พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 285


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๘๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ตลอดทั้งวันมีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยส่วนใหญ่ อาหารอร่อย ชอบรสนี้ กำลังรับประทานอร่อยมาก รสอร่อย รับประทานด้วยความเพลิดเพลินพอใจ ขณะนั้นมีความเห็นใดๆ หรือเปล่า หรือว่ามีความพอใจในรสนั้น

    ผู้ฟัง มีความพอใจในรสนั้น

    ท่านอาจารย์ ต่างกับขณะที่มีความเห็นผิด เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ส่วนใหญ่จะเป็นความพอใจในสิ่งที่มี แต่ว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ไม่ใช่ให้เราเอาความคิดไปแยก ไม่มีทางแยกออกได้เลย ที่จะกล่าวว่า ตรงนี้ ขณะนี้มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยไหม ตรงนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย หรือเปล่า แต่ว่าความเห็นผิดที่เกิดขึ้นเมื่อไร จะรู้ได้เมื่อสติสัมปชัญญะเกิด มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังปรากฏเป็นอารมณ์ แล้วมีความเห็นผิด เมื่อความเห็นผิดปรากฏ ขณะนั้นมีความเห็นผิดว่า สิ่งนั้นเป็นเรา ขณะนั้นลักษณะของความเห็นผิดก็ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่เราเรียนแล้วเราพยายามไปแยกด้วยตัวเอง ขณะนั้น ขณะนี้ แต่ว่าเกิดดับสลับเร็วมาก ยากที่จะรู้ได้ จนกว่าอาศัยการฟังเข้าใจ ทำให้มีสติสัมปชัญญะ ที่เริ่ม ใช้คำว่า “เริ่ม” ที่จะรู้ลักษณะ นั่นคือสติที่ต่างกับกายวิญญาณ กายวิญญาณรู้แข็ง ปกติ ธรรมดา ไม่ได้ใส่ใจ สนใจอะไรเลยทั้งสิ้น หลังจากที่รู้แข็ง แล้วกำลังกระทบกับแว่นตา หรือเก้าอี้ หรือถ้วยจานชาม นั่นคือมีความคิดนึกเกิดต่อเร็วมาก ไม่มีทางที่ปัญญา และสติจะระลึก คือ รู้ลักษณะเฉพาะสิ่งนั้นที่เป็นอย่างนั้น แล้วค่อยๆ เข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างกับอย่างอื่น

    คือความละเอียดของการอบรมเจริญปัญญา จนกว่าประจักษ์เมื่อไร เป็นวิปัสสนา คือ ความเห็นแจ้ง เพราะปัญญาได้อบรมแล้ว จากการค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปคิดเรื่องใดเลยทั้งสิ้น นอกจากเข้าใจธรรมขึ้น เข้าใจธรรมขึ้นเท่านั้นเอง เมื่อเข้าใจขึ้นแล้ว ไม่มีทางที่สติสัมปชัญญะจะไม่เกิด แต่ถ้าไม่เข้าใจ หรือรู้เพียงนิดหน่อย เพราะจำชื่อมา และจะให้สติสัมปชัญญะเกิด เป็นไปไม่ได้ แน่นอน เพราะว่าเป็นปัญญาต่างขั้น ต้องมีปัญญาขั้นฟังปริยัติ แล้วก็เป็นปัจจัยให้ปฏิปัตติ คือ สติเกิดขึ้นด้วยความเป็นอนัตตา ถึงจะรู้ว่า สติไม่ใช่เรา สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่เรา ค่อยๆ เข้าใจความเป็นอนัตตาเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ความเข้าใจเป็นสิ่งที่ยาก ที่ว่าเราจะเข้าใจถูก หรือเข้าใจผิด ตรงนี้สำคัญมาก

    ท่านอาจารย์ ดังนั้นการศึกษาธรรมจึงต้องละเอียดรอบคอบ แล้วก็ไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกของเราเอง ไม่ใช่เขาว่า เขาว่า แล้วเราก็ไม่รู้อะไรเลย ถูก หรือผิดก็ไม่รู้ ก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่การฟังพระธรรม ถ้าฟังพระธรรมก็รู้ว่า สิ่งที่มีในขณะนี้เป็นธรรม พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมี มิฉะนั้นจะไปตรัสรู้อะไร พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเกี่ยวกับสิ่งที่มีทั้งสิ้น ที่กำลังปรากฏ ให้ผู้ที่ไม่รู้ ค่อยๆ รู้ถูก เข้าใจถูกขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งความจริงว่า เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นเช่นนั้น ขณะที่เราฟังธรรม ฟังไปเรื่อยๆ เกิดมีความคิดนึกขึ้น ความคิดนึกก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าฟังแล้วไม่รู้ นี่คือลักษณะของความคิดนึกอย่างนั้น หรือ

    ท่านอาจารย์ เราไปนึกอีก

    ผู้ฟัง นั่นก็นึก เลยไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ ลักษณะนามธรรม คือ ไม่ใช่สภาพที่ไม่รู้อะไร มี ต้องเข้าถึงลักษณะนั้น ด้วยการฟังเข้าใจก่อน เข้าใจขึ้นๆ หรือแม้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็มี ทำไมพระพุทธเจ้าทรงแสดงอะไรละเอียดมากมายในเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา ใช่ไหม ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา ทำไมไม่แสดงสิ่งที่อัศจรรย์ ประหลาด ผิดปกติธรรมดา ถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่ตรง และไม่จริง และไม่ถูก เพราะว่าแม้สิ่งธรรมดาที่ปรากฏ ก็ยังไม่แสดงให้รู้เลย แล้วจะไปแสดงอะไรที่จะให้ไปรู้สิ่งที่ยังไม่มี ยังไม่ได้ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นความลึกซึ้งของธรรม ต้องรู้ว่า ผู้ไม่รู้ เห็นปกติธรรมดา ไม่รู้อะไรเลย แต่ผู้รู้เริ่มเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ความรู้มากขึ้นคลายความไม่รู้ไปเรื่อยๆ และจะเข้าใจขณะที่หลงลืมสติ ต่างกับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด

    เป็นการอบรมเจริญปัญญา เป็นสติปัฏฐาน เป็นภาวนา ที่เป็นวิปัสสนาภาวนา แต่ขณะที่เริ่มฟัง ไม่ใช่วิปัสสนา ขณะที่กำลังไตร่ตรอง ไม่ใช่วิปัสสนา ขณะที่สติเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนาต้องถึงการประจักษ์แจ้ง เป็นปฏิเวธ แทงตลอดตามลำดับ จนหมดความเห็นผิดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมด ถ้ายังเหลืออยู่ ก็เป็นพระโสดาบันไม่ได้ เพราะยังสงสัย ยังไม่รู้ แม้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ธรรมดามาก ฟังเรื่องสิ่งธรรมดา และเมื่อถึงขั้นที่จะรู้ ก็รู้สิ่งที่เป็นธรรมดานี่เอง แต่ความรู้เพิ่มขึ้น ความเข้าใจเพิ่มขึ้น เมื่อประจักษ์แจ้ง ก็ประจักษ์แจ้งสิ่งที่เป็นธรรมดาอย่างนี้ ไม่ผิดปกติ จึงจะเป็นปัญญาจริงๆ ที่สามารถจะรู้จริงในสิ่งที่ปรากฏว่า สิ่งที่ปรากฏแท้ที่จริงแล้วเป็นอะไร เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญา ต้องฟังพระธรรมโดยละเอียด เพราะว่าทรงแสดงไว้โดยประการทั้งปวง ๔๕ พรรษา เพื่อไม่ให้เข้าใจผิด ไม่ให้เห็นผิด ไม่ให้คิดเอง ไม่ให้หลงทาง มีพระธรรมเป็นสรณะ คือ เป็นที่พึ่งจริงๆ เพราะว่าเข้าใจสิ่งที่ได้ทรงแสดง ถ้าไม่เข้าใจ จะมีพระธรรมเป็นสรณะได้ไหม ไม่ได้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง อยากให้อธิบายเรื่องกรรม ให้เข้าใจง่ายขึ้น เดิมเข้าใจว่า กรรมเป็นการกระทำ แต่พอมาเรียนอภิธรรม ก็เข้าใจว่า เป็นเจตนาเจตสิก ซึ่งหมายถึงการจงใจ ขวนขวาย

    ท่านอาจารย์ ก่อนฟังธรรม มีทำ ใช่ไหม ทำโน่นทำนี่ เราทำ แต่ถ้าเรียนธรรมแล้ว ไม่มีเรา อะไรทำ ถ้าไม่มีจิต เจตสิก อะไรจะทำ เพราะฉะนั้นจิต เจตสิกเกิดขึ้นทำกิจการงาน เพราะความไม่รู้ จึงเป็นเราไปหมดเลย จิตเห็น เกิดขึ้น ทำกิจเห็น กลายเป็นเราเห็น เพราะไม่รู้ ขณะที่ได้ยิน จิตเกิดขึ้นทำกิจได้ยิน ไม่ใช่กิจเห็น ก็กลายเป็นเราได้ยิน เพราะความไม่รู้ จึงยึดถือทั้งหมดว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ก็เพื่อให้เข้าใจว่า ที่เราเคยเข้าใจว่า ทำ ทำ ทำ เป็นการกระทำซึ่งต้องเป็นจิต เจตสิก รูป ส่วนโต๊ะ เก้าอี้ ไปทำอะไรได้บ้าง ไม่มีทางเป็นไปได้เลย

    เพราะฉะนั้นการทำ ไม่ว่าจะอะไรทั้งหมด เพราะจิต และเจตสิกเกิดขึ้นทำกิจของจิต เจตสิกนั้นๆ แต่เมื่อพูดถึงเจตนา ความจงใจ ความตั้งใจขวนขวาย ซึ่งเป็นกัมมปัจจัย เป็นตัวกระทำ เจตสิกทั้งหมด มี ๕๒ ประเภท แต่ในบรรดา ๕๒ ประเภท เจตสิกหนึ่งเป็นกรรม คือ เจตนาเจตสิก และความละเอียดของธรรม ก็คือ เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะ ไม่เว้นเลย ที่เราเคยเข้าใจว่า เราทำ ถูก หรือผิด หยาบ หรือละเอียด เพราะว่าเจตนาทำกิจของเจตนา แต่เราไปเข้าใจว่า เรากำลังทำ ใช่ไหม แท้ที่จริงแล้วต้องเข้าใจลักษณะของเจตนาเจตสิกเพิ่มขึ้น จึงสามารถรู้ได้ว่า ทำไมเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แม้ขณะที่เห็นก็มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะที่ได้ยินก็มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เราไปคิดว่า เราเจตนาที่จะทำกุศล และอกุศล เราไม่สามารถที่จะรู้ละเอียดกว่านั้นว่า แม้เพียงเห็น ก็มีเจตนาเกิดขึ้นทำกิจของเจตนาเจตสิกด้วย

    ที่เราเข้าใจว่า กุศลเจตนา อกุศลเจตนาไม่ผิด เจตนาเป็นสภาพธรรมที่จงใจ ขวนขวายกระทำกิจของตน คือ กระตุ้นเตือนสหชาตธรรมให้กระทำกิจของธรรมนั้นๆ ที่เกิดร่วมกัน

    นี่คือความละเอียดของธรรม เพราะฉะนั้นจะไม่ขาดเจตนาเจตสิกเลยสักขณะเดียว แต่ที่จะปรากฏ เราก็บอกว่า คนนั้นจิตเป็นกุศล เขามีเจตนาดี เขาตั้งใจที่จะช่วยเหลือคนอื่น ก็รู้เฉพาะเจตนาที่เป็นกุศล หรือเจตนาที่เป็นอกุศล แต่ละเอียดยิ่งกว่านั้น คือ เจตนาเกิดกับจิตทุกประเภท

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นหมายความว่า เวลาเห็นเป็นวิบาก เจตนาก็ทำหน้าที่

    ท่านอาจารย์ เจตนามีหน้าที่ กระตุ้นเตือนสหชาตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมกันให้ทำกิจนั้นๆ สำเร็จกิจเห็น

    ผู้ฟัง ซึ่งก็จะไม่ส่งผล เพราะวิบากเป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ วิบากเป็นผลของกรรม กรรมให้ผลแล้ว

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเจตนาที่จะให้ผล ต้องเกิดกับกุศลกรรม และอกุศลกรรม

    ท่านอาจารย์ เกิดกับกุศลกรรม และอกุศลซึ่งเป็นเหตุเท่านั้น ถ้าพูดถึงกัมมปัจจัย เพราะความละเอียดของสภาพธรรม แม้ไม่เป็นกัมมปัจจัยก็เป็นปัจจัยอื่นได้ ละเอียดมาก สิ่งที่เรามองไม่เห็นเลย แต่ว่าเกิดขึ้น และมีความละเอียดมากมาย

    ผู้ฟัง ที่เราเคยเข้าใจว่า กรรม คือ การกระทำของเรา

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเพียงบางส่วน คือ เข้าใจเฉพาะกุศลกรรม และอกุศลกรรม

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้ว เจตนาก็เกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นจิตชาติไหนก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ แล้วเจตนาก็ทำกิจตามสภาพของเจตนานั้น ถ้าเป็นเจตนาที่เป็นวิบาก เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ก็มีฐานะเป็นวิบากที่จะกระตุ้นเตือนธรรมที่เป็นวิบากร่วมกันให้กระทำกิจเท่านั้นเอง ไม่สามารถจะเป็นกุศล อกุศลเจตนาเหมือนขณะอื่นได้

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นการศึกษาขั้นฟัง ควรจะต้องทำความเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรมก่อน ถูก หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ฟังเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูก ว่าทุกอย่างเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ จริง หรือไม่ ไม่ใช่จำ แล้วก็เชื่อ เพราะธรรมคืออะไร ธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ เมื่อไร เมื่อเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิด ยังไม่มี ก็ไม่จริง เพราะว่ายังไม่เกิดขึ้น ยังไม่มี แต่ขณะนี้สิ่งใดก็ตามที่มีปรากฏเพราะเกิดขึ้น จึงปรากฏได้ ถ้าไม่มีก็เกิดปรากฏให้รู้ไม่ได้ เมื่อเกิดแล้ว ปรากฏแล้ว จะกล่าวว่า ไม่ใช่ธรรม ก็ไม่ได้ เพราะสิ่งใดก็ตามที่มีจริง และเกิดขึ้นเป็นธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง ซึ่งในขั้นนี้ ตัวอย่างเช่นทางตา คือ ฟังเข้าใจว่า ที่เราเห็นเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ที่เห็น เป็นธรรมเพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะมีเห็น เห็นมี จะกล่าวว่าไม่มีไม่ได้ และสิ่งที่มี คือ ธรรม โดยความจริง หมายถึงธาตุที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เกิดขึ้นทำกิจนั้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจความหมายของธรรมด้วย

    ผู้ฟัง ซึ่งเรายังไม่ต้องไปคิดว่า สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรม แล้วเห็นเป็นนามธรรม เพื่อที่จะไปแยกนามธรรม รูปธรรม ไม่ต้องใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ รูปธรรมเปลี่ยนเป็นนามธรรมได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เป็นรูปธรรมอยู่แล้ว เป็นรูปธรรมตลอดไป ไม่ว่าจะเกิดเมื่อไร ต้องเป็นรูปธรรม จะเป็นนามธรรมไม่ได้ นามธรรมก็เป็นนามธรรม ใครจะรู้ หรือไม่รู้ จะเรียก หรือไม่เรียก ก็เป็นนามธรรม การฟังธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีแล้ว โดยไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่เมื่อฟังแล้วก็รู้ลักษณะของสิ่งที่มี ต่างกัน หรือเหมือนกัน เสียงกับกลิ่น ต่างกัน หรือเหมือนกัน

    ผู้ฟัง เสียงกับกลิ่นต่างกัน

    ท่านอาจารย์ สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย กับสภาพที่เกิดแล้วสามารถที่จะคิด จะจำ ต่างกันไหม ๒ อย่าง เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ไปติดที่ชื่อ “นาม” ไม่ได้ไปติดที่ชื่อ “รูป” แต่เมื่อเข้าใจธรรมแล้ว ธรรมนั้นเองต่างกัน ให้รู้ความต่างกัน เมื่อประมวลแล้วก็ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ สภาพที่ไม่รู้อะไรเลยก็มี หลากหลายไปเลย อ่อน ไม่ใช่สีสันวัณณะที่ปรากฏ ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่รส นี่ก็เป็นรูปธรรมแต่ละรูป แต่ละลักษณะ ส่วนสภาพนามธรรม เดี๋ยวจำ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวคิด เดี๋ยวเมื่อย เดี๋ยวปวด เดี๋ยวหิว เดี๋ยวโกรธ นั่นคือลักษณะของสภาพที่มีจริง ซึ่งเป็นนามธรรม เพราะเหตุว่าสามารถรู้ ไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลย

    ด้วยเหตุนี้ ธรรมเป็นอย่างนั้นแล้ว เราไม่ต้องไปจำชื่อก่อน ถ้าเรียนชื่อก่อนว่า ธรรมมี ๒ อย่าง คือ นามธรรม และรูปธรรม ก็พยายามไปหา แต่ถ้าเรียนแล้วรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมอย่างนั้น และใช้ชื่ออย่างนี้ เพื่อให้เข้าถึงลักษณะที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ ว่า ๒ อย่างนี้ต่างกัน ไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกัน

    ผู้ฟัง แต่ทางตา พอเราเห็น เราไม่สามารถแยกเห็นกับ ...

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้เราไปแยกอะไรเลยทั้งสิ้น ฟังธรรมต้องฟังใหม่ว่า ฟังเพื่อเข้าใจเท่านั้น ไม่ใช่ให้ไปทำอะไร เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังว่า เป็นอย่างนั้น หรือเปล่า เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่ค่อยๆ ฟัง ถ้าเข้าใจขึ้น คำที่ใช้จะตรงขึ้น ถูกต้องขึ้น แต่ถ้ายังไม่ได้เข้าใจชัดเจน คำที่ใช้ก็จะสับสน และไม่ตรงด้วย

    ผู้ฟัง ต้องการความเข้าใจเรื่องอินทรีย์ ๕

    อ.วิชัย เรื่องของอินทรีย์ทั้งหมดจะมี ๒๒ แต่ถ้าพิจารณาโดยสภาพธรรมที่เกิด และมีจริง สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ หมายความว่าเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน อย่างจักขุนทรีย์ มีหน้าที่รับกระทบกับวัณณรูป ที่เป็นปัจจัยให้การรู้อารมณ์ทางตาเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นต้องมีจักขุปสาทเป็นจักขุนทรีย์ เป็นใหญ่ในการที่จะรับรู้อารมณ์ทางตา โดยสภาพที่เป็นใหญ่ในจักขุทวาร

    โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ เหล่านี้ก็เป็นรูป และในส่วนของภาวรูปที่เป็นอิตถินทรีย์ และปริสินทรีย์ นี่เป็นส่วนของรูป และส่วนของชีวิตินทรีย์ซึ่งก็มีส่วนทั้งที่เป็นรูป และเป็นนาม เพราะเหตุว่าชีวิตินทรีย์ที่เป็นรูปก็มี และชีวิตินทรีย์ที่เป็นนามก็มี

    เพราะฉะนั้นโดยสภาพที่เป็นรูป ก็จะเห็นถึงความเป็นใหญ่ของตัวจริงๆ เพราะเหตุว่าการที่จะรับรู้อารมณ์ได้ ทางทวารต่างๆ ต้องอาศัยอินทรีย์เหล่านี้ ในการเป็นใหญ่ ในการรับรู้อารมณ์ต่างๆ โดยรูปอื่นที่เหลือจะไม่สามารถรับรู้อารมณ์ อย่างเช่นจักขุปสาท จะไม่มีรูปอื่นเลยที่สามารถรับกระทบกับวัณณรูปได้ ต้องมีเฉพาะรูปเดียวเท่านั้น ก็คือ จักขุปสาท ซึ่งเป็นจักขุนทรีย์ คือ เป็นใหญ่ในการรับอารมณ์ทางทวารตา นี่เป็นส่วนอินทรีย์ที่เป็นรูป

    ในส่วนอินทรีย์ที่เป็นนาม ก็มี ดังที่กล่าวไปแล้ว ในการอบรมเจริญปัญญาจนถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องอบรมเจริญอินทรีย์ ๕ ก็มีสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ ซึ่งสภาพธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่อบรม และเจริญจนถึงความเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน เช่น ศรัทธา เป็นใหญ่ ครอบงำความไม่มีศรัทธา ในส่วนนามอินทรีย์อื่นก็มี อย่างเช่น จิตเป็นอินทรีย์ไหม เป็นมนินทรีย์ และในส่วนของอินทรีย์ที่จะเป็นปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เรื่อยขึ้นไป ก็มีอนัญญาตัญญัสสามีอินทรีย์ อัญญินทรีย์ และอัญญาตาวินทรีย์ เหล่านี้ก็เป็นอินทรีย์ที่เกิดในการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ที่เกิดกับมรรค และผล ก็ทำให้เห็นถึงความเป็นอินทรีย์ แต่ที่จะอบรมเจริญ อินทรีย์ ก็คืออินทรีย์ ๕

    อ.ธิดารัตน์ เจริญสัทธินทรีย์ ศรัทธานั่นเองเป็นศรัทธาเจตสิก ที่เป็นอินทรีย์ เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญอินทรีย์ ๕ ก็ได้แก่ การอบรมเจริญสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ เพราะอินทรีย์เหล่านี้ เมื่ออบรมเจริญให้มากแล้ว เป็นไปในโพธิปักขิยธรรม ฝักฝ่ายในการตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริงนั่นเอง ก็เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญตั้งแต่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ๔ ในเบื้องต้น จนกว่าจะเป็นการอบรมที่มั่นคงจริงๆ เป็นใหญ่จริงๆ เป็นฝักฝ่ายที่จะได้ตรัสรู้ คือ เห็นแจ้งพระนิพพาน

    ท่านอาจารย์ โดยมากเข้าใจชื่อ จำชื่อ แต่ไม่รู้จักสภาพธรรม คือ รู้จักคำแปลว่า อินทรีย์คืออะไร และมีความสนใจในสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สมาธินทรีย์ สตินทรีย์ ปัญญินทรีย์ สนใจแต่ตรงนั้น แต่ความรู้พอ ที่จะเป็นสัทธินทรีย์ หรือเปล่า การที่จะมีศรัทธาเพิ่มขึ้นในการฟังพระธรรม ต้องจากความเข้าใจ ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ จะฟังไปทำไม ยังไม่เห็นว่าเป็นประโยชน์อะไรเลย ที่ว่าไม่เข้าใจแล้วฟัง ใช่ไหม แต่ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ แม้ครั้งแรกไม่เข้าใจ ค่อยๆ ฟังว่าจริง หรือเปล่า ค่อยๆ พิจารณา ขณะนั้นศรัทธา มี โดยที่ไม่รู้เลยว่า เพราะอะไรจึงฟังต่อไปอีก หลังจากที่ได้ฟังแล้ว ก็ฟังต่อไปอีก แล้วถ้าไม่มีศรัทธาในขั้นการฟัง ก็จะไปกล่าวถึงศรัทธาต่อๆ ไป จนกระทั่งสามารถที่จะเป็นอินทรีย์ถึงขั้นที่เป็นอินทรีย์ของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นการฟังทั้งหมด ฟังอะไร เข้าใจสิ่งที่ฟัง อย่างท่านที่ถามเรื่องอินทรีย์ ๕ ที่หมายความถึงศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แล้วยังไม่ได้กล่าวถึงอินทรีย์ ๕ เลย ท่านรู้สึกอย่างไร รอด้วยความหวังว่า เมื่อไรจะกล่าว เมื่อไรจะพูดถึงให้เข้าใจ หรือว่าถามเรื่องนั้นแล้วก็ตอบเรื่องนี้ แต่ตามความเป็นจริง แม้ศรัทธาก็ต้องประกอบด้วย ปัญญา ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลยที่จะรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน และให้มีศรัทธาเจริญขึ้น ที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นไปไม่ได้เลย ต้องทราบว่า ความเข้าใจก็ต้องเริ่มตามลำดับขั้นด้วย ตั้งแต่ขั้นฟัง และถ้ามีศรัทธา ฟังเรื่องอะไรเข้าใจ เห็นว่าไร้ประโยชน์ หรือว่าเป็นประโยชน์ หรือว่าไม่ต้องฟังเรื่องนี้ เพราะว่าไม่ได้ถามเรื่องนี้ ไม่ได้อยากฟังเรื่องนี้ อยากจะฟังเรื่องอื่น แต่ไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมเลย ไม่ได้รู้ว่า ในความเป็นจริง คำที่กล่าวว่า “อินทรีย์” ไม่ได้มีแต่เฉพาะ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ธรรมอื่นๆ อีกก็เป็นอินทรีย์ เพราะอะไร เพื่อที่จะได้เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นการประกอบให้รู้ว่า ศรัทธาต้องมีตามลำดับขั้น ถ้าพูดเรื่องอินทรีย์ ๕ โดยไม่มีความรู้ที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นธรรม ปัญญาจะเจริญได้ไหม เป็นจุดประสงค์ของการฟัง หรือไม่

    นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า เมื่อได้ยินคำไหน ควรได้ยินความหมายของคำนั้น และการเข้าใจคำนั้น ก็ไม่ใช่เข้าใจแคบๆ เพียงอินทรีย์ ๕ แต่ตามความเป็นจริงอินทรีย์มีมากกว่านั้นด้วย และสามารถจะรู้ด้วยว่า ขณะนี้เป็นอินทรีย์อะไรใน ๕ ยังไม่รู้ใช่ไหม ถึงจะกล่าวอย่างไรก็ยังไม่รู้ เพราะเหตุว่าขณะนี้มีอินทรีย์ หรือเปล่า เริ่มที่จะเจริญจนถึงความเป็นอินทรีย์ ๕ ได้ไหม แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ อินทรีย์ ๕ มาจากไหน แม้ว่าได้ยินแต่ชื่อ ก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจากนี้ก็จะถึงอินทรีย์ ๕ แต่ก็ต้องให้รู้อินทรีย์อื่นด้วย ที่จะให้เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน ทั้งนามธรรม และรูปธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567