พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 287


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๘๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ภาษาธรรมดา คือ ตา แต่ไม่ใช่ตาทั้งหมด แต่ต้องเป็นส่วนที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เท่านั้น ที่เป็นจักขุ หรือตาจริงๆ ที่เป็นจักขุนทรีย์ เพราะว่าถ้าปราศจากรูปนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ปรากฏไม่ได้เลย และมนินทรีย์ คือ จักขุวิญญาณที่เกิดขึ้นเห็น ก็จะเป็นใหญ่ในขณะที่กำลังรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไม่ได้ นี่คือชีวิตตามความเป็นจริง ที่ไม่เคยรู้มาก่อน และหลงยึดถือ เป็นสุข เป็นทุกข์ไปทุกภพชาติ โดยเป็นเรื่องราวไปหมดเลย ไม่ได้เป็นตัวจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่างว่าเป็นธรรมเลย

    ผู้ฟัง ขณะที่จักขุนทรีย์เป็นใหญ่ เป็นประธานในการเห็น จิตเห็นที่เป็นมนินทรีย์ ตรงนั้นจะเป็นอินทรีย์ด้วยไหม

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นมนินทรีย์ทุกขณะ เพราะจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์

    ผู้ฟัง ก็แสดงว่ามีอินทรีย์ ๒ อินทรีย์เกิดร่วมกัน

    ท่านอาจารย์ เกิดได้ ไม่เป็นไร แต่ไม่ได้ร่วมกัน รูปเป็นรูป นามเป็นนาม

    ผู้ฟัง อาจจะมีมากกว่า ๒ ก็ได้ ถ้าเกิดเข้าใจสิ่งที่ปรากฏด้วย

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็ ๕ แล้ว

    ผู้ฟัง จิตที่เกิดกับรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยส่วนตัวก็ยังมีความเข้าใจว่า เกิดไม่พร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้จักรูปเลย ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง มีความเข้าใจขั้นฟัง

    ท่านอาจารย์ แต่ว่ารู้จัก หรือจำชื่อ และเข้าใจความหมายของรูป

    ผู้ฟัง อย่างลักษณะของ แข็ง ก็พอจะเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจว่า

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าเป็นลักษณะที่เกิดทางกายวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจไปถึงอย่างนั้นเลย หรือ เป็นสภาพธรรมที่เกิดทางกายวิญญาณ แต่ความจริงลักษณะที่แข็งมีให้รู้ แต่ไม่รู้ว่า ลักษณะนั้นมีจริง ซึ่งเกิดแล้ว และไม่เป็นของใคร แต่ไปคิดว่า สิ่งนี้เป็นรูปที่เกิดขึ้น และรู้ทางกายวิญญาณ เพราะฉะนั้นก็เป็นการรู้เรื่อง แต่ว่าความจริงแล้ว แข็งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เหมือนสภาพธรรมทุกอย่างซึ่งขณะนี้เกิดแล้วดับเร็วมาก การฟังเพื่อให้สามารถรู้ลักษณะ แต่ถ้าเราฟังแล้วไปคิดว่า จะเกิดพร้อมกัน หรือไม่พร้อมกัน ก็คือขณะนั้นเราไม่ได้สะสมความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ขณะนี้แม้แข็งมี พูดเรื่องแข็ง แต่ไม่เคยรู้ลักษณะของแข็งซึ่งเกิดแล้ว และกำลังดับด้วย เกิดแล้วดับแล้วอยู่ตลอดเวลา

    การที่จะเข้าใจธรรม ต้องเข้าใจว่า ฟังเพื่อประโยชน์ คือ สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมี และไม่เคยเข้าใจให้ถูกต้องว่า ลักษณะนี้มีปรากฏ แต่ก็เร็วมาก เพราะเหตุว่ามีเห็นด้วย และมีคิดนึกด้วย เพราะฉะนั้นธรรมที่ทำให้เข้าใจถึงความเป็นอนัตตาก็คือว่า สภาพธรรมแต่ละประเภทเกิดปรากฏทีละขณะ และรวดเร็วมาก และก็ดับไป แต่การที่จะละการที่ไม่เคยรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็คือกำลังมีลักษณะนั้นปรากฏ แต่ไม่ใช่เป็นการไปคิดเรื่องว่า แล้วสภาพนี้เกิดพร้อมกับสภาพนั้น หรือเปล่า

    ธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงจะกระจ่างแจ้ง เมื่อปัญญาเจริญขึ้นตามลำดับ แต่ตามลำดับของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไปรู้ว่า สภาพธรรมนี้เกิดพร้อมกับอะไร ไม่ได้ แม้แต่แข็งจะไปเกิดพร้อมกับกายปสาท เรารู้ หรือใครรู้

    เพราะฉะนั้นเราจะมีหน้าที่ไปเข้าใจว่า ขณะนี้แข็งปรากฏ เกิดพร้อมกับกายปสาท กระทบกายปสาท แล้วก็ดับพร้อมกัน ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เราเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นเพียงแข็ง เป็นเพียงแข็ง แต่ไม่เคยรู้ เป็นเพียงเห็น แต่ไม่เคยรู้ เป็นแต่เพียงได้ยิน แต่ไม่เคยรู้ เพราะว่าสนใจในเรื่องราว และเป็นสิ่งที่เราสามารถรู้ได้ไหมว่า อะไรเกิดพร้อมอะไร ในเมื่อเรายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นว่าเป็นธรรม เพราะว่าปกติมีแข็งปรากฏ ก็ไม่ได้สนใจอะไรเลย ก็คิดถึงเรื่องโต๊ะ เรื่องเก้าอี้ เรื่องช้อน เรื่องส้อม เรื่องหนังสือ เรื่องกระดาษ เรื่องอะไรหมดทุกอย่าง ไม่ได้รู้ความเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น และสภาพธรรมแต่ละอย่างก็เป็นอย่างนี้ คือ เป็นเพียงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละประเภท ซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปติดใจใคร่ครวญคิดว่า อะไรพร้อมอะไร แต่การฟังทำให้เราสามารถรู้ได้ว่า ผู้ที่รู้กว่าเรามีแน่นอน และก็รู้มากจนกระทั่งสามารถแสดงความจริงของสิ่งที่ปรากฏโดยประการทั้งปวง เพื่อให้ผู้ไม่รู้ ไม่ใช่ไปรู้เพียงเท่านั้น แต่เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรม เพื่อที่จะได้รู้ลักษณะแต่ละลักษณะ เพราะว่ากำลังมีลักษณะปรากฏทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะทางไหน

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่มีจักขุวิญญาณที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นก็ไม่สามารถที่จะมีสติระลึกรู้ได้

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปธรรม ทำอะไรไม่ได้เลย เห็นอยู่ตลอดตั้งแต่ตื่นมาจนกระทั่งถึงขณะนี้ ก็เห็นอยู่ตลอด รูปก็เกิดดับ โดยไม่รู้ เห็นก็เกิดดับโดยไม่รู้ การฟังธรรมเพื่อจะให้เข้าใจความจริงว่า เราไม่รู้มากแค่ไหน และกว่าจะรู้ได้จริงๆ ต้องเริ่มต้น และมีความจริงใจที่จะรู้ว่า เราสามารถรู้ได้แค่ไหน สิ่งที่เราสามารถจะรู้ได้จริงๆ คือ สิ่งนี้ปรากฏ จะรู้ก็คือรู้สิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าก่อนที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏ ก็ต้องมีปัญญาขั้นฟังให้เข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏจริงๆ ไม่ใช่ใครเลย แล้วก็ลองคิดดู เราเห็นเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้มาตลอด และก็ยังเห็นอยู่โดยตลอด แต่เพิ่งจะเริ่มฟังว่า ขณะเห็นมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้นเอง และหลังจากนั้นก็คิดเรื่องสิ่งที่เห็น แม้สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่มี ก็ยังคิดเรื่องสิ่งที่เคยเห็น ยังจำเรื่องราวของสิ่งที่เคยเห็น เพราะฉะนั้นอะไรที่จะมีเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนจริงๆ นอกจากความจำ เพราะความไม่รู้ในความจริงของสิ่งที่ปรากฏให้เห็น

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม ไม่ใช่ว่าเราไม่มีความรู้อะไรเลย และเราก็จะไปทำอะไรเพื่อที่จะให้รู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรม แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรงว่า สิ่งที่ได้ฟัง จริง เพราะกำลังปรากฏ เพื่อจะได้เข้าใจให้ถูกต้องว่า เราไม่รู้แค่ไหน และยังไม่รู้ต่อไปอีกมากเลย รู้แต่เรื่องราว ตลอดชาตินี้ ถ้าไม่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นเรื่องในภาษาไทยด้วย เพราะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเลย

    การฟังธรรม ก็คงจะต้องกล่าวถึงบ่อยๆ ว่า ฟังให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏให้มั่นคงว่า เป็นธรรมเท่านั้น และก็มีลักษณะเฉพาะแต่ละลักษณะที่จะปรากฏแต่ละทาง และเพราะการเกิดขึ้น และดับอย่างรวดเร็วมากนี่เอง จึงไม่สามารถจะประจักษ์ความจริงเพียงขั้นฟังเข้าใจ ต้องรู้ระดับของความเข้าใจด้วย เพราะว่าหลายคนก็มานั่งปรารภว่า ฟังก็เข้าใจหมด แต่ก็เป็นตัวตน ก็ถูกต้อง ความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น จะให้ปัญญาระดับนี้ไปละกิเลสอะไร โดยที่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องละเอียด ต้องรู้ว่า ธรรมมี ๓ ระดับ ขั้นฟังเรื่องราว ก็ยากที่จะเข้าใจ อย่างขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตากับความคิดนึก รูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏสืบต่อดับไป เร็วมาก เหมือนกับว่าสิ่งนั้นไม่ได้ดับ และมีรูปร่างสัณฐานต่างๆ ให้จำไว้เป็นแต่ละชาติ แล้วเมื่อไรจะมีความเห็นถูกสักที ถ้าไม่มีการฟัง

    เพราะฉะนั้นไม่ต้องรีบร้อนไปทำอะไร ที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรม ถ้าไม่เป็นความเห็นถูก ถ้าไม่เป็นความเข้าใจถูก ไม่ใช่ปัญญา จะไปรู้อะไรที่ไม่ใช่ปัญญา ไปรู้ความจริงของสภาพธรรมไม่ได้ แต่รู้อื่นได้ รู้เรื่องราววิชาการต่างๆ ได้ แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้

    ต้องเป็นผู้ตรง ตราบใดที่ยังไม่มีความเข้าใจขั้นแรกว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงยิ่งกว่านี้ ไม่มีทางที่เริ่มรู้ลักษณะซึ่งกำลังปรากฏด้วย แต่ละทางก็ต่างๆ กันไป นั่นคือ นอกจากปริยัติแล้ว เมื่อมีความเข้าใจดี ก็เป็นปัจจัยให้ปฏิปัตติ เริ่มมีสติ ที่ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละอย่าง เป็นปกติ

    ถ้าถามว่า ทำไมต้องเป็นปกติ ก็เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก แล้วจะไม่เป็นปกติได้อย่างไร ถ้าจะรู้ก็รู้สภาพธรรมที่เกิดดับ สืบต่อปรากฏเป็นปกติ เพราะว่าความเป็นปกติ คือ ความเกิดดับอย่างเร็ว เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแม้เกิดดับ ก็ยังสืบต่อให้รู้ได้ เข้าใจได้ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไปทำอย่างอื่นให้ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ทำไมต้องเป็นปกติ เพราะว่าสภาพธรรมขณะนี้เกิดแล้วดับแล้ว เป็นปกติ เพราะฉะนั้นก็จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเป็นปกติ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งอีกขั้นหนึ่ง คือ ปฏิเวธ เพราะฉะนั้นก็มีปริยัติ การศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปฏิปัตติ เริ่มรู้ลักษณะที่มีจริงๆ ด้วย สติสัมปชัญญะ จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น คลายความไม่รู้ แล้วสามารถแทงตลอดความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ถ้าจะรู้สึกตัวว่า เข้าใจธรรมแค่ไหน ก็คือขณะนี้เริ่มคลายความไม่รู้ลักษณะที่เป็นธรรมที่กำลังปรากฏ หรือเปล่า ถ้ายังเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่เสมอตลอดไป ก็แสดงว่า ปัญญาขั้นนี้ไม่ถึงขั้นที่จะทำให้รู้ความต่างกันของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ขณะที่ไม่เกิด เพราะอะไร เพราะตราบใดที่สติสัมปชัญญะยังไม่เกิด ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะ ก็เป็นขั้นฟังเรื่องราวไปเรื่อยๆ เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งที่จะเป็นปัจจัยให้มีการระลึก คือ สติเกิด แล้วก็รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องอะไรเกิดกับอะไร พร้อมกันอย่างไร เพราะว่าต้องรู้ลักษณะที่เป็นธรรมก่อน

    ผู้ฟัง ในขณะที่นอนหลับ ขณะนั้นไม่เห็นแน่นอน ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้กระทบสัมผัส แต่คิดนึก

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง ความคิดนึกในความฝันกับในขณะนี้เอง เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วก็คิดนึกว่า เป็นท่านอาจารย์สุจินต์ กำลังสนทนากับท่านอาจารย์สุจินต์ มีความต่างกันไหม

    ท่านอาจารย์ รถคุณประทีป สีอะไร

    ผู้ฟัง รถสีน้ำตาล

    ท่านอาจารย์ ปรากฏเดี๋ยวนี้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ แต่ขณะนี้คิดได้ คิดถึงได้ แต่ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ถามว่า ขณะนี้รถของคุณประทีปปรากฏ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมบอกว่า รถสีน้ำตาล

    ผู้ฟัง เพราะจำแล้วก็คิดถึงได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคำถามว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ในขณะที่นอนหลับแล้ว ไม่หลับสนิท ไม่เป็นภวังคจิต ก็ฝันเป็นเรื่องเป็นราว

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ไม่ได้ฝัน คุณประทีปก็ยังรู้วา รถคุณประทีปสีน้ำตาล จำได้ โดยที่ไม่ฝันเลย และรถก็ไม่ได้อยู่ตรงนี้ด้วย เพราะฉะนั้นถึงแม้ไม่มีอะไรปรากฏ จำไว้หมด ก็คิดถึงสิ่งที่จำนั่นเอง เพราะว่าทางที่จะรู้อารมณ์มี ๖ ทาง ไม่เกินกว่านี้เลย ทางตาเห็น จะไม่ให้สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏไม่ได้ ขณะที่บอกว่าเห็น ต้องมีสิ่งที่ปรากฏ ขณะที่ได้ยินเสียง จะไม่มีเสียงไม่ได้ ต้องมีเสียง และจิตได้ยินเกิดขึ้นได้ยินเสียง ขณะที่กลิ่นปรากฏต้องมีกลิ่น และจิตก็รู้กลิ่น ขณะที่รสปรากฏ จิตเกิดขึ้นลิ้มรส ขณะที่กำลังกระทบสัมผัสสิ่งที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หรือตึงไหว สิ่งนั้นก็มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แม้สิ่งนั้นๆ ดับไปแล้ว ก็ยังจำ และคิดได้ แม้สิ่งนั้นไม่มีฉันใด จิตคิดนึก ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไร อย่างไร ก็เป็นจิตที่คิดนึก ไม่ใช่จิตเห็น เพราะฉะนั้นฝันเห็น คือ คิด จำ แต่ไม่ใช่เห็น แต่ไม่ใช่ได้ยิน

    ผู้ฟัง จากการฟังมา แม้อาจารย์จะไม่ได้กล่าวขณะนี้ แต่ความจำ และยังนึกถึงเรื่องที่อาจารย์เคยพูดไว้ ความต่างกันของทางปัญจทวาร และมโนทวาร ก็คงเป็นไปในลักษณะนี้

    ท่านอาจารย์ การฟังก็ตรง เวลารู้ก็ต้องตรง เพราะความจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ความคิดที่สืบต่อจากทางจักขุทวาร ท่านอาจารย์ก็เคยกล่าวไว้ว่า จักขุทวารก็คือ

    ท่านอาจารย์ จักขุทวารวิถีจิต หมายความถึงจิตที่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดดับสืบต่อรู้อารมณ์ทางทวารนั้น ขณะที่อารมณ์นั้นยังไม่ดับ จึงใช้คำว่า “วิถีจิต” แล้วแต่ว่าจะเป็นทวารไหน ถ้าเป็นทางจักขุทวาร จิตทั้งหมดที่อาศัยจักขุ รู้รูปที่ยังไม่ดับ เป็นจักขุทวารวิถีจิต จนกว่ารูปนั้นดับเมื่อไร ภวังคจิตเกิดคั่น ภวังค์ไม่ใช่วิถีจิต ไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดรู้รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    เพราะฉะนั้นวิถีจิตหมายความถึงจิตที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา ก็เป็นจักขุทวารวิถีจิต ทางหูก็เป็นโสตทวารวิถีจิต จิตเกิดดับสืบต่อ รู้รูปที่กระทบทวารนั้นแล้วยังไม่ดับ จิตที่รู้รูปที่ยังไม่ดับทางทวารนั้นทั้งหมด เป็นวิถีจิตทางทวารนั้น

    เพราะฉะนั้นมโนทวารวิถีจิตไม่ใช่จักขุทวารวิถีจิต ไม่ใช่โสตทวารวิถีจิต ไม่ใช่ฆานทวารวิถีจิต ไม่ใช่ชิวหาทวารวิถีจิต ไม่ใช่กายทวารวิถีจิต แล้วมโนทวารวิถีจิต แม้มีรูปเป็นอารมณ์ ก็ไม่ใช่จักขุทวารวิถีจิต

    ผู้ฟัง แยกกันตรงนี้เท่านั้นเอง ถ้าอย่างนั้นผู้ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมทีละขณะ อย่างที่ท่านอาจารย์ได้เคยอธิบายไว้ ถ้าความเข้าใจในขั้นการฟัง ยังไม่เข้าใจอย่างนี้ ลักษณะของสภาพธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม ก็คงไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้รู้อย่างนี้ทีละขณะ สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ตามความเป็นจริงเกิดดับเร็วมาก เกิดแล้วดับแล้ว เกิดแล้วดับแล้ว ปรากฏเหมือนนิมิตให้รู้ว่า มีสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ

    สภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดดับสืบต่อเร็ว เป็นสังขารนิมิต ไม่ใช่เพียงขณะจิตเดียว ขณะนี้ก็เหมือนถูกหลอก เพราะความไม่รู้ ทำให้เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง แต่ความจริงเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดดับอยู่ตลอดเวลา

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นความเข้าใจของผู้ฟังธรรม การที่จะรู้ทีละขณะจิตนั้นเป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงแต่ละทาง

    ผู้ฟัง ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแต่ละทาง ไม่ได้เกิดครั้งเดียวแล้วดับ ดับไปเลยๆ แต่เป็นการก็เกิดซ้ำๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อันเก่ากลับมาเกิด มีปัจจัยที่สภาพธรรมใดจะเกิด สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับไป

    ผู้ฟัง เช่นการเห็น ก็ไม่ใช่ว่ามีการเห็นครั้งเดียว แล้วจบ ก็ต้องมีสภาพธรรมใหม่เกิดขึ้นแล้วก็เห็นๆ

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่มีเหตุปัจจัยให้สภาพธรรมนั้นปรากฏ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ไม่ใช่ขณะเดียว แต่เป็นหลายๆ ขณะ ซึ่งปรากฏให้รู้ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้รู้อะไรบ้าง ถึงจะต้องไปถึงขณะเดียวๆ นี่ก็เกินความคิดที่เป็นไปได้แล้ว คิดเรื่องอะไร ในเมื่อสิ่งนี้กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง กำลังไตร่ตรองถึง สภาพธรรมเกิดซ้ำๆ กันมาก

    ท่านอาจารย์ เข้าใจว่า ทั้งหมดที่ได้ฟัง เพื่อให้เข้าถึงความเป็นอนัตตา ให้คลายการที่เคยยึดมั่นโดยความไม่รู้ขั้นฟังเท่านั้นเอง แต่ให้รู้จริงๆ ว่า เป็นอนัตตาเพราะเหตุอย่างนี้ๆ ๆ พอเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทีละขณะ สืบต่ออย่างนี้ๆ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นชีวิตปกติธรรมดาก็จะมีแต่ลักษณะของสภาพธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม ก็สลับกับความนึกคิดที่เป็นเรื่องราว แล้วก็เป็นคิดทีละคำๆ ก็สลับไปสลับมา แต่ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ของคนอื่นเหมือนกันไหม

    ผู้ฟัง ก็คงต้องเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ผู้ฟัง มีความต้องการที่จะเข้าใจเรื่อง “อินทรีย์” ๒๒ ปกติก็จะท่องมาตลอด และไม่เคยท่องได้ ไม่เข้าใจในการศึกษาว่า เราจะเข้าใจอินทรีย์ ๒๒ ในขณะนี้ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เห็นไหม อาศัยรูปอะไรจึงเห็น

    ผู้ฟัง อาศัยจักขุปสาทรูป

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้อาศัยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งเป็นมหาภูตรูป ไม่ได้อาศัยทหยวัตถุ ไม่ได้อาศัยรูปอื่นเลย เพราะฉะนั้นรูปนี้เป็นใหญ่ เป็นจักขุนทรีย์ในขณะที่เห็น

    ผู้ฟัง แล้วในขณะที่ศรัทธาเกิด มีความสนใจที่จะสอบถาม ขณะนี้ก็เป็นอินทรีย์อีกประเภทหนึ่งใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ธรรมค่อยๆ คิด เมื่อทรงแสดงอินทรีย์ ๒๒ ว่ามีอะไรบ้าง แล้วค่อยๆ พิจารณาว่า จริง หรือเปล่า ตัวอย่างรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีรูปใดบ้างที่เป็นอินทรีย์ ไม่ใช่เพียงเฉพาะ ๕ รูป ที่ตัวทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า มีจักขุปสาท นี่เป็นอินทรีย์แน่ ถ้าไม่มีแล้ว ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายได้เลย แต่เพราะเหตุว่ามีรูปนี้ สิ่งนี้จึงปรากฏ สิ่งที่ปรากฏทางตา ใครจะรู้ว่าเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นคนตาบอด ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า นี่เป็นรูปที่มีจริงๆ และปรากฏได้ หรือแม้แต่เสียง จะไปนึกฝันว่าเสียงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้สำหรับคนที่ไม่มีโสตปสาท ก็ไม่มีทางที่เสียง แม้มีจริง มองไม่เห็น จะปรากฏได้

    เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า รูปที่เป็นอินทรีย์ ก็ได้แก่ ๑. จักขุนทรีย์ จักขุปสาท ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วมีรูปอื่นอีกไหมที่เป็นอินทรีย์ มีรูปที่เราไม่รู้ เพราะว่าวันหนึ่งๆ เราก็มีแต่ตา หู จมูก ลิ้น กายที่ทำให้มีการเห็นเกิดขึ้น แต่ว่ารูปที่เกิดจากกรรมทุกกลุ่ม หรือทุกกลาป แม้แต่จักขุปสาท ก็ต้องมีชีวิตินทรียรูป เป็นอินทรีย์ด้วย เกิดร่วมด้วย เพราะเป็นใหญ่ในการทำให้จักขุปสาทเป็นรูปที่ทรงชีวิต มีชีวิต อย่างคนที่ตายแล้ว เขาก็ยังมีรูปตา แต่รูปของเขาทั้งหมดจะไม่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานเลย แม้ว่าจะมีอ่อนมีแข็ง แต่หลังจากจุติจิตแล้ว ไม่ใช่รูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ฉันใด แม้มีตา ตานั้นก็ไม่มีชีวิต ทุกกลุ่ม ทุกกลาปของรูปที่เกิดจากกรรม จะต้องมีชีวิตินทรียรูป ดำรงอุปถัมภ์รักษาความทรงชีวิตของรูปนั้นให้เป็นไปอีก ๑ รูป เป็น ๖ ขณะนี้ที่เรารู้ได้ว่า เป็นหญิง เป็นชาย ถ้าไม่มีอิตถีภาวรูปซึมซาบอยู่ทั่วตัว ปรากฏสันฐานที่จะให้ต่างกัน ก็จะไม่มีการจำหมายรู้ว่า นี่เป็นลักษณะของหญิง เป็นอาการของหญิง หรือลักษณะนั้นเป็นอาการของชาย เพราะฉะนั้นรูปนี้เป็นใหญ่ที่จะให้ปรากฏลักษณะของหญิง และชาย เป็นอินทรีย์ ถ้าไม่มีรูปนี้ก็ไม่มีที่จะปรากฏได้ ก็เพิ่มอีก ๒ เป็น ๘

    ก็ค่อยๆ เข้าใจ ไม่ต้องไปจำ ไปท่อง แล้วก็ลืม ถ้าไม่มีความเข้าใจ ฟังอะไรไปก็ลืมหมด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567