พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 242


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๔๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น แต่ให้ทราบความหมายของวิถีจิตกับภวังคจิต ซึ่งไม่ใช่วิถีจิตก่อน เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช่วิถีจิต ต้องเป็นภวังคจิตแน่นอน เพราะว่าปฏิสนธิจิตมีขณะเดียว เกิดสืบต่อจากชาติก่อน และตลอดชาตินั้นไม่เกิดอีกเลย แต่ภวังคจิตจะเกิดคั่นสลับทุกวาระของวิถีจิตแต่ละทาง เพราะฉะนั้น ทบทวนอีกครั้งว่า ในขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ขณะนั้นมีจิต หรือไม่ ต้องมี จิตนั้นทำกิจอะไร ทำภวังคกิจ เพราะไม่เห็น ไม่ได้ยินทั้งหมด ก่อนเห็น ก่อนวิถีจิตจะเกิด จิตเป็นอะไร ต้องเป็นภวังค์ และถ้าดำรงความเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ ไม่มีรูปมากระทบ ก็ไม่มีการที่จะหยุดการเป็นภวังค์ได้ แต่เมื่อมีสิ่งที่มากระทบทางตา หรือทางหูก็ตาม ก่อนที่จะมีวาระที่เป็นวิถีจิตเกิด จะมีคำว่า ภวังค์ไหว แสดงให้เห็นว่า จะเกิดทันทีไม่ได้นั่นเอง แต่ไม่ได้ไหวแบบรูป หรือไหวแบบที่เราคิด แต่เริ่มที่จะเปลี่ยนจากการที่มีอารมณ์ของภวังค์ไปรู้อารมณ์อื่น ๑ ขณะ ซึ่งมีความละเอียดกว่านั้น เพราะว่าขณะที่รูปกระทบกับภวังค์ จะใช้คำว่า อตีตภวังค์ เพื่อแสดงอายุของรูป ซึ่งมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะว่ารูปนั้นจะดับเมื่อไร เร็วเกินกว่าที่ใครจะประมาณได้ทั้งสิ้น เพียงฟัง เพื่อสะสมอะไร สะสมความเห็นถูกว่า ไม่ใช่เรา สะสมความเห็นถูกว่าเป็นสิ่งที่มี และต้องอาศัยความเข้าใจจริงๆ เพิ่มขึ้น จะค่อยๆ คลายความไม่รู้ในขั้นการฟัง เพื่อที่จะให้ถึงกาลที่สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป

    เพราะฉะนั้น สำหรับภวังคจิตที่เกิดพร้อมกับรูป จะมีชื่อว่า “อตีตภวังค์” เพื่อแสดงให้รู้ว่า รูปที่กระทบมีอายุ ๑๗ ขณะนั้นจะดับเมื่อไร ภวังค์ขณะที่ ๒ ที่เกิดต่อจากอตีตภวังค์ คือ ภวังคจลนะ เมื่อดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉท หมายความถึงภวังค์ขณะสุดท้าย เมื่อภวังคุปัจเฉทเกิด คือ สิ้นสุดกระแสภวังค์ จะเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้เลย ซึ่งถ้าภวังคุปัจเฉทไม่เกิด วิถีจิตเกิดไม่ได้เลย จะเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ แล้วก็อาจจะเป็นภวังคจลนะ แต่ถ้ายังไม่ถึงภวังคุปเฉท วิถีจิตจะเกิดไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อภวังคุปัจเฉทดับไปแล้ว กล่าวรวมๆ จิตต่อไปเป็นอะไร เป็นวิถีจิต เรากำลังพูดถึงความต่างกันของจิตซึ่งไม่ใช่วิถี กับจิตที่เป็นวิถี คือ ให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรม ว่า เวลาที่วิถีจิตจะเกิด จะต้องมีการกระทบกัน ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย คือ รูปกระทบปสาท ไม่ได้มุ่งหมายให้เราเบื่อ แต่มุ่งหมายให้เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นอย่างนี้ รู้ หรือไม่รู้ก็ตาม กว่าจะถอนความเป็นเราได้ ต้องค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นในความเป็นจริงของสภาพธรรมว่า ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย แต่มีธรรม เป็นธาตุซึ่งเกิดแล้วก็จะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยด้วย ซึ่งสำหรับจิต เจตสิกจะเกิดสับสนก้าวก่ายกันไม่ได้เลย จากจักขุวิญญาณ แล้วจะให้กุศลจิตเกิดทันที หรือเปลี่ยนจากจักขุวิญญาณให้เป็นโสตวิญญาณ ให้ได้ยิน ไม่ได้เลย เราจะต้องศึกษาว่า ความจริงของธรรมคืออย่างนี้ คือ วิถีจิตแรก มีไหม?วิถีจิตแรกมี ไม่เรียกชื่อได้ไหม พูดภาษาไทยได้ไหม ไม่ต้องพูดภาษาบาลีก็ได้ แต่จำเป็นต้องใช้ เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมด้วยภาษาบาลีเพราะฉนั้น จึงมีคำว่า "ปัญจ" คือ ๕ "ทวาระ" คือ ประตู "อาวัชชนะ" โดยศัพท์ หมายความถึงรำพึงถึง แต่ถ้าเป็นภาษาไทย รำพึงเหมือนนานมาก จะคิดเรื่องอะไรสักเรื่องก็ต้องรำพึงยาวถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ รำพึงแต่เรื่องนั้น แต่จริงๆ แล้ว ถ้าคิดถึงจิต ๑ ขณะเกิดขึ้นทำกิจ เวลานี้นับไม่ถ้วน ที่เสมือนว่าเห็นอยู่ ขณะนี้จิตเกิดดับนับไม่ถ้วนแล้ว เพราะฉะนั้น ๑ ขณะจะเล็กน้อยสักแค่ไหน แต่เป็นขณะที่เป็นวิถีจิตแรก คือ นึกถึงอารมณ์ที่กระทบทวาร ก่อนเห็น ก่อนได้ยิน แล้วแต่ว่าอารมณ์นั้นเป็นอะไร ถ้าไม่มีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนเป็นปัจจัยเมื่อดับไปแล้ว จิตเห็นเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก่อนเห็น เพียงแค่ก่อนเห็น ก็ต้องมีจิต ซึ่งเป็นวิถีจิตแรก ที่จากภวังค์ซึ่งไม่รู้เลยว่ามีอะไรที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ทั้งสิ้น แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นจิตขณะแรกที่รู้ว่าอารมณ์กระทบทวาร ถ้าเป็นทางตาก็เป็นจักขุทวาราวัชชนะ เพราะเหตุว่ากระทบทางตา ถ้าเป็นทางหูก็เปลี่ยนได้เป็นโสตทวาราวัชชนะ สิ่งที่กระทบก็ต้องเป็นเสียง ไม่ใช่รูปธาตุที่กำลังปรากฏทางตา ที่กล่าวนี้คือความเข้าใจ และต้องรู้ด้วย ต่อไปจะรู้ว่า ขณะนี้ไม่ใช่ผลของกรรมแล้ว เป็นกิริยาจิต ซึ่งเร็วมาก จากการที่เป็นภวังค์ที่ต้องรับผลของกรรม ก็จะต้องมีวิถีจิตแรกเกิดขึ้นทำกิจนึกถึงอารมณ์ที่กระทบ แต่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน แค่นึก มี หรือไม่จิตนี้ ใครว่าไม่มีบ้าง มีแต่ไม่รู้ แต่มี คือ ต้องมีด้วย เพราะว่าเป็นวิถีจิตแรก และต่อจากนั้นจิตเห็นก็เกิดขึ้นขณะนี้ที่ทำกิจเห็น "ปัญจทวาราวัชชนะ" เป็นชื่อรวมของ ๕ ทวาร ก็แยกไปแต่ละทวารได้ เป็นจักขุทวาราวัชชนะ โสตทวาราวัชชนะ ฆานทวาราวัชชนะ ก็ต่อไป แต่ละทวารไป

    ขณะนี้มีภวังค์ หรือไม่ ขณะนี้มีปัญจทวาราวัชชนะไหม มีภวังค์คุปัจเฉทะไหม มีภวังคจลนะไหม ไม่ลืมใช่ไหม

    ผู้ฟัง เรื่องธรรมที่ปรากฏเดี๋ยวนี้เอง ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายให้เข้าใจดีขึ้น ไม่ใช่เรื่องสติเท่านั้น ทุกอย่างที่เราอ่านต้องเป็นเรื่องเดี๋ยวนี้เอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีการสนทนาธรรม ก็อาจต่างคนต่างเข้าใจ และอาจเข้าใจผิดด้วย "อนภิชฌา" ความไม่โลภ ยากไหม คุณสุกิจ ไม่ยาก หรือ ความไม่โลภยากมาก เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า เราโลภ หรือติดข้องในเรื่องอะไรบ้าง ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในขณะที่กำลังปรากฏ แม้ไม่ปรากฏก็ยังติดข้อง และทุกวันด้วย วันไหนบ้างไหมที่เราไม่ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่ปรากฏ แล้ววันไหนบ้างที่เราไม่ได้คิดด้วยความติดข้องในเรื่องราว ในสิ่งที่เราเห็นแล้ว และก็ยังต้องการต่อไปอีก

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อสะสมความติดข้องไว้มาก นานแสนนาน ไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว แล้วจะไม่ติดข้อง จะเป็นไปได้อย่างไร อย่างรวดเร็ว ต้องเป็นจิรกาลภาวนาจริงๆ โดยการเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า แม้ว่าจะมีการติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ละการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ โดยยังมีการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ใครจะไม่ติดข้องในรูป ในเสียง แต่ไม่มีความรู้เรื่องสภาพธรรมว่า เป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ด้วยเหตุนี้ ความติดข้องจึงมีความติดข้องในความเห็นผิด เข้าใจผิด เพราะไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริง ที่จะหมดความติดข้องด้วยความเห็นผิด

    เพราะฉะนั้น สำหรับโลภมูลจิต หรือจิตที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย ก็จะแยกเป็นโลภะในความเห็นว่า มีตัวตน ซึ่งเป็นความเห็นผิดอย่างหนึ่ง และโลภะที่แม้ไม่มีการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นตัวตน แต่ก็มีความพอใจในสิ่งที่น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น ต้องแยกว่า สิ่งที่จะต้องละก่อน คือ การยึดถือสภาพธรรมด้วยความไม่รู้ว่าเป็นเรา ถ้ายังคงมีตราบใด การที่จะไปดับกิเลสหมดสูญสิ้นหมดเกลี้ยงไม่เหลือเป็นสมุจเฉท เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ต้องดับการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ยากไหม ข้อสำคัญ คือ ธรรมปรากฏเพราะเกิดแล้ว แล้วไม่รู้ นานแสนนานมาแล้ว ก็ไม่รู้ แล้วก็ไม่รู้ต่อไปอีกตลอดชาติ พอถึงชาติหน้าก็ไม่รู้อีก เพิ่มไปเรื่อยๆ แล้วเมื่อไรจะรู้

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมต้องละเอียด ไม่ใช่เราเลยที่จะไปดับความเห็นผิดที่ไม่รู้ แล้วก็ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่ทั้งหมดนี่เป็นธาตุ หรือเป็นธรรมแต่ละอย่าง คือ ฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธาตุ เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ละอย่างก็มีลักษณะเฉพาะอย่าง เฉพาะอย่าง ขณะที่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น และสภาพนั้นกำลังปรากฏด้วย เราก็รู้ว่า การศึกษาธรรมก็คือเพื่อที่จะให้รู้ว่าเป็นธรรม และให้เข้าให้เข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะใดที่ไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นความเข้าใจขั้นฟัง เป็นปริยัติ ยังไม่ถึงการรู้จริงในลักษณะซึ่งได้ยินได้ฟังว่า แท้ที่จริงขณะนี้ มีสภาพธรรมแต่ละอย่างจริงๆ และปรากฏแต่ละทางจริงๆ และสภาพนามธรรมซึ่งเกิดพร้อมกับเจตสิกซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว ก็เป็นสิ่งที่เกิดแล้วดับในความมืด เพราะเหตุว่าปัญญาไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเลย จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น นี่คือการเป็นผู้ตรง ที่จะไม่หลงทาง ตราบใดที่ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีคำว่า “มิจฉาสติ” และ “มิจฉาสมาธิ” ด้วย

    ผู้ฟัง ลักษณะธรรม คือ ทุกอย่างเป็นสภาพธรรม ในเมื่อไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะฉะนั้นสภาพของธรรม ไม่ว่าจะเป็นกับผู้อื่น หรือกับตัวเรา ย่อมเป็นสภาพธรรมอย่างเดียวกัน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ธรรมต้องเป็นธรรม ใช่ไหม จะเป็นอื่นไปไม่ได้เลย คือ เป็นตัวตน เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ เช่น แข็ง จะเป็นเก้าอี้ หรือจะเป็นขวด หรือจะเป็นกระเป๋า หรือจะเป็นแว่นตา ไม่ได้เลย แข็งเป็นแข็งเท่านั้น นี่คือธรรม เวลานี้ถ้าถามว่าเห็นอะไร จะตอบว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เข้าใจลักษณะที่ปรากฏทางตา จึงกล่าวว่า กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา และกำลังเห็นสิ่งนั้น หรือ เป็นการจำ

    ผู้ฟัง จำ

    ท่านอาจารย์ จำ เพราะฉะนั้นเป็นผู้ตรง หลังจากที่ได้ยินแล้ว ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว สัญญาเจตสิกจำ ใครถามเมื่อใดก็ตอบได้ แต่ชาติหน้าไม่แน่ เฉพาะชาตินี้ตอบได้ เพราะไม่ลืม เพราะเหตุว่าจำได้ว่า ต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้แน่นอน แต่ปัญญาสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะซึ่งเป็นธาตุที่กำลังปรากฏ ไม่ได้เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยทั้งสิ้น เพราะว่าปกติ เห็นแล้วก็ดับไป ข้ามการที่จะรู้ความจริงของเห็นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจผิดว่า เห็นคน เห็นสัตว์ หรือแม้แต่ส่องกระจก ใครอยู่ในกระจก มีใคร หรือไม่ หรือมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ส่องกระจกครั้งใดมีแต่สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือส่องกระจกครั้งใดเป็นเราอยู่ในนั้นทุกครั้ง

    นี่คือต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ขณะนี้เมื่อปัญญายังไม่ถึงขั้นที่จะรู้ความจริง ด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่ขั้นฟัง ปัญญามีหลายระดับ กำลังฟังเข้าใจเรื่องสิ่งที่มีจริง แต่ต้องเป็นผู้ตรงว่า ขณะนี้กำลังเห็นอะไร เพราะอะไรจึงยังคงเห็นอย่างนี้อยู่เสมอ ฟังธรรมแล้วก็ยังเห็นเหมือนเดิม คือ ฟังธรรมแล้วก็ยังเห็นคนนั้นคนนี้อยู่ ก็เพราะเหตุว่าสติสัมปชัญญะที่จะรู้เฉพาะตรงลักษณะที่ปรากฏไม่มี ก็ผ่านไปเลย มีสิ่งที่ปรากฏ ก็ผ่านไปเลย ไปคิดถึงรูปร่างสัณฐานเป็นคนนั้นคนนี้ และทรงจำไว้ตลอดชีวิตด้วย รู้จักใครบ้าง ชื่ออะไรบ้าง มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ที่ไหนบ้าง สนทนาได้ เพราะยังจำเรื่องราวของสิ่งที่เสมือนว่าจริง แต่ความจริงแล้ว ไม่เคยที่จะได้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งขณะนี้ความจริงก็คือว่า เกิดดับเร็วมาก จนไม่ปรากฏ แต่เมื่อไม่รู้ ก็จะมีจิตซึ่งเกิดสืบต่อ แล้วก็จำรูปร่างสัณฐานได้ นี่เป็นของธรรมดา เพราะว่าสัญญา ใครจะไปห้ามไม่ให้จำรูปร่างสัณฐาน เป็นไปไม่ได้เลย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จำได้ มีสัญญาความจำ แต่ไม่มีความเห็นผิด เพราะทรงประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้กำลังฟัง ก็เข้าใจถูกว่า มีลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่ไม่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำ ๒ คำ คือ "อัตตานุทิฏฐิ" กับ "สักกายทิฏฐิ" คำว่า ทิฏฐิ กลางๆ นี่หมายถึง ความเห็น ถ้ากล่าวถึงทิฏฐิเท่านั้น ยังไม่ได้กล่าวถึงมิจฉาทิฏฐิ หรือสัมมาทิฏฐิ แต่เมื่อใดที่กล่าวถึง ความเห็นผิด จะมีคำว่า "มิจฉาทิฏฐิ" ถ้ากล่าวถึงความเห็นถูก ก็จะมีคำว่า "สัมมาทิฏฐิ"

    เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการเห็น แล้วไม่รู้ความจริงของสิ่งที่เห็น สิ่งนั้นปรากฏเหมือนมีจริง ยั่งยืน ตรงกันข้ามกับไม่เที่ยง ความจริงของสภาพธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น เกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะเป็นไตรลักษณ์ คือ ลักษณะทั้ง ๓ ของสภาพธรรมที่เกิด เมื่อเกิดแล้วต้องดับ เป็นอนิจจัง แล้วก็บังคับบัญชาไม่ได้ด้วย เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น "ทุกขัง" ก็คือทุกข์จริงๆ ก็คือสิ่งที่ใครก็ไม่สามารถจะแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงได้ คือ การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม ถ้าป่วยไข้ รักษาได้ใช่ไหม แต่ใครจะรักษาสิ่งที่เกิด ไม่ให้ดับได้บ้าง ไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย

    เพราะฉะนั้น ไตรลักษณะทั้ง ๓ ของสิ่งที่เกิดขึ้น คือ อนิจจัง แต่ว่าเห็น (ผิดว่า) เป็นนิจจัง อนัตตา ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ไม่ใช่ของใคร และไม่ใช่ใคร แต่เห็น (ผิดว่า) เป็นเรา เห็น (ผิดว่า) เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นอัตตา ตรงกันข้ามกับอนัตตา

    ด้วยเหตุนี้ "ขณะที่เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นอัตตานุทิฏฐิ" แต่ "สักกายทิฏฐิ หมายถึงความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่เกิดกับตนว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นเรา" เพราะฉะนั้นก็มุ่งหมายเฉพาะส่วนที่ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสักกายทิฏฐิ แต่สักกายทิฏฐิ ก็คืออัตตานุทิฏฐินั่นเอง เพราะฉะนั้น ความหมายของอัตตานุทิฏฐิก็กว้าง รวมทั้งสักกายทิฏฐิ และที่ไม่ใช่สักกายทิฏฐิ แต่ก็เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ที่คุณสุกัญญาถามถึงรูปภายนอก ขณะนี้บอกได้ไหมว่า ภายนอก รูปอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ก็เป็นเช่นที่ท่านอาจารย์กล่าว ก็ยังเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน

    ท่านอาจารย์ เป็นต้นไม้ เป็นภูเขา เป็นอะไรทั้งหมด ใช่ไหม นั่นคืออัตตานุทิฏฐิ ไม่ได้รู้ความจริงว่า เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะจริงๆ กระทบจักขุปสาท สิ่งนั้นจึงปรากฏ นี่คือความน่าอัศจรรย์ของธรรม ถ้ารู้ความจริง จะเห็นความน่าอัศจรรย์ของความเป็นอนัตตา แต่ไม่รู้ก็ไม่เห็นมีอะไร ตื่นมาแล้วก็เห็น แล้วก็ธรรมดา ได้ยินก็ธรรมดา

    ผู้ฟัง เวลาตื่นขึ้นมา เวลาเรามองเห็น ก็มีความคิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ก็มีความสงสัยว่า จริงๆ แล้วเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เราก็ยังกล่าว หรือคิดด้วยตัวเราเองว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แล้วทุกสิ่งเป็นธรรม ก็สงสัยต้องมาถามท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ (กล่าวว่า) ทุกสิ่งเป็นธรรม แต่ (ยัง) ไม่ใช่ทีละสิ่ง ด้วยการประจักษ์จริงๆ ว่า ธรรมหมายถึงสภาพนั้นมีลักษณะอย่างนั้นอย่างนั้น ใครก็เปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย ทีละอย่างในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งรู้ทั่วจริงๆ จึงสามารถที่จะกล่าวได้ว่า ทุกสิ่งเป็นธรรม ขณะนี้พูดตาม แต่ยังไม่ได้รู้ลักษณะของธรรมแต่ละอย่างพอที่จะกล่าวว่า อย่างไหนที่กำลังรู้ (อย่างไหน) ที่กำลังปรากฏ ลักษณะนั้นเป็นธรรมชนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง เมื่อใดที่ถาม ท่านอาจารย์ก็บอกว่า อัตตามาแล้ว เป็นเรา เป็นคุณเด่นพงศ์ เป็นใครต่อใครถาม คือ จะช่วยให้เราคิดถึงจิตทำงาน เจตสิกทำงานตลอดเวลาใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบคุณเด่นพงศ์จะให้เอาตาออกอย่างไร เอาตาออก เอาหูออก เอาจมูกออกได้อย่างไร

    ผู้ฟัง เอาออกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เอาออกไม่ได้ แต่ค่อยๆ เข้าใจได้ พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้ความจริง ทรงพระมหากรุณาแสดงความจริง เมื่อความจริงมี ก็รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น ให้เป็นปัญญาของเราเองที่เกิดจากการฟัง และการไตร่ตรอง แล้วค่อยๆ เข้าใจว่า ทรงแสดงธรรม คำว่า “ธรรม” ก็บอกอยู่แล้ว เป็นธรรมแน่นอน แต่ไม่เคยรู้ว่า เป็นธรรม เพราะฉะนั้น จึงเปิดเผยแสดงความจริงของลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง ให้เข้าใจถูกต้อง ได้กล่าวให้ทราบตั้งแต่คำแรก หรือไม่ว่า ศึกษาธรรม ไม่ได้ศึกษาเรื่องอื่น และธรรมคือสิ่งที่มีจริง ศึกษาธรรม ไม่ใช่ให้ไปคิดเป็นคำๆ ในหนังสือ ว่า โลภมูลจิตมี ๘ ประเภท แต่เวลาโลภะเกิดเพียงหนึ่งประเภทก็ไม่รู้เลย แต่จำชื่อได้ อย่างนั้นก็คือไม่ได้ศึกษาธรรม แต่ถ้าศึกษาธรรมด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็คือรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วยังไม่ได้เข้าใจความจริงของธรรมนั้นๆ เลย เพราะฉะนั้น ศึกษาธรรม คือ ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ให้มีความเข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง คือผมพยายามคิดใหม่ว่า แทนที่จะบอกว่าเราคิด ก็บอกว่าจิตคิดของเขาเอง เจตสิกทำงานของเขาเอง แต่ก็เผลออยู่เสมอ เป็นเราอยู่ พอพูดถึงเราก็เป็นเราโลภะอีกแล้ว

    ท่านอาจารย์ ที่กล่าวว่า จิตเขาคิดของเขาเอง แล้วรู้ลักษณะของจิต หรือไม่ หรือเพียงแต่จำได้

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามท่านอาจารย์ต่อไป คือ จิตกับเจตสิก อาจจะเป็นพื้นฐาน แต่เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน และเมื่อเช้านี้สนทนาเรื่องจิตเป็นกุศล เป็นอกุศล ตัวที่เป็นกุศล อกุศล ไม่ใช่ตัวจิต แต่เป็นเจตสิกที่มาประกอบกับจิต ก็ทำให้จิตเป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นอะไรเป็นกุศล อะไรไม่เป็นกุศล จิต หรือเจตสิก

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้ จิตเกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น จิตจึงต่างกันไป จิตที่เป็นกุศล เมื่อโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตที่เป็นอกุศล เมื่ออกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตที่เป็นกิริยา มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เจตสิกนั้นไม่ใช่กุศล และไม่ใช่อกุศล และจิตที่เป็นวิบาก ก็มีเจตสิกที่เป็นวิบากเกิดร่วมด้วย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567