พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 276


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๗๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    อ.อรรณพ สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ทางปัญจทวารสัญญาเกิดจำสีทางตา หรือจำเสียงทางหู แต่ที่เห็นเป็นสัตว์บุคคล ทางมโนทวาร สัญญาก็จำปรมัตถ์ทางปัญจทวารด้วย แต่ทำไมดูเหมือนว่าจะมีความจำที่เป็นสัตว์ บุคคลมากกว่า

    ท่านอาจารย์ จำมานานแล้ว จำว่าเป็นสัตว์ บุคคล จำมากี่ภพกี่ชาติแล้ว

    อ.อรรณพ แต่สัญญาที่จำสี จำเสียง ทางปัญจทวาร ก็มีทุกภพทุกชาติ

    ท่านอาจารย์ จำว่าเป็นอย่างไร

    อ.อรรณพ ตอนปัญจทวารก็ยังไม่เป็นคน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจำว่าเป็นอย่างไร ไม่ได้จำลักษณะจริงๆ ของรูปารมณ์เลย บางคนกล่าวด้วยซ้ำว่ารูปารมณ์ไม่เคยปรากฏ จริงๆ แล้วรูปารมณ์ต่างหากที่กำลังปรากฏ แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีสภาพธรรมนั้น มีแต่ไม่รู้

    อ.อรรณพ การศึกษาพื้นฐานพระอภิธรรมที่ทำให้เราเข้าใจในขั้นเรื่องราว ในเรื่องของขณะนี้เราสนทนาเรื่องจิต กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิตด้วย แต่จริงๆ ในขณะนี้เราก็ไม่ได้ประจักษ์ว่าขณะนี้เป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา หรือเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ทั้งๆ ที่จิตก็ต้องมี ๔ ชาติ คือ อกุศลชาติ กุศลชาติ วิบากชาติ กิริยาชาติ แต่เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ในทันทีว่า ขณะนี้เป็นจิตชาติใด แล้วความรู้ที่เราศึกษาอยู่จะมีประโยชน์อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็คือจากการไม่เคยรู้เลยว่า ไม่มีเรา แต่ว่ามีสภาพธรรม ก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจได้ เพราะเหตุว่าการที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ยากมาก ถ้าไม่มีการเข้าใจจริงๆ ทีละเล็กทีละน้อย ก็ไม่สามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเพื่อให้มีการเข้าใจถูก มีความเห็นถูก ก็ต้องพิจารณาตั้งแต่ต้น ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ถูก หรือผิด ถ้าเราไม่มีการพิจารณาเลยว่า แท้จริงเรามีความไม่รู้ มีความไม่เข้าใจ มีการหลงผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ มาจากความไม่รู้ ถ้าเป็นผู้เห็นประโยชน์ของการที่จะรู้ว่า เราเกิดมาแล้วก็ไม่รู้ไปตลอดชีวิต ทั้งๆ ที่ทุกคนก็รู้ว่า เกิดแล้วต้องตาย และจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะนำสิ่งซึ่งเป็นที่รักที่ยึดถือนั้นติดตามไปได้เลย แม้แต่ตัวเองก็ไม่สามารถที่จะติดตามไปถึงโลกอื่นได้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ว่า ทุกภพทุกชาติเป็นอย่างนี้ เมื่อไรจะจบสิ้น ถ้ายังคงมีความพอใจอยู่ที่จะเป็นอย่างนี้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ว่าในชาติที่เกิดมาเรามีความทุกข์บ้างไหม แล้วความทุกข์มาก หรือน้อย บางคนก็อาจจะมีความทุกข์น้อยมาก จนรู้สึกว่าไม่กระทบต่อการที่จะอยู่ในโลกนี้ หรือในสังสารวัฏฏ์อีกต่อไป เหมือนกับว่าอยู่ไปก็ดี ก็ไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไร มีทุกข์บ้างเล็กๆ น้อย ก็ธรรมดา ก็อาจจะเข้าใจอย่างนี้ แต่การที่จะจากโลกนี้ไปสู่ที่ไหน มีใครสามารถที่จะรู้ได้ หรือบางคนที่ไม่สนใจธรรม ก็อาจจะคิดอีกว่า ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ไปที่ไหนก็ได้ แต่จริงๆ แล้วที่ว่า ไปที่ไหนก็ได้ เพราะยังไม่รู้ว่า ที่จริงไปที่ไหนก็ได้ ไปนรกก็ได้ และที่นรกนั้น ก็แสนที่จะทรมาน ความเจ็บปวด ทุกข์ทางกายของชาตินี้ ไม่ว่าจะร้ายแรงสักแค่ไหนก็เทียบไม่ได้กับในนรก เพราะเหตุว่าแม้จะมีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ซึ่งขณะนั้นไม่มีทุกขเวทนาเกิด ขณะที่กำลังเห็นจะมีทุกขเวทนาเกิดไม่ได้ เพราะสิ่งที่กระทบจักขุปสาทปรากฏเพียงให้เห็น แล้วหมดไปเท่านั้นเอง จะก่อให้เกิดทุกข์ไม่ได้เลย เพราะทุกข์ทางกายจะเกิดก็ต่อเมื่อมีกายปสาทซึ่งเมื่อเกิดในภูมิไหนก็ตามที่ยังมีขันธ์ ๕ อยู่ ก็จะมีกายปสาท

    เพราะฉะนั้นเราจากนรกมาแล้ว โดยลืมแล้วว่าจริงๆ แล้ว ทุกข์ทรมานขนาดนั้นแค่ไหน แต่จากการที่ได้ยินได้ฟังแล้วจะไปอีก แล้วเมื่อไปถึงที่นั่นจะมีการได้เข้าใจธรรมไหม ก็ยาก เพราะเหตุว่ามีเวลา หรือมีศรัทธาที่จะได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่โอกาส ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้เหมือนอย่างเป็นมนุษย์ เพราะแม้เป็นมนุษย์แล้วแต่ยังไม่ฟังก็มากมาย ศรัทธาที่ฟังก็ยังน้อยมาก เพราะฉะนั้นสะสมการที่จะมีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ถ้ายังติดข้องในการเกิดในมนุษย์ ในสวรรค์ ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่ายังไปสู่การไม่เกิดไม่ได้ ก็ต้องเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยไป ความรู้เรื่องอื่นก็ยังมีประโยชน์ แล้วทำไมการรู้ความจริงในชีวิต ซึ่งเราไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ว่าวันไหนจะมีสภาพธรรมใดปรากฏ ก็เป็นสิ่งซึ่งพร้อมที่จะรับด้วยความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ขณะนั้นทุกข์ก็จะน้อยลง เพราะว่าทุกข์กายก็มาก ทุกข์ใจยิ่งมากกว่าทุกข์กาย ถ้าขณะใดที่มีทุกข์ใจเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า แม้แต่กายจะไม่เป็นทุกข์เลย แต่ใจยังเป็นทุกข์เสียยิ่งกว่านั้นอีก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งซึ่งเราพร้อมที่จะรู้ ที่จะรับความจริง โดยการศึกษาให้เข้าใจ ดีกว่าการที่เราไม่รู้อะไร แล้วเวลาที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น ก็เป็นทุกข์มาก

    ผู้ฟัง เสียงกับได้ยิน ขอให้ท่านอาจารย์โปรดเกื้อกูลด้วย

    ท่านอาจารย์ ตัวเสียงเกิดขึ้นได้อย่างไร

    ผู้ฟัง มีหู แล้วก็มีเสียง

    ท่านอาจารย์ ตัวเสียง ถ้าไม่มีการกระทบกันของสิ่งที่แข็ง จะเกิดเสียงได้ไหม ไม่ได้เลย แต่ว่าเสียงก็มีสมุฏฐาน เสียงที่เกิดจากจิตก็มี เสียงที่เกิดจากอุตุก็มี แต่ต้องมีสิ่งที่แข็ง มีธาตุดินที่กระทบกันทำให้เกิดเสียงตามสมควร นั่นคือเสียง แต่เสียงไม่ใช่สภาพที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ถูกต้องไหม แต่เวลาที่เสียงปรากฏ ทำไมเสียงปรากฏ ถ้าไม่มีสภาพที่กำลังได้ยินเสียง สิ่งนี้มีอยู่กับเราตลอดเวลาเลย ขณะนี้ก็ได้ยิน แต่เราไม่เคยรู้ลึกซึ้งถึงความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เลย ได้ยินก็ได้ยินไป แต่ถ้ามีการได้ฟังธรรม เริ่มที่จะเข้าใจความต่างของขณะที่เสียงปรากฏ กับแม้มีเสียงเกิดขึ้นเพราะการกระทบกัน แต่ก็ไม่ปรากฏเพราะอะไร ขณะนี้ที่ไหนก็ตามที่มีของแข็ง ๒ อย่างกระทบกัน รถชนกัน เสียงระฆัง เสียงอะไรก็แล้วแต่ เสียงมี แต่ไม่ได้ปรากฏเพราะอะไร เพราะไม่มีสภาพที่กำลังได้ยินเสียงนั้น เพราะฉะนั้นจริงๆ ในขณะที่เสียงปรากฏในขณะนี้ มีธาตุที่กำลังได้ยินเสียง แต่เราไม่เคยรู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เมื่อเกิดแล้วต้องได้ยิน เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย ขณะที่เสียงปรากฏ ต้องมีสภาพธรรมที่กำลังได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นจึงปรากฏได้

    นี่เป็นเหตุที่เราฟังธรรม เพื่อที่จะเข้าใจจริงๆ ว่า สิ่งที่มีอยู่ในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นเราจริงๆ หรือไม่ หรือเป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป แต่ละภพแต่ละชาติ ถ้าไม่ได้เข้าใจอย่างนี้ ก็จะมีอวิชชา ความไม่รู้ แล้วก็มีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราไปเรื่อยๆ เพราะว่าไม่มีความรู้เลย แม้แต่ในขณะที่ได้ยิน ก็เข้าใจว่าเป็นเราได้ยิน แต่ความจริงได้ยินเป็นสภาพธรรมที่เกิดได้ยินเสียงแล้วก็ดับไป ดับไปแล้วจะเป็นเราไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่เราไม่รู้ คือไม่รู้สภาพ หรือธาตุรู้ซึ่งมีจริงๆ ซึ่งเป็นนามธาตุ ดังนั้น ก่อนอื่นให้ฟังให้เข้าใจว่า มีนามธาตุ หรือมีธาตุซึ่งไม่ใช่รูปธาตุ รูปธาตุเป็นสิ่งที่ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย แต่รูปธาตุทั้งหลายไม่สามารถที่จะปรากฏได้เลย ถ้าไม่มีธาตุซึ่งเป็นสภาพรู้รูปนั้นๆ

    ขณะนี้เรากำลังฟังเรื่องสภาพธรรมที่มีลักษณะต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น แต่สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งไม่มีรูปร่างใดๆ ไม่มีสี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น แต่เกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ทางตาขณะนี้ กำลังเห็น มีธาตุที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ ความเป็นเราจะหมดไปได้ต่อเมื่อมีการประจักษ์ความจริงว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ขณะนี้เพียงเริ่มฟัง และให้พิจารณาก่อนในขั้นการฟัง เป็นความจริง หรือไม่ว่าขณะนี้มีธาตุชนิดหนึ่งแน่นอนซึ่งกำลังเห็น ที่เห็นเดี๋ยวนี้ให้เข้าใจว่ามีจริงๆ และเป็นสภาพธรรมซึ่งเราไม่คุ้นเคยเลย แม้แต่ได้ยินชื่อว่านามธาตุ ก็ยังไม่คุ้น ธาตุ หมายความถึงสิ่งที่มีจริง มีรูปร่าง หรือไม่มีรูปร่าง มองเห็น หรือมองไม่เห็น สิ่งนั้นมีลักษณะเฉพาะของตนๆ แต่ละลักษณะเป็นธาตุแต่ละชนิด เช่น โกรธ ไม่มีรูปร่างเลย ความติดข้อง ความสนุกสนาน เพลิดเพลินก็ไม่มีรูปร่างปรากฏให้เห็นว่าเป็นสีอะไร แต่ลักษณะของความสนุก ความพอใจ ความติดข้องมี ลักษณะของความขุ่นเคืองใจมี เพราะฉะนั้นก็เป็นธาตุแต่ละลักษณะ เป็นนามธาตุ เพราะเหตุว่าไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนเลย และนอกจากนั้นยังมีธาตุเห็น ธาตุได้ยิน ธาตุได้กลิ่น คือ ทุกอย่างเป็นธาตุหมดแต่ละธาตุ แค่ฟังยังต้องไตร่ตรองให้รู้ว่า เป็นสภาพธรรมที่เป็นจริงอย่างนั้น

    ผู้ฟัง แม้แต่คำว่า “ได้ยิน” เฉยๆ ก็ยังเข้าใจไม่ได้ เพราะว่าได้ยินเมื่อไร ก็เป็นเสียงไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีได้ยิน เสียงจะปรากฏได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นมีธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเราไม่คุ้นเคยเลย สภาพนามธรรมแม้มีอยู่ก็ไม่คุ้นเคย แต่คุ้นเคยกับสิ่งที่ปรากฏทางตา คุ้นเคยกับการทรงจำ การนึกคิดว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นคนนั้นคนนี้ แต่ทั้งหมดก็คือธาตุคิด ธาตุจำ สิ่งที่จำขณะนั้นก็มีจริง ไม่มีรูปร่างด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งจำ ทั้งหมดเป็นนามธรรมกับรูปธรรมเท่านั้น ฟังแล้วก็ลองไตร่ตรองดูว่านอกจากนี้มีอะไรอีก หรือไม่

    ผู้ฟัง มีแต่ความลังเลสงสัยว่า สิ่งนั้นคืออะไร การได้ยินเป็นอย่างไร คิดเท่าไรก็คิดไม่ออก ก็เลยต้องถามซ้ำๆ แบบนี้

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นความจริง เพราะเหตุว่า ความไม่รู้ของเราทำให้เราไม่สามารถจะเข้าใจสิ่งที่มีจริงนั้นได้ทันที เพราะว่าเราไม่รู้มานานมาก ได้ยินก็ผ่านไป หมดไป ก็ไม่รู้ว่า ได้ยินคืออะไร สภาพที่ได้ยินมีแน่นอน เมื่อไม่รู้ แต่มีได้ยิน เพราะฉะนั้นจึงยึดถือได้ยินว่าเป็นเรา ถูกต้องไหม ไม่ใช่ใครได้ยิน แต่เราได้ยิน ซึ่งความจริงก็คือว่า มีการได้ยิน โดยที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ได้ยิน จึงเข้าใจผิดยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นเราได้ยิน และก็เป็นเราไปหมดตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งความจริงก็เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เมื่อวานนี้ได้ยิน หรือไม่ ได้ยินเมื่อวานนี้ยังมีอยู่ไหม เมื่อสักครู่ได้ยิน หรือไม่?ได้ยินเมื่อสักครู่ ยังอยู่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่อยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ก็ผ่านไปทุกๆ ขณะ ก็เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ลักษณะเห็น เราเห็นสิ่งที่เราไม่พอใจ พอเห็นเราก็หลับตาแล้วก็อดทนต่อสภาพที่เราไม่พอใจ แต่จริงๆ แล้วก็เป็นลักษณะของความเป็นตัวตน แต่อย่างนั้นก็ตามก็ยังระลึกไม่ได้ว่า การเห็นนั้นคือวิบาก

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกแล้วว่ายังเห็นไม่ได้ จากเห็นไม่ได้ จะให้ไปเห็นได้ เป็นไปไม่ได้เลยใช่ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าเราเข้าใจได้แต่เพียงว่า ลักษณะที่ปรากฏแล้วเรารู้ คือ ความไม่พอใจ หรือความพอใจ เราก็จะทราบแต่ละลักษณะนั้นในทุกๆ วัน และตลอดไป โดยที่เราก็ยังไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นฟังเพื่อเข้าใจขึ้น โดยมากฟังแล้วไม่อยากให้มีสิ่งที่เราไม่ชอบ ฟังเรื่องกิเลส พอฟังเสร็จอยากให้ไม่มีกิเลส ฟังเรื่องสภาพธรรมอยากประจักษ์ ลักษณะของธรรม นี่คือความเข้าใจ หรือเปล่า ฟังเพื่อเข้าใจถูกว่า เมื่อไม่เข้าใจ จะเปลี่ยนลักษณะที่ไม่เข้าใจให้เป็นเข้าใจไม่ได้ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เวลาที่เข้าใจจะเปลี่ยนลักษณะเข้าใจให้เป็นไม่เข้าใจก็ไม่ได้ ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นการฟัง ไม่ใช่ให้ฟังแล้วเกิดอยากไม่มีกิเลส แล้วทำอย่างไรจะไม่มีกิเลส นั่นไม่ใช่ประโยชน์ของการฟัง ฟังเพื่อให้เข้าใจความจริง ความเข้าใจมีระดับไหน ก็เป็นความเข้าใจระดับนั้น ซึ่งถ้าฟังแล้วก็เข้าใจเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้สามารถรู้ว่าปัญญาที่เพิ่มขึ้นนั้นเพราะการฟังเพิ่มอีก เข้าใจเพิ่มอีก แต่ว่าฟังแล้วอยากให้ประจักษ์เป็นไปไม่ได้ แล้วฟังแล้วบอกว่ายังไม่ประจักษ์ก็ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แต่จะเข้าใจถึงลักษณะของจิตชาติกุศล อกุศล จิตชาติวิบาก จะเข้าใจได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็น มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เลือกได้ไหม ทำไมเห็นไม่เหมือนกัน ทำไมวันนี้เห็นอย่างนี้ เมื่อวานนี้เห็นอย่างอื่น ต่อไปก็เป็นอีกอย่างหนึ่งแล้ว เพราะอะไร มีเหตุมีปัจจัย หรือไม่ที่จะให้การเห็นแต่ละครั้งเกิดขึ้นต่างๆ กันไป โดยที่เลือกไม่ได้ คนที่ตาบอดแล้วอยากเห็น คนที่ตาดีแล้วก็อยากเห็นแต่สิ่งที่ดี ก็ไม่ได้ นี่คือความหมายของวิบาก ซึ่งมีกรรมในอดีตที่ได้ทำแล้วเป็นปัจจัย เป็นหน้าที่ของกรรมทั้งหมด ถ้าเป็นเรื่องของวิบาก ใครก็จะทำอะไรไม่ได้ แม้แต่จักขุปสาท โสตปสาทก็ไม่มีใครสามารถที่จะทำได้เลย ถ้ากรรมทำให้ขณะนี้จักขุปสาทเกิด ก็คือเกิดแล้ว ถ้ากรรมทำให้จักขุปสาทไม่เกิดอีกต่อไป ใครก็จะไปทำให้จักขุปสาทเกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ที่มีทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ให้ทราบว่าเพราะกรรมเป็นปัจจัย และสำหรับรูปก็มีทั้งกรรมเป็นปัจจัยบ้าง มีจิตเป็นสมุฏฐานบ้าง มีอุตุเป็นสมุฏฐานบ้าง มีอาหารเป็นสมุฏฐานบ้าง และสำหรับจิตที่หลากหลายเป็นแต่ละประเภท ก็เพราะความต่างกันของปัจจัยที่ทำให้จิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น ไม่มีใครไปมีอำนาจอะไรเลย อยู่ที่ไหนไม่พ้นกรรม กรรมสามารถที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่คาดฝัน คิดไม่ถึงเกิดขึ้นเป็นไป ยับยั้งไม่ได้เลย แต่ให้รู้ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะนั้นเป็นผลของกรรม ซึ่งไม่รู้ด้วยว่า แต่ละสมัยไหน กาลไหนที่ได้กระทำไว้

    ผู้ฟัง ฟังจิตปรมัตถ์แล้วสะดุดตรงที่กล่าวว่าจิตไม่ได้สั่ง คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ จิตจะกลายเป็นสภาพไม่รู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วจิตจะเป็นเจตสิกได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดก็ตาม เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ก็คือจิตรู้แจ้งในอารมณ์นั้นๆ

    ท่านอาจารย์ ตัวจิตแท้ๆ จิตอย่างเดียว ไม่กล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะว่าทุกครั้งที่จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยแน่นอน แล้วเจตสิกแต่ละเจตสิกก็มีลักษณะของเจตสิกนั้นๆ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของจิต เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงลักษณะของจิตโดยเฉพาะ ล้วนๆ ไม่ปนกับเจตสิกเลย จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จิตเป็นสภาพโกรธ หรือไม่ โกรธเป็นจิตไหม

    ผู้ฟัง โกรธเป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจิตประเภทไหนทั้งสิ้น ถ้ากล่าวถึงสภาวะของจิตล้วนๆ จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง รู้แจ้งในลักษณะอาการ

    ท่านอาจารย์ ในสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ และเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้ง เพราะฉะนั้นในขณะนี้แม้ว่าเราจะยังไม่ประจักษ์ลักษณะของจิต แต่จิตมี ขณะนี้ที่มีเห็น ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ปรากฏอย่างไร ก็คือจิตเห็นแจ้งในลักษณะนั้นตามที่ปรากฏ เราอาจจะเห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่ต่างกัน แต่ละอย่างถ้าจิตไม่เห็นลักษณะนั้นเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งเฉพาะลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า สิ่งที่ปรากฏแตกต่างกันอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็คือเห็นในสิ่งที่ดี หรือไม่ดีก็ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ นั่นลักษณะของสภาพธรรมอื่นอีก ด้วยเหตุนี้เจตสิกจึงไม่ใช่จิต และจิตก็ไม่ใช่เจตสิก ถ้ากล่าวเฉพาะจิต แม้ว่าจิตจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง และต้องมีเจตสิกหลายประเภทเกิดร่วมกับจิต แต่ละ ๑ ประเภทของเจตสิกก็มีหน้าที่ มีลักษณะของเจตสิกนั้นๆ ไม่ปะปนกับจิตฉันใด เฉพาะจิต ไม่ว่าจะเกิดเมื่อไร กล่าวเฉพาะจิต เป็นสภาพนามธรรมที่เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ และเป็นใหญ่เป็นประธานในอะไร ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏคืออารมณ์ เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีอารมณ์ คือ สิ่งที่จิตกำลังรู้ด้วย จิตไม่ได้ไปจำ จิตไม่ได้ไปโกรธ ลักษณะจริงๆ ของจิตคือเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้ง ทำหน้าที่นี้ตลอด คือรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏนี่เป็นลักษณะของจิต ถ้าจะประจักษ์ลักษณะของจิต ก็คือธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่ปรากฏ

    ในขณะนี้พอจะบอกได้ ใช่ไหม เห็นเป็นจิต ทำไมไม่พูดถึงเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตเห็น เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏ ปรากฏกับจิตซึ่งกำลังรู้แจ้งลักษณะของลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ลักษณะของเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมจิตในขณะนั้นไม่ได้ปรากฏ ไม่ใช่สภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ ปรากฏกับจิตที่กำลังรู้แจ้งในลักษณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าเสียง กลิ่น รส อารมณ์ใดๆ ก็ตาม จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์นั้น

    ผู้ฟัง จิตรู้แจ้งเสียง ก็คือในลักษณะของเสียงต่างๆ

    ท่านอาจารย์ ที่เรากล่าวว่า เสียงต่ำ เสียงสูง เพราะจิตรู้แจ้งในลักษณะเสียงนั้นๆ นั่นเป็นหน้าที่ของจิต เป็นลักษณะของจิต จึงแยกจิต และเจตสิก

    ผู้ฟัง โลภะต้องการทุกอย่าง แต่ยังไม่เคยได้ยินว่า แม้ผัสสะก็เป็นสิ่งที่โลภะต้องการ และเป็นอารมณ์ด้วย ตรงนี้เป็นสิ่งที่ละเอียดจริงๆ

    อ.อรรณพ ที่จริงแล้วไม่ใช่ปัญญาจะรู้ความเป็นจิต เป็นชาติอกุศล กุศล วิบาก กิริยา หรือว่ารู้เจตสิกชนิดโน้นชนิดนี้ได้ทันที


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567