พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 277


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๗๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    อ.อรรณพ ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ปัญญาจะรู้ความเป็นจิต เป็นชาติกุศล อกุศล วิบาก กิริยา หรือว่ารู้เจตสิกประเภทต่างๆ ได้ทันที แต่การศึกษาก็จะช่วยให้เรามีความเข้าใจพื้นฐาน ความเข้าใจในความจริงของสภาพธรรม เมื่อกล่าวถึงโลภะ ที่เป็นสภาพที่ติดข้อง ในขณะที่โลภะเกิด ก็มีผัสสะกระทบกับอารมณ์นั้น ชักนำมาซึ่งการรู้อารมณ์ ทำให้โลภะสามารถรู้อารมณ์ที่ผัสสะกระทบ และชักนำมา โลภะก็ติด สัญญาเจตสิกก็จำในสภาพที่เป็นอารมณ์ที่ผัสสะกระทบ และชักนำมาให้สัญญาจำ ให้โลภะติด เพราะฉะนั้นโลภะที่มีสัญญาเกิดด้วยจากการที่มีผัสสะกระทบ และชักนำมาก็ติด ความจำก็จำว่าอย่างนี้ดี สีอย่างนี้สวย เสียงอย่างนี้ไพเราะ

    ผู้ฟัง จากที่ฟังจากคำบรรยายเมื่อสักครู่แล้ว ก็รู้สึกว่า เป็นเหตุปัจจัยทุกอย่างเลย เมื่อเราฟังยังน้อย จึงน้อมมาเข้าใจจริงๆ ไม่ได้เลยว่า ทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเหมือนเป็นชื่อกับเรื่องราว แต่ก็เป็นชีวิตประจำวัน คุณบุษบงรำไพอยากจะได้อะไรบ้างเวลานี้

    ผู้ฟัง อยากเข้าใจธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้อยากเห็น ไม่ได้อยากได้ยินอะไรบ้างหรือ ชอบรับประทานอาหารอะไร กลางวันนี้อยากจะรับประทานอาหารนั้นหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็อยากทาน แต่ไม่ได้นึกถึง

    ท่านอาจารย์ ลองบอกสักอย่างได้ไหมว่า ขณะนี้อยากได้อะไร

    ผู้ฟัง อยากได้เสื้อตัวใหม่

    ท่านอาจารย์ อยากได้เสื้อตัวใหม่ ถ้าเพียงแค่คิดว่าอยากได้ พอใจแล้ว ก็ไม่ต้องไปหา ถูกต้องไหม แต่แม้ว่าจะชอบสิ่งที่อยากจะได้ในขณะนั้นก็ยังไม่พอ เพราะยังไม่ได้มีผัสสะในสิ่งที่ต้องการในขณะนั้น เพราะฉะนั้นขณะที่เรานึกชอบอะไรก็ตามแต่ ใจชอบแล้ว ก็ยังไม่พอ ยังต้องการที่จะกระทบกับอารมณ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ คนที่ไปแสวงหาดอกไม้สวยๆ เพราะว่าชอบอยากจะได้ ก็ไปตามตลาดที่มี จนกว่าผัสสะจะกระทบกับสิ่งที่พอใจ เพราะฉะนั้นเพียงชอบ ไม่พอ ยังต้องมีการกระทบ คือ สามารถที่จะให้เห็น หรือให้ได้ยิน ให้ได้กลิ่น ให้ลิ้มรส ให้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ชอบเท่านั้นเอง ยังต้องการที่จะกระทบ และให้รู้อารมณ์นั้น หรือให้อารมณ์นั้นปรากฏจริงๆ ด้วย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ได้ฟังธรรมโดยละเอียด ชีวิตประจำวันของเราก็ผิวเผินมาก เพราะเหตุว่าทุกอย่างเกิดขึ้น และดับไปเร็ว แม้แต่ชั่วขณะนี้ที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏก็ไม่ได้คิดถึงผัสสะ มีแต่ความต้องการ มีแต่ความอยากได้ แต่ถ้าลองพิจารณาจริงๆ ว่า ขณะนั้นพอใจแล้ว โลภะก็เกิดแล้ว ก็ยังไม่พอ ยังต้องถึงผัสสะกระทบปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใดจริงๆ เพราะฉะนั้นก็ไม่พ้นจากความติดข้องในสภาพธรรมทั้งหมด เว้นโลกุตตรธรรม

    ผู้ฟัง ทุกข์ที่กาย ลักษณะที่เกิดนี่คือทุกข์ อย่างเช่นมีของแข็งตกใส่เท้าแล้วเกิดความเจ็บ แต่สิ่งที่ปรากฏ สภาพธรรมจริงๆ แข็งไม่ได้ปรากฏ แต่ว่าปรากฏเป็นความเจ็บ เจ็บนี้ก็คืออารมณ์ของจิตขณะที่เรารู้ในสภาพธรรมนั้นที่ปรากฏใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สิ่งนี้ก็ต้องละเอียดที่จะรู้ว่า จิตเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก ทุกขเวทนาเกิดกับจิตประเภทไหน ความรู้สึกเป็นทุกข์มี ขณะนั้นที่ความรู้สึกเป็นทุกข์เกิดขึ้นมี มีกับจิตประเภทไหน เกิดกับจิตประเภทไหน นั่นอย่างหนึ่ง แต่ว่าความรู้สึกนั้นก็เกิดสืบต่อ แม้ว่าจะมีจิตอื่นเกิดคั่นทางทวารต่างๆ ก็ตาม แต่ลักษณะของความรู้สึกที่ไม่สบาย เป็นทุกข์ก็ยังคงปรากฏอยู่นั่นเอง แต่ตามความจริงก็คือกายวิญญาณ จิตเกิดขึ้น มีความรู้สึก คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็น เวทนาเจตสิกประเภทนั้นเกิด ไม่ใช่ตัวจิต แล้วก็ดับไป แต่ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้เมื่อความเจ็บจะเกิดอีก ความเจ็บก็เกิดอีกสืบต่อเสมือนไม่ดับ

    เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจจริงๆ ว่า สิ่งที่เราพูด เราพูดถึงจิตดวงไหน ขณะไหน เป็นกายวิญญาณซึ่งกำลังรู้สิ่งที่กระทบ และมีทุกขเวทนาเกิดร่วมด้วย หรือเราพูดถึงความรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ชอบเลย ซึ่งไม่ใช่ขณะที่กำลังมีทุกขเวทนา ไม่ใช่กายวิญญาณ แต่เป็นจิตอื่นซึ่งเกิดสืบต่อ

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม เป็นเรื่องที่ทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจความเป็นไปของจิตอย่างละเอียด ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพื่อที่จะให้มีความมั่นคงในการที่จะรู้ว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ผู้ฟัง กายวิญญาณก็รู้อารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ทางกาย ก็คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว แต่ลักษณะของเวทนาที่เกิดกับกายวิญญาณ ก็คือสุขกับทุกข์ ในขณะที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏทางกาย ทุกอย่างเป็นสภาพธรรม เมื่อสิ่งนั้นปรากฏ แม้จะเป็นลักษณะของเวทนาที่ปรากฏ เวทนานั้นก็เป็นอารมณ์ของจิต คือ กายวิญญาณนั้นได้

    ท่านอาจารย์ กายวิญญาณจะรู้เวทนาไม่ได้เลย กายวิญญาณรู้เฉพาะสิ่งที่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว แต่ขณะนั้นมีทุกขเวทนาเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจิตที่กำลังมีทุกขเวทนาเป็นอารมณ์ กำลังรู้ลักษณะของทุกขเวทนา ขณะนั้นไม่ใช่กายวิญญาณ เพราะว่ากายวิญญาณมีโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ กายวิญญาณจะมีทุกขเวทนาเป็นอารมณ์ไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีจิตหนึ่งที่รู้ลักษณะของเวทนาเป็นอารมณ์ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน จิตเกิดแล้วดับไปอย่างเร็วมาก เหลือเพียงนิมิตของสังขารทั้งหลาย

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ที่คุณสุถาม กายวิญญาณก็รู้โผฏฐัพพะ และสงสัยต่อว่า ทุกขเวทนา ตัวเขาไม่ต้องโดนรู้ หรือ ไม่เข้าใจว่าแล้วอะไรรู้ทุกขเวทนา

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ทุกขเวทนาปรากฏ มีจริงๆ ใช่ไหม ขณะนั้นเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง ทุกขเวทนาเป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ขณะนั้นเรายังไม่รู้ความต่างของจิตกับเจตสิกเลย ใช่ไหม แต่ลักษณะของทุกขเวทนาไม่ใช่จิต เป็นสภาพที่เกิดกับจิตประเภทหนึ่ง คือ กายวิญญาณ แต่ว่าลักษณะของทุกขเวทนาที่ปรากฏ เป็นสภาพนามธรรม เพราะฉะนั้นจิตที่สามารถจะรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมได้ ต้องเป็นจิตประเภทไหน

    ผู้ฟัง ต้องเป็นมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่กายวิญญาณ และขณะที่กำลังรู้ลักษณะของทุกขเวทนา ชอบ หรือไม่ชอบ

    ผู้ฟัง ไม่ชอบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นจิตที่เป็นอกุศลที่กำลังมีทุกขเวทนาเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง คือโทสมูลจิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ทุกขเวทนาเป็นเจตสิก ไม่ใช่วิบากเจตสิก ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทั้งจิต และเจตสิกซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นวิบาก จิตก็เป็นวิบาก เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นวิบากด้วย เพราะแม้วิบากเจตสิกนั้นก็เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง ทุกขเวทนาก็เป็นวิบากเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง กายวิญญาณพร้อมเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม

    อ.วิชัย ตามความเป็นจริง เมื่อรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร มโนทวารก็รู้อารมณ์นั้นสืบต่อ โดยมีภวังค์คั่น โดยปกติเมื่อสติเกิด เริ่มที่จะระลึกรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารต่างๆ โดยความเป็นจริง ทางมโนทวารเกิดมากกว่าทางปัญจทวาร ดังนั้นการปรากฏของมโนทวาร จะปรากฏโดยสติระลึกรู้มโนทวารในลักษณะอย่างไร ที่จะรู้อย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เช่น ความรู้สึก ขณะนั้นต้องแยกไหมว่า ทวารไหน

    อ.วิชัย ไม่ต้องแยก เพราะเหตุว่ามีความรู้สึกปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แต่จากการศึกษาทราบได้

    อ.วิชัย ที่เรียกว่า มโนทวารที่ปรากฏมากกว่าทางปัญจทวาร คือ เป็นความเข้าใจที่เป็นปัญญาที่จะรู้ความจริงในขั้นคิดนึก หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ มโนทวารปรากฏมากกว่าทางปัญจทวาร ฝัน ทวารไหน

    อ.วิชัย มโนทวาร

    ท่านอาจารย์ คิดนึกโดยที่ไม่มีอะไรเลย แม้แต่ตาเห็น ใจก็คิดๆ ๆ เรื่องอื่นไป ขณะนั้นอะไรปรากฏมากกว่ากัน

    อ.วิชัย ปรากฏคิดนึกมากกว่า

    ท่านอาจารย์ แล้วคำถามของคุณวิชัยว่าอย่างไร

    อ.วิชัย สติเริ่มเกิดที่จะระลึกรู้ตามทวารต่างๆ ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางปัญจทวาร หรือมโนทวาร ตามความเป็นจริง ทางมโนทวารต้องเกิดมากกว่า เมื่ออารมณ์แม้ปรากฏทางมโนทวาร สติก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่รู้ทางมโนทวาร โดยที่ไม่ต้องคิดเป็นคำว่า มากกว่า หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ กำลังรู้ลักษณะที่อ่อน หรือแข็ง กำลังจับไมโครโฟนอยู่ใช่ไหม คิดว่าอย่างไร หรือเปล่า แต่ลักษณะแข็งปรากฏโดยไม่ต้องคิด แต่ไม่รู้เพราะอกุศลจิตเกิด จึงไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่แข็งว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด จะต้องคิดไหม ในเมื่อแม้ขณะที่กำลังมีแข็งเป็นอารมณ์ แต่อกุศลจิตเกิด ก็ไม่ได้คิดอะไร ฉันใด เวลาที่สติสัมปชัญญะกำลังมีลักษณะนั้นเป็นอารมณ์ ก็ไม่ได้คิดเป็นคำ แต่กำลังเริ่มมีความเข้าใจในลักษณะที่แข็ง เพราะว่าปกติธรรมดาไม่ได้คิดถึงว่าจะเข้าใจลักษณะนั้นเลย ปรากฏแล้วก็หมดไปอยู่เรื่อยๆ จับช้อน จับส้อม แข็งก็แข็งไป แต่เวลาที่มีการเข้าใจว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพียงปรากฏ และจริงๆ ก็เพียงปรากฏเพราะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปด้วยอย่างรวดเร็ว แต่ขณะนั้นปัญญายังไม่สามารถที่จะประจักษ์ความจริงนั้นได้ เพราะสติเริ่มที่จะรู้ลักษณะที่ปรากฏ แม้ว่าขณะที่เสมือนว่าแข็งปรากฏ ก็มีทางตาด้วย มีเสียงด้วย นี่แสดงถึงความเล็กน้อยของแข็ง ซึ่งเกิดแล้วดับจริงๆ จึงมีการรู้อารมณ์ทางทวารอื่นคั่นได้ แต่สภาพเหล่านั้นก็ยังไม่ปรากฏ จนกว่าปัญญาจะรู้เพิ่มขึ้น โดยการที่สติสัมปชัญญะรู้ลักษณะนั้น และมีความเห็นถูกในลักษณะนั้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น โดยที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของการคิดเป็นคำ แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจในลักษณะนั้นทีละเล็กทีละน้อยได้

    อ.วิชัย หมายความว่า โดยสภาพของธาตุรู้ ไม่ว่าจะรู้อารมณ์ทางปัญจทวาร หรือมโนทวารก็แล้วแต่ แต่เมื่อมีสภาพธรรมปรากฏ สติก็เริ่มรู้ในลักษณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นทางปัญจทวาร หรือมโนทวาร ไม่ได้คิดเป็นคำ เพราะเมื่อสติเกิด มีอารมณ์ที่ปรากฏเท่านั้น ไม่ได้คิดเป็นคำว่า มโนทวาร หรือปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เวลาที่สติเกิดจริงๆ ไม่ใช่ว่าไปคิด แต่รู้ว่าขณะนั้นต่างกับขณะที่หลงลืมสติ ขณะนั้นก็รู้โดยที่ไม่ต้องท่อง หรือคิดว่า ต่างกับขณะที่หลงลืมสติ เพราะว่าลักษณะนั้นต่างกันอยู่แล้ว ลักษณะของสติเกิด ก็ต่างกับขณะที่หลงลืมสติ เพราะอารมณ์ปรากฏดี หมายความว่าเวลาที่สติไม่เกิด สภาพธรรมแม้มีปรากฏกับวิญญาณนั้นๆ ก็หมดไปอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่มีการปรากฏดี ตามความเป็นจริง ดี คือ ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น

    อ.วิชัย เคยได้ยินท่านอาจารย์กล่าวบ่อยๆ ว่า อยู่ในโลกของความคิดนึกมากกว่า จึงสงสัยว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิด เข้าใจโดยการศึกษาว่า โลกของความคิดนึกมากกว่า และความจริงก็เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าสติเกิด ก็ไม่ได้ใส่ใจจะคิดว่า ทางมโนทวารมากกว่าทางปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ ขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ไม่ใช่ขณะที่คิดคำ แต่ว่ากำลังมีลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏให้รู้ว่า ขณะนั้นไม่ได้หลงลืมสติ เพราะว่าสติกำลังรู้ลักษณะนั้น ถ้าเห็นว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นไม่ฝันแน่ แต่เห็นคนมากมาย สถานที่ต่างๆ เหมือนอยู่ในความฝันไหม

    อ.วิชัย ก็เป็นเรื่องของความคิดนึก

    ผู้ฟัง ทุกขเวทนากับสุขเวทนา ก็ต้องเป็นเวทนาชาติวิบากเท่านั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เกิดกับจิตอะไร

    ผู้ฟัง เกิดกับกายวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นวิบาก

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นความทุกข์ที่เกิดทางใจกับความสุขที่เกิดทางใจ เช่นนี้ก็ไม่ใช่ชาติวิบาก

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า โสมนัสกับโทมนัสได้ จะทำให้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นเวทนาทางใจ

    ผู้ฟัง เช่นนี้เวลาสิ่งที่ตกลงมาทำให้เราได้รับบาดเจ็บ แล้วเป็นความทุกข์ เราก็แยกไม่ออกว่า สิ่งนั้นเป็นความทุกข์ที่เกิดกับกายวิญญาณ หรือว่าเป็นโทมนัส เพราะว่ารวมๆ กัน และเราเรียกว่า “ทุกข์”

    ท่านอาจารย์ จะแยกทำไม

    ผู้ฟัง เพราะว่าเป็นเวทนาที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะของเวทนาว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งหรือไม่ แล้วจะไปแยกอะไร แล้วจะไปรู้ หรือว่า ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพของเวทนา ความรู้สึกนั้นเท่านั้น

    ผู้ฟัง เช่นนั้นลักษณะของทุกข์ที่เกิดกับกายวิญญาณ กับโทมนัสที่เกิดทางใจ มีความแตกต่างกันไหม

    ท่านอาจารย์ ลักษณะต่างกันอยู่แล้ว เจ็บที่กาย ไม่เหมือนกับความไม่ชอบ ไม่พอใจ ไม่แช่มชื่น เพราะความรู้สึกเจ็บ คิดถึงเจ็บที่กาย จะไปเหมือนกับความรู้สึกไม่แช่มชื่นได้อย่างไร คนละลักษณะ คันที่กาย กับลักษณะที่ไม่ชอบ ไม่แช่มชื่น ไม่ถูกใจ ขณะนั้นก็เป็นลักษณะที่ต่างกัน คัน ก็มีลักษณะของคัน ใช่ไหม เจ็บก็มีลักษณะของเจ็บ ปวดก็มีลักษณะของปวด ความรู้สึกไม่พอใจ ขุ่นใจ ไม่แช่มชื่นก็เป็นลักษณะความไม่แช่มชื่นของใจ สภาพธรรมต่างกันอยู่แล้ว

    อ.ธิดารัตน์ ลักษณะของเวทนาก็จะต้องมีนิมิตของเวทนาด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเลย

    อ.ธิดารัตน์ เช่นนี้แล้ว เราจะทราบได้อย่างไรว่า ในขณะที่มีลักษณะของเวทนาปรากฏในขณะนั้น ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมจริงๆ กับนิมิตของเวทนา จะมีความต่างกันไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นนิมิตหรือไม่

    อ.ธิดารัตน์ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นคน ก็เป็นนิมิตแล้ว

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็จะไม่มีการเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เพราะฉะนั้นถ้านึกถึงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีอายุเพียงเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ จะเร็วสักแค่ไหน สิ่งนี้ก็เป็นการยืนยันว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นนิมิต เพราะรูปเกิดดับสืบต่อปรากฏ และจิตเห็นก็ต้องมีหลายขณะ แม้ว่าวาระหนึ่งๆ จะมีจิตเห็นเพียง ๑ ขณะ เพราะฉะนั้นก็แสดงว่า การเห็นในขณะนี้ก็หลายวาระนับไม่ถ้วน

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏจริงๆ เป็นนิมิตของแต่ละอย่าง นิมิตของรูปทางตา นิมิตของเสียง นิมิตของกลิ่น นิมิตของรส นิมิตของสัญญา นิมิตของจิต นิมิตของทุกอย่างหมด เพราะว่าการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้นจะให้ใครมีปัญญาไปรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว โดยที่ว่าไม่รู้ลักษณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด แล้วเวลาที่สติเกิด จะให้ไปคิดอะไร หรือจะให้ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มี โดยไม่ต้องไปกังวลว่า นี่เป็นนิมิต หรือเป็นปรมัตถ์ หรือสิ่งไหนเกิดไปแล้ว หรือว่าสิ่งไหนดับ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ตราบใดที่ยังมีนิมิตของสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ให้ทราบว่า กว่าจะรู้ความจริงว่า สิ่งนั้นเกิดดับ ก็จะต้องมีความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งต่างกันเป็นแต่ละลักษณะ จนกว่าจะคลายความไม่รู้ และคลายการยึดถืออัตสัญญา เพราะว่าสภาพธรรมแต่ละลักษณะเพียงปรากฏแต่ละทาง แล้วก็หมดไป

    ผู้ฟัง สงสัยลักษณะการเกิดดับของเวทนา ยกตัวอย่าง มีของอะไรหนักๆ ตกลงที่ขา แล้วรู้สึกว่ามันไม่ดับ มีลักษณะความเจ็บปวดตลอด

    ท่านอาจารย์ เวลานี้สิ่งที่ปรากฏทางตาดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ แล้วพอถึงทางกาย จะไม่ดับ หรือ

    ผู้ฟัง สิ่งที่อาจารย์อธิบาย ก็ยอมรับได้ และก็เข้าใจ แต่ลักษณะความเจ็บปวดที่เกิดต่อเนื่อง เหมือนกับอยู่นาน

    ท่านอาจารย์ และเดี๋ยวนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ต่างกัน หรือ

    ผู้ฟัง โดยการศึกษาไม่ต่างกันแน่นอน ขอคำอธิบายมากกว่านี้ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกัน สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อเสมือนไม่ดับ ไม่มีอะไรดับเลย สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ปรากฏตลอด แม้ว่าจะมีเสียง มีการได้ยิน ก็ไม่เห็นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาดับ เพราะฉะนั้นจะไปคิดอะไรกับทุกขเวทนาซึ่งปรากฏ ซึ่งความจริงทุกอย่างที่เกิดต้องดับ เกิดแล้วไม่ดับไม่มี แต่เพราะว่าการเกิดดับสืบต่อยังมีอยู่ ก็ทำให้ปรากฏอยู่ เวลาที่ฝัน ไม่เห็นมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย ใช่ไหม แล้วเวลาที่ตื่นมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดดับสืบต่อจนไม่รู้ว่า เกิดดับ เหมือนกับมีอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็เหมือนมีอยู่

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์อธิบาย เป็นเพราะนิมิตใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มิได้ สิ่งที่เกิดดับเร็วมากสืบต่อ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏเป็นนิมิตของสิ่งที่เกิดดับสืบต่อ ต้องมีสิ่งที่กำลังเกิดดับสืบต่อ จึงมีนิมิตปรากฏให้เห็นเป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นนิมิตคือสิ่งที่บดบัง

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อจนกระทั่งปรากฏทางหนึ่งทางใด

    ผู้ฟัง ก็ทำให้เราไม่รู้การเกิดดับ

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นก่อน

    ผู้ฟัง หมายถึงว่า นิมิตทำให้บดบัง

    ท่านอาจารย์ จักขุวิญญาณดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อ ดับไหม สันตีรณะเกิดต่อ ดับไหม ขณะนี้ปรากฏเหมือนจักขุวิญญาณไม่ได้ดับเลย นี่คือนิมิต วิญญาณนิมิต

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นนิมิตก็บดบังการเกิดดับ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ นิมิต หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อ จนไม่ปรากฏว่าดับ

    ผู้ฟัง แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่บดบังการเกิดดับ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน จะรู้อันไหนก็ได้ทั้งนั้น ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ จะเห็นอวิชชาไหมว่า น่าสงสาร อยู่ในโลกของความฝัน แล้วก็คิดว่าเป็นจริงเป็นจัง ทั้งๆ ที่ความจริงก็คือไม่มีอะไรเหลือ ทุกอย่างก็เกิดดับ ปรากฏเป็นเพียงนิมิต หลอกให้เข้าใจว่า ยังมีอยู่ทุกอย่าง ความจริงแต่ละขณะเกิดแล้วดับไปหมด ไม่เหลือเลยสักขณะเดียว ไม่ว่าจะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม แต่ในความคิดความจำ ก็ยังเหมือนมีอยู่ตลอดเวลา

    ผู้ฟัง แต่ผู้ที่ประจักษ์ก็ยังคงเห็นนิมิตเหมือนเรา

    ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎกจะมีข้อความว่า สังขารนิมิต ไม่ว่าจะเป็นรูปนิมิต เวทนานิมิต สัญญานิมิต สังขารขันธ์นิมิต หรือวิญญาณนิมิต ทั้งหมดเกิดดับสืบต่อเร็วมาก สิ่งที่ปรากฏจริงๆ ก็คือนิมิต เหมือนเราดูภาพยนตร์

    ผู้ฟัง ผู้ที่ประจักษ์ก็ยังเห็นเหมือนเดิม ถูกไหม เพียงแต่เข้าใจเรื่องการเกิดดับ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พอจะอธิบายเพิ่มขึ้นได้ไหม ขณะนี้ฟังแล้วก็เข้าใจว่า ต้องเข้าใจ แต่ระดับของความเข้าใจ ถ้าประจักษ์ ไม่รู้เข้าใจอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เข้าใจขึ้น มีไหม จากตรงนี้จะกระโดดไปตรงโน้นไม่ได้ เข้าใจขึ้นขั้นฟัง มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วก็เข้าใจขึ้นอีก ขั้นฟังอีก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567