พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 286


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๘๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ จากนี้ก็จะถึงอินทรีย์ ๕ แต่ก็ต้องให้รู้อินทรีย์อื่นด้วย ที่จะให้เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน ทั้งนามธรรม และรูปธรรม แม้เวทนา ผู้ถามเคยรู้ไหมว่าเป็นอินทรีย์แต่ละอินทรีย์ และเวลาที่จะเจริญอินทรีย์ หมายความถึงเจริญอินทรีย์อะไร ไม่ได้เจริญจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ไม่ได้เจริญเวทนินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ แต่เจริญศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาซึ่งเป็นอินทรีย์ แต่ขณะนี้ถ้าไม่รู้ว่าเป็น หรือเปล่า ศรัทธาจะเจริญได้ไหม เพราะฉะนั้นไม่ใช่รู้เพียงชื่อ

    ผู้ฟัง อยากให้ท่านอาจารย์ให้ข้อคิดว่า เหตุใดท่านจึงแยกเป็นอินทรีย์ ๒๒ บ้าง เป็นอินทรีย์ ๕ บ้าง มีเหตุผลอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้แยก แต่ละอินทรีย์เป็นอินทรีย์ รวมแล้วเป็น ๒๒ คือการฟังธรรมเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ฟังแล้วไปคิดต่อเอง ฟังเพียงคำเดียว ไปคิดต่อเองมากมาย นั่นไม่ได้ฟังธรรม ถ้าฟังธรรม ก็คือเป็นธรรม แล้วก็เข้าใจสิ่งนั้น เช่น เมื่อพูดถึงอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นอินทรีย์หนึ่งอินทรีย์ใดก็ตาม เป็นอินทรีย์ จักขุเป็นอินทรีย์ เมื่อพูดถึงหู โสตปสาท ก็เป็นอินทรีย์ ไม่ใช่จะไปอยู่ที่ไหน อะไรๆ แต่ให้เข้าใจความหมาย ความจริงของสภาพธรรมนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในพระปิฎกฉบับไหนด้วย แต่ถ้าเป็นความเข้าใจ สิ่งนี้อินทรีย์หนึ่ง สิ่งนี้อินทรีย์หนึ่ง สิ่งนั้นอินทรีย์หนึ่ง รวมแล้วทั้งหมดเป็น ๒๒

    ผู้ฟัง เมื่อกล่าวถึง อินทรีย์ ๕ ก็มีอินทรีย์ ๕ สองประเภทจริงๆ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ ๕ และอินทรีย์ ๕ อีกประเภทหนึ่ง ก็คือสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ ก็ ๕ เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วอีก ๕ คืออะไร เมื่อสักครู่ได้กล่าวไปแล้ว สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา ก็ ๕ อีก

    ผู้ฟัง คนใหม่ๆ อย่างกระผม เวลาเอ่ยชื่อก็สับสนอีก

    ท่านอาจารย์ คนใหม่ๆ จำ จำนวน แต่คนที่ฟังให้เข้าใจ ไม่คำนึงถึงจำนวน อย่างไรก็ครบ เพราะเป็นความจริงอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ก็ต้องเข้าใจด้วย ถ้าศึกษาผิด ก็ไม่ได้อะไร ก็เหมือนวิชาหนึ่ง บวกลบคูณหาร เป็นประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์บ้าง เป็นอะไรบ้าง แต่ธรรมไม่ใช่อย่างนั้น ธรรม คือ ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง และมีจริงๆ ไม่ได้ฟังอย่างนี้เลย ไปคิดถึงเรื่องโน้น ไปรวมกับเรื่องนั้น พอพูดถึงสิ่งนั้นก็ไปเติมสิ่งนี้อีก และบางครั้งไม่ได้ไปเติมอะไร คิดเองต่อ เช่นนั้นก็ไม่ชื่อว่า ฟังธรรม

    ผู้ฟัง ก็ถูกส่วนหนึ่ง อย่างเช่นเมื่อเอ่ยถึงศีล ๕ ก็ต้องนับให้ถูก นับศีล ๘ ก็ต้องนับให้ถูก อิทธิบาท ๔ ก็ต้องนับให้ถูก สัมมัปปธาน ๔ ก็ต้องนับให้ถูก

    ท่านอาจารย์ แต่เข้าใจไหม ศีล ๕ เข้าใจ หรือไม่

    ผู้ฟัง เข้าใจ แต่ต้องมาหลังจากการนับจำนวนให้ถูก

    ท่านอาจารย์ ต้องมาก่อน

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเราไม่รู้ว่า อิทธิบาทแปลว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ ทีละ ๑ ทีละ ๑ รวมแล้ว ๔ แต่ไม่ได้หมายความว่า ๔ ต้องจำไว้ให้ได้ แล้วไปหามาให้ครบ ไม่ใช่อย่างนั้น การฟังธรรม คือ ฟังสิ่งที่มีให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้ว ทรงแสดงธรรมที่มีนั่นเอง โดยนัยประการต่างๆ แม้แต่เรื่องของศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ ปัญญา แสดงไว้โดยนัยหลากหลาย อินทรีย์ก็เป็น พละก็เป็น อริยทรัพย์ ก็มีอีกหลายๆ อย่าง แล้วเราเสียเวลาไปจดจำ ๕ บ้าง ๗ บ้าง ๓ บ้าง ๑๐ บ้าง ๒๒ บ้าง เราเข้าใจแต่ละ ๑ หรือยัง ถ้าเข้าใจแต่ละ ๑ เราจะไปพบจำนวน ๓ บ้าง ๔ บ้าง อย่างศรัทธา หรืออินทรีย์ บางแห่งแสดง ๔ บางแห่งแสดง ๕ แล้วเราก็สับสน ต้องมาจำว่า ส่วนนี้ของพระไตรปิฎก จะเป็นนิกายไหนก็ตาม แสดง ๔ แสดง ๕ สิ่งนั้นไม่ใช่จุดประสงค์ จุดประสงค์ คือ ให้เข้าใจสิ่งที่มีให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้น ฟังที่กล่าวเมื่อเช้า สัมมัปปธาน ๔ ก็มี อิทธิบาท ๔ ก็มี อินทรีย์ ๕ ก็มี ในส่วนของอินทรีย์ ๕ ก็มีตั้ง ๒ – ๓ อย่าง ก็ให้ฟังไปก่อนใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จุดประสงค์ คือ ฟังให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง เข้าใจอะไร

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่กำลังฟัง กำลังฟังเรื่องอินทรีย์

    ผู้ฟัง เอ่ยชื่อ “อินทรีย์”

    ท่านอาจารย์ กำลังฟังคำว่า "อินทรีย์" อินทรีย์คืออะไร นี่คือความเข้าใจ ยังไม่ต้องไปนับจำนวนอะไรทั้งสิ้น อย่างตา จักขุปสาท หรือที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เข้าใจความหมายว่า เป็นอินทรีย์ หรือเปล่า ถ้าเข้าใจ หูเป็นอินทรีย์ หรือเปล่า จมูกเป็นอินทรีย์ หรือเปล่า ก็เข้าใจ นับแล้วก็ ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ไม่ต้องไปนับก็ได้ เพราะว่านับขาดนับเกินอย่างไร ก็ไม่เหมือนกับเข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้ว ก็ต้องตรงตัว ถ้าจุดประสงค์คือเรียนเพื่อเข้าใจ ก็สบายมาก อย่างไรๆ ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ๕ ก็คือ ๕

    เวทนา ๓ ได้ไหม หรือว่าต้อง ๕

    ผู้ฟัง อดคิดไม่ได้ มันมีชื่อบอกอยู่แต่ละประเภท

    ท่านอาจารย์ แต่เข้าใจ หรือเปล่า สำคัญที่เข้าใจ

    ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจรูปที่เกิดจากกรรม ถ้าเราเกิดมาตาบอด ก็หมายความว่า การที่เราตาบอด ก็เพราะมีรูปที่เกิดจากกรรม ทำให้ตาบอด หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ กรรมไม่ได้ทำให้ตา หรือจักขุปสาทเกิด ถ้าคนหูหนวก กรรมก็อาจทำให้ปสาทอื่นเกิด แต่ไม่ทำให้โสตปสาทรูปเกิด จะเกิด หรือไม่เกิด แล้วแต่กรรม

    ผู้ฟัง ถ้ากำเนิดขึ้นมาเลย ตาบอด

    ท่านอาจารย์ มีกรรมเป็นเครื่องกำหนดว่า จะมีตาเกิดขึ้น หรือเปล่า จะมีหูเกิดขึ้น หรือเปล่า เมื่อถึงกาลที่สมควร เพราะว่าทันทีที่เกิดยังไม่มีตาเกิด ยังไม่มีหูเกิด หลังจากนั้นไปอีก สัปดาห์ต่อๆ ไป ก็จะมีจักขุปสาท โสตปสาทเกิด เป็นต้น

    ผู้ฟัง แล้วชีวิตินทรีย์ทำให้ต่อมาตาบอด หรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ หมายความว่าเวลาที่กรรมเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น ก็จะมีรูปที่แยกกันไม่ได้ ๘ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ๔ เป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นมหาภูตรูป และเมื่อมีมหาภูตรูปที่ไหน ต้องมีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา เกิดร่วมด้วยอีก ๔ รูป เพราะฉะนั้น ๘ รูป ไม่แยกจากกันเลย ไม่ว่าจะเป็นรูปที่เกิดจากจิต เกิดจากอุตุ เกิดจากอาหาร ที่จะมีน้อยกว่า ๘ รูปไม่ได้ แต่สำหรับรูปที่เกิดจากกรรม จะต้องมีชีวิตินทรียรูปอีกรูปหนึ่งในทุกๆ กลุ่ม หรือกลาป ซึ่งเกิดจากกรรม ทำให้เป็นรูปซึ่งต่างกับรูปอื่น เพราะเป็นรูปที่ทรงชีวิต หรือมีชีวิต ต่างกับรูปอื่น เช่น ต้นไม้ใบหญ้าเกิดจากอุตุ ไม่ได้เกิดจากกรรม เพราะฉะนั้นความปรากฏ ก็ไม่มีชีวิต เพราะไม่มีชีวิตินทรียรูป ที่ทำให้รูปนั้นดำรงสภาพความเป็นรูปที่มีชีวิต และถ้ามีจักขุปสาท นอกจากจะมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา ยังต้องมีจักขุปสาทรูปรวมอยู่ในกลาปนั้น ในกลุ่มนั้นอีก ๑ รูป รวมเรียกว่า จักขุทสกกลาป หมายถึงกลุ่มของรูปที่เกิดจากกรรม ซึ่งมีจักขุปสาทเกิดร่วมด้วย และในกลุ่มของโสตปสาทก็โดยนัยเดียวกัน แต่ไม่ใช่จักขุปสาท เพราะเป็นโสตปสาท เป็นรูปซึ่งเกิดดับอย่างเร็วมาก แต่ก็มีสมุฏฐานที่ทำให้เกิด และจะเกิดตราบเท่าที่มีสมุฏฐาน

    ถ้ากล่าวถึงอินทรีย์ ๕ ที่เป็นศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แต่ไม่รู้ ไม่เข้าใจนามธรรม และรูปธรรม ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะว่าปัญญาจะไปรู้อะไรได้ ก็ต้องมีความเข้าใจธรรมที่มี เป็นการอบรมเจริญอินทรีย์ ๕ นั่นเอง

    อ.อรรณพ การสนทนาธรรมขณะนี้ แต่ละท่านมีความเข้าใจขึ้น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา คือ เจตสิก ๗ อย่างนี้ (เจตสิก ๕ อย่างนี้ นาทีที่ ๙.๑๒) มีเกิด ถ้าขณะนั้นมีปัญญาขั้นการเข้าใจ จะเป็นอินทรีย์ หรือเป็นฝักฝ่ายของอินทรีย์ ๕ อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เข้าใจชื่อ หรือเข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏ

    อ.อรรณพ ถ้าเข้าใจชื่อ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจชื่อ และตัวจริงอยู่ที่ไหน

    อ.อรรณพ เข้าใจสภาพธรรม แต่ยังไม่รู้ตรงลักษณะสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็จะนำไปสู่ปัญญาขั้นต่อๆ ไป เพราะว่าถ้าศึกษาโดยละเอียด จะเห็นได้ว่า แม้แต่คำว่า “สัมมัปปธาน” ซึ่งเป็นคำที่ใช้สำหรับวิริยเจตสิก เวลาที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าทำกิจ ๔ กิจ แล้วแต่ว่าทีละกิจนั้นจะพร้อมเมื่อถึงโลกุตตรจิต แต่แม้กระนั้นข้อความในพระไตรปิฎกก็มีว่า แม้ขณะจิตที่คิด ที่จะเว้นทุจริต ขณะนั้นก็เป็นสัมมัปปธาน

    เป็นเรื่องของภาษา ภาษาที่ใช้ทั่วๆ ไปในถิ่นหนึ่ง คือ ในครั้งพุทธกาล แล้วภาษาไทยของเราก็ใช้กันทั่วๆ ไป ในกาลนี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ก็ใช้ภาษาที่ใช้ทั่วไปด้วย และใช้ภาษาซึ่งเป็นคำที่เข้าใจอยู่แล้ว ไม่ใช่หมายความว่า ต้องไปคิดคำใหม่มาให้เขาไม่รู้เรื่อง อย่างภาษาในยุคก่อน ใช้คำว่า “จักษุ” ก็ใช้คำว่า “จักษุวิญญาณ” วิญญาณก็ใช้อยู่ จักษุก็ใช้อยู่ แต่หมายความถึงสภาพธรรม แต่ไม่ใช่ไปประดิษฐ์คำต่างหากขึ้นมาอีก

    เพราะฉะนั้นแม้ความเพียร หรือสัมมัปปธาน ซึ่งเป็นไปเพื่อจะละอกุศลที่เกิดแล้ว หรือที่จะไม่ให้เกิด หรือว่าให้กุศลที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น และให้กุศลที่เกิดแล้วเจริญขึ้น แม้เพียงเริ่มคิดตั้งใจที่จะละอกุศล ขณะนั้นภาษาบาลีทั่วๆ ไป ก็ใช้คำว่า “สัมมัปปธาน” ด้วย

    เพราะฉะนั้นก็มีความหลากหลาย ตั้งแต่ขั้นต่ำสุด เล็กน้อยที่สุด จนกระทั่งสูงที่สุดได้

    อ.อรรณพ ปัญญาก็เช่นเดียวกันใช่ไหม สุตตมยปัญญา กับจินตามยปัญญา สองคำนี้ก็เป็นปัญญินทรีย์ในตอนเริ่มต้นด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของภาษา เราจะรู้ได้อย่างไร ต่อไปหากได้ศึกษาละเอียดขึ้น ก็จะพบว่า แม้แต่ "พละ" ที่ใดที่เป็นสภาพธรรมที่เป็นพละได้ เกิดกับจิตใด ในที่นั้นใช้คำว่า พละ แต่ความลึกซึ้ง อย่างจักขุวิญญาณ ทุกคนเห็น มีเห็น ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วเมื่อไรเป็นพละ จิตซึ่งเกิดต่อ แม้ขณะนี้ก็เป็นกุศล ก็มี และขณะนั้นก็มีวิริยะด้วย แล้วก็มีสภาพธรรมที่เป็นวิริยะ คือ ศรัทธาวิริยะ แต่ปกติธรรมดาของกุศลทั้งหลาย ก็ต้องมีศรัทธา และมีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ แล้วเมื่อไรเป็นปัญญา ถึงแม้ว่าเป็นกุศล แต่เป็นกุศลที่หลากหลาย แม้แต่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่ใช่ว่า มีปัญญาเกิดร่วมด้วยทุกขณะจิต แล้วแต่ปัจจัยว่า ขณะนั้นแม้กุศลซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี และกุศลซึ่งประกอบด้วยปัญญาก็มี

    เพราะฉะนั้นความที่จะเป็นพละ หรือไม่เป็นพละ ก็แสดงให้เห็นว่า ในขณะไหน ซึ่งเกิดสืบต่อกัน โดยที่ในขณะนี้ ขั้นต้นอย่างนี้ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย แต่เวลาที่ปัญญาเจริญขึ้น ก็จะมีเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต ซึ่งขณะนั้นต่างกับขณะนี้ เพราะฉะนั้นใช้คำว่า “วิริยะ” หรือ “สัมมัปปธาน” หรือ “พละ” หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เป็นการหลากหลายที่จะแสดงให้มีความเข้าใจว่า เจตสิกทั้งหมดเปลี่ยนลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภทไม่ได้ แต่ว่าความหลากหลาย คือ เกิดเมื่อไร ขณะไหน ประกอบด้วยเจตสิกอะไร และมีอารมณ์อะไร ก็ทำให้ต่างๆ กันไป

    แต่ทั้งหมดไม่ใช่ชื่อ เป็นสภาพธรรมที่เป็นจริง จึงทรงบัญญัติคำ แสดงให้เห็นความหลากหลาย หรือความต่างในขณะนั้น

    อ.กุลวิไล เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวถึงความหลากหลายของเจตสิกตามอารมณ์ ซึ่งหมายความถึง การอบรมเจริญปัญญา ก็ต้องเริ่มจากการฟังแน่นอน ท่านอาจารย์ได้ยกตัวอย่างวิริยเจตสิก แน่นอนขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย จากการศึกษาธรรม กุศลก็มีทั้งที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา และประกอบด้วยปัญญาได้ แม้ขณะที่ฟังนี้เอง แม้จะเป็นการอบรมเจริญอินทรีย์ แต่ก็เป็นระดับขั้นแรก มีทั้งการฟังเรื่องราวของสภาพธรรมที่มีจริง และมีปัจจัยให้รู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงด้วย ซึ่งเจตสิกที่ท่านอาจารย์ว่าหลากหลายตามอารมณ์ ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีความเข้าใจอย่างไร หรือผู้นั้นฟังแล้วไตร่ตรองเข้าใจเพียงใด สภาพของเจตสิกก็เป็นเจตสิก จะเป็นอินทรีย์ เป็นพละ ก็คือสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกนั่นเอง แต่เจตสิกนั้นมีธรรมใดเป็นอารมณ์ ก็ขึ้นอยู่กับว่า มีเรื่องราวของสภาพธรรมเป็นอารมณ์ หรือมีลักษณะของสภาพธรรมเป็นอารมณ์ ซึ่งแล้วแต่การเจริญขึ้นของปัญญา และสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ขอยกตัวอย่างเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท แล้วจะใช้คำว่า เป็นสมาธิพละเมื่อไร ถ้าปัญญาไม่ได้เจริญจนกระทั่งรู้ลักษณะของสภาพธรรมจากอินทรีย์ ๕ เป็นพละ ๕ ไม่ได้ แต่เมื่อเป็นพละ ๕ แล้ว และกำลังเป็นพละ ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏกับปัญญาซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ไม่มีใครสามารถจะกั้นได้ แม้ลักษณะของสมาธิที่ไม่ได้เกิดกับปัญญาในขณะนั้น ท่านกล่าวว่าเป็นสมาธิพละ

    ก็แสดงให้เห็นว่า เราจะไปรู้ละเอียดถึงอย่างนั้น หรือเปล่าว่า แม้แต่คำนี้ หมายความว่าเมื่อไร ถ้าไม่มีความรอบคอบ เราก็กล่าวว่า เอกัคคตาเจตสิกเป็นสมาธิพละทั้งหมด เพราะกล่าวที่นี้ว่าเป็นสมาธิพละ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ก็จะรู้ความหลากหลาย ขณะนี้เอกัคคตาเจตสิก แม้จะเกิดดับสลับทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต จะกล่าวว่าเป็นพละได้ไหม เมื่อไร นี่ก็เป็นเรื่องของความละเอียด

    เพราะฉะนั้นธรรม จากการที่ไม่รู้เลย สิ่งที่ปรากฏก็ไม่เคยเข้าใจ เหมือนคนตาบอด อยู่ในความมืดด้วย และอยู่ในเหวลึกด้วย เพียงฟังธรรม เห็นไหมว่า อวิชชามากแค่ไหน สภาพธรรมกำลังปรากฏจริงๆ สีสันวัณณะกำลังปรากฏ ก็ไม่รู้ว่าเกิดดับ เสียง หรือสภาพธรรมใดๆ ทั้งหมด เร็วมาก จนกระทั่งใช้คำว่า “สังขารนิมิต” หมายถึงสิ่งที่เหลือที่ปรากฏ เกิดดับสืบต่อ เหมือนสิ่งนั้นยังมีอยู่จริงทั้งหมด เป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ แต่ตามความเป็นจริง ยังไม่ได้เข้าใจถึงอรรถของคำว่า สังขารนิมิต ว่า แท้ที่จริงแล้วอยู่ในโลกของนิมิต เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็ว ถ้าเข้าใจอย่างนี้ เมื่อไร จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถึงสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งแม้เกิดดับสืบต่อ ก็มีจริงๆ ให้เข้าใจถูกได้ ให้ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า จากการไม่รู้เลย ค่อยๆ ฟัง มีความเข้าใจขึ้น แต่จากระดับของความเข้าใจ จะให้เป็นระดับของการประจักษ์แจ้ง เป็นไปไม่ได้เลย คนละระดับ แม้ว่าเจตสิกจะเกิดกับกุศลจิต เหมือนกัน แต่ความต่างของกำลังของเจตสิกที่เกิดก็ต่างกัน เพราะว่ากุศลจิตต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต้องมีศรัทธา ต้องมีอโลภะ อโทสะ โสภณเจตสิกทั้งหมดเกิด แต่ในขั้นฟัง กับในขั้นที่สติสัมปชัญญะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ในลักษณะที่ไม่ใช่เป็นคำที่คิด หรือท่องว่า เห็นเป็นนาม สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูป ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ขณะนี้ขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ จากที่ไม่เคยเข้าใจเลย ก็รู้ว่า เป็นเพียงธาตุ หรือสิ่งหนึ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เมื่อไรจะถึงอย่างนี้ ก็ลองดู จากเป็นเราอยู่ตลอดเวลา ไม่มีสักขณะที่ค่อยๆ เข้าใจ ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรเลย แต่ฟังแล้วฟังอีกจนกระทั่งเริ่มเข้าใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ถ้ามิฉะนั้นแล้ว จะสละความเป็นเรา ความผูกพันในสิ่งที่ปรากฏเป็นคนที่รัก เป็นบุตร เป็นหลาน เป็นเพื่อนสนิทได้อย่างไร เพราะว่ายังไม่รู้ธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” ก็ไม่ใช่เพียงกล่าว แต่ธรรมไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ตัวตน ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ฟังไปเรื่อยๆ และเจตสิกทั้งหลายที่เป็นฝ่ายโสภณ ก็ค่อยๆ ปรุงแต่งเพิ่มกำลังขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะกล่าวว่า ขณะไหนเป็นพละ ขณะไหนไม่ใช่พละ ก็แล้วแต่ว่า ขณะนั้นมีสภาพธรรมใดเกิดดับสลับกันแค่ไหน

    อ.วิชัย ขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ถ้าพูดถึงโดยสภาพของวิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ก็พอจะเข้าใจว่า โดยสภาพของธรรมที่เกิดพร้อมกันที่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม ก็มีกิจของตน แต่โดยสภาพของศรัทธาที่เกิดชั่วขณะที่สติระลึก จะเป็นลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ แล้วสภาพของวิริยะ

    อ.วิชัย ก็ขวนขวายทำกิจรู้ลักษณะในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วสภาพของผัสสะ

    อ.วิชัย ก็กระทบอารมณ์ในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ กล่าวโดยชื่อ แต่ลักษณะปรากฏให้รู้ไหม เมื่อสักครู่นี้บอกว่าไม่รู้ลักษณะของอะไร ในขณะที่กุศลจิตเกิด ศรัทธาใช่ไหม ถ้าไม่รู้ลักษณะของศรัทธา รู้ลักษณะของผัสสะ หรือไม่ แล้วทำไมเจาะจงจะไปรู้ลักษณะของศรัทธา ขณะนี้สภาพของศรัทธาเกิดดับเร็วมาก สืบต่อ อย่างไรๆ ก็ไม่รู้ ถ้าไม่ใช่ปัญญาพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ และเมื่อสติสัมปชัญญะเกิด ก็ใช่ว่าจะรู้ลักษณะของศรัทธา แล้วแต่ว่าสติระลึกลักษณะใด เพราะฉะนั้นไม่ใช่ปัญหา ที่ว่าขณะนี้ไม่รู้ลักษณะของศรัทธา เพราะว่าไม่รู้แม้ลักษณะของผัสสะ แม้ลักษณะของเวทนา อะไรๆ ก็ไม่รู้ เพราะว่าเกิดแล้วดับแล้วเร็วมาก เร็วจนสุดจะประมาณได้ กำลังฟังเรื่องราวของสิ่งที่เกิดดับอย่างเร็ว เพื่อค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าไม่ใช่ตัวตน และสิ่งที่ปรากฏจริงๆ เกิดดับทั้งนั้นเลย แต่ไม่ได้ปรากฏเลย

    เพราะฉะนั้นอยู่ในโลกของความไม่รู้มามากมายแค่ไหน จนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น และเวลาที่จะรู้ ไม่ใช่ตามใจชอบว่า เมื่อไรจะรู้ลักษณะของศรัทธา เพราะขณะนี้ศรัทธามี ก็ไม่รู้ ผัสสะมี ก็ไม่รู้ เวทนามี ก็ไม่รู้ สติมี ก็ไม่รู้ ก็ไม่รู้หมด จนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิด และมีลักษณะของสภาพธรรมใดปรากฏ นั่นคือสติระลึกลักษณะนั้น ลักษณะนั้นจึงปรากฏกับสติ และปัญญาก็จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้นในความเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่มีลักษณะปรากฏ ให้มีความเข้าใจมั่นคง การที่จะสละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ก็เป็นไปไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่ฟังมาแล้ว เข้าใจแล้วด้วยว่าเป็นธรรม

    อ.วิชัย เมื่อสติเกิด ในขณะที่ศรัทธาเกิดทำกิจของศรัทธาแล้วก็ดับ ขณะนั้นก็มีสภาพธรรมปรากฏแก่สติ และศรัทธาก็ต้องเกิดร่วมด้วย แต่ศรัทธาไม่ได้ปรากฏในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ เหมือนเจตสิกทั้งหลาย เช่น ผัสสะ เวทนา ก็ไม่ได้ปรากฏ แล้วแต่ว่าสิ่งที่ปรากฏ ปรากฏแก่สติที่ระลึกสิ่งนั้นเท่านั้น

    ผู้ฟัง ขณะที่เห็น อะไรเป็นอินทรีย์ จักขุนทรีย์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา ใช่ไหม ไม่ใช่จักขุปสาท ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอินทรีย์ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าขณะนั้นปรากฏแล้วก็ไม่มีสภาพอื่นมาเกี่ยวข้อง คิดว่าสภาพนั้น

    ท่านอาจารย์ เห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นสี

    ท่านอาจารย์ แล้วสีเป็นอินทรีย์ หรือเปล่า จะคิดเอง หรือจะฟัง ได้เข้าใจจากขั้นการฟังมาแล้ว เข้าใจแล้ว หรือว่าจะคิดเอง

    ผู้ฟัง ฟังดีกว่า

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่ฟังว่าอะไรเป็นอินทรีย์ในขณะเห็น ภาษาธรรมดา คือ ตา แต่ไม่ใช่ตาทั้งหมด แต่ต้องเป็นส่วนที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เท่านั้น ที่เป็นจักขุ หรือตาจริงๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567