ปกิณณกธรรม ตอนที่ 555


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๕๕

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ ที่ว่า ที่จะเห็นเป็น อสุภะ ไม่ใช่ เพียงนึกหรือคิด หรือเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ แต่เพราะประจักษ์ความไม่เที่ยง ลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นลักษณะที่ไม่งาม ก็จะต้องมีการสอดคล้องของการอบรมเจริญปัญญา แต่ให้ทราบว่าที่ยกหรือกล่าวถึง กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แยกมาอีกต่างหากจาก ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เพราะเหตุว่า เพื่อให้เห็นถึงความเป็นจริง ซึ่งละยากมาก มีใครที่จะละความติดในรูปที่ปรากฏ ที่คิดว่าเป็นเราบ้างไหม วันนี้พรุ่งนี้อย่างไรก็ยังต้องติดอยู่ในรูปนี้ ที่จะต้องเป็นสุภะ ไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาระดับขั้นพระอนาคามีบุคคล จึงจะละวิปลาส ที่เห็นว่าสิ่งที่ไม่งามตามความเป็นจริงว่าไม่งาม เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่อง จริงๆ อย่างตอนแรก ที่เราเขียนเรื่องละวิปลาส เราจะต้องเข้าใจระดับขั้น ไม่ใช่ว่าเราเพียงมีปัญญานิดหน่อย เข้าใจนิดๆ แล้วก็จะไม่มีการยึดถือ ด้วยเหตุนี้แม้กายที่มีอยู่ แล้วก็ยึดถือว่าเป็นเรา ก็จะต้องพิจารณาให้รู้ความจริงด้วย ก็เป็นแต่ละบรรพไป

    ผู้ฟัง ถ้าสี เสียง กลิ่น รส จะอยู่ทางไหน

    ท่านอาจารย์ ชื่อ ก็มาอีกช่อง ก็มาอีกบรรพ ก็มาอีกจะอยู่ไหน จะให้อยู่ไหน ลองคิดดู ว่าจะให้อยู่ไหน หาไม่เจอ ก็ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่พ้น

    ผู้ฟัง เหตุที่ท่านแยก ๔ นี้ เหตุใดท่านถึงได้แยก ๔

    ท่านอาจารย์ อย่างข้อ ๑ เราก็เห็นอยู่แล้ว ใช่ไหม นามธรรม รูปธรรมทั้งนั้น แต่เรายึดติดกายนี้แค่ไหน

    ผู้ฟัง หมายความว่า ท่านแยกตามความสำคัญ

    ท่านอาจารย์ ตามที่เรายึดถือ ยึดติด ยึดมั่นเลย สุภะ กายของเราต้องสวย กี่ภพกี่ชาติ บางคนก็อธิฐาน ทำบุญชาติหน้าก็ขอให้สวย อย่างอื่นดูจะไม่เอา แต่ว่าขอให้สวย เพราะว่าความยึดมั่นในรูป ร่างกายที่เคยยึดถือว่าเป็นเราแค่ไหน แล้วทุกคนก็เห็นจริง ถ้าจะพิจารณา ตั้งแต่เริ่มตื่นจนกระทั่งจะหลับ ทะนุบำรุงมากน้อยแค่ไหน

    ผู้ฟัง อันนี้หมายความว่า ๑ ถึง ๔ เรียกว่าสมัยใหม่นี้ก็คือหาข้อมูลว่า อันไหนมีความถี่มากก็ เอาไว้ข้อ ๑ ถี่น้อยลงมาเรื่อยๆ หรืออย่างไร คือเกิดทางกายมาก รองมาเวทนา

    ท่านอาจารย์ ก็ลองอย่างนี้ดู คุณสุรีย์ ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วจะให้ระลึกอะไรเล่า เพราะฉะนั้น เราต้องมีความเข้าใจ แต่ไม่ใช่ให้ไปบังคับ แต่มีความเข้าใจที่ๆ สติจะระลึก ที่กายมีธรรมที่สติจะระลึกได้ด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง เขาเกิดที่ไหนก็ระลึกที่นั้น ดิฉันว่า

    ท่านอาจารย์ แล้วจะเกิดตรงไหน ตอนนี้ ลองคิดดู ลองหาที่เกิด ที่ระลึก ที่กายต้องมีแน่ๆ เลย มีใครบ้างที่จะไม่ระลึกที่กาย

    วิทยากร. คำว่า กาย วิเคราะห์ศัพท์ อรรถกถาจารย์ท่านบอกว่า กุ อันบัณฑิต เกลียด กุ แปลว่า อันบัญฑิตเกลียด อา-ยะ แปลว่าบ่อเกิด หรือที่เกิด ของโกฐะ คือ ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เป็นต้น อันบัณฑิตเกลียด ต้องบัณฑิตเกลียด ไม่ใช่คนพาลเกลียด คนพาลชอบ ผมสวย ขนสวย เล็บสวย ฟันสวย เป็นต้น แต่บัณฑิตเกลียด ให้เห็นกายตามความเป็นจริงก่อน ทุกวันเราไม่ได้เห็นกายตามความเป็นจริง จึงไม่ได้กำจัด กำจัดวิปลาส เห็นว่าเป็นของงาม แท้จริงไม่งาม ท่านจึงกล่าวไว้ถึง ๑๔ บรรพ เรื่องกาย กล่าวมากกว่าอย่างอื่นเลย

    ท่านอาจารย์ ลองคิดถึงความติดมากมายในรูปร่างกาย หรือในความสวย ความงาม กว่าสติปัฏฐานจะเกิด เราก็เห็นได้ว่า ฟังเรื่องของสภาพธรรมก็มาก พระไตรปิฎก ไม่ว่าในพระสูตรก็มีข้อความต่างๆ แต่สติก็ยังไม่เกิด แล้ว เมื่อเกิดแล้ว ทั้งสัมมัปปธาน หรือว่าอิทธิบาท อินทรีย์ พละ พวกนี้ กว่าจะค่อยๆ เจริญขึ้นๆ ๆ นานแสนนาน กว่าสภาพของธรรม จะปรากฏตามความเป็นจริงแก่ปัญญาที่อบรมแล้ว ที่เป็นวิปัสสนาญาณ เป็นญาณ เป็นปัญญาที่อบรมแล้ว แล้วก็สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม เพียงขั้นแรก คือ นามรูปปริจเฉทญาณ ก็ละอะไรไม่ได้ แม้แต่จะละความเห็นที่ว่าไม่ใช่ตัวตน หรือว่าไม่ใช่ของเรา หรือว่าไม่งาม ก็ยังละไม่ได้เลย จนกว่าจะถึงเมื่อไรที่รู้แจ้ง อริยสัจธรรม โสดาปฏิมรรคจิตเกิด ดับเพียงทิฏฐิ ที่เห็นว่าเป็นตัวเรา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เคยถือว่าเป็นนิจจัง เที่ยง แล้วก็เป็นเรา แต่ว่ายังคงมีจิต และสัญญาวิปลาส เพราะเหตุว่ายังมีอกุศลที่ยังเห็นสภาพธรรมที่งาม ยังติดอยู่ในสภาพธรรมที่งาม พระโสดาบัน เห็นถูกทั้งหมด ในเรื่องการเกิดดับของสภาพธรรม รู้ว่าไม่เที่ยง รู้ว่าเป็นทุกข์ รู้ว่าเป็นอนัตตา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ว่ายังละความที่เคยพอใจ ในสภาพที่งามไม่ได้ จนกว่าจะถึงพระอนาคามีบุคคล ปัญญาต้องรู้แจ้งอริยสัจธรรมอีกโดยการอบรม ให้ชินกับลักษณะของสภาพธรรมก็คือจิต เจตสิก รูป ที่เคยเหมือนเดิม จิต เจตสิก รูป จะไม่เปลี่ยนเลย โลภมูลจิต ก็เป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต ก็เป็นโทสมูลจิต ก่อนเป็นพระโสดาบัน ก่อนสติปัฏฐานจะเกิด จนกระทั่งสติปัฏฐานเกิด จนกระทั่งปัญญารู้แจ้ง สภาพธรรมอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น แต่ปัญญาต่างระดับขั้น เมื่อถึงขั้นที่รู้แจ้งเป็นโสดาบันแล้วก็ยัง รู้ยังมีกิเลส ยังไม่สามารถที่จะละความติด ความพอใจใน สุภสัญญาได้ เพราะฉะนั้น ท่านรู้ตามความเป็นจริง จึงอบรมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมละเอียดขึ้น ชินขึ้น หิริ โอตตัปปะ หรือแม้แต่ลักษณะของสภาพธรรมที่ละเอียดอย่างมานะ ซึ่งจะต้องละด้วยอรหัตมรรค ท่านก็เริ่มเห็นว่าขณะใด ที่เป็นมานะอย่างละเอียด เพราะว่าส่วนใหญ่ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็พอจะรู้ลักษณะของมานะอย่างหยาบๆ ได้ แต่มานะอย่างละเอียด เมื่อเป็นพระอนาคามีบุคคลแล้ว ยังมี ลองคิดดู ว่าไม่ได้ติดในรูป ในเสียง ในความสวยความงาม ในสุภสัญญาแล้ว แต่ยังมีมานะในความสำคัญในความสุข เพราะฉะนั้น ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็นพระอรหันต์ โดยที่ว่าไม่ได้ติด ไม่ได้พอใจในความสวย ความงาม ลองคิดดูว่าจะเบาสบาย สักแค่ไหน รูปร่างกายจะเป็นอะไรก็แล้วแต่สภาพธรรมนั้น ความเบา ความบางก็มีขึ้น แต่ความสำคัญในความสุขที่เบาบางแล้ว ถึงความเป็นพระอนาคา ยังมี เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า มานะที่เราเคยเข้าใจ อย่างใหญ่ๆ อย่างหยาบๆ ที่เราเห็น แล้วเราก็รู้ว่าเป็นความหยิ่ง ความสำคัญตน ความทะนงตน พวกนี้ เมื่อเทียบกับความละเอียดของคนที่ถึงความเป็น พระอนาคามี แต่ยังมีมานะ เพราะฉะนั้น มานะนั้นก็จะต้องบางกว่านั้นซึ่ง จะต้องดับได้หมดเป็นสมุจเฉทด้วยอรหัตมรรค

    เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดจะละเอียดขึ้นๆ เมื่อปัญญาสามารถที่จะอบรมเจริญ แล้วก็รู้ความจริงขึ้น จนเห็นความต่างกันของอกุศลระดับต่างๆ แล้วจึงสามารถที่จะละอย่างหยาบไปตามลำดับขั้น แต่ก็ต้องเห็นความที่เราติดมั่นเหลือเกิน ยึดมั่นในความงาม จนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามี ความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น

    พระธรรม ทุกคนมีความเคารพในพระธรรมที่ได้ฟัง เสมือนพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ เพราะว่าข้อความที่สืบทอดมาจนปัจจุบันนี้ คือพระธรรมที่ทรงแสดงด้วย พระโอษฐ์ ของพระองค์เอง

    เวลาที่มีการฟังพระธรรม ผู้ที่มีความเคารพก็จะฟังด้วยความตั้งใจ แล้วก็พิจารณา ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ได้อบรมปัญญาในอดีตมาแล้ว ก็สามารถที่จะเข้าใจคำนั้นโดยละเอียด แล้วก็สามารถที่จะพิจารณา ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ รู้แจ้งสภาพธรรม ในขณะนั้นได้ แต่ผู้ฟังพระธรรมก็มีหลายระดับ สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยจะเห็นประโยชน์ แต่ว่าฟัง ก็มี คือว่าเริ่มที่จะคิดว่าการฟังมีประโยชน์ แต่ความตั้งใจน้อย หรือว่าอาจจะมีความสนใจในเรื่องอื่น ทำให้การฟัง ฟังไม่ติดต่อกัน เพราะฉะนั้น ความเข้าใจก็ยาก และเมื่อกาลสมัยล่วงมาแล้ว การที่จะเข้าใจธรรมโดยที่ไม่ศึกษา ไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย เพราะว่าผู้ที่จะเข้าใจได้จริงก็คือ ผู้ที่ได้เคยศึกษามาแล้วมากในอดีตจนถึงปัจจุบัน

    ถ้าป็นผู้เริ่มจริงๆ ก็ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท แล้วก็ทราบว่าพระธรรมที่ทรงตัรสรู้ และทรงแสดง เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการฟัง การศึกษา การพิจารณาให้เข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ เพราะว่าสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตายทุกชาติ คือพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ โดยละเอียด แต่ละขณะจิต แต่ละสภาพธรรมให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังก็เริ่มเป็นผู้ที่เห็นพระคุณ มีความตั้งใจ มีความเคารพในพระธรรม เสมือนได้เฝ้าได้ฟังพระธรรมาจากพระโอษฐ์

    เพราะเหตุว่าถ้าไม่อาศัยท่าน อรรถกถาจารย์ ความเข้าใจของเราก็ต่างคนต่างแปล ต่างวิพากษ์ วิจารณ์ แต่ว่าถ้าได้ฟังข้อความในอรรถกถาด้วย จะทำให้เราเข้าใจว่า คำที่ได้แสดงไว้ในพระไตรปิฎก และท่านอรรถกถาจารย์ ซึ่งใกล้ชิดกับเหตุการณ์ในครั้งนั้น ความรู้สติปัญญาของท่านมาก จนสามารถที่จะทำให้เราได้เข้าใจ ข้อความซึ่งคนในยุคนี้อาจจะไม่เข้าใจ

    ถ้าเป็นปัญญาที่มั่นคงแล้วก็ไม่ต้องเจริญอีก ใช่ไหม แต่เพราะเหตุว่ามีความรู้ความเข้าใจเรื่องสภาพธรรม เป็นเหตุใกล้ที่จะให้เกิดสติปัฏฐาน โดยสัญญาความจำพร้อมความเข้าใจ ในเรื่องราว ที่ได้ยินได้ฟัง

    ผู้ฟัง อันนี้ก็หมายความว่า สัญญาตัวนั้น จะต้องไปกับปัญญา

    ท่านอาจารย์ โดยมากเวลาอ่าน พระสูตร ต้องทราบว่ามีข้อความที่ละไว้ ในที่เข้าใจแล้วสำหรับผู้ที่เข้าใจแล้ว ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจเลย ก็จะคิดว่าสัญญา ความจำ ไม่ว่าจำอะไร ก็เป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิด ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม ตั้งแต่เกิดมาสัญญาก็เกิดกับจิตทุกขณะ แล้วสัญญาอย่างนั้นหรือ ที่จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด ต้องเป็นสัญญาที่เกิดจากความเข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟังจนมั่นคง เช่นในขณะนี้ สัญญา ใครมั่นคงว่าขณะนี้เป็นธรรม ทั้งๆ ที่ศึกษาแล้วว่าไม่มีตัวตน เป็นปรมัตถธรรม เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป ขณะนี้ และทุกๆ ขณะ ตั้งแต่เกิดจนตาย สัญญามั่นคงพอที่สติปัฏฐานจะเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้หรือยัง ถ้ายังก็จะเข้าใจได้ ความหมายของสัญญาที่มั่นคง เพราะยังไม่มั่นคงสติปัฏฐาน จึงยังไม่เกิด แต่ว่าเมื่อมีความเข้าใจ สะสมความเข้าใจ จนกระทั่งมั่นคงก็เป็นเหตุใกล้ที่จะทำให้สติมีการระลึกได้ ว่าขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ก็เป็นธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง บางคนก็มีสัญญาที่มั่นคงในการที่จะ จำว่า ตัวตนมีจริงๆ คือว่าความจำที่มั่นคงคือไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แม้กระทั่งจะให้เหตุผลอย่างไร ก็ยังเชื่อมั่นว่า บาป บุญไม่มี

    ท่านอาจารย์ แล้วบางคน สัญญาเขามั่นคงเพียงชื่อ เห็นเป็นนาม สิ่งที่ปรากฏเป็นรูป มั่นคงแค่นี้ ใครถามก็ตอบได้ ว่าเห็นเป็นนามธรรม สีสันวัณณะ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นรูป ก็อยู่แค่นี้เอง นั่นไม่เป็นเหตุใกล้ ที่จะให้สติปัฏฐานเกิด

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจว่า การศึกษาธรรม ไม่ใช่เรื่องการจำพยัญชนะ หรือจำคำ แล้วพูดได้ แต่ว่าต้องเป็นความเข้าใจ ในขณะที่พูด อย่างเช่น ทุกอย่างเป็นธรรม คนนั้นต้องมีความเข้าใจว่า ธรรมคืออะไร ไม่มีชื่อเลย แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แล้วจึงสมมติชื่อต่างๆ เรียกธรรม เพื่อให้เข้าใจ แต่ว่าตัวธรรมเองไม่มีชื่อ แต่ว่ามีลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจในความหมายของธรรม ไม่มีชื่อในขณะนี้ แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา คนนั้นก็จะเข้าใจว่า นี่คือธรรมที่สติจะต้องระลึก จนกว่าจะเข้าใจลักษณะนั้นถูกต้อง ตามความเป็นจริงว่า เคยเป็นคน เคยเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่เมื่อเข้าใจแล้วก็คือสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบตา ลักษณะหนึ่ง แล้วก็สภาพเห็นคือธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น ต้องรู้สิ่งหนึ่ง สิ่งใดที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ทางตาในขณะนี้ที่กำลังเห็น สามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏต่างๆ ขณะนั้นก็เป็นนามธาตุ กว่าจะเข้าถึงลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมก็เมื่อสัญญามั่นคงขึ้น ไม่ใช่จำชื่อ แต่ต้องเข้าใจ อรรถ หรือความหมายของธรรมด้วย

    วิทยากร. สัญญาที่มั่นคง ถ้าไม่มั่นคงก็เป็นสัญญาวิปลาส เช่น จำว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นคนชื่อนั้นชื่อนี้ เป็นวิปลาส ถ้าไม่วิปลาส ก็อย่างที่อาจารย์ว่า เป็นสัญญาที่มั่นคง ทุกวันนี้เราส่วนมากเป็นสัญญาวิปลาส คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เห็นคน ซึ่งเป็นสมมติ เป็นปรมัตถ อย่างนี้เป็นสัญญาวิปลาส ไม่มั่นคง เพราะว่ามันผิดจากความเป็นจริง

    ผู้ฟัง สังโยชน์ ๑๐ ช่วยกรุณาหน่อย

    วิทยากร. สังโยชน์ เครื่องผูกๆ มุ่งถึง เครื่องผูกให้สัตว์ติดอยู่ในภพนี้ เรามุ่งเอาถึงกิเลสเป็นเครื่องผูก อย่างอื่นไม่ใช่เครื่องผูกที่แท้จริง อย่างโซ่ อย่างตรวน ไม่ใช่เครื่องผูกที่แท้จริง แต่ว่ากิเลส มันเป็นเครื่องผูกอย่างมั่นคงในวัฏฏะ โซ่ตรวน ไม่มั่นคงในวัฏฏะ มันแก้ได้ทำลายได้ ไม่สามารถที่จะออกจากวัฏฏะได้ เพราะมีกิเลส กิเลสจึงเป็นเครื่องผูกอย่างมั่นคง

    ท่านอาจารย์ ๑ สักกายทิฏฐิ หรือจะใช้คำว่า สักกายทิฏฐิ๑ ก็ได้ วิจิกิจฉา๑ สีลัพพตปรามาส๑ กามราคะ ๑ ปฏิฆะ๑ รูปราคะ๑ อรูปราคะ๑ มานะ๑ อุทธัจจะ๑ อวิชชา๑ เหมือนชื่อใหม่ๆ มีแล้วทุกคน ยังไม่ได้ดับหมดเลยสักอย่าง ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาธรรม ขอให้น้อมมาสู่ตน จะได้ทราบว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงว่า สภาพของผู้ที่ยังมีกิเลส ที่ยังไม่ได้ดับเป็น สมุจเฉท ที่เป็นปุถุชน จะไม่พ้นจากสังโยชน์ คือ เครื่องผูกเครื่องร้อยรัด ซึ่งมีถึง ๑๐ อย่างโดยนัยนี้ คือ ๑ สักกายทิฏฐิ ถ้าไปบอกคนอื่นเขาว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล คนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมอย่างไรๆ ก็ไม่เชื่อ ไม่มีทางเชื่อเลย เพราะว่าเขาไม่รู้ว่า สภาพที่มีจริงๆ ก็คือจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น เมื่อรวมกันก็ต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีความเห็นผิดว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของต่างๆ

    หลายคนก็คงจะบอกว่า ศึกษาแล้วก็ยังเห็นเป็นอย่างนั้น ก็จริง เพราะเหตุว่า ปัญญามีหลายระดับขั้น ปัญญาที่เพิ่งฟัง แล้วก็เพิ่งเข้าใจ แต่ว่าตลอดเวลา มาตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ก็เห็น เหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนเลย สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ปรากฏอย่างนี้ เปลี่ยนไม่ได้ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น แต่ความรู้ความเข้าใจค่อยๆ เพิ่มขึ้น จากการฟังเท่านั้น ก็เพียงฟังเรื่องราวว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แต่มีสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เริ่มที่จะเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรม แล้วก็สิ่งที่ไม่ใช่สภาพรู้ ก็เป็นรูปธรรม ส่วนสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ก็เป็นนามธรรม ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นรู้ เป็นลักษณะของจิต และเจตสิก เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้คือธรรมที่ทรงแสดง

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่านั่นฟังเรื่องราวตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะแท้ๆ ของจิต ซึ่งต่างกับเจตสิก ซึ่งต่างกับรูป รูปก็ต่างกับจิต ต่างจากเจตสิก เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมไม่ใช่เพียงให้ฟังเรื่องราว แต่ต้องรู้ตัวเองตามความเป็นจริงว่า ความรู้ระดับไหนที่ฟัง ความรู้ระดับ เข้าใจเรื่องราว ก็เรื่องหนึ่ง แต่ว่าความรู้ลักษณะของสภาพธรรม ต้องเป็นอีกขั้น ๑ หรืออีกระดับ ๑ คือไม่ใช่เพียงขั้นปริยัติ ศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรม แต่เป็นการศึกษาด้วยสติที่ระลึกลักษณะที่ปรากฏของสภาพธรรม เพื่อให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ตรงตามที่ได้ศึกษาทุกอย่าง จึงสามารถที่จะละสักกายทิฏฐิได้ ก็ทุกคนก็ทราบตัวเองตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะฟังธรรมก็ต้องทราบว่าเป็นเรื่อง ของตัวเอง

    วิจิกิจฉา เป็นความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมคือในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ในอริยสัจเวลานี้ถ้าบอกว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา คนที่เพิ่งฟังใหม่ๆ สักเมื่อ ๒๐, ๓๐ ปีก่อนเขาจะบอกว่าไม่เคยปรากฏกับเขาเลย สิ่งที่ปรากฏทางตา นั่นไม่ใช่การฟังด้วยความเข้าใจ ถ้าเป็นการฟังด้วยความเข้าใจก็จะต้องทราบว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ คือสิ่งที่พระผู้มีพระภาค ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงให้รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง ไม่ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางจมูก ไม่ปรากฏทางลิ้น ไม่ปรากฏทางกาย แต่จิตเป็นสภาพที่เหมือนมายากล ที่เกิดดับเร็วมาก แล้วก็จดจำทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏซึ่งเกิดดับเร็ว ทำให้เหมือนว่าสิ่งนั้นเที่ยง ไม่มีการเกิดขึ้น และดับ เพราะฉะนั้น ขณะนี้จะมีความสงสัยว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับเป็นอย่างไร นี่คือ วิจิกิจฉา ซึ่งผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระโสดาบัน ดับสักกายทิฏฐิ ดับวิจิกิจฉา ไม่เกิดอีกเลย

    สังโยชน์ที่ ๓ คือ สีลัพพตปรามาส โดยศัพท์ อาจารย์สมพรท่านเคยแปลไว้แล้ว ปรามาส แปลว่า ลูบคลำ สีลัพพต คือศีล และความประพฤติของชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ฟังพระธรรมก็จะไม่รู้เลย ว่าเราลูบคลำ ข้อประพฤติปฏิบัติอย่างไร หรือไม่ เช่น ผู้ที่เชื่อในเรื่องโชคลางของขลัง เป็นสีลัพพตปรามาสหรือเปล่า เพราะบางคนแปลว่า สีลัพพตปรามาส หมายความถึงการลูบคลำ ศีลพต ข้อประพฤติปฏิบัติ ที่ไม่ใช่หนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ลองคิดดูว่า ถ้าไม่เข้าใจเหตุผล ตรงตามความเป็นจริงตั้งแต่ต้น แล้วจะรู้หนทางตรงที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม แม้แต่เพียงธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ไม่เป็นเหตุ เป็นผล เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจจริงๆ ว่าไม่ใช่คนอื่น แต่เป็นตัวท่านในชีวิตประจำวัน ถ้าเกิดความคิดขึ้นมาว่าสิ่งอื่นบันดาลได้ หรือว่าสามารถจะมอบกรรมของเราให้คนอื่นได้ หรืออะไรอย่างนี้ ก็แล้วแต่ซึ่งเป็นขณะที่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็น สีลัพพตปรามาส

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567