ปกิณณกธรรม ตอนที่ 569


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๖๙

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ กรรมยังทำให้จิตต่อไป เป็นวิบากประเภทเดียวกัน เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรมเดียวกัน เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ได้ทำปฏิสนธิจิต หรือปฏิสนธิกิจ เพราะว่าปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับแล้ว จิตขณะต่อไปทำภวังคกิจ ซึ่งเราต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ภวังคกิจ หรือ ภวังคจิต หมายความถึงจิตประเภทไหน ถ้าเราไปศึกษาวิชาอื่น จิตวิทยา หรือปรัชญา หรือ อะไรก็ตามแต่ เขาก็จะพูดเรื่องจิตประเภทต่างๆ แต่ว่าเราต้องทราบว่าในพระพุทธศาสนา จากการตรัสรู้ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ก็ได้แก่จิตที่เป็นปฏิสนธิจิต ๑ ภวังคจิต ๑ จุติจิต ๑ นอกจากนั้นแล้ว เป็นวิถีจิตทั้งหมด กำลังเห็นเป็นวิถีจิต กำลังคิดนึกเป็นวิถีจิต โลภะเป็นวิถีจิต โทสะเป็นวิถีจิต โทสมูลจิต โลภมูลจิต ถ้าจะพูดเต็ม ก็แสดงให้เห็นว่าเราต้องเข้าใจแล้วไม่ทิ้งเลย ทั้งหมดที่เราเข้าใจต้องมาประกอบกัน แต่ ก. ไก่ ตัวเดียว อยู่ในหนังสือเล่มไหน ก็หมายความว่า เราจะต้องเข้าใจ ในสิ่งนั้นให้ถูกต้อง นามธรรม หรือ รูปธรรม เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก เมื่อภวังคจิตดับไปแล้ว มากหรือน้อย ไม่มีใครรู้ได้เลย เพราะว่าไม่มีการนับ ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยินทั้งสิ้น แล้วก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย อย่างที่เคยกล่าวถึง นึกถึงขณะแรกที่เกิด คงจะต้องซ้ำหลายครั้ง เพราะว่าได้ฟังบ่อย เวลาไปที่ไหนก็จะพูดเรื่องนี้ ขอให้คิดถึงตอนปฏิสนธิจิตเกิด ขณะแรก ขณะเดียว

    คำว่า นามธาตุ หมายความว่า ไม่มีรูปใดๆ เจือปนทั้งสิ้น ถึงจะเป็นนามธรรม หรือ นามธาตุ แต่เป็นธาตุพิเศษ เพราะว่าโดยมากเวลาที่เราเรียนเรื่องธาตุ หรือรู้เรื่องธาตุ เราจะคิดถึงแต่รูปธาตุอย่างเดียว แต่พอถึงธาตุอีกชนิดหนึ่ง เป็นธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้ นี่เป็นเหตุที่คนต่างกับโต๊ะ เก้าอี้ ต้นไม้ ใบหญ้า เพราะว่าไม่มีธาตุรู้กับสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเลย แต่สิ่งที่มีชีวิตอย่างสัตว์ มนุษย์ พวกนี้ เทพ พรหม พวกนี้จะต้องมีนามธาตุ เกิดจึงจะเป็นสิ่งที่มีชีวิต หรือเป็นสัตว์ เป็นบุคคล โดยสมมติ

    จิตขณะแรกคิดถึงขณะที่แสนสั้น จิต เกิดดับเร็วมาก คิดถึงความเร็ว ระหว่างเห็นกับได้ยิน ซึ่งทุกคนคิดว่าพร้อมกัน ความจริงจิตเกิดดับเกิน ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น รูป รูปหนึ่งจะอายุสั้นสักแค่ไหน นั่นคืออายุรูป ๑๗ ขณะจิต เร็วแสนเร็ว แต่จิตขณะหนึ่ง จะยิ่งเร็วกว่านั้นสักแค่ไหน เพราะฉะนั้น กรรมก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ขณะนั้นโลกใดๆ ก็ไม่ปรากฏ คนนั้นไม่สามารถจะรู้ได้เลย ว่าเขาเกิดที่ไหน เป็นมนุษย์ หรือเป็นสัตว์ เป็นเทวดา หรือเป็นพรหม เพราะเหตุว่ากรรม ทำให้ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรม เกิดขึ้นเพียงขณะเดียวแล้วดับ แล้วก็กรรมก็ทำให้ภวังคจิตเกิดต่อ โลกมืดไหม ขณะนั้นมืดสนิทหรือเปล่า เพราะว่าเวลาที่เราหลับตา ไม่เห็น ทางมโนทวารที่เรารู้ว่าเกิดสืบต่อจากทางจักขุทวาร หรือว่า โสตทวาร ก็ยังไม่เหมือนคนที่ไม่มี จักขุปสาท เพราะฉะนั้น ความมืดของมโนทวาร ก็ยังไม่เท่ากับภวังคจิต เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ได้นึกคิด ไม่ได้มีทวารใดๆ ไม่มีเรื่องใดๆ ไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏเลย แต่มีธาตุรู้ ซึ่งเป็นปฏิสนธิจิตเกิด แล้วก็มีภวังคจิต ซึ่งก็เป็นธาตุรู้ คือจิต และ เจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรม เกิดสืบต่อ จนกว่าจะมีการรู้สึกตัว ทางมโนทวาร วาระแรกก็คือโลภะเกิด ต่อจากมโนทวาราวัชชนะ ทุกภูมิ ทุกภพ แล้วเราจะเอาโลภะ ออกไปได้อย่างไร มากมายมหาศาลในสังสารวัฏ ถ้าไม่รู้ว่าเป็นสมุทัย เป็นเหตุที่จะให้เกิดวนเวียนไปในสังสารวัฏ เป็นเรื่องที่ละแสนยาก เพราะไม่รู้ด้วย ว่าอยู่ที่ไหน แต่ถ้าสามารถที่จะเห็นโลภะ เห็นอุปาทาน เห็นความติดข้อง ในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในทุกอย่างแม้แต่ขณะที่สติปัฏฐานเกิด มีสภาพธรรมปรากฏ ก็ยังไม่ใช่ว่าจะละ ความเป็นเรา ออกจากสภาพธรรม นั้น ยังคงมีความต้องการซึ่งลักษณะของความต้องการ ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นโลภมูลจิต ซึ่งก็ต้อง เป็นเราในขณะนั้น เพราะว่ายังไม่ได้ดับความเป็นตัวตน

    การศึกษาธรรม ก็ต้องเก็บเล็กผสมน้อย จากที่เคยได้ยินได้ฟังแล้วก็พิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ถ้าจะเข้าใจลักษณะของนามธรรม ซึ่งขณะนั้นก็มีรูปเกิดร่วมด้วย ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ แต่ขณะนั้นเมื่อเป็นปฏิสนธิจิต ไม่มีรูปนั้นเป็นอารมณ์ เพราะเหตุว่า รูปที่จะปรากฏได้ ในโลกทั้งหลายต้องมีทาง หรือทวาร คือรูปซึ่งเป็นทางที่จะ ให้กระทบกับรูปนั้น คือ ต้องมีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท แต่รูปเหล่านี้ก็เกิดดับเร็วมาก เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่าไม่มีเรา ไม่มีของเรา สิ่งที่มีนั้นแสนสั้น จะไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เกิดตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่เป็นของใครทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง เราไปหลงดารา หรือหลงภาพยนต์ อันนี้เป็นโมหะ คือ โมหะ หมายความว่า ไม่รู้สภาพธรรม นามธรรม หรือรูปธรรม หรือว่าหลงแบบทั่วๆ ไปอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ต้องมี โมหเจตสิก เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ทีนี้เราก็จะหาโมหะ คือเป็นโรคหาก็ได้ คือพอได้ยินได้ฟังอะไร ก็อยากจะหา อยากจะรู้ว่าเป็นอย่างไร แต่ตามความเป็นจริง เรารู้ลักษณะของธรรม หรือยัง รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม หรือยัง เรามีชื่อที่เข้ามา ตามที่เราได้ยินได้ฟัง แล้วเราเริ่ม จะหา แต่ความจริงสภาพธรรมนั้น มี ไม่หาผัสสเจตสิกหรือ ทำไมหาแต่เฉพาะโมหมูลจิต หรือโมหเจตสิก ไม่หาผัสสเจตสิก

    ผู้ฟัง เพราะอยากจะรู้ความหมายของโมหะ ว่าหลงแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ นั่นเราอยาก รู้ แต่ว่าความรู้จริง ก็คือตามระดับขั้นว่า ขณะใดที่อกุศลมูลจิตเกิด ต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แค่นี้พอไหม หรือว่าอยากจะรู้ตัวโมหะ ลักษณะของโมหะ นี่เป็นสิ่งซึ่งเราจะต้องพิจารณาว่า ปัญญาของเรา ระดับไหน ไม่ใช่เรื่องที่ว่า เราจะรู้สิ่งที่เราอยากรู้

    แต่ว่าสิ่งใดปรากฏตามเหตุตามปัจจัย ศึกษาพิจารณาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แล้วถ้ามีปัจจัยที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ขณะนั้นก็มีเหตุปัจจัยพอที่จะสามารถ รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปแสวงหา เวลาที่ได้ยินได้ฟัง เราก็รู้ว่า ควรจะรู้อะไรก่อน ถ้ารู้ว่าขณะใดก็ตามที่ อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นต้องมีโมหเจตสิก เกิดร่วมด้วย แล้วไม่ต้องไปหา แต่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพื่อที่จะได้เป็นการตั้งต้น รู้ว่าเป็นธรรม เพราะว่าไม่ใช่เป็นธรรมเพียงฟัง แต่ว่าเป็นธรรมจริงๆ มีลักษณะจริงๆ ปรากฏตางตามที่ได้ทรงแสดงไว้ทุกอย่าง แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ได้ยินเสียงปัง ใหญ่ๆ ดังๆ รู้ไหม ว่าเสียงอะไร

    ผู้ฟัง รูั

    ท่านอาจารย์ เสียงอะไร

    ผู้ฟัง ก็เสียงปืน อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ เสียงอะไร

    ผู้ฟัง เสียงปัง

    ท่านอาจารย์ รู้แต่เสียง ลักษณะของเสียงที่ดัง อย่างนั้นใช่ไหม เพราะว่าเสียงปึง เสียง ปัง ก็ต่างกันเป็นหลายๆ เสียง แต่ว่าโสตวิญญาณ สามารถที่จะรู้แจ้งอารมณ์ ตามความเป็นจริง หรือตามลักษณะของอารมณ์นั้น แต่ไม่รู้ว่าอารมณ์นั้นเป็นอะไร เป็นเสียงอะไร เป็นเสียงปืนกล หรือเป็นเสียงปืน หรือเป็นเสียงประตู เสียงหน้าต่างปิด ดังๆ ก็ไม่ทราบ แต่มีปัจจัยที่จะให้กุศลจิต หรือ อกุศลจิตเกิด เหมือนกิริยาจิตเกิด แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นเป็นใคร

    ผู้ฟัง หรือถ้าหากว่ายังไม่รู้ ว่าเป็นเสียงอะไร ชวนะมันก็ มั่นคงจะตัดสินไม่ได้ว่ามี กุศลดี หรือ อกุศลดี

    ท่านอาจารย์ โวฏฐัพพนะ ไม่ได้ตัดสินอะไร เป็นแต่เพียงทำกิจ ขณะต่อไปไม่ใช่วิบากอีกต่อไป หลังจากที่เป็นวิบาก ทางปัญจทวาร จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ต่อไปก็คือ จะเป็นกุศล หรือ อกุศล ตามการสะสม ไม่มีใครเปลี่ยนปแลงได้ ไม่มีใครเตรียมตัว

    ผู้ฟัง โวฏฐัพพนะไม่ได้ ไปชี้แล้ว นี้คือของดีๆ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล วิบากอะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เกิดขึ้น ขณะเดียวเร็วมาก ตามการสะสม แล้วแต่ว่าคนนั้นเป็นผู้ที่สะสมอุปนิสัยอย่างไร ก็เป็นปัจจัยให้จิตประเภทนั้นๆ เกิดอีกได้ คุณวิจิตร ตกใจไหมได้ยินเสียงปัง

    ผู้ฟัง บางทีก็ตกใจ บางทีก็ไม่ตกใจ

    ท่านอาจารย์ โดยไม่รู้ว่าเป็นอะไรก็ตกใจแล้ว ใช่ไหม เป็นกุศลหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ วิบาก คือโสตวิญญาณจิตที่ได้ยินเสียง สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะเป็นวิบาก แต่ว่าหลังจากที่ได้ยินแล้วเสียงยังไม่ได้ดับด้วยซ้ำไป จิตขณะนั้นเป็นกุศล หรือ เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เป็น อกุศลก็ได้

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่เป็นกุศล หรือ เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เสียงที่น่าตกใจ ก็คงจะเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ประเภทไหน

    ผู้ฟัง โทสะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่มีคุณวิจิตร แต่มีจิตที่เกิดดับสืบต่อ ตามการสะสมที่จะให้เป็นจิตประเภทไหน ตรง ชวนจิต แต่ว่าตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือว่าทวิปัญจวิญญาณ สัมปฎิจฉันนะ สันตีรณะ เป็นไปตามอารมณ์ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือจะเป็นปุถุชน หรือจะเป็นใครก็ตาม ถ้าอารมณ์ ที่ปรากฏเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ เป็นอารมณ์ที่ดี เป็น อติมหันตารมณ์ก็ได้ เป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ ขณะนั้นก็แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นเป็นใคร เวลาเห็นสิ่งที่ดี ชอบหรือไม่ชอบ บังคับไม่ได้ นี่คือ จิต และเจตสิก ซึ่งเกิดดับในชีวิตประจำวัน ซึ่งสมมติเรียกว่าเป็นคนนั้นคนนี้ แต่มีอุปาทานการยึดถือว่าเป็นตัวตน หรือเป็นเราตราบใดที่ปัญญายังไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ก็จะเป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง สรุปแล้วโวฏฐัพพนจิตมีหน้าที่อะไรกันแน่

    ท่านอาจารย์ ทำโวฏฐัพพนกิจ อยากตกใจไหม

    ผู้ฟัง ไม่อยาก

    ท่านอาจารย์ อยากกลัวไหม

    ผู้ฟัง ไม่อยาก

    ท่านอาจารย์ แต่ทำไมเกิดขึ้น เพราะมีปัจจัย เพราะฉะนั้น เรื่องของโวฏฐัพพนะ คือว่า เมื่อโวฏฐัพพนะเกิด ก็แล้วแต่ว่าชวนะต่อไป จะเป็นกุศล หรือ อกุศลประเภทใด ซึ่งไม่ใช่ใครจะไปบังคับบัญชาเลย ต้องเป็นไปตามการสะสม อย่างบางคนที่เขาอบรมเจริญสติปัฏฐาน หรือว่ามีปัญญามาก เขาก็จะไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะได้ยินเสียงซึ่งไม่น่าพอใจ เขาก็ไม่โกรธ เท่ากับคนซึ่งไม่ได้ศึกษาธรรมเลย เพียงได้ยินก็ทนไม่ได้ หรือว่าโกรธมากหรืออะไรอย่างนั้น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้แต่โวฏฐัพพนะจะกระทำกิจ คือ โวฏฐัพพนกิจ ที่หลังจากนั้น แล้วจะเป็นกุศล หรือ อกุศล ก็ต้องแล้วแต่การสะสม เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่สนใจในคำแปลที่จะต้องแปลออกมาอย่างนี้ แล้วก็หมายความว่าอย่างไร โวฏฐัพพนะกระทำกิจอะไร แต่ให้รู้ลักษณะของสภาพจิตซึ่ง เกิดดับสืบต่อกัน ตั้งแต่ปฏิสนธิ แล้วก็เป็นภวังค์ ซึ่งขณะนั้นโลกไม่ปรากฏ ไม่มีการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเลย แต่เมื่อมีตาก็จะต้องเห็นซึ่งเห็นไม่ใช่ตาคือจักขุปสาท แต่เป็นจักขุวิญญาณ ซึ่งอาศัยจักขุปสาทเกิด เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ในขณะนี้ เพียงในขณะนี้ที่เห็นสั้นมาก กุศลจิต อกุศลจิตเกิดแล้ว โดยต้องเกิดตามลำดับ ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีจิตแรก ต่อจากนั้นก็เป็นปัญจวิญญาณ ดวงหนึ่งดวงใดในทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ต่อจากนั้นก็ป็น สัมปฏิจฉันนะ ไม่ต้องแปลเลยก็ได้ ต่อจากนั้นก็เป็นสันตีรณะ ต่อจากนั้นก็เป็นโวฏฐัพพนะ แล้วก็เป็นกุศล หรืออกุศล หรือกิริยาจิต

    ผู้ฟัง การที่จะเห็นว่าเป็นคน หรือเป็นสัตว์ ก็ต่อเมื่อมโนทวารเกิด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทางมโนทวาร ทางปัญจทวาร ต้องดับไปแล้ว

    ผู้ฟัง ทางมโนทวาร ในวิถีจิต โวฏฐัพพนะ มันก็เกิดที่ มโนทวาร ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มโนทวารวัชชนจิตทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร เพราะว่ามโนทวาราวัชชนจิต เป็นจิตดวง ๑ ซึ่งไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นอเหตุกจิต คือขณะนั้นไม่เป็น โลภะ โทสะ โมหะ ไม่มี อโลภะ อโทสะ อโหะ เกิดร่วมด้วย แล้วเป็นจิตที่เป็นกิริยาจิต ซึ่งสำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ หรือแม้พระอรหันต์ก็มีกิริยาจิต ๒ ดวง สำหรับปุถุชน หรือ ผู้ที่เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี จะมีกิริยาจิต ๒ ดวง แต่พระอรหันต์มีจิต ๒ ดวงนี้ด้วย แล้วก็มีกิริยาจิตมากกว่านี้ด้วย เพราะเหตุว่าพระอรหันต์ไม่มีกุศลจิต ไม่มีอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิต เป็นจิตประเภท ๑ ชนิด ๑ ซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ เป็นอเหตุกจิต แล้วก็มีกิจ ๒ อย่าง

    ถ้าเป็นทาง มโนทวาร ทำ อาวัชชนกิจ

    ถ้าเป็นทางปัญจทวารก็ทำโวฏฐัพพนกิจ

    แต่ไม่ใช่หมายความว่า ขณะที่ทำโวฏฐัพพนกิจนั้นเป็น มโนทวาร ไม่ใช่ ยังเป็นปัญจทวารวิถี เพราะเหตุว่ารูปยังไม่ดับ รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เร็วมากขณะนี้ รูปที่ปรากฏทางตาดับแล้ว แล้วก็ มีภวังค์คั่น แล้วก็มี มโนทวารวิถีจิต หลายวาระที่เราเห็นเป็นคนนั้นคนนี้อยู่

    ผู้ฟัง ที่จะได้ประโยชน์จริงๆ คือความต่างกันของวิถีจิตของผู้ที่ไม่ได้ระลึก กับ วิถีจิตของผู้ที่ระลึก

    ท่านอาจารย์ อย่างที่ถามคุณวิจิตร เมื่อกี้นี้ ก็ไม่อยากจะโกรธ ไม่อยากจะกลัว ไม่อยากจะตกใจ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัย ที่อกุศลจิตจะเกิดประเภทนั้นๆ ก็เกิด ตามการสะสม เราเรียนให้รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ในชีวิตประจำวันว่าเป็นธรรม ให้เข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    การที่จะเข้าใจข้อความ ในพระสูตรก็ต้อง มีความรู้พระอภิธรรมด้วย อตีตภวังค์ ที่ใช้คำว่า อตีต หมายความถึง คงจะมากจากคำว่า อดีต คือมีอารมณ์เดียวกับภวังค์ก่อนๆ อตีตภวังค์ แต่ว่า รูปเริ่มกระทบกับจิตนั้น เพื่อที่จะให้รู้ว่ารูปมีอายุ เท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ จะนับตรงไหนก็ได้ เดี๋ยวนี้จะนับตรงไหนได้หมด แต่เวลาที่รูปกระทบตา แล้วก็จะดับเมื่อไร นั่นก็เป็นการที่เราจะพูดถึงจิตต่างๆ เพื่อให้รู้ได้ว่าเกิดตรงไหน ดับที่ไหน สำหรับอตีตภวังค์ หรือภวังคจิต มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า

    คุณเริงชัย ภวังคจิต มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไหม สำหรับภวังคจิตของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ มีอนุสัยกิเลส ที่ยังไม่ได้ดับครบถ้วนสำหรับปุถุชน ถ้าเป็นพระโสดาบันก็ดับไปตามลำดับ นี้คือความต่างกันของภวังคจิต แต่ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี้เป็นความต่างกันของระดับของอกุศล ถ้าเป็นอกุศลซึ่งไม่เกิดขึ้นทำกิจการงาน พร้อมกับจิต ก็เป็นอนุสัยกิเลส ยังมี ยังไม่ได้ดับ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของอกุศลเจตสิกนั้นๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นอตีตภวังค์ หรือภวังค์ทั้งหมดจะชื่ออะไรก็ตามแต่ ขณะนั้นไม่มีอกุศลเจตสิก เกิดร่วมด้วย อันนี้เข้าใจ ใช่ไหม

    ก่อนที่จะไปถึงสักแต่ว่าเห็น ต้องรู้ว่าสักแต่ว่าเพราะไม่มีอกุศลจิตเกิดร่วมด้วย ภวังคจลนะ ก็ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ภวังคุปัจเฉทะ ก็ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย ปัญจทวาราวัชชนจิต ก็ไม่มีอกุศลจิตเกิดร่วมด้วย ทวิปัญจวิญญาณทั้ง ๑๐ ก็ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น ข้อความที่คุณเริงชัย กล่าวถึงก็คือว่า หมายความว่า เวลาที่เป็นชวนจิต เป็นกุศล ไม่มีอกุศลจิตเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าจะไม่ให้ ชวนจิตเป็นกุศล หรือ อกุศล ไม่ได้เลย นอกจากผู้นั้นเป็นพระอรหันต์ จึงจะไม่มีกุศล อกุศล แต่มีกิริยาจิต

    แต่ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ หลังจากโวฏฐัพพนจิตดับแล้ว ต้องเป็นกุศล หรือ อกุศล เพราะฉะนั้น ที่จะไม่ให้อกุศลจิตเกิด เหมือนกับภวังค์ หรือปัญจทวาราวัชชนะ หรือทวิปัญจวิญญาณ หรือว่าสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ หรือโวฏฐัพพนะ ได้ก็คือ ไม่ให้อกุศลจิตเกิด

    โดยกุศลจิตเกิด ซึ่งจะเป็นได้โดยที่ว่า ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติ เจริญสติปัฏฐาน ทางปัญจทวารก็เป็นกุศลญาณสัมปยุตตได้ แล้วสักแต่ว่า เวลาอื่นได้ไหม ขณะนี้กำลังเห็น สักแต่ว่าได้ไหม ถ้าสักแต่ว่า ก็หลอกตัวเอง เพราะว่าไม่ใช่ความรู้จริง ว่าขณะนั้น ปัญญากำลังรู้อะไร เพราะฉะนั้น บางคนก็คิดว่า ก็สักแต่ว่า แต่ไม่ทันเลย เพราะว่า โวฏฐัพพนจิตเกิดแล้วดับ ชวนจิตต้องเกิด เป็นอกุศลประเภท ๑ ประเภทใดถ้าไม่เป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น จากที่จะไม่ให้อกุศลเจตสิกเกิด ก็คือ ชวนะที่เป็นกุศลจิตเกิด จนกว่าจะมีปัญญารู้สภาพธรรม นั้น จนกระทั่งดับกิเลสหมด เมื่อโวฏฐัพพนจิตเกิด อกุศลก็ไม่เกิด กุศลก็ไม่เกิด แต่กิริยาจิตเกิด ถึงความเป็นพระอรหันต์

    คำว่า สักแต่ว่า ก็ไม่ใช่เพียงแต่เราจะทำ สักแต่ว่า ถ้าเรียนเรื่องวิถีจิต จะรู้ว่าทำสักแต่ว่าไม่ได้เลย ไม่มีเวลาไม่ทัน ไม่มีใครสามารถจะทำได้ เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่อกุศลจิตจะเกิด ก็เกิด

    ผู้ฟัง เสียงทางหู บางที่เราได้ยินการด่า การนินทา เรา หรือสรรเสริญเรา เราก็บอกว่า สักแต่ว่าเสียง แต่มันก็ยังไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่

    ผู้ฟัง เพียงแต่คำพูดเท่านั้น ผู้ใหญ่ก็บอกว่า ช่างเขาเป็นไร เขานินทาเราก็สักแต่ว่าได้ยินแต่เสียง ก็เป็นคำพูดเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าศึกษาปรมัตถธรรม เราก็รู้ความจริง ใครจะบอกอย่างไร พอโวฏฐัพพนะ ดับแล้วก็เป็นอกุศล ตามการสะสม หรือเป็นกุศลก็แล้วแต่ เพราะว่าเราคงจะมีความขุ่นเคืองใจบ้างเล็กน้อย ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เสียงด่า แต่ว่าเป็นเสียงที่ไม่น่าพอใจ แม้นิดเดียว ขณะนั้นเราก็มีความขุ่นใจ เล็กๆ น้อยๆ ได้ เพราะฉะนั้น เราจะไม่ทำเป็นสักแต่ว่า คือ หลอกตัวเอง

    ผู้ฟัง มันยากมาก

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่า พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยตลอดทั้ง ๓ ปิฎก

    ผู้ฟัง เป็นกุศลที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นก็ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ

    ท่านอาจารย์ ไม่มี

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น จะเป็น สักแต่ว่าด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สักแต่ว่าที่นี่เขาเปรียบเทียบ ปัญจทวาราวัชชนจิต ทวิปัญจวิญญาณจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ให้รู้ว่าแม้วาระที่มีรูป กระทบจิต เหล่านี้ก็ไม่มี อกุศล เพราะฉะนั้น ก็ควรจะให้ไม่มีเหมือนกับจิตเหล่านี้ แต่การที่จะไม่มีได้ อยู่ดีๆ จะไม่ให้มี เป็นไปไม่ได้ นอกจากปัญญาจะเกิด เพราะฉะนั้น เราไม่ติดที่พยัญชนะ แต่เราจะต้องค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรม เพียงให้กุศลจิตเกิด ก็เป็นบุญหนักหนาแล้ว ใช่ไหมแทนอกุศล แล้วถ้าเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ก็ลองคิดดูว่า ในวาระหนึ่งๆ ของการเห็น ขณะใดเมื่อใรที่เป็น อกุศล ต้องมี ขณะใดเมื่อไร ที่กุศลเริ่มจะเกิด และขณะใดเมื่อไร ที่เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา โดยเฉพาะคือสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เราก็รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567