พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 280


    ตอนที่ ๒๘๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ สังขารขันธ์ หมายความถึงเจตสิกอีก ๕๐ ประเภท ที่ไม่ใช่เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เราฟังแล้วก็ลืมว่าเป็นขันธ์ ขณะนี้ไม่มีเราเลย เป็นเจตสิกทั้งนั้น เจตนาเจตสิกที่เกิดขณะที่จิตเกิดก็เป็นสภาพของสังขารขันธ์ ความรู้สึกก็เป็นเวทนาขันธ์ ความคิดต่างๆ เข้าใจมากน้อยต่างๆ เห็นถูกเห็นผิดต่างๆ เป็นสังขารขันธ์ ปรุงแต่งโดยธรรมนั้นๆ ใครจะไปก้าวก่ายอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ถ้าบอกว่า “ให้เพียร” แต่ไม่ได้ให้เข้าใจว่า เพียรไม่ใช่เรา อย่างไหนที่เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความเป็นตัวตนก็ไม่ใช่คำสอน แต่ต้องรู้ว่าเป็นธรรม แล้วก็ละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นธรรมต้องฟัง และเข้าใจโดยละเอียด ถ้าศึกษาพระสูตร โดยที่ไม่ศึกษาพระอภิธรรม ก็เหมือนกับให้เพียร แต่ความจริงใครก็ให้เพียรไม่ได้ แต่ให้เข้าใจถูกต้องว่า ขณะนั้นเพียรเกิดกับจิตอะไรบ้าง จิตอะไรที่ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีตัวเราที่จะไปสร้าง หรือไปทำธรรมอะไรสักอย่างหนึ่งก็ไม่ได้ให้เกิดขึ้น เพราะเหตุว่าขณะนั้นธรรมเกิดแล้ว มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว สังขารขันธ์เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง เวทนาขันธ์เป็นสภาพความรู้สึก สัญญาขันธ์เป็นสภาพจำ จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดในขณะนั้น ก็เป็นธรรมทั้งหมด ให้เข้าใจเพื่อที่จะไม่มีเราไปทำอะไร แต่ให้เข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนี้ทุกอย่างเกิดแล้วจึงปรากฏ โดยไม่มีใครที่เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ไปทำได้ แต่ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยของสภาพธรรมนั้นๆ

    ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจที่กล่าวว่า “ไม่ก้าวก่ายในอกุศลของผู้อื่น”

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ธรรมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยในชีวิตประจำวัน แล้วเราไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรม แต่เมื่อฟังธรรมแล้ว เกิดสงสัยว่า แล้วนี่เป็นอย่างไร แล้วนั่นเป็นอย่างไร คำว่า “ก้าวก่าย” มีไหมในชีวิตประจำวัน หรือไม่มีเลยในชีวิต มีไหม มี.. เป็นธรรม หรือไม่ เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม

    นี่คือพื้นฐานที่เราจะต้องเข้าใจจริงๆ ทุกคำที่ใช้ หรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราใช้อยู่ เราเข้าใจอยู่ แต่เวลาศึกษาธรรม ไม่ใช่ทำให้เราสับสนยิ่งขึ้น แต่จะทำให้เข้าใจถูกว่า ลักษณะนั้นจริงๆ ไม่ใช่ตัวตน แล้วเป็นอะไร เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันมีการก้าวก่าย รูปคงก้าวก่ายไม่ได้ ต้องเป็นนามธรรม คือ จิต และเจตสิ ขณะนั้นที่ใช้คำว่า “ก้าวก่าย” ทำอะไร มีการทำอะไรที่เป็นการก้าวก่าย ก็คือชีวิตประจำวัน และขณะนั้นก็เป็นนามธรรม และขณะนั้นก็คือสภาพธรรมที่เป็นอกุศล หรือเป็นกุศล ผู้นั้นจะรู้ด้วยตัวเอง แต่มีจริง ทั้งหมดที่มีจริงให้เข้าใจว่า เป็นอะไร นามธรรม หรือรูปธรรม แทนที่จะไปคิดเรื่องอื่น เพราะว่าธรรมจริงๆ ก็คือ จิต เจตสิก รูปเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ฟังแล้ว ไม่เข้าใจที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า โลภะเป็นเพียงธรรมลักษณะหนึ่ง ซึ่งต่างจากโทสะ คนอื่นมีโลภะ เทวดาก็มีโลภะ สัตว์ก็มีโลภะ เป็นธรรมลักษณะหนึ่งได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่เข้าใจว่า “โลภะ” คืออะไร ต้องรู้ก่อนว่าคืออะไร โลภะมี หรือไม่หรือมีแต่ชื่อ ต้องมีจริง แล้วลักษณะของโลภะเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง โลภะมีลักษณะติดข้อง

    ท่านอาจารย์ แล้วใครไม่มีโลภะ เทวดามีโลภะไหม ใครไม่มีโลภะ

    ผู้ฟัง พระอรหันต์

    ผู้ฟัง ความพอใจเป็นโลภะ ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ติดข้อง แล้วแต่ว่าเป็นกุศล หรืออกุศล เพราะว่าสภาพธรรมที่คล้ายกันมี ๒ อย่าง ฉันทะ ความพอใจที่จะทำกุศลไม่ใช่โลภะ แต่โลภะ ความติดข้อง พอใจ ยึดมั่น ต่างกับลักษณะของฉันทะ

    ผู้ฟัง พอใจเกิดขึ้นในจิตแล้วจะเป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง หรือ

    ท่านอาจารย์ ฉันทเจตสิกเกิดร่วมกับโลภเจตสิกได้ แต่ฉันทะไม่ใช่โลภะ คุณนนท์ชอบอะไรบ้าง บอกสักอย่าง

    ผู้ฟัง ความสบาย

    ท่านอาจารย์ สบายจากอะไร อยู่ดีๆ ก็สบายไม่ได้ใช่ไหม สบายจากอะไร

    ผู้ฟัง ความโล่งโปร่งสบายของร่างกาย ก็คือร่างกายไม่เจ็บปวด ไม่ทรมาน

    ท่านอาจารย์ อยากได้ยา หรืออย่างไร ที่ว่าต้องการความสบาย ต้องการอะไรทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ผู้ฟัง สบายตามร่างกายเอง ไม่ทราบจะตอบว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อยากรับประทานอาหารอร่อยไหม ไม่.. อยากได้รูปสวยๆ ไหม ไม่.. อยากได้ยินเสียงเพราะๆ ไหม ไม่.. ไม่อยากได้อะไรเลย สบายอยู่แล้ว หรือ หรืออย่างไร ก็ไม่ได้ต้องการอะไร แต่ติดข้องในความสบาย แต่จริงๆ แล้ว ขณะนั้นเราจะไม่เห็นความต่างของโลภะกับฉันทะ แต่เวลาที่เราชอบอย่างหนึ่งอย่างใด สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่นบางคนไปห้างสรรพสินค้าครั้งใด ก็ไปทางฝ่ายเครื่องเขียน ต้องการปากกา แต่กว่าจะได้สักด้ามหนึ่ง ดูแล้วดูอีก สีแล้วสีอีก อย่างนั้นอย่างนี้ นั่นคือความติดข้องจริง แต่ก็มีฉันทะที่มีความต้องการในสิ่งที่พอใจนั้นด้วย เพราะฉะนั้นลักษณะของฉันทะกับโลภะก็ต่างกัน

    ผู้ฟัง แสดงว่า ความพอใจเป็นต้นเหตุของโลภะด้วย หรือไม่

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลจะเกิดร่วมกัน ส่วนสภาพธรรมที่เป็นกุศลจะเกิดร่วมกับอกุศลไม่ได้ แต่ฉันทะเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายกลาง เกิดกับกุศลก็ได้ เกิดกับอกุศลก็ได้ ใครชอบบูชาพระด้วยดอกไม้อะไร เป็นกุศล แต่มีฉันทะไหม ดอกบัว หรือดอกมะลิ หรือดอกกุหลาบ

    ผู้ฟัง ไม่เคยเกิดขึ้นในใจว่า ต้องบูชาด้วยอะไร

    ท่านอาจารย์ ดูเป็นคนที่ไม่ติดข้องใช่ไหม หรือว่าติดข้องโดยไม่รู้

    ผู้ฟัง ก็น่าจะมีสิ่งที่ติดข้อง แต่นึกไม่ออก

    ท่านอาจารย์ วันนี้ใส่เสื้อสีเหลือง ต้องการจะใส่ หรือไม่ ทำไมไม่ใส่สีอื่น

    ผู้ฟัง ตอนที่จะใส่ ก็คิดว่า จะใส่สีอะไรดี

    ท่านอาจารย์ มีฉันทะ สีอะไรดี แต่มีความติดข้องแล้วที่จะใส่

    ผู้ฟัง ตอนนั้นต้องตัดสินใจ แต่ถามตัวเองว่าชอบสีเหลืองไหม ก็ไม่ได้ชอบสีอะไรเป็นพิเศษ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องถาม ธรรมเป็นสังขารขันธ์ เป็นสังขารธรรมปรุงแต่ง โดยที่ว่าไม่ต้องมีเราไปนั่งคิดว่า เราไม่ละอาย เราต้องเลือก ธรรมทำหน้าที่ของธรรมแต่ละเจตสิก ด้วยเหตุนี้ทั้งหมดจึงเป็นเจตสิกแต่ละประเภท

    ผู้ฟัง แล้วตอนตัดสินใจ

    ท่านอาจารย์ ตัดสินใจก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิก จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้ง ตัดสินใจด้วยฉันทะ หรือเปล่า ด้วยโทสะ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วเป็นเพราะอะไร มีแต่จิต โดยไม่มีเจตสิกไม่ได้

    ผู้ฟัง เป็นเพราะว่าคิดว่าเสื้อสีเหลืองเป็นสี ...

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละ จิต เจตสิกทั้งนั้น

    ผู้ฟัง นอกจากเรื่องเก่าๆ

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดมีสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งต้องรู้ว่า ธรรมใดเป็นรูป ธรรมใดเป็นนาม ไม่ใช่เราทั้งหมด

    ผู้ฟัง แต่วันอื่นก็ไม่ได้เลือกใส่สีเหลือง

    ท่านอาจารย์ วันไหนก็เหมือนกัน ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ใช่ว่าวันนี้ไม่มีจิต เจตสิก พรุ่งนี้มี ไม่ใช่อย่างนั้น ทุกขณะที่มีเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป

    ผู้ฟัง อย่างนี้ความพอใจก็ยังไม่ใช่เป็นโลภะ ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าพอใจทุกครั้งจะเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ โลภะเป็นความติดข้อง

    ผู้ฟัง ต้องติดข้องก่อน

    ท่านอาจารย์ ลักษณะที่ติดข้อง เป็นลักษณะของโลภะ ลักษณะของฉันทะ คือ ความพอใจที่จะกระทำ กุศลก็ได้ อกุศลก็ได้

    ผู้ฟัง ถ้าพอใจแล้วไม่ติดข้องก็มี ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่โลภะเกิด มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ละครั้งที่โลภะเกิด โลภะจะแจกออกไปตามฉันทะ

    ผู้ฟัง แล้วหากเป็นฉันทะที่ไม่มีโลภะเกิด มีไหม

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นฉันทะในกุศล คุณนนท์ชอบทำกุศลประเภทไหน ให้ทานเด็กกำพร้า อาหารโรงเรียน หรือฟังธรรม หรือช่วยเหลือคน หรืออะไร ขณะนั้นเป็นกุศลที่มีฉันทะเจตสิกเกิดร่วมด้วยตามการสะสม กุศลไม่ใช่อกุศล คนละขณะ ขณะใดเป็นกุศล ขณะนั้นไม่ใช่อกุศล

    ผู้ฟัง การที่เราชอบทำบุญประเภทนั้นตลอด จะเป็นโลภะ หรือว่าเป็นฉันทะ

    ท่านอาจารย์ กุศลเกิดแล้วไม่ดับไม่ได้ สภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับไป และตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่ ก็มีปัจจัยให้โลภะเกิดต่อได้ทันทีด้วย

    ผู้ฟัง และโลภะจะดับได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเกิดดับ ไม่มีสภาพธรรมใดซึ่งเกิดแล้วไม่ดับ

    ผู้ฟัง หมายความว่าไม่เกิดขึ้นอีก

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังคงมีปัจจัยที่จะให้โลภะเกิด โลภะต้องเกิด ยังไม่ได้ดับปัจจัยที่ทำให้โลภะเกิด

    ผู้ฟัง ต้องเป็นนิมิตเรื่องเดิมไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ ไม่คาดหมาย ไม่เดา ไม่มีใครรู้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า

    ผู้ฟัง แล้วอะไรจะชนะโลภะได้

    ท่านอาจารย์ ปัญญา

    ผู้ฟัง ปัญญาอย่างไรถึงจะไปชนะได้

    ท่านอาจารย์ ปัญญาที่รู้ความจริง รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมทั้งหมด พอใจก็เป็นธรรม ไม่พอใจก็เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม

    ผู้ฟัง โลภะ เป็นความติดข้อง แต่ฉันทะ พอใจที่จะทำ สมมติว่าอยากได้เสื้อ ก็เป็นติดข้อง แล้วพอใจไปหาซื้อตามที่อยากได้ ก็เป็นฉันทะ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็ทั้ง ๒ อย่าง ฉันทะเกิดร่วมกับโลภะด้วย

    ผู้ฟัง ทุกครั้งที่มีโลภะ ต้องมีฉันทะเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ตอนที่เกิดความพอใจ บางครั้งก็ยึดติด แต่ก็ไม่รู้ตัว ทำไมจึงบอกว่าไม่มีโมหะที่เกิดความหลง

    ท่านอาจารย์ เรื่องนี้ต้องฟังละเอียด ต้องรู้ว่า จิตมีกี่ประเภทที่เป็นอกุศล เป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต ฉันทะเจตสิกเกิดร่วมกับโลภเจตสิกได้ เกิดร่วมกับโทสเจตสิกได้ และขณะที่โลภะ โทสะเกิด ก็มีโมหะเกิดร่วมด้วย แต่จิตที่ไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีแต่โมหเจตสิก ขณะนั้นจะไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็เป็นเรื่องละเอียด เป็นชีวิตประจำวัน ถ้าเราเข้าใจ ก็จะเห็นว่า ไม่ใช่เราทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นขณะไหน

    เรื่อง “ก้าวก่าย” ไม่ทราบหายข้องใจ หรือยัง บางครั้งเรามีความหวังดี ไม่ใช่ความก้าวก่าย ถูกไหม เราอาจจะแนะนำคนอื่นด้วยความหวังดี แต่ถ้าบางสิ่งบางอย่าง บางคนอาจจะไม่พอใจ แล้วเราทำ ก็เหมือนกับก้าวก่ายได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องแยกระหว่างกุศลกับอกุศล ถ้าเป็นความหวังดีก็ไม่ใช่ แต่สำคัญที่สุดก็คือมรรยาทสากล คือการไม่ก้าวก่าย ก็หมายความว่า เมื่อเป็นเรื่องส่วนตัว เราไม่มีสิทธิ์เลย แม้แต่จะถาม ซึ่งเป็นความหวังดีของเราก็ได้ อย่างคนไทยเราก็จะมีอัธยาศัยมักจะถามถึงทุกข์สุข เจอกันที่โรงพยาบาลก็จะถามว่า เป็นอะไร แต่ว่าถ้าเป็นชาวต่างประเทศซึ่งวัฒนธรรมคนละอย่าง เขาจะรู้สึกทันทีว่าเป็นการก้าวก่าย แม้ถามด้วยความหวังดี

    ด้วยเหตุนี้แต่ละคนต้องเป็นผู้ละเอียดว่า จิตของเราเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล และแม้เป็นกุศล เป็นกาลที่ควร หรือไม่ควร และคำพูดนั้นเป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ธรรมจะทำให้เราสามารถเข้าใจลักษณะจริงๆ ถ้าเกิดไม่สบายใจ ขุ่นข้องในขณะนั้นขึ้นมา ก็แค่ธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป

    ด้วยเหตุนี้การเข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม ก็จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ ถ้าเรามีความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง โดยที่ว่าไม่เผิน แม้แต่ละคำก็ให้พิจารณา และให้รู้ความจริง จะได้เข้าใจได้ว่า ขณะที่จะใช้แต่ละคำ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศลอย่างไร

    ผู้ฟัง ผมมีความรู้สึกว่า การปฏิบัติทำให้มีสติเกิดมากกว่า คล้ายกับว่า สติอ้วนขึ้น โตขึ้น ขอความชัดเจนเกี่ยวกับมีสติเกิดมากกว่า

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดตั้งแต่ต้น ถ้าเรายังไม่มีความเข้าใจขั้นต้นที่ละเอียด แม้แต่ปฏิบัติ เราก็ไม่รู้ว่า ขณะนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้นก่อนที่จะว่ามากขึ้นน้อยลง ถามว่า ปฏิบัติ คืออะไร

    ผู้ฟัง ปฏิบัติ คือ ให้มีสติเกิดบ่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ผิด

    ผู้ฟัง แล้วอย่างไรถูก

    ท่านอาจารย์ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง แล้วอย่างไรต่อ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีต่อเลย เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าเมื่อสักครู่นี้ได้ยินคำว่า “ธรรม” และธรรมก็มีจิต เจตสิก รูป การศึกษาธรรมก็คือว่า ให้เข้าใจสิ่งที่มีแล้วในขณะนี้ว่า เป็นธรรม เข้าใจอย่างนั้นจริงๆ หรือยัง ยังไม่กล่าวถึงจิต เจตสิก รูป แต่ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ สิ่งที่มีเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มี เพราะฉะนั้นถ้าปฏิบัติธรรม จะปฏิบัติอย่างไร

    ผู้ฟัง คือไม่นึกถึงโลภะ โทสะ โมหะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เลย เข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่าเป็นธรรม หรือเปล่า เพราะฉะนั้นยังไม่ต้องไปคิดเรื่องปฏิบัติเลย เพราะเหตุว่าธรรมเป็นเรื่องละเอียด แม้แต่การฟัง ฟังด้วยเรามีธรรมนั้นๆ กับฟังว่า ธรรมไม่ใช่เรา ที่เคยยึดถือว่าเป็นเราทั้งหมด เป็นธรรมทั้งนั้น ฟังด้วยการที่เริ่มเข้าใจธรรมว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง และไม่ใช่เรา และไม่ใช่เรา แต่ถ้าเราฟังด้วยการที่คิดว่า เราจะเข้าใจสิ่งที่มีว่า เราเป็นอย่างไร วันนั้นวันนี้ นั่นไม่ถูก นั่นไม่ได้เข้าใจธรรมเลย เพราะฉะนั้นความละเอียด ก็คือกำลังฟังธรรม แม้คำนี้ก็ต้องรู้ว่า กำลังฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่ไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรม เพราะไปเข้าใจว่าเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง กำลังฟัง ถือว่าเป็นเรื่องการปฏิบัติด้วย หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องมาถือ เป็นเรื่องการเข้าใจธรรมโดยการฟัง ขณะนี้พูดเรื่องจิต เจตสิก รูป แล้วรู้จิต รู้เจตสิก รู้รูป หรือยัง ยังไม่ต้องพูดถึงการปฏิบัติเลย เพียงให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ทั้งหมดที่กล่าวถึง คือ จิต เจตสิก รูป แล้วรู้ความจริงหรือยัง จิต เจตสิก รูป อยู่ที่ไหน ธรรมอยู่ที่ไหน และขณะนี้ที่กำลังพูดเรื่องเจตสิกบ้าง หรือเรื่องจิตบ้าง ขณะนี้ จิต เจตสิก อยู่ที่ไหน

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ฟังเพื่อให้เข้าใจว่า ลักษณะนั้นเป็นธรรม ไม่ต้องไปคิดเรื่องปฏิบัติ เพราะว่านี่เป็นขั้นฟัง มีความเข้าใจถูกต้องมากน้อยแค่ไหน ในขณะที่กำลังฟังว่า ปัญญาที่จะเจริญขึ้นไม่ใช่รู้สิ่งอื่น แล้วก็ไม่เข้าใจอย่างอื่น นอกจากสิ่งที่มีจริงๆ ตรงตามที่ได้ยินได้ฟังว่า เป็นขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นอะไร ก็คือขณะนี้ นี่คือยังไม่พูดถึงปฏิบัติเลย แต่พูดถึงการฟังธรรมด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อไรที่ฟังธรรม คือ ฟังธรรมจริงๆ ไม่ใช่ฟังเรา เรื่องเรา แต่ว่าเป็นธรรมที่มี แต่ว่าเคยเข้าใจผิดยึดถือว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้นก็ฟังเพื่อให้รู้ว่า ไม่ใช่เรา นี่ขั้นฟัง พอฟังแล้ว เคยคิดถึงธรรมที่ได้ฟังบ้างไหม ลักษณะต่างๆ ของธรรม ไม่ใช่เอาเรามาเปรียบเทียบอีกว่า วันนี้จิตของเราเป็นอย่างนี้ เป็นอกุศลอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นคือเป็นเราทั้งหมด แต่ว่าการคิดถึงไตร่ตรองธรรมที่มี ขณะนั้นเข้าใจความต่างของคำที่เราได้ยินว่า จิตไม่ใช่เจตสิก จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งขณะนี้ทุกคนมีจิต และมีเจตสิกด้วย แต่ก่อนจะไปถึงเจตสิก ลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ที่กำลังมีในขณะนี้ มีความเข้าใจธรรมนั้น หรือยัง ยังไม่ต้องไปถึงไหนเลย เพียงแค่เดี๋ยวนี้ จากการที่เคยยึดถือเห็นว่าเป็นเรา ได้ยินว่าเป็นเรา กำลังฟัง เริ่มเข้าใจว่า มีจริง และเป็นธรรมคือไม่ใช่เรา ก่อนที่จะรู้ตรงเห็น ที่กำลังเห็น

    นี่แสดงให้เห็นว่า แม้เห็นกำลังเห็น ก็พูดเรื่องเห็น แต่ก็ยังไม่ได้รู้ลักษณะของเห็น เพียงแต่เริ่มเข้าใจว่า ที่เห็นทุกวันๆ เป็นธรรมที่มีจริงๆ เห็นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน นี่คือขณะที่คิดไตร่ตรอง แต่ไม่ใช่ขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ฟังไป เรื่องเห็น เรื่องได้ยิน ฟังแล้วฟังอีก จะไม่พ้นจากเรื่องชีวิตประจำวันทั้งเห็น ทั้งได้ยิน จนกว่าจะเริ่มรู้ว่า กำลังค่อยๆ เข้าใจเห็นที่กำลังเห็น

    นี่คือการเริ่มจากการที่ฟัง และเข้าใจ จนกระทั่งสามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังเห็นนี่เอง เริ่มเข้าใจว่า ลักษณะนี้ที่เห็นเป็นสภาพธรรม เป็นสภาพรู้ซึ่งไม่มีรูปร่างเลย ขณะใดที่ถึงลักษณะ ขณะนั้นต้องมีสติ จะรู้ หรือไม่รู้ จะเรียกชื่อว่าอะไรก็ตามแต่ แต่ขณะนั้นกำลังมีลักษณะที่สติกำลังรู้ แล้วปัญญาก็เข้าถึงด้วยการเริ่มเข้าใจถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น การเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นปฏิปัตติ

    เพราะฉะนั้นไม่ไปหลงทางเข้าใจว่า จะปฏิบัติ เราจะปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเหตุว่าธรรมเป็นเรื่องฟังให้เข้าใจ จนกว่าความรู้จะเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่ไม่สนใจเรื่องความรู้เลย แต่ว่าอยากจะปฏิบัติ เพราะฉะนั้นก็ปฏิบัติโดยไม่รู้อะไรในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วจะชื่อว่า “ปฏิปัตติ” ได้อย่างไร ก็เป็นการหลงใช้คำ แล้วก็ทำให้เข้าใจผิด ตามที่กล่าวว่า สำหรับพระสูตร ถ้าศึกษาไม่ดี ก็ทำให้มีความเห็นผิด เป็นเราที่จะทำ ไม่ได้ละความเป็นเราเลย

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อฟังอย่างเข้าใจแล้ว ก็ถือเป็นปฏิปัตติ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีเห็น ถึงลักษณะที่เห็นด้วยการเข้าใจขึ้นว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง หรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ จะมาถือว่า ปฏิบัติ ไม่ถือว่าปฏิบัติ ไปถืออะไร ไปถือทำไม ทำไมต้องถือ ในเมื่อความจริงก็คือความจริง การอบรมเจริญปัญญา เพื่อเข้าใจถูก เห็นถูก

    พระพุทธศาสนา คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ใดเป็นผู้รับมรดก คือ รับความรู้ในคำสอนที่ทรงแสดง แม้ศรัทธาที่จะฟัง ก็มาจากคำสอนของพระองค์ จนกระทั่งมีการรู้ว่า คำสอนมีประโยชน์อย่างไร ศรัทธาก็เพิ่มขึ้น มิฉะนั้นศรัทธาที่จะฟังให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจะมีไม่ได้เลย มีเพียงศรัทธาระดับอื่น ขั้นทาน ขั้นศีล หรือขั้นความสงบของจิต แต่ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจถูกว่า กุศลทั้งหลายที่เจริญขึ้นจากการฟัง ทั้งหมดมาจากการเข้าใจคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ต้องเป็นปัญญา เป็นความเข้าใจ พระผู้มีพระภาคจะไม่สอนให้หลงผิด จะไม่สอนให้เข้าใจผิด หรือจะไม่สอนให้ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นคำสอนที่ให้เข้าใจถูกเห็นถูก ให้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ก็คือในขณะนี้ เริ่มที่จะเข้าใจว่า ธรรมคืออย่างไร และเป็นธรรมอย่างไร จนกว่าจะหมดการยึดถือว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ผู้ฟัง ถ้าฟังอย่างเข้าใจ ก็ถือว่า ...

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรมให้เข้าใจธรรม ไม่ต้องไปคิดเรื่องถืออีกต่อไป จะไปถือทำไม ถามสักนิด ความติดข้องมีไหม

    มี.. ภาษาบาลีใช้คำว่าอะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    4 มี.ค. 2567