พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 297


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๙๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงธรรมให้เกิดอกุศล หรือความไม่รู้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นกุศล ก็คือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม เมื่อได้มีการเข้าใจคำสอน ก็สามารถจะรู้ด้วยว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรม ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา

    ผู้ที่นั่ง ก็ไม่ทราบว่า มีจุดประสงค์อะไรที่จะนั่ง อยู่ดีๆ ก็นั่ง หรืออย่างไร ก็นั่งกันอยู่แล้วทุกวันๆ แล้วจะไปนั่งเพื่ออะไรอีก

    ถ้าไม่มีการสนทนา เขาก็ไม่สามารถจะตอบ และเขาก็ไม่สามารถจะรู้ และเข้าใจด้วยตัวเองได้ว่า การกระทำที่ทำอยู่นั้นถูก หรือผิด เพราะเขาไม่มีโอกาสจะบอกถึงความประสงค์ของเขาเลย

    ในชีวิตประจำวันจริงๆ กุศลจิตเกิด มีการกระทำสิ่งที่เป็นกุศล แต่เป็นไปโดยการมีอกุศลบ้าง หรือเปล่า ในพระไตรปิฎก หรืออรรถกถา ก็มีเรื่องของคนหนึ่งซึ่งบอกทางคนอื่น แต่ไม่ได้บอกดีๆ บุ้ยปาก เห็น หรือไม่ เช่นนี้ก็จะเห็นว่า แม้มีกุศล แต่ก็มีอกุศลร่วมด้วย เป็นไปในกุศลนั้นด้วย

    ถ้ามีการระวังกาย วาจา และเป็นผู้ละเอียด กุศลทุกประเภทกระทำด้วยความอ่อนโยน กระทำด้วยกุศล โดยที่ว่าไม่มีอกุศลใดๆ แทรก ก็ลองคิดดู ถ้าบอกทาง ก็มีหลายอย่าง บอกดีๆ ก็ได้ พาไปก็ได้ และมีจิตอนุเคราะห์ด้วยประการใดๆ ก็ได้ ไม่มีความสำคัญตน หรือไม่มีความเกียจคร้าน หรือไม่ได้แสดงสภาพซึ่งไม่เป็นไปด้วยกุศล

    จะเห็นได้ว่า แม้กำลังเป็นกุศล ก็มีอกุศลเกิดร่วมด้วยในขณะนั้นได้ ไม่เหมือนขณะที่เป็นอกุศล ก็โดยตลอดหมดเลยทั้งอกุศล หรือเป็นกุศล ก็เป็นกุศลทั้งหมดเลย นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการเป็นไปได้ แม้ในเรื่องของเหตุ

    ธรรมเป็นเรื่องจริง และเรื่องละเอียด ชีวิตประจำวันก็แสดงชัดเจน ประโยชน์คือ การให้ต่อไปคราวหน้า หรือการจะอนุเคราะห์ใครต่อไปคราวหน้าจะรู้ตัว หรือไม่ว่า มีอกุศลอะไรเกิดแทรกบ้าง บางคนให้ แต่เกือบเหมือนจะโยนให้ ก็เป็นไปได้ กับการให้ด้วยความที่เห็นใจ มีความเป็นมิตร ให้แล้วเขาสบายใจ คือ ยื่นให้ด้วยคำที่น่ารับ หมายความว่าจะให้ของที่เป็นคนงานก่อสร้าง หรืออะไรก็ตามแต่ ก็มีคำพูดที่ทำให้คนรับสบายใจ แต่ถ้าไม่เป็นไปอย่างนั้น มีอกุศลเกิดร่วมด้วย ก็เป็นอากัปกิริยาอีกอย่างหนึ่ง ก็เป็นไปได้ ทุกอย่างถ้าเป็นผู้ละเอียด ก็จะเข้าใจสภาพของจิตใจซึ่งเกิด และลดความสงสัยลงไปได้

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ไม่ต้องไปกังวลห่วงใยว่า อะไรจะเกิด เพราะเหตุว่ารูปมีสมุฏฐาน ๔ อย่าง เกิดจากกรรม จิต อุตุ และอาหาร รูปที่มีเป็นมะเร็งก็คงไม่พ้นจากสมุฏฐาน ๔ อย่างนี้เช่นกัน แต่จากการฟัง ที่ได้พูดถึงกรรม จิต อยู่นอกเหนือการบังคับบัญชาได้ แต่ดูเหมือนอาหารจะสามารถเลือกรับประทานได้ เพื่อจะได้ไม่เป็นมะเร็ง

    ท่านอาจารย์ อาหารที่มีประโยชน์ก็มี อาหารที่เป็นโทษก็มี

    ผู้ฟัง แล้วพูดถึงอาหารที่เป็นคำๆ ที่เรียกว่ากวฬิงการาหารอย่างเดียว หรือจะรวมทั้งมโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหาร

    ท่านอาจารย์ อาหารปัจจัยมี ๔ คุณวรศักดิ์พูดถึงอาหารประเภทไหน

    ผู้ฟัง อาหารที่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป คือ กวฬิงการาหารโดยส่วนเดียว หรือรวมทั้งมโนสัญเจตนาหาร ผัสสาหาร และวิญญาณาหาร

    ท่านอาจารย์ เจตนา เวลาให้ผลทำให้วิบากจิตเกิด ทำให้รูปเกิดด้วย หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ปัจจัยที่ทำให้รูปเกิด ก็เกิดจากกรรม

    ท่านอาจารย์ รูป ๑ กลาป เล็กมากที่สุด เกิดขึ้นเพราะสมุฏฐานหนึ่ง ไม่ใช่รูปนั้นเกิดเพราะหลายๆ สมุฏฐาน แล้วแต่รูปนั้นเกิดเพราะอะไรเป็นสมุฏฐาน

    ผู้ฟัง รูปใดที่เกิดขึ้นมา ก็มีสมุฏฐานเพียงสมุฏฐานเดียวเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    อ.วิชัย รูปมีกี่สมุฏฐาน

    ผู้ฟัง รูปมี ๔ สมุฏฐาน เกิดจากกรรม จิต อุตุ และอาหาร

    อ.วิชัย พูดถึงอาหาร ๔ อย่าง ก็มีกวฬิงการาหาร ๑ ผัสสาหาร ๑ มโนสัญเจตนาหาร ๑ และวิญญาณาหาร ๑ เพราะฉะนั้นอาหารที่เป็นรูปมี ๑ คือ กวฬิงการาหาร โอชา ที่รับประทานเข้าไปในร่างกาย เป็นปัจจัยให้เกิดกลุ่มรูปใหม่ รูปใหม่ที่เกิดขึ้นเกิดจากสมุฏฐานไหน

    ผู้ฟัง เกิดจากสมุฏฐานไหนก็ได้ สมุฏฐานใดสมุฏฐานหนึ่ง

    อ.วิชัย หมายถึงว่ารับประทานอาหารเข้าไปแล้ว ธาตุไฟที่เกิดจากกรรม ย่อยโอชารูป หรืออาหารรูป เป็นปัจจัยให้เกิดกลุ่มรูปใหม่ กลุ่มรูปใหม่ที่เกิดขึ้นก็คือมีอาหารนั่นเองเป็นสมุฏฐาน เรียกว่า อาหารชรูป เพราะเหตุว่ากลุ่มรูปใหม่นั้นเกิดจากอาหาร เกิดจากรูปอาหาร อาหารรูปอย่างหนึ่ง อาหารชรูปอย่างหนึ่ง อาหารรูป หมายถึงโอชารูป อาหารชรูป หมายถึงกลุ่มรูปที่เกิดจากโอชารูป

    ดังนั้นกวฬิงการาหารทำให้เกิดรูปอย่างเดียว แต่ส่วนของผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และวิญญาณาหาร เป็นนามอาหาร เป็นปัจจัยให้แก่ทั้งนามธรรมที่เกิดร่วมด้วย และรูปที่เกิดร่วมด้วยพร้อมกันในขณะนั้น จะมีทั้งกัมมชรูปขณะปฏิสนธิ และขณะที่จิตตชรูปหลังปฏิสนธิ

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นปัจจัยให้เกิดรูปใดแล้ว เป็นได้เพียงตัวเดียว รูปนั้นเกิดจากอุตุ ก็เกิดจากอุตุเพียงอย่างเดียว ก็จะไม่มีปัจจัยอื่นที่จะมาให้รูปดังกล่าวนั้นเกิดอีก ทีละขณะเดียวตามที่ท่านอาจารย์กล่าว

    อ.วิชัย เรื่องของอาหาร เข้าใจแล้วใช่ไหม กวฬิงการาหารเป็นปัจจัยให้เกิดอาหารชรูป ในส่วนของนามอาหาร ๓ เป็นเหตุให้เกิดทั้งนามทั้งรูป เข้าใจแล้วใช่ หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็พอเข้าใจได้

    อ.วิชัย คำถามต่อไปคือ

    ผู้ฟัง มะเร็งเป็นรูปที่เกิดจากอาหาร

    อ.วิชัย รูปที่เกิดมี ๔ สมุฏฐาน เกิดจากกรรมก็ได้ เกิดจากจิตก็ได้ เกิดจากอุตุก็ได้ เกิดจากอาหารก็ได้ ที่เรากล่าวถึงมะเร็ง ก็ไม่ทราบว่าเกิดจากสมุฏฐานไหน แต่เข้าใจว่ารูปที่เกิด ต้องเกิดจากสมุฏฐานใดสมุฏฐานหนึ่ง กรรม จิต อุตุ อาหาร อย่างใดอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง เกิดจากจิตด้วยก็ได้

    อ.วิชัย ขณะนั้นรูปนั้นก็เกิดจากจิตไป เกิดจากกรรม รูปนั้นก็เกิดจากกรรม

    ผู้ฟัง ดูเหมือนจะบังคับบัญชาได้ถ้าเกิดจากอาหาร และอาหารที่เราทานเข้าไปที่เรียกว่า กวฬิงการาหาร หากทานไม่ถูกสุขลักษณะ ก็เกิดมะเร็งได้

    อ.วิชัย จะบังคับอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็เลือกอย่าทานอาหารที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการทำให้เกิดมะเร็ง

    อ.วิชัย ขณะนั้นอาหารก็เป็นปัจจัยให้เกิดกลุ่มรูปใหม่ จะบังคับไม่ให้เกิดกลุ่มรูปใหม่ได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้ แต่เวลาเราจะรับประทาน

    อ.วิชัย ก็ต้องพิจารณาถึงเหตุปัจจัย ถ้าได้เหตุปัจจัยพร้อม สิ่งนั้นก็เกิดขึ้น ถ้าขาดเหตุปัจจัย จะบังคับอย่างไรก็ไม่เกิด เพราะธรรมทุกอย่างเป็นไปตามเหตุ และปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ขอตัวอย่างนิดหนึ่ง จมูกคุณวรศักดิ์เกิดจากสมุฏฐานอะไร

    ผู้ฟัง เกิดจากอุตุ อาหาร และกรรมด้วย

    ท่านอาจารย์ เห็น หรือไม่ว่า ไม่ใช่เรื่องที่เราคิดว่าเราจะรู้ได้ กลาปเล็กแค่ไหน แต่ละกลาป ที่เราคิดว่าเป็นก้อน หรือเป็นสิ่งที่เราจับต้องได้ กี่กลาป และแต่ละกลาป แต่ละหนึ่งนั้น ไม่ใช่มารวมกัน ที่เกิดจากกรรมมีไหม ที่เกิดจากอุตุมีไหม ที่เกิดจากอาหารมีไหม ที่เกิดจากจิตมีไหม

    ไม่ต้องเป็นเรื่องที่เราจะไปพยายามแยก หรือรู้ แต่เข้าใจได้ว่า รูปก็มีสมุฏฐานของรูปว่ารูปใด กลาปไหน เมื่อเกิด เกิดเพราะอะไรเป็นสมุฏฐาน คือ เพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เฉพาะกลาปนั้น และรูปใดเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ก็เฉพาะกลาปนั้นที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน กลาปใดเกิดเพราะอุตุ กลาปใดเกิดเพราะอาหาร

    ผู้ฟัง โดยสรุปแล้ว จมูกเกิดจากอะไร กลาปใดเป็นสมุฏฐาน

    ท่านอาจารย์ จมูกนี่ใหญ่ หรือเล็ก มีกี่กลาป

    ผู้ฟัง มีจำนวนมาก

    ท่านอาจารย์ แต่ละกลาปก็เกิดแต่ละสมุฏฐาน

    ผู้ฟัง ซึ่งแต่ละกลาปที่เกิดแต่ละสมุฏฐานนั้นก็เกิดเพียงสมุฏฐานเดียว ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง รูปที่แยกกันไม่ได้เลย น้อยที่สุดก็คือ ๘ รูป เกิดเพราะกรรมก็มี เกิดเพราะจิตก็มี เพราะอุตุก็มี เพราะอาหารก็มี แต่สำหรับรูปที่เกิดเพราะกรรม ต้องมีรูปอื่นเกิดร่วมด้วย แต่เราพูดถึงน้อยที่สุด

    ผู้ฟัง เคยได้ยินมาว่า รูปที่เกิดเพราะกรรม คือ ขณะปฏิสนธิ ขณะเดียว

    ท่านอาจารย์ หลังจากนั้นไม่มีเลย หรือ

    ผู้ฟัง เกิดพร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ เป็นสหชาต ในขณะปฏิสนธิ แต่หลังจากนั้นแล้ว รูปจะเป็นสมุฏฐาน ต้องหลังจากที่รูปเกิดแล้วในฐีติขณะ ของรูป

    ผู้ฟัง ซึ่งมีกรรมเป็นสมุฏฐาน

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ พยายามไปแยกอย่างไร แยกออกไหมว่า กลาปนี้ เฉพาะกลาปนี้ซึ่งเกิดแล้วก็ดับเร็วมาก ไปนั่งคิดว่าเกิดเพราะสมุฏฐานไหน รูปกลาปนั้นก็ดับไปแล้ว

    อ.อรรณพ พื้นฐานความเข้าใจอภิธรรม คือทั้งธรรมที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม แม้รูปก็เกิดจากสมุฏฐานต่างๆ ซึ่งขณะที่เราไปคิดถึงรูปใดรูปหนึ่ง รูปนั้นก็ดับไปแล้ว และแต่ละรูปก็คือแต่ละกลุ่ม อย่างน้อยจะต้องมี ๘ รูป คือ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส และโอชา รูปจะไม่อยู่เดี่ยวๆ จะอยู่เป็นกลุ่ม หรือเป็นกลาป ที่เราเห็นว่าเป็นชิ้นส่วน ไม่ว่าจะเป็นจมูก หรือใบหู หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าจะแตกให้ย่อยไปแล้ว ก็เป็นกลุ่มของรูปแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละกลาป บางกลาปก็เกิดจากกรรม บางกลาปก็เกิดจากจิต บางกลาปก็เกิดจากอุตุ บางกลาปก็เกิดจากอาหาร

    คนที่หน้าตาสวย เวลาเขาโกรธ รูปนั้นดี หรือไม่ดี แล้วแต่ละกลาปไป กลาปที่เกิดจากกรรมที่เป็นผลของกุศลกรรม ในกลาปนั้น วัณณรูป ซึ่งคือสีนั่นเองของกลาปนั้น ถ้าเกิดจากกรรมที่ดี ก็เป็นสีที่ดี แต่ถ้าเป็นรูปที่เกิดจากจิต กลุ่มของรูปที่เกิดจากจิตที่เป็นโทสะ รูปนั้นก็ไม่ดี เสียงก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่กลุ่มของรูปนั้นเกิดจากสมุฏฐานใด

    อ.ธีรพันธ์ นอกจากฟังแล้วมีการพิจารณาจนเกิดความเข้าใจที่จะรู้ลักษณะของรูป อย่างเช่นทางตา สีสันวัณณะที่ปรากฏ ปรากฏแล้วปรากฏอีก ก็ยังไม่รู้ความจริง เห็นแล้วก็คิดนึกต่อเป็นรูปพรรณสัณฐาน เป็นคน สัตว์ บุคคล ที่นั่งอยู่ มีอิริยาบถต่างๆ ถ้ามีการพิจารณาโดยละเอียด ก็จะเป็นการปรุงแต่งให้สังขารขันธ์รู้ลักษณะที่เป็นรูปธรรมจริงๆ การที่จะไม่เป็นสัตว์ บุคคลอย่างไร จะต้องเป็นความเข้าใจที่รู้ในลักษณะที่เป็นรูปจริงๆ ถ้าเป็นรูปแล้ว ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน รูปก็คือรูป เป็นรูปขันธ์ รูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นการคิดถึงรูปที่ดับไปแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์

    ผู้ฟัง สมมติว่าเป็นจักขุทวาร ก็เป็นจิตแค่เห็นว่า เป็นสีอะไร แต่ว่ามโนทวารถึงจะมีกิจรู้ว่าเป็นสีดอกไม้ เป็นสีคน เป็นสีเสื้อ ไม่แน่ใจว่า ผมเข้าใจอย่างนั้นจะถูก หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ทางที่จะรู้รูปจริงๆ ที่มีลักษณะปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องมีรูปที่เกิด และกระทบกับปสาทรูป ขณะนั้นรูปมีอายุ ๑๗ ขณะ แสดงว่าจิตหลายขณะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ คือ รูปที่ยังไม่ดับ จิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นรู้รูปที่ยังไม่ดับ เป็นจักขุทวารวิถีจิต เราต้องแยกทวารก่อน จักขุทวารวิถีจิต คือ จิตทุกประเภทที่เกิดขึ้นรู้รูปที่ยังไม่ดับ และเมื่อรูปดับแล้ว ภวังคจิตเกิดสืบต่อ ดำรงภพชาติ แต่จากที่มีการเห็นทางตาที่ดับไปแล้ว ก็ทำให้มโนทวาราวัชชนจิต คือ มโนทวารวิถีจิต

    ถ้าใช้คำว่า “วิถีจิต” ก็ต้องแยก จักขุทวารวิถี รู้รูปที่กระทบตาที่ยังไม่ดับ โสตทวารวิถี ก็ได้ยินเสียงที่ยังไม่ดับ ฆานทวารวิถี รู้กลิ่นที่ยังไม่ดับ ชิวหาวิญญาณ หรือชิวหาทวารวิถีจิต ก็รู้รสที่ยังไม่ดับ กายทวารวิถีจิตก็รู้รูปที่กระทบกายที่ยังไม่ดับ

    นี่แสดงให้เห็นว่า ต้องยังไม่ดับ แต่เมื่อรูปดับแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อ แล้วมโนทวารวิถีจิตซึ่งไม่ได้อาศัยจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท จึงเป็นมโนทวารวิถี ถ้ายังอาศัยจักขุปสาท ต้องเป็นจักขุทวารวิถี ถ้าอาศัยโสตปสาท ต้องเป็นโสตทวารวิถี แต่เมื่อใช้คำว่า “มโนทวารวิถี” หมายความว่าขณะนั้นไม่ได้อาศัย จักขุ โสต ฆาน ชิวหา กายเป็นทวาร เพราะฉะนั้นเมื่อภวังคจิตดับแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตเป็นจิตที่เกิดอาศัยใจ คือ ภวังค์คุปเฉทะที่ดับไป เกิดขึ้น แล้วก็รู้อารมณ์ที่ดับไปแล้ว ๑ ขณะ หลังจากนั้นก็เป็นกุศล หรืออกุศล สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ สำหรับพระอรหันต์ก็เป็นกิริยา ขณะนั้นยังไม่มีการคิดนึกเรื่อง สิ่งที่ดับไปแล้ว แต่ว่ามีลักษณะของสิ่งที่ดับไปแล้ว มโนทวารรู้ทางใจอีกครั้งหนึ่ง

    ผู้ฟัง อาจารย์ใช้คำว่า ไม่ได้อาศัยจักขุทวาร แต่เมื่อสักครู่ผมยกตัวอย่างว่า เห็นแค่สีเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่า มโนทวารวิถี หมายความว่าไม่ใช่จักขุทวารที่อาศัยจักขุปสาท จิตที่อาศัยปสาทใด เป็นทวารวิถีนั้น เช่น จิตทั้งหมดกี่ขณะก็ตาม ที่อาศัยจักขุปสาท จิตทั้งหมดนั้นเป็นจักขุทวารวิถี คือ วิถีจิตที่อาศัยจักขุทวารเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับ ถ้าเป็นโสตทวารวิถี ไม่ใช่มโนทวารวิถี จิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นโดยอาศัยโสตทวาร รู้เสียงที่ยังไม่ดับ เป็นโสตทวารวิถีจิต หมายความว่า แสดงว่าวิถีจิตเหล่านี้เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยโสตเป็นทวาร

    เมื่อใช้คำว่า “มโนทวารวิถี” หมายความว่าไม่ใช่จักขุทวารวิถีจิต ไม่ใช่โสตทวารวิถีจิต เป็นต้น จึงไม่ต้องอาศัยจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ต้องแยกกันระหว่าง ๖ ทวาร คือ จิตที่อาศัยรูป ๕ ทวาร เป็นทวารวิถีที่อาศัยปสาทรูปนั้น สำหรับมโนทวารวิถี ชื่อบอกแล้ว ไม่ได้อาศัยจักขุทวาร โสตทวาร ไม่ได้อาศัยจักขุปสาท โสตปสาท แต่อาศัยมโน คือ ภวังคุปัจเฉทะที่ดับไป เป็นทวารให้มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นนึกถึงอะไรก็ได้ จะนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาที่ดับไปก็ได้ จะนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ก็ได้ มโนทวารวิถีสามารถจะรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง

    ผู้ฟัง สมมติว่ามโนทวารนึกถึงสีเมี่อสักครู่นี้ ถึงจะรู้ว่าสีเหลือง

    ท่านอาจารย์ ยังไม่มีความคิด แต่ลักษณะของสิ่งนั้นที่ปรากฏทางทวารนั้นๆ ปรากฏเป็นอารมณ์ของมโนทวารวิถีก่อนวาระแรก อย่างเสียง ทางโสตทวารวิถีรู้เสียงนั้นดับไปแล้ว เสียงนั้นก็ดับไป มโนทวารวิถีจิตรู้เสียงนั้น มีเสียงที่เพิ่งดับไปเป็นอารมณ์ทางมโนทวาร จึงใช้คำว่า “มโนทวารวิถีจิต” วาระที่ ๑ วาระแรก จะไม่มีการคิดนึกใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ว่ามีอารมณ์ที่เพิ่งดับไปเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ผมอยากเข้าใจเพียงง่ายๆ สั้นๆ ว่า จักขุทวารเพียงแค่เห็นรูป

    ท่านอาจารย์ ที่ยังไม่ดับ

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นมโนทวาร ถึงจะรู้ว่าเห็นรูปอะไร อย่างนั้นพอจะอธิบายได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ มโนทวารวิถีจิตรู้อารมณ์เดียวกับปัญจทวารวิถีจิตที่เพิ่งดับไปวาระแรก แล้วก็มีวาระหลังๆ ตามมา ที่จะคิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ ต้องวาระหลังๆ

    ผู้ฟัง เห็นครั้งแรก เห็นเป็นสีเฉยๆ เป็นวัณณะเฉยๆ เป็นรูปเฉยๆ แต่กว่าจะรู้ว่าเป็นรูปดอกไม้ เป็นรูปแจกัน เป็นคน เป็นสัตว์

    ท่านอาจารย์ ต้องมโนทวารวิถี

    ผู้ฟัง พูดอย่างนี้ได้ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ได้

    ผู้ฟัง บางครั้งใช้คำไม่ถูก ปัญจทวาราวัชชนจิต ปัญจทวาร ก็เป็นวิถีจิตอันหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ปัญจทวารกับปัญจทวาราวัชชนะ ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ปัญจทวารเป็นรูป แต่ปัญจทวาราวัชชนะเป็นวิถีจิตแรก

    ผู้ฟัง ซึ่งรู้เพียงแค่เป็นสี

    ท่านอาจารย์ รู้รูปที่ปรากฏแต่ละทวารได้

    ผู้ฟัง แต่ยังไม่รู้เป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่เลย รู้รูปที่ยังไม่ดับ จะเป็นอะไรไม่ได้ เพราะรูปนั้นยังเป็นอย่างนั้นอยู่

    ผู้ฟัง โดยนัยอย่างเดียวกัน ใช้กับทวารทั้ง ๕

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง วิถีจิตที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นกิริยาจิต

    ท่านอาจารย์ วิถีจิตคือจิต ซึ่งไม่ใช่ภวังคจิต โดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่น วิถีจิตแรกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้ว่าอารมณ์กระทบทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร

    สำหรับทางใจ ไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิต แต่เป็นกิริยาจิตที่เป็นมโนทวาราวัชชนจิต เพราะเหตุว่ารู้อารมณ์กระทบทางใจเป็นขณะแรก ก่อนที่กุศลจิต หรืออกุศลจิต สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์จะเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง วิถีจิตแรกเกิดขึ้นจากปัญจทวารวิถี หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต้องจำไว้ว่า ถ้าจะแบ่งจิตอย่างใหญ่ๆ เป็น ๒ ประเภท คือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ว่ามีอารมณ์ซึ่งสืบต่อมาจากปฏิสนธิ และอารมณ์ของปฏิสนธิก็สืบต่อจากอารมณ์ใกล้จะจุติ ใกล้ตายของชาติก่อน จิตเหล่านี้ไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย ขณะนั้นไม่ได้รู้สึกตัวเลย แต่เวลาที่จะรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใด แม้แต่คิด ขณะนอนหลับสนิทกับขณะที่คิดต่างกัน ขณะที่นอนหลับสนิท ภวังคจิตเกิดดำรงภพชาติ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ไม่ฝัน ภาวะที่หลับสนิทเป็นภวังคจิต แต่ขณะนี้ทำไมเห็น ต้องไม่ใช่ภวังคจิต ต้องรู้ว่าขณะใดก็ตามที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ไม่ใช่ภวังคจิต

    ภวังค์ก็เกิดดับสืบต่อ ดำรงภพชาติไปเรื่อยๆ จนกว่าถึงกาลที่จิตอื่นจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดขึ้นต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใด ขณะนี้ทางตาเห็น ต้องอาศัยจักขุปสาทเป็นทวาร แม้ว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดแล้วกระทบกับจักขุปสาท ก็ต้องมีจิตเห็น กำลังเห็นสิ่งนี้ จิตเห็นไม่ใช่จิตแรก จำไว้ได้เลยว่า จิตที่เป็นวิถีจิตแรก ต้องเป็นกิริยาจิต ถ้าทาง ๕ ทวาร ก็เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต คือ จิต ๑ ประเภทที่สามารถจะรู้อารมณ์ที่กระทบทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร แต่เวลาที่คิดนึกเมื่อไร กุศลจิต และอกุศลจิตคิด แต่ก่อนที่กุศลจิต และอกุศลจิตจะเกิด ต้องมีมโนทวาราวัชชนจิตเกิด รู้อารมณ์ซึ่งกุศลจิต และอกุศลจิตคิด เร็วมาก ขณะนี้ทั้งหมด ก็คือ วิถีจิต และจิตที่ไม่ใช่วิถีสลับกัน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567