พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 245


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๒๔๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙


    ท่านอาจารย์ การสะสมมาที่บางคนไม่ได้คิดเป็นทุกข์มากมาย เขาสามารถจะเข้าใจ แล้วก็รู้ว่าจริงๆ แล้ว ขณะเห็น ขณะได้ยินเหล่านี้เป็นผลของกรรม แต่หลังจากนั้นแล้วไม่ใช่ แต่เป็นการสะสมของอกุศลบ้าง กุศลบ้างที่สะสมมาแล้วในอดีต ปรุงแต่งให้ในขณะนั้นเดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล แล้วก็จะเห็นความต่างกันของขณะที่เป็นกุศล กับขณะที่เป็นอกุศล ขณะที่เป็นอกุศล เดือดร้อน มีอวิชชา ตามที่เราศึกษา หรือที่ได้ฟังเรื่องวิชชาสูตร ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะใดก็ตามที่อกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นตรงกันข้ามกับขณะที่ปัญญาเกิด

    เราก็ค่อยๆ เห็นตามความเป็นจริง ค่อยๆ เข้าใจธรรมจากชีวิตจริง จากสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เพราะแต่ละคนเลือกไม่ได้ แล้วแต่ว่ามีปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมใดเกิดก็เกิด แล้วก็หมดไป ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้นเอง ไม่มีเราที่ยั่งยืนเลย เป็นสภาพธรรมแต่ละขณะที่มีเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง ขอความชัดเจนจากท่านอาจารย์อีกครั้งหนึ่งว่า โดยนัยไหนที่เป็นปกตูปนิสยปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ตอบกว้างๆ คือ การกระทำใดๆ ของจิตเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นเป็นกุศล อกุศลใดๆ ก็ตามแต่ ถึงแม้ว่าดับไปแล้ว ก็สะสมสืบต่อเป็นอุปนิสัย ที่จะทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นอีก ไม่ต้องไปเพ่งเล็งถึงขณะจิต

    ผู้ฟัง ปกตูปนิสยปัจจัย เฉพาะชวนะใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ชวนะ ก็ไม่อยากจะใช้คำนี้ด้วย เพราะว่าบางคนไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “ชวนะ” พูดถึงกุศล เข้าใจ พูดถึงอกุศลเข้าใจ แต่พอพูดถึงชวนะ ต้องเป็นผู้ศึกษาเรื่องกิจของจิต

    ผู้ฟัง ผมก็จะขยายให้ชัด

    ท่านอาจารย์ คุณเริงชัย ขยายให้ชัดเพื่อท่านผู้ฟังขณะนี้จะเข้าใจ หรือว่าเขายังไม่รู้เรื่องของชวนะ ยังไม่รู้เรื่องของปัจจัยโดยละเอียด เพียงแต่แนะนำปัจจัยเท่าที่สามารถจะเข้าใจได้

    ผู้ฟัง ความคิดผมก็คือว่า สะสมในทางที่ถูก ดีไหม ทำใจไว้นะ อย่าไปโกรธนะ คิดอย่างนี้ โยนิโสแบบนี้ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็จริงๆ ก็ผิดที่กล่าวว่า เราจะโยนิโส ธรรมต้องเป็นธรรม คือ ความตรง เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีคุณเด่นพงศ์ และประโยคที่ว่า “เราจะโยนิโส” จะถูก หรือจะผิด ยังไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเลย แต่มีผู้ที่คิดว่า เราจะโยนิโส ไม่ได้สะสมวิชชา คือ ความเห็นถูกว่า ไม่มีเรา แต่ยังมีความเป็นเราที่จะสะสมกุศล คือ โยนิโส

    เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องฟังธรรมด้วยความเข้าใจจริงๆ ว่า เราฟังเพื่อให้ถึงความไม่มีเรา ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือฟังเพื่อเราจะได้มีโยนิโส แล้วจะได้เป็นกุศลมากๆ นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจ

    ผู้ฟัง ฟังเพื่อให้ถึงความไม่มีเรา

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอย่างนั้น ใครๆ ก็โยนิโสไม่ได้ โดยเฉพาะที่เรากล่าวถึง ปกตูปนิสยปัจจัย ความเข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม ทำให้ไม่คิดว่า จะโยนิโส แต่รู้ว่า เห็นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ได้ยินเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คิดนึกเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    นี่เป็นเหตุที่แต่ละคนคิดต่างกันมากเลย คนที่มีความเห็นผิด จะให้คิดด้วยปัญญาที่เห็นถูก ก็ไม่ได้ และคนที่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง จะให้กลับไปคิดอย่างคนที่มีความเห็นผิด ก็ไม่ได้ แม้ความคิดก็ไม่มีเจ้าของ และไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของใคร แต่ความคิดแม้ ๑ ขณะ ที่เกิดขึ้นก็เป็นเพราะการสะสมที่ได้เคยสะสมมาแล้วในอดีต ถ้าสะสมความเข้าใจถูกว่า ขณะนี้สภาพคิดเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เริ่มสะสม ยังไม่ต้องไปคิดถึงว่า เราจะให้เป็นโยนิโส แต่เข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะนี้เป็นธรรม แม้แต่คำเดียวว่า เป็นธรรม ก็ต้องเข้าใจให้ถูก และลึกลงไป จนถึงไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นกุศล อกุศล ก็เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นถ้ากล่าวให้ถูกก็คือ ถ้าเราเข้าถึงสภาพธรรมที่ถูกต้องแล้ว จะโยนิโสไปในทางที่ถูกเอง อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ วิชชาเป็นประธานของกุศลธรรมทั้งหลาย

    ผู้ฟัง คำว่า “ฐานะ” และ “อฐานะ”

    วิชัย สิ่งที่เป็นฐานะที่จะมีได้ หรือไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ก็ต้องพิจารณา ในที่นี้ก็ทรงแสดงแยกแยะออกเป็นหลายข้อด้วยกัน เช่นในข้อที่ ๑ มีข้อความว่า

    ย่อมรู้ชัดว่า ข้อที่มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส คือ บุคคลที่ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ พึงเข้าใจสังขารอะไรๆ โดยความเป็นของไม่เที่ยง นั่นไม่ใช่ฐานะมีได้ และรู้ชัดว่า ข้อที่ฐานะมีได้แล คือ ปุถุชนพึงเข้าใจสังขารอะไรๆ โดยความเป็นของเที่ยงนั้นเป็นฐานะที่มีได้

    ก็จะเห็นความต่างกันของผู้ที่ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ อริยบุคคลขึ้นไป เห็นความต่างกันว่า ท่านสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระอริยบุคคล ก็แสดงว่ามีปัญญาสามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ปุถุชน ถ้าเข้าใจว่า สังขารเป็นของเที่ยง นี่เป็นสิ่งที่มีได้ และจำแนกออกเป็นหลายๆ ข้อ เช่นบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ อริยบุคคล จะฆ่าบิดามารดา เป็นไปได้ไหม เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเป็นปุถุชน ย่อมเป็นไปได้ หรือแม้แต่อนันตริยกรรม ๕ ถ้าเป็นพระอริยบุคคลไม่สามารถกระทำได้ คือ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าบิดามารดา หรือกระทำพระโลหิตให้ห้อ หรือว่าทำสงฆ์ให้แตกแยกกัน หรือฆ่าพระอรหันต์ ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ไม่สามารถกระทำได้ หรือมีข้ออื่นอีกว่า พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติพร้อมกัน ๒ พระองค์ เป็นฐานะที่มีไม่ได้ หรือพระเจ้าจักรพรรดิจะเกิดพร้อมกัน ๒ พระองค์ ก็เป็นฐานะที่เป็นไม่ได้ หรือสตรีจะเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ใช่ฐานะที่เป็นไปได้ นี่ก็เป็นปัญญาที่จะรู้สิ่งที่เป็นฐานะ และไม่ใช่ฐานะ

    ท่านอาจารย์ ฐานะ ๔ ก็คือเป็นผู้ที่มีราคะหนาแน่น โทสะหนาแน่น โมหะหนาแน่น แค่นี้เราก็พิจารณาได้สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ต้องหนาแน่นแน่ๆ สำหรับผู้เป็นพระอริยบุคคลก็ลดลงไป แต่ทั้งหมดก็ต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะพิจารณาราคะ คือ โลภะ โทสะก็รู้จักกันอยู่ และโมหะ เคยคิดบ้างไหมว่า เรามีหนาแน่น หรือเปล่า หรือเวลาที่เราพิจารณาตัวเอง เรามักจะพิจารณาแค่เรามีโลภะมาก ทางตาก็อยากจะให้มีอะไรสวยๆ งามๆ ทางหู เสียงเพราะ ทางจมูก กลิ่นหอม ทางลิ้นก็รสอร่อยทั้งวัน ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารมื้อไหน ทางใจก็ชอบเรื่องที่สนุกสนานเพลิดเพลิน แต่เราลืมเรื่องโมหะ เราคิดถึงแต่ว่า เรามีโลภะมาก เรามีโทสะมาก แล้วโมหะ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดโลภะ และโทสะ เคยคิดบ้างไหมว่า เรามีมากน้อยแค่ไหน ถ้าเรายังมีโมหะมากอยู่ ไม่ต้องกล่าวถึงโลภะ โทสะ อย่างไรก็ต้องมาก

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องพิจารณาละเอียดถึงจะรู้ว่า ฐานะที่จะก้าวไปสู่ฐานะ และอฐานะ คือ ความเป็นเหตุ และมิใช่เหตุ ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือไม่ใช่เรื่องที่จะผ่านไป เพราะว่าทุกอย่างต้องมีเหต ขณะนี้มืด หรือสว่าง

    ผู้ฟัง สลัวๆ

    ท่านอาจารย์ ก็มีความหมาย ๒ อย่าง การเห็นจะสว่าง หรือสลัว เป็นของธรรมดา เมื่อมีจักขุวิญญาณ ใครๆ ก็เห็นเหมือนกันหมด สิ่งที่ปรากฏ เมื่อมีไฟ หรือมีแสงสว่าง ก็เห็นชัดเจน แต่ทุกคนเหมือนกันหมด ถ้าไม่มีปัญญาจักษุที่จะรู้ว่า แท้ที่จริงขณะนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้นเอง แล้วก็หมดไป

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจด้วยว่า ฐานะ และอฐานะ การที่จะมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก ไม่ใช่ว่าเพียงอ่านแล้วก็ไม่พิจารณา ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่การรู้ฐานะคือ สิ่งที่เป็นเหตุ และไม่ใช่เหตุ เพราะคิดว่าพระธรรมง่าย ขณะนี้ก็เหมือนกับว่า ฟังอยู่ แต่ฟังแล้วก็สลัวๆ อย่างคุณสุรีย์กล่าว สลัวๆ ในลักษณะของจักขุวิญญาณ หรือสลัวๆ ในขณะที่ปัญญาได้ยิน หรือเข้าใจธรรม สลัวๆ ในลักษณะไหน

    ผู้ฟัง ปัญญา

    ท่านอาจารย์ จากมืดสนิทมาเป็นสลัว เพราะว่าตามความเป็นจริง ไม่ว่าเราจะกล่าวถึงจิต เจตสิก รูป ข้อความต่างๆ ในพระไตรปิฎก เหมือนเราอยู่ในความมืดสนิท หรือว่าสลัว เพราะเหตุว่าธรรมเหล่านี้มีจริงแน่นอน จิตกำลังทำกิจของจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ใครรู้ กำลังพูดถึงในความมืด เรากำลังนั่งอยู่ในความมืด ขณะใดที่สติสัมปชัญญะไม่ได้เกิด ไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่เราฟังแล้วเข้าใจ ขณะนั้นก็คือเราพูดถึงสิ่งที่กำลังเป็นไปในความมืดทั้งหมด เพราะว่าเกิดแล้วดับแล้วอย่างรวดเร็ว

    ด้วยเหตุนี้ปัญญาจักษุในขั้นของการฟัง ก็ต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ถ้าไม่มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ที่จะให้ราคะ โทสะ โมหะ ลดน้อยลง หรือเบาบางลง จนกระทั่งดับไปตามสมควรแก่สภาพของการรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ไม่ต้องไปคิดรู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือไม่ต้องไปคิดเรื่องที่จะละกิเลสให้น้อยลง เพราะว่าบางคนฟังธรรมแล้วเกิดเดือดร้อนใจว่า เรามีอกุศลมาก มาแล้วตัวเรา เรามีอกุศลมาก เริ่มเดือดร้อนใจ นี่คือไม่รู้ฐานะ และอฐานะอันลึก เพราะเหตุว่าการที่จะเข้าใจธรรมจริงๆ จนกระทั่งสามารถจะเห็นโลภะตามความเป็นจริงได้ ต้องเป็นฐานะที่ลึก เพราะว่าผู้ที่ยังมีความเป็นตัวตน หวังเพียงว่าให้มีกุศล แต่ไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นไม่รู้ลักษณะของกุศลว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นเวลาที่อกุศลเกิด ผู้นั้นก็ไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความจริง จึงเป็นฐานะอันลึก ไม่ใช่ให้เราไปกระวนกระวายอยากจะมีกุศลมากๆ แล้วมานั่งเปรียบเทียบว่า วันนี้กุศลเราน้อยไป ควรจะทำกุศลให้มากขึ้น ไม่ได้ละความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมว่า ขณะนั้นๆ เป็นธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่ผู้ที่มีปัญญาจักษุที่จะเห็นว่า อะไรเป็นฐานะ และอะไรไม่ใช่ฐานะ ถ้าเป็นผู้ที่รู้ตัว ว่ามีอวิชชามาก ก็มีโลภะเป็นธรรมดา มีโทสะเป็นธรรมดา และการที่จะรู้จริงๆ ก็คือการฟัง มีความเข้าใจถูกต้องว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา และเมื่อมีความเข้าใจเท่าไร ก็คือเท่านั้น ถ้าเป็นเรา เดือดร้อน ขณะนั้นก็ไม่เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังมาอีกว่า เป็นอนัตตา และก็เป็นธรรม คือมีความเป็นตัวตนคอยที่จะดึงกลับไปสู่ความไม่รู้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้ความรู้ความเข้าใจว่า อะไรเป็นฐานะ และอฐานะก็ลึก ไม่ใช่จะเข้าใจตื้นๆ ว่า เพียงแต่ฟังเข้าใจ กิเลสหมด วันนี้กุศลมาก มีความพอใจ นั่นไม่ใช่ฐานะเลย เพราะไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ต้องมีความรู้จริงในลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งถ้ามีความรู้ โมหะก็เบาบาง โลภะที่เกิดร่วมกับโมหะก็เบาบางได้ โทสะก็เบาบาง จนกว่าจะถึงการดับได้

    ผู้ฟัง คำว่า “ฐานะ” กับ ”อฐานะ” แปลจริงๆ แปลว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ เหตุ กับไม่ใช่เหตุ ถ้าใครที่เดือดร้อนว่าตัวเองมีอกุศลมาก พยายามไปบังคับ ขณะนั้นไม่ใช่เหตุที่จะให้หมดโลภะ เพราะฉะนั้นเหตุที่จะให้หมดโลภะนั้นลึกมาก ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า เมื่อฟังมีความเข้าใจ ความเข้าใจนั้นต้องมั่นคงขึ้น ถ้าเข้าใจว่า ขณะนี้ไม่ใช่เรา เข้าใจ หรือยังว่าไม่ใช่เรา เป็นอะไร เป็นธรรม กุศลเป็นธรรม หรือไม่ อกุศลเป็นธรรม หรือไม่ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย เกิดได้ไหม ก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเวลาที่อกุศลเกิดขึ้น จะรู้ความจริงในขณะนั้น หรือยังคงไม่รู้ความจริง หรือขณะนั้นก็ไม่ได้เข้าใจฐานะตามความเป็นจริง ก็ไปพยายามที่จะให้เป็นกุศล โดยที่ไม่เข้าใจถูกว่า แม้ขณะนั้นๆ ก็ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ฐานะจริงๆ ว่า การที่กิเลสจะดับได้ ต้องเพราะปัญญาเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ

    การศึกษาธรรมขณะนี้ ไม่มีคุณเด่นพงศ์ ไม่มีใครเลย แต่มีธรรม โลภะเป็นธรรม โทสะเป็นธรรม โมหะเป็นธรรม เหตุที่จะให้โมหะเบาบางลงคืออย่างไร ถ้าเข้าใจผิด ไม่ใช่เหตุ เพราะว่าเป็นเหตุที่ลึกที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า การที่จะให้โลภะ โทสะ เบาบางลงได้นั้นต้องอย่างไร ถ้าไม่เข้าใจหนทางก็ไม่รู้จริงๆ ว่า เป็นฐานะที่ลึกมาก ที่จะเข้าใจได้ถูกต้อง ในการที่จะละโลภะ โทสะ โมหะ

    ถ้าเผินๆ ก็ไปทำอย่างอื่น แล้วก็ดีใจว่าได้ทำมากๆ และก็เข้าใจว่า โลภะไม่มี แต่ขณะนั้นไม่มีความเข้าใจถูกแม้ในขั้นการฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    อ.วิชัย แสดงถึงเรื่องของเหตุ และผล เพราะเหตุว่าการที่มาแล้ว คือหลังจากที่กระทำกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมไว้แล้ว เป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ เมื่อมีเหตุ ผลย่อมมี เมื่อเกิดมาแล้ว บางบุคคลก็เกิดมาในฐานะที่มีฐานะดี บางคนก็ฐานะไม่ดี บางคนเกิดมารูปร่างดี หรือไม่ดี ก็เพราะเหตุในอดีตที่ได้กระทำไว้แล้ว ถ้าประกอบด้วยอกุศลกรรมในอดีต ผลที่เกิดขึ้นก็ไม่ดี แต่การกระทำที่จะเป็นเหตุให้เกิดผลในกาลข้างหน้า ถ้ากุศลเจริญขึ้น ก็เป็นเหตุให้เกิดผลดีในอนาคตข้างหน้า ถ้าเจริญอกุศลก็เป็นเหตุให้ผลไม่ดีในกาลข้างหน้า ก็แสดงเรื่องของบุคคล ๔ บุคคลว่า มีการกระทำเหตุมาแล้ว และจะกระทำเหตุต่อไปอย่างไร

    ผู้ฟัง มีคำถามจากเว็บไซต์ dhammahome.com ถามว่า การเกิดดับของจิตรวดเร็วขนาดไหน และเราจะรู้ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้จิตกำลังเกิดดับ ถ้าถามว่ารวดเร็วขนาดไหน ก็กล่าวได้ว่า ขนาดที่ทำให้ดูเสมือนไม่เกิดดับเลย

    ผู้ฟัง และเราจะรู้ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ตราบใดที่ยังเป็นเรา ก็ยังคงรู้ไม่ได้ ท่านอาจารย์จะมีอะไรเพิ่มเติมไหม

    ท่านอาจารย์ ก็คงจะทำให้เข้าใจได้แค่นี้ เพราะว่าถ้าจะรู้ได้จริงๆ ก็จะต้องปัญญาที่สามารถเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ด้วยสติสัมปชัญญะก่อน ถ้ายังไม่รู้ว่าขณะไหนเป็นสติสัมปชัญญะ จะไม่สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับได้เลย

    ผู้ฟัง พูดถึงเรื่อง “สว่างมา มืดไป” ถ้าบุคคลนั้น ปฏิสนธิจิตเป็นติเหตุกะแล้ว เขามีทางที่จะมืดไป หรือ

    ท่านอาจารย์ จะรู้ได้อย่างไรว่า ใครเป็นติเหตุกะปฏิสนธิ

    ผู้ฟัง แต่ปุถุชนที่เขาเป็นกัลยาณปุถุชน เขาก็ต้องเป็นติเหตุกะด้วย

    ท่านอาจารย์ มิได้ เป็นสุคติบุคคลที่ไม่ประกอบด้วยเหตุใดเลยก็ได้ แต่ถ้าเราได้ยินได้ฟังธรรม แล้วเราคิดให้ตรงเท่าที่เราสามารถจะเข้าใจได้ ก็จะตัดปัญหาเรื่องอื่นอีกมาก เพราะว่าเรื่องที่จะคิดเองมีมากมาย

    อ.อรรณพ ท่านพระเทวทัตท่านก็ปฏิสนธิด้วย ๓ เหตุ เป็นติเหตุกบุคคล ได้ฌานด้วย สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้ แต่ตอนหลังก็เสื่อม และไปเกิดในอเวจีมหานรก

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์อรรณพกล่าว ก็ต้องเป็นกรรมเก่าของเขา คือ ส่งผลให้เป็นอย่างนั้น

    อ.อรรณพ เพราะกิเลสจึงมีกรรม ส่งผลให้รับวิบาก แม้ปฏิสนธิด้วย ๓ เหตุ แต่ก็ต้องไปอบาย

    ผู้ฟัง ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลในอนาคต ไม่มีโมหเจตสิกมาตั้งแต่เกิด

    ท่านอาจารย์ โมหะจะเกิดกับวิบากจิตไม่ได้เลย และจิตที่ทำปฏิสนธิกิจกับภวังค์เป็นจิตประเภทที่เป็นวิบาก ไม่มีวิบากจิตของใครทั้งสิ้นที่จะมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน คนที่เกิดในนรก เป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นใครก็ตามแต่ อกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภทนั้น เมื่อเกิดขึ้นต้องเป็นอกุศล จะเป็นวิบากไม่ได้

    ผู้ฟัง คำถามอาจารย์สุรีย์ คงเป็นตอนที่ภวังคจิตของคนที่จะเป็นพระอรหันต์ คล้ายๆ อย่างนั้น หรือเปล่าไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ แต่ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้ในชาตินั้น ต้องมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย มิฉะนั้น จะเป็นพระอริยบุคคลไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่ว่าไม่ใช่โมหเจตสิก

    ท่านอาจารย์ โมหะจะไม่เกิดกับวิบากจิตใดๆ ทั้งสิ้น ขณะใดที่อกุศลเจตสิก ๑ ใน ๑๔ เกิด จิตนั้นต้องเป็นอกุศลเท่านั้น เป็นอย่างอื่นไม่ได้

    อ.อรรณพ การปฏิสนธิ ถ้าปฏิสนธิด้วยปัญญา เป็นผลของกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา แล้วก็จะมีภวังคจิตซึ่งเป็นพื้นของจิตที่ประกอบด้วยปัญญา พร้อมที่จะมีการเจริญขึ้นของปัญญา แต่ถ้าภวังคจิตไม่ประกอบด้วยปัญญา การที่จะเข้าใจธรรม การที่จะอบรมเจริญปัญญา ก็ยากกว่า และไม่สามารถที่จะบรรลุรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้สำหรับผู้ที่เป็นทวิเหตุกบุคคล

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบเราคิดอย่างไร เป็นสิ่งที่เรารู้ได้ หรือไม่ ประการหนึ่ง หรือว่าเป็นเพียงสิ่งที่เราคิดไปเรื่อยๆ ว่า คนนี้จะมืดมาแล้วสว่างไป คนนั้นสว่างมาแล้วจะมืดไป หรือสว่างมาสว่างไป อย่างนี้ แต่เราสามารถจะรู้จักตัวเอง เวลาได้ยินได้ฟังพระธรรม มีศรัทธาที่ได้สะสมมาแล้ว ที่เห็นประโยชน์ รู้ว่าเป็นสิ่งควรที่จะได้สะสม หรือเข้าใจเพิ่มขึ้น หรือว่าเราไม่ได้เห็นประโยชน์ของพระธรรมเลย แล้วเราเห็นระดับไหน ระดับที่เป็นผู้ที่ตรง สัจจะ จริงใจ และมั่นคงที่จะเข้าใจธรรม ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น

    นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเหตุว่าโลภะพร้อมที่จะให้เราเป็นอื่น หรือหลอกให้เห็นเป็นอย่างอื่นอยู่เรื่อยๆ โดยที่การอาจจะคิดว่า เป็นผู้สนใจฟังธรรม แต่เพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อความเข้าใจ เพื่อที่จะรู้ความจริงที่ละกิเลส และมีความเข้าใจถูกต้องว่า ธรรมเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด และโดยฐานะ และอฐานะ ก็คือว่า เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว เราจะสามารถรู้ได้ว่า เราสามารถเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจริงๆ ระดับไหน แต่ขอให้เป็นความตรงในสิ่งที่ถูกว่า เป็นสิ่งที่ถูก สิ่งที่ผิดก็เป็นสิ่งที่ผิด เพราะว่าพระไตรปิฎกกว้างขวาง และลึกซึ้งมาก ยิ่งศึกษาก็ยิ่งเห็นความต่างกันของพระปัญญาของพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้ากับผู้ที่ก้าวไปสู่การฟังพระธรรมว่า แม้แต่ทรงแสดงเรื่องของธรรมให้ผู้ที่ได้ฟัง ได้มีศรัทธาที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ กว่าจะมั่นคงว่า ปัญญาที่จะรู้ความจริง ต้องรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 155
    12 ม.ค. 2567