ปกิณณกธรรม ตอนที่ 549


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๔๙

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ เวลาที่จิตประเภทใดเกิดขึ้น ต้องมีกิจการงานหน้าที่ อย่างเห็น เราอาจจะไม่เคยคิดเลย ว่าเป็นหน้าที่ของธาตุชนิดหนึ่ง คือ ธาตุนี้มีลักษณะหรือหน้าที่เห็น กิจการงานของธาตุนี้คือ เมื่อเกิดแล้วต้องเห็น เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาธรรมโดยความเป็นธาตุ ธา-ตุ หมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็เป็น สภาพที่ละเอียดมาก รูปใครจะคิดบ้างว่า มีอายุเพียงแค่จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ๑๗ ขณะนี้เร็วมาก นับไม่ได้เลย พิสูจน์ได้คือขณะที่กำลังเห็น กับขณะที่กำลังได้ยิน เกิน ๑๗ ขณะ เวลานี้ ที่เหมือนพร้อมกัน

    เพราะฉะนั้น รูป รูปหนึ่งที่เกิด ดับแล้ว ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ที่จะตรัสรู้ ความจริงของสภาพธรรม จะไม่มีใครแสดงเลยว่าขณะนี้ รูปที่เราคิดว่ายั่งยืน เป็นตัวของเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แต่ความจริงไม่ได้ปรากฏ ขณะที่เห็น รูปไหนปรากฏ นอกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ปอดปรากฏไหม หัวใจ สมอง กระดูก เลือดเนื้อ ไม่ได้ปรากฏเลย ขณะเห็น มีสภาพธรรม ๒ อย่าง สภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็คือเป็นสภาพรู้คือเห็น กับสิ่งที่ปรากฏ เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็นเท่านั้น จบโลกหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    จิตเกิดดับเร็วมาก แล้วจิตทุกดวง ทุกชนิด เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยแล้วก็ดับ แสนสั้น แล้วการเกิดดับของจิตสืบต่อกันโดยที่ใครก็ไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะว่าเริ่มต้นจากปฏิสนธิจิต ถ้าไม่มีปฏิสนธิจิต คือจิตขณะแรกที่เกิด เราก็ไม่ได้อยู่ที่นี่ ไม่เห็นไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ทั้งหมดก็ต้องมาจากจิตขณะแรก คือ ปฏิสนธิจิต โดยมากคนที่ไม่ได้ศึกษาจะเข้าใจว่าปฏิสนธิ คือ เคยได้ยินไหม หรือไม่เคยได้ยินเลย เคยได้ยินแต่คำว่า จุติ แต่จุติหมายความว่า ตาย หรือว่าสิ้นสุด หรือว่าเคลื่อน หมดความเป็นบุคคล ในชาติหนึ่ง ชาติหนึ่ง ขณะสุดท้าย แล้วขณะต่อไปที่สืบต่อจากจุติจิตก็คือ ปฏิสนธิจิต

    เมื่อจุติจิตดับ ที่เราใช้คำว่า ตาย ก็จะต้องมีปฏิสนธิจิต สืบต่อ ทันที ใช้ชื่อนี้เพื่ออธิบายให้เข้าใจว่า หมายความถึงจิตที่เกิดสืบต่อจากจุติจิต ปฏิสนธิ คือ สืบต่อ จากจิตดวงก่อนที่ดับไปของชาติก่อนโน้น เพราะฉะนั้น เราก็ค่อยๆ ศึกษาภาษาบาลี แล้วก็เข้าใจขึ้นแล้ว ใช่ไหม ปฏิสนธิ คือจิตขณะแรก และจิตขณะแรกดับไหม หรือไม่ดับ ยังอยู่มาจนถึงเดี๋ยวนี้ แล้วเห็นบ้างได้ยินบ้าง นี่ไม่ใช่เลย เราคิดว่ายั่งยืน ขณะนี้เหมือนกับเรานั่งอยู่ จะกี่นาทีก็ตามแต่ ไม่มีอะไรดับ แต่สภาพธรรมอาศัยปัจจัย แล้วก็เกิด ดับ เร็วมาก

    ปฏิสนธิจิตเมื่อดับแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ไม่มีใครสร้าง แต่ว่า จิตทุกดวงเป็นสภาพซึ่งทันทีที่ดับไป ก็จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น สภาพอันนั้น พลังอันนั้น หรืออำนาจอันนั้นที่ทำให้จิต ขณะต่อไปเกิด หลังจากที่ตัวเองดับแล้ว เป็นอนันตรปัจจัย เพราะฉะนั้น ก็ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เห็นความเป็นอนัตตาว่าทุกอย่างต้องมีปัจจัยจึงต้องเกิดขึ้น

    อนันตร หมายความถึง ไม่มีระหว่างคั่น ทันทีที่จิตนั้นดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตายถึงเดี๋ยวนี้ หรือเมื่อกี้นี้จนถึงเดี๋ยวนี้ จิตก็เกิดดับนับไม่ถ้วน โดยอะไร ที่ทำให้จิตขณะหนึ่ง เกิดต่อ หลังจากที่จิตขณะก่อนดับ อนันตรปัจจัย ถ้ารู้จักชื่อพวกนี้ ก็ไม่มีชื่อมากกว่านี้ แค่นี้ไม่กี่ชื่อ เหมือน ๗ วัน วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัส วันศุกร์ วันเสาร์ ก็มีปฏิสนธิจิต พอปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จิตเกิดต่อหรือเปล่า ต้องเกิดต่อ จิตที่จะดับแล้ว ไม่มีจิตอื่นเกิดต่อ คือ จุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น ถ้าไม่พูดถึงความปลีกย่อย เรื่องอื่น เช่น อสัญญสัตตาภูมิ หรืออะไรอย่างนั้น แต่ให้ทราบว่าจิตที่ยังมีพืชเชื้อ คือปัจจัยอยู่ ต้องเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด แต่ว่าจะห่างไกลกันก็ได้ อย่างกรรมที่ได้ทำแล้วในชาติก่อนๆ โน้นก็ยังเป็นปัจจัยที่จะทำให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสในชาตินี้ได้

    นี่คือความอัศจรรย์ของนามธาตุ ซึ่งเป็นธาตุซึ่งมองไม่เห็นเลย แต่มี อย่างเห็นเป็นธาตุรู้ ไม่ใช่ตา แล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ เป็นแต่เพียงสภาพหรือธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วเห็นแล้วดับ เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว เป็นอนันตรปัจัจยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ทำหรือเป็นปฏิสนธิจิตอีกได้ไหม การศึกษาธรรมเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเราจะไม่เข้าใจผิด แล้วก็ไม่คลาดเคลื่อน ปฏิสนธิจิตในชาติหนึ่ง มีขณะเดียว คือ ขณะแรก จุติจิตก็มีขณะเดียว คือ ขณะสุดท้าย นอกจากนั้นแม้ว่าจะเป็นจิตประเภทเดียวกัน เพราะว่าเป็นผลของกรรมเดียวกัน แต่ไม่ได้ทำกิจอย่างเดียวกัน

    เพราะว่าปฏิสนธิจิต ทำปฏิสนธิกิจ จึงชื่อว่าปฏิสนธิจิต ขณะแรก แล้วเมื่อดับไปแล้วคนนั้นก็ยังไม่ตาย ก็ยังมีจิตเกิดดับสืบต่ออยู่ ในขณะที่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังไม่ได้คิดนึก มีไหม ขณะอย่างนี้ ใครไม่มีบ้าง ต้องมี ตอนหลับสนิท เห็นได้ชัดเลย ขณะนั้นไม่ใช่ว่าไม่มีจิต เพราะว่ายังไม่ใช่คนตาย แต่จิตในระหว่งหลับไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตคิด ไม่ใช่จิตได้ยินพวกนี้ เพราะฉะนั้น เป็นจิตที่ดำรงภพชาติสืบต่อจากปฏิสนธิจิต จึงชื่อว่า ภวังคจิต ตอนนี้ก็ไม่มีความสงสัยเลย เรื่องภวังคจิต จะไปอ่านหนังสือตำราอะไรที่เขียนอย่างไรก็ตามแต่ แต่สภาพตามความเป็นจริง ภวังคจิตก็คือ ขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยินไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้คิดนึก ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ภวังคจิตของทุกคนเหมือนกันไหม

    วิทยากร ภวังคจิตของทุกคน บางคนก็ปฏิสนธิมาด้วย ทวิเหตุกะ บางคนก็ติเหตุกะ บางคนก็อเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่เหมือนกัน แต่ทำกิจภวังค์เหมือนกัน

    วิทยากร ทำกิจภวังค์ต้องอย่างเดียวกัน สืบต่อภพชาติที่เกิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงกิจ ภวังค์ เหมือนกันหมด ไม่ว่าจิตใดก็ตาม ถ้าทำภวังคกิจ ก็คือว่าขณะนั้น ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พระอรหันต์หลับสนิท กับมหาโจรหลับสนิท โดยกิจ คือ ไม่เห็นไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้คิดนึก ดำรงภพชาติความเป็นบุคคล ตามปฏิสนธิจิต แต่ว่าสภาพของจิตที่ ปฏิสนธิต่างกัน

    เพราะฉะนั้น ภวังคจิตก็ต่างกันโดยประเภท แต่ว่าถ้าโดยกิจแล้วไม่ต่าง คือว่า ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือเราจะใช้ภาษาอะไรก็ได้ แต่ภาษาที่แน่นอนที่สุดคือรู้เรื่องกิจของจิต ว่าขณะใดที่จิตไม่ได้กระทำกิจ ทางทวารหนึ่ง ทวารใด คือเห็นสีได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือคิดนึก ขณะนั้น เป็นภวังคจิต แต่ว่าให้เข้าใจเรื่องสภาพธรรม ว่าเวลาที่เราพูดถึง จิต จิตจะต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือ จิตที่รู้อารมณ์ทางหนึ่ง ทางใด ทางทวารหนึ่ง ทวารใด เรียกว่าวิถีจิต เพราะเหตุว่าจะต้องอาศัยจิตเกิดดับสืบต่อกันไป ไม่ใช่อย่างขณะเดียว ในการที่จะรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่น ในขณะนี้ที่กำลังเห็น จิตขณะเดียว คือ จักขุวิญญาณทำกิจเห็น แต่ก่อนเห็น จิตต้องเป็นภวังค์แน่นอน จิตเห็นจะเกิดขึ้นทันทีไม่ได้ เพราะว่าขณะนั้นยังไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่ง ทางใด ยังเป็นภวังค์อยู่ แล้วต่อเมื่ออารมณ์กระทบทางหนึ่ง ทางใดใน ๕ ทาง คือจะกระทบตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย ก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะเห็นทันที ได้ยินทันที ได้กลิ่นทันที ลิ้มรสทันที รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทันที ทั้งๆ ที่ขณะนี้กำลังเป็นอย่างนี้ ทางตา ทางหู ทางกาย ทางใจ แต่ก็ไม่มีใครไปรู้ หรือสามารถที่จะรู้ได้ อาศัยการฟังพระธรรมเพื่อที่จะได้เห็นความไม่ใช่ตัวตน แล้วก็เห็นว่าสภาพธรรม จะต้องมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ทำกิจการงานสืบต่อกันตามลำดับ จะให้ภวังคจิตเกิดก่อน ปฏิสนธิจิตก็ไม่ได้ หรือเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว แล้วจะให้จิตเห็นเกิดขึ้นทันที โดยไม่มีภวังคจิตเกิดสืบต่อ หลายขณะก็ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่เราคิดว่า เราต้องไปรู้ แต่หมายความว่า เราต้องเข้าใจ ความเป็นจริงของผู้ที่ตรัสรู้ และทรงแสดงไว้ว่า สภาพธรรม ต้องเกิดดับสืบต่อกันอย่างนี้ โดยอนันตรปัจจัย คือไม่ขาดการสืบต่อของจิตเลย ชาตินี้อย่างไร ชาติก่อนก็อย่างนั้น แล้วชาติหน้าก็เหมือนอย่างนี้ คือจิตจะต้องเกิดดับสืบต่อ ทำกิจการงานหน้าที่ของจิต แต่ละขณะไป จนกว่าจะไม่มีปัจจัยที่จะทำให้จิตเกิดขึ้น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเราเริ่ม เข้าใจชีวิตของเรา ว่าแท้ที่จริงแล้วก็คือสภาพธรรม ที่เป็นปรมัตถธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา แล้วก็ไม่มีใครจะไปบังคับบัญชาได้ แล้วก็เข้าใจถึงการเกิดดับสืบต่อตามลำดับซึ่งปัจจัยนี้ชื่อว่า สมนันตรปัจจัย หมายความว่าเมื่อเกิดต่อ ก็ต้องเกิดต่อตามลำดับด้วย ไม่มีใครไปจัดสรร แต่ว่าสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ เป็นจิตตนิยาม เป็นธรรมเนียมของสภาพธรรม ที่เกิดสืบต่อ ตามปัจจัย ก็เข้าใจ ๒ ปัจจัยแล้วใช่ไหม อย่าคิดว่าปัจจัยยากเกินไป เรียนไปพร้อมกับการเข้าใจเรื่องของจิตได้ ไม่ยาก ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต ต่อไปจิตอื่นๆ ก็ไม่ยากเหมือนกัน แล้วถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ชื่ออื่นก็นิดหน่อย ไม่มากเท่าไร เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็เป็นชื่อภาษาบาลีที่เรารู้จักแล้วทั้งหมด ตอนนี้มีใครสงสัย ๒ กิจนี้ไหม

    ผู้ฟัง เวลาฟังเทปท่านอาจารย์ ทุกครั้ง จะค่อนข้างสับสนเรื่องของกุศลจิตกับ โสภณจิต

    ท่านอาจารย์ ชื่อต่างกัน เพราะว่า ความหมายต่างกัน โสภณ แปลว่า ดีงาม กุศล เป็นเหตุที่ดีที่จะทำให้เกิดผลที่ดี คือ กุศลวิบาก

    ผู้ฟัง วิบากจิตบางดวงไม่นับเป็น โสภณจิต

    ท่านอาจารย์ อโสภณจิต อโสภณจิตทั้งหมด มี ๓๐ ดวง อันได้แก่ อุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๑๘

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น แยกกันแค่นี้เอง ชัดเจน

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าไม่มีโสภณจิตเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง โสภณเจตสิกกับ กุศลเจตสิกเหมือนกันไหม

    ท่านอาจารย์ โสภณเจตสิกเป็นกุศลก็ได้ เป็นวิบากก็ได้ เป็นกิริยาก็ได้ แล้วแต่ว่าจิตเป็นอะไร ถ้าโสภณเจตสิกที่เป็นกุศลเกิดขึ้น จิตนั้นเป็นกุศลคือเป็นเหตุ ถ้าโสภณจิตเกิดกับวิบากจิต โสภณเจตสิกนั้นก็เป็นวิบาก

    ผู้ฟัง เห็นในเทปท่านอาจารย์ แสดงว่าในภวังคจิตนี้ เป็นโสภณจิต

    ท่านอาจารย์ ภวังคจิต ตามปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตเป็นอย่างไรดับไป ก็เป็นปัจจัย ให้จิตที่สืบต่อกำรงภพชาติอย่างนั้น จิตประเภทเดียวกันเลย ถ้าปฏิสนธิ เป็นมหาวิบากจิต กามาวจรกุศลจิต ที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ภวังคจิตก็มีปัญญาเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง หมายถึง ภวังค์ของเราตั้งแต่เกิดจนตายเป็นโสภณหมด

    ท่านอาจารย์ ไม่เปลี่ยน เพราะว่าเป็นมนุษย์ ที่ไม่ได้พิการตั้งแต่กำเนิด

    ผู้ฟัง แล้วจะมีประโยชน์ มากน้อยไหม เรามีภวังค์มากๆ จะเป็นกุศลบ้างไหม

    ท่านอาจารย์ ภวังค์ไม่เป็นกุศล ภวังค์เป็นวิบาก เพราะฉะนั้น ถ้าใครเกิดมาแล้ว นิทธาตลอด

    ผู้ฟัง ตายไปจะขึ้นสวรรค์ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่กรรม แล้วแต่กรรม ถ้าตื่นแล้วเป็น อกุศลมากๆ กับหลับแล้วไม่เป็นอกุศล เพราะขณะที่หลับไม่ใช่อกุศล แต่ว่าไม่ได้สละ อกุศล เพราะว่าไม่ได้ตื่น แต่ว่าประโยชน์ คือว่า ถ้าตื่นแล้วเป็นกุศล เพราะฉะนั้น จะเทียบประโยชน์ ว่าชีวิตที่มีอยู่ เห็น ได้ยิน พวกนี้ จะเป็นประโยชน์เมื่อไร เมื่อเป็นกุศล เมื่อมีปัญญา มิฉะนั้นเห็นก็เป็น อกุศล ได้ยินก็เป็นอกุศล ตื่นมาทำไม ตื่นมาเป็นอกุศลทั้งวันทั้งคืน ทั้งเดือนทั้งปี

    วันนี้มีผลของกรรมบ้างไหม เพราะว่าเรามักจะพูดกันอยู่เสมอ กรรมกับผลของกรรม แต่คำพูดที่เลื่อนลอย ถ้าเราไม่รู้ว่าขณะไหนจริงๆ จิตขณะไหน ประเภทไหน ที่เป็นผลของกรรม แต่ถ้าเราเรียนเรื่องของจิตโดยละเอียด เราจะทราบได้เลย ตลอดวัน ลืมตาขึ้นมานี่ก็ต้องเห็น ดีไหม ต้องเห็น เป็นผลของกรรมที่ต้องเห็น เพราะว่าเป็นวิบาก ทำกรรมที่จะต้องทำให้มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย จะหลับสนิทอย่างที่หวังเป็นไปไม่ได้ ไม่มีความทุกข์ไม่ชอบใจก็หลับเสียๆ ไม่ต้องตื่น ขึ้นมารู้เห็นอะไร แต่กรรมทำให้ต้องตื่น เช่นเดียวกัน ถ้าขณะใดที่เรายังไม่หลับ ก็หมายความว่า ยังไม่ให้เป็นภวังค์ ยังต้องเห็นอีก ได้ยินอีก หรือมิฉะนั้นแม้ไม่เห็นไม่ได้ยิน อกุศลจิตที่สะสมมาก็เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง ก็คิดไป

    เพราะฉะนั้น ต้องแยกให้ละเอียดว่าขณะใดบ้างที่เป็นผลของกรรม แล้วขณะใดเป็นเหตุ คือเป็นกรรม ที่จะให้เกิดผลข้างหน้า ซึ่งมีอยู่ในชีวิตประจำวัน อย่างขณะเกิด ขณะแรก ปฏิสนธิจิต เป็นกรรมหรือว่าเป็นผลของกรรม เป็นผลของกรรม ขณะนั้นไม่ได้ทำกรรมอะไรเลย แต่กรรมที่ทำแล้ว จะต้องทำให้จิตหนึ่ง จิตใดซึ่งเป็นผลเกิดขึ้นวันหนึ่งวันใด เพราะฉะนั้น บางทีเราไม่เห็น ว่าเราได้ทำกรรมอะไรแล้ว แล้วก็กรรมนั้นจะให้ผลเมื่อไร ดูเหมือนกับว่า ให้ผลช้า ไม่ทันใจ บางคนทำบุญแล้วก็คิดว่า เมื่อไร จะได้ผลของบุญ หรือว่าคนไหนที่ทำ อกุศลกรรมรอไหม ว่าเมื่อไร อกุศลกรรมนี้จะให้ผลมีไหม มีแต่ว่า ไม่อยากให้อกุศลกรรมนั้นให้ผลเลย แต่ว่าเหตุมีแล้ว เพราะฉะนั้น ใครจะอยากหรือไม่อยาก ผลของกรรมก็คือว่า ต้องมีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบกาย

    แล้วขณะที่เห็น สิ่งที่ปรากฏจริงๆ มีลักษณะที่ต่างกัน ๒ อย่าง คือสิ่งที่น่าพอใจอย่างหนึ่ง และสิ่งที่ไม่น่าพอใจอย่างหนึ่ง แล้วทุกคนก็อยากจะเห็นแต่สิ่งที่น่าพอใจ แต่บังคับไม่ได้เลย วันไหนผลของกรรมอะไรจะเกิดก็ต้อง เห็นสิ่งนั้น ถ้าเป็นผลของกุศล จักขุวิญญาณกุศลวิบาก ก็เห็นสิ่งที่น่าพอใจ ถ้าเป็นผลของอกุศล จักขุวิญญาณก็ต้องเห็นตามกรรมนั้นๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เพราะฉะนั้น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้ทราบว่าแม้แต่จักขุปสาทรูป ก็เกิดเพราะกรรม โสตปสาทรูปที่จะกระทบกับเสียง ก็เกิดเพราะกรรม กรรมเป็นปัจจัยให้รูปเกิด แล้วก็เป็นปัจจัยให้มีการเห็น มีการได้ยินพวกนี้ แต่ว่าหลังจากที่เห็นแล้ว ซึ่งต่อไปก็คงจะถึง เมื่อกี้นี้ เราถึงโวฏฐัพพนะ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ถึงเห็น

    ท่านอาจารย์ ถึงเห็นเท่านั้น เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าขณะใดที่เห็น เป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรม

    ผู้ฟัง สมมติว่าเราจับอันนี้ว่าแข็ง เราต้องระลึกรู้ว่ามันแข็ง หรือเราต้องขึ้นใจว่ามันแข็งหรืออะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการต้อง ในพระพุทธศาสนา ไม่มีการต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ แต่ให้เข้าใจความจริง ว่าขณะนั้นเป็นสภาพที่มีจริงๆ แข็งมีจริง แต่แข็งนั้นเคยเป็นเราหรือ เคยเป็นของเรา ถ้าแข็งที่ตัวเราก็คิดว่าเป็นตัวเรา แข็งข้างนอกเราก็คิดว่าสิ่งนั้นเป็นของของเรา แต่ความจริงสภาพธรรมที่ปรากฏต้องเกิด เราไม่เห็นการเกิด ถ้าไม่ใช่ปัญญาระดับที่สามารถที่จะรู้ ขณะที่รูปนั้นเกิด และดับ แต่ว่าสิ่งใดก็ตาม ถ้าเราคิดจริงๆ ลึกลงไปจริงๆ สิ่งใดที่มีปรากฏสิ่งนั้นต้องเกิด ถ้าไม่เกิด ก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กระทบแข็ง ขณะนั้นมีสภาพที่รู้แข็ง แข็งจึงปรากฏ ชั่วขณะนั้นเป็นผลของกรรม ที่ทำใหั ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กระทบกายปสาท เพราะฉะนั้น ทางที่จะรับผลของกรรมมี ๕ ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วสุข ทุกข์ ความติดข้องทั้งหลาย กิเลส ทั้งหลายก็หลั่งไหลมาจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น หลังจากเห็นแล้ว ได้ยินแล้วไม่ใช่วิบากอีกต่อไป แต่เริ่มที่จะเป็นเหตุใหม่ ที่จะทำให้เกิดวิบากข้างหน้า แต่พอทราบคร่าวๆ ในเรื่องของวิบากซึ่งเป็นผลของกรรม

    ผู้ฟัง คงไม่ใช่จิตทุกดวง ที่จะทำให้เกิดปฏิสนธิจิต

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้หัวข้อที่เรากำลังเรียน คือ จิตประเภท ที่เป็น อเหตุกจิต เพราะว่าเหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง ที่เป็นฝ่ายอกุศล คือ โลภะ โทสะ โมหะ ที่เป็นฝ่ายดี โสภณคือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ และอเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ดวง เป็นวิบากจิต ๑๕ ดวง เป็นกิริยาจิต ๓ ดวง นี่คือต่างกันโดยชาติ ขณะนี้เรากำลังเรียนเรื่องของจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึง ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีจิตแรกก่อนเห็นก่อนได้ยินพวกนี้ ขณะนั้นไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าเราจะต้องแยกจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย กับจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย จิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย จะเป็นจิตประเภทที่เป็นวิบาก ฝ่ายที่รู้อารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะใดที่เห็น ขณะนั้นให้ทราบว่า ยังไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ยังไม่มีอโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นแต่เพียง ผลของกรรม ทำให้การเห็นชั่วหนึ่งขณะแล้วก็ดับ แล้วก็ทำให้จิตต่อไป ก็เป็น สัมปฏิจฉันนะ รู้อารมณ์นั้นต่อ หลังจากนั้นก็เป็น สันตีรณะ ก็รู้อารมณ์สืบต่อกันไป

    แต่จิตต่างๆ เหล่านี้ ต้องทราบว่า ขณะไหน เป็นจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เราจะได้ทราบว่าเมื่อไร เหตุเริ่มเกิดร่วมด้วย แล้วเวลาที่เหตุเกิดร่วมด้วย จะต่างกับจิต ที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะว่าจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มาก เท่ากับจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นจิตที่มีกำลังอ่อน กว่าจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เหมือนกับต้นไม้ ถ้าต้นไม้ใหญ่ รากก็แข็งแรง มีรากแก้ว รากอะไร แต่ว่าถ้าเป็นพวกสาหร่าย ก็ไม่เหมือนกับต้นไม้ใหญ่ เพราะฉะนั้น จิตก็เหมือนกัน ถ้าเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ มีอะไรบ้าง เราจะทราบว่า เฉพาะ ๑๘ ดวงนี้เท่านั้น ที่เป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ จิตอื่น นอกจากนี้ทั้งหมด ต้องมีเหตุหนึ่งเหตุใดเกิดร่วมด้วย ซึ่งปกติแล้วจะต้องมี ๒ เหตุ หรือถ้าเป็นฝ่ายอกุศล มีทั้ง ๑ เหตุ และ ๒ เหตุ แต่ไม่มี ๓ เหตุ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567