พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 264


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๖๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง ผู้ที่ศึกษาก็จะต้องรู้ นี่เป็นการศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรมเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังได้ยินได้ฟัง ตราบนั้นก็ยังไม่รู้จักตัวธรรม เพียงแต่กำลังรู้เรื่องของธรรมเท่านั้น

    ผู้ฟัง อย่างนั้นลักษณะที่อยากนั้น ปรากฏจึงรู้ได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง แต่ในขณะที่รู้ลักษณะที่อยาก เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็รู้ถูกต้องตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ รู้ถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นคุณประทีป หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ เป็นจิต เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ได้แก่เจตสิกอะไร

    ผู้ฟัง ปัญญาเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเจตสิกในขณะนั้นไม่ใช่คุณประทีป แต่ถ้าไม่ใช่ปัญญาก็ไม่สามารถรู้ได้

    ผู้ฟัง ก็เหมือนเป็นเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ เพราะยังไม่รู้ลักษณะ ก็ยังคงเป็นเรื่องราว จะพูดเรื่องจิต จะพูดเรื่องเจตสิก จะพูดเรื่องรูป แม้ขณะนี้มี ก็เป็นเรื่องราว เพราะไม่ได้รู้ลักษณะที่กำลังเป็นอย่างนั้น เช่น แข็ง ลักษณะแข็งเป็นธรรม สภาพรู้แข็ง มี เป็นจิต นี่คือฟัง จนกว่าแข็งปรากฏกับสติที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง นี่เป็นเรื่องอีกไกล ฟังวันนี้ มีใครจะไปทำสติปัฏฐานบ้าง เราทั้งนั้นเลย ไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ความรู้ ไปทำอะไรในเมื่อไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไปทำอะไร ทำอย่างไรเจริญสติ ทั้งๆ ที่กำลังฟัง ก็จะไปทำสติปัฏฐาน ขณะนี้ระลึกรู้อะไร

    ผู้ฟัง ขณะนี้ที่เห็น

    ท่านอาจารย์ ระลึกอย่างไร

    ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจอยู่ดี

    ท่านอาจารย์ ยังเป็นเราอยู่ ก็ฟังจนกว่าจะเข้าใจก่อนว่า เป็นธรรม ซึ่งมีจริงๆ และมีความเข้าใจขึ้น และไม่มีใครทำสติ นอกจากมีปัจจัย สติเกิด สติก็ทำหน้าที่ของสติ

    ผู้ฟัง เมื่อครู่ที่อาจารย์บอกว่า มีประโยชน์อะไรที่รู้จิต รู้เจตสิก อยากให้ขยายตรงนี้ เพราะจะมีคนถามมากว่า เรียนไปทำไมอภิธรรม

    ท่านอาจารย์ จิตมีจริง หรือเปล่า แล้วไม่รู้จักจิตก็ตามใจ คือ ไม่รู้ไปเรื่อยๆ ทุกชาติ แต่ถ้ารู้กับไม่รู้ อะไรจะดีกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งหมด รู้กับไม่รู้ อะไรจะดีกว่ากัน ไม่รู้ไปเรื่อยๆ กี่ชาติก็ไม่รู้ไปเรื่อยๆ กับค่อยๆ รู้ขึ้น อะไรจะดีกว่ากัน

    ผู้ฟัง หมายความประโยชน์ก็คือ ได้รู้สิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ สัจธรรม ความจริง ซึ่งมีทุกภพชาติ แต่ไม่เคยรู้จักความจริง และไม่มีวันจะรู้ได้ ถ้าไม่เกิดเป็นมนุษย์ ถ้าไม่ได้สะสมบุญที่ได้กระทำแล้วในอดีต ที่จะทำให้ได้ยินได้ฟังสิ่งที่มีจริง และค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้ในฐานะของสาวก คือ ผู้ฟัง ต้องฟัง แล้วถึงจะรู้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้อะไร ทรงแสดงธรรมตามที่ทรงตรัสรู้

    เมื่อตรัสรู้สิ่งใด ก็ทรงแสดงความจริงของสิ่งที่ตรัสรู้ ให้คนอื่นได้รู้ตามด้วย นี่คือพระมหากรุณาที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้นถึงแม้ว่าจะรู้แจ้งด้วยตัวเอง เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าสภาพธรรมยากที่จะใช้คำ แม้ว่าสิ่งนั้นกำลังปรากฏ อย่างรสที่แปลกมาก อธิบายอย่างไรดี ขื่น หรือขม หรือฝาด หรือหวาน หรือเค็ม แล้วจะระดับไหน เฝื่อนมากกว่า หรือหวานมากกว่า หรือเค็มน้อยกว่า ไม่รู้จะเอาคำอะไรมา แต่ว่าพระธรรมทั้งหมดที่มีแต่ละอย่าง ทรงแสดงโดยประการทั้งปวง โดยความจริงทั้งหมด ที่ให้ผู้ฟังที่เมื่อเข้าใจแล้ว ก็เข้าใจถูกต้อง จนกระทั่งเมื่อได้ประจักษ์สภาพธรรมนั้นเมื่อไรตรงตามที่ได้ฟัง ไม่ต่างกันเลยทั้งหมด

    แม้แต่ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ขั้นฟัง จำได้ เริ่มเข้าใจ แต่ว่าธรรมอะไรบ้าง เห็นต้องเป็นธรรม ได้ยินต้องเป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏต้องเป็นธรรม เมื่อไร เมื่อกำลังมีลักษณะที่เป็นธรรมปรากฏให้รู้ว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งมีจริงๆ เพียงแต่ว่าเพียงขั้นฟังยังไม่สามารถจะถึงระดับนั้นได้ เพราะว่าทุกคนไม่อยากมีโลภะ ไม่อยากมีอวิชชา แต่จะเอาไปทิ้งที่ไหน สะสมมา แค่วันนี้วันเดียว ถ้ารู้ก็ประมาณไม่ได้เลย ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วจะให้หมดความไม่รู้กับความติดข้อง เป็นไปไม่ได้อย่างที่ต้องการ นอกจากรู้ว่าเมื่อไรเป็นความเข้าใจในสิ่งที่มีจากการฟัง และค่อยๆ น้อมไป ความจริงไม่มีตัวตนที่จะน้อมไปเลย แต่ปัญญา ความเข้าใจถูกแต่ละขณะ กำลังน้อมไปสู่การรู้แจ้งลักษณะของนิพพาน ไม่ต้องไปขวนขวายทำอย่างอื่น เพราะถ้าไม่มีความเห็นถูก ไม่มีความเข้าใจถูก จะน้อมไปอย่างไร แม้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็ไม่รู้ แล้วจะไปรู้นิพพานซึ่งขณะนี้ไม่ได้ปรากฏ จะรู้ได้อย่างไร

    ธรรมต้องเป็นเหตุเป็นผล ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่มีจริง ไม่มีใครสามารถกล่าวแสดงได้ ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าศาสตร์ไหน วิชาไหน ก็ลองพิสูจน์ดูว่า ไม่มีใครสามารถทำให้เข้าถึงความจริงของธรรม นอกจากพระธรรมที่ได้ทรงแสดงแล้ว

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่า ถ้าได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษาแล้ว ควรจะสะสมไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนเพราะความเข้าใจ ปัญญาที่เห็นถูกต้องจะทำให้ถึงการดับทุกข์ ทุกคนไม่ชอบทุกข์ แต่ทุกคนก็ไม่พ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นหนทางเดียวที่จะดับทุกข์ ไม่เกิดอีกได้เลย คือ ปัญญาที่ได้เข้าใจธรรมตามลำดับขั้น

    อ.กุลวิไล มีข้อความที่นำมาจากอภิธัมมัตถสังคหะ จะเป็นการทบทวน ขออ่านข้อความก่อน

    ธรรมชาติ ที่ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า คิด อธิบายว่า รู้อารมณ์ เหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ว่า จิตมีการรู้แจ้งอารมณ์ เป็นลักษณะ ดังนี้

    ธรรมชาติที่ชื่อว่า เจตสิก เพราะอรรถว่า มีในจิต โดยมีความเป็นไปเนื่องด้วยจิตนั้น ความจริงเจตสิกนั้นเว้นจากจิตเสีย ไม่สามารถจะรับอารมณ์ได้ เพราะเมื่อจิตไม่มี ก็เกิดขึ้นไม่ได้ทั้งหมด ส่วนจิตแม้เว้นจากเจตสิกบางประการ ก็ยังเป็นไปในอารมณ์

    เจตสิกนั่นแล จึงชื่อว่า มีความเป็นไปเนื่องกับจิต อันนี้ก็จะเป็นลักษณะของจิต และเจตสิก ซึ่งตอนต้นชั่วโมงก็จะเกี่ยวกับพื้นฐานพระอภิธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นการทบทวน และบางครั้งก็อาจจะคิดว่า ทำไมถึงต้องอยู่ตรงจิต เจตสิก รูป เพราะเหตุว่าในพระไตรปิฎก และอรรถกถา หรือเมื่อไร ขณะไหนก็ตาม มีอะไรที่จะพ้นไปจากจิต เจตสิก รูป ทั้งๆ ที่มีอยู่เป็นประจำตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ไม่รู้ความจริงในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ถ้าจะกล่าวถึงธรรมอื่น ที่ได้ยินได้ฟัง เช่น ปฏิจจสมุปปาท หรืออริยสัจธรรม แต่ถ้าไม่เข้าใจว่า เป็นจิต เจตสิก รูป ก็คือไม่สามารถจะเข้าถึงความจริงของอริยสัจธรรมได้

    ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องอะไร ก็ไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป และสำหรับนิพพาน เมื่อยังไม่มีปัญญาที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานได้ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา ที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ

    การฟังธรรม ถ้ามีความเข้าใจแล้ว คงไม่ต้องไปนึกถึงชื่อ และคำที่มีในพระไตรปิฎก และอรรถกถามาก แต่ขณะใดก็ตามที่มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็สามารถเข้าใจสิ่งที่มีในพระไตรปิฎก และอรรถกถาได้ เช่น ขณะนี้มีจิต แล้วอย่างไร ที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ให้ไปนั่งคิด แต่ขณะที่ฟัง ก็จะรู้ได้ว่า จิตเป็นสภาพรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะที่ฟังก็ต้องมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เวลาที่ไม่ได้ฟัง แม้มีลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏ ก็ลืม หรือว่าไม่คิดถึง หรือว่าไม่เข้าใจ แต่ว่าขณะที่กำลังฟังธรรม ก็มีธรรมที่มีลักษณะต่างๆ ปรากฏให้ศึกษา ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะกล่าวถึงเรื่องจิตเมื่อไร ก็ให้ทราบว่า ขณะนี้มีจิตอะไร และขณะที่กำลังฟัง ก็เป็นเรื่องราวของจิต เจตสิก เรื่องราวของสภาพธรรม ฟังแล้วเข้าใจเมื่อไร แม้ขณะที่กำลังฟังนี่เองก็สามารถรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อยได้

    นี่คือจุดประสงค์ของการฟัง ถ้าฟังโดยไม่ถึงความเข้าใจที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็เป็นโมฆะ เพราะว่าจะเอาเรื่องราวเหล่านั้นไปทำไม จำชื่อต่างๆ ขณะนั้นไปทำไม แต่ว่าเมื่อฟังเข้าใจเมื่อไร ก็รู้ว่า ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

    ก็คงจะไม่มีใครเบื่อที่จะฟังเรื่องจิต เพราะจิตก็กำลังมี ฟังเพื่อว่า ถ้าไม่ฟังก็ไปคิดถึงเรื่องอื่น แต่ว่าในขณะที่ฟัง จิตกำลังมีจริง เจตสิกกำลังมีจริง รูปกำลังมีจริง และมีลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างด้วย ฟังจนกว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือแม้ในขณะที่ฟัง ก็สามารถรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้ นี่คือจุดประสงค์ของการฟัง

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์เตือนอยู่เสมอเลยว่า การศึกษาพระธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เพื่อจำชื่อ หรือเรื่องราว แต่เพื่อรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ที่ท่านกล่าวถึงจิต เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ก็ต้องมีอารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ด้วย ดังนั้นการที่จะรู้จิตในขณะนี้ที่มีในชีวิตประจำวัน จะพิจารณาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีตา จักขุปสาท เห็นไหม

    อ.กุลวิไล จักขุปสาท ไม่ได้ทำกิจเห็น

    ท่านอาจารย์ ไม่สามารถเห็น เพราะเหตุว่ารูปธรรมทั้งหมดไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย นี่เป็นลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม

    เมื่อวันก่อนก็มีผู้สนทนาเรื่องคอมพิวเตอร์ แล้วก็บอกว่าจำเก่ง เป็นไปได้ไหม คอมพิวเตอร์จะจำอะไรได้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลย นั่นคือบุคคลนั้นยังไม่ได้เข้าใจลักษณะของธรรมที่เป็นรูปธรรม ซึ่งไม่สามารถรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ใครกำลังเห็นสิ่งที่เขาเรียกว่า คอมพิวเตอร์ ขณะที่กำลังเห็น เป็นขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ แล้วรู้ลักษณะนั้น แล้วสัญญา สภาพที่จำ ก็รู้ว่า ลักษณะนั้นคืออะไร

    ในขณะนี้ สภาพธรรมที่เราได้ฟัง กำลังทำหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ โดยที่ว่าเกิดดับสืบต่อเร็วมาก จนกระทั่งกว่าจะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ จะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้น เป็นส่วนประกอบ ไม่ใช่เราจะไปพยายามให้สติสัมปชัญญะเกิด แล้วก็รู้การเกิดดับของสภาพนามธรรม และรูปธรรมในขณะนี้ ให้ทราบได้เลยว่า เป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจความจริงของลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็ไม่ใช่เราที่เข้าใจ

    ไม่ต้องไปกังวล เมื่อไรสติจะเกิด เมื่อไรจะรู้การเกิดดับของสภาพธรรม นั่นคือโลภะ กำลังหมกมุ่น แล้วก็มีความปรารถนา โดยที่ไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน และเป็นเครื่องกั้น เพราะว่าโลภะ เป็นความติดข้องต้องการ ไม่ใช่เป็นการเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม

    ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม ต้องละเอียด ต้องรอบคอบ ต้องรู้จริงๆ ว่า ขณะไหนเป็นโลภะที่เป็นอกุศล และขณะไหนเป็นกุศล มิฉะนั้นก็แยกไม่ออก ก็ยังคงมีอกุศล และความติดข้องเหมือนอย่างเดิม

    ผู้ฟัง โสภณธรรมเป็นนามธรรมที่ดี หมายถึงเฉพาะจิต และเจตสิกเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรถึงหมายถึงจิต และเจตสิกเท่านั้น มีเหตุผลอะไรที่กล่าวว่าอย่างนี้

    ผู้ฟัง เพราะมีโสภณเหตุ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะรูปไม่สามารถรู้อะไร?ได้เลย รูปจะเกิดเป็นอกุศลได้ไหม รูปจะเมตตาได้ไหม ก็ไม่ได้ ก็แสดงให้เห็นว่า เจตสิกจะเกิดกับจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ เหมือนกัน และเกิดพร้อมกันด้วย เพราะรู้อารมณ์เดียวกัน และเกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน ส่วนรูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปจะดี เป็นกุศล หรือเป็นอกุศลไม่ได้

    ผู้ฟัง แล้วเราจะเรียกว่า รูปเป็นอโสภณธรรมได้ไหม หรือไม่ได้

    ท่านอาจารย์ คือ จะเรียกอะไร เพื่ออะไร?ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง หรืออยากจะเรียกให้หายสงสัย หรืออย่างไรว่าได้ หรือไม่ได้ จะใช้คำไหน ก็ต้องเข้าใจคำนั้นด้วย ไม่ใช่ไปจำว่า รูปเป็นอโสภณธรรม แต่ทำไมเป็น

    ผู้ฟัง ทำไมจึงเป็นอโสภณธรรม เพราะไม่มีจิตเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่ใช่สภาพรู้ รูปโกรธไม่ได้ รูปทำกุศลไม่ได้ รูปไม่รู้อะไรเลย แล้วจะกล่าวว่า รูปเป็นกุศล อกุศลได้อย่างไร

    ผู้ฟัง นิพพาน ไม่ใช่จิตเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง ก็ไม่ใช่โสภณธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิด

    ผู้ฟัง เขาบอกว่า โสภณธรรม คือ ๑. โสภณเจตสิก ๒๕ ประเภท ๒. โสภณจิตที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก

    ท่านอาจารย์ อันนี้จำ หรือว่าเข้าใจว่า ธรรมที่ดี ได้แก่ โสภณเจตสิก เพราะว่าเจตสิกเป็นสภาพที่เกิดกับจิต เจตสิกที่ดีก็มี เจตสิกที่ไม่ดีก็มี เพราะฉะนั้นขณะใดที่เจตสิกฝ่ายดี เช่น สติ ศรัทธา อโลภะ อโทสะ เป็นต้น เกิดกับจิตขณะไหน จะให้จิตขณะนั้นไม่ดีได้ไหม ในเมื่อสภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วยเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ในขณะนั้นจิตก็เป็นสภาพที่ดี เป็นโสภณด้วย เพราะเหตุว่ามีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง แต่ในโสภณเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย อย่างน้อยต้องมี อโลภะ อโทสะ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน และต้องมีศรัทธาด้วย โสภณสาธารณะทั้งหมด ๑๙ ประเภท ขาดไม่ได้เลยสักหนึ่ง

    ผู้ฟัง อันนี้บอกว่า โสภณจิต มี กุศลจิต มหาวิบากจิต มหากิริยาจิต เวลาจด ก็คิดไป กุศลจิต ก็เช่น ชวนจิตของปุถุชนที่เป็นกุศล อย่างนี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จะเป็นชื่อ และเป็นการจำ แต่ขอถามถึงความเข้าใจ ชวนจิตคืออะไร

    ผู้ฟัง เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ กุศลจิต อกุศลจิต กิริยาจิต วิบากจิต ต่างกันอย่างไร ค่อยๆ เข้าใจอย่างมั่นคง

    ผู้ฟัง แล้วอย่างมหากิริยาจิตนี่คือ ชวนจิตของพระอรหันต์ ซึ่งไม่เป็นทั้งกุศล และอกุศล

    ท่านอาจารย์ เวลาที่กล่าวว่า มหากิริยาจิต เป็นชวนจิตของพระอรหันต์ ถ้าจะกล่าวว่า เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ได้ไหม

    ผู้ฟัง จะดีกว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จะดีกว่า เพียงแต่ว่า ได้ไหม เพื่อที่จะดูความเข้าใจ

    ผู้ฟัง ได้ แต่มหาวิบากจิตนึกไม่ออกเลย

    ท่านอาจารย์ วิบากจิตคืออะไร

    ผู้ฟัง จิตที่เป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัย วิบากจิตจะเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่วิบากจิตเกิด หมายความว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยที่จะให้วิบากประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นเท่าที่ถามว่า ไม่เข้าใจมหาวิบากจิต

    ผู้ฟัง คือเป็นคำใหม่ ไม่เคยได้ยิน

    ท่านอาจารย์ แต่ได้ยินคำว่า วิบากแล้ว ใช่ไหม ก็ทราบได้ว่า ถ้าอกุศลกรรมให้ผล ทำให้เกิดอะไร

    ผู้ฟัง อกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง และถ้ากุศลกรรมให้ผล

    ผู้ฟัง ก็เป็นกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ กุศลวิบาก

    ผู้ฟัง อโสภณจิต คือ จิตที่ประกอบด้วยเจตสิกอื่นๆ ที่ไม่ใช่โสภณเจตสิก มีทั้งหมด ๓๐ ประเภท ก็มีอเหตุกจิต ๑๘ อกุศลจิต ๑๒ เวลาที่ได้ยินอเหตุกจิต ก็จะนึกว่าคืออะไร สิ่งเดียวที่จำได้ ก็คือ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง

    ท่านอาจารย์ และความหมายของอเหตุกะ คืออะไร

    ผู้ฟัง คือไม่มีเหตุทั้ง ๖ เกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ จักขุวิญญาณขณะที่เห็น มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเท่าไร ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ลิ้น ๒ กาย ๒ เป็น ๑๐ เหลืออีก ๘ หาได้ไหม

    ผู้ฟัง คิดเองไม่ได้หรอกก็จำเอา ก็ไปค้นมาจากหนังสือ ก็มีสัมปฏิจฉันนะ ๒ ดวง

    ท่านอาจารย์ ต้องขออนุโมทนาในวิริยะที่ไปค้น แต่ถ้ามีความเข้าใจว่าก่อนวิถีจิตจะเกิด จิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นภวังค์ ภวังค์ไม่เป็นวิถีจิตเพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะไม่มีอารมณ์กระทบทวาร

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ทางทวารนั้นๆ เลย เพราะฉะนั้นจิตขณะไหนบ้างที่ไม่ใช่วิถีจิต

    ผู้ฟัง ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ฉะนั้นไม่ว่าที่ไหน เมื่อไร ก็ตามแต่ ก็ต้องทราบว่า ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ไม่ใช่วิถีจิต ถ้าเป็นจิตอื่นนอกจากนี้เป็นวิถีจิตทั้งหมด ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ทั้งหมดเลย หรือ

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมด คือ ธรรมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ คำใดที่กล่าวแล้ว ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ไม่ใช่วิถีจิต เพราะว่าไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวารนั้นๆ เลย เข้าใจแล้วทุกท่าน ก็ขอถามว่าปฏิสนธิจิตเป็นชาติอะไร

    ผู้ฟัง ชาติวิบาก

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะเป็นผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ต้องเป็นผลของกรรมที่ทำให้แต่ละคนเลือกเกิดไม่ได้ แล้วแต่ว่ากรรมไหนจะทำให้ปฏิสนธิประเภทไหนเกิด ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ปฏิสนธิจิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง อกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ เกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง สัตว์เดรัจฉาน ในนรก เปรต อสุรกาย

    ท่านอาจารย์ ฉะนั้นเวลาที่กุศลกรรมให้ผล ขณะนั้นจะเป็นวิบากประเภทไหน

    ผู้ฟัง ก็เป็นกุศลวิบากจิต แต่สงสัยตรงที่บอกว่า สันตีรณะ

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้เรามาถึง จิต ๑๐ ประเภทที่เป็นอเหตุกะ ยังขาดอีก ๘

    ก่อนที่จะมีการเห็น จิตเป็นภวังค์ และเมื่อภวังคจิตดับไปแล้ว จิตอะไรเกิด

    ผู้ฟัง มโนทวาราวัชชนจิต

    ท่านอาจารย์ เรากำลังจะพูดถึงอเหตุกจิต ๑๘ ว่า ก่อนจะเห็น จิตต้องเป็นภวังค์ก่อน เมื่อภวังค์นั้นดับไปแล้ว จะเห็นทันทีไม่ได้ ต้องเป็นไปตามลำดับของการเกิดดับสืบต่อ ฉะนั้นเมื่ออารมณ์กระทบจักขุปสาท อารมณ์ยังไม่ดับ จักขุปสาทยังไม่ดับ ภวังค์ไหวขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป ขณะต่อไปก็เป็นกระแสภวังค์สุดท้าย คือ ภวังคุปเฉทะ เพราะหลังจากนั้นแล้วต้องเป็นวิถีจิต


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567