมหาธาตุ ใกล้ท้องสนามหลวง วัดมหาธาตุในสมัยนั้นจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนอย่างมากหน้า มีทั้งพ่อค้าแม่ค้า และผู้มาฟังธรรมตามหอบรรยายธรรมต่างๆ มากจนแน่นขนัด อย่างที่ดิฉันไม่เคยเห็นมาก่อนเลย แลดูแปลกหูแปลกตาสำหรับดิฉัน และคุณพ่อมาก หลังจากที่ไปสอบถามจากเจ้าหน้าที่ที่ห้องบริการ และได้ทำบุญที่คณะ ๕ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยความยินดี ท่านผู้เป็นกัลยาณมิตรก็ได้กรุณาพาเราไปฟังธรรมบรรยายด้วยกันอย่างอบอุ่น แต่คุณพ่อก็ยังข้องใจเหมือนยังไม่ตรงจุดประสงค์ของท่าน ท่านจะถามว่า ท่านอาจารย์กิตติวุฑโฒบรรยายที่ไหน ท่านอาจารย์สุจินต์บรรยายที่ไหน ห้องไหน ท่านจะถามเขาตามความเข้าใจของท่านอยู่เสมอ เมื่อมีผู้กรุณาแนะนำ ท่านก็ได้เข้าไปฟังธรรม และดิฉันก็รู้ได้เลยว่า ท่านคงจะไม่ยอมกลับแน่ๆ ถ้าเขาไม่เลิกบรรยาย และดูเหมือนดิฉันจะเดาใจได้ถูกต้อง ท่านหันมาบอกว่า ถ้าลูกจะกลับไปก่อน ก็ไปนะ พ่อจะอยู่ฟังธรรมที่นี่ ตอนเย็นๆ ค่ำๆ อย่าลืมมารับพ่อก็แล้วกัน ดิฉันแอบเป็นห่วงท่านอยู่นิดๆ เหมือนกัน แต่ก็คิดว่า ผลบุญคงจะอำนวยความสะดวกให้คุณพ่อเอง

    วันนั้นทั้งวัน คุณพ่อคงมีความสุขกับการฟังธรรมบรรยายตามที่คุณพ่อปรารถนามานาน คือ อยากเห็นตัวจริง เสียงจริงของผู้บรรยายที่ล้วนแต่เก่งๆ ทั้งนั้น สังเกตได้จากตอนมารับคุณพ่อกลับ ดิฉันมาถึงวัดอีกครั้งตอน ๖ โมงเย็น เห็นท่านนั่งคุยสนทนาธรรมกับเพื่อนธรรมใหม่ๆ หลายท่านอย่างมีความสุข สนทนาไปหัวเราะไป ทั้งๆ ที่เพิ่งจะรู้จักกันไม่นานนี่เอง ด้วยความศรัทธา และวิริยะของท่าน ขณะนั้นดิฉันมีคำถามกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า กรรม หรือการกระทำของคุณพ่อขณะนั้นเป็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม เพราะเป็นครั้งแรก และครั้งเดียวในชีวิตของท่าน เพราะหลังจากนั้นท่านไม่มีโอกาสฟังธรรมสดๆ อีกเลย แต่ได้กลับไปฟังที่ต่างจังหวัด จนกระทั่งท่านสิ้นชีวิตโดยที่ท่านยังสนใจธรรม และฟังธรรมมาโดยตลอด"

    อาจารย์กรุณาตอบว่า เป็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม

    อ.อรรณพ เจตนาที่เป็นไปในการที่ใคร่จะฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง และมีความเข้าใจในสภาพธรรมเพิ่มขึ้น ก็เป็นกุศลกรรม เพราะว่าเป็นกุศลเจตนา เพราะฉะนั้นในการเห็นประโยชน์ในการศึกษาธรรม ฟังธรรมที่ถูกต้อง ก็ต้องเป็นกุศลกรรม ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่ใคร เป็นสภาพของกุศลเจตนาซึ่งเกิดแล้ว แม้ดับแล้ว แต่ก็สะสมพร้อมปัญญาพร้อมสติที่มีความเข้าใจธรรมนั้น

    ผู้ฟัง ขออ่านต่อ

    "คุณพ่อท่านชื่นชมว่า แม้ท่านอาจารย์สุจินต์จะเป็นผู้หญิง ก็เก่งๆ ทั้งนั้น ท่านชอบพูดชื่นชมอย่างนี้เสมอ ณ ปัจจุบันนี้คุณพ่อดิฉันสิ้นบุญไปแล้ว ๑๖ ปี ส่วนดิฉันมีความรู้สึกเหมือนกับว่า สัญญาแห่งความทรงจำนั้นกำลังจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เมื่อวันหนึ่งดิฉันได้เปิดวิทยุฟังการบรรยายของท่านอาจารย์ทางสถานีวิทยุ สทร. ออกอากาศเวลา ๖ น. – ๗ น. ฟังใหม่ๆ ในครั้งแรกๆ ก็มีความรู้สึกว่า เป็นธรรมที่ดิฉันคุ้นเคยมาก่อนแล้ว ทั้งๆ ที่บางครั้งก็ฟังไม่เข้าใจ แต่ชอบฟัง เหมือนพอจะรู้ข้อธรรมเป็นเค้าลางอยู่บ้างค่ะ ซึ่งคำศัพท์ธรรมต่างๆ ดิฉันฟังมาจนคุ้นหู เช่น จิต เจตสิก รูป และอื่นๆ อีกหลายคำ เพียงแต่ดิฉันไม่รู้ความหมายที่แท้จริงว่า คืออะไร

    คุณธิดารัตน์จะอธิบายตรงนี้ไหม จิต เจตสิก รูป

    อ.ธิดารัตน์ จิตก็มีลักษณะ คือ เป็นสภาพรู้ที่เป็นใหญ่ในการรู้ ส่วนเจตสิก โดยธรรม ทั้งจิต และเจตสิกต้องมีการเกิดขึ้น และเกิดขึ้นจะต้องอาศัยกัน จะไม่มีจิตเพียงอย่างเดียว แต่ในขณะที่มีจิตต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เจตสิกก็เป็นนามธรรมอีกประเภทหนึ่งที่มีกิจหน้าที่ต่างๆ เฉพาะของเขา เจตสิกก็จะมีลักษณะที่ต่างๆ กันไปถึง ๕๒ ประเภท แต่เวลาที่เกิดกับจิตก็ตามสมควร จิต ๑ ขณะ หรือ ๑ ประเภท จะมีเจตสิกอย่างน้อย ๗ ประเภท อย่างเช่นจิตเห็น ที่ทำหน้าที่เห็นนั่นเอง นี่คือตัวอย่าง ส่วนจิตอื่นๆ ก็จะมีจิตที่เป็นกุศลจิต ก็จะต้องมีกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ก็จะทำกิจหน้าที่ คือ เป็นนามธรรม หรือเป็นสภาพรู้เหมือนกัน จิตมีหน้าที่ คือ เป็นใหญ่ในการรู้ เจตสิกก็จะมีหน้าที่ รู้ในสิ่งที่จิตรู้ โดยลักษณะเฉพาะของเจตสิกนั้นๆ

    ส่วนรูป คือ รูปธรรมเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร ใช้คำว่า “รูปธรรม” และรูปธรรมที่เราสามารถเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ก็คือ สี หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา เราจะรู้สีนั้นได้ ก็เมื่อมีจิตรู้สีนั้นเอง ก็คือจิตเห็น จิต และเจตสิกก็ทำหน้าที่ และรูปธรรมก็เป็นอารมณ์ของจิต คือ ถูกจิตรู้ เช่นนี้เป็นการทำงานซึ่งกัน และกัน คือ ธรรม ที่ท่านใช้คำว่า “ธรรม” คือ สิ่งที่มีจริง และมีลักษณะเฉพาะของแต่ละสภาพนั้น รูปธรรมก็คือลักษณะเฉพาะของเขา คือ เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร ไม่รู้อารมณ์ ส่วนนามธรรมเป็นสภาพรู้อารมณ์ นามธรรม ก็ได้แก่จิต และเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ขอร่วมสนทนาเพิ่มเติม เพราะเหตุว่าการฟังธรรม ไม่ว่าจะฟังเมื่อไร ก็เพื่อจะได้รู้สิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้น เราคงไม่ไปวิเคราะห์ว่า จิตหมายความถึงอะไร แปลว่าอะไร มาจากคำอะไร ธาตุชนิดไหน ภาษาบาลีว่าอย่างไร แต่ว่าขณะนี้มีจิต หรือไม่ แค่นี้ เรายังไม่ได้ศึกษาธรรม เพียงแต่ความคุ้นเคย ความคุ้นหู เพราะว่าเราก็ใช้คำนี้ในภาษาไทย มีใครไม่เคยได้ยินคำว่า “จิต” บ้างไหม ไม่มี เพราะฉะนั้นทุกคนมีจิตแน่ เดี๋ยวนี้มีไหม จิต จิตกำลังทำอะไร เห็นไหมว่า ถ้าไม่รู้จักจิตจริงๆ หาจิตไม่เจอ เพียงแค่รู้ว่ามีจิต แต่ยังไม่รู้จริงๆ ว่า จิตมีลักษณะอย่างไร และขณะนี้กำลังเป็นจิตอะไร และจิตนั้นอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร

    ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ตรัสรู้ความจริงทั้งหมดที่มี ซึ่งสามารถจะเข้าใจได้ในขณะที่กำลังฟังธรรม เช่น ขณะนี้ถ้าจะกล่าวว่า ทุกคนกำลังเห็น ดูเป็นเรื่องธรรมดา ไม่น่าอัศจรรย์ ใช่ไหม ทุกคนกำลังเห็น แต่ถ้าบอกว่า ไม่ใช่เราเห็น แล้วอะไรเห็น ตอบได้ไหม คนที่ศึกษามาก่อน ตอบได้เร็วเลยว่า จิตเห็น แต่ไม่ได้หมายความว่า รู้จักจิตจริงๆ รู้สภาวะ สภาพที่เป็นจิตจริงๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567