พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 293


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๙๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ในขณะที่เป็นเรา เป็นปัญญา หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นปัญญาของเรา

    ท่านอาจารย์ ยังไม่มีปัญญา กำลังเป็นตัวเรา กำลังเป็นของเรา เป็นปัญญา หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นปัญญาของเรา

    ท่านอาจารย์ เป็นโลภะ ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง เราก็ต้องค่อยๆ ละคลายโลภะ

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเกิด หรือยัง และปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เราก็ต้องเป็นอกุศล จะเป็นกุศลไม่ได้ เพราะเห็นผิดว่า มีเราที่พยายามจะทำให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าปัญญาเป็นสภาพธรรมที่รู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เรา จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช่เรา ก็ไม่มีใครจะไปทำอะไรอีกแล้ว

    ผู้ฟัง อัตตานุปาทาน เป็นเรื่องที่ยากมาก ยากกว่ากามุปาทานอีก

    ท่านอาจารย์ พระโสดาบันบุคคลละอุปาทาน ๓ คือ ทิฏฐุปาทาน ความเห็นผิดต่างๆ ละสีลัพพัตตุปาทาน การปฏิบัติหนทางซึ่งไม่ใช่ทางที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ละอัตวาทุปาทาน อุปาทาน คือ ทิฏฐิ ที่นอกจากทิฏฐิ และสีลัพพัตตปรามาส

    กามุปาทาน ถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าบางแห่ง กาม หมายถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งพระอนาคามีบุคคลละ แต่ถ้าในหมวดนั้น ข้อนั้น ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับภพ หรือภวะ หรือความติดข้อง กามุปาทาน รวมถึงการติดข้องในภพด้วย เพราะว่ายังยินดี ด้วยเหตุนี้การศึกษาจึงรู้ว่า เราเป็นใคร เราละกามุปาทานไม่ได้แน่นอน ที่จะละได้ ก็คือทิฏฐุปาทานก่อน

    ผู้ฟัง แต่ในชีวิตประจำวัน ทุกวัน เราคลายโลภะได้บ้างในระดับหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ด้วยความคิดของเราว่า ละ แต่ยังมีความเป็นตัวตนอยู่ เพราะฉะนั้นไม่เป็นการละ ตราบใดที่ยังไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จะละกามุปาทานไม่ได้ ต้องเข้าใจความจริง การศึกษาธรรมเพื่อให้เป็นผู้ที่ตรง ที่จะรู้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง อยากโน่น อยากนี่ ลดให้น้อยลงได้

    ท่านอาจารย์ เราลดไม่ได้ แต่สังขารขันธ์จะปรุงแต่งจากความเข้าใจธรรมแล้วเห็นโทษ ไม่ใช่เป็นเราลดเลย ถ้าเรามีความเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนี้เราพูดง่ายมากว่า สภาพธรรมมีปัจจัยเกิดขึ้น พูดง่าย แต่ขณะนี้สิ่งที่เกิด เกิดเพราะเหตุปัจจัย เห็น หรือเปล่าว่า ไม่ได้เกิดขึ้นตามความคิด หรือความต้องการของเรา แต่ต้องมีปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ถ้าไม่ใช่ปัญญา จะไปทำอย่างไรให้ปัญญาเกิดขึ้นก็เป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง โลภะธรรมดา กับวิสมโลภะ คือ สิ่งที่ไม่ได้แล้วยังไปขวนขวายให้มันได้ คือวิสมโลภะ เราละได้ ระลึกอยู่ ก็คือสิ่งที่ไม่ได้ก็ปล่อยไป ไม่ได้ ไม่สมควรได้ ก็ปล่อยไป สิ่งที่สมควรได้ ก็ยังต้องได้ ก็คือโลภะธรรมดา ยังมีโลภะ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจถูกว่า โลภะเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง แล้วเราก็ต้องทิ้งหมดใช่ไหม ไม่ต้องทำอะไรเลย ทั้งบุญก็ไม่ทำ ทั้งบาปก็ไม่ทำ อยู่เฉยๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นก็เป็นผู้ที่พอใจในกุศล แต่ไม่ได้พอใจในการมีปัญญาเกิดขึ้นรู้ความจริงของสภาพธรรม เพียงแต่พอใจในกุศล ถ้าเป็นอย่างนั้น ข้อความในปฏิสัมภิทามรรคจะไม่เน้นการถึงวิญญาณจริยา อัญญาณจริยา และญาณจริยา กุศลอื่นไม่ได้รวมอยู่ด้วยเลย เพราะอะไร ทรงกล่าวถึงโทษจริงๆ และประโยชน์จริงๆ ไม่มีใครสามารถจะหลีกเลี่ยงการเกิดแล้วต้องเห็น ได้ยิน เป็นวิญญาณจริยา ต้องมี แต่เมื่อเกิดแล้ว เป็นอกุศล ก็สะสมมาที่จะเป็นอกุศล ต้องรู้ แต่ถ้าเพียงทำกุศลอื่น ไม่ใช่การมีปัญญาที่จะเห็นถูก ไม่ใช่ประโยชน์ที่แท้จริง เพราะว่าถึงอย่างไรจะเกิดในชาตินี้ซึ่งเป็นมนุษย์ เป็นสุคติภูมิ ก็หมดไปแล้ว โดยไม่มีอะไรเหลือ แต่ละวันที่ผ่านไปก็เหมือนเพลินอยู่ในความฝัน หรือในความมืด ที่ไม่รู้ความจริง

    ภพนี้ฉันใด สวรรค์ก็ฉันนั้น รูปพรหม อรูปพรหม ก็ฉันนั้น ทุกวันก็ผ่านไปด้วยความไม่รู้ ต่อเมื่อใดที่มีปัญญาเกิดขึ้น ที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เมื่อนั้นจึงจะเป็นญาณจริยา

    ในความเป็นจริง ในสังสารวัฏฏ์ก็มีอยู่ ๓ อย่าง ที่ควรจะเห็น คือ วิญญาณจริยา เป็นความประพฤติเป็นไปของจิตในแต่ละภพ แต่ละชาติ ซึ่งต้องเป็นอย่างนั้น ห้ามไม่ได้ที่จะไม่ให้เกิดขึ้น และหลังเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ก็ห้ามไม่ได้ที่จะให้อกุศลเป็นไป แต่ต้องเห็นโทษจริงๆ และโทษอย่างนี้จะละได้ด้วยอะไร ไม่ใช่กุศลอื่นๆ ธรรมดา แม้แต่รูปฌาน อรูปฌาน ซึ่งมากกว่า สงบกว่ากุศลเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันก็ยังไม่ได้กล่าวถึง เพราะเหตุว่าก็เหมือนกับความฝัน ก็เกิดขึ้นเป็นไปแล้วก็หมดไป ด้วยความไม่รู้เรื่อยๆ แม้ว่าลักษณะของสภาพธรรมจะปรากฏ ต่อเมื่อใดปัญญาเริ่มเข้าใจลักษณะที่มีจริงๆ อบรมจนกระทั่งแทงตลอด ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม นั่นคือประโยชน์สูงสุด แต่ไม่ใช่กุศลอื่น กุศลอื่นเกิดแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็เหมือนกัน ชั่วชาติหนึ่งๆ เท่านั้นเอง

    ต้องมีความเข้าใจว่า เราจะมีความพึงพอใจเพียงแค่กุศล หรือรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใดก็เหมือนกัน เกิดแล้วก็หมดไป เกิดแล้วก็หมดไป แล้วก็ยังสะสมอกุศลไว้มากมายด้วย ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริง

    เพราะฉะนั้นประโยชน์แท้จริง เมื่อมีการเห็น การได้ยิน คือ มีการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม มิฉะนั้นแล้วก็เป็นเพียงแค่กุศลที่จะนำไปสู่ภพชาติต่างๆ

    ผู้ฟัง เป็นความจริง จนกระทั่งบางครั้งทั้งกุศล และอกุศลก็วางเฉยหมด

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่ความรู้

    ผู้ฟัง (ใช่) ที่บอกว่า ละตัวตน ละความเป็นเรา ความจริงผมยังสงสัยว่า เราความเป็นเรา ต้องถึงขั้นไหนๆ หรือเปล่า ต้องถึงขั้นบรรลุโสดาปัตติมรรค หรือโสตาปัตติผล ถึงจะละตัวเราได้ เราเรียนรู้ในขั้นนี้ ยังไม่สามารถละความเป็นตัวตนได้ ผมอยากเรียนถามท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ที่พูดว่า “รู้” เรารู้จริงแค่ไหน ถ้ารู้จริง คือ อริยสัจจะ เป็นพระโสดาบัน สามารถจะละความสงสัย ความไม่รู้ การเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เพราะได้รู้ความจริงของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ฟัง ขณะนี้เรากำลังฟังเรื่องของสภาพธรรม กำลังฟังอยู่เข้าใจ แต่รู้จริงๆ หรือเปล่า เช่น กล่าวว่า ขณะนี้จิตเห็นเกิดแล้วดับ เรารู้จริงๆ หรือเปล่า หรือเพียงแต่ฟังเข้าใจว่า ขณะนี้มีจิตเห็นจริงๆ เพราะกำลังเห็น และต้องเกิดขึ้นด้วย ถ้าไม่เกิดก็เห็นไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป และถ้าเรามีความเข้าใจในเรื่องเหตุปัจจัยจริงๆ ประจักษ์จริงๆ ว่าสภาพธรรมนั้นเกิดแล้ว ไม่มีการบังคับเลย มีปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิด เราจะไปหวัง จะไปคอย จะไปรออะไรไหม ในเมื่อรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้สภาพธรรมปรากฏ เกิดแล้วทั้งนั้นเลย แต่ยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้น และการดับไป เพราะฉะนั้นยังไม่ใช่รู้จริง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเพียงความเข้าใจขั้นฟัง ซึ่งไม่สามารถประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม ถ้ายังไม่ประจักษ์แจ้ง ไม่หมดความสงสัย เพียงแต่ฟังเท่านั้นเอง แต่ทุกคำที่ทรงแสดงเป็นความจริงจากการตรัสรู้ สภาพธรรมเกิดจริงๆ ดับจริงๆ และคนที่ได้ฟัง และอบรมเจริญปัญญา ก็สามารถที่จะประจักษ์ความจริงด้วยปัญญาของตนเองที่ละโลภะ ละความต้องการ เพราะรู้ว่าโลภะ ไม่ได้ทำให้เกิดการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เพราะเป็นการไม่รู้ความจริง และหวัง เป็นตัวตนที่ลึกมาก ที่ยิ่งฟัง ก็ยิ่งหวัง และยิ่งทุกข์ แต่ถ้ารู้ว่าเป็นธรรม ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ขณะที่เป็นกุศล เป็นปัญญา ความเห็นถูก ก็ไม่มีความทุกข์อะไร เพราะรู้ว่าก็เป็นธรรมแต่ละอย่าง จนกว่าจะเข้าใจความจริงโดยการประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง

    ดังนั้นปัญญาที่เกิด ก็จะต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ถ้าไม่มีการฟังเลย เราคิดเองได้ไหม ไม่ใช่ตัวเราที่เห็น คิดเองได้ไหม ไม่มีทาง และเมื่อฟังแล้ว พิจารณาแล้ว ก็เป็นปัจจัยที่จะให้สติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะ ซึ่งขณะนี้มี แต่เราข้ามไปเสมอ ไม่ได้รู้ตรงลักษณะแต่ละลักษณะจริงๆ เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถรู้การเกิดขึ้น และดับไปได้ ต่อเมื่อใดที่รู้ลักษณะจริงๆ ปัญญาสมบูรณ์ขึ้น ก็จะประจักษ์ความเป็นจริงตรงตามที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมด เมื่อนั้นก็จะประจักษ์แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถึงจะดับกิเลสได้ ดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

    ผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ยังดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนไม่ได้ จะไปคิดหวังพยายามเพียงไรโดยวิธีอื่น ไม่สำเร็จ เพราะว่าไม่ใช่ปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง อยากจะถามว่า ถึงขั้นไหน ถึงจะละความเป็นตัวเราได้ ละความเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ รู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔

    ผู้ฟัง เป็นโสดาปัตติผล

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เรายังเห็นเป็นรูปร่าง เป็นโต๊ะ เป็นดอกไม้ อย่างนี้ แล้วปัญญายังไม่เห็นว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น หนูยังไม่เข้าใจว่า ให้เห็นเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฎทางตา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้เห็น เข้าใจให้ถูกต้อง ทุกคนฟังแล้วจะไปเห็น แต่จะไม่มีความเข้าใจอะไรเลย ฟังไปก็จะไปเห็น ไม่ได้ หมายความว่าขณะนี้สภาพธรรมปรากฏ แล้วรู้ หรือเปล่า เข้าใจ หรือเปล่า ความจริงคืออย่างนี้ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจแล้ว จะเห็นถูกอย่างนี้ได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้นผิดแล้วใช่ไหม ที่ฟังแล้วอยากเห็น แล้วไม่เห็น ฟังไปเพื่อให้เห็น แต่ไม่เห็น ไม่ใช่ฟังเพื่อให้เห็น แต่ให้รู้ความจริงว่า สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ ขณะที่รู้ความจริงว่า ขณะนี้เป็นอย่างนี้ แต่ไม่เห็นตามความเป็นจริง จึงต้องฟังอีก ให้เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก และการที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมขณะนี้ เป็นไปได้ แต่ไม่ใช่ด้วยความไม่รู้อะไรเลย เพียงแค่ฟังแล้วก็ไม่เห็น ฟังแล้วก็ไม่เห็น ฟังแล้วก็อยากจะเห็น ไม่ใช่

    ผู้ฟัง อย่างนี้ต้องฟังต่อไปเรื่อยๆ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เข้าใจขึ้น หรือเปล่า

    ผู้ฟัง พอจะเข้าใจขึ้นจากก่อนหน้านี้เล็กน้อย

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปพูดเรื่องเห็น เข้าใจขึ้นๆ ๆ

    ผู้ฟัง มีผู้เขียนถามว่า เมื่อวานนี้ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงธรรม และธรรมารมณ์หลายครั้ง เหมือนจะย้ำเตือนให้ท่านผู้ฟังได้คิด พิจารณาจริงๆ จึงเริ่มพิจารณาธรรมที่ตัวเอง ในขณะนี้เอง ตามความเป็นจริง เริ่มรู้สึกว่า ที่คิดว่าเข้าใจนั้น ก็คือยังไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ลักษณะสภาวธรรมในขั้นการฟังนั้นเป็นอย่างไร ขอกราบเรียนท่านอาจารย์อธิบายเพิ่มเติม

    ท่านอาจารย์ ชื่อทุกชื่อ หรือคำทุกคำที่มีในพระไตรปิฎก เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมไม่ใช่ฟังเพียงคำ แต่รู้ว่าขณะนี้คำที่ได้ยินหมายถึงสิ่งที่มี และจะค่อยๆ เข้าใจในความเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าถ้าเราจะผิวเผิน คิดว่าธรรมเป็นคำหนึ่ง ซึ่งเราได้ยิน และเราเข้าใจแล้วโดยตลอด แต่นั่นคือ ไม่ได้รู้ว่า ธรรมคืออะไร และอยู่ที่ไหน เข้าใจเพียงคำแปลเท่านั้นเองว่า ขณะนี้มีสภาพธรรม แล้วก็ใช้คำว่า “ธรรม” หมายความถึงสิ่งที่มีในขณะนี้ แต่ต้องเป็นความเข้าใจที่ตรงกว่านั้นอีก คือว่า ขณะนี้มีอะไร ขณะนี้มีอะไรไหม หรือไม่มีอะไรเลย

    ต้องมีความคิด การไตร่ตรอง เพื่อเป็นปัญญาของตนเอง ที่จะเข้าใจคำที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นขณะนี้มีอะไร หรือไม่มีอะไรเลย มี มีอะไร มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ตอบได้ แน่ใจไหมว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีจริงๆ มีแน่นอน เพราะว่ากำลังปรากฏ รู้ไหมว่า เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่มาเกี่ยวข้องกับคำว่า “ธรรม” แล้ว ที่ได้ยินว่า ทุกอย่างเป็นธรรม คือ เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นแม้สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ก็ยังต้องอาศัยการฟัง ต้องฟังเรื่องนี้ไปตลอด จนกระทั่งถึงกัปป์ทำลายก็ตามแต่ ก็คือว่าไม่พ้นจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พระธรรมที่ทรงแสดงจะเกินกว่านี้ได้ไหม ในเมื่อสิ่งที่จะปรากฏได้ สามารถจะปรากฏได้เพียง ๖ ทาง มีทาง ๖ ทาง ที่สามารถทำให้สิ่งที่มีจริงๆ ปรากฏ เช่น สิ่งที่เป็นแสงสว่าง เป็นสีสันต่างๆ ขณะนี้ ปรากฏทางตา สิ่งนี้มีจริง ปรากฏเมื่อมีจักขุปสาท นี่คือการฟังเรื่องของสภาพธรรมจนกว่าจะไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม ไม่ต้องไปเห็นอะไรทั้งหมดว่าจะให้เกิดดับ แต่ต้องฟังก่อน ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ที่มั่นคงจริงๆ ว่าแม้ฟังอย่างนี้ ความเข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่กำลังมี ก็ยังน้อยมาก ยังไม่พอ จนกว่าจะฟังแล้วค่อยๆ ไตร่ตรอง ในขณะที่กำลังฟังนี่เอง มีสิ่งที่ปรากฏทางตาจริง สิ่งนี้เป็นธรรม ไม่ใช่เราไปจำคำที่เขาบอกมาว่า ทุกอย่างเป็นธรรม อะไรๆ ก็เป็นธรรม เห็นก็เป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธรรม นั่นคือฟัง และจำ แต่ไม่ใช่ความเข้าใจ ถ้าเป็นความเข้าใจ คือ ขณะนี้มีสิ่งนั้นจริงๆ กำลังปรากฏ และสิ่งนี้สามารถจะกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น ถ้าไม่มีจักขุปสาทเมื่อไร ขณะไหน และไม่มีจิตเห็นเกิดขึ้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ จะปรากฏไม่ได้เลย และเราก็เห็นมานานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่ได้เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ก็คงแค่ปรากฏ แต่ที่ไม่รู้ก็คือว่า เมื่อปรากฏแล้วหมดไป แต่การหมดไป สืบต่อเร็วมาก จนไม่มีใครสามารถจะรู้ ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะทรงรู้หนทางที่จะทำให้ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมได้ ก็จะไม่มีใครรู้เลย จะเกิดอีกกี่ภพกี่ชาติ สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ปรากฏเสมือนเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง คือไม่ดับไปเลย แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ นี่คือความหมายของคำว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย บางคนคิดว่า เพราะเขาอยากเห็น เขาจึงเห็น เขาจงใจจะเห็น เขาก็เห็นได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น จะเข้าใจอรรถที่ว่า “สักกายทิฏฐิ” มี ๒๐ ไหม คือ ยึดถือสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดว่า เป็นตน และสิ่งอื่นนอกจากนั้นก็เป็นสิ่งที่ตนมี หรือว่ามีอยู่ในตน เป็นต้น

    ถ้าเรามีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขึ้น เวลาที่พบพยัญชนะ เรื่องสักกายทิฏฐิ ก็รู้ได้เลยว่า ยังมีอยู่มากน้อยแค่ไหน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การฟังธรรมกับการเข้าใจธรรม ก็คือ ฟังเรื่องราว คือ ชื่อ แต่เข้าใจตัวจริงๆ ของธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ เมื่อได้เข้าใจคำต่างๆ ที่กล่าวถึงสภาพธรรมนั้นแล้ว

    การฟังให้เข้าใจ จึงต้องรู้ว่า ฟังธรรม ศึกษาธรรม เพื่อเข้าใจว่า สิ่งที่มีทั้งหมด เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ผู้ฟัง จะรู้สึกว่ายาก เพราะว่าพอฟังแล้วก็จะไปติดที่เรื่องราว ไปติดที่ชื่อ และบางคนก็จะบอกว่า จำชื่อเยอะๆ ได้ และเก่ง และเอาชื่อเยอะๆ มาคุยกัน แต่ไม่เข้าใจสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังใหม่ ฟังใหม่ ศึกษาใหม่ ในครั้งพุทธกาล ไม่มีตัวหนังสือ ที่จะมากางตำรา แล้วก็เปิดหน้านั้นหน้านี้ แต่จากการฟัง รู้ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนั้น ซึ่งก็เหมือนขณะนี้ จักขุวิญญาณ สภาพเห็นครั้งโน้น จะเกิดที่ไหน เมื่อไร กับใคร ก็ไม่ต่างกับจักขุวิญญาณเดี๋ยวนี้

    ฟังธรรมให้เข้าใจธรรม ไม่ใช่ฟังให้มาคิดถึงตัวเรา เรามีอย่างนั้น เรามีอย่างนี้ ก็ยังคงเป็นเราอยู่ แต่เมื่อฟังแล้วรู้ว่าเป็นธรรมมากเท่าไร ความเป็นเราก็หายไป ค่อยๆ จางลง จนกว่าจะดับหมดเป็นสมุจเฉท

    ด้วยเหตุนี้จึงต้องเริ่มจากการฟังธรรม คือรู้ว่า ธรรมคืออะไร กำลังมีสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ฟังให้เข้าใจสิ่งนี้จนกว่าจะมั่นคงว่า เป็นธรรมเท่านั้น เมื่อฟังแล้วที่ไหน ก็สามารถจะเข้าใจได้ว่า ทรงแสดงเรื่องความจริงของสิ่งที่สามารถปรากฏให้เข้าใจได้ ไม่พ้นจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ผู้ฟัง จากหนังสือ “ปรมัตถธรรมสังเขป” ที่ว่า รูป อัชฌัตติกรูป ๕ คือ รูปภายใน ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และพาหิรรูป ๒๓ เมื่ออ่านแล้วเข้าใจว่า หทยรูป น่าจะเป็นภายใน และทำไมจึงมีแค่ปสาทรูป ๕

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีหทยรูปไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ รู้ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ก็เพราะหทยรูป เป็นที่เกิดของจิตอื่น ที่ไม่ใช่จิตเห็น จิตได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ใช่ ทุกอย่างไม่ผิด แต่รู้ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง รู้จากเรียนขั้นเรื่องราว แต่ยังไม่รู้จักตัวจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะรู้รูปได้จริงๆ ต้องอาศัยปสาทรูป ๕ ที่สามารถกระทบกับรูป ที่สามารถกระทบกับปสาทรูปนั้นๆ แต่รูปอื่นไม่สามารถจะรู้ได้อย่างรูปที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้นรูปอะไรเป็นภายในสำหรับจิตซึ่งปกติก็จะรู้อารมณ์ที่เป็นรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    ขณะนี้จิตของใครรู้รูปอื่นบ้างไหม มีจิตใครที่รู้รูปอื่น นอกจากรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้นรูปทั้ง ๕ รูปที่เป็นภายใน เพราะเหตุว่าเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับการที่จิตจะเกิดขึ้นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ถ้าจะคิดนึก อาศัยเห็น แล้วก็คิดเรื่องราวต่างๆ แต่ขณะนั้นไม่มีรูปปรากฏ เป็นแต่เพียงความจำเรื่องราว

    ที่ทุกคนเกิดมาเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส พอใจในอะไร ต้องเป็นขั้นๆ ต่อไปอีก ไม่ใช่เพียงแค่เห็น เกิดมาแค่เห็น ก็เท่านั้นเอง ใช่ไหม แต่ความจริงไม่ใช่เท่านั้นเลย เห็นแล้วพอใจในสิ่งที่เห็น ยึดมั่นในสิ่งที่เห็น ไม่รู้ในสิ่งที่เห็น กระทำกรรมต่างๆ เนื่องมาจากสิ่งที่เห็น ซึ่งต้องอาศัยจักขุปสาท

    เพราะฉะนั้นทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน ชีวิตที่ดำเนินไปวันหนึ่งๆ เป็นไปเนื่องกับตา หู จมูก ลิ้น กาย

    อยากได้อะไร ไม่พ้นจากรูปที่ปรากฏ รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยเหตุนี้ รูปทั้ง ๕ รูป จึงเกี่ยวข้องใกล้ชิด ความใกล้ชิดก็คือเป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตสามารถที่จะมีอารมณ์ในวันหนึ่งๆ ที่เป็นไปทุกขณะ คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูปอื่นไม่ได้เป็นปัจจัยเหมือนกับที่จะให้มีอารมณ์ที่ปรากฏได้ อย่างรูปทั้ง ๕ รูปนี้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567