พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 267


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๖๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง ถามเรื่องอุปาทานขันธ์

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีขันธ์ ๕ หรือเปล่า หรือมีแต่ชื่อ เดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง ตอนนี้มี

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีขันธ์อะไรบ้าง

    ผู้ฟัง มีรูป

    ท่านอาจารย์ รูปขันธ์ ๑

    ผู้ฟัง สัญญา

    ท่านอาจารย์ สัญญาขันธ์ ๑

    ผู้ฟัง ก็รู้แต่ชื่อที่อาจารย์บอก

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะนี้ไม่มีรูป หรือ และไม่มีสัญญา หรือ

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เมื่อสัญญาเกิด ก็เป็นสัญญาขันธ์ รูปเกิดก็เป็นรูปขันธ์เท่านั้นเอง และเป็นที่ตั้งของความยึดถือ จึงใช้คำว่า อุปาทานขันธ์ ๕ ความยึดถือก็เป็นโลภะที่ติดข้องยึดถือ กำลังมีขันธ์ ๕ จะรู้จักขันธ์ ๕ เมื่อไร ทั้งๆ ที่กำลังฟังเรื่องขันธ์ ๕ และมีขันธ์ ๕ ด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่จำชื่อ แต่เข้าใจความเป็นขันธ์ เช่น รูปขันธ์ สิ่งใดๆ ที่เกิด และไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรม เกิดแล้วดับไป ลักษณะที่เกิดขึ้นมาแต่ละอย่างก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขันธ์แต่ละขันธ์ก็มีลักษณะเฉพาะของตนๆ แต่เมื่อเป็นรูปที่ไม่ใช่สภาพรู้ ทุกรูปที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่สภาพรู้ จึงเป็นรูปขันธ์ ขณะนี้ทุกอย่างที่มีปรากฏ แต่ปัญญาไม่ได้เข้าใจตามนี้เพียงแค่ฟัง ปัญญาเข้าใจว่า ขณะนี้มีรูป และรูปก็ต่างกับนามธรรม เพราะฉะนั้นสำหรับรูปที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับไป แต่ละรูปก็เป็นรูปขันธ์นั่นเอง นี่คือการฟัง แต่ขณะนี้ก็มีรูป ทางตากับทางหู ก็ต่างกัน สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริงๆ เกิดปรากฏให้เห็น เป็นรูปขันธ์ชนิดหนึ่ง เสียงก็มีจริงๆ ปรากฏเกิดขึ้น ลักษณะของเสียงก็ต่างๆ กันไปแต่ละเสียง สภาพธรรมที่เกิดดับเป็นขันธ์แต่ละขันธ์ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจเรื่องรูปขันธ์แล้ว ต่อไปขันธ์อะไร

    ขณะนี้ก็มีรูปขันธ์?แต่ยังไม่รู้จัก กำลังฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา จะรู้จักลักษณะที่เป็นรูปต่อเมื่อสิ่งนั้นไม่เป็นอย่างอื่น ไม่เป็นคน ไม่เป็นอะไรเลย เป็นแต่เพียงลักษณะที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น ความจริงก็ดับไปแล้วด้วย แต่เมื่อไม่ปรากฏ ก็กล่าวว่ารูปขันธ์ แต่ว่าความเป็นขันธ์ คือ สภาพธรรมที่เกิดดับก็ยังไม่ได้ปรากฏ แต่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างปรากฏให้รู้ว่า นี่คือขันธ์ นี่คือสิ่งที่มีจริง นอกจากรูปขันธ์ มีอะไรอีกไหม หรือมีแต่รูปขันธ์อย่างเดียว

    ผู้ฟัง สัญญาขันธ์

    ท่านอาจารย์ ขันธ์ ๕ มีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

    ท่านอาจารย์ ครบทั้ง ๕ ขณะนี้ระหว่างความรู้สึกกับความจำ พอจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ทุกคนกำลังจำทุกขณะจิต แต่สามารถจะรู้ถึงสภาพจำ หรือไม่ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งทำกิจจำ ไม่เคยหยุดเลย ไม่ว่าจิตรู้อะไร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าอารมณ์ของจิตเป็นอารมณ์อะไร สัญญาซึ่งเกิดกับจิตนั้นก็จำ แต่สภาพของสัญญาที่กำลังจำขณะนี้ พอจะรู้ได้ไหม หรือว่ามีสภาพธรรมที่สามารถพอจะรู้ได้ เช่น ความรู้สึก จริงๆ แล้วความรู้สึกรู้ยาก ถ้าเป็นความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ รู้ยากไหม กำลังเห็น ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็นอย่างไร อยู่ตรงไหน ฟังชื่อ รู้ว่ามี เข้าใจได้ แต่ตัวจริง ลักษณะสภาพที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ ในขณะที่กำลังเห็นมีจริงๆ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “เวทนา” เป็นเจตสิกซึ่งเป็นเวทนาขันธ์ เพราะว่าความรู้สึกมีทั้งวัน พอที่จะรู้ได้ แต่ที่จำนี่ ลืมไปเลยว่า แท้ที่จริงขณะนี้สัญญากำลังจำหมดทุกอย่าง จำทุกขณะ แต่ลักษณะของความรู้สึกหลังจากที่จำได้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร พอที่จะรู้ได้ไหม เฉยๆ หรือโทมนัส หรือโสมนัส โดยเฉพาะทางกายสามารถจะรู้ได้ ความรู้สึกที่เป็นทุกข์หยาบกว่าความรู้สึกซึ่งเป็นสุขทางกาย

    ขณะที่กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ พอจะรู้ไหมว่า ทางกาย สุข หรือทุกข์ ต้องมี ไม่มีไม่ได้เลย ถ้ามีกายวิญญาณเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบกาย ลักษณะที่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว ปรากฏเมื่อไร จิตที่กำลังรู้ลักษณะนั้น จะต้องเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใด คือ ทุกข์ หรือสุข ทั้งๆ ที่เป็นของที่สามารถจะรู้ได้ แต่ก็ยากที่จะรู้

    เพราะฉะนั้น แม้แต่สุขทางกาย หรือทุกข์ทางกาย ถ้าเพียงเล็กน้อย ผ่านไปเลย หลายๆ คนคงถูกพัดลมพัด ผมปรก มือปัด แค่นั้นก็ผ่านไปหมดแล้ว ไม่รู้ถึงความรู้สึกที่รำคาญ หรือแม้เพียงเส้นผมเส้นเดียว ก็รู้สึกได้ แต่ว่าลืมว่า ขณะนั้นความรู้สึกนั้นมีจริง เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป และขณะที่กำลังรำคาญผมเส้นเดียวที่กระทบหน้าผาก หรือหน้าก็ตามแต่ ขณะนั้นความรู้สึกเป็นอะไร ชอบ หรือไม่ชอบ รู้สึกโทมนัส หรือทุกข์ เห็นไหมว่า เกือบจะไม่รู้เลยว่าเป็นทุกข์ แต่ความไม่ชอบที่เป็นโทมนัสที่เกิดต่อก็ปรากฏให้พอจะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น สภาพของความรู้สึกแต่ละขณะนี้มี แต่ก็ฟังเรื่องชื่อ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมนั้นก็กำลังเป็นอย่างนั้นแหละ ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมบ่อยๆ เพื่อให้คิดถึงธรรมที่ได้ฟัง และในขณะที่ฟังก็กำลังคิดเรื่องที่ฟังด้วย เพื่อที่จะให้เป็นความจำมากกว่าเรื่องอื่นๆ ที่เคยจำมาแล้ว เพราะว่าเคยจำเรื่องไร้สาระมามากเลย แต่ว่าสาระ คือ สิ่งที่มีจริงๆ และเริ่มฟัง เริ่มเข้าใจยังไม่พอต่อการที่จะคิดถึงเรื่องธรรม เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ จะคิดถึงเรื่องอื่นมากกว่า คิดถึงเพื่อน คิดถึงญาติพี่น้อง คิดถึงธุรกิจการงาน คิดถึงปัญหา คิดถึงอะไรก็แล้วแต่ แต่คิดถึงธรรมจะมีเมื่อไร ถ้ามีเมื่อไรก็รู้เลยว่า ถ้าไม่มีการฟังมาก่อน จะคิดถึงธรรมไหม เพราะมักจะคิดเรื่องอื่นมานานแสนนาน และจะให้มาคิดถึงธรรม ก็ต้องอาศัยการฟัง ขาดการฟังไม่ได้เลย ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ฟังแล้วฟังอีก เพื่อเข้าใจขึ้นอีก ฟังแล้วก็จะได้จำ จนกระทั่งมีความมั่นคงว่า เป็นธรรม เพราะแม้ว่าขณะนี้เป็นธรรม แต่ว่าความมั่นคงที่จะเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏยังไม่มี ตราบใดที่สติสัมปชัญญะยังไม่เกิด รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ขณะนั้นจะชื่อว่า รู้จักธรรมไม่ได้

    ฟังเรื่อง “อ่อน” กำลังรู้ลักษณะที่อ่อน หรือเปล่า ถ้ายังไม่รู้ก็หมายความว่า ฟังเรื่องนี้ ต่อเมื่อใดที่ลักษณะที่อ่อนปรากฏ และรู้ลักษณะนั้น ก็เป็นทางที่ทำให้เห็นความจริงว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นเรื่องสิ่งที่มีจริง และฟังความจริงของสิ่งนั้น จนกว่าจะถึงกาลที่สามารถที่จะเห็นว่า ไม่ใช่เราเลย เป็นธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้น เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่า “ขันธ์” ถ้าฟังเพียงชื่อจำได้ เราก็จะรู้ได้ว่า วันหนึ่งๆ รู้จักขันธ์ หรือไม่ หรือเพียงแต่จำชื่อขันธ์

    ผู้ฟัง รู้จักแต่เพียงชื่อ

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องฟังต่อไป มีหนทางเดียว หนทางอื่นก็ไม่มี การฟังธรรม กำลังมีธรรม ฟังเพื่อให้เข้าใจธรรมที่กำลังมี เพราะจริงๆ แล้วในสมัยโน้นที่มีการสนทนาธรรมของพระภิกษุ ถ้าไม่มีเรื่องที่จะสนทนา ท่านก็นั่งนิ่ง แต่นั่งนิ่ง ไม่ใช่นั่งนิ่งอย่างคนที่ไม่มีปัญญา เพราะฟังธรรมแล้ว ขณะนั้นมีธรรม เพราะฉะนั้นนั่งนิ่ง ขณะนั้นก็มีจิต นั่งนิ่งนอกเวลาที่ฟังธรรม ก็นิ่ง ไม่พูด แต่ใจคิดถึงเรื่องอื่น แต่ขณะนี้ได้ฟังแล้ว และจะเมื่อไรคิดถึงสิ่งที่ได้ฟัง ถ้าขณะนั้นไม่สนทนาก็กำลังไตร่ตรอง หรือกำลังคิดถึงสิ่งที่ได้ฟังแล้ว เพราะว่าแม้ขณะนี้ที่มีธรรมปรากฏ และมีการพูดเรื่องธรรมที่ปรากฏ ก็จะเห็นปัจจัยที่สะสมมาตามความเป็นจริงว่า อนัตตา แต่ก็มีคนอยากจะฝืน เป็นผู้จัดการ อย่างนี้ก็ไม่เอา อย่างนี้ก็ไม่ชอบ เมื่อไรสติจะเกิด ทำไมถึงคิดมากเรื่องนั้นเรื่องนี้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เข้าใจคำว่า “อนัตตา” จริงๆ หรือไม่ เพราะจริงๆ แล้ว สภาพธรรมเป็นอนัตตาแน่นอน แม้แต่อะไรที่จะเกิดบังคับไม่ได้ เกิดแล้วก็ต้องดับ บังคับไม่ได้อีก แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้การฟัง แม้แต่ฟังเรื่องธรรมดา กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ หรือใครไม่มีบ้าง ถ้าไม่หลับมีแน่ๆ ต้องทางหนึ่งทางใด ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นจึงฟัง และสนทนากันเพื่อให้เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดเรื่องผู้จัดการ หนูเป็นผู้จัดการอยู่ แล้วมันเหนื่อย

    ท่านอาจารย์ จัดการกันทุกคน แล้วแต่ใครจะรู้สึกว่า กำลังจัดการ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เหมือนจะพูดว่า ขอวิธีการที่เกื้อกูลแล้วอยากจะคลายตรงนี้ลง สักนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ขอสิ่งที่ให้ไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ขอความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ นี่จึงจะถูกต้อง ขอเข้าใจ ไม่ใช่ขอวิธีการ วิธีการน่ะ ไม่มี วิธีการ คือ ให้หลง ถ้าจะให้วิธีการ คือ ให้หลง ไม่เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง

    เพราะฉะนั้นแม้แต่สิ่งที่ฟังอยู่ มีจริงๆ แต่ต้องอาศัยการฟัง และค่อยๆ พิจารณา ขณะที่กำลังพิจารณา เป็นเรา หรือไม่ ไม่ต้องมีตัวตนไปตั้งหน้าพิจารณาอีก เพราะเหตุว่าสภาพธรรมตามความเป็นจริงเกิดแล้วดับ เร็วมาก ขณะนี้ไม่รู้เลยว่า อะไรเกิดแล้วดับแล้ว ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่สติกำลังรู้ มีลักษณะจริงๆ แต่ละลักษณะ ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ในสิ่งที่มีจริงๆ และก็มีเราที่จะต้องการวิธีการ ถ้าใครให้ก็ผิดเลย คือไม่ได้ให้ความเข้าใจ แต่ไปให้อะไรก็ไม่ทราบ ด้วยความเป็นตัวตน ส่งเสริมให้มีความหวังว่า ถ้าทำอย่างนั้นแล้วก็จะได้ และจะละความหวังได้อย่างไร เพราะความไม่รู้

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ทุกคนมีอกุศลมาก เกิดขึ้น เป็นเรา หรือเปล่า แค่นี้ ระลึกไม่ได้ ก็เป็นเรา ระลึกได้ ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง อาจหาญ ร่าเริง ที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นธรรม เกิดแล้วดับด้วย แม้แต่ความทุกข์ร้อนที่เคยมี ยั่งยืน หรือเปล่า อยู่ในขณะนี้ หรือเปล่า เพียงเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์ใช้คำว่า “พิจารณา” สำหรับดิฉัน แค่คิดอย่างเดียว คิดเป็นคำๆ ตามที่ท่านอาจารย์แสดง และท่านอาจารย์แสดงไว้ว่า เช่น เวลาเห็นก็บอกว่า เห็น เมื่อก่อนบอกว่า นามเห็น แต่เดี๋ยวนี้เหลือแค่คำเดียว คือ คำว่าเห็น ก็คิดเป็นคำแบบนั้นอีก ได้แค่คิดอย่างเดียว ไม่ถึงขั้นพิจารณา ต้องขอประทานโทษที่ต้องพูดซ้ำอีกว่า มันอึดอัด

    ท่านอาจารย์ อยากไม่คิด หรือเข้าใจถูก ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ที่หนักๆ เพราะอยากไม่คิด แล้วไม่สำเร็จ เพราะอย่างไรก็ยังคิดอยู่ หรือว่าเข้าใจถูกต้องขึ้น ไม่ต้องไปทำอะไรกับความคิด ใครก็ทำอะไรไม่ได้ มีตาต้องเห็น จะไม่ให้เห็นก็ไม่ได้ มีหูก็ต้องได้ยิน มีจมูกก็ต้องได้กลิ่น มีลิ้นก็ต้องลิ้มรสที่กระทบ มีกายต้องรู้สิ่งที่กระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว มีใจก็ต้องคิด จะไม่ให้คิดได้อย่างไร ห้ามไฟไม่ให้ร้อนได้ไหม อย่าร้อนนะ เพราะฉะนั้นจะบอกจิตว่า อย่าคิดนะ ถูก หรือผิด แลกความคิดกันก็ไม่ได้ แลกเรื่องที่จะคิดกันก็ไม่ได้ ก็เห็นความเป็นอนัตตาชัดเจน แต่ปัญญาไม่พอที่จะรู้ตามความจริง นี่คือปัญหา ทั้งฟัง ทั้งได้ยิน ทั้งรู้ ทั้งจำ แต่ปัญญาไม่พอที่จะละความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นไม่ใช่ขอวิธีการ

    ผู้ฟัง ในขณะที่จิตของแต่ละบุคคลกระโดดโลดเต้นไปตามเรื่องตามราว มีวิธีของแต่ละบุคคลที่ควบคุมจิตตัวเองให้อยู่นิ่ง ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องราวทั้งหลายที่อยู่นอกตัว ที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ผมว่าอันนี้ก็จะเป็นกุศล เป็นไปได้ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วเข้าใจว่าเป็นอนัตตาไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ จะเข้าใจได้อย่างไร ไปทำให้จิตนิ่ง แล้วจะไปเข้าใจความเป็นอนัตตาได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ตอนนี้ยังไม่ถึง

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ถึง แล้วเมื่อไรถึง

    ผู้ฟัง ก็ควบคุมจิตให้อยู่ใน ...

    ท่านอาจารย์ ควบคุมจิตเมื่อไร ไม่ถึงเมื่อนั้น ไม่มีวันจะถึง เพราะไม่ได้เข้าใจถูกต้อง ไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น จิตจะกระโดดโลดเต้นไปทางไหน ก็ปล่อยไปตามเรื่องตามราว

    ท่านอาจารย์ ใครปล่อย

    ผู้ฟัง คือจิตปล่อยจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องปล่อย มีปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับไป มีปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับไป ให้เข้าใจให้ถูกต้องอย่างนี้ ไม่ใช่ไปหาวิธีการอะไร หรือไปทำอะไร แต่เข้าใจตามความเป็นจริง จนกว่าจะมั่นคง

    ปัญหาก็คือว่า ฟังเข้าใจ แต่อยากรู้แจ้งเร็วๆ อยากบังคับให้จิตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งไม่ตรงกับที่ควรจะเข้าใจให้ถูกต้อง ที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง คือ เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม ลืมแล้วนะ มีธรรมปรากฏก็ลืม และธรรมนี้ก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย ก็ลืมอีก ก็ลืมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะฟังแล้วไม่ลืมว่า ความจริงก็เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น

    ผู้ฟัง อย่างที่ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือ จิตของแต่ละบุคคลเหมือนลิง ถ้าจะทำให้ลิงอยู่นิ่งก็ต้องเอาโซ่ล่าม แล้วผูกเอาไว้กับหลัก

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเพียงให้ระงับอกุศล หรือว่าสอนจนกระทั่งสามารถจะดับกิเลสทั้งหมดได้เป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย

    ผู้ฟัง ไม่ได้สอนให้ดูแลจิตของตนอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สอนว่า ทุกอย่างเป็นอนัตตา หรือเปล่า

    ผู้ฟัง สำหรับบางคน รู้ว่าเป็นจิตเป็นอนัตตาก็จริงอยู่ แต่ขณะที่จิตตัวเองโลดแล่นไปที่ต่างๆ บางทีน่าจะมีวิธีควบคุมให้จิตไม่ต้องไปไกลนัก

    ท่านอาจารย์ คำถามก็คือว่า จะควบคุม หรือจะรู้ความจริงว่า จิตเป็นอนัตตา ถ้าไม่มีปัจจัย จิตไม่เกิด จิตที่เกิดเพราะมีปัจจัย แล้วจะไปควบคุมตอนไหน

    เพราะฉะนั้น คำพูดทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า เราเข้าใจธรรมจริงๆ หรือไม่ และธรรมจริงๆ ที่เข้าใจถูกต้องคืออย่างไร ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องว่า จิตเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย จิตเกิดไม่ได้เลย และจะไปควบคุมตรงไหน ตอนไหน นอกจากมีความเข้าใจถูกต้องว่า ขณะนี้แต่ละคนความคิดต่างกัน บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะสะสมมาเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดคิดเพราะจำ ซึ่งต่างคนก็ได้จำมาแล้วมากมาย เพราะฉะนั้นก็คิดเรื่องที่จำของแต่ละคน ห้ามไม่ได้เลย มีปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง ชีวิตก็เท่านี้ มีแต่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้กระทบสัมผัส อาจารย์จะเพิ่มเติมอย่างไร เพื่อให้ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาทั่วๆ ไปของพุทธบริษัทเข้าใจสภาพธรรมได้มากกว่านี้

    ท่านอาจารย์ เมื่อ ๑๐ ปีก่อน ความเข้าใจของคุณประทีปกับวันนี้ ต่างกัน หรือเท่าเดิม

    ผู้ฟัง ต่างกันมากเลย

    ท่านอาจารย์ ก็นี่คือคำตอบ

    ผู้ฟัง ก็ไม่รู้สึกตัวนะท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ แน่นอน จับด้ามมีดนี่จะรู้ได้อย่างไร มีรอยนิ้วมือที่ด้ามมีดปรากฏ หรือไม่ แม้เพียงจะปรากฏ ยังไม่ต้องถึงกับไปสึก เพียงแต่ปรากฏ หรือไม่ รอยนิ้วเท้าที่รองเท้าปรากฏ หรือไม่ ใส่ทุกวัน และรอยนิ้วเท้าที่รองเท้าปรากฏ หรือไม่

    ขณะนี้กำลังฟัง เหมือนไม่มีความเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้น แต่ความมั่นคงที่จะรู้ว่า เป็นอนัตตา มีใครคิดว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมชาตินี้บ้างไหม

    ผู้ฟัง คงไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ต้องภาวนา

    ท่านอาจารย์ ภาวนาเพราะอะไร โลภะ หรือเปล่า หรือปัญญานี่ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ เพราะฉะนั้นธรรมไม่ใช่สิ่งที่ใครต้องการก็จะได้ แต่ต้องเป็นการอบรม และก็รู้ว่า ปัญญาคือความเข้าใจจริงๆ ที่กำลังปรากฏ จะรู้ได้ อาศัยจากการฟัง และค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ไม่ใช่ฟังแล้วอยากจะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยที่ปัญญาไม่ได้รู้ที่กำลังปรากฏเลย ไม่ได้รู้แม้ขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดต่างกับขณะที่หลงลืมสติ และจะไปรู้อะไร ฟังเพื่อละ แต่ว่าเวลาฟังแล้วมีความต้องการเกิดขึ้น เป็นความเข้าใจถูกต้อง หรือเปล่า ฟังแล้วเข้าใจ กับฟังแล้วรู้ว่า ที่เข้าใจคือละความไม่รู้ กับฟังแล้วอยากถึง อยากมีมากๆ ขณะอยาก ไม่ใช่เรื่องละแล้ว

    หนทางนี้ เป็นหนทางละตลอดตั้งแต่ต้น แม้จะละจากความเห็นผิด การปฏิบัติผิด การเข้าใจผิด ก็ยังยาก เพราะโลภะไม่ยอมง่ายๆ เลย ขณะนี้มีสภาพธรรม ก็จะต้องสงบเสียก่อน นี่อะไร ปล่อยไปได้ไหม ให้ไปสู่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ ตามปกติ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ยากแสนยาก แม้แต่ความเห็นถูก เพราะเหตุว่ามีโลภะกับอวิชชามากมาย แต่ถ้าในขณะนี้เข้าใจ และก็รู้ว่า เป็นเรื่องธรรมทั้งหมด จะเห็นปัจจัยตามความเป็นจริง ไม่มีตัวตนคอยไปกำกับ ตรงนี้ไม่ให้เป็นอย่างนั้น ตรงนั้นไม่ให้เป็นอย่างนี้ ให้นั่งอย่างนี้ ให้ทำอย่างนี้ ให้คิดอย่างนี้ ให้ปล่อยอย่างนี้ ให้วางอย่างนั้น ไม่มีเลย เพราะเหตุว่าจะไม่เห็นตัวเองตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้นขณะที่ชีวิตกำลังเป็นปกติ สติสัมปชัญญะเกิด เห็นตามความเป็นจริงไหม?ว่า เป็นปกติ ไม่ได้ไปคิดรอ ไม่ได้ไปสร้างเลย แล้วยิ่งเห็นตัวเองชัดเจน หรือเห็นสภาพธรรมชัดเจนว่า ละเอียดอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ เกิดอย่างนี้ ไม่ใช่ไปจำกัดเอาไว้ว่า ให้แค่นี้ ไม่ให้ไปไหน ให้อยู่ตรงนี้ ไม่ให้รู้อะไร แล้วอย่างนั้นปัญญาจะเจริญได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องฟังให้เข้าใจโดยแยบคาย แล้วรู้ว่าเป็นเรื่องละ และต้องรู้ว่า “ละ” คืออะไร ถ้าขณะนี้ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ยังคงเห็นเป็นเรา ไม่มีแม้แต่ความเข้าใจสักนิดว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น จนกว่าจะเป็นอย่างนี้ และความจริงก็คือว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ หมดแล้ว แต่ก็ติดเสียมากมายเหมือนมหาสมุทร ไม่อิ่ม ไม่จบ เพราะไม่รู้

    เพราะฉะนั้น การฟังให้ละความหวัง ก็เพื่อจะให้เห็นถูกตามความเป็นจริงว่า ต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจ และความเข้าใจคือ เมื่อใดปัญญาเกิดก็คือปัญญา เมื่อใดรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็คือรู้แจ้งอริยสัจธรรม เมื่อใดไม่รู้ ก็คือไม่รู้ เพราะฉะนั้นธรรมก็เป็นความจริงอย่างนี้ ที่จะต้องอดทน ที่จะเป็นคนตรง

    ที่คุณประทีปกล่าว ก็แสดงว่า คุณประทีปรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ปัญญามีแค่นี้ แต่ไม่พอใจที่จะมีปัญญาเพียงเท่านี้ แสดงว่าอยากจะมีมากกว่านี้ แต่ว่าทำอย่างไร ฟังต่อไป แล้วก็จะละความหวัง หรือความต้องการที่อยากจะมีมากกว่านี้ว่า เป็นสิ่งที่แล้วแต่การฟัง แล้วแต่การเข้าใจ แล้วแต่กำลังของกิเลส และอวิชชาที่สะสมมาว่า ติดแน่นหนาแค่ไหน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567