พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 281


    ตอนที่ ๒๘๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙


    ผู้ฟัง การฟังอย่างเข้าใจนั้น ถือว่า

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรมให้เข้าใจธรรม ไม่ต้องไปคิดเรื่องถืออีกต่อไป ความติดข้องมีบ้างไหม ยังคงมีอยู่แน่นอน ภาษาบาลีใช้คำว่าโลภะ ติดข้องเป็นความอยาก หรือไม่ นี่คือการฟังให้เข้าใจธรรมว่าธรรมมีลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่เรา ฟังเพื่อถึงความไม่ใช่เรา ฟังเพื่อถึงการรู้ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม สิ่งนี้คือประโยชน์ของการฟัง

    ผู้ฟัง แล้วสติจะเกิดขึ้นเมื่อไร

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่า สติคืออะไร

    ผู้ฟัง สติ คือการระลึกได้

    ท่านอาจารย์ ระลึกอย่างไรจึงเรียกว่าเป็นสติ

    ผู้ฟัง ระลึกว่าสิ่งที่เกิดเป็นรูป หรือเป็นนาม

    ท่านอาจารย์ ระลึกพูด หรือระลึกเข้าใจ

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม

    ผู้ฟัง เสียงเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ เป็นการตอบตามความจำ ตราบใดที่ยังไม่ถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ความจำมีจริง ไม่ใช่ไม่มี แต่ทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    เพราะฉะนั้น กว่าจะเข้าใจถูกว่า แม้ความจำก็เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับพร้อมกับจิตเท่านั้นเอง ไม่มีเราอยู่ตรงไหนเลย ลักษณะที่จำก็เพียงจำ เกิดขึ้นก็จำ แต่ความจำก็มีหลากหลาย จำความเห็นผิดได้ไหม เมื่อความเห็นผิดเกิดขึ้น สัญญาจำก็จำผิด เข้าใจผิดในลักษณะของสิ่งที่เห็น จนกว่าสัญญานั้นจะเปลี่ยนเป็นสัญญาที่ถูกต้องจากอัตตสัญญาเป็นอนัตตสัญญา จากนิจจสัญญาทุกอย่างเที่ยง เป็นอนิจจสัญญา ซึ่งต้องฟังอย่างละเอียดมากเพราะว่าธรรมเป็นเช่นนั้นจริงๆ ในขณะนี้ ถ้ากล่าวถึงทุกคนก็รู้ ว่าเห็นกับได้ยิน ไม่ใช่ขณะเดียวกัน แล้วก็มีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึก ทั้งหมดเกิดดับ ทั้งหมดเร็วมาก แต่สิ่งนั้นที่มี ปัญญาสามารถที่จะเริ่มเข้าใจถูก เห็นถูกได้ว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ แม้ในขั้นฟัง ก็ต้องมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะคลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะว่าถ้ายังมีอวิชชา และโลภะเป็นเครื่องกั้น แม้สภาพธรรมเกิดดับก็ไม่ประจักษ์แจ้ง เพียงแต่กล่าวตามได้ ว่า เห็นไม่ใช่ได้ยิน เห็นเกิดขึ้นแล้วดับไป ได้ยินจึงเกิดขึ้น ได้ยินก็ไม่ใช่คิดนึก ได้ยินดับไปแล้วคิดนึกจึงเกิดขึ้น พูดตามได้ทุกอย่าง เพราะความจริงก็เป็นเช่นนั้น และสัญญาเพียงจำ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรง และจริงใจว่า ฟังธรรมเพื่อจะสะสมความเห็นถูกความเข้าใจถูกว่าธรรมเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง ขณะที่มีสติระลึกรู้ว่า เห็น แล้วต่อไปด้วยบัญญัติ เข้าใจว่า ขณะนั้นแยกปรมัตถ์กับบัญญัติ เข้าใจเช่นนี้ถูกหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่าไม่ใช่เราแยก ขณะนั้นเป็นเรากำลังแยกหรือไม่

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า ไม่ใช่ตัวเรา แต่ว่าเป็นกุศล หรืออกุศล ขณะที่ถามขณะนี้ ก็เป็นจิตหนึ่งที่เรียกว่า เป็นโมหมูลจิต วิจิกิจฉา ไม่ใช่ตัวเรา เข้าใจถูก หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต้องการรู้ชื่อ หรือว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ต้องการรู้ชื่อ แต่ตอนนั้นเข้าใจว่า มันไม่ใช่ตัวเราไปยึดติด

    ท่านอาจารย์ เมื่อไม่ใช่ตัวเรา ลักษณะนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ความสงสัย

    ท่านอาจารย์ สงสัยมีจริง แต่ไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง แต่ขณะที่เห็นแล้ว มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยถึง ๗ ดวง ผัสสะเกิดขึ้นกระทบอยู่ตลอดเวลา แต่การจะรู้ลักษณะของผัสสะ ขณะนั้นต้องมีสติระลึกรู้หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมทุกอย่างเกิดแล้วดับเร็วมาก แล้วสติก็เป็นอนัตตา จะไม่มีการจงใจที่จะรู้ผัสสะหรือจะรู้อะไร แต่ขณะใดที่สติเกิด สติก็จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมสั้นๆ เล็กน้อย เวลานี้ผัสสะกระทบหรือไม่

    ผู้ฟัง กระทบอยู่

    ท่านอาจารย์ มีอะไรให้รู้ขณะนี้

    ผู้ฟัง ขณะที่เรียนถามอาจารย์ก็มีผัสสะกระทบ

    ท่านอาจารย์ มีโดยการจำ โดยเรื่องราวที่รู้ว่าทุกครั้งที่จิตเกิด ต้องมีผัสสเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ขณะได้ยินเสียง เสียงอาจารย์ที่พูด หรือเสียงต่างๆ ขณะที่ได้ยิน เข้าใจว่ามีสติระลึกว่า ไม่ใช่ตัวเรา

    ท่านอาจารย์ อย่าเพิ่งเข้าใจว่ามีสติระลึกได้ไหม ขณะที่กำลังฟังในขณะนี้มีสภาพธรรม ฟังให้เข้าใจสิ่งที่ไม่รู้ที่กำลังมีในขณะนี้ให้เข้าใจขึ้น ผัสสะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดพร้อมจิตดับพร้อมจิต เร็วมาก เพราะฉะนั้นอารมณ์ที่ปรากฏเพราะผัสสะกระทบ ก็ปรากฏสั้นๆ แล้วก็หมดไป นี่คือการฟังให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ให้มีความเข้าใจที่มั่นคงในความไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่ใช่พอฟังแล้ว ต้องการจะไปรู้ลักษณะของผัสสะ หรือสงสัยว่า สิ่งนี้เป็นผัสสะหรือไม่ เช่นนั้น คือไม่ได้เข้าใจความละเอียด ความลึกซึ้งของธรรมว่า ขณะนี้สภาพธรรมแม้มี ก็เกิดดับเร็วมาก ตราบใดที่สติยังไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะที่สภาพธรรมปรากฏโดยเกิดแล้วดับแล้ว กับปรากฏเมื่อสติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะของสิ่งนั้น นี่คือความต่างกัน ค่อยๆ ฟังให้เข้าใจ อย่าเพิ่งไปสรุปว่า ขณะนั้นสติเกิด กำลังมีเสียงเป็นอารมณ์ เพราะได้ฟังมาว่า เสียงเป็นธรรมชนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง เป็นความเข้าใจว่า นั่นคือความจำ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ฟังให้เข้าใจ ไม่ต้องไปนึกถึงอะไรเลยทั้งสิ้น แต่ว่าได้ฟังแล้วเข้าใจขึ้น หรือไม่ แล้วเข้าใจอะไรขึ้น พอที่จะมีความมั่นคงว่าเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา ที่จะถึงกาลที่วันหนึ่งจะสละการยึดถือสภาพธรรมนั้นได้ เพราะมีการฟังที่เข้าใจอย่างมั่นคง ไม่หลงผิด

    ผู้ฟัง ธรรมมีทุกขณะ

    ท่านอาจารย์ และขณะนี้ธรรมตั้งแต่ตื่นมา แปรงฟัน ทำกับข้าวนั้นอยู่ไหน

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจสิ่งที่ถาม

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปคิดเรื่องสติ เรื่องปฏิบัติ หรือเรื่องอะไรเลย ฟังให้เข้าใจขึ้นว่า ธรรมเกิดดับอย่างเร็วมาก ทุกอย่างที่เกิดนั้นดับแล้ว ถ้ารูปก็มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ซึ่งจิตเห็นกับจิตได้ยินที่เหมือนพร้อมกัน ห่างกันเกินกว่า ๑๗ ขณะ นี่คือการที่จะประมาณให้รู้ความจริงว่า ธรรมเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นธรรมตั้งแต่ตื่น แปรงฟัน ล้างหน้า ทำกับข้าว รับประทานอาหาร ธรรมเหล่านั้น ขณะนี้อยู่ที่ไหน นี่คือการฟังให้เข้าใจธรรม ไม่ต้องไปหวังอะไรทั้งสิ้น นอกจากเข้าใจขึ้น

    สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ทั้งนามธรรม และรูปธรรม รูปที่มีสภาวะ เป็นสภาวรูป มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ขณะนี้เหมือนว่าจิตเห็นกับจิตได้ยินพร้อมกัน แยกไม่ได้ว่า ขณะไหนเห็น ใช่ไหม เห็นแล้วก็เห็น แล้วก็มีได้ยิน เพราะฉะนั้นรูปที่มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยิน ให้ทราบว่าห่างกันเกิน ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นตั้งแต่เช้าตี่นมา มีทั้งนามธรรม และรูปธรรมซึ่งเกิด ขณะนี้อยู่ที่ไหน นามธรรมดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ รูปธรรมดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ นามธรรมเก่ากลับมาเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง เกิดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ รูปธรรมที่เกิดแล้วดับแล้ว กลับมาเกิดอีกได้ไหม

    ผู้ฟัง เกิดไม่ได้แล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นชีวิตแต่ละขณะ คือ ไป มีความเป็นไป หลังปฏิสนธิแล้วต้องเกิดขึ้นไปตามอารมณ์อยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะฉะนั้นตั้งแต่เช้า นามธรรมรูปธรรมที่เกิด ตั้งแต่ตื่นนอน แปรงฟัน จนกระทั่งขณะนี้ นามธรรมรูปธรรมเหล่านั้น ขณะนี้อยู่ที่ไหน ดับแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย ดับแล้วดับเลย

    ผู้ฟัง ขณะที่เข้าใจว่าเกิดดับ เป็นการรู้ทางมโนทวารแล้วใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องไปคิดถึงว่าทวารใด แต่ให้เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ซึ่งมีลักษณะต่างกันจริงๆ และฟังเรื่องธรรม ให้เข้าใจธรรม จนกว่าจะไม่มีเรา ถ้าข้ามขั้น คือ อยากแล้ว จะปฏิบัติแล้ว อยากจะรู้สิ่งนั้นรู้สิ่งนี้ ประจักษ์สิ่งนั้นประจักษ์สิ่งนี้ ซึ่งไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย ด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ฟังแล้วมีความเข้าใจธรรม แม้เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่ก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะว่าเข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ เข้าใจระดับไหน ก็คือระดับนั้น แล้วก็ฟังอีก ต่อไปอีก ธรรมก็มีอยู่ที่จะให้พิสูจน์ ที่จะให้เข้าใจได้ ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ฟังเมื่อใดก็เป็นธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ทั้งนั้น แต่เวลาที่ไม่ฟังก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรมที่กำลังมีในขณะนี้

    อ.วิชัย พื้นฐานพระอภิธรรม ก็เป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏ ให้เข้าใจมากขึ้น เพราะเหตุว่าแม้เราศึกษา เช่นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจว่ามีสภาพรู้ มีธาตุรู้ ที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ และอารมณ์คือสิ่งที่จิต และเจตสิกรู้ ปรากฏทางทวารต่างๆ เพราะฉะนั้นแม้ขณะนี้มีปรากฏก็จริง แต่ความเข้าใจของเรามากน้อยแค่ไหน หรือว่าเข้าใจเพียงเรื่องราวที่กำลังศึกษาอยู่ เพราะฉะนั้นแม้จะกล่าวบ่อยๆ เรื่องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เมื่อมีปัจจัยที่จะฟัง และพิจารณามากขึ้น ความเข้าใจจากการได้ยินได้ฟังมากขึ้นก็เป็นการสั่งสมที่จะให้มีความเข้าใจละเอียดขึ้นในสิ่งที่กำลังปรากฏ อย่างเช่นแม้กล่าวขณะนี้ว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา คือ รู้แจ้งได้ทางตาทวารเดียว ไม่สามารถจะเห็นทางทวารหูได้ หรือสีสันวัณณะต่างๆ ไม่สามารถจะปรากฏทางทวารอื่นๆ ได้ สิ่งนี้เป็นความจริง เพราะทรงแสดงว่า มีธรรมที่มีจริงๆ และสามารถกระทบได้เพียงจักขุปสาทหรือตาเท่านั้น จะกระทบกับรูปอื่นไม่ได้

    ดังนั้นถ้าเข้าใจศึกษาละเอียดขึ้น ก็จะรู้ว่าเมื่อมีสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสภาพหนึ่งที่สามารถรู้ได้ด้วยจิต และเจตสิก แต่การรู้ของจิต และเจตสิกนั้นต้องอาศัยปัจจัยด้วย อย่างเช่นถ้าไม่มีตาเลย ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ทางตา เช่นบุคคลที่ตาบอด ก็ไม่สามารถเห็นได้ เพราะฉะนั้นก็พิจารณาการเห็นว่ามีมาได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าจะทำให้เห็นมีได้ โดยที่ไม่มีปัจจัยพร้อมที่จะให้เกิดการเห็น ดังนั้นอรรถของอายตนะ ก็เห็นว่า เมื่อมีการประชุมรวมกัน จึงสามารถเป็นอายตนะที่ทำให้เกิดการเห็นขึ้นมาได้ ต้องมีรูปายตนะ คือ สิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นต้องมีจักขายตนะที่ประชุมกัน เป็นปัจจัยให้วิญญาณที่เป็นมนายตนะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้ นี่คือทางตา ดังนั้น ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เช่นกันเป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจความละเอียดของสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจมากขึ้น บางครั้งอาจจะรู้สึกว่าเข้าใจแล้ว แต่เมื่อปัญญาสั่งสมมากขึ้น ก็จะเข้าใจละเอียดมากขึ้น บางครั้งเราจะฟังบ่อยๆ แต่ความเข้าใจเพียงแค่นั้น ถ้าละเลยไป ก็อาจจะผ่าน แต่ถ้าพิจารณาแล้ว ปัญญาเกิด เจริญขึ้น มากขึ้น ความละเอียดที่จะเข้าใจสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้นก็จะมากขึ้น

    ดังนั้นถ้าพิจารณาว่า เริ่มต้นจากการศึกษาที่ไม่เคยรู้เลยว่า มีสภาพธรรมจริงๆ แม้กำลังปรากฏอยู่ แต่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ในขณะนั้น เพราะเหตุว่ายังไม่มีปัจจัยที่จะให้ปัญญาเกิด แต่เมื่อมีการฟัง และเริ่มจะเข้าใจ ปัญญาก็เริ่มค่อยๆ รู้ขึ้นในสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้เราศึกษาเรื่องของความละเอียดในส่วนอื่นมากขึ้น อย่างเช่นเรื่องของเจตสิกประเภทต่างๆ เจตสิก ก็หมายถึงสภาพที่เกิดร่วมกับจิต เกิดขึ้นแล้วทำกิจหน้าที่ของตน เกิดขึ้นโดยปราศจากจิตไม่ได้ ดังนั้นการศึกษาเรื่องเจตสิก เช่น เวทนาเจตสิก ความรู้สึก ก็สามารถเข้าใจได้ว่า ในแต่ละวัน เคยมีความรู้สึกที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรืออุเบกขาเวทนา หรือไม่ ก็จะทำให้ค่อยๆ เริ่มเข้าใจ แม้เวทนายังไม่ปรากฏ แต่สามารถจะเข้าใจได้ว่า มีจริงๆ คือ ความรู้สึกที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ เพราะฉะนั้นที่จะเข้าใจละเอียดขึ้น ก็ต่อเมื่อเวทนานั้นเริ่มปรากฏแก่สติ และปัญญาค่อยๆ รู้ขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นการไปจดจ้อง แต่สิ่งที่ควรเข้าใจถึง คือ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า ขณะนี้กำลังมีจริงๆ และกำลังปรากฏอยู่ แต่ปัจจัยที่จะให้สติ หรือปัญญาเกิดรู้สิ่งที่กำลังปรากฏมีหรือไม่ เพราะฉะนั้นปัจจัยก็เริ่มจากการฟัง แล้วพิจารณา แล้วค่อยๆ เข้าใจมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด ต้องเป็นการละความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้ในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีความรู้สึกไหม มีใช่ไหม ทุกคนตอบได้ว่ามี ถ้าถามอีกว่า ความรู้สึกอะไร จะตอบก็ดับไปหมดแล้ว แล้วสิ่งที่กำลังมี ที่เป็นความรู้สึกในขณะนี้ก็ไม่รู้ นี่คือความจริง ด้วยเหตุนี้แม้ว่าเราจะฟังธรรม เราก็เริ่มเข้าใจ แต่การที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะที่มี ถ้าขณะนั้นไม่มีการรู้ระลึกได้ตรงลักษณะนั้นที่เป็นสภาพธรรมนั้น สิ่งนั้นดับแล้ว

    เพราะฉะนั้นการฟังของเรา เราก็ฟังด้วยความเข้าใจว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับเร็วมาก แต่มีจริง และการที่จะรู้จริงเพิ่มขึ้นจากการที่ได้ฟัง ก็ต่อเมื่อสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นในขณะนั้น เช่น พูดถึงความรู้สึก จากการฟัง ความรู้สึกมีทุกขณะจิต ไม่เคยขาดเลย และก็ต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือ ความรู้สึกอทุกขมสุข หรือความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ความรู้สึกโสมนัส ดีใจ ความรู้สึกโทมนัส เสียใจ ความรู้สึกเป็นสุขทางกาย ความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกาย แม้มี ฟังแล้วก็ไม่สามารถจะรู้ลักษณะนั้น ตรงลักษณะนั้น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจมีหลายระดับ เรากำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง แต่ว่ายังไม่รู้จริงในลักษณะของสิ่งนั้น ด้วยเหตุนี้การฟังทีละเล็กทีละน้อย ก็จะทำให้เพิ่มความเข้าใจขึ้น จนกระทั่งในขณะนั้นไม่ได้คิดถึงอย่างอื่น ไม่ได้รู้อย่างอื่น แต่รู้ตาม คือ ความจริงของลักษณะของสภาพธรรมที่มี ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นปัญญาต่างขั้นด้วยตัวเอง ที่จะรู้ว่าแม้ความรู้สึกมี ขณะนี้บอกไม่ได้แล้ว เพราะดับแล้ว และกำลังพูดขณะนี้ ความรู้สึกก็กำลังเกิดกับจิตซึ่งเกิดต่อ และก็ดับไปอีกด้วย จนกว่าขณะใดก็ตามที่รู้ลักษณะนั้นเมื่อใด ขณะนั้นก็จะรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพที่ได้เข้าใจจากการฟัง และก็เป็นความจริงตรงตามที่ได้เข้าใจด้วย

    ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์อธิบาย จากอัตตสัญญา เป็น อนัตตสัญญา

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้คุณธนกรเห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ อัตตสัญญา หรือไม่

    ผู้ฟัง อัตตสัญญา

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้จำว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งที่มีจริง เพียงปรากฏ ถ้าไม่ปรากฏ จะไม่มีการคิดนึกว่าเป็นใคร หรือเป็นอะไรเลย ต่อเมื่อใดที่ปรากฏ หลังจากที่สิ่งนั้นดับไปแล้ว ก็จำ แล้วก็นึก เพราะฉะนั้นการจำ การนึก ไม่ใช่ขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏ และมีความเข้าใจถูกต้องว่า ขณะนี้ หรือขณะไหนๆ ก็ตาม จะอยู่ที่นี่ หรือที่ไหนก็ตาม จากการฟังบ่อยๆ ฟังแล้ว ฟังอีก นับครั้งไม่ถ้วนเลย กี่ภพกี่ชาติ ก็เริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าปัญญาไม่ถึงระดับนี้ จะคลายการที่เคยเห็น และเข้าใจด้วยการยึดถืออย่างมั่นคงว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง จากที่มีการยกตัวอย่างเห็น เห็นท่านอาจารย์ ก็เกิดจากการจำแล้วว่า นี่คือท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ต้องมีเห็นก่อน แล้วเห็นจริงๆ เห็นอะไร

    ผู้ฟัง จากที่ศึกษามา คือเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ และสิ่งที่ศึกษา ผิด หรือถูก ความจริงจากการศึกษานั้น ผิด หรือถูก

    ผู้ฟัง ถูก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็จนกว่าจะเห็นถูกอย่างนั้น

    ผู้ฟัง เหมือนเป็นการท่องว่า เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะที่ฟังท่านอาจารย์อยู่เรื่อยๆ ก็มีความรู้สึกว่า เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เหมือนกับว่า จำ แล้วก็บอกว่า นี่คือสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นคิดใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าไม่เคยฟังเลย จะคิดอย่างนี้ไหม แม้เพียงขั้นคิด ถ้าไม่เคยฟังมาก่อนเลย จะคิดไหมว่า นี่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่คิด เพราะฉะนั้นแม้แต่จะคิดถูก เข้าใจว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ก็ต้องอาศัยการฟัง

    ผู้ฟัง หมายความว่า มีการจำ แล้วพูดกับตัวเองว่า นี่คือสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกำลังคิดถึงสิ่งที่ได้ฟัง กำลังเริ่มเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้ค่อยๆ เข้าใจ แม้ขณะนั้นเป็นขั้นคิด ก็ไม่ได้คิดเรื่องอื่น ไม่ได้คิดเหมือนเดิมว่า เราเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่แม้ความคิดอย่างนั้นที่จะปรุงแต่งเป็นเพียงชั่วขณะที่เกิดคิดว่า สภาพธรรมขณะนี้ จะพูด หรือไม่พูดก็ตาม อาจจะนึกเป็นคำ แต่ภายหลังแม้ไม่นึกเป็นคำ ลักษณะนี้ก็เป็นอย่างนี้ ค่อยๆ เข้าใกล้การรู้ลักษณะ โดยไม่ใช่เพียงแค่คิด เพราะฉะนั้นจะเห็นหนทางในการอบรมเจริญปัญญาว่า ถ้าปัญญาไม่รู้จริงๆ ไม่มีทางที่จะละ แม้คลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เห็นอะไร

    เพราะฉะนั้นอรรถที่ว่า “สักแต่ว่าเห็น” ก็จะไม่เกิดเลย

    ผู้ฟัง หมายความว่า ขณะที่เห็น แม้จะบอกกับตัวเองว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะที่เข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ สติขั้นการฟังเท่านั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เรานึกได้ แต่ใครนึก ไม่ใช่เรา อาศัยการฟังปรุงแต่ง ทำให้เกิดคิดขึ้น เพราะถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย จะไม่คิดอย่างนี้เลย

    ผู้ฟัง ก็ยังมีความรู้สึกว่า เป็นความคิดเหมือนมีตัวเราไปคิดว่า นี่คือสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นเรา หรือเป็นธรรมที่คิด

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะรู้ การฟังธรรมทั้งหมดจนกว่าจะรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง ฟังแล้วฟังอีก กี่ภพกี่ชาติไม่สำคัญ สำคัญที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น มั่นคงขึ้น เพราะสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่รู้ได้ง่ายเลย ในแสนโกฏิกัปป์ เคยไม่รู้มาแล้ว สะสมมาหนาแน่นมาก ถ้าคิดถึงวัตถุ ถ้วยใส่กาแฟ เราก็ยังมองเห็นคราบกาแฟได้ แต่ความไม่รู้ และอกุศลทั้งหลายที่เกิดกับจิตแต่ละขณะที่สะสมสืบต่อที่เป็นนามธรรม จะมากมายมหาศาลกว่านั้นสักแค่ไหน กว่าจะค่อยๆ ไถ่ถอนด้วยการเริ่มมีศรัทธาในการฟัง เพราะว่าถ้าไม่สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกไปเรื่อยๆ ไม่สามารถจะรู้ความจริงได้ เช่นบางคนมีความทุกข์ แล้วก็มาฟังธรรม พอสุขแล้ว ก็บอกว่าพอแล้ว เขาต้องการเพียงเท่านี้ คือ เพียงต้องการให้ตนเองไม่มีความทุกข์ แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ จุดประสงค์ก็คือว่า เป็นผู้เห็นโทษของอวิชชา ความไม่รู้ เพราะจริงๆ แล้ว ใครสามารถทำอะไรกับอกุศลซึ่งมีมากมายให้หมดสิ้นไปได้ ไม่มีใครสามารถทำได้เลย แต่มีหนทางที่จะทำให้ค่อยๆ หมดสิ้นได้ ด้วยความเข้าใจจากขั้นการฟังตามลำดับ

    เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้ไม่ประมาทในการฟัง ในกุศลแม้เพียงเล็กน้อย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    10 มี.ค. 2567