พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 295


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๙๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้กุศลจิตเกิดก่อนจุติจิต ซึ่งไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่า จุติจิตจะเกิดเมื่อวิถีจิตทางตาดับไปแล้ว ภวังคจิตคั่นแล้ว หรือมโนทวารเกิดรับต่อแล้ว แต่ให้เข้าใจว่า อารมณ์ที่ต่างกันก็เป็นไปตามกรรมที่จะให้ผล ซึ่งขณะนี้มีใครบ้างที่คิดถึงกรรมที่กระทำแล้ว ไม่มีใช่ไหม คนที่บอกว่า คิดก็มี เลือกไม่ได้เลยว่า ใครจะคิดอะไร แม้แต่จะคิดเป็นปกติธรรมดาขณะนี้ ก็ยังเลือกไม่ได้เลย อยู่ดีๆ กำลังฟังอย่างนี้ คิดถึงอย่างอื่นได้ไหม ได้แล้ว คิดถึงกรรมที่ทำแล้วได้ไหม เมื่อวานนี้ใครไปทำกรรมอะไรไว้ ยังข้องใจ ยังคิดว่าไม่น่าจะทำอย่างนั้น หรือว่าควรจะทำอย่างนี้ก็ตามแต่ ใครจะคิดถึงอะไร เมื่อไร ค่ำคืน ดึก เช้า สาย บ่าย เย็น เลือกไม่ได้เลยว่า จะคิด หรือไม่คิดอะไร ขณะนั้นถ้าเกิดคิดขึ้นแล้วตาย ก็คือมีกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อระลึกถึงขณะนั้นก็เป็นกรรมอารมณ์ที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์อย่างนั้น และถ้าเป็นกรรมนิมิตก็มี ๒ อย่าง คือ นึกถึง หรือเห็นภาพของเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่ได้กระทำกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมนั้นก็ได้

    มีใครคิดถึงดอกไม้ที่กำลังบูชาพระบรมสารีริกธาตุขณะนี้บ้าง หรือไม่ ขณะเห็น จิตที่เป็นกุศลอาจจะเกิดขึ้น หรือแม้เห็น แต่ผลของกรรมก็ทำให้จิตเศร้าหมองเป็นอกุศลได้เช่นกัน สิ่งนี้คือความไม่แน่นอนที่ใครไม่สามารถรู้ได้ว่า กรรมไหนจะให้ผล จึงเป็นเหตุให้ทำกรรมดีไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้จะตายเมื่อไร

    ผู้ฟัง ในขณะที่เห็นดอกไม้บูชาพระบรมสารีริกธาตุ แล้วจะเป็นอกุศลได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ชอบไหม

    ผู้ฟัง ชอบ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นที่พอใจติดข้อง เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ติดข้องเป็นกุศลไม่ได้ หรือ

    ท่านอาจารย์ สภาพที่ติดข้องเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็น่าจะเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ น่า ไม่ได้ ศึกษาธรรมก็ไม่น่า มิฉะนั้นจะมีผู้ที่ฟังธรรมเพียงเล็กน้อย แล้วเอาไปคิดเยอะ เขียนตำราก็มากมาย แต่จากความเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง ก็ไปเข้าใจเอาเองว่า น่าจะอย่างนั้น น่าจะอย่างนี้ แต่ธรรมเป็นเรื่องตรง เราจะมีความสามารถเข้าใจธรรมได้มากน้อยแค่ไหน ก็อย่าเข้าใจผิด

    ผู้ฟัง มีข้อสงสัย ๒ คำถาม คำถามแรก ในขณะที่เกิดกรรมอารมณ์ หรือกรรมนิมิต หรือนิมิตอารมณ์ ก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ แต่เข้าใจ หรือยังว่า กรรมคืออะไร กรรมอารมณ์คืออะไร กรรมนิมิตคืออะไร คือ อารมณ์ของจิตใกล้จะตาย แล้วแต่กรรมจะทำให้อารมณ์ใดปรากฏ แล้วขณะนั้นจิตเศร้าหมอง หรือผ่องใส ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม กุศลจิตเกิดก่อนจุติ เป็นเหตุให้ปฏิสนธิจิตเป็นกุศลวิบาก

    ผู้ฟัง ในขณะที่จิตเป็นกุศล ก็ ...

    ท่านอาจารย์ ก่อนตาย เพราะฉะนั้นเราใช้คำกว้างๆ ได้ ก่อนตาย จิตเป็นกุศล ก็จะเป็นปัจจัยให้เมื่อจุติจิตเกิดแล้วดับไป กุศลวิบากทำปฏิสนธิกิจ เกิดในภพภูมิที่ดี

    ผู้ฟัง คำถามที่ ๒ การเกิดของปฏิสนธิจิต ภวังคจิต สอดคล้อง หรือเป็นประเภทเดียวกับเมื่อชาติที่แล้ว ก่อนจุติจิตเกิด ขณะนั้นจิตเป็นกุศล อยากทราบว่า จุติจิตของชาติที่แล้วจะมีผลอะไรไหมกับปฏิสนธิจิตในชาติปัจจุบัน

    ท่านอาจารย์ จุติจิตของชาติก่อน มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มี เมื่อจุติจิตดับไปแล้ว จิตอะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง ปฏิสนธิ

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตของชาตินี้กับจุติจิตของชาติก่อน เหมือนกัน หรือเปล่า เป็นประเภทเดียวกัน หรือไม่

    ผู้ฟัง ผมก็ยังสงสัยว่า ตรงกัน หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แสดงว่าการศึกษาธรรมต้องเข้าใจจริงๆ อย่าจำชื่อว่า กัมมนิมิตอารมณ์ คตินิมิตอารมณ์ หรืออะไรที่เป็นคำยาวๆ แต่ต้องเข้าใจก่อน ชาติที่แล้วคุณวิจิตรเป็นนก จุติจิตของคุณวิจิตรสิ้นสุดความเป็นนก วิบากทำให้จุติจิตเกิดพ้นสภาพความเป็นนก ปฏิสนธิจิตของคุณวิจิตรชาตินี้ เหมือนจุติจิตของชาติก่อน หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ผมก็ยังไม่แน่ใจ

    ท่านอาจารย์ เป็นนก หรือเป็นคน

    ผู้ฟัง เป็นคน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตของคุณวิจิตรที่เป็นคน กับจุติจิตที่เป็นนกนั้นเหมือนกัน หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ ไม่เหมือน เพราะว่าจุติจิตของชาติก่อน เป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดในอบายภูมิ เป็นนก เพราะฉะนั้นเป็นภวังค์ก็ต้องเป็นจิตประเภทเดียวกัน คือ เป็นนกไปเรื่อยๆ เป็นอกุศลวิบาก พอถึงจุติจิตขณะสุดท้ายที่จะให้พ้นสภาพความเป็นนก เป็นขณะสุดท้าย คือ เป็นจุติจิตก็ต้องเป็นอกุศลวิบาก พอดับแล้ว พ้นแล้วไม่เป็นนก แต่เป็นคน เป็นผลของกุศล เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเป็นกุศลวิบาก

    ผู้ฟัง ก็จะไม่เหมือนจุติจิตในชาติที่แล้ว

    ท่านอาจารย์ จะเป็นนกต่อไปไม่ได้ เพราะว่าเป็นคนแล้ว

    อ.วิชัย ขอเพิ่มเติมสักเล็กน้อย เรื่องของกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดกรรมหนึ่งที่ทำให้ปฏิสนธิในภูมิหนึ่ง เมื่อกรรมนั้นหมดผลที่จะให้เป็นบุคคลนั้น ก็ไม่มีภวังคจิตเกิดสืบต่อไป ก็เป็นจิตดวงสุดท้าย ชื่อว่า จุติจิต ก็คือสิ้นกรรม ถึงแก่กรรมของกรรมที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลนี้ และมีกรรมอื่นที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นบุคคลใหม่ ก็เป็นบุคคลใหม่ไปด้วยอำนาจของกรรมอื่นที่ให้ปฏิสนธิในภูมิอื่น ก็แล้วแต่กรรม กรรมให้เกิดเป็นมนุษย์ ถ้าถึงแก่กรรม คือ สิ้นกรรมที่จะให้ผลที่จะเกิดเป็นมนุษย์ จุติจิตก็เกิดขึ้นเคลื่อนจากความเป็นมนุษย์ และกรรมอื่นก็ให้ปฏิสนธิ คือ ให้จิตเกิดขึ้นปฏิสนธิในภูมิอื่นต่อไป โดยมีกรรมใหม่ให้ปฏิสนธิในภูมิอื่น

    เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงอกุศลว่า ประมาทไม่ได้ เพราะเหตุว่าโดยสภาพของจิตก็มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการสั่งสมในอดีต โดยฐานะที่ยังมีอนุสัยอยู่ ยังไม่ดับ ก็สามารถเป็นปัจจัยให้อกุศลประเภทต่างๆ เกิดขึ้นได้

    ถ้าโดยชีวิตประจำวัน บางครั้งก็เกิดความติดข้องบ้าง ความพอใจบ้าง บางครั้งก็เกิดความขุ่นเคืองใจบ้าง แต่โดยฐานะของอรรถของความไม่รู้ หรืออวิชชา แม้สภาพธรรมมีปรากฏอยู่ แต่ว่าความไม่รู้ คือ จะแค่ไหนที่ว่าปิดบังแม้สภาพธรรมที่มีอยู่

    ท่านอาจารย์ ตรวจสอบได้จากขณะที่กำลังเห็นว่า แค่ไหน

    อ.วิชัย บางครั้งมีความเข้าใจบ้างในพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง แต่ไม่รู้ความใหญ่ของอวิชชาว่า ความเข้าใจแค่นี้ แต่สภาพธรรมมีก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นความต่างขณะที่มีอวิชชา คือ ความไม่รู้ กับขณะที่เข้าใจขึ้นบ้าง แต่ยังไม่เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม จะมีความต่างกันอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ถ้าฟังเรื่องธรรม แต่ยังไม่รู้จักตัวธรรมเลย ก็ยังคงเป็นระดับนั้น เพราะว่าชื่อต่างๆ ลืมได้ แต่ว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏ ถ้าค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็สะสมไป เมื่อได้ยินได้ฟังธรรม ก็สามารถรู้ว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้จริงๆ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวว่า ดีพอ หรือยัง ทำให้นึกถึงอวิชชา ความไม่รู้ก็มีมากมาย

    ท่านอาจารย์ เทียบส่วนไม่ได้ ว่าหนาขนาดไหน ถ้ามีความสามารถที่จะค่อยๆ พิจารณาว่า ความจริง คือ ปรมัตถธรรมทั้งหลายอายุสั้นมาก ไม่ว่าจะเป็นจิต เป็นเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกัน หรือรูปก็ตาม ทั้งๆ ที่รูปก็มีอายุยาวกว่าจิต คือ จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงดับ และขณะนี้เราจะรู้ไหมว่า รูปดับ เพราะว่า ๑๗ ขณะจิตนี่เร็วมาก จากเห็น และได้ยิน ซึ่งเหมือนกับพร้อมกัน มีจิตเกิดดับเกิน ๑๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้นรูปถ้าไม่รู้ ไม่ปรากฏให้เข้าใจว่า นี่ลักษณะของรูป ก็เหมือนไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะว่าเกิดแล้วก็ดับแล้ว เกิดแล้วก็ดับแล้ว แต่อะไรที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะการเกิดดับอย่างรวดเร็วของรูปที่สืบต่อ จนกระทั่งทำให้ปรากฏเป็นสัณฐาน และสัญญาก็จำ สัญญาวิปลาส จำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เข้าใจว่ามีคนจริงๆ เข้าใจว่า เราตั้งใจทำอะไรก็ได้ มีความเป็นเรา สามารถจะทำอย่างนั้นอย่างนี้

    นั่นก็คือไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรม ถ้าจะรู้ว่า อวิชชามากน้อยแค่ไหน ก็คือเช่นนี้เอง และไม่ใช่วันนี้วันเดียว นานแสนนานมาแล้ว ที่เห็นก็มี ได้ยินก็มี ได้กลิ่นก็มี ก็ไม่เคยแม้จะได้ยินได้ฟัง ได้ยินได้ฟังแล้วที่จะค่อยๆ ไตร่ตรองให้เข้าใจว่า ความจริงเป็นเช่นนี้แม้ในขั้นฟัง ก็ยังไม่สามารถจะประจักษ์ความจริงได้ ต้องอบรมเจริญปัญญาถึงระดับขั้นที่จะเป็นกิจจญาณ คือ สติสัมปชัญญะเกิดแล้วก็กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพียงเล็กน้อยก็ไม่สามารถเข้าใจที่จะสละการยึดถือสภาพธรรมนั้นได้ จนกว่าวิปัสสนาญาณจะเกิด จนกว่าปัญญาระดับขั้นต่างๆ จะเกิด ก็แสดงให้เห็นว่า ความไม่รู้มากมายสักแค่ไหน

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์กล่าวว่า โดยสภาพของความติดข้อง เพราะมีความไม่รู้อยู่ จึงยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวเรา ถ้าโดยฐานะของปัญญา คือ ความรู้เมื่อเกิด ละทั้งความไม่รู้ เป็นการละทั้งความติดข้องด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มีใครสามารถรู้ได้บ้างว่า ขณะนี้มีอะไรอยู่ในจิต ๑ ขณะ เพียงแค่ ๑ ขณะ ประมวลมาทั้งหมด สะสมทั้งกุศล และอกุศลทั้งหมดนานแสนนานมาแล้ว แต่ว่าเป็นนามธรรม ก็ไม่สามารถจะปรากฏสัณฐานที่จะให้เหลือ ที่จะให้รู้ว่า มีอะไรมากน้อยแค่ไหน แต่ผู้รู้มี คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงว่า แต่ละบุคคล สะสมกุศล และอกุศลต่างๆ กัน อัธยาศัยก็ต่างๆ กันไป อยู่ที่ไหน อยู่ในจิต ๑ ขณะ จิตขณะนั้นดับแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย แต่ว่าสิ่งที่สะสมในจิต ๑ ขณะนั้น อยู่ที่ไหน ถ้าไม่อยู่ในขณะจิตที่เกิดสืบต่อ จากการที่จิตเป็นสภาวะซึ่งเกิดแล้วดับไป แต่การดับไปก็เป็นปัจจัย เป็นอนันตรปัจจัยให้จิต เจตสิกขณะต่อไปเกิด โดยไม่มีระหว่างคั่น

    การสะสมทั้งหมดที่สืบต่อ ก็จะอยู่ทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล ขณะที่กำลังฟังมีความเข้าใจ มีปัญญา สะสมแล้ว แต่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า มากน้อยแค่ไหน นอกจากว่าฟังแล้วเข้าใจถูก ไม่เข้าใจผิด และที่เข้าใจถูก มาก หรือน้อย นิดๆ หน่อยๆ หรือว่ายังไม่พอ

    เวลาที่ปัญญาเกิดจากการฟัง จนกระทั่งสติสัมปัชัญญะสามารถที่เกิด นี่อีกระดับหนึ่ง เพราะว่าสติเจตสิกจะเกิดกับโสภณจิตทั้งหมด ในขณะที่ฟังเข้าใจ ไม่ใช่เราเลย เป็นโสภณเจตสิกทั้งหมดเลย มากกว่า ๑ มากกว่า ๒ มากกว่า ๑๐ เกิดขึ้นทำกิจการงานของตน เร็วมาก แล้วก็ดับไปพร้อมจิต ไม่มีใครรู้เลย แต่ก็คือไม่ใช่ตัวตนทั้งหมด เป็นสภาพของธรรม ถ้าเป็นฝ่ายดี ก็สะสมทางฝ่ายโสภณไว้ แล้วก็ประกอบด้วยปัญญา

    ลองคิดเปรียบเทียบดูว่า ในวันหนึ่งๆ อกุศลเกิดมากกว่า หรือเปล่า แม้ว่าเป็นกุศล แต่ก็เป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญามากกว่ากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา หรือเปล่า เพราะฉะนั้นการสะสมปัญญา ความเห็นถูก จึงเป็นจิรกาลภาวนา เพราะว่าสะสมไป ไม่ได้สูญหาย จนกว่าการสะสมทางฝ่ายกุศลที่เข้าใจธรรม มีกำลัง สติสัมปชัญญะเกิด รู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด ก็ยังรู้ว่า ยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมซึ่งเกิดจึงปรากฏ และดับ ผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่เรากล่าวถึง ก็คือขณะนี้ทั้งหมด ซึ่งเกิดแล้วดับแล้ว เร็วมาก จนกว่าสติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร ก็มีการรู้ลักษณะหนึ่งเท่านั้นเองที่ปรากฏ แล้วก็หมดไป

    ดังนั้นจะเห็นความเป็น จิรกาลภาวนา แล้วก็รู้ว่า ปัญญาระดับนี้ไม่เพียงพอ ก็จะต้องสะสมไปจนกว่าจะมีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นทั้งปริยัติ และทั้งที่เป็นสติปัฏฐาน ถ้าไม่มีการศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมเลย แล้วจะเอาอะไรมา สละความเป็นเรา ในเมื่อสติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ไม่ระลึก แต่ปัญญาไม่พอ

    วิปัสสนาญาณ ไม่ใช่ทันทีที่สติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็จะประจักษ์ความจริงว่า เป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน จนกระทั่งจะไปประจักษ์การเกิดดับ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่จากการที่มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เป็นสัจจญาณ ก็เป็นทางที่ทำให้สัมมาทิฏฐิเกิดร่วมกับสัมมาสติ จนกว่าวิปัสสนาญาณเกิดเมื่อไร เมื่อนั้นก็จะรู้กำลังของปัญญา ซึ่งไม่ใช่เป็นวิปัสสนาญาณที่มีกำลัง แต่ว่ากำลังก็คือต่างกับขณะที่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นขั้นประจักษ์แจ้ง

    นี่คือจะมีการเข้าใจสภาพธรรมลึก และคมตามความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถเข้าถึงคำที่เรากล่าวจนชินหู ไม่ว่าจะเป็นกี่ชาติก็ตาม เช่น มโนทวาร ไม่ใช่จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร ขณะนี้มีเห็น พอจะเข้าใจจักขุทวาร มีได้ยิน พอจะเข้าใจโสตทวาร มีได้กลิ่น ก็พอจะเข้าใจฆานทวาร มีลิ้มรส รสปรากฏ ก็พอจะเข้าใจลักษณะของชิวหาทวาร มีการรู้สิ่งที่อ่อนแข็งขณะนี้ ก็พอจะเข้าใจ แต่มโนทวารซึ่งเกิดต่ออยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ปรากฏเลย ก็ยังคงมีความสงสัย มีความไม่รู้ ซึ่งความไม่รู้ และความสงสัย อวิชชา และวิจิกิจฉาจะค่อยๆ น้อยลง เมื่อมีปัญญาเพิ่มขึ้น

    การที่จะถึงกาลที่จะดับกิเลสได้โดยโสตาปัตติมรรคจิต ดับอนุสัยกิเลส เพราะเหตุว่ามีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น จนกระทั่งความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม และความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมน้อยลง มีการหน่าย การคลาย แต่ยังไม่ถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท

    ที่สงสัยว่าดับกิเลสที่ไหน ก็ดับอนุสัยกิเลสที่มีสะสมอยู่ในจิต เพราะถ้าจิตนั้นไม่มีอนุสัยกิเลส ปัญญาจะดับอะไร เมื่อไร บอกว่ามรรคจิตดับอนุสัย แต่ถ้าอนุสัยไม่อยู่ในจิตนั้น มรรคจิตดับอนุสัยที่ไหน เพราะว่าจิตทุกขณะเกิดแล้วดับ ไม่ได้กลับมาอีกเลยสักขณะเดียว

    จึงต้องมีความเข้าใจว่า การที่จะดับอนุสัย ก็คือขณะที่ความรู้เพิ่มขึ้น แล้วปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม อนุสัย ที่เป็นความสงสัย และความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมก็น้อยลง จนกว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์เมื่อไร มรรคจิตก็ดับหมดในความสงสัย ในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม และวิสังขารธรรม ไม่ใช่ในจิตอื่น ในจิตที่สืบต่อสะสมเป็นอนุสัยนั่นเอง

    อ.วิชัย ขณะนี้ก็แสดงว่ามีการสั่งสมจิต แล้วก็สืบต่อไป

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เราไม่สามารถจะรู้สภาพของนามธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อ นานแสนนาน และสะสมมาแล้วแต่ละชาตินานแสนนาน ทั้งทางฝ่ายกุศล และทางฝ่ายอกุศล เพราะว่าเป็นนามธรรม จะรู้นามธรรม จะรู้ได้ถึงสภาพที่ไม่มีรูปร่างเลย แต่มีทุกอย่างซึ่งเป็นนามธรรมที่สะสมมา และผู้ที่สามารถจะรู้ได้ถึงขนาดนั้น มีเพียงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น สัตว์โลกทั้งหมด ไม่มีใครสามารถประมาณ หรือเทียบปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ จึงกล่าวว่า ขณะที่กำลังเริ่มมีความเข้าใจธรรม ก็อุปมาเหมือน จะงอยปากยุงที่หยั่งลงในมหาสมุทร เพราะขณะนี้นามธรรมรูปธรรมเกิดแล้วดับแล้ว ก็ฟังไป เข้าใจไป แต่ว่ายังไม่ได้รู้จริงๆ เมื่อไร ก็ยังไม่สามารถจะละความสงสัยได้ว่า ถ้าไม่จริงอย่างนี้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เพราะว่าต้องเป็นการตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งใดที่ยังไม่เกิดขึ้นปรากฏ ใครจะไปรู้ความจริงได้ แต่ว่าสิ่งที่กำลังมี ก็สามารถที่จะเข้าถึงสภาพจริงๆ ของธาตุนั้นๆ ได้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง คำว่า “เข้าใจ” กล่าวกันในทางโลก เราก็เข้าใจเป็นเรื่องราว ขอเรียนถามอาจารย์ว่า ในขณะซึ่งเข้าใจเป็นเรื่องราว เป็นเรื่องเดียวกับที่สนทนากันว่า “สะสม” หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ กุศลจิต และอกุศลจิตที่เกิดแล้วดับแล้ว สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ

    ผู้ฟัง ถ้ารู้ความเป็นปรมัตถ์ มันจะสะสม นั่นคือกุศล หรืออกุศลที่เราสะสมไว้ที่จะต่อไปได้ ถ้าเข้าใจเรื่องราว ชาติหน้าลืมหมด ต้องเข้าใจลักษณะ โดยพิจารณาก่อน แล้วจึงจะเข้าถึงปรมัตถธรรมที่ปรากฏ เช่นนั้นจึงจะเป็นการสะสม

    ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์หมายถึง การฟังธรรม หรือการศึกษาธรรม ภาษาไหนก็ภาษานั้น ที่เราจะใช้ อย่างตำราของเราก็เป็นภาษาไทย เขียนภาษาไทย เป็นเรื่องภาษาไทย เราอ่านเข้าใจ นี่คือขั้นต้น อ่านคำว่า “รูป” มีใครอ่านไม่ออกบ้าง ไม่มีใช่ไหม อ่านคำว่า “นาม” ใครอ่านไม่ออกบ้าง ก็ไม่มี ก็อ่านได้ นี่คือบางคนเข้าใจว่า เข้าใจธรรมโดยการอ่าน คือ เพียงได้ยินคำว่า “นาม รูป ธรรม” ก็เข้าใจว่า นั่นคือการเข้าใจธรรม แต่ความจริงเป็นแต่เพียงการอ่าน จิตมี ๘๙ อ่านออกใช่ไหม ชื่ออะไรบ้างก็อ่านออก นี่คือระดับหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่า จริงๆ แล้วเป็นเรื่องตัวจริงของธรรมทั้งหมด ๘๙ ประเภทนี้ก็คือ ความหลากหลายของจิตแต่ละขณะของแต่ละคนที่เกิด ลองคิดดู ตั้งแต่เกิดมา จิตของแต่ละคนหลากหลายมากมายประมาณไม่ได้เลย ชาตินี้ชาติเดียว ตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบันนี้ แล้วชาติก่อนๆ อีก แต่ไม่ว่าจะหลากหลายมากมายสักเท่าไร ในจักรวาลกี่จักรวาลก็ตาม ประมวลแล้วก็คือมีโลภะ ๘ ประเภท

    นี่คือความเข้าใจระดับไตร่ตรอง หรือคิดตามตัวหนังสือว่า เป็นเรื่องของธรรม แต่สติปัฏฐานยังไม่เกิด รู้ว่าเป็นธรรม แต่ตัวจริงของธรรมซึ่งเกิดแล้วดับ ซึ่งต่างกัน ยังไม่สามารถจะรู้ในความต่างได้ ด้วยเหตุนี้การศึกษา หรือการฟังธรรม ก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ ว่า เพื่ออะไร เพื่อเข้าใจสิ่งที่มี ถ้าเป็นโดยลักษณะนี้ ชื่อก็ไม่กั้น เช่น แทนที่เราจะพูดว่า นามธรรมกับรูปธรรม หรือธรรม ขณะนี้มีอะไร ต้องเป็นปัญญาของบุคคลนั้นเองที่จะตอบว่า มี หรือไม่มีอะไร เพราะว่าถ้าไม่ได้ฟังธรรมเลย ตอบไม่ถูก ไม่รู้ว่ามีอะไร มีโต๊ะ มีเก้าอี้ หรือว่ามีอะไร หรือว่ามีคน มีสัตว์ แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า กว่าเราจะเข้าใจว่า ธรรมเป็นสภาพที่มีจริง และชื่อ ก็เพื่อจะรู้ว่า หมายถึงสภาพธรรมไหน

    ถ้ากล่าวว่า หรือมีความเข้าใจว่า ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง อย่าเพิ่งพอใจเพียงเท่านั้น ขณะนี้อะไรมี ขณะนี้อะไรจริง เป็นธรรม หรือเปล่า ถ้าขณะนี้เริ่มมีความเข้าใจว่า ไม่ต้องไปหาธรรมที่ไหนเลย จะเกิดอีก มีโอกาสได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ ก็สามารถเข้าใจธรรม คือ สิ่งที่กำลังมีในขณะนั้นได้ถูกต้องว่า ทรงแสดงให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงนั้นเองว่า เมื่อกล่าวว่าเป็นธรรม ก็คือไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่มีชื่อต่างๆ เรียกกันหมายความถึงใคร แต่เป็นลักษณะของธรรมนั้นเอง ทุกคำที่ได้ตรัส ก็เพื่อแสดงลักษณะความจริงของสภาพธรรมให้เข้าใจ

    นี่ก็เป็นระดับหนึ่ง การจะเข้าถึงความเข้าใจธรรมจริงๆ ก็ต้องต่าง โดยการที่รู้ว่า ไม่ใช่ศึกษาเพียงอ่านได้ ไม่ใช่ศึกษาเพียงรู้ว่ามีจำนวนเท่าไร แต่รู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แม้แต่ธรรม ถ้าขณะนี้เข้าใจว่าเป็นธรรม ยังไม่ต้องพูดถึงนามธรรม และรูปธรรมได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567