พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 250


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๕๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    คุณอุไรวรรณ มีคำถามจากท่านผู้ฟังว่า ในกรณีที่บิดามารดาป่วย แล้วใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่เมื่อพิจารณาเห็นปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่คิดว่าบิดามารดานั้นไม่สามารถอยู่ได้แล้ว เพื่อช่วยไม่ให้ท่านทรมานมาก ตัดสินใจเอาเครื่องช่วยหายใจออก การที่ลูกๆ ให้เอาเครื่องช่วยหายใจออก จัดเป็น "อนันตริยกรรม" ไหม

    อ.อรรณพ กรรมคือเจตนาที่เป็นไปในการฆ่า และจิตเกิดดับมากมาย มีทั้งจิตที่มีความติดข้องที่เป็นมารดาบิดาเป็นบุตรกัน มีทั้งจิตที่คิดว่าท่านทรมาน ไม่อยากให้ท่านอยู่นาน แต่จิตนั้นเกิดดับรวดเร็วมาก หากมีเจตนาที่เป็นไปในการฆ่า ถือว่าเป็น ด้วยเหตุที่เจตนาในการฆ่านั้นมีกำลังมาก หากมีเจตนาเป็นอกุศล ถือเป็นอกุศลเจตนา เป็นกรรม คืออยู่ที่จิตว่ามีเจตนาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้นต้องรู้ตัวของบุคคลนั้นเองว่า มีเจตนาอย่างไร เพราะเหตุว่าทุกคนจะจากโลกนี้ไป ไม่ใช่โดยการกระทำของคนอื่น ตามจริงแล้วถึงกาล เมื่อกรรมนั้นสิ้นสุดที่จะทำให้เป็นบุคคลนี้ จะทำให้จิตขณะสุดท้ายเกิดขึ้น เป็นจุติจิต เคลื่อนจากภพนี้ ที่เราใช้คำว่า “ตาย” ใครจะไปบังคับให้จุติจิตเกิดขณะนั้นขณะนี้ เป็นไปไม่ได้เลย หรือใครก็ตามที่จะไปพยายามให้จิตของคนอื่น ที่เป็นจุติจิตเกิดขึ้นขณะนั้นขณะนี้ เป็นไม่ไม่ได้ เพราะว่าไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า จุติจิตแท้จริง จะเกิดขึ้นเมื่อไร

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้มีความเข้าใจถูกต้องว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกรรม และบุคคลนั้นไม่มีเจตนาที่จะฆ่า ถ้าคิดถึงความทรมานที่เกิดขึ้นกับบุคคลใดก็ตามก่อนจะสิ้นชีวิต บางคนคิดว่าเป็นการดี ถ้าจะทำให้เขาไม่ทรมาน เพราะฉะนั้นจะมีความคิดว่า ถ้าเป็นโดยนัยนั้น ให้เขาสิ้นชีวิต จะเป็นการช่วยเหลือ คิดอย่างนั้นเพราะเข้าใจไม่ถูก เข้าใจว่า การกระทำที่จะทำให้บุคคลนั้นสิ้นชีวิตเป็นการช่วยเหลือ แต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้สิ้นชีวิต นี่เป็นความละเอียดที่ต่างกัน เพราะเห็นบุคคล หรือสัตว์ที่กำลังทรมาน จะมีบุคคล ๒ ประเภท บุคคลหนึ่งเห็นว่า การทรมานนั้นไม่ควรจะมีต่อไป มีเจตนาที่ช่วยให้เขาตายโดยการฆ่า สิ้นชีวิตไปโดยประการหนึ่งประการใด นั่นคือบุคคลหนึ่ง แต่บุคคลอีกประเภท รู้ว่าแม้เขาจะมีความทรมานอย่างนั้น เขาต้องเป็นไปตามกรรม เมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว ใครจะรู้ว่า เขาไปไหน จะไปสวรรค์ หรือจะไปสู่นรก หรือไปสู่ภูมิอื่น สัตว์เดรัจฉาน ตามแต่

    เพราะฉะนั้นไม่มีใครสามารถรู้กรรมที่จะทำให้บุคคลนั้นไป และไม่มีใครสามารถที่จะรู้จริงๆ ว่า จุติจิตจะเกิดขึ้นเมื่อไร เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับเจตนา ซึ่งบุคคลในครั้งก่อน แม้ในพระวินัยพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุซึ่งเป็นบุตร มีการกระทำที่ทำให้บิดาสิ้นชีวิตไปว่า เธอมีเจตนาฆ่า หรือเปล่า

    อันนี้เป็นสิ่งที่ละเอียด เป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องรู้ว่า บางสิ่งบางอย่างที่กระทำไปด้วยโทสะ แต่ไม่มีเจตนาฆ่า ก็ไม่ใช่ปาณาติบาต แต่ต้องเป็นอกุศลกรรม เพราะเหตุว่ามีอกุศลจิตที่เบียดเบียนบุคคลผู้ที่เป็นบิดา แต่ว่าจะเบียดเบียนระดับไหน นั่นอีกประการหนึ่ง เพราะเหตุว่าเวลาโกรธ มีการผลักให้ล้มลง แต่ไม่ได้คิดเลยว่า บิดานั้นจะถึงกับสิ้นชีวิตไป

    นี่ก็เป็นเรื่องของจิตที่ละเอียด เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องระวัง และมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าเป็นในครั้งก่อน เครื่องช่วยหายใจไม่มี อะไรไม่มี แล้วแต่ เป็นไปตามกรรมจริงๆ แม้ในยุคนี้จะมี เสมือนว่ามีเครื่องที่จะช่วยทำให้บุคคลนั้นมีชีวิตต่อไป แต่ความจริง เขาไม่ต้องมีใครไปทำเลย ก็สิ้นชีวิตได้ แม้ว่าจะมีอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยเหลือได้

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจเรื่องเจตนาจริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ว่าเป็นเจตนาฆ่า หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ขอขัดจังหวะ แล้วเครื่องช่วยหายใจจะสร้างมาทำไม

    ท่านอาจารย์ สร้างสำหรับที่จะช่วย ยาเพื่ออะไร อาหารรับประทานเพื่ออะไร ทุกอย่างมีเพื่อเหตุใดทั้งหมด ถ้าไม่ใช่เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ แต่ช่วยให้เขาไม่ตายได้ไหม หรือเพียงช่วยให้เขาไม่ทรมาน ขณะหลับมีจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่ใช่คนตาย แต่ความน่าอัศจรรย์คือ หลับแล้วตื่น ทันทีที่ตื่น จากสิ่งที่ไม่ปรากฏเลย กำลังหลับสนิท แล้วมีสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาได้ ลองคิดดูซิคะ จากสีสันวัณณะที่ไม่ได้ปรากฏขณะที่หลับสนิท เพียงการตื่นมีปัจจัยเห็น เพราะฉะนั้นเห็นเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือทันทีที่กำลังได้ยินขณะนี้ จากเสียงไม่ปรากฏ แล้วมีเสียงปรากฏ เห็นความน่าอัศจรรย์ว่า เสียงปรากฏได้อย่างไร

    นี่คือสภาพธรรมที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง มีคนถามว่า ขณะที่กำลังอยู่ในภวังค์ หรือขณะที่บุคคลนั้นนอนหลับ เขามีปัญญาไหม ผมก็ยืนยันว่า ไม่มี แต่จริงๆ แล้วมันมีใช่ไหมครับ เพียงแต่ว่ายังไม่ได้แสดงออกทางกาย หรือทางวาจา ก็เลยไม่ได้แสดงออกถึงความมีปัญญา อย่างนั้นใช่ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าขณะเกิด ไม่ใช่ขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่คิดนึก ถูกต้องไหม จิตขณะแรกที่เกิด ไม่เห็น ไม่ได้ยินอะไรทั้งสิ้น เวลาที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ขณะใด เป็นจิตประเภทเดียวกับจิตขณะแรกที่เกิด เพราะว่าเป็นผลของกรรมที่จะทำให้ดำรงภพชาตินั้นต่อไป และจิตขณะสุดท้ายก็เช่นเดียวกัน คือ เหมือนกับจิตขณะแรก และขณะที่เป็นภวังค์ มีความเข้าใจถูกต้องอย่างนี้ว่า ขณะใดก็ตามที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ยังมีจิตที่ดำรงภพชาติ เป็นผลของกรรม กรรมเดียวกับที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นถ้าบุคคลนั้นเกิด และมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ภวังค์ของบุคคลนั้นก็ต้องเหมือนกับปฏิสนธิจิต คือ มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เวลาได้ยินเรื่องราวต่างๆ มีการฟังธรรมก็มีการพิจารณาไตร่ตรอง เข้าใจได้ ไม่เหมือนกับผู้ที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย

    เข้าใจว่าจิตเกิดดับ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าจิตเกิดดับ และเข้าใจว่าถ้าจิตอยู่นิ่งโดยไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้พิจารณา

    ท่านอาจารย์ เป็นขั้นๆ นะคะ เลือกให้จิตเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นเรา หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์สุจินต์สรุปว่า ธรรมไม่มีตัวไม่มีตน การคิดอย่างนี้ กระผมไปไม่ได้ แต่ว่าอาจจะเป็นประโยชน์ เพราะอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ใช่ไหม ผมเห็นโทษของมัน แต่ยังอยากให้สนทนาอยู่ในเรื่องเห็นโทษของรูปของนาม เพราะว่าในทุกขอริยสัจธรรม ตัวรูป สภาวรูปมีโทษ มีทุกข์ ผมอยากจะทราบตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ที่คุณเริงชัยกล่าวเมื่อสักครู่ เพราะเหตุว่าถ้าจะพูดถึงโทษต่างๆ ก็เป็นแต่เพียงชื่อ แต่ว่าการที่จะละกิเลสได้ ไม่ใช่ละไปได้หมดทันที เพราะเห็นโทษของโลภะ เห็นโทษของโทสะ เห็นโทษของการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพียงแต่พูดเรื่องโทษต่างๆ ไม่ใช่การทำให้สามารถละ หรือดับกิเลสได้

    ด้วยเหตุนี้โทษประการแรกที่เห็นชัด ที่จะต้องดับก่อน คือ เมื่อถึงความเป็นพระโสดาบัน ไม่มีความเห็นผิด และละความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม จนสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    เพราะฉะนั้น โทษใหญ่ที่จะต้องละก่อน เห็นก่อน ก็คือว่า โทษที่เห็นผิด ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ซึ่งเมื่อเกิดมาแล้ว มีความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นเหตุให้มีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ด้วยเหตุนี้การเห็นโทษจริงๆ ต้องเห็นโทษที่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ และโทษที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมทั้งหมด ทำให้เริ่มมีความเข้าใจถูกต้องว่า ธรรมไม่ใช่เรา นี่คือความเห็นถูก เพราะเหตุว่าความเห็นผิด คือ ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จึงยืดถือธรรมว่าเป็นเรา ความเห็นถูกก็คือ ธรรมไม่ใช่ใครเลย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็หมดไป

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง คลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดว่าเป็นตัวตนเมื่อไร เมื่อนั้นก็จะดับโทษใหญ่ประการสำคัญ ถึงความเป็นพระโสดาบัน โสตาปันนะ คือ ผู้สู่กระแส หมายความว่ากระแสที่จะนำไปสู่การดับสนิทของกิเลสทั้งปวง คือ สามารถดำเนินไปถึงความเป็นพระอรหันต์ จากปัญญาที่เริ่มฟัง และมีความเข้าใจถูก ความเห็นถูก

    เพราะฉะนั้นยังไม่สามารถที่จะดับการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ซึ่งเป็นการข้ามขั้น ปัญญาต้องอบรมตามลำดับ และการที่จะเห็นโทษของธรรมจริงๆ ที่กำลังฟังขณะนี้ เพราะเห็นโทษที่ไม่ได้ฟังธรรม ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จึงมีการยึดถือว่าเป็นตัวตน

    ถ้ามีการเห็นโทษอย่างนี้ ศึกษามากขึ้น ก็สามารถทำให้ดับกิเลสได้

    อ.วิชัย อยากสอบถามคุณเริงฤทธิ์ว่า เข้าใจว่าจิตมีประเภทเดียว หรือมีหลายประเภท

    ผู้ฟัง จิตมีหลายประเภท

    อ.วิชัย ยกตัวอย่างได้ไหม

    ผู้ฟัง การให้ทาน ขณะที่ให้ เอื้อมมือไปให้ จิตตรงนี้

    อ.วิชัย ไกลไปนะครับ ถ้าขณะนี้มีจิตประเภทเดียว หรือหลายประเภท

    ผู้ฟัง ขณะนี้มีจิตหลายประเภท

    อ.วิชัย เช่นอย่างไรบ้าง เช่นขณะกำลังนั่งอยู่ และขณะที่กำลังพูดคุยสนทนาอยู่ มีจิตหลายประเภทใช่ไหม อย่างไรบ้าง

    ผู้ฟัง อย่างเช่นได้ยินเป็นประเภทหนึ่ง พอได้ยินจบไปแล้ว มีประเภทอื่นเกิดต่อขึ้นมา อย่างเห็น

    อ.วิชัย ฉะนั้นก็เข้าใจว่า จิตไม่ได้มีประเภทเดียว แต่มีหลายประเภท อย่างเช่น จิตเห็นประเภทหนึ่ง จิตได้ยินก็ประเภทหนึ่ง จิตที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก็อีกประเภทหนึ่ง จิตเหล่านี้เกิดพร้อมกันไหม

    ผู้ฟัง เกิดไม่พร้อมกัน แต่ดูเสมือนว่าพร้อมกัน แต่จริงๆ ไม่พร้อมกัน

    อ.วิชัย แสดงว่าต้องมีจิตเห็นดับไปก่อน ใช่ไหม จิตได้ยินถึงได้เกิดขึ้น จิตได้ยินดับไปแล้ว จิตคิดนึกเรื่องราวต่างๆ จึงจะเกิดขึ้น เข้าใจอย่างนี้ใช่ไหม จริงไหม

    ผู้ฟัง จริง สมมติว่าเสียง จิตได้ยินเสียงแล้ว แล้วค่อยมีจิตต่อไปมานึกว่า เสียงที่ได้ยินนี่มีความหมายอย่างไร

    อ.วิชัย อันนี้เป็นความจริง เพราะสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า จิตไม่ได้มีประเภทเดียว มีหลายประเภท จิตที่เป็นผลของกรรมก็มี จิตที่กระทำกรรม คือ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล คือ จิตที่ดีมี จิตที่ไม่ดีมี ถ้าจิตที่เป็นผลของกรรม ยังไม่กล่าวถึง เช่น จิตเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องกระทบสัมผัส อันนี้เป็นจิตที่เป็นผลของกรรม เพราะเหตุว่าเมื่อเห็น จะทราบไหมว่า จะเห็นดี หรือไม่ดี เพราะเหตุว่ามาที่มูลนิธิ ก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า จะเห็นดี หรือไม่ดี เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรมที่เป็นปัจจัยให้เห็นในสิ่งที่ดี ซึ่งเป็นผลของกรรมดี เห็นในสิ่งที่ไม่ดี ก็เป็นผลของกรรมไม่ดีที่เคยกระทำไว้แล้ว

    สนทนาเรื่องจิตที่เป็นเหตุ คือ จิตที่ดีคือกุศล จิตที่ไม่ดีเป็นอกุศล ขณะที่นั่งอยู่เป็นจิตที่ดีคือเป็นกุศลจิต หรือ เป็นอกุศลจิต

    ผู้ฟัง ขณะที่นั่งอยู่เวลานี้ คิดว่าเป็นกุศล

    อ.วิชัย เพราะอะไรถึงคิดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง เพราะว่าขณะที่นั่งอยู่ ได้ฟังธรรม เลยคิดว่าเป็นกุศล

    อ.วิชัย ขณะที่นั่งอยู่ และคิดถึงเมื่อวานนี้ อาจจะดูทีวี เป็นกุศล หรืออกุศล

    ผู้ฟัง ดูทีวีอาจจะเป็นอกุศล

    อ.วิชัย เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ตรง เพราะเหตุว่าขณะนี้แม้จิตกำลังเกิดดับ แต่คิดได้ แต่ที่จะรู้ตรงจริงๆ ต้องเป็นสติสัมปชัญญะที่เกิดขึ้นรู้ในขณะนั้น อย่างเช่นขณะที่กำลังเดินตามปกติ ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะ จะไม่รู้เลยว่า จิตนั้นคืออะไร เป็นความไม่รู้ตามความเป็นจริง หมายความถึงมีความปรารถนา หรือมีความต้องการที่จะก้าวเดินไป หรือมีความขุ่นเคืองที่ก้าวเดินไป อันนั้นก็เป็นสภาพที่เกิดร่วมกับความไม่รู้ คือ ไม่รู้ตามความเป็นจริง แม้นั่งขณะนี้ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็ไม่รู้ตามความเป็นจริง แต่เมื่อมีการฟัง มีความเข้าใจ มีการพิจารณา เริ่มมีการสั่งสมความเข้าใจ คือ เป็นสติสัมปชัญญะ เริ่มพิจารณาว่า แม้จิต ไม่ใช่ประเภทเดียว แต่จิตก็ต้องมีหลายประเภท

    ท่านอาจารย์ สำหรับวันนี้มีความเข้าใจเรื่องจิตว่า เป็นสิ่งที่มีจริง และไม่ใช่เราด้วย และเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และจิตหลากหลายมาก ถ้าศึกษาต่อไปก็จะทราบว่า เป็นจิตแต่ละขณะ แต่ละประเภท ไม่ใช่เรา เพื่อให้เข้าใจจริงๆ เพิ่มขึ้นว่า ไม่มีเรา

    ไม่มีเรานี่ดี หรือไม่ดี

    ผู้ฟัง ดีครับ

    ท่านอาจารย์ ดีอย่างไร ไม่มีญาติพี่น้องด้วย ไม่มีเพื่อน ไม่มีใครเลย ทรัพย์สมบัติอะไรก็ไม่มีหมดเลย เป็นแต่ธรรมทั้งหมด ดีตรงไหน เพราะว่าขณะนี้เราอาจจะมีพ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูง รู้สึกว่าอบอุ่น มีสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ น่าเพลิดเพลิน แล้วถ้าไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเลย ดีตรงไหน

    ผู้ฟัง ดีตรงที่ไม่ติดข้อง

    ท่านอาจารย์ ดีตรงที่รู้ว่า ความจริงเป็นอย่างนั้น ต้องอาจหาญร่าเริงไหม ที่จะสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ความเป็นเรา ที่เคยเข้าใจว่ามีเรา เพราะว่าสิ่งที่ทุกคนรักที่สุด คนอื่น หรือตัวเอง

    ผู้ฟัง ตัวเอง

    ท่านอาจารย์ อย่างไรๆ ไม่มีการรักใครเกินตัวเอง เพราะยังเข้าใจว่ามีตัว มีเรา เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การที่จะมีปัญญาจนสามารถสละความเป็นเรา สละความติดข้องว่า เห็นไม่ใช่เรา ได้ยินไม่ใช่เรา สัตว์บุคคลใดๆ ก็ไม่มีเลยทั้งสิ้น เป็นสภาพธรรมที่แล้วแต่ว่าเป็นประเภทไหน เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของประเภทของธรรมนั้น แล้วหมดไป และไม่ใช่เป็นเฉพาะชาตินี้ชาติเดียว แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะรู้ความจริง ก็ผ่านไปในอดีตมาก แต่ผู้ที่ไม่รู้ ก็ยังคงไม่รู้ไปเรื่อยๆ ก็ยังคงไม่สละความเป็นเรา เพราะเหตุว่าต้องเป็นผู้อาจหาญร่าเริงจริงๆ และที่ว่าอาจหาญร่าเริง ไม่ใช่อวิชชา ต้องเป็นวิชชา หรือเป็นปัญญาที่รู้ว่า ปัญญา ความเห็นถูก เป็นสิ่งซึ่งยากที่จะมีได้ และถ้ามีแล้ว ก็สามารถดับกิเลสได้หมด และดับเราได้จริงๆ จะไม่มีเราอีกต่อไปในสังสารวัฏฏ์ พร้อมไหม

    ผู้ฟัง อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่ยังไม่ทราบว่าเมื่อไร

    ท่านอาจารย์ อยากเฉยๆ ไม่ได้ โดยไม่รู้ ต้องรู้ความเป็นจริง คือ ต้องเข้าใจสิ่งที่มีจริงไปเรื่อยๆ ด้วยความอาจหาญร่าเริงที่จะรู้ว่า เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ จะหาเรา หรือจะยึดถืออะไรว่าเป็นเราได้ เมื่อวานนี้หมดไปแล้ว เมื่อวานนี้สนุกมากไหม มีทุกข์มากไหม มีเรื่องอะไรต่างๆ เยอะแยะไหม ไม่เหลือเลย วันนี้จะเป็นเหมือนเมื่อวานนี้เมื่อถึงวันพรุ่งนี้ หรือว่าเพียงแค่หลับ หมดแล้ว ชื่ออะไรไม่รู้ อยู่ที่ไหน มีญาติพี่น้อง หรือไม่ จะทำอะไรต่อไป ทำอะไรไปแล้ว คือเหมือนไม่มีเรา ไม่มีอะไรเลย แต่แล้วมีตามเหตุตามปัจจัย

    นี่คือความน่าอัศจรรย์ของธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ใครบังคับบัญชาไม่ได้ แต่ต้องอาจหาญร่าเริงที่จะสละความเป็นเรา

    ผู้ฟัง เมื่อตอนแรกเลย พี่อุไรวรรณพูดว่าจะสนทนาเรื่องพระอภิธรรม ก็เลยกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่าความหมายของพระอภิธรรมกว้างแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม อภิ คือ ละเอียด หรือยิ่ง ถ้าพูดแต่เรื่องจิต โดยที่ใครไม่รู้ว่าจิตเป็นอย่างไร เป็นแต่เพียงพูดชื่อจิต แต่ธรรมไม่ใช่อย่างนั้น โดยเฉพาะ อภิธรรม คือ พระธรรมที่ทรงแสดงความละเอียดของสิ่งที่มีจริง จนกระทั่งสามารถทำให้ผู้ที่เข้าใจเห็นถูก ประจักษ์แจ้งความจริงได้

    ผู้ฟัง อาจหาญร่าเริงแม้แต่ขณะที่อกุศลเกิด หรือ

    ท่านอาจารย์ ทุกขณะ เพราะว่าอกุศลไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง แต่เมื่อกุศลจิตเกิด เมื่อก่อนไม่ทราบ ไม่เดือดร้อน เพราะว่าบางครั้งอกุศล อย่างเช่นโลภะ เราก็จะเพลิดเพลิน และพอใจ แต่พอได้ศึกษาธรรมทำให้เรู้ว่าเป็นอกุศล เมื่อแม้ความเพลิดเพลินพอใจเกิดขึ้น เราเดือดร้อน ไม่สามารถที่จะอาจหาญร่าเริงในอารมณ์นั้นที่ปรากฏได้ ในขณะเดียวกันมีความเดือดร้อน ซึ่งเป็นลักษณะสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือ โทสะเกิดขึ้นต่อเนื่องไป อยากจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ลักษณะของความอาจหาญร่าเริงในอกุศล เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ในอกุศล ขณะที่กำลังมีอกุศล หรือรู้ว่า อกุศลเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ในขณะที่มีอกุศล ก็ต้องไม่มีความอาจหาญร่าเริง

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง แต่ว่าเมื่ออกุศลจิตเกิด แล้วรู้ว่าเป็นอกุศล ก็ยังไม่อาจหาญร่าเริง

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเป็นเรา ไม่ใช่ปัญญาแล้วจะอาจหาญร่าเริงได้อย่างไร ปัญญากล้าที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม หรือเปล่า ไม่ใช่เราเลย ถ้ายังคงเป็นเราอยู่ ไม่พ้นกรงของกิเลส คือ โลภะ จะไม่ให้ออกไปสู่ความเห็นที่ถูกต้องเลย แม้แต่เพียงจะเข้าใจถูกต้องว่า ขณะนั้นเป็นธรรม ซึ่งความจริงเป็นธรรม ได้ฟังก็เข้าใจตามเหตุตามผลว่า เป็นธรรม แต่เวลาที่อกุศลจิตเกิด ก็หวั่นไหว เพราะขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาที่สามารถเข้าใจลักษณะนั้นว่า เป็นสภาพธรรมซึ่งมีลักษณะอย่างนั้น ใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เกิดแล้วก็หมดไป อย่างในขณะนี้ เห็นเกิดแล้วหมดไป ได้ยินเกิดแล้วหมดไป คิดนึกเกิดแล้วหมดไป กุศลจิตเกิดแล้วหมดไป อกุศลจิตเกิดแล้วหมดไป เข้าใจได้ แต่ไม่ประจักษ์ความจริง

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การอาจหาญ ที่สามารถสละความติดข้องซึ่งเคยยึดถือสภาพนั้นๆ ว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ต้องรู้ว่า อวิชชาไม่สามารถเห็นถูก เข้าใจถูก แม้ในสิ่งที่กำลังมีจริง ที่กำลังเผชิญหน้า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567