พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 271


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๗๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง ถ้าจะใช้คำว่า จิตคิดถึง จะได้ไหม

    ท่านอาจารย์ จะใช้คำ หรือว่าคิดมีจริงๆ และคิดไม่ใช่รูป เพราะเหตุว่ารูปไม่สามารถที่จะคิดได้ ไม่ลืมว่า ไม่มีเรา ฟังจนกว่าจะเข้าใจว่า ไม่ใช่เรา แล้วเป็นอะไร จิตมีแน่นอน เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นธาตุที่สามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ และสิ่งที่จิตกำลังรู้ต้องมี เพราะจิตเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นในขณะนี้เอง "เห็น" กำลังมี เป็นสภาพธรรมที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้นลักษณะนั้นเป็นสภาพของจิต ไม่ใช่รูปธรรมใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่เป็นวง หรือเป็นอะไร แต่เมื่อจิตเกิดขึ้นขณะใดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เวลาเสียงปรากฏ ถ้าจิตไม่เกิดได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นปรากฏไม่ได้ แต่เราไปคิดถึงเฉพาะเสียง ลืมว่า ขณะที่เสียงปรากฏ ต้องมีสภาพธรรมที่กำลังได้ยิน หรือรู้เสียงนั้น เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ก็ไม่มีสักขณะเดียวซึ่งไม่มีจิต อะไรที่ปรากฏเพราะจิตกำลังรู้สิ่งนั้นทั้งหมด

    ผู้ฟัง ก็คือให้เข้าใจว่าเป็นสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ไปติดที่คำ หรือไม่ใช่ติดที่เรื่อง แต่ต้องรู้ว่า สภาพรู้ ธาตุรู้ ใช้คำว่า “ธาตุ” ธาตุรู้ซึ่งเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างเลย แต่เป็นธาตุที่เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ถ้าเข้าใจโดยตรงอย่างนี้ ก็จะไม่มีข้อสงสัยเลย จะใช้คำว่า ดวง จะใช้คำว่าขณะ จะใช้คำว่า ประเภท จะใช้คำว่าอะไรก็ตาม ก็รู้ว่า จิตเป็นสภาพที่มีจริง ไม่ใช่รูปธรรม เกิดขึ้นทำกิจการงานแล้วก็ดับไป ดับแล้วไม่กลับมาอีกเลยด้วย จิตที่เกิดใหม่ก็ตามเหตุตามปัจจัยที่ทำให้จิตนั้นๆ เกิดขึ้น ถ้าเข้าใจสภาพรู้ว่า ต่างกับรูปธรรม จะใช้คำอะไรก็ได้ แต่ต้องเข้าใจถูกจริงๆ เช่นในขณะที่เห็น เป็นธาตุที่สามารถกำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ

    นี่คือความหมายของรู้สิ่งที่ปรากฏให้รู้ เสียงปรากฏ ธาตุรู้ได้ยิน รู้ว่าเสียงนั้นเป็นอย่างนั้น ไม่ได้เป็นอย่างอื่น สภาพที่สามารถรู้แจ้งลักษณะของเสียงแต่ละเสียงที่ต่างๆ กันไป สภาพธรรมนั้นก็เป็นจิต จะใช้คำว่า ดวง จะใช้คำว่า ขณะ จะใช้คำว่าอะไรก็ตามแต่ แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า หมายความถึงสิ่งที่เรากล่าวแล้วทีละหนึ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็หมดไป ถ้าเป็น ๒ จะใช้คำว่า จิต ๒ ขณะ จิต ๒ ดวง จิต ๒ ประเภท แล้วแต่ว่าขณะนั้นกำลังกล่าวถึงอะไร ถ้ากล่าวถึงโลภมูลจิตมีกี่ประเภท จะใช้คำว่ากี่ดวงก็ได้ แต่ต้องไม่เข้าใจผิดว่า แม้ว่าจะเกิดความติดข้องเมื่อไร ขณะไหนก็ตาม เช้า สาย บ่าย ค่ำ ชาติหน้า ชาติก่อน ก็คือสภาพที่กำลังติดข้อง และสภาพที่ติดข้องนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย หรือไม่ ถ้ามี เพราะเหตุว่ามีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย จึงเป็นโลภมูลจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งแม้ดับความเห็นผิดแล้วก็ตาม แต่โลภะยังมีได้ นี่คือการจะค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง นี่ก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่ใครจะไปคิดอย่างไร ทำอะไรก็ได้ แต่ไม่สามารถที่จะกั้นความเข้าใจถูก ความเห็นถูกจากการพิจารณาเข้าใจอรรถของโวหารนั้นๆ ได้

    ผู้ฟัง จิตกับเจตสิกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เห็นไหม

    ผู้ฟัง ขณะนี้เห็น

    ท่านอาจารย์ เป็นจิต เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท ใช้คำว่า ๗ ดวง ได้ไหม ได้ หรือไม่ได้ ถ้าเข้าใจแล้ว ไม่ต้องไปคิดถึงวงกลม แต่คิดว่าเจตสิกแต่ละอย่าง ไม่ใช่อย่างเดียวกัน จึงต่างกันไป จะใช้คำว่า ประเภท จะใช้คำว่า ดวงก็ได้ ขณะที่กำลังเห็น จะรู้ถึงสภาพธรรมที่เกิดกับจิตได้ไหม เช่น ผัสสเจตสิก ไม่ได้ แต่มี

    ก็ให้ทราบตามความเป็นจริงว่า การศึกษาธรรม จะต้องรู้ความต่างของสภาพที่เป็นนามธรรม ๒ อย่าง สภาพนามธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน คือ จิต ส่วนสภาพนามธรรมที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิตนั้นเป็นเจตสิก เห็นสิ่งหนึ่ง ชอบ เห็นเป็นเห็น ชอบเป็นชอบ เห็นเป็นจิต ขณะที่ชอบก็ยังรู้สิ่งนั้นอยู่ ยังชอบในสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่ แต่ว่าลักษณะที่ชอบ ไม่ใช่ลักษณะที่กำลังรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่เป็นสภาพที่ติดใจ พอใจ ต้องการสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ชอบเป็นเจตสิก แต่สภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่กำลังปรากฏเป็นจิต ชอบเสื้อผ้าที่เห็น ต้องมีจิตเห็นเสื้อผ้า และมีเจตสิกที่ชอบเสื้อผ้าที่เห็นในขณะนั้น เจตสิกต้องเกิดกับจิตเท่านั้น จะเกิดนอกจากจิตไม่ได้เลย ขณะนี้มีเจตสิกไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ โดยทฤษฎี โดยการฟังทราบว่า เมื่อจิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง จิตที่เกิดแล้วต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท กล่าวว่า ๗ ดวง ได้ไหม ได้ ถ้าเข้าใจ

    ผู้ฟัง ขอใฟ้อธิบายว่า อาโป ธาตุน้ำ ก็คือจับต้องไม่ได้ รู้ได้ทางใจ คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ รู้ผัสสเจตสิกไหม

    ผู้ฟัง ก็คือสิ่งกระทบสัมผัส

    ท่านอาจารย์ รู้ผัสสเจตสิกไหม

    ผู้ฟัง ไม่ค่อยเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะเห็น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท ผัสสเจตสิกเป็นเจตสิกที่กระทบอารมณ์ใด จิตรู้อารมณ์นั้น เกิดพร้อมกัน เมื่อกระทบจิตเกิดขึ้นรู้ทันทีพร้อมกัน ไม่ใช่กระทบหมดไป แล้วจิตไปเกิดรู้ทีหลัง อย่างนั้นไม่ใช่ ขณะนี้ที่กำลังเห็น รู้ผัสสเจตสิกไหม รู้สภาพที่กำลังกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ หรือไม่ หรือว่ารู้ลักษณะที่กำลังเห็น มีเห็นจริงๆ และรู้ผัสสะไหมที่เกิดกับจิต ที่กระทบอารมณ์ที่จิตกำลังเห็น รู้ผัสสะนั้นไหม ไม่รู้ เวลาที่กระทบแข็ง อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง แข็ง

    ท่านอาจารย์ เวลาที่กระทบร้อน อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง ร้อน

    ท่านอาจารย์ มีสภาพที่ตึงไหวให้รู้ได้ แต่ไม่สามารถกระทบกับอาโปธาตุได้ เช่นเดียวกับขณะนี้มีผัสสเจตสิก แต่จะรู้ผัสสเจตสิกไหม เพราะฉะนั้นเวลาที่กระทบ แข็งปรากฏ เย็นร้อนปรากฏ ตึงไหวปรากฏ แต่ลักษณะที่เป็นอาโปธาตุไม่ปรากฏ แล้วจะกล่าวว่า แล้วจะรู้อย่างไร อะไรที่ปรากฏ ก็รู้สิ่งนั้น หรือว่าจะไปรู้ผัสสะอย่างไร เพราะผัสสะก็มี เกิดกับจิต แล้วจะไปรู้ผัสสะอย่างไร เช่นเดียวกับธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ต้องมีธาตุน้ำอยู่ร่วมด้วย แล้วจะไปรู้ธาตุน้ำอย่างไร ก็คือเมื่อไม่รู้ ก็จะไปรู้อย่างไร แต่สิ่งที่ปรากฏแล้วไม่รู้ คือ แข็งก็ยังปรากฏให้รู้ไปเรื่อยๆ แต่ไม่รู้แข็ง แต่จะไปรู้ธาตุน้ำ หรืออาโปธาตุอย่างไร แล้วขณะนั้นก็ไม่รู้แข็ง แล้วจะรู้อะไรได้ ในเมื่อสิ่งที่ปรากฏไม่รู้

    ผู้ฟัง ในขณะที่มีเรื่องราวใดๆ ก็ตาม จะเกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้เลย ถ้าไม่มีสภาพที่คิดถึงเรื่องราวนั้น แต่ถ้าผมมีอำนาจวิเศษเอาเรื่องราวออกหมด ก็จะเหลือแต่สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมล้วนๆ มีมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล เดี๋ยวนี้ และอีก ๑๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปี สภาพที่คิดอย่างนี้ก็ยังต้องมีต่อไป เช่นนี้ใช่ไหม เป็นลักษณะของธรรมที่เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง และเราก็เรียกว่า ความคิด

    ท่านอาจารย์ คุณประทีปไม่ต้องมีอำนาจวิเศษที่จะทำอะไรทั้งสิ้น เพราะสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้นแล้ว

    ผู้ฟัง เป็นอย่างนั้นแล้ว หรือ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เห็นดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ แล้วคิด เพราะฉะนั้นขณะที่เห็นดับ ก็แสดงว่าเห็นนั้นหมดแล้ว แยกออกไปแล้วจากจิตขณะต่อไปซึ่งคิด และเรื่องราวก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา แยกออกไปแล้วจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นคุณประทีปไม่ต้องไปแสวงหาอำนาจวิเศษอะไรมาทำเลย เพราะสภาพธรรมเป็นอย่างนั้นแล้ว แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น การฟังธรรม จะเห็นได้ว่า แม้ธรรมจะปรากฏจริงๆ แต่ต้องอาศัยการฟัง และเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง จนกระทั่งเป็นสัจญาณ อริยสัจ ๔ ทุกคนรู้จัก ทุกขสัจ ทุกขสมุทัยสัจ ได้แก่ โลภะ ความติดข้อง และสภาพธรรมที่ดับทุกข์ ทุกขนิโรธสัจ จนถึงกระทั่งถึงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ที่จะให้ถึงการรู้แจ้งสภาพธรรมได้ แต่ถ้าไม่มีสัจญาณ ไม่มีทางเลยที่สามารถจะรู้แม้ทุกขสัจ ยังไม่ต้องไปถึงสัจธรรมอื่นๆ

    เพราะฉะนั้น การฟัง แทนที่จะไปคิดว่า ถ้าเรามีอำนาจ ไม่ต้องมีใครมีอำนาจเลย ธรรมเป็นอย่างนั้นแล้ว คือ ขณะใดก็ตาม จิตเห็นเกิดขึ้น มีสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ยังไม่เป็นการคิดนึกเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น จนกว่าจิตที่รู้สภาพที่ปรากฏทางตาดับหมดแล้ว ภวังคจิตคั่น ขณะนั้นไม่ได้รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเลย ใครไปทำให้ ภวังค์คั่น มีอำนาจอะไรที่จะให้แยกขาดทางจักขุทวารกับทางมโนทวาร ไม่ต้องมีอำนาจใดๆ เลย ธรรมเป็นอย่างนั้น เมื่อภวังคจิตดับแล้ว จากการที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาดับไป ทำให้มโนทวาราวัชชนจิตตรึกถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา คนละขณะแล้ว เห็นจริงๆ กับขณะที่ไม่ได้เห็น แต่จากการเห็นนั่นแหละ ทำให้นึกถึงสิ่งที่เพิ่งผ่านไป ไม่ต้องมีใครมีอำนาจใดๆ ไปแยกทั้งสิ้น และขณะนั้นก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏทางตานั่นเอง เพราะนึกถึงอะไร นึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วดับไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏกับมโนทวาราวัชชนจิตทางใจ จะเป็นอื่นไม่ได้ เพราะนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาดับไป เพราะฉะนั้นก็รู้สิ่งที่ปรากฏที่ทางตาเห็น ดับไปนั่นเอง แล้วต่อจากนั้น เราจะใช้คำว่า หลายวาระ ก็จะเป็นการคิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตา สภาพธรรมเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ปัญญายังไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการฟังจึงต้องถึงความเป็นสัจญาณ เป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ สิ่งนี้กำลังเกิดดับสืบต่อ ไม่ได้ปรากฏความจริงให้รู้การเกิดดับสืบต่อแต่ละรูป ซึ่งดับไปแล้วไม่กลับมาอีก แต่ละขณะของนามธรรมซึ่งดับแล้วไม่กลับมาอีก แต่ว่าเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ การที่จะรู้ลักษณะซึ่งสืบต่ออย่างเร็วมาก เหมือนกับเป็นนิมิตของสิ่งที่มีจริงๆ เพราะว่าสิ่งที่มีจริง เกิดแล้วดับแล้ว แต่ว่าสืบต่อย่างเร็วมาก ทำให้สามารถที่จะค่อยๆ รู้ลักษณะ ซึ่งความจริงก็เป็นรูปนิมิต หรือสังขารนิมิตนั่นเอง แต่มีลักษณะให้เข้าใจถูกได้ว่า ขณะนั้นเป็นลักษณะซึ่งไม่ได้คิด เพราะว่าขณะคิด สิ่งนั้นไม่ได้ปรากฏให้รู้

    ด้วยเหตุนี้การค่อยๆ เข้าใจความละเอียดขึ้น ก็ทำให้รู้ความต่างของขณะที่เป็นปรมัตถ์กับขณะที่เป็นบัญญัติ เพราะว่าเราใช้คำว่า “บัญญัติ” เสมอ คิดเป็นเรื่องเป็นราวเป็นบัญญัติต่างๆ แต่ว่าการจะรู้บัญญัติได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อรู้ว่า อะไร ขณะไหน สภาพไหนเป็นปรมัตถ์ และนอกจากนั้นแล้วก็เป็นบัญญัติ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมด ปัญญาต้องค่อยๆ รู้ตาม ตามลำดับขั้น ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคง เราจะไปทำอย่างอื่นไหม จะไปเอาอำนาจอะไรไหม เพราะไม่มี สภาพธรรมเป็นอย่างนั้น อำนาจใดๆ ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะรู้ได้ว่า ปัญญาที่จะเจริญจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าถึงทุกขสัจ หรือทุกขอริยสัจจะได้ ก็คือการเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งซึ่งปรากฏแต่ละทางตามความเป็นจริงนั่นเอง

    ถ้าขณะนี้สิ่งใดปรากฏ แล้วไม่รู้ ขณะนั้นสิ่งนั้นดับแล้ว แล้วก็เกิดดับสืบต่อนานสักเท่าไรก็ตามแต่ ก็หมดไปทุกๆ ขณะ จนกว่าสติสัมปชัญญะมีการรู้ตรงลักษณะนั้น ขณะไหน ขณะนั้นก็คือปัญญาที่เริ่มรู้ว่า ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมต่างกับขณะที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ

    ผู้ฟัง ปรมัตถธรรมปรากฏเพียงชั่วขณะหนึ่ง แต่เรื่องราวในชีวิตประจำวันที่เป็นนายประทีปกำลังพูด กำลังเห็นคนโน้นคนนี้ต่างๆ เป็นเรื่องคิดนึกทั้งหมดเลย หรือ

    ท่านอาจารย์ จิตเห็นก็มากมาย ดับไปแล้ว กลับมาอีกไม่ได้ จิตนึกคิดก็มากมายดับไปแล้ว ก็เหมือนอยู่ในความไม่รู้สิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก จนกว่าสติสัมปชัญญะรู้ลักษณะของสภาพธรรมเมื่อใด เมื่อนั้นจึงจะเป็นขณะที่กำลังรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมว่า ขณะนั้นกำลังสัมผัส หรือกำลังเริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริง เพราะว่าขณะนี้สิ่งที่มีจริงก็เกิดดับโดยไม่รู้ไปเรื่อยๆ มากมายเหมือนทะเล เหมือนมหาสมุทร ดับไปแล้ว แต่ขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด ก็คือขณะที่กำลังมีลักษณะนั้นปรากฏกับสติสัมปชัญญะ เริ่มที่จะรู้ว่า เป็นสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นในชีวิตประจำวัน ทุกๆ คนต่างก็มีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็คิดว่า ลักษณะอย่างนี้เป็นน้องเรา เป็นหลานเรา เป็นสหายธรรมเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นภูเขา เป็นดอกไม้ ก็มีลักษณะทั้งนั้น หรือ

    ท่านอาจารย์ กำลังฟัง ทุกคนได้ยินเสียงคุณประทีปใช่ไหม เห็นในขณะที่ได้ยินคุณประทีป เกิดดับไปเรื่อยๆ หรือเปล่า เห็นไหมว่า สภาพธรรมเกิดดับเร็ว ขณะที่กำลังฟังคุณประทีป ไม่ใช่ไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏไป ปรากฏไป ดับไป แต่กำลังฟัง มีเสียงกำลังปรากฏ แล้วก็มีนึกคิดเรื่องราวสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง

    เพราะฉะนั้นก็แสดงว่า ขณะที่กำลังเหมือนกับได้ยินเสียง และกำลังฟังคุณประทีป สภาพธรรมอื่น คือ เห็น ไม่ได้หมดไป ใช่ไหม ไม่ใช่มีแต่เสียง ไม่ใช่มีแต่เฉพาะคุณประทีป กำลังฟังเสียงคุณประทีป ขณะที่กำลังฟังคุณประทีป ก็มีเห็น เพราะฉะนั้นเห็นในขณะที่กำลังฟังคุณประทีป เห็นนั้นเกิดดับไปตลอดเวลา หรือไม่ เห็นไหม โดยไม่รู้ ก็แสดงให้เห็นว่า จริงๆ แล้วการเกิดดับของสภาพธรรมเร็วมากด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นเวลานี้หมดเสียงคุณประทีป หมดเรื่องคุณประทีป แต่ก็มีสภาพธรรมที่เกิดอีกแล้วก็ดับอีก สืบต่ออยู่เรื่อยๆ เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะกำลังฟังเสียงคุณประทีป จิตเห็นก็เกิดดับไปเรื่อยๆ ฉันใด ขณะนี้สภาพธรรมก็เป็นอย่างนั้นจนกว่าสติสัมปชัญญะเกิด จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งขณะที่กำลังฟังเสียงคุณประทีป ไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นมี ก็เกิดดับไปเรื่อยๆ ฉันใด ขณะนี้ทุกอย่างกำลังเป็นอย่างนั้น คือ เกิดดับไปเรื่อยๆ จนกว่าสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ลักษณะของสภาพธรรมนั้นจึงปรากฏความจริงของลักษณะนั้น ในขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด แม้ขณะนี้ก็เป็นอย่างนั้น สภาพธรรมเกิดดับไปเรื่อยๆ ไม่รู้เลย เกิดดับไปกับความไม่รู้ จนกว่าสติสัมปชัญญะรู้ลักษณะใด ก็เริ่มที่จะรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นจะต้องห่วงใย หรือไม่ ขณะนี้ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ทุกอย่างก็เกิดดับไปหมด พอสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร ก็เหมือนตื่น แล้วรู้ลักษณะของสิ่งนั้น แล้วก็เหมือนหลับไปอีก ด้วยความไม่รู้ แม้ว่าสิ่งนั้นก็เหมือนปรากฏอยู่ตลอดเวลา แต่ความจริงก็คือเกิดดับไปเรื่อยๆ

    อ.วิชัย ในส่วนของโสภณธรรมซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสเรื่องของพละไว้ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา หรือบางแห่งอาจจะรวมหิริพละ โอตตัปปะพละด้วย ถ้ากล่าวถึงธรรมที่เป็นพละ ก็ดูเหมือนว่าตอนนี้ก็กำลังสั่งสมอยู่ แต่ว่าอกุศลก็มีกำลังมาก แต่ว่าทรงแสดงเรื่องของธรรมที่เป็นพละจริงๆ ก็ต้องเป็นธรรมที่มีกำลังจริงๆ ธรรมที่เป็นกำลัง จะมีลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ปรากฏความเป็นพละ ก็ไม่ใช่พละ ในขณะนี้เราฟังเรื่องสภาพธรรม เป็นพละ หรือไม่

    อ.วิชัย ก็ทราบว่าขณะเป็นกุศล ก็ต้องมีศรัทธา มีโสภณธรรมต่างๆ แต่ยังไม่เห็นถึงความเป็นกำลังของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ ใช่ไหม

    อ.วิชัย ต้องเป็นศรัทธา

    ท่านอาจารย์ ศรัทธาแน่นอนเป็นเจตสิก และเป็นพละ เป็นอินทรีย์ด้วย เพราะฉะนั้นเป็นอินทรีย์เมื่อไร เป็นพละเมื่อไร

    อ.วิชัย ก็ต้องสะสมจนมีกำลัง จนถึงความเป็นพละ แต่ที่เป็นพละ หมายความว่าต้องมากกว่าอกุศลธรรม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เวลานี้คนที่กำลังมีอกุศลจิตเกิด หวั่นไหวไหม

    อ.วิชัย ก็ต้องหวั่นไหว

    ท่านอาจารย์ เป็นพละ หรือไม่ เป็นศรัทธาพละ หรือปัญญาพละ หรือไม่ ขณะที่หวั่นไหว

    อ.วิชัย ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังมาว่าไม่ใช่เรา อกุศลก็เป็นธรรม มีปัจจัยก็เกิด เกิดแล้วก็หมดไป แล้วก็เป็นพละ หรือไม่ เวลาที่เข้าใจอย่างนี้

    อ.วิชัย เพียงเข้าใจเรื่อง

    ท่านอาจารย์ หวั่นไหวเมื่อไร จะเป็นพละไม่ได้ ยังไม่ถึงความเป็นพละ แล้วจริงๆ แล้ว ที่จะหมดความเป็นเราได้ ต้องเป็นปัญญาที่สมบูรณ์ขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นเพียงแค่สามารถจะเป็นอินทรีย์ สตินทรีย์ หรือสัทธินทรีย์ เหล่านี้ เวลาที่สติกำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเมื่อครู่นี้ก็หลงลืม เป็นผู้ที่ไม่ห่วงใย ไม่กังวลถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว และไม่คำนึงถึงอนาคตที่ยังไม่เกิดด้วย ขณะนั้นกำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏด้วยความไม่หวั่นไหว หรือด้วยความหวั่นไหว ก็จะเป็นเรื่องของสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งไป แล้วสภาพธรรมที่เกิดแต่ละขณะ แต่ละวาระนั้น จะเป็น หรือไม่เป็นพละ สภาพธรรมนั้นก็ปรากฏ

    อ.วิชัย แสดงว่ามีศรัทธา ก็ต้องมีระดับของศรัทธาที่ค่อยๆ สั่งสมมีกำลังขึ้นเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง สติ ปัญญาจะพิจารณาอย่างไรว่า ไม่เป็นสัตว์ ไม่เป็นบุคคล ไม่เป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เป็น ก็เป็นพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง มิได้จากการฟัง หรือ

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง จากการฟัง ก็ฟังมาหลายๆ รอบ วนอยู่ตรงนี้ สติสัมปชัญญะ ก็ยังไม่ลดละ ตัวตนไม่เล็กลง ก็ยังเป็นตัวตนอยู่นั่นแหละ มากด้วย

    ท่านอาจารย์ เอาดินหุ้มสิ่งหนึ่งสิ่งใดไว้หนาขึ้นๆ ๆ หนามากๆ เลย แล้วทำอย่างไรถึงจะได้เห็นสิ่งที่ดินห่อหุ้มไว้ ตามความเป็นจริงว่าดินห่อหุ้มอะไรไว้ จะเห็นได้อย่างไร ถูกห่อหุ้มด้วยอวิชชามากมายทุกขณะที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งเป็นเพียงธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นวิธีที่จะเห็นอย่างนี้ ในเมื่อถูกอวิชชาห่อหุ้มไว้ จะโดยวิธีใด

    ผู้ฟัง ด้วยวิธีฟังอย่างเดียว หรือ

    ท่านอาจารย์ แล้วจนกว่าจะสัมผัสกระทบ ถ้าจะอุปมากับการจับด้ามมีด ยังไม่ปรากฏรอยนิ้วมือ แม้เพียงรอยนิ้วมือยังไม่ปรากฏ แล้วด้ามมีดจะสึกได้อย่างไร ใส่รองเท้าทุกวัน รอยนิ้วเท้าปรากฏที่รองเท้า หรือเปล่า และถ้าแม้รอยนิ้วเท้าก็ไม่ปรากฏ รองเท้านั้นจะสึกได้ไหม แต่นี่ทุกขณะมีสิ่งที่เกิดดับ โดยที่ปัญญาไม่ได้รู้ลักษณะนั้นเลย นานแสนนานมาแล้ว สิ่งที่ห่อหุ้มจะมากสักแค่ไหน ถ้าไม่มีปัญญาพอ ไม่สามารถไปทำลายสิ่งที่ห่อหุ้ม แล้วก็เห็นสิ่งจริงๆ ของสิ่งที่อยู่ภายในได้ แค่เอาเล็บไปสะกิดนิดๆ เขี่ยหน่อยๆ แล้วอวิชชา หรือดินที่พอกอยู่อย่างมากมายนั้นจะหลุดหมดไปได้ไหม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567