พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 263


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๖๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    อ.อรรณพ ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตกระทบสัมผัส หรือ อกุศลจิต กุศลจิต กิริยาจิตใดๆ ก็ตาม แต่จิตเป็นสภาพรู้ จึงเป็นวิญญาณขันธ์ ทั้งหมด ๘๙ หรือ ๑๒๑ รวมเป็นขันธ์ หรือเป็นกองเดียว คือวิญญาณขันธ์ ขันธ์ที่เป็นสภาพรู้ วิญญาณ แปลว่า เป็นสภาพที่รู้ หมายความว่า จิต เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ไม่ว่าจิตจะหลากหลายไปเป็นประเภทต่างๆ ตามภูมิบ้าง ตามชาติของจิตบ้าง

    ผู้ฟัง ลักษณะของจิตที่เป็นอกุศลที่คิดเอาเอง กับสภาพความเป็นจริงเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คิดเอาเอง หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง จากการศึกษา ทราบว่า สิ่งที่ไม่ดี เช่น ความโกรธ เป็นอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ คิดถึงชื่อของความโกรธ

    ผู้ฟัง แต่สภาพธรรมจริงๆ ก็ทำให้ไม่สามารถชัดเจนในระดับนี้ เหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า จิตเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่ชัดเจน ถึงแม้จะรู้ไม่ได้ แต่ก็มีสภาพเห็น ปรากฏให้เห็นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาหมายความว่า ในขณะที่โกรธ ก็อยากจะทราบความต่างของจิต และเจตสิก หรือไม่ เพราะว่าเพียงเรียกชื่อ ไม่ทำให้เข้าใจได้ แต่ว่าขณะนั้นกำลังโกรธอะไร

    ผู้ฟัง สัตว์ บุคคล ตัวตน

    ท่านอาจารย์ ต้องมีสิ่งที่จิตกำลังรู้สิ่งนั้น โกรธในสิ่งนั้น ไม่พอใจในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นลักษณะของจิตเป็นอย่างหนึ่ง ลักษณะของความโกรธก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดพร้อมจิต

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็แยกไม่ออกแน่นอนใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แยกด้วยความคิด แยกด้วยการฟัง ด้วยความเข้าใจ หรือแยกเพราะกำลังรู้ลักษณะที่ต่างกันแต่ละลักษณะ ความเข้าใจมีหลายขั้น ขั้นฟัง ยังไม่รู้จักตัวจริงเลย เหมือนฟังเรื่องของสิ่งหนึ่ง ซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน แล้วก็รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร มีลักษณะอย่างไร รูปร่างอย่างไร กลิ่นอย่างไร รสอย่างไร แต่ไม่เคยประจักษ์ ไม่เคยรู้ ไม่เคยพบ กับขณะที่ฟัง ก็เริ่มเข้าใจสิ่งนั้น พอพบก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า นั่นคือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังนั่นเอง เพราะฉะนั้นขณะนี้ได้ยินคำว่า จิต คำว่า เจตสิก จะกล่าวว่า รู้ลักษณะของจิตไหน เจตสิกไหน แยกไม่ออก ใช่ไหม แต่เริ่มจะเข้าใจว่า มีจิตแน่ แต่จิตที่ไม่ใช่เรา เป็นเพียงธาตุที่มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป ไม่ใช่เป็นแต่เพียงคำพูด ลักษณะจริงๆ เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ตรงที่จะยอมรับว่า ประจักษ์ หรือยัง หรือเพียงแต่ฟังเรื่องนี้ และก็กำลังเข้าใจเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ไปแบบช้าๆ ก็ได้ แต่ให้เข้าใจจริงๆ ถ้าเรารู้คำมาก แต่เรายังไม่เข้าใจคำนั้น และก็จะสับสน ก็จะไม่มีประโยชน์อะไร ไม่หมดสงสัย และไม่เข้าใจด้วย สภาพธรรมที่มีจริงเป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นได้เลย ปรมัตถธรรมทั้งหมดมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ก็ได้ยินมานาน เมื่อไรจะถึง เมื่อไรจะเข้าใจ เมื่อไรจะประจักษ์ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ยังไม่ทันรู้เลย แล้วจะไปรู้นิพพานได้อย่างไร หรือผู้ที่เข้าใจว่า ปฏิบัติธรรม ยังไม่รู้ว่า ธรรมคืออะไร แล้วปฏิบัติธรรมได้อย่างไร เพราะว่าปฏิบัติ คือ ถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏด้วยความเข้าใจขึ้น จนกระทั่งประจักษ์แจ้ง

    เพราะฉะนั้น ทุกคำ อย่าเผิน พระพุทธศาสนาลึกซึ้ง และละเอียด เป็นสิ่งที่คนธรรมดาไม่สามารถรู้แจ้งด้วยตัวเองได้เลย นอกจากอาศัยการฟัง และเริ่มเข้าใจขึ้นๆ เพราะฉะนั้น ทุกคำที่ฟัง อย่าเพิ่งผ่าน อย่าไปคิดว่า ต้องจำ ไม่ใช่ได้ยินแล้วก็จำ แต่ต้องรู้แม้ความหมายของขันธ์ ที่ได้ยินเมื่อครู่นี้ คืออะไร เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ขันธ์คืออะไร ปรมัตถธรรม มีจิต๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ แล้วกล่าวถึงขันธ์ ขันธ์เป็นอะไร ถ้ายังไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ ก็คือฟังชื่อขันธ์ เรียกชื่อขันธ์ ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ ถ้ายังไม่เข้าใจว่า ขันธ์คืออะไร จะตอบไม่ได้ แต่ถ้าสามารถรู้ได้ว่า ขันธ์ หมายความถึงสิ่งที่มีจริงเมื่อเกิดปรากฏ ถูกต้องไหม

    สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ มีจริง หรือไม่ ถ้าไม่เกิดจะปรากฏได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขันธ์ ก็คือสิ่งที่มีจริง ที่เกิดขึ้นปรากฏ เสียง มีจริง หรือไม่ เกิดขึ้น หรือไม่ ดับไป หรือไม่ สภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นปรากฏให้รู้ได้ สภาพนั้นทั้งหมดเป็นขันธ์ ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เกิด หรือไม่ ดับ หรือไม่ รู้ได้ไหม ขณะเห็น รู้ว่ามีเห็น เพราะฉะนั้นจิตเป็นขันธ์ คือ ต้องเข้าใจความหมายก่อนว่า ขันธ์คืออะไร ขันธ์ได้แก่อะไร ปรมัตถธรรมมี ๔ ขันธ์ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไรบ้าง?ค่อยๆ คิดจะได้ไม่สับสน จิต เจตสิก รูป นิพพาน สภาพธรรมใดที่เกิดปรากฏให้รู้ได้ สภาพธรรมนั้นเป็นขันธ์ เพราะฉะนั้น สำหรับปรมัตธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ปรมัตถธรรมอะไรเป็นขันธ์บ้าง

    ผู้ฟัง จิต เจตสิก รูป

    ท่านอาจารย์ จิต เจตสิก รูป เพราะขณะนี้มีจิตเกิด รู้ได้ ขณะนี้มีเจตสิกเกิด รู้ได้ ขณะนี้มีรูปเกิด รู้ได้ สภาพธรรมที่เกิดปรากฏเป็นขันธ์ มีการปรุงแต่ง คือ ต้องมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งต่อไปจะทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแม้ปัจจัยต่างๆ ของธรรมทั้งหลายที่เพียงเกิดแล้วดับไปโดยละเอียด แสดงถึงความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ เลยทั้งสิ้น ขันธ์มี ๕ เพราะอะไร ปรมัตถธรรมที่เป็นขันธ์มีเท่าไร ปรมัตถธรรมมี ๔ ปรมัตถธรรมที่เป็นขันธ์มี ๓ เพราะนิพพานไม่เกิด ขณะนี้ไม่ได้ปรากฏอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะไม่ใช่จิต เจตสิก รูปที่เกิดดับ ด้วยเหตุนี้นิพพานจึงไม่ใช่ขันธ์ แต่สภาพธรรมที่เกิดปรากฏ มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ซึ่งทำให้สามารถรู้ได้ ด้วยเหตุนี้ ขันธ์ ๕ ได้แก่ ปรมัตถธรรม ๓ ใน ๕ ขันธ์ ปรมัตถธรรม ๓ เป็นขันธ์อะไรบ้าง รูปขันธ์ หมายถึงสภาพธรรมที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย เราจะใช้คำว่า “รูปธรรม” หรือ “รูปขันธ์” ก็ได้ ทั้งหมดไม่ว่าจะชื่อ รูปารมณ์ รูปายตนะ หรืออะไรก็ตาม ลักษณะของธรรมที่เป็นรูปแล้ว ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น รูปทุกประเภทเป็นรูปขันธ์

    ขณะนี้ มีตา มีจักขุปสาท เป็นปรมัตถ์อะไร เป็นรูป เป็นรูปขันธ์ หรือไม่ เป็น สภาพธรรมที่เป็นรูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ ที่ใช้คำว่า “ขันธ์” เพราะเหตุว่า จักขุปสาทรูป ก็อย่างหนึ่ง แต่ก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ปะปนกับโสตปสาท ก็เป็นรูปอีกอย่างหนึ่ง เกิดดับเช่นเดียวกันด้วย รูปทั้งหมดทุกประเภทเป็นรูปขันธ์ และจริงๆ แล้วลักษณะของรูปที่เกิดขึ้น แม้แต่เพียงสภาพที่อ่อน หรือแข็ง ลักษณะเหมือนกัน หรือไม่ อ่อนเหมือนกันหมดไหม แข็งเหล็ก แข็งกระดูก เมื่อใดที่เกิดขึ้นมีลักษณะจะประณีต จะเลวทราม หรือจะไม่น่าพอใจ น่าพอใจ ภายใน ภายนอกอย่างไรอย่างไรทั้งหมดก็เป็นประเภทของรูปขันธ์ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้เวลากล่าวถึงรูป เพราะรูปเกิดแล้วก็ดับไป หมดไปแล้ว แล้วก็มีปัจจัยให้รูปใหม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น แต่ละรูปก็ต่างกันไป จักขุปสาทมีจริง และรูปอ่อนแข็งก็มีจริง แต่ว่าแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นย่อมต่างกันไปตามเหตุตามปัจจัยด้วย เช่นเดียวกับเสียง เสียงระนาดกับเสียงกลอง ก็เป็นเสียง เกิดแล้วดับ แต่ความต่างของเสียงก็มี

    ด้วยเหตุนี้รูป แม้เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ก็ยังหลากหลายต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะหลากหลายอย่างไร ก็คือรูปขันธ์ รสกระทบลิ้น จิตลิ้มรส คือ รู้รสนั้นเกิดขึ้น รู้รสหลากหลายไหม หวานก็มี เปรี้ยวก็มี เค็มก็มี จืดก็มี หวานมากก็มี เผ็ดจัดก็มี ทั้งหมดก็คือสภาพธรรมที่หลากหลายจริง แต่ว่าเมื่อเกิดขึ้นก็เป็นแต่เพียงรูปธรรม ซึ่งไม่สามารถรู้อะไร ด้วยเหตุนี้ก็เข้าใจได้ว่า รูป แม้เป็นรูปขันธ์ก็หลากหลาย ตามธรรม หรือเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น มีใครสงสัยรูปขันธ์ไหม สัตว์มีรูป หรือไม่ งูมีรูปไหม นกมีรูปไหม รูปเป็นรูป หรือไม่ รูปงูกับรูปคนเป็นรูป หรือไม่ เป็นรูปขันธ์ หรือไม่ ก็คือธรรม นี่คือธรรมที่จะเข้าใจว่า รูปเป็นรูป จะเป็นอื่นไม่ได้ แต่เราจำไว้ และทำให้เราเรียกชื่อต่างๆ กันไป แต่ลักษณะของรูปก็ต้องเป็นรูปนั่นเอง

    เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ ขันธ์ ได้แก่ ปรมัตถธรรม ๓ รูปทุกประเภทเป็นรูปขันธ์ ไม่ว่ารูปไหน ที่ไหนก็ตาม พรหมมีรูปไหม รูปพรหมมีรูป เทวดามีรูปไหม สัตว์นรกมีรูปไหม รูปเหมือนกันหมด เป็นรูปเท่านั้น จะเป็นอื่นไม่ได้ ก็เป็นรูปขันธ์แม้ว่าจะหลากหลาย ยังสงสัยในรูปขันธ์ไหม เหตุใดแยกเป็น ๑ ขันธ์ เพราะรูปขันธ์ไม่ใช่นามขันธ์ สภาพธรรมทั้งหมดจะมีสักเท่าไรก็ตาม ประมวลแล้วต่างกันเป็น ๒ ลักษณะเท่านั้น คือ เป็นรูปธรรมกับนามธรรม และจำแนกไปอีกได้มากมาย ตามประเภทของธรรมนั้นๆ แต่ก็ไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป และไม่พ้นจากนามธรรม และรูปธรรม เพราะถ้าย่อปรมัตถธรรมก็เป็นนามธรรม และรูปธรรม ย่อขันธ์ก็เป็นรูปขันธ์กับนามขันธ์ หมดสงสัยแล้วใช่ไหม เหตุใด เป็นรูปขันธ์ ๑ ขันธ์

    ผู้ฟัง สงสัยว่า จิตรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง ขอให้อาจารย์อธิบายว่า จิตรู้เจตสิกที่ไม่ใช่สติปัฏฐานเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จิตสามารถรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง สิ่งที่ปรากฏทางตา จิตรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง รู้ได้

    ท่านอาจารย์ ความรู้สึกเสียใจ รู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง รู้ได้

    ท่านอาจารย์ จิตก็สามารถรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง แล้วแต่ว่าเป็นจิตประเภทไหน ไม่ใช่จิตทุกประเภทจะไปรู้ได้ทั้งหมด แล้วแต่ว่าเป็นจิตประเภทไหนด้วย ถ้าใครพูดผิด รู้ได้ไหม?ว่า ไม่ถูกต้อง นี่คือประโยชน์ของการฟัง และเข้าใจ ซึ่งเป็นปัญญา เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง จะพึ่งใคร

    ผู้ฟัง พึ่งธรรม

    ท่านอาจารย์ พึ่งพระธรรมที่ได้ฟังให้เกิดความเข้าใจ เพราะถ้าไม่มีพระธรรม ก็ไม่มีทางจะเข้าใจได้ ตอนนี้คงไม่ต้องไปถึงรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง แต่ว่าจริงๆ ก็รู้ได้ เพราะขณะนี้กำลังรู้

    ผู้ฟัง เรื่องขันธ์ ๕ ท่านอาจารย์ได้กรุณาอธิบายอย่างละเอียดเรื่องรูปขันธ์อย่างเดียว เหลืออีก ๔ ขันธ์ ไม่มีใครสงสัยเลย หรือ ถ้าสงสัยก็เชิญถาม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์อธิบายขันธ์ ๕ แต่จริงๆ เรารู้แต่ชื่อ แต่ไม่รู้เวทนา สัญญา วิญญาณ ยังไม่กระจ่างชัด

    ท่านอาจารย์ พื้นฐาน คือ นามธรรม และรูปธรรม ขาดไม่ได้เลย ปรมัตถธรรม ๔ อะไรเป็นรูปขันธ์ อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ย้อนไปเพื่อจะได้คิดไตร่ตรองว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ทิ้งไปบ้าง หรือไม่ หรือยังอยู่ สภาพธรรม คือ สิ่งที่มีจริง มีลักษณะ ๒ อย่างที่ต่างกัน คือ รูป ไม่ใช่สภาพรู้ นามธรรมเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรม มี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน อะไร?เป็นสภาพรู้ อะไร?ไม่ใช่สภาพรู้

    ผู้ฟัง จิตเป็นสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นสภาพรู้อีก

    ผู้ฟัง เจตสิกเป็นสภาพรู้ รู้พร้อมกับจิต รูปเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร

    ท่านอาจารย์ รูปจะเป็นจิตได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ รูปจะเป็นเจตสิกได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เจตสิกจะไปเป็นรูปได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เจตสิกจะไปเป็นจิตได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เจตสิกจะไปเป็นจิตไม่ได้เลย ปรมัตถธรรม ๔ แยกกัน จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก รูปเป็นรูป นิพพานเป็นจิต เจตสิก รูป หรือไม่ ไม่ใช่ นิพพานเป็นขันธ์ หรือไม่ ไม่ใช่ขันธ์ ใช้คำว่า ขันธวิมุติ ไม่ต้องจำก็ได้ หรือจะไปเขียนมีสระอิ ไม่มีสระอิ อย่างไร อยากจะรู้อย่างไรก็ไปดูเอา หรือถามผู้รู้ แต่เข้าใจให้ถูกต้อง แล้วความที่เราสามารถเขียนได้ อ่านได้ รู้ได้ นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องรู้จริงๆ ว่า เมื่อนิพพานไม่ใช่จิต เจตสิก รูป จึงพ้นจากความเป็นขันธ์ เป็นขันธวิมุติ วิมุติ หมายความว่า พ้นจากขันธ์ ไม่ใช่ขันธ์ รู้รูปขันธ์แล้ว ๑ ขันธ์ มีอะไรที่ไม่รู้อีก ขันธ์ มี ๕ เข้าใจเรื่อง รูปขันธ์แล้ว ยังมีขันธ์อะไรอีก

    ผู้ฟัง มีเวทนาขันธ์

    ท่านอาจารย์ มีนามขันธ์อีกเท่าไร นี่คือค่อยๆ ไป เพราะว่าสภาพธรรมต่างกันเป็นนามธรรมกับรูปธรรม เมื่อเข้าใจรูปขันธ์แล้ว กล่าวถึงรูปขันธ์แล้ว ยังไม่ได้กล่าวถึงนามขันธ์ มีเท่าไร

    ผู้ฟัง มี ๔

    ท่านอาจารย์ มี ๔ นี่ก็คือว่า ถ้ากล่าวถึงขันธ์ ๕ จะพ้นจากจิต เจตสิก รูปได้ไหม ไม่ได้เลย แต่ทรงแสดงธรรมโดยนัยต่างๆ ก็คือสภาพธรรมที่ไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูปนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าใจจริงๆ ก็คือเข้าใจธรรม และจะได้ยินได้ฟังอะไรก็ตาม เป็นธรรมประเภทไหน เป็นจิต หรือ เป็นเจตสิก หรือเป็นรูปก่อน เมื่อเข้าใจอย่างนี้ก็สามารถเข้าใจไปถึงขันธ์ได้ว่า ถ้ากล่าวถึงรูป ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ก็คือรูปขันธ์ จะไปเป็นนามขันธ์ไม่ได้ และสำหรับนามขันธ์ มีเท่าไร มี ๔ จำแนกเป็น จิต ๑ ขันธ์ เจตสิก ๓ ขันธ์ ตามการยึดถือ

    ขณะนี้ใครไม่ยึดถือรูป ไม่ชอบรูปบ้าง ไม่อยากได้รูปเลย วันนี้มีไหม ตื่นขึ้นมาก็รูปแล้ว ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ต้องการรูป ไปที่ห้างสรรพสินค้า ซื้ออะไร ซื้อรูป ทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้น การติดข้องในรูป จะไม่มีได้ไหม อยู่ดีๆ ก็ให้ไม่ติดข้องในรูป เป็นไปได้ไหม ไม่ได้เลย ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ต้องเป็นปัญญาถึงระดับขั้นของพระอนาคามีบุคคล อีกขั้นเดียวจะถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงสามารถจะละการติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงแม้ในขั้นต้นว่า รูปมีจริง เกิดแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย อยากได้อะไร สิ่งที่เพียงปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่กลับมาอีกเลย มีเมื่อปรากฏ เพราะว่าความจริงสิ่งที่ไม่ปรากฏ เกิดแล้วดับแล้ว เพราะว่าไม่มีสภาพธรรมใดที่เกิดแล้วไม่ดับ แม้แต่สิ่งที่เราคิดว่าไม่ดับเลย พระอาทิตย์ พระจันทร์ โลก โต๊ะ เก้าอี้ คน แต่สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิด สภาพธรรมนั้นดับอย่างเร็วด้วย เพราะว่ารูปจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะว่าจิตเจตสิกเกิดดับเร็วกว่ารูป ด้วยเหตุนี้รูปที่เราคิดว่าไม่ได้ดับเลย มีอายุเพียงเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะเท่านั้น แล้วอยากได้อะไร ยังอยากได้อยู่ใช่ไหม เพราะไม่ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป ปัญญายังไม่ถึงระดับที่จะละความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ แล้วเราอยากได้รูป ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว กี่ชาติมาแล้วด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้น กว่าจะดับได้หมด ไม่ใช่เพียงแค่ฟัง หรือแค่คิด ก็จะดับได้

    ผู้ฟัง รูปถึงแม้จะดับ แต่ว่าการดับนั้นไม่ใช่ดับแล้วหายไปเลย ไม่ใช่อย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ปัญญาประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป หรือความไม่รู้สามารถเห็นการเกิดดับของรูปได้

    ผู้ฟัง อย่างเช่นกล่องใส่ไมโครโฟน เห็นตั้งอยู่หลายๆ สัปดาห์แล้ว ก็ยังมีอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นอัตตานุทิฏฐิ เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะไม่รู้การเกิดขึ้น และดับไป

    ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่ดับแบบหายไป

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรไม่หายไป

    ผู้ฟัง เพราะรูปนี้เกิดจากอุตุ

    ท่านอาจารย์ เกิดต่ออีกจนกระทั่งไม่รู้เลยว่า รูปเก่าหมดไปแล้ว ความไม่รู้แค่ไหน รูปที่ดับแล้วไม่ได้กลับมาอีกเลยสักรูปเดียว นามธรรม จิต เจตสิกที่เกิดแล้วดับไป ไม่ได้กลับมาอีกเลย แต่มีปัจจัยให้สภาพธรรมนั้นเกิดต่อได้ จึงปรากฏเหมือนไม่ดับ ใครเห็นว่าจิตเกิดดับบ้างไหม?ขณะนี้ ทั้งๆ ที่จิตเกิดดับ ก็ไม่เห็น เพราะฉะนั้น รูปก็เช่นเดียวกัน

    ผู้ฟัง คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเข้าใจอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ก็เริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจให้มั่นคงขึ้น ปัญญา คือ ความเห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ถ้าปัญญาไม่เกิดเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ปัญญาจะไปเข้าใจอะไรที่ไม่ปรากฏ แล้วไม่เข้าใจสิ่งที่ปรากฏ นั่นก็ไม่ใช่ปัญญา

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏ ก็ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก็รู้ได้ว่า ยังไม่ใช่ปัญญาที่สามารถเห็นถูกต้องตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ คิดถึงคำว่า “ตรัสรู้” คือ รู้ความจริง สัจธรรม

    ผู้ฟัง ผมกำลังศึกษาธรรม แต่พอไปพลิกหนังสือดูว่า เราเคยผ่านถ้อยคำนี้มา ท่านอาจารย์จะช่วยเพิ่มเติมได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นธรรม ศึกษาเพื่อให้รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เคยเข้าใจว่าเที่ยง

    ผู้ฟัง จากเนื้อหาว่า การศึกษาเรื่องราว และชื่อของธรรมไม่ใช่เป็นการศึกษา ท่านอาจารย์หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะมาที่นี่ มีใครรู้จักคุณสุรีย์บ้างไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ อาจจะเคยได้ยินชื่อ ไม่รู้จักหน้าตา เรากำลังพูดเรื่องจิต และเจตสิก ตัวจิตจริงๆ กำลังเกิดดับ แต่กำลังฟังเรื่องจิตที่เกิดดับ โดยที่ไม่รู้ลักษณะของจิต เจตสิก รูปซึ่งเกิดดับ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นผู้ที่ศึกษาก็จะต้องรู้ตัวเองว่า นี่เป็นการศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรมเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังได้ยินได้ฟัง ตราบนั้นก็ยังไม่รู้จักตัวธรรม เพียงแต่กำลังรู้เรื่องของธรรมเท่านั้น

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นลักษณะที่อยากนั้นปรากฏจึงรู้ได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567