ปกิณณกธรรม ตอนที่ 581


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๘๑

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นการที่แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมตามความเป็นจริงจากการตรัสรู้ และทรงพระมหากรุณาแสดง สำหรับให้ผู้ฟัง เห็นว่าเป็นหนทางที่จะต้องอบรม ไม่ใช่หนทางอยากจะรู้ เพราะว่าทรงแสดงไว้เลยว่า ที่เรายังอยู่ในสังสารวัฏ หรือแม้แต่พระองค์เอง เมื่อได้ทรงตรัสรู้แล้ว ก็ทรงอุทานว่า ได้พบนายช่างเรือนซึ่งสร้างสังสารวัฏอยู่ตลอด ไม่เคยที่จะให้ออกไปจากสังสารวัฏเลย โลภะจะพาให้ไปเกิดในอรูปพรหมก็ได้ อยากจะสงบจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อุตสาห์ที่จะทำกุศลให้มากขึ้นมั่นคง เป็ความสงบที่มั่นคง ถึงระดับอรูปฌานก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลสไม่ง่าย และ ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา อะไรเพิ่มขึ้นอกุศลธรรม หรือกุศลธรรม

    แต่ยังเป็นบุญที่ได้กระทำไว้ ทำให้สามารถที่รู้ว่าการฟังพระธรรมจากพระไตรปิฎก ไม่ใช่ฟังจากความเห็นของบุคคลหนึ่ง บุคคลใด แต่เป็นการฟังตรง เรื่องของสภาพธรรมที่ทรงแสดง เพราะโดยเฉพาะก็คือ การที่จะเข้าใจในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ก็ต่อเมื่อเห็นพระปัญญาคุณ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมทั้งหมด แม้แต่ข้อความที่กล่าวถึงในสูตรนี้ เป็นพระปัญญาคุณที่ตรัสกับพระภิกษุท่านนี้ แล้วเราเป็นใคร เราสามารถจะเข้าใจอะไรได้ มีพยัญชนะก็ติดแล้ว ว่านี่อะไร นั่นคืออะไร แต่ถ้ารู้ว่าทั้งหมด คือความไม่รู้ ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วก็ค่อยๆ อบรม ทีละเล็กทีละน้อย อย่างที่กล่าวถึง ชั่วขณะหนึ่ง ที่มีการรู้ว่าขณะนี้ เป็นสภาพธรรม แล้วก็มีการค่อยๆ ระลึก ค่อยๆ เข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ ส่วนลักษณะที่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ค่อยๆ เข้าใจอย่างนี้ ก็เหมือนกับน้ำทีละหยด ซึ่งทรงแสดงไว้ ไม่ควรประมาทเลย ไม่ต้องไปหวังหลายหยด หรือว่าขันหนึ่ง หรือว่าถ้วยแก้วหนึ่ง แต่ว่าที่ละ ๑ หยด สามารถที่จะทำให้ เต็มได้ฉันใด การที่เรารู้ว่าขณะนั้น เป็น สัมมาสติ ละ ความอยากแล้ว

    เพราะว่าต้องรู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่เราเจตนา ต้องการที่จะกระทำ เพราะความเข้าใจผิด ในการใช้คำว่า ปฏิบัติ คิดว่าต้องทำ แต่ว่าตามความเป็นจริง คือขณะใดที่มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิด คือระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอย่างนี้เอง ธรรมดาอย่างนี้ แต่ต้องเป็นสติปัฏฐาน จึงระลึกลักษณะของสภาพธรรมไม่ใช่เพียงแต่ฟังเรื่องของธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่เริ่มต้นก็จะเป็นผู้ที่รู้ว่า ขณะไหนสติเกิด ขณะไหนหลงลืมสติ แต่ไม่ใช่ไปอยากเห็นว่าไม่เป็นหน้าต่าง เพียงแต่รู้ว่าขณะไหนสติเกิด ขณะไหนหลงลืมสติ แล้วก็ถ้ามีความเข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้ไม่ใช้คำว่า สติปัฏฐาน แต่ขณะนั้นก็เป็นสติปัฏฐาน นั่นเอง ไม่ทรงใช้ชื่อที่ทรงแสดงกับบุคคลที่ไปเฝ้า แต่ก็ทรงแสดงเรื่องสภาพธรรม ที่กำลังมีในขณะนั้น ซึ่งเมื่อสติของผู้นั้นเกิดระลึก ก็สามารถที่จะรู้ความจริง เป็นสติปัฏฐานได้

    เพราะฉะนั้น ขอให้เป็นเรื่องละ ใครที่อยากจะอบรมเจริญสติปัฏฐาน แม้เพียงอยาก ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม สติจะเกิดหรือไม่เกิดก็แล้วแต่ปัจจัยนี้ประการ ๑ ยิ่งหวัง ยิ่งต้องการ ยิ่งเหนื่อย เท่าไรก็ไม่ได้ เท่าไรก็ไม่ถึงเพราะเหตุว่าโลภะ ไม่สามารถจะทำให้สัมมาสติเกิดได้ แต่ถ้ามีปัจจัยที่สัมมาสติเกิดเมื่อไร เมื่อนั้นพร้อมด้วยปัญญาที่รู้ว่า ไม่ใช่เราเลยที่หวัง หรือต้องการ

    เหมือนกับขณะนี้ใครจะคิดเรื่องอะไรไม่ต้องเตรียมว่าเราจะคิดเรื่องนั้น หรือต่อไปจะได้ยินเสียงอะไร ก็ไม่ต้องเตรียมอีกเหมือนกัน ว่าจะได้ยินเสียงอะไร มีปัจจัยที่จะเสียงอะไรปรากฏ ได้ยินอะไรก็คือขณะนั้น ก็เป็น สภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่เป็นหนทางเดียวที่จะละ แล้วการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องละโดยตลอด ถ้าเกิดติดมีความต้องการเมื่อไร ต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นเครื่องเนิ่นช้า แล้วก็จะเนิ่นช้าต่อไปอีกไม่รู้ว่ากี่พัน ผ่านมาแล้ว ๒,๕๐๐ กว่าปี

    ผู้ฟัง ศาสนาผ่านมา ๒,๕๐๐ กว่าปี พระอรหันต์ก็น้อยลง คนที่จะสำเร็จอะไรต่างๆ ก็จะน้อยลง จะเป็นไปได้ไหมว่า สาเหตุเพราะ เหตุว่าสิ่งแวดล้อมมันมากขึ้น กิเลสมากขึ้น ตัณหามากขึ้น แต่ถ้าเผื่อเราหลบไปอยู่ในที่ที่ไม่มีกิเลสมากๆ จะช่วยเราไหม

    ท่านอาจารย์ โดยมากเราจะโทษสิ่งแวดล้อม หรือโน่น หรือนี่ หรือนั้น ใจของเรา มีปัญญาหรือยัง ถ้าไม่มีปัญญา เราไปไหน ไปทำไม เอาอะไรไป แต่ถ้าขณะใดก็ตาม ที่เราเกิดปัญญา อย่างขณะนี้ ถ้ามีความเข้าใจธรรม นั่นไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่สามารถจะเข้าใจในเหตุผล ของสิ่งที่มีจริงๆ ได้ รู้ว่าลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างไร ลักษณะของรูปธรรม เป็นอย่างไร นี่คือการอบรมเจริญปัญญา

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าในครั้งไหน ก็จะต้องมีการฟังธรรม จากผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าผู้นั้นไม่ใช่พระปัจเจกพระพุทธเจ้า ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ความจริงของธรรมซึ่งเกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่เรื่องราวสมมติบัญญัติก็ปกปิดไว้ตลอดเวลา พร้อมทั้งความยินดี ในสิ่งที่ปรากฏ ก็เลยไม่มีการแม้แต่จะฟัง

    ถ้าฟังก่อน และรู้ว่าปัญญาขั้นฟังต้องมี อดทนที่จะฟัง แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น บางคนก็มาห่วงตัวเอง พอฟังแล้ว กิเลสมาก จะทำอย่างไร จะทำอย่างไร เดือดร้อนใหญ่เลย อยากจะให้กิเลสน้อยลง อยากจะให้หมดกิเลส นี่อะไร ความรักตัวสุดซึ้ง หมายความว่ามากมายมหาศาล จนกระทั่งต้องอยากให้ตัวเองดี แล้วก็เมื่อไรกิเลสถึงจะหมด แต่นั่นก็แสดงว่าไม่ได้เข้าใจ ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วก็เป็นการอบรมเจริญปัญญาอย่างเดียว ที่จะทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่จริงๆ แล้ว

    ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่อิสระมาก อิสระอย่างไร ไม่ต้องอยู่ใต้ความอยากที่จะกดตัวเอง ด้วยศีลข้อนั้นข้อนี้ หรืออะไร ทั้งๆ ที่ไม่ใช่อัธยาศัย แต่เป็นตัวเอง ฟังธรรมก็คือฟังธรรม ออกไปไม่ฟังธรรม ก็คือไม่ฟังธรรม จะไปโน่น ไปนี่ก็คือไปโน่นไปนี่ กลับมาฟังธรรม ก็คือฟังธรรม ก็ไม่เห็นเดือดร้อน ก็คือว่าแทนที่เราจะมีอกุศลตลอดชาติ หรือว่ามากๆ อย่างเคย เราก็เพิ่มเติมทางฝ่ายกุศล ในชีวิตของเราขึ้น ก็เท่านั้นเอง จะเอาอะไร ไปสู้กับกิเลส ถ้าปัญญาไม่ถึงระดับ จะไปอยากให้ไม่มีกิเลส อยากจะให้เห็นอย่างนั้น อยากจะให้เห็นอย่างนี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    แต่ว่าความจริงเป็นอย่างไร เราไม่เดือดร้อน เพราะรู้ว่าเป็นอนัตตา เมื่อสะสมมาที่จะพอใจ ที่จะไปฟังเพลง หรือว่าไปไหนก็ตามแต่ จะไปซื้อของ จะทำอาหาร จะทำสวนก็คือ ตัวจริงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และ รูปธรรม เพราะฉะนั้น ก็ถึงเวลาฟังก็ฟัง พิจารณาธรรม ก็พิจารณาธรรมให้เข้าใจ ก็สบายๆ ไม่ใช่ว่าเราเป็น คนที่ย่อหย่อน ถ้าเป็นคนที่ย่อหย่อนก็คือว่า ไม่ฟังเลย หาเหตุผลต่างๆ แต่ว่า ถ้าเรารู้กำลังของเราว่า เรายังไม่ใช่ช้างสาร เราเป็นแต่เพียงอะไรดี

    ผู้ฟัง จิ้งจก

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่จะคิด ว่าใครมีอะไรที่สะสมมา แค่ไหน แต่นี่คือตัวจริง แล้วก็ค่อยๆ สะสม แล้วปัญญาในชาติหนึ่งที่ฟัง ไม่สูญหายเลย เวลาฟังอีก เราจะรู้เลยว่าพระพุทธศาสนา คือสอนให้เข้าใจสภาพธรรม ให้อดทนที่จะรู้ว่ามีปัญญา อีกระดับหนึ่ง คือ จากการประจักษ์แจ้งอย่างไร ทรงแสดงอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ฟังที่ฟัง เข้าใจอย่างไร ก็จะอบรมเจริญปัญญาจนประจักษ์แจ้งอย่างนั้นด้วย ไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่อดทน เราก็จะไม่เข้าใจความหมายว่า ขันติ เป็น ตบะ อย่างยิ่ง ทั้งหมดคือ วิริยารัมภกถา กถาที่ว่าด้วยวิริยะ ไม่ใช่ให้ไปเพียร พอบอกว่าวิริยะ ก็เลยคิดว่าต้องไปนั่งเพียร ไปเพียรอะไรกันต่างๆ แต่เพียรที่นี่คืออดทน ที่จะฟังให้เข้าใจ นี่คือการที่จะละความต้องการ ไม่อย่างนั้นไม่มีอะไรที่จะละความต้องการได้เลย ความต้องการเก่งมาก เก่งจริงๆ ต้องการทุกอย่าง ถ้าไม่เห็นก็ละไม่ได้ แต่ถ้าเห็นก็เริ่มละ

    ผู้ฟัง ที่เราเข้าใจ กับปัญญาเจตสิกเข้าใจ ความต่างของ ๒ อย่างนี้เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเป็นเจตสิก ที่เข้าใจ ไม่มีเรา

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เราหรือ เพราะว่าเราก็กำลังฟังอยู่อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรม มีอะไร บ้าง

    ผู้ฟัง ก็ย้อนกลับไป

    ท่านอาจารย์ เราฟังปรมัตถธรรม เพื่อให้เห็นความไม่มีเราให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าไม่มีเรา ไม่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นแล้ว ในขณะที่ เราเจริญกุศล ก็เราไม่ได้ หรือว่าเป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ขออนุญาตว่าได้หรือไม่ได้ แต่เข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่มีเรา นี่คือความเข้าใจขั้นต้น แล้วก็ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจขึ้นอีก ว่าเมื่อไม่ใช่เราแล้วเป็นอะไร ก็เป็นจิตบ้าง เป็นเจตสิกบ้าง เป็นรูปบ้าง เราอยู่ที่ไหนก็ไม่มี แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น ยืนยันเป็นพยานคำสอนว่าถูกต้อง ไม่ใช่เราเพราะเป็นจิต ไม่ใช่เราเพราะเป็นเจตสิก ไม่ใช่เราเพราะเป็นรูป ขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็น ก็มี แต่ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ถ้าฟังอย่างนี้แล้ว ในขณะที่เห็นไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ในขณะที่เห็น ไม่ใช่เรา ฟังให้เข้าใจว่า ขณะที่เห็น ไม่ใช่เรา แล้วจะเข้าใจได้แค่ไหน

    ผู้ฟัง ผมฟังท่านอาจารย์ พอจะทราบได้ว่า ในขณะที่เห็น ไม่ใช่เรา แต่เมื่อในขณะที่เห็นดับไปแล้ว จิตขณะต่อมาก็คิดว่าเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ แม้แต่ขณะที่ฟังว่าไม่ใช่เรา ก็ยังไม่ใช่ว่ารู้ความจริงว่าไม่ใช่เรา จนกว่าจะรู้ความจริง เพราะฉะนั้น ปัญญาขั้นฟัง ไม่ใช่ปัญญาขั้นสติที่ะลึก ไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง ต้องทราบว่าเป็นปัญญาต่างขั้น นี่เป็นการอบรมเจริญปัญญา ไม่อย่างนั้นปัญญาก็ไม่ต้องเจริญไม่ต้องอบรม แต่เพราะเหตุว่าปัญญาเริ่มเกิด นี้ เล็กน้อยมาก แม้แต่ขั้นฟังก็ต้องฟังให้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรมทั้งหมด เพื่อที่จะได้ไม่หลงทาง ให้รู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ว่าถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ผมเกรงว่าความเข้าใจตรงนี้ ค่อนข้างยากว่า ในขณะที่พอรู้เรื่องว่าในขณะที่เห็น ไม่ใช่เรา อันนี้ยอมรับ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เห็น กำลังพูดเรื่องเห็น ทั้งๆ ที่เห็น กำลังเกิดดับ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราจริงๆ คือประจักษ์ การเกิดดับ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ประจักษ์ ก็คือ เข้าใจว่าเห็น มี แล้วก็เกิดดับ นี่คือขั้นฟังเข้าใจ

    ผู้ฟัง ขั้นฟัง เข้าใ จแล้ว เมื่อความเข้าใจในขณะที่เห็น เป็นการเกิดดับของจิตที่เกิดขึ้น แต่ละขณะ

    ท่านอาจารย์ เวลานี้จิตเกิดดับตลอด รูปเกิดดับตลอด ฟังให้รู้ความจริง แต่ว่าไม่ได้ประจักษ์การเกิดดับ ของจิต ของเจตสิก ของรูป จนกว่าจะประจักษ์ ฟังเพื่อให้เข้าใจขึ้นๆ

    ผู้ฟัง ชินขอถามเรื่องเหตุ คือที่เป็นเหตุของวิบาก ที่เป็นกุศล แล้วก็ที่เป็น ๗ ดวง ที่เป็น อกุศล แล้วก็ ๘ ดวงที่เป็นกุศลเหตุ

    ท่านอาจารย์ คุณชินพูดไม่เต็ม ต้องบอกว่ากุศลวิบาก อกุศลวิบาก แล้วต้องใช้คำว่า อเหตุกะ ด้วย

    ผู้ฟัง อเหตุกะ กับ เหตุกะ ต่างกันอย่งไร

    ท่านอาจารย์ อเหตุกกุศลวิบาก เพราะว่า กุศลวิบาก สามารถให้ผล เป็นอเหตุกะ ก็ได้ สเหตุกะก็ได้ เพราะฉะนั้น ต้องพูดให้ครบ ว่าหมายความถึงอะไร

    ผู้ฟัง อย่างเช่น กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา สมมติว่าเป็นกุสลาธัมมา ก็คือเป็นอเหตุ คือ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ถ้าพูดถึงธรรม หมวด ๓ คือพระธรรมที่มี อยู่ทรงแสดงโดยหลายนัย ให้เราเข้าใจละเอียดขึ้น จะกล่าวโดยนัยของหมวด ๓ คือ กุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา อัพยากตาธัมมาก็ได้ ทั้งหมดเป็น ธรรม กุสลาธัมมาก็คือ ธรรมที่เป็นกุศล เป็นเหตุดีที่จะให้เกิดผลที่ดี คือ กุสลาธัมมา๑ อกุสลาธัมมา๑ อัพยากตาธัมมา๑ มีคำว่า ธรรมทั้งหมด จะเป็นอื่นไปไม่ได้เลย คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมคือสิ่งที่มีจริง เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ธรรมใดที่เป็นกุศลทั้งหมด ก็เป็น กุสลาธัมมา กุศลธรรมที่เป็น กุศลทั้งหมดไม่เว้น ตั้งแต่ กามาวจรกุศล ทาน การให้ก็เป็นกุศล ศีลก็เป็นกุศล การช่วยเหลือบุคคลอื่น การอบรมเจริญปัญญา การฟังธรรม การแสดงธรรม เข้าใจธรรม พวกนี้เป็นกุศลกรรม ก็ทำให้เกิดกุศลวิบาก ในระดับหนึ่งแล้วก็รวมทั้ง รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล กุศลทั้งหมด อยู่ในกุสลาธัมมา

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น กุศลของกุศล เกี่ยวข้องกับกุศลกรรม หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ กุศลกรรม เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก

    ผู้ฟัง คือเจตนา

    ท่านอาจารย์ กรรมได้แก่ เจตนาเจตสิก

    ผู้ฟัง อย่างนั้น อัพยากตาธัมมา คือ อย่างเช่น กุศลวิบาก อกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ วิบากทั้งหมด กิริยาทั้งหมด

    ผู้ฟัง แม้ว่าเป็นกุศล อกุศล ก็

    ท่านอาจารย์ กุศล ไม่ได้ คุณชินต้องทิ้ง คำหนึ่ง คำใด ไม่ได้เลย กุศลเป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบากจิต

    ผู้ฟัง ยังเน้นที่วิบากอยู่

    ท่านอาจารย์ ต้องใช้ให้เต็มว่า กุศลเป็นเหตุวิบากเป็นผล เพราะฉะนั้น กุศลเป็นเหตุให้เกิด กุศลวิบาก อกุศลเป็นเหตุให้เกิด อกุศลวิบาก อัพยากตะก็ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ก็ได้แก่วิบากจิต กิริยาจิต และเจตสิก และรูป นิพพาน ขณะนี้ ถ้ารู้ ก็จะรู้ว่าขณะไหนเป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ขณะไหนเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ บังคับบัญชาไม่ได้ จะให้จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ มีเหตุประกอบก็ไม่ได้ เพราะว่าจิตประเภทนั้นเป็นผลของกรรม ประเภทที่จะไม่ประกอบด้วยเหตุ เวลาที่วิบากเกิด ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ในที่นี้ ปริญญา ๓ เกี่ยวข้องอะไร กับสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่า ปริญญา ๓ คือ วิปัสสนาญาณ แต่ละขั้น แล้วแต่ว่าวิปัสสนาญาณใด เป็นปริญญาขั้นไหน อย่างนามรูปปริเฉญาณ เป็นญาตปริญญา หมายความว่า เป็นปริญญาที่สามารถที่จะรู้ ลักษณะของสภาพนาม และรูปตามความเป็นจริง แต่เฉพาะญาตปริญญา ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีการอบรมเจริญสติปัฏฐานต่อไป จนกระทั่งถึงตีรณปริญญา ซึ่งเป็นการพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยที่ว่าสามารถประจักษ์แจ้งการเกิดดับ นั่นคือ ความสมบูรณ์ของตีรณปริญญา

    เพราะเหตุว่า ถ้าเราเพียงแต่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ว่ายังไม่สามารถที่จะเข้าใจ โดยถ่องแท้โดยทั่ว ที่จะละความเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าเป็นวิปัสสนาญาณขั้นต้น เช่น นามรูปปริจเฉทญาณ ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่เริ่มรู้ว่าลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างไร ลักษณะของรูปธรรมเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น จึงเป็น ทิฏฐิวิสุทธิ แต่ต้องเป็นวิปัสสนาญาณ คือ ญาตปริญญา ต่อจาก ญาตปริญญา ก็คือ ตีรณปริญญา ความสมบูรณ์ ของการพิจารณา เพิ่มความรู้ในลักษณะของวิปัสสนาญาณขึ้น จนถึงการประจักษ์แจ้ง เป็นความสมบูรณ์ของการที่มี ตีรณปริญญา หลังจากนั้น ก็คือปหานปริญญา หลังจากภังคญาณ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ จะชี้ให้เห็นได้อย่างไรว่า การที่มีตีรณปริญญา จะเป็นความรู้โดยที่ไม่ใช่ความคิด พิจารณาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ต้องเป็นวิปัสสนญาณทั้งหมดเลย อย่างนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นวิปัสสนาญาณ ขั้นแรก ซึ่งสามารถที่จะรู้ลักษณะของมโนทวาร เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณ สามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งมโนทวารสามารถที่จะรู้ได้ทั้งนามธรรม และรูปธรรมด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อนามรูปปริจเฉทญาณ ดับ หมายความว่าช่วงที่เป็นวิปัสสนาญาณหมด ทุกอย่างก็เหมือนเดิม ก็เป็นโลกที่ไม่ใช่ช่วงที่ขณะ ที่เห็น หรือว่าประจักษ์ หรือว่าแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น สัญญาความจำ อนัตตสัญญาเริ่มมี

    เพราะว่าเวลานี้ ถึงแม้ว่า เราจะพูดเรื่องอัตตสัญญา อนัตตสัญญา สักเท่าไร ก็ตาม เราเคยชินกับลักษณะของอัตตสัญญา คือเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่เสมอ ว่าเป็นสิ่งนั้น ต่อเมื่อใดทีสภาพธรรม ปรากฏทีละอย่าง ทีละทาง ทางมโนทวาร เมื่อนั้นก็แสดงว่า เริ่มเห็นความเป็นอนัตตา โดยความเป็นธาตุ โดยความไม่ใช่เรา เพราะว่าวิปัสสนาเป็นการประจักษ์ ที่ไม่ใช่เราพิจารณา แต่ว่าสามารถที่จะมีปัญญาที่รู้ความต่างของสติปัฏฐาน กับวิปัสสนาญาณ เมื่อหมดวาระของวิปัสสนาญาณแล้วผู้นั้นก็รู้ว่า จะต้องพิจารณาต่อไป แต่ว่าไม่ใช่ด้วยความรู้ขั้นคิดหรือ ขั้นเจริญสติปัฏฐาน แต่อาศัยปัญญาที่ประจักษ์แจ้งนั่นแหละ

    เมื่อระลึกถึงสภาพธรรมใดก็น้อมรู้ว่าสิ่งนั้นเหมือนที่เคยประจักษ์ แต่ว่าในขณะนั้นจะประจักษ์ไม่ทั่ว เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณ เป็นเพียงช่วงหนึ่ง แต่ว่าชีวิตประจำวันมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาจะต้องรู้ทั่วจริงๆ ก็จะต้องเป็นเรื่องที่ว่า เมื่อญาตปริญญา คือ นามรูปปริจเฉทญาณเกิดแล้ว ผู้นั้นสามารถที่จะรู้ลักษณะแท้ๆ ของนามธาตุ ของรูปธาตุ ของสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็มีอนัตตสัญญา เริ่ม เพราะฉะนั้น ก็อาศัยความรู้นั้น ซึ่งเป็นอนัตตสัญญา พิจารณาลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่ามีการได้ประจักษ์แล้ว การที่จะพิจารณาลักษณะของสภาพธรรม ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด จึงต่าง กับขณะที่นามรูปปริจเฉทญาณ ไม่ได้เกิด เวลาที่ นามรูปปริจเฉทญาณไม่ได้เกิด ไม่มีการที่จะรู้ว่า ลักษณะที่เป็นธาตุแท้ๆ ทีละอย่างที่ปรากฏได้ คืออย่างไร แต่พอมีการประจักษ์แจ้ง ก็ไม่มีการที่จะลืม เพราะฉะนั้น อาศัยสัญญานั้นแหละ เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ก็น้อมรู้ได้ว่าลักษณะนั้น เป็นอย่างนั้น การที่จะเป็นมโนทวารคืออย่างนั้นๆ ทั้งหมดนี้ก็เริ่ม ที่จะเป็น ตีรณปริญญา จนกว่าจะประจักษ์แจ้งความเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรมเมื่อไร ก็เป็นความสมบูรณ์ของตีรณะ เพราะว่า ตีรณะ พิจารณา จนกระทั่งถึงการประจักษ์แจ้งด้วย อุทยัพพยญาณ สมบูรณ์จริงๆ ที่สามารถประจักษ์ ได้ จากการที่ไม่ละเลย เวลาที่สติปัฏฐานเกิดก็อาศัยความรู้ที่เคยรู้นั้นแหละ รู้ในลักษณะนั้นต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าความรู้นั้น จะเพิ่มขึ้น แล้วก็จะรู้ได้ว่าเป็นความสมบูรณ์ที่ค่อยๆ ละเอียดขึ้น แล้วก็ยากขึ้นด้วย เพราะเหตุว่า จะต้องเป็นปกติ ในชีวิตประจำวันจริงๆ มิฉะนั้นแล้วจะชื่อว่า ตีรณปริญญาไม่ได้ แม้ว่าเป็น นามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ก็ยังจะต้องมี ตีรณปริญญาด้วย ไม่ใช่ว่าเพียงแต่เราอ่านพยัญชนะว่า ญาตปริญญา คือ รู้ว่านี่นาม นี่รูป แล้วต่อจากนั้นก็คือพิจารณาไป เป็นตีรณปริญญาไม่ได้ แต่ต้องมีวิปัสสนาญาณเป็นเครื่องกำกับว่า ที่จะพิจารณาอย่างนั้นต้องอาศัยจากการประจักษ์แจ้งของ ญาตปริญญา

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดเป็น วิปัสสนาญาณ ประจักษ์แจ้งนามธรรม รูปธรรม แล้วก็มีสติปัฏฐาน เกิดขึ้น แล้วก็มีการน้อมไปที่จะรู้ ในสภาพธรรมที่ละเอียดมากขึ้น แล้วก็สติปัฏฐานก็ยังคงเกิดขึ้น เป็นความเข้าใจ ในขณะนั้นมีเรื่องด้วย

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นปกติ คือโดยมาก คนจะคิดว่าต้องไม่มีการคิดนึกเลย ซึ่งความจริง ความคิดนึก เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น เวลาที่ความคิดนึกเกิดขึ้น กับวิปัสสนาญาณ ขณะนั้นไม่มีเราหรือไม่มีตัวตนหรือไม่มีรูปร่างกายที่เป็นทั้งแท่งอย่างนี้ ที่จะเป็นเราคงอยู่ แล้วคิดอย่างนั้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567