พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 244


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๔๔

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙


    อ.กุลวิไล การฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏในขณะนี้ และสภาพธรรมทั้งหลายก็มีสภาวะมีลักษณะของตน แต่ละอย่าง แต่ละทาง เพราะถ้าเราไม่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรม เราก็จะรวมสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งแต่ละสภาพธรรมไม่ปะปนกัน ทางตาก็ไม่ใช่ทางหู และทางหูก็ไม่ใช่ทางกาย และแต่ละทางก็เกิดไม่ได้พร้อมกันเลย การที่เราสนใจใส่ใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นการอบรมปัญญา แล้วการที่จะเจริญขึ้นของสติสัมปชัญญะที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ต้องรู้ก่อน ก็คือขณะที่มีสติกับหลงลืมสติ เพราะฉะนั้น (ขณะที่มีสติ) ก็คือ ขณะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทาง

    ผู้ฟัง เรียนอาจารย์อธิบายขยายความ อุปนิสยปัจจัยนี่แหละได้กระทำมาแล้วด้วยความเคยชินต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ขณะนี้ให้ทาน หรือศีล เป็นอุปนิสยปัจจัยในภายภาคหน้า หรือปรับปรุงได้

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรมเพื่อที่จะรู้ว่า เป็นธรรม แม้แต่ขณะที่เปลี่ยนแปลงปรับปรุง ก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม ความคิดขณะนี้ ไม่ใช่มีปัจจัยเกิดเดี๋ยวนี้ แต่ว่าสะสมมานานแสนนานที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดคิดอย่างนี้ในขณะนี้ จะคิดอย่างอื่นในขณะไหนก็ไม่พ้นจากอุปนิสยปัจจัย ค่อยๆ สั่งสมทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง หมายความว่า ขั้นทาน ขั้นศีล เป็นอุปนิสยปัจจัยให้เกิดปัญญา เกิดสติในภายภาคหน้าที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นเช่นนี้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ นานแสนนานกว่าจะถึงขณะนั้น อาศัยกุศลทุกประการ ค่อยๆ สั่งสมไป แต่ลักษณะที่เห็นชัด บางคนเป็นทานุปนิสัย อุปนิสัยในทาน ง่าย สะดวก รวดเร็ว บางคนก็ (สะสม) สีลุปนิสัย อาจจะเป็นผู้ที่ไม่ได้ให้ทานคล่องแคล่วรวดเร็วมากอย่างผู้ที่เป็นทานุปนิสัย แต่กายวาจาดี ไม่เคยที่จะกล่าวร้าย หรือพูดคำที่ทำให้คนอื่นไม่สบายใจ เช่นนั้นก็จะเห็นได้ และยังต้องมีภาวนุปนิสัย คือ การอบรมเจริญปัญญา ที่จะค่อยๆ เข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นแต่ละบุคคลที่เกิดมาก็จะไม่พ้นจากทานุปนิสัย สีลุปนิสัย หรือภาวนุปนิสัย ซึ่งเป็นอัธยาศัยทางฝ่ายกุศล แต่ถ้าทางฝ่ายอวิชชา ก็ตรงกันข้ามเลย จาก อโลภะ เป็นโลภะ จาก อโทสะ ก็เป็นโทสะ

    ผู้ฟัง อาจารย์ช่วยขยายความด้วยว่า จิต เจตสิก สะสมมาๆ จนเป็นปัจจุบัน หรือเฉพาะชาตินี้

    ท่านอาจารย์ แม้ขณะเมื่อครู่นี้ก็สั่งสมแล้ว ไม่ว่าอะไรที่เกิดขึ้น เป็นกุศล เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวว่า คนมีวิวัฒนาการมาจากลิง อยากจะทราบว่าในพระพุทธศาสนา ในพระไตรปิฎกไม่มีกล่าวไว้ ใช่ไหม

    อ.กุลวิไล จริงๆ แล้ว ถ้าเราศึกษาพระธรรม ก็ต้องมั่นคงว่า กรรมมี ผลของกรรมมี และต้องมีปัจจัยให้เกิดขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นการที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นแต่ละบุคคล ต้องมีจากประการหนึ่งคือ อวิชชาด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยให้สังสารวัฏฏ์เกิดขึ้น ก็ยังต้องเกิดอีกแน่นอน และอีกส่วนหนึ่งก็คือ อุปนิสัยปัจจัยด้วย เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง มีการสะสมมาด้วย แต่ละคนจึงแตกต่างกันไป และการทำกรรม ต้องมีผลของกรรมแน่นอนที่จะนำเกิด แล้วแต่ว่าจะเป็นไปในสุคติภูมิ หรือทุคติภูมิ เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเกิดเป็นมนุษย์ในสุคติภูมิ หรือสวรรค์ ก็ต้องมีปัจจัยให้เกิดแล้ว แต่ไม่ใช่จากสิ่งที่มีชีวิตแล้วจะเปลี่ยนจากสัตว์เซลเดียว เพิ่มมาหลายเซล และจะวิวัฒนาการไปถึงสัตว์ใหญ่ขึ้น จนเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นทางฝ่ายวิทยาศาสตร์ ถ้าถามว่าตรงกับสภาพธรรมที่เป็นจริงไหม แน่นอน ถ้าไม่ใช่ทางพระพุทธศาสนา ไม่มีผู้ใดที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    ท่านอาจารย์ ต้องไม่ลืมที่ต้องรู้ความต่างของนามธรรมกับรูปธรรม เปลี่ยนต้นไม้ให้เป็นมนุษย์ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะรูปธรรมเป็นรูปธรรม นามธรรมก็เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้เหตุที่ทำให้รูปเปลี่ยนไป เกิดมาเป็นเด็กแล้วก็ค่อยๆ โตขึ้น เป็นปกติของธรรม ถ้ารู้เหตุว่าเพราะอะไร แต่จะเปลี่ยนรูปธรรมให้เป็นนามธรรมไม่ได้ และจะเปลี่ยนนามธรรมให้เป็นรูปธรรมไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง หลักนี้จะเปลี่ยนไม่ได้เลย จะไปคิดว่ารูปนั้นของนามนั้นจะกลายเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องมีนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง ถ้าทำทาน รักษาศีล แล้วไม่ได้ฟังธรรมที่ถูกต้อง จะเป็นเหตุให้เกิดปัญญาได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เกิดโดยตรงไม่ได้เลย จากการอาศัยเข้าใจในเหตุผล เริ่มที่จะรู้ว่า กุศลดีกว่าอกุศล ก็เป็นความเห็นถูกระดับหนึ่ง และเมื่อมีศรัทธาขึ้น ทุกอย่างที่เป็นฝ่ายโสภณธรรมเพิ่มขึ้นก็จะเห็นว่า ควรที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ก็จะมีการฟังธรรม เพราะก่อนจะฟังธรรม ก็ต้องมีการสะสมของกุศลประเภทอื่นด้วย

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรม ไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถที่จะละกิเลสใดๆ ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ถึงพร้อม หรือไม่ หรือเพียงแต่ขณะนั้นอกุศลไม่เกิด

    อ.ธิดารัตน์ เพราะแม้แต่กุศลขั้นฌาน ก็เพียงแค่ข่มไว้ได้นานเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ถึงพร้อมที่สามารถจะดับกิเลสได้

    ผู้ฟัง ว่ามนสิการเป็นสิ่งที่มีจริงไหม เมื่อมีจริงต้องเป็นปรมัตถธรรม เป็นปรมัตถธรรมอะไร เป็นเจตสิก เวลาที่อกุศลจิตเกิด เพราะอโยนิโสมนสิการ เพราะอวิชชาปิดบังไม่ให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่อกุศลจิตเกิด เจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมด้วยเป็นอกุศล แม้มนสิการเจตสิกซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกประเภท แต่เวลาที่เกิดกับอกุศลจิต ก็เป็นอโยนิโสมนสิการ เท่านั้นเอง

    ขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิด เราทำให้เกิด หรือเพราะปกตูปนิสยปัจจัยสะสมมาที่จะเป็นปัจจัยให้ขณะนั้นเป็นกุศล มนสิการที่เกิดกับจิตทุกประเภท แต่เมื่อเกิดกับกุศล ก็เป็นโยนิโสมนสิการ ขณะนั้นจึงเป็นกุศลได้ หมายความถึงการพิจารณา การใส่ใจโดยแยบคาย คือ โดยความถูกต้อง ทำให้กุศลจิตเกิด ขณะนี้มีปกตูปนิสยปัจจัยไหม มีแน่ๆ อะไร

    ผู้ฟัง ฉันทะ ความพอใจในการมาฟังธรรม ก็เป็นปกตูปนิสยปัจจัยหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ศรัทธาในการฟังที่ได้เกิดแล้ว สะสมมาแล้ว มีกำลังที่ทำให้เกิดกุศลจิตขณะฟังธรรม หรือที่จะฟังธรรม อุป มีกำลัง นิสย เป็นปัจจัย ศรัทธาที่ได้สะสมมาในกุศล ทานบ้าง ศีลบ้าง หรือการฟังธรรมบ้าง ที่แล้วๆ มา ไม่ใช่เฉพาะในชาติก่อนๆ อดีตอนันตชาติ แม้ในปัจจุบันชาตินี้ด้วย เพียงขณะที่ผ่านไปก็ล่วงไปแล้ว เป็นปกตูปนิสยปัจจัยที่จะสะสมสืบต่อไป

    เพราะฉะนั้น พรุ่งนี้จะเป็นอะไร ไม่มีใครเลือกได้เลย ตามการสะสมของทั้งฝ่ายกุศล และทั้งฝ่ายอกุศล เมื่ออกุศลเกิดขึ้นขณะใด เราบังคับให้เป็นกุศลไม่ได้ แม้ว่าไม่อยากจะมีอกุศลนั้นๆ แต่เพราะความเป็นปกตูปนิสยปัจจัย จึงเป็นปัจจัยให้สภาพของอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ทุกอย่าง เช่น ศรัทธาก็เป็นปกตูปนิสยปัจจัย หิริก็เป็นปกตูปนิสยปัจจัย โอตตัปปะก็เป็นปกตูปนิสยปัจจัย ธรรมใดๆ ซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งเกิดแล้วสะสมสืบต่อเป็นที่อาศัยที่มีกำลังให้จิตเกิดขึ้นในขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น

    ทุกคนก็คงได้ยินคำว่า อนันตรปัจจัย ได้แก่ จิต และเจตสิกซึ่งเกิดแล้วดับไปเป็นปัจจัยโดยเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตเจตสิกขณะต่อไปเกิดขึ้น โดยไม่มีระหว่างคั่นเลย นามธรรม คือ จิต และเจตสิกเกิดแล้วดับไป เป็นอนันตรปัจจัยให้จิต และเจตสิกขณะต่อไปเกิด โดยเป็นอนันตรูปนิสยปัจจัย การที่จะให้จิต และเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเกิดได้ต้องเป็นปัจจัยที่มีกำลัง แม้อนันตรปัจจัยนั้นก็เป็นอนันตรูปนิสยปัจจัย เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถที่จะทำให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดได้เลย แต่ว่าการสะสมสืบต่อด้วยอนันตรปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น แต่ต้องเป็นสภาพที่มีกำลังด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นอนันตรูปนิสยปัจจัยด้วย

    ก็เป็นเรื่องที่เราเห็นถึงสภาพธรรมแต่ละอย่างจะเกิดขึ้น ต้องมีปัจจัยแน่นอน ไม่มีปัจจัยเกิดไม่ได้เลย และปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้สภาพธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลบ้าง อกุศลบ้าง วิบากบ้าง กิริยาบ้างเกิดขึ้น

    อ.กุลวิไล เมื่อกล่าวถึงปัจจัยแล้วจะเห็นได้ว่า ความเป็นตัวตนไม่มี เพราะทุกอย่างมีปัจจัยให้ธรรมนี้เกิดขึ้นแล้ว หลายท่านมาฟังธรรมที่มูลนิธิ ก็เพราะมีปกตูปนิสยปัจจัย ศรัทธาที่เคยสะสม หรือกระทำมาแล้ว เป็นปัจจัยที่ทำให้มีอัธยาศัยที่มาฟัง ศึกษาพระธรรมต่อไปอีก

    ท่านอาจารย์ กำลังฟังธรรมขณะนี้ อกุศลจิตเกิดบ้าง หรือไม่ เพราะอะไร เพราะปกตูปนิสยปัจจัยทางฝ่ายอกุศล

    ผู้ฟัง คำที่สมบูรณ์ที่สุดก็คือ ปกตูปนิสยปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ปัจจัย นิสยปัจจัย อุปนิสยปัจจัย และก็แยกเป็นปัจจัยอื่นตามความเป็นจริง จะใช้คำว่า อุปนิสยปัจจัย ก็เข้าใจได้ ถ้าจะให้เข้าใจขึ้น ก็คือ ปกตูปนิสยปัจจัย

    ผู้ฟัง แล้วที่ไม่มีกำลัง มี หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ยังไม่มีกำลังก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น เกิดเมื่อใดแสดงว่ามีกำลังแล้วจึงเกิดขึ้นได้ สะสมมาตั้งมากมาย อะไรจะเกิด ก็หมายความว่า ขณะนั้นมีกำลังที่ทำให้สภาพนั้นเกิดแล้ว

    ผู้ฟัง และมีคำสุดท้ายอีก อนันตรูปนิสยปัจจัย คำว่า อนันตร คือ ต่อเนื่อง

    ท่านอาจารย์ อนันตร คือ สืบต่อ ไม่มีระหว่างคั่น

    ผู้ฟัง ก็คล้ายๆ กันไม่ใช่ หรือ

    ท่านอาจารย์ อนันตรปัจจัย ทุกคนเข้าใจได้ว่า ทันทีที่จิต และเจตสิกดับไป จิต และเจตสิกที่ดับไปแล้ว เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น แต่ถ้าเติมคำว่า อนันตรูปนิสยปัจจัย หมายความว่าการดับไปนั่นเองเป็นปัจจัยที่มีกำลังจึงทำให้จิตขณะต่อไปเกิดได้ ก็เพิ่มความหมายขึ้นให้รู้ว่าสภาพของปัจจัยนั้นมีกำลัง

    ผู้ฟัง ผมเคยได้ยินท่านอาจารย์อธิบายว่า อนันตรปัจจัย ก็คือจิตดวงหนึ่งดับไปเป็นเหตุให้เกิดจิตอีกดวงหนึ่งเกิดมา เคยรู้เพียงเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ก็รู้เพิ่มขึ้นอีกว่า การสืบต่อ และมีกำลังที่จะทำให้ขณะต่อไปเกิดได้

    ผู้ฟัง และเปลี่ยนนิสัยเราด้วย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้า นิสัย ก็เป็น ปกตูป แต่ก็จะขาดอนันตรปัจจัยไม่ได้ เพราะจิตเกิดดับสืบต่อโดยไม่มีระหว่างคั่น สะสมสืบต่อแต่ละขณะสืบเนื่องกันไป

    ผู้ฟัง สมมติผมอยากให้มีนิสัยเมตตา สะสมเพื่อให้เกิดเมตตาไปเรื่อยๆ จะทำให้ผมเข้าใจขึ้นอีก

    ท่านอาจารย์ เมตตาเป็นธรรมฝ่ายดี “ผมอยากมีเมตตา” การที่ฟังธรรม เพื่อวันหนึ่ง เราจะเข้าใจความเป็นธรรมโดยตลอดทุกประการว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา แต่ถ้าฟังโดยความเป็นเรา เราก็อยากจะมีธรรมฝ่ายดี โดยไม่เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้ว ทุกขณะที่เกิดขึ้นแล้วดับไป สะสมสืบต่อ ปรุงแต่ง ทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น โดยที่ใครก็บังคับไม่ได้

    ถ้าได้ฟังธรรมแล้วมีความเข้าใจความต่างกันของ “อวิชชา” กับ “วิชชา” หรือแม้แต่ขณะที่เป็นเมตตากับโทสะว่าต่างกัน ก็แสดงให้เห็นว่า เรารู้แล้วว่า โทสะเกิดขึ้นหนึ่งขณะ ไม่มีประโยชน์อะไรกับใครเลย แม้แต่ตนเองก็ไม่มีประโยชน์ ยังไม่ทันคิดทำร้ายใครด้วยกาย ด้วยวาจา สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะ คือ อโทสะ และอโทสะเป็นเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิตทั้งหมด แต่เวลาที่เป็นเมตตาจะมีสัตว์ บุคคล เป็นอารมณ์ ขณะนั้นเราก็จะได้รู้ว่า วันหนึ่งๆ เราคิดถึงใครบ้างตลอดเวลา แม้ในขณะนี้ก็เห็นเป็นคน และจิตขณะนี้มีเมตตา มีความอ่อนโยน พร้อมที่จะเกื้อกูลบุคคลนั้นๆ หรือไม่ นี่คือเข้าใจลักษณะของเมตตา และก็รู้ตามความเป็นจริงว่า เมตตาตรงกันข้ามกับโทสะ

    ผู้ฟัง บางครั้งสภาพจิตผมรู้สึกตัวว่ามีเมตตา นี่โดยสัจจริง แต่บางครั้งอยู่ดีๆ ก็หายไปไหนไม่ทราบ คิดไม่ทัน มาคิดอีกที สายไปเสียแล้ว แล้วก็เสียใจ

    ท่านอาจารย์ ก็หมายความว่า คุณเด่นพงศ์ลืมว่า จิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เร็วมาก เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ ขณะที่เป็นวิบาก ขณะที่เป็นกุศล ขณะที่เป็นอกุศล ขณะที่เป็นกิริยา ไม่มีใครสามารถจะไปจัดแจงลำดับการเกิดของจิตให้เป็นอย่างที่ต้องการได้ แต่ละขณะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น การฟังความจริงเช่นนี้ ฟังแล้วฟังอีก ก็เพื่อที่จะให้ถึงความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ว่าไม่ใช่เราเลย วันหนึ่งวันใดก็จะเห็นธรรมว่า เป็นธรรม เป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง เวลาขับรถไปตามถนน มีผู้ที่ต้องการจะออกจากซอย ผมก็หยุดให้เขาออก ผมก็ว่าผมมีเมตตากับเขา แต่เมื่อขับรถต่อไปอีกสักหน่อย มีผู้ขับรถมาตัดหน้า เมตตาหายไปไหนแล้ว

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดดับ

    ผู้ฟัง กรณีอย่างนี้ ผมควรจะทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีกฎเกณฑ์เช่นนี้ก็คือไม่เข้าใจอุปนิสยปัจจัย ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัย ถ้าทราบว่า เมตตาที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วดับไปก็จะเป็นปัจจัยให้เมตตาเกิดต่อไปได้ แต่โทสะที่สะสมมาก็มากมาย เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นอะไรมีกำลังที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล และอกุศล

    เพราะฉะนั้น สำหรับวันนี้ ได้ยินคำว่า “อุปนิสยปัจจัย” หรือ “ปกตูปนิสยปัจจัย” จะไม่คิดล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิด เพราะรู้ไม่ได้เลย แต่จะรู้ว่า ขณะนี้อะไรที่เกิด เพราะได้เคยเกิดมาแล้ว สะสมมาที่จะมีกำลัง ที่จะทำให้จิตขณะนี้เป็นอย่างนี้ ถ้าขณะที่โทสะเกิด คุณเด่นพงศ์จะทราบได้เลย สะสมมาจึงเป็นปัจจัยที่มีกำลังให้โทสะขณะนี้เกิด ถ้าเมตตาเกิด ขณะนั้นก็รู้ได้ว่ามีการสะสมมาที่มีกำลัง ที่จะทำให้เมตตาเกิดขณะนั้น ก็จะเห็นความเป็นปกตูปนิสยปัจจัยของการสะสม

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นขณะที่ผมโกรธ ก็เหมือนกับผมสะสมแล้ว

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง แต่มีคนอื่นบอกว่า ปล่อยวางเถอะๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้สะสมที่จะปล่อยวาง

    ผู้ฟัง ก็ปล่อยวางไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดอย่างนั้น แสดงว่าไม่เข้าใจความเป็นปัจจัย แต่มีความเป็นตัวตนที่คิดว่า จะบังคับ หรือจะทำได้ ระหว่างการที่เข้าใจว่า ทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา กับการที่คิดว่า เราจะทำให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ อะไรถูกต้อง นี่คือวิชชา และอวิชชาที่ต่างกัน

    ผู้ฟัง วิธีที่ผมคิดอาจจะคิดแบบชาวบ้านธรรมดา คือ ถ้าปล่อยวางก็ทำให้คนเอาเปรียบกันเรื่อย แต่ก็คิดไปคิดมา โกรธก็ไม่ได้ช่วยให้เขาทำดีขึ้น

    ท่านอาจารย์ แล้วปล่อยวางได้อย่างไร ปล่อยวางจริงๆ หรือเปล่า ปล่อยวางหมายความว่าอะไร ยังไม่รู้อะไรเลย เพียงแต่อาศัยคำนี้

    ผู้ฟัง คืออย่าไปโกรธ

    ท่านอาจารย์ แล้วทำได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ทำไม่ได้ แต่เข้าใจได้ และขณะโกรธ มีการสะสมมาที่จะเกิดขึ้น ถึงเวลาที่มีกำลังที่โกรธจะเกิดขึ้นก็เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง เป็นเรื่องธรรมดา

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ธรรมเป็นเรื่องของธรรม เรื่องของปัจจัย

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่อาจารย์ถามว่า จำอะไร จำเพื่อผลที่เราได้เคยสภาพของผลอันนั้น อย่างเช่นโทสะเป็นต้น เวลาเกิดโทสะ เราก็จำสภาพการเกิดโทสะอันนั้นอันนั้น ผลของมัน โทษของมัน ทำให้หมกมุ่นครุ่นคิด หรือความรำคาญก็เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมนี่จะจำชื่ออะไร ไม่ใช่จำอะไร จำชื่ออะไร

    ผู้ฟัง คำตอบผมก็คือ สภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ชื่อ

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่เกิด เช่น โทสะ เป็นต้น ผลของโทสะ ก็จะทำให้เกิดความขุ่นใจ ครุ่นคิดอยู่

    ท่านอาจารย์ นี่คือจำด้วยความเข้าใจลักษณะของโทสะ โทษของโทสะ ไม่ใช่จำชื่อโทสะเฉยๆ

    ผู้ฟัง ใช่ แต่ชื่อก็จำเป็นต้องจำว่า สภาพธรรมนี้เรียกว่าโทสะ เป็นคำๆ

    ท่านอาจารย์ เรียกว่า โกธะ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เรียกว่า ปฏิฆะ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่จะจำชื่ออะไร แต่ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง บางครั้งหลบมุมไปเลย เกิดโทสะ เกิดความรำคาญ หลบมุมเข้าห้องน้ำไป ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไร เข้าห้องน้ำไปนั่งเฉยๆ ก็คลาย อย่างนี้เป็นต้น

    ท่านอาจารย์ สะสมมาเป็นอุปนิสัยที่จะทำอย่างนั้นแล้ว คนอื่นไม่ได้ทำอย่างนั้นเลย ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ หรือหลบไปข้างนอก ห่างๆ เดินออกไปแล้วเดินเข้ามาใหม่

    ท่านอาจารย์ เห็นอุปนิสยปัจจัยไหม

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็คือผลของโทสะ

    ท่านอาจารย์ ผลของการสะสมว่า โทสะเกิดแล้วจะทำอะไร

    ผู้ฟัง คือจิตเราไปรับอารมณ์ของเขาทำไม ไปยึดนี่แหละว่า ตัวตน อยากจะให้เขาดีขึ้น แต่เราก็ทำแล้ว ไม่เกิดผล

    ท่านอาจารย์ เป็นผลของการเข้าใจธรรม ทำให้ไม่เดือดร้อนใช่ไหม คุณสุกิจทราบไหมว่า สุขทุกข์ของคุณสุกิจตลอดระยะเวลาเหล่านี้มาจากไหน มาจากความคิด เพราะเหตุว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะทำให้คุณสุกิจเป็นทุกข์เพียงปรากฏเท่านั้นได้ไหม เสียงที่ปรากฏทางหู เมื่อปรากฏแล้ว จะทำให้คุณสุกิจเป็นทุกข์เพียงการปรากฏของเสียงได้ไหม ทางจมูก ทางลิ้น โดยนัยเดียวกัน ทุกข์จริงๆ สำหรับกายที่กระทบสัมผัสกับอารมณ์ที่ไม่สบาย ไม่ควรจะให้สุขเวทนาเกิด ขณะนั้นสุขเวทนาไม่เกิด ก็ต้องเป็นทุกขเวทนา แต่เรื่องราวทั้งหมดมาจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้วคิด เพราะฉะนั้นกว่าใครจะคิดถูก ต้องฟังพระธรรมมากแค่ไหน ที่จะรู้ว่า แม้คิดเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ก็เพราะปกตูปนิสยปัจจัย การสะสมมาที่บางคนไม่ได้คิดเป็นทุกข์มากมาย เขาสามารถจะเข้าใจ แล้วก็รู้ว่าจริงๆ แล้ว ขณะเห็น ขณะได้ยินเหล่านี้เป็นผลของกรรม แต่หลังจากนั้นแล้ว ไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นการสะสมของอกุศลบ้าง กุศลบ้างที่สะสมมาแล้วในอดีต ปรุงแต่งให้ในขณะนั้นเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567