ปกิณณกธรรม ตอนที่ 573


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๗๓

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ เสียงมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ สภาพที่รู้เสียง เป็นจิต หรือเจตสิก

    ผู้ฟัง เป็นจิต

    ท่านอาจารย์ จิตรู้เสียง เสียงมีจริง ใช่ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เมื่อไร

    ผู้ฟัง เมื่อเสียงมากระทบหู

    ท่านอาจารย์ มา เห็นเสียงมาหรือ นี่เราคิดหมดเลย

    ผู้ฟัง หรือ

    ท่านอาจารย์ นี่คือคิด เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่าคิดกับ ไม่คิด กับสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ต่างกัน เราไปมัวคิดว่าเสียงมากระทบหู แต่ว่าเราไม่รู้เลย ว่าเสียงมีจริงเมื่อไร

    ผู้ฟัง มีเมื่อเราได้ยิน

    ท่านอาจารย์ เมื่อปรากฏ เท่านั้นเอง ถ้าไม่ปรากฏจะมีไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลานี้มีอะไรบ้าง นี่คือเริ่มคิด ที่จะเข้าใจสภาพธรรม ไม่ใช่สภาพธรรม ไม่ต้องคิดก็เข้าใจได้ นี่ไม่ถูกต้อง แม้แต่คำว่าจิต แม้แต่คำว่าเจตสิก หรือรูป ต้องคิดต้องพิจารณา จนกระทั่งเป็นความเข้าใจจริงๆ แต่ถ้าไม่คิดแล้วจำเฉยๆ ไม่ใช่ความเข้าใจ

    ผู้ฟัง อย่างขณะนี้มีอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ขณะที่พูด นี่ก็ได้ยินเสียง

    ท่านอาจารย์ เสียงมี

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เมื่อเสียงปรากฏ เพราะฉะนั้น เวลาที่เสียงปรากฏ อย่างอื่นปรากฏได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ ได้อย่างไร เวลาที่เสียงปรากฏ เฉพาะเสียงที่ปรากฏ แล้วอย่างอื่นจะปรากฏได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ยังเห็นรูปอาจารย์ อยู่

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละ คือคนละขณะแล้ว นี่คือการที่เราจะได้ความเข้าใจจากการศึกษา ว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ ที่จิตกำลังรู้ในขณะนี้

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์บอกว่าปรากฏ แต่มันเร็วมากเลย เห็นเป็นทีเดียว ๒ อย่าง คล้ายเช่นนั้น แต่จริงๆ มันเกิดทีละลักษณะ

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ เพราะฉะนั้น มีสิ่งที่ปรากฏเป็นอารมณ์ คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ทีละอย่าง เสียงมีอายุที่สั้นมาก ขณะใดที่ไม่ปรากฏขณะนั้นเกิดแล้วดับแล้วทั้งหมด เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรเหลือจริงๆ ชั่วขณะที่สิ่งใดปรากฏ สิ่งนั้นก็มีจริงชั่วขณะที่ปรากฏ แล้วก็ไม่มี เมื่อไม่ปรากฏก็คือหมดไปเลย จริงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจ แต่อย่าไปคิดเอง เราศึกษาเริ่มศึกษา พระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงพระมหากรุณา ทรงแสดงธรรมโดยละเอียดยิ่ง อภิ ความหมายหนึ่ง คือ ยิ่ง ละเอียดยิ่ง เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา เพราะเพียงแต่จะบอกว่า มีสภาพธรรม ๒ อย่าง คือสภาพธรรม อย่างหนึ่งเป็นนามธรรม สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเป็นรูปธรรม ไม่ได้เกื้อกูลให้เราละคลายอะไรเลย ปัญญาเพียงแค่รู้ชื่อ ว่ามีสภาพธรรม ๒ อย่างแต่ตัวจริงของสภาพธรรม ๒ อย่างกำลังทำหน้าที่การงานอยู่ คือสภาพที่เป็นนามธรรม กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ ส่วนรูปธรรมก็ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจด้วย ว่าการศึกษาที่มีชื่อมากมาย ก็เพราะเหตุว่าลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ มากมายอย่างนั้น มากมายจนกระทั่งต้องทรงใช้ชื่อต่างๆ แม้ว่าใช้คำว่า นามธรรม ใช้คำว่า รูปธรรม ก็ยังทรงแสดงลักษณะที่ต่างกันของจิต และเจตสิกว่า

    คำนี้ จิต หมายถึง ธาตุซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ส่วนคำว่า เจตสิก ก็หมายความถึงสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่จิต ซึ่งอาศัยเกิดกับจิตรู้อารมณ์เดียวกับจิต แล้วก็ดับพร้อมจิต ต้องใช้คำเพื่อให้เข้าใจ แต่เมื่อมีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เวลาที่สติเกิดระลึก ไม่ต้องมารู้ชื่อ ว่าขณะนั้น เป็นขณะนี้ ไม่ใช่ขณะนั้น เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับ เร็วมาก ขณะใดที่นึกถึงชื่อ ขณะนั้นไม่ได้ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ตอนที่แต่ละคน เริ่มศึกษาธรรมก็จะมีชื่อต่างๆ มาก แต่ให้เข้าใจว่ามากเพราะอะไร เพราะสภาพธรรมเป็นจริงอย่างนั้น ให้เราเข้าใจให้ถูกต้อง

    แต่ว่าเวลาที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่เป็นการทำ ไม่ใช่เป็นคำที่เราใช้ว่า ปฏิบัติ แล้วคิดว่าต้องทำ แต่เป็นหน้าที่ของสังขารขันธ์ จากขั้นของการฟัง ซึ่งถ้าเราจะเริ่มจากสังขารขันธ์ตั้งแต่เกิด ก็จะเห็นได้เลย แม้แต่เอกัคคตาเจตสิกก็เกิด พร้อมปฏิสนธิจิต ถ้าศึกษาแล้วเข้าใจ นี่ขั้นเข้าใจให้เห็นความ อนัตตา แต่ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับ เรื่องราวที่เราจะต้องไปรู้ปฏิสนธิ ก็รู้ไม่ได้

    แต่ให้รู้ว่า แม้แต่ชีวิตที่เกิด ขณะแรกเป็นปฏิสนธิจิต ก็มีเอกัคคตาเจตสิกซึ่ง เป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ เราจะไม่พูดถึงเจตสิกฝ่ายดี เพราะเหตุว่าบางขณะ ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยกุศลวิบากซึ่งไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิกก็มี แต่จะพูดเฉพาะเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง แล้วให้เห็นการสืบต่อการปรุงแต่งตั้งแต่เกิดว่า แม้แต่เอกัคคตาเจตสิกซึ่งตั้งมั่นในอารมณ์ ในขณะที่เป็นวิบากจิตจะเหมือนกับในขณะที่เป็นโลภมูลจิตไหม นี่ก็ต่างกันแล้ว ใช่ไหม

    การศึกษาธรรมต้องละเอียด แล้วถ้ายิ่งศึกษา และด้วยความเข้าใจ แม้แต่จิตขณะแรก มีเจตสิกเท่าไร และต่อๆ ไปแต่ละขณะ เกิดขึ้นเพราะปัจจัยอย่างไร ก็เพื่อที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตา ให้เข้าใจว่า เป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา แต่ว่าไม่ใช่ให้ไปติดในชื่อ หรือว่าพอสติระลึกก็ต้องไปรู้ชื่อ หรือว่าต้องไปรู้ว่า นี่เป็น จิตประเภทไหน หรือประเภทไหน เพราะเหตุว่าลักษณะของจิตประเภทนั้น ก็เป็นอย่างนั้น ตามที่ได้ศึกษาแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่าการศึกษามีชื่อมากมาย แต่เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรม แล้วก็กิจการงานของสภาพธรรมนั้นๆ ด้วย

    ผู้ฟัง แต่ที่ดิฉันได้ฟังธรรม เรื่องฉันทะ กับวิริยะ จะเห็นได้เลยว่าแยกกันอย่างเด็ดขาด ถ้าเผื่อไม่ได้ฟัง ที่พูดกันสอนๆ ก็จะแยกกันไม่ได้ อย่างยกตัวอย่างที่ว่า สมมติใครให้ดิฉัน วานให้ดิฉันจัดดอกไม้ ดิฉันจะไม่มีความพอใจที่จะทำเลย ดิฉันคิดว่า ขณะนั้นต้องเป็นวิริยะที่จะทำให้สำเร็จ เพราะดิฉันไม่ชอบ แต่ถ้าเผื่อว่าให้ดิฉันไปเลือกเสื้อผ้า หรืออะไรต่างๆ ดิฉันจะพอใจ ลักษณะตรงนี้จะเห็นได้เลยว่า ความแตกต่างระหว่าง วิริยะ กับฉันทะ ต่างกัน แต่ขณะที่สติเกิด ที่ระลึกก็ไม่มีชื่ออีก แต่จะเห็นความต่างกันได้

    ท่านอาจารย์ ทุกคนก็ทราบว่าแต่ละวัน มีอะไรเกิดขึ้นกับแต่ละคน เห็นก็มี ได้ยินก็มี คิดนึกก็มี กุศลจิตก็มี อกุศลจิตก็มี ตอนที่ไม่ใส่ชื่อก็เป็นอย่างนั้น แต่ตอนที่รู้เรื่องชื่อก็เป็นจริงอย่างนั้นด้วย เพียงแต่ว่าเรารู้เพิ่ม คือ เรารู้ว่าเป็น นามธรรม หรือเป็นรูปธรรม แล้วสามารถที่จะใช้ชื่อแสดงให้เห็นความต่าง เช่น อย่างที่คุณบง ยกตัวอย่างว่า ฉันทะ กับ วิริยะ ก็เป็นความต่าง แต่ยิ่งรู้ยิ่งเข้าใจธรรมมากขึ้น ก็ย่อมจะเป็นผู้ละเอียดขึ้น แต่ว่าต้องรู้ความต่างกันว่าเพื่อรู้สภาพธรรม โดยที่ไม่ใช่หมายความว่า เราจะต้องมารู้ชื่อ เพราะบางอย่างเราไม่สามารถที่จะรู้ชื่อได้

    เพราะฉะนั้น ก็มี ๒ อย่าง ที่ควรจะทราบขณะนี้ก็คือว่า เวลาที่ศึกษาธรรมแล้วเข้าใจ ก็รู้ว่าชีวิตประจำวันก็เป็นอย่างนั้น ตามที่ได้ศึกษามา หมายความว่า ชีวิตประจำวันของทุกคนก่อนศึกษาเป็นอย่างไร ไม่เคยรู้ชื่อมาเลย แต่พอศึกษาแล้วก็เริ่มเข้าใจว่า สภาพธรรมที่เป็นชื่อต่างๆ ก็คือ สภาพธรรมในชีวิตประจำวัน นี้อย่างหนึ่ง

    บางคนก็อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือ พอศึกษาชื่อแล้ว อ้อ ชีวิตประจำวัน เป็นอย่างนี้ ใช่อย่างนี้ เป็นอย่างนี้ คือเอาชื่อนั้นแหละมาใช่ ในชีวิตประจำวัน

    แต่ว่าอีกท่านหนึ่งก็คือว่าเป็นผู้ที่รู้ว่าชีวิตประจำวัน แต่ก่อน หรือแต่ไหนแต่ไรมาก็เป็นอย่างนี้ แต่เมื่อศึกษาแล้วก็รู้ว่า จิตที่มีมากมายในชีวิตประจำวันนั้น แต่ละอย่างมีชื่อ อย่างนี้ๆ นี่ก็ไม่ทราบว่าพอจะเห็นความต่างไหมว่า ผู้ที่รู้ว่าชีวิตประจำวัน เป็นอย่างนี้ พอศึกษา ก็เข้าใจ โดยคำนั้นว่า อ้อ ชีวิตประจำวัน ก็คือตามชื่อที่ทรงแสดง

    แต่อีกคนก็เรียนชื่อก่อน แล้วก็พอมีชีวิตประจำวันปรากฏก็ อ้อ ตรงตามชื่อที่เราเรียน ก็เป็นอย่างนี้ คือ ๒ อย่างที่ต่างกัน หรือใครคิดว่าไม่ต่าง นิดเดียวเอง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ ตรงที่ใช้คำพูดว่า ถ้าเห็นธุลี หรือจุดดำที่หน้านั้น ตรงธุลี หมายความถึงเรื่องของ จิตแล้ว จะเป็นเรื่องของ กิเลสได้ไหม หมายความว่าจะเป็นเรื่องของอกุศลจิตได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดที่จะต้องดับก่อน คือความเห็นผิด ตามลำดับขั้น

    ผู้ฟัง จุดดำที่จะต้องเอาออก

    ท่านอาจารย์ การยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นเรา แม้ธรรมกำลังปรากฏ ก็ยังคงยึดถือว่าเป็นเรา จนกว่าจะหมดความยึดถือว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจผิดว่า น่าจะเป็นเรื่อง อกุศลจิต หรือว่าธรรมที่เป็นบาป

    ท่านอาจารย์ จิตที่มีความเห็นผิด ก็เป็นอกุศลจิตเหมือนกัน เพราะว่าความเห็นผิด จะไม่เกิดกับกุศลจิต

    ผู้ฟัง ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญายิ่ง หมายความถึงว่า ขณะนั้นสติปัฏฐานเกิด

    ท่านอาจารย์ รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ตรงตามที่ได้เรียนตั้งแต่คำแรก คือเป็นธรรม เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    ท่านอาจารย์ ทุกคนก็รู้จักตัวเอง ตามความเป็นจริงเป็นผู้ตรงจริงๆ เมื่อได้ ฟังแล้วก็พิจารณาว่า เป็นผู้ที่ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่งหรือยัง ก็ตรง ขั้นไหน ขณะไหน เมื่อไร เมื่อเช้านี้ทุกคนส่องกระจกแน่ ใช่ไหม แต่ว่าสัญญาความจำ การน้อมเคารพ ในพระมหากรุณาที่ทรงแสดง มีการที่จะระลึกได้บางไหมว่า เราส่องเพียงหน้า แต่ใจไม่ได้ส่อง ขณะนั้นไม่มีสติที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่จะรู้ความเป็นจริงว่าขณะนั้น เป็นนามธรรมหรือเป็น รูปธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อทุกคนต้องส่องกระจกจึง ได้มีพระสูตรนี้ เพื่อเป็นเครื่องเตือน แล้วถ้าใครมีสัญญา ความจำที่มั่นคงเวลาส่องกระจกคงไม่ลืม แต่ก็ยาก ที่ขณะนั้น สติจะเกิดแล้วก็ระลึก ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ต้องเป็นพหุสูตร คือ ผู้ที่ได้ฟังแล้วเห็นประโยชน์ของพระพุทธวจน ทำไมทรงเตือนเรื่องส่องกระจก เพราะว่าทุกคนส่อง แล้วก็พอใจเพียงรูปร่างภายนอก ที่ไม่มีสิวฝ้า ดำด่างต่างๆ

    แต่ว่าจุดประสงค์ไม่ใช่เพียงให้เราส่องกระจกโดยที่ว่าไร้สติ หรือว่า หลงลืมสติ แต่ว่าการที่สติปัฏฐาน จะเกิดได้ ไม่ใช่ว่าใครอยากจะให้เกิดก็เกิด แต่ต้องเป็นผู้ที่ฟังธรรม ไตร่ตรองเห็นประโยชน์มั่นคง

    ท่านหนึ่ง ท่านก็กล่าวว่า เวลาที่ท่านอ่านในพระสูตร ก็มีข้อความที่ว่า ตอนเย็นพวกชาวเมืองสาวัตถี อุบาสก อุบาสิกา ก็ถือ ดอกไม้ธูปเทียนไป เฝ้าเพื่อฟังพระธรรม แล้วสมัยนี้ พระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์ เพราะฉะนั้น เราเคยคิดไหม ว่าเย็นนี้เราจะไปเฝ้า ด้วยการที่ฟังธรรม ศึกษาธรรม หรือว่าพิจารณาธรรม เราก็ผ่านข้อความในพระไตรปิฎก ชาวเมืองสาวัตถีทำก็ทำไป แล้วเราสมัยนี้ คิดหรือเปล่าว่า เราก็ยังมีโอกาสที่จะกระทำได้

    การฟังพระธรรมแล้วก็มีจิตที่เห็นประโยชน์ เห็นคุณของพระธรรมทั้งหมด ก็จะเกื้อกูลแม้เพียงพยัญชนะที่ ว่าเย็นนี้ หรือค่ำนี้ จะเฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม ด้วยการฟังธรรม หรือว่าอ่านธรรม หรือว่าสนทนาธรรม ก็เป็นการที่จะทำให้เรา เพิ่มความเข้าใจธรรมขึ้นแล้วก็ เห็นประโยชน์ขึ้น แม้แต่เพียงข้อความสั้นๆ

    แม้ในขณะนี้ ถ้าเราคิดว่าการบำรุงพระศาสนา หรือบำรุงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมโดยการศึกษา และโดยการฟัง ขณะนี้ก็เหมือนกับการเฝ้าด้วยจิต ที่ระลึกถึงพระคุณ ทำให้เราได้มีโอกาสได้มา สนทนาธรรม เพื่อที่จะได้เข้าใจข้อความที่ลึกซึ้งในพระไตรปิฎก เพราะเหตุว่าเป็นการศึกษา ไม่มีใครสามารถที่จะอ่านพระไตรปิฎก โดยไม่ศึกษาแล้วสามารถที่จะเข้าใจได้ถูกต้องได้ แล้วก็ต้องเป็นการศึกษาโดยละเอียดทั้งโดยผู้ที่ได้ มีความรู้ทางภาษาบาลีด้วย ทางอรรถด้วย

    ถ้าเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใส ศรัทธา มั่นคง การเฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละครั้ง ด้วยการฟังธรรม ต้องด้วยความเคารพจริงๆ ฟังคือฟังด้วยความน้อบน้อม แล้วก็เป็นผู้ที่ ต้องการความแจ่มกระจ่างของธรรม เท่าที่จะเป็นไปได้ สิ่งใดที่คลาดเคลื่อน หรือผิดไปจากพระธรรม และพระอรรถกถาที่ทรงแสดง ไว้ ทั้งพระไตรปิฎก และอรรถกถา ก็จะต้องทิ้งไป ไม่มีเราซึ่งจะเป็นผู้ไม่ยอมละ ทิ้ง สิ่งที่จะทำให้พระธรรมต้องเข้าใจผิดไปแม้เพียงเล็กน้อย นี่คือการเคารพอย่างแท้จริง แล้วสำหรับข้อความที่ว่าอาจจะซ่อนไว้ แต่ความจริงก็ไม่ได้ซ่อน แต่ก็ไม่สามารถที่จะกล่าวอธิบายได้ทั้งหมด เช่น ข้อความที่คุณวีระสงสัย ว่า เวลาที่ส่องกระจก แล้วก็เห็น ธุลีต่างๆ แล้วก็มาพิจารณาตนเองว่า เราเป็นผู้ได้ความสงบจิตภายในหรือหนอ แม้เพียงแค่กุศลจิตเกิด ขณะที่ส่องกระจก มีได้ไหม ยังไม่ต้องไปถึงความสงบระดับขั้นที่จะถึงอัปปนาสมาธิ หรือว่าการที่สัมมาสติจะเกิดระลึก ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เราจะเป็นผู้ที่ประมาทมาก ไม่รู้ว่าขณะนั้นที่ส่องกระจกไม่ได้ระลึกถึงสภาพจิตเลย ว่าขณะนั้น เป็นกุศล หรืออกุศล เพียงเท่านั้น แล้วจะไปมุ่งหวังความสงบจิตภายใน หรือว่ามุ่งหวังเป็นผู้ได้ความเห็นแจ้ง ธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง หรือหนอ

    การอบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นจริงๆ โดยการเป็นผู้ที่ไม่ประมาท เพราะเหตุว่ากุศลที่จะเกิดได้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกขณะก็จะมีได้เมื่อเป็นสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าสติปัฏฐานสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง

    ในขณะที่ถ้าอบรมเจริญสมถภาวนา ก็จะมีการจำกัดอารมณ์ ที่จะทำให้จิตสงบได้ ๔๐ อารมณ์ แต่ว่าสำหรับสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ซึ่งจิตเห็น จิตได้ยิน คิดนึกต่างๆ แล้วไม่เคยรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นเลย การที่จะมีกุศลได้ ก็ประการที่สำคัญมาก ก็คือสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะที่ส่องกระจก บางคนก็ไม่ทราบจะเกิดกุศลอย่างไร ก็หน้าเรา แล้วก็เป็นอย่างนี้อย่างนั้น จิตที่คิดขณะนั้นเป็นอกุศล เป็นโลภะ เป็นความติดข้อง แล้วจะเป็นกุศลได้อย่างไร คุณประเชิญ จะเป็นกุศลได้อย่างไร ในขณะที่ส่องกระจก

    วิทยากร. มองเห็นตัวเอง เดิมเคย หนุ่มสาว มองเห็นแล้วก็เปลี่ยนไป ก็สามารถที่จะรู้ความไม่เที่ยง ที่เป็นรูปร่างที่เปลี่ยนไป

    ท่านอาจารย์ สามารถที่จะคิดถึงสังขาร ความเปลี่ยนแปลงของรูปร่างกาย แต่จะคิดด้วยจิตใจที่เศร้าหมอง หรือจะคิดด้วยปัญญา นี่ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะว่าไม่มีใครชอบความแก่ ความชรา แต่เวลาปรากฏแล้ว ขณะที่ไม่พอใจ ขณะนั้นต้องเป็น โทสมูลจิต

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะเห็นการสะสมของ สังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง ซึ่งเลือกไม่ได้ ใครๆ ก็อยากให้กุศลจิตเกิดบ่อยๆ แต่กุศลจิต จะเกิดตามใจที่ต้องการ ไม่ได้เลย แต่ต้องเป็นการสะสมความรู้ ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก แล้วเมื่อรู้ว่า ยังเป็นผู้ที่ดับกิเลสไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ไปเพียรด้วยความเป็นตัวตน แต่เมื่อศึกษาแล้ว ต้องยิ่งเห็น ความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น อันนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในการที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับ คือต้องละ ความเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนก่อน

    ผู้ฟัง ขณะที่ดูกระจกแล้วเกิด ความพอใจก็เป็น โลภะ ขณะนั้นต้องไม่สงบ แต่ถ้าระลึกรู้ได้ ขณะนั้นสงบ ใช่ไหม จะต้องเป็นคนละขณะ

    ท่านอาจารย์ ระลึกรู้อะไร

    ผู้ฟัง ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภะที่ติดข้อง

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นสติ หรือว่าเป็นปัญญาระดับ ๑ ซึ่งทำให้เกิดความสงบ ในภายในได้ ถ้าขณะนั้น เป็นกุศล เพราะฉะนั้น กุศลทุกระดับสงบจากอกุศล

    ผู้ฟัง หมายความว่า ดูกระจกแล้ว จะไม่ใช่ ไม่พอใจ ไม่ได้ อันนั้นไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ เป็นผู้ตรง คือ สภาพธรรม เกิดดับเร็วมาก การที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมได้จริงๆ เพราะสติ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏสั้นๆ อย่างโลภะ เกิดหนึ่งขณะแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดอีกหนึ่งขณะ แล้วก็ดับ ๗ ขณะ แต่ความจริงแล้วสั้น สั้นมาก แม้ ๗ ขณะก็สั้น เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความจริงก็คือเมื่อ สภาพธรรม ใดกำลังปรากฏ แล้วสติระลึก ขณะนั้นใครจะบอกว่าอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ผู้ที่สติระลึกย่อม รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงได้ มีความเห็นถูกในสภาพธรรมนั้นว่าเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม เพราะปกติก็เป็นนามธรรม หรือรูปธรรมอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ ปกติก็เป็นโลภะ เป็นโทสะอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าเป็น ธรรม หรือเป็นนามธรรม เพราะเหตุว่าเป็นเรา ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ลักษณะของโทสะ ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ลักษณะของโลภะ หรือเห็นนี่เราก็รู้ แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ก็คือจะต้องรู้ว่าเป็นธรรม แล้วก็เป็นธรรมที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม นั่นเอง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้อธิบายในลักษณะของความสงบภายในที่ จะเป็นไปได้สำหรับพวกเราที่ เป็น อุบาสก อุบาสิกา สามารถที่จะมีความสงบภายในได้ ในปัจจุบัน แต่ความมุ่งหมายของพระสูตรนี้ คือผมได้อ่านเลยไปนิดหนึ่ง ซึ่งจุดประสงค์ของพระพุทธองค์ เหมือนกับว่าให้อบรมทั้งสมถะ และวิปัสสนาควบคู่กันไป ถึงแม้ว่าจะได้เห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ก็ยังให้เพียรพยายามให้ มีความสงบจิตภายในด้วย

    ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะฉะนั้น การอ่านพระสูตรต้องรู้ ว่าใครกำลังอ่าน แล้วปัญญาของเราระดับไหน เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาของเราไม่ถึงระดับอัปปนาสมาธิ แล้วเราจะไปทำอัปปนาสมาธิให้เกิดขึ้น หรือว่าแม้กุศลจิตเกิด จากการที่เพียงระลึกถึงความแก่ แล้วก็เกิดกุศลจิตที่จะเห็น ความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยง การที่ไม่ควรจะยึดติดในสภาพธรรม ที่เคยหลงยึดถือว่าเป็นเรา ความจริงก็เป็นเพียงรูปธรรมเท่านั้นเอง ขณะนั้นจิตสงบกว่าที่จะไม่คิดอย่างนั้นหรือเปล่า

    เราคงจะไม่ต้องไปทำ สมถภาวนาให้ถึงระดับไหน เพราะเหตุว่า จุดประสงค์จริงๆ เพื่อปัญญารู้แจ้งธรรม หรือว่ารู้ธรรมด้วยปัญญาที่รู้ยิ่ง ต้องไม่ลืมอันนี้ เพราะว่าขณะที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบ แต่กุศล ประเภทที่เป็นกามาวจร สงบสั้นๆ เล็กน้อยมาก พอเราคิดอย่างนั้นเราก็เผลอไปอีกแล้ว แล้วเมื่อไร วันไหนจะกลับมาคิดอย่างนี้อีก ก็ไม่ทราบ เพราะว่ากามาวจรกุศลสั้น ไม่เหมือนรูปาวจรกุศล หรือว่าอรูปาวจรกุศล แต่เพียงกุศลนั้น ที่เป็นความสงบ ก็ให้ระลึกบ่อยๆ เหมือนอย่างคนที่มีเมตตากับคนที่มีโทสะ คนที่มีโทสะก็โกรธบ่อยขึ้นๆ เป็นคนเจ้าโทสะ แต่คนที่มีเมตตา แล้วเพิ่มเมตตาขึ้นเรื่อยๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567