ปกิณณกธรรม ตอนที่ 591


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๙๑

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ ขึ้นอยู่กับว่าเราฟังมามากน้อยเท่าไร แล้วเราอบรมเจริญปัญญาความรู้ระดับไหน เพราะบางคนก็อาจจะคิดว่าเพียงฟัง มีปัญญาระดับเดียวคือขั้นฟัง แต่ความจริงปัญญาจะมีเพียงขั้นฟังไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าขั้นฟังไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาพระสูตรก็เป็นเครื่องที่ทำให้เราสามารถที่จะพิจารณาตัวเองได้ ว่าการศึกษาธรรมของเราทั้งหมดเรา มีความเข้าใจอย่างไร ในพระสูตรสั้นๆ แต่ว่าผู้อื่นสามารถจะเข้าใจได้ ก็เป็นเรื่องของการอบรม ที่จะต้องรู้ว่าต้องอบรมไปอีกมาก แล้วก็ พระธรรมทั้งหมดทุกคำ เป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง ขณะที่อ่านพระสูตรจะอบรม อย่างไรได้บ้าง

    ท่านอาจารย์ ไม่ประมาทว่าพระธรรมง่าย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น การที่จะ มีความรู้อย่างนั้นจริงๆ จะอบรม อย่างไรไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ดิฉันคิดว่าทุกคนควรที่จะเข้าใจจุดประสงค์ของการฟังพระธรรม เพราะว่าพระธรรมเป็นเรื่องรู้จริงแล้วละจริงๆ ซึ่งเรื่องละ เป็นเรื่องที่ยากมากเลย ทุกอย่างมีปัจจัยเกิดทั้งนั้นเลย ทั้งวันตั้งแต่เกิดมาก็มีปัจจัยที่จะเกิดต่อไปเรื่อยๆ แต่การที่จะมีปัญญาที่จะดับการเกิดของอกุศล แม้ที่เราเคยสะสมมา จากการที่เป็นคนหนามาก มาเป็นคนที่บางลงนิดหนึ่งไปเรื่อยๆ โดยรู้จุดประสงค์ว่า การศึกษาพระธรรมจะไม่มีประโยชน์ เลยถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติตาม เรามีความรู้มากเราเปิดตำราเล่มไหนเราก็เข้าใจไปหมด ใครถามอะไรเราก็ตอบได้ โน้นนี่ นี่นั่น แต่ว่าเราไม่ได้ขัดเกลาเลย แต่ถ้าฟังพระสูตร หรืออ่านพระสูตร จะทำให้จิตใจเราอ่อนลง เห็นว่ามีคุณค่ามากจากการที่เคยเป็นคนหยาบกระด้าง แล้วก็ศึกษาทำไม ยิ่งฟังข้อความที่ว่าชีวิตของพระภิกษุ ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ๆ แล้วจะบวชทำไมทั้งหมด แล้วจะบวชทำไม แล้วจะบวชทำไม เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ต้องถึงพระภิกษุ แล้วจะเรียนทำไม ถ้าไม่เรียนเพื่อประพฤติปฏิบัติตาม เรียนทำไม เรียนเพื่อเพิ่มพูนมานะ ความสำคัญตนว่าเรารู้มาก เราเข้าใจมาก เป็นอันตรายมากเพราะเหตุว่าพระธรรมไม่ใช่สำหรับที่จะให้เราเป็นอย่างนั้น แต่ต้องเป็นการขัดเกลาอย่างยิ่งโดยเห็นประโยชน์ แล้วก็จะทำให้เราเปลี่ยนสภาพจากการที่เคยเป็นคนที่ขอโทษก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ มาเป็นรู้จักที่จะอ่อนน้อมแล้วก็ยอม กล้าที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น แล้วก็ยอมที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผิด เป็นสิ่งที่ถูกได้ ก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ในชีวิต ถ้าเราเห็นคุณประโยชน์จริงๆ ว่าเราจะ เป็นผู้ที่ว่าง่าย แล้วก็พร้อมที่จะรับพุทธโอวาส ทั้งหมดทุกทาง ถ้าแค่นี้ทำไม่ได้แล้วจะไปทำอะไรได้ ปัญญาต้องมหาศาลอย่างมากเลย ที่จะละความเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง จะมีพยัญชนะ หลายพยัญชนะ ที่ชวนให้เข้าข้างตัวเอง อย่างเช่น อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ทำไม่ได้ด้วย ก็เลยไม่ทราบว่าเมื่อไรจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าฟังธรรมเผินๆ อย่างนั้น จะไม่มีประโยชน์เลย แค่พูดตาม ชาวพุทธทุกคน พูดได้ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วพอมีอะไรเกิดขึ้นเราก็ยกมาเลย ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เหมือนเราซาบซึ้ง แต่ว่าความจริง ถ้าซาบซึ้งจริงๆ อะไรเป็นอนัตตา จบไม่ได้เลย อยู่แค่นั้นไม่พอ ขณะนี้ อะไรเป็นอนัตตา ถ้าไม่ตอบก็คือไม่รู้ แต่ถ้าตอบก็ขึ้นอยู่กับปัญญาระดับไหน ถ้าบอกว่าเห็นเป็นอนัตตาได้ยินเป็นอนัตตา ได้กลิ่นเป็นอนัตตา ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจละเอียดขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง แต่ว่าขั้นพูดตามหรือเปล่า เพราะฉะนั้น เราจะรู้ว่าปัญญายังจบไม่ได้ ถ้าไม่สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่เราพูด ถ้าเราพูดว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ยังจบไม่ได้เลย จนกว่าปัญญาจะประจักษ์ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เราก็จะเป็นผู้ที่ขวนขวายไม่ท้อถอย แล้วรู้ว่าเป็นเรื่องซึ่งไม่ใช่รู้ง่าย แต่รู้ได้ ไม่ใช่รู้ง่าย แต่รู้ได้ เพราะฉะนั้น ก็มีความอดทน เข้าใจความหมายของคำว่า ขันติ ความอดทนในพระพุทธศาสนาว่า ไม่ใช่ไปอดทนขุดดิน ตักน้ำ ตำข้าว แต่ว่าอดทนที่จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่มีแล้วก็งปรากฏ จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจ ขึ้นเพื่อละ ทุกอย่าง ทุกอย่างไม่ใช่แต่เพียงความเห็นผิดอย่างเดียว ต้องเป็นกิเลสเล็ก กิเลสน้อยอะไรๆ ที่สามารถจะค่อยๆ สะสมเป็นบารมีไป แต่โดยมากพอโกรธก็เดือดร้อน ความเป็นเราลึกมาก ทำอย่างไรถึงจะไม่โกรธ พอโลภก็ไม่ชอบเลย ทำอย่างไร จะไม่โลภ ก็มีแต่ตัวตน ซึ่งรักตัวแล้วอยากจะให้ตัว ดีที่สุดที่จะดีได้ แต่ด้วยความไม่รู้อะไร ด้วยความเป็นห่วง ด้วยความรักตัว อย่างนี้ยิ่งละยาก ใช่ไหม

    ผู้ฟัง สมมติว่าเราจะปลีกวิเวกไปหาที่สงบอย่างนี้ บางทีเราก็ได้รับคำเตือน บอกว่าเราไม่ใช่เพศบรรพชิต เราก็ทำตามแบบของเรา ไม่จำเป็นต้องไปหาที่สงบอยู่ หรือว่าเราจะเดิน เราก็ไม่ควรจะต้องไปเดิน เพราะว่าเราก็เดินอยู่โดยปกติ ภิกษุ หรือบรรพชิตไม่ได้เดินก็เลย ทำให้ไม่เข้าใจชัดเจนว่า มันจะต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่อบรมเจริญ มรรคมีองค์ ๘ การที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ได้จำกัดเพศ จะเป็นบรรพชิตก็ได้ เป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ไม่ว่าบรรพชิตหรือว่าคฤหัสถ์ ถ้ามีความเข้าใจในมรรค หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาถูกต้อง ไม่ได้ติดอยู่ที่เพศ ใครก็ตาม ไม่ว่าบรรพชิตหรือว่าคฤหัสถ์ ที่มีความเข้าใจถูกต้องในหนทางอบรมเจริญปัญญา ผู้นั้นจะไม่คลาดเคลื่อน หรือจะไม่ทำสิ่งที่ผิด เช่น ถ้าพระภิกษุนั่งอยู่ตรงนี้ หรือคฤหัสถ์นั่งอยู่ตรงนี้ ขณะนี้มีปัจจัย ที่ทำให้นามธรรมที่เห็น เป็นธาตุรู้เกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ไม่มีความรู้เพราะว่า ถือว่าเป็นเรา นี่คือความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญา คือ รู้หนทาง ทำอย่างไรจะเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ เราจะไปไหน ไปทำไม ขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏแล้ว

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นสัมมาสติที่มีปัจจัยเกิดระลึก เพราะได้ฟังมามากเลย เรื่องของปรมัตถธรรม ในระดับของการศึกษาปริยัติแต่ว่าขณะใดที่สัมมาสติเกิด ขณะนั้นเท่านั้นที่เป็นหนทางเดียว ที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเกิดขึ้น และดับไป เพราะฉะนั้น ถ้ารู้อย่างนี้ ไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหน ก็ไม่ไปไหน แล้วแต่สัมมาสติเกิดตรงนี้ หรือว่าตรงไหน ในชีวิตประจำวัน เป็นผู้ที่มีปกติ มีความเข้าใจถูกต้องจริงๆ ว่า ไม่มีใครสามารบันดาลให้จิต เจตสิก รูป เกิดขึ้นตามใจชอบ ทุกอย่างเป็น สภาวะธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิด เป็นอย่างนั้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น เมื่อจะเข้าใจให้ถูกต้อง ก็คือไม่มีเรา ที่จะไปทำอะไรขึ้น แต่รู้ว่าขณะใดที่สัมมาสติเกิด ขณะนั้นจึงมีการระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ แล้วเราจะไปไหน แล้วเราจะไปตามแบบใคร ในเมื่อทุกขณะนี้ ก็มีสภาพธรรม ที่เกิดดับ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเราจะเดินจงกรมบ้างก็ไม่ผิด

    ท่านอาจารย์ จงกรม หรือจังกัมมะคืออะไร ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ฟังคล้ายๆ กับว่า เราไปเลียนแบบของบรรพชิต

    ท่านอาจารย์ เราทำขึ้น เราไม่ได้รู้ ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีใครทำอะไรได้เลย ถ้าเข้าใจอย่างนี้ที่ใครถามว่าหนทางลัด ก็คือนี่แหละตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่เกิด ไม่ต้องไปอ้อมค้อมจะไปตรงนั้น จะไปดูตรงนี้ จะทำสิ่งนี้ให้เกิด ให้สมาธิเกิดก่อน นั่นคือทางอ้อมหมดเลย ในเมื่อขณะนี้สภาพธรรม ก็กำลังเกิด แล้วนั่งอยู่แล้วจะจงกรมไหม

    ผู้ฟัง ไม่ ที่ผมเรียนถามเพราะว่าบางทีพระพุทธเจ้า สอนคฤหัสถ์ สอนพราหมณ์ ก็ยังเอาพระภิกษุมาพูดถึง เลยทำให้เรานึกว่า จะให้เราเลียนแบบพระภิกษุหรือ บรรพชิตหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ อันนั้นเราติดที่คำ แต่ถ้าเราเข้าใจว่าภิกษุมีหลายความหมาย ผู้เห็นภัย ถ้าไม่เห็นภัยเราก็ไม่มานั่งตรงนี้

    ผู้ฟัง หนูไม่เข้าใจว่า ในเมื่อคนไข้ ตอนมีชีวิตอยู่ ก็เป็นเพียงบัญญัติ แล้วก็คนไข้ที่ตายไปแล้วเป็นบัญญัติ ทำไมเราเจริญเมตตาต่อคนตายไม่ได้

    ท่านอาจารย์ โดยมากพอเราได้ยินคำอะไร เราไม่ได้คิดถึงความจริง ความหมายที่แท้จริง แต่เราคิดจะทำ พอได้ยินคำว่าเมตตาก็อยากจะมีเมตตามากๆ แล้วจะรู้ว่าจะเมตตากับใครได้บ้าง ไม่ได้ แต่เราไม่ได้คิดถึงเหตุผล ว่าตามความเห็นจริง เมตตา คือความเป็นมิตร เป็นเพื่อน เราไปเป็นเพื่อนกับคนตายได้ไหม

    ผู้ฟัง เราเป็นเพื่อนกับคนตายไม่ได้ แต่ว่าการเจริญเมตตานั้น

    ท่านอาจารย์ เรามาติดตรงที่เจริญเมตตา โดยเราไม่ เข้าใจว่าจริงๆ แล้วเมตตาก็คือขณะใดก็ตาม เมื่อมีสัตว์ มีบุคคล เผชิญหน้า เฉพาะหน้า หรือแม้แต่คิดถึง ก็คิดถึงด้วยความเมตตาได้

    เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ไม่ใช่ให้เราต้องการไปเจริญให้ทุกคนทำกุศลแล้วก็ไม่รู้อะไรเลย เพียงแต่ว่าจะไปท่องหรือไปเจริญคนนี้ได้ คนนั้นไม่ได้ แต่เราต้องเข้าใจเหตุผลตามความเป็นจริงว่าเมตตาคือความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความหวังดี ความหวังประโยชน์ เกื้อกูลแก่บุคคลนั้นๆ ไม่ใช่ศัตรู เพราะฉะนั้น เราจะไปเป็นมิตรกับคนตายได้หรือ นี่ก็คือเราเจริญเมตตากับคนตายไม่ได้ ถ้าเราเข้าใจความหมายของเมตตา จะสงสัยอะไรในเมื่อไม่มีแล้ว ก็เป็นแต่เพียงซากศพมีแต่รูป แค่ ๘ รูปเอง

    ผู้ฟัง หนูสงสัยว่า ถ้าหากว่าไม่มีเมตตาจิตขณะนั้นก็อาจจะเกิดโทสะ อย่างเช่น ถ้าจะทำความสะอาดศพนั้น ก็อาจจะเกิดรังเกียจอย่างนี้ ใจก็เป็นอกุศล แต่ถ้าหาก เรามีเมตตาจิตก็จะสงบจากอกุศล เป็นกุศลอันนี้จะเป็น

    ท่านอาจารย์ เราคิดว่าเราเข้าใจความหมายของเมตตาคือ ความเป็นมิตรหรือเปล่า ความเป็นเพื่อน

    ผู้ฟัง ถ้าในแง่นี้ ก็ไม่ได้ ในแง่เป็นมิตร แล้วอย่าง ตัวอย่างที่ว่า มีบุคคลที่เราเคยโกรธ แล้วเขาตายไปแล้ว หลังจากเขาตายไปแล้วเราให้อภัยเขาไม่โกรธ อันนี้มันก็เป็นอโทสะไหม อย่างนี้ถือว่าเป็น เมตตาไหม

    ท่านอาจารย์ เราทำไมต้องเอาชื่อมานั่งถือ ขณะนั้นเป็นกุศลจิตแล้วเราก็ไม่มี ความหวังร้ายกับใครที่มีชีวิตอยู่ เวลาที่เขาตายแล้วเราจะไปทำอะไร จะไปฟัน จะไปฆ่า จะไปประทุษร้าย จะไปเบียดเบียน จะไปทำอะไร แต่คนที่มีชีวิตนี้ เขายังอยู่เราเบียดเบียนเขาด้วยกายหรือเปล่า เบียดเบียนเขาด้วยวาจาหรือเปล่า มีความไม่เป็นเพื่อนไม่ให้อภัย สิ่งที่แล้วไปแล้วก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ ที่เราจะต้องโกรธเคืองต่อไป ถูกต้องหรือเปล่า แล้วใครเสีย

    ผู้ฟัง ก็เมื่อเราให้อภัยเขาแล้ว ตอนนั้น เรามีเมตตาไหม

    ท่านอาจารย์ อยากจะเรียก ก็ไม่อยากให้ต้องมาติดที่คำ ว่าทำไมจะต้องมาเรียกหรือไม่เรียก ถือหรือไม่ถือ แต่ตามความเป็นจริงคือเราเป็นมิตรกับเขาหรือเปล่า เรื่องของการไม่โกรธก็คือเราไม่โกรธ จะมีชีวิต หรือไม่มีชีวิต เราโกรธคนตาย เขาทำอะไรให้เรา พูดก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้สักอย่าง เพราะฉะนั้น เรื่องของเมตตาเป็นเรื่องระหว่างผู้ที่มีชีวิตอยู่

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ ท่านอยากจะให้เรา รู้สึกถึงสภาวะจิตของเรา ในขณะนั้นไม่ใช่ไปเจริญชื่อ อย่างเจริญเมตตา เจริญชื่อขอให้ตนนั้นเป็นสุข ขอให้คนนี้ เป็นสุขก็ว่าไป แต่เจอหน้าที่ไรก็อยากจะ ขย้ำเลยอะไรอย่างนี้ คือสภาพจิตของเราที่ว่าเมตตาหมายความว่า มีความเป็นกันเองกับเขา สนิทสนมกับเขา เป็นเพื่อนกับเขาไม่รังเกียจ ไม่ถือตัวว่าเป็นโน่นเป็นนี่ ทำตัวเป็นเพื่อนสนิท เป็นเพื่อนที่คบกันได้ ไว้วางใจกันได้ เห็นอกเห็นใจเขา นี่แหละคือเมตตา ไม่ใช่ ชื่อ ลักษณะอย่างนี้คือเมตตา มันเกิดกับเรามื่อไร ก็เป็นการเมตตาเมื่อนั้น

    ท่านอาจารย์ แต่ข้อสำคัญก็คือว่า ทุกคนก็จะอยู่ในโลกนี้ไม่นาน แน่นอน ต้องจากไป แล้วก็คนใหม่ที่จะเกิด อยากจะให้เป็นคนอย่างไร คนขี้โมโห คนปากร้าย คนใจร้าย หรือว่าเป็นคนที่เป็นมิตรกับทุกคน ไม่ว่าเขาเป็นใคร ข้อสำคัญคือเมตตาที่จะเจริญ คือว่าไม่จำกัดบุคคล ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เลือก ถ้าเลือกเรารักคนนี้ เราทำทุกอย่างให้เขา เหมือนเมตตา แต่ความจริงไม่ใช่ เป็นโลภะ เราทำให้ ด้วยความรักผูกพัน ความพอใจ

    แต่ถ้าเราสามารถจะทำกับคนที่เราไม่รู้จักก็ได้ เหมือนกับคนที่เราทำให้คนที่เรารัก ขณะนั้นก็คือเมตตา ด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงๆ แล้วเราอยากมีใจสะอาดหรือว่าอยากจะมีใจเน่าๆ ต่อไปอีก แล้วก็ดำๆ มืดๆ สกปรก ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ต้องการชาติหน้าเป็นอย่างไร ต้องทำตั้งแต่ชาตินี้ นี้เป็นเรื่องธรรมดาๆ มากเลย ที่เราคิดเองได้ แล้วก็เป็นสติที่ทำให้เราสามารถ ที่จะรู้ว่าภพหน้าชาติหน้าเรา จะเป็นคนที่หน้าตาเหมือนยักษ์ หรือว่าจะเหมือนอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องทีทำเสียเดี๋ยวนี้ ข้อสำคัญที่สุดคือเดี๋ยวนี้ ถ้าเดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ ต่อไปก็ทำไม่ได้

    ผู้ฟัง คุณนีน่า มีความคิดว่าการที่จะเห็นโทษของสังสารวัฏจะเป็นอย่างไร จึงจะเห็นโทษของสังสารวัฏ

    ผู้ฟัง วิธีเห็นโทษไม่ใช่ทฤษฎีเท่านั้น ไม่ใช่โดยพูด หรือคิดเท่านั้น ในชีวิตของเราทุกวัน เดี๋ยวนี้เอง จากความตายเรารู้แล้วว่า ความตายเป็นทุกข์ เราอยู่ในสังสารวัฏ และกิเลสวัฏด้วย ไม่เดือดร้อนแต่มีกิเลส รู้ว่าอยู่ไหน กิเลสวัฏ แต่ยังไม่รู้ ไปโทษจริงๆ คิดว่าการเจริญสติปัฏฐาน จะเห็นได้ แต่ไม่ใช่ตรงกันข้าม ไม่ใช่รู้โทษของวัฏฏะ และที่หลังย่อมเจริญสติปัฏฐาน จนกว่าคิดเห็นเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ โดยมากคนก็จะคิดว่าต้องเห็นโทษ เห็นภัย แต่ว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่เป็นการที่เราพยายามไปเห็นโทษ เห็นภัย เพราะว่าบางคน เขาก็บอกว่าเกิดมาเป็นทุกข์ ถ้าใครดูโทรทัศน์ วงเวียนชีวิต เกือบจะดูไม่ได้เลย น่าสงสารที่สุด สำหรับตัวเขาก็ใครดูก็ต้องเห็นโทษเห็นภัยแน่ แขนไม่มี ขาไม่มี อาหารไม่มี ลูกหลานไม่มี สารพัดอย่างที่จะเป็นทุกข์ แต่เขามีปัญญาหรือเปล่า เพราะว่าบางคนรู้จักแต่ทุกข์ แล้วก็คิดว่า นี่คือโทษของการเกิด ถ้าไม่เกิดก็จะไม่เป็นอย่างนี้ แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ยังมีความติดข้องในชีวิต แล้วเขาก็ไม่รู้ว่าปัญญาคืออะไร ปัญญารู้อะไร

    ส่วนมากคนจะเห็นโทษจากความยากจน ความเจ็บไข้ได้ป่วย การพลัดพราก พอเกิดขึ้นเมื่อไร ก็เป็นทุกข์เหลือเกิน ซึ่งทุกคนต้องประสบ ไม่มีใครเลยซึ่งจะไม่เคยเจ็บป่วย ไม่มีใครเลยที่ไม่เคยสูญเสีย แล้วทุกคนก็ไม่ชอบอย่างนั้น แต่ปัญญาที่สามารถ ที่จะไม่ว่าสุขหรือทุกข์อย่างไร เขาก็สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าถึง และก็เข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้น บางที่เราอาจจะไม่ทราบว่า แท้ที่จริงไม่มีเรา แต่มีหิริ โอตตัปปะ มีโสภณเจตสิกที่ทำให้เรามาฟังธรรม มาศึกษาธรรม มาเห็นประโยชน์ แล้วเราก็สนุกได้ รื่นเริงได้ ตามการสะสม ไม่อย่างนั้นพวกที่ศึกษาธรรมก็คงจะแย่เลย ต้องเป็นทุกเห็นโทษไปหมดเลย ทั้งวัน โทษทั้งนั้นเลย ก็ลำบาก ซึ่งมันเป็นความจริงไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรม มีทั้งที่เป็นฝ่ายโสมนัส หรือว่าอุเบกขา ความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัญญา โดยที่เราก็ไม่รู้ตัวว่าขณะนี้สติกำลังเกิด ขณะที่กำลังฟังธรรม ต้องมีสติ แล้วก็มีโสภณสาธารณเจตสิก มีศรัทธาด้วย มีวิริยะแล้วก็มีขันติ หลายอย่างที่เป็นบารมี ที่ทำให้เรามานั่งที่นี่แล้วก็อดทนที่จะเก็บเล็กผสมน้อย จากความเข้าใจธรรม แล้วรู้ว่าเป็นความถูกต้อง ซึ่งผู้อื่นไม่สามารถที่จะแสดงได้ นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้น ที่ทรงแสดงไว้มีมากมายเหลือเกิน ขึ้นอยู่กับว่าเรามีศรัทธา ที่จะเข้าใจสิ่งที่แสดงไว้ เพื่อประโยชน์ต่อการที่กุศลจิตจะเกิดแล้วก็ขัดเกลา ไม่ใช่ว่าเราคิดว่าเรามีสติปัญญามาก ที่จะไปรู้พระไตรปิฎก จบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าเมื่อมีการสามารถที่จะเข้าใจธรรมเดี๋ยวนี้ ที่กำลังปรากฏ นี่คือจุดประสงค์ เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าจริงๆ แล้วก็ไม่มีเรา แต่เราก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรา ขณะที่เป็นสติ เป็นศรัทธา เป็นหิริ เป็นโอตตัปปะก็ไม่รู้ ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเป็นฝ่ายโสภณ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการฟังให้เข้าใจ แล้วเวลาที่เราเกิดเป็นคนดีขึ้นมา ก็จะได้รู้ว่าขณะนั้น ก็ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงโสภณสาธารณเจตสิกประเภทหนึ่งประเภทใด ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น มีสติปัฏฐาน มีการระลึกรู้ ก็คือไม่ใช่เราอีก แม้ปัญญาก็ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์จุดรวมของพระธรรมทั้งหมด ที่ประมวลคือ สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ซึ่งเราจะต้องเข้าใจจริงๆ แล้วก็เราก็จะทำให้เรามีปัจจัยที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เมื่อเข้าใจหนทาง เพราะว่าอริยสัจทั้ง ๔ ลึกซึ้ง ไม่ใช่ลึกซึ้งแต่เฉพาะนิโรธสัจ ซึ่งเป็นนิพพานอย่างเดียว แต่ไม่ว่าโลภะก็ลึกซึ้ง อยู่กับโลภะก็ไม่รู้จัก ทำอะไรตามโลภะก็ไม่รู้จัก โลภะกำลังต้องการสติปัฏฐานมากๆ ก็ไม่รู้จัก

    นั่นก็คือไม่สามารถจะละเหตุ เพราะว่าไม่รู้ หรือแม้แต่ทุกข์ในขณะนี้ ไม่ใช่เฉพาะคนที่แขนขาด ขาขาด เป็นโรคเป็นภัยเท่านั้น เป็นทุกข์ แต่ว่าสภาพธรรมทั้งหลายเพียงเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็มีความน่าอัศจรรย์จริงๆ ที่ว่าทำไมมีขึ้นมาได้ เสียงนี่ มาจากไหน แล้วก็ปรากฏด้วยมีสภาพที่ได้ยินเสียง ถ้าเกิดนอนหลับ ขณะนั้นก็จะไม่มีสภาพที่เสียงปรากฏกับจิตเลย

    แต่ขณะนี้ให้เห็นความน่าอัศจรรย์ จากไม่มี แล้วก็มี แล้วก็หามีไม่ ซึ่งทั้ง ๓ คำนี้ก็เป็นอย่างนี้ตลอดไปในชีวิตเพียงแต่ว่าถ้าเราได้ฟังบ่อยๆ เราก็เข้าใจธรรม มากขึ้นแล้วเราก็จะได้ไม่ว่ามีปัจจัยอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าสติปัฏฐาน เกิดก็รู้ว่า ขณะนั้นมีสติ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็คือขณะนั้นหลงลืมสติ แต่ว่ามีสติอีกได้บ่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย นี่คือจุดประสงค์ของการฟังพระธรรม คือ ไม่ใช่เพียงปริยัติ ฟังเรื่องราว แต่ฟังเพื่อที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ปัญหาของเรา นามธรรม รูปธรรม ที่ต่างกัน เพราะว่าไมมีสัมมาสติ ไม่รู้การเห็น หรือ สี การเห็นอย่างไร แล้วไม่รู้ลักษณะแต่ละอันเลย

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังบ่อยๆ อย่างเมื่อกี้นี้ บ่อยกี่กัป บ่อยกี่กัป ไม่ใช่บ่อยเพียงแค่กี่ชั่วโมงหรือ กี่นาที

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567