ปกิณณกธรรม ตอนที่ 553


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๕๓

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ เพราะว่าใจนี่อยากที่จะรู้แจ้ง อริยสัจธรรม อยากที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม อยากที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม พยายามหาวิธีนานาประการ แต่ว่าหนทางเดียว วิธีเดียวก็คือว่า ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ระลึกแล้ว ยังไม่รู้ชัด แต่ว่าเพียงแต่เข้าใจว่านี่เป็นหนทาง นี่เป็นสภาพธรรม ที่ปัญญาจะต้องรู้ระหว่างที่กำลังระลึก จะเห็นได้ว่าอาจจะมีความอยาก หรือมีความต้องการอย่างอื่น ซึ่งผู้นั้นจะต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่า ไม่ใช่อย่างนั้น จะต้องเป็นการที่จะอดทน หมายความว่าไม่ใช่เพียงเพียรสั้นๆ ชั่วครั้งชั่วคราว แต่นานแสนนาน เพราะเหตุว่า เป็นเรื่องของกาลเวลาจริงๆ กว่าจะสละความเป็นตัวตนออกจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น วิปัสสนาญาณ การรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงจึงมีหลายระดับ

    ขณะนี้นามธรรมมี รูปธรรมก็กำลังปรากฏ แล้วความรู้ขณะนี้ ระดับไหน ที่จะเข้าใจลักษณะของนามธรรม ธาตุรู้ กับสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยการที่เป็นสภาพธรรม จริงๆ นี้เพียงขั้นที่เข้าใจว่าจะต้องอบรม แต่ว่าแม้ว่าสภาพธรรมนั้นจะปรากฏกับปัญญาระดับ ๑ ซึ่งสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้นแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าเยื่อใย ความต้องการ ความติดข้องในสภาพธรรมนั้น ยังมีอีกมาก เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีความอดทนต่อไป คือไม่ใช่เพียงเพียรนิดหน่อย หรือเพียรเดี๋ยวเดียว

    ผู้ฟัง ชินขอถามอาจารย์ว่าทุกขณะจิต คือ มีกรรมของเขา ใช่ไหม มีปัจจัยของเขา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องแยกประเภท แต่ว่าให้ทราบว่าจิต ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้น โดยที่ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่มีปัจจัย แล้วไม่ใช่แต่เฉพาะจิต สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่เกิด ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งไม่ว่าจะเป็นจิต หรือเจตสิก หรือรูป

    ผู้ฟัง ที่ชินฟังที่ความอดทนนั้นคือ อดทนสิ่งที่ปรากฏทาง ๖ ทวาร หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจว่าอดทนเป็นกุศล ขณะนั้นมีความอดทนเพื่ออะไร อดทนอะไร ถ้าเรารู้ว่า สภาพธรรม ขณะนี้มีจริงๆ อย่างที่ได้ศึกษามาแล้วว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรม กับเป็นรูปธรรม ๒ คำนี้ปฏิเสธไม่ได้เลย แต่ว่ารู้ชัดอย่างนี้จริงๆ หรือยัง เพียงได้ยิน และกว่าจะรู้ชัดจริงๆ ต้องมีความอดทนไหม ที่จะฟังแล้วฟังอีก พิจารณาแล้ว พิจารณาอีก หรือว่าระลึกแล้ว ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏ โดยสภาพที่เป็นอนัตตา ข้อความในพระไตรปิฎกมีที่ว่า ขันติ เป็น ตบะ อย่างยิ่ง พระพุทธพจน์ทุกคำเป็นความจริง ซึ่งเราจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ความหมายนั้นๆ คืออะไร

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าเป็นอย่างนี้ ก็ต้องมีคำจำกัดความของคำว่า อดทน ว่าอดทนในลักษณะไหน อย่างนั้นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังฟัง ฟังไปเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของความอดทนขึ้น ขณะนี้กำลังอดทนหรือเปล่า ค่อยๆ รู้จักลักษณะที่อดทนทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง หนูฟังวันนี้ ทำให้หนูนึกถึงประโยคที่พระพุทธเจ้า ได้ทรงตรัสไว้ใน โอวาทปฏิโมกข์ ที่ว่า ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ทำให้รู้สึกว่า เข้าใจมากยิ่งขึ้น แต่ว่าถ้าเผื่อว่ามีการสรุปให้ฟังก็คงจะดี คำถามอีกอันหนึ่งก็คือว่า อาจารย์สุรีย์ถามบอกว่าอดทน เป็นเจตสิกตัวไหน

    ท่านอาจารย์ เจตสิกคงจะไม่ได้เกิดขึ้นเพียงลำพัง แม้แต่ความอดทนเป็นวิริยเจตสิก ซึ่งก็มีหลายระดับ บางแห่งจะเป็น อโทสเจตสิก ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าขณะนั้นไม่ได้มีวิริยเจตสิก เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นเลยที่เราจะพูดถึง คำเดียวว่าได้แก่เจตสิกอะไรเพราะเหตุว่า แม้เจตสิกจะเกิดด้วยกันหลายๆ เจตสิก แต่ขึ้นอยู่กับระดับของสภาพธรรม ที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น

    เราเคยกล่าวถึง ครั้งหนึ่งว่าทุกคนจำได้ว่าอะไรอยู่บนโต๊ะ ทุกคนก็เห็นแล้วรู้ทันที เป็นสัญญาความจำ ความเพียรมีไหมในระดับนั้น เวลาที่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร มีไหม ถ้าศึกษาโดยละเอียด มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่คิดถึงระดับซึ่งเราจะต้อง มีการฟังมากๆ มีการพิจารณามากๆ ความจำของเราพร้อมกับปัญญามีวิริยะอีกระดับ หนึ่งหรือเปล่า ไม่ใช่เพียงแต่เห็น แล้วก็รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ซึ่งก็เป็นของธรรมดา เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีการที่จะชี้ชัดลงไป ว่าได้แก่อะไร แล้วแต่ว่าสภาพธรรมในขณะนั้นเกิดขึ้นพร้อมกันแล้วก็ระดับไหน ขณะนี้มีทั้งวิริยเจตสิก ที่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร แล้วก็มีสัญญาความจำ แต่ไม่เหมือนสัญญาความจำเรื่องที่กำลังฟัง ซึ่งจะต้องอาศัยวิริยะความเพียรที่จะพิจารณา ที่จะเข้าใจ เพราะฉะนั้น สัญญาความจำนี่ก็ต่างระดับ หรือว่าเวลาที่สภาพธรรมอื่นปรากฏที่จะเห็นชัด ว่าต้องมีความเพียรมาก ขณะนั้นก็ต่างกับที่ว่าแม้มีสัญญาเกิดร่วมด้วย แต่สัญญาที่เกิดกับความเพียรต่างระดับก็ทำให้เรา ในพระสูตรใช้คำบัญญัติต่างๆ แต่ก็ได้แก่ปรมัตถธรรม คือ ทั้งจิต เจตสิก ในขณะนั้น

    ผู้ฟัง ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น จะปราศจากความอดทน ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ มีอโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกอื่นๆ ด้วย แต่ขณะนี้ไม่มีอโทสเจตสิก แต่มีวิริยเจตสิก เป็นสิ่งซึ่งเหมือนกับว่า เราพยายามจะไปพิจารณาให้เข้าใจตัวหนังสือ แล้วก็สามารถที่จะจัดแบ่งออกไปได้ว่า เป็นประเภทไหน อย่างไร แต่เราละเลย การที่จะรู้ว่าปัญญาของเราขณะนี้ สามารถที่จะรู้อะไร ตัวจริงๆ ของธรรม เราสามารถจะรู้เพียงลักษณะที่ต่างกัน ที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรมเท่านั้น แล้วหรือยัง ก่อนที่จะไปรู้อื่น เช่นรู้เรื่องวิริยะ รู้เรื่องผัสสะ รู้เรื่องมนสิการ เรื่องชีวิตอินทรีย นั่นเป็นเรื่องที่ช่วยให้เราเวลาที่สติระลึก การฟังทั้งหมดการเข้าใจในความเป็น อนัตตาทั้งหมด จะทำให้สามารถถึงปัญญาระดับที่สละความเป็นเรา แต่ต้องอาศัยสติปัฏฐาน โพธิปัคขิยธรรมจะปราศจากสติปัฏฐาน ไม่ได้เลย

    การศึกษาของเรา เรื่องชื่อทั้งหมดที่มี แต่ว่าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ ก็เป็นการจำเรื่องชื่อ แต่ว่าการเรียนของเราทั้งหมด เพื่อให้เรารู้จักตัวเองว่า ปัญญาของเราระดับไหน ถ้าขณะนี้ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม การฟัง ฟังให้เข้าใจ แต่ไม่ใช่เป็นการที่เราต้องไปสามารถจำแนกข้อความในพระสูตรทั้งหมด ชี้ออกมาว่าได้แก่เจตสิกอะไร เมื่อไร อย่างไร แต่ว่าเราสามารถที่จะฟังให้เห็นประโยชน์ว่า สิ่งใดก็ตามที่ทรงแสดงไว้ การศึกษา คือ สิกขา ประพฤติน้อมที่จะปฏิบัติตาม

    ถ้าเราศึกษาถึง อุปนิสยปัจจัย โดยชื่อเราได้ยินคำว่าปัจจัย ธรรมที่เกื้อกูล ที่สนับสนุน ที่เป็นปัจจัยให้ สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น นิสัย คือที่อาศัย อุป ที่มีกำลัง เพราะฉะนั้น ที่อาศัยที่มีกำลัง เราเรียนมาหมดเลย ได้แก่อะไรบ้าง แต่ขณะนี้ทราบไหม เวลาที่เกิดสภาพธรรมหนึ่ง สภาพธรรมใด ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ เป็นแล้วที่จะต้องสะสมสืบต่อไป ที่จะเกิดสภาพธรรมนั้นอีกบ่อยๆ หรือแม้แต่ศรัทธา หรือวิริยะ ความเพียรหรือความอดทน แม้เล็กน้อยตอนเริ่มต้น ต่อไปก็จะทำให้เราเพิ่ม หรือว่ามีความอดทนมากขึ้น แต่ต้องมีในขณะนี้ด้วย ถ้าขณะนี้ไม่มี ทุกอย่างก็อยู่ในตำราหมด ไม่ว่าจะสรรเสริญว่า ขันติ เป็นตบะอย่างยิ่ง ก็อยู่ในตำรา ไม่เห็นมาอยู่ในใจของเรา ที่จะรู้ว่าเราได้ฟัง ได้ศึกษา คือประพฤติปฏิบัติตามมากน้อยแค่ไหน แต่ผู้ที่เห็นคุณค่าของพระธรรมจริงๆ เห็นประโยชน์จริงๆ เขาจะไม่ไปติดในคำ แต่ว่าจะรู้ตามความเป็นจริงว่า ชีวิตประจำวันของเขา ที่ได้ฟังพระธรรมมา เขามีความนอบน้อมที่จะบูชาด้วยการปฏิบัติอย่างไร บูชาสูงสุดในการปฏิบัติ ก็คือประพฤติตามคำสอนที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะว่ากว่าที่พระองค์จะได้บรรลุคุณธรรม ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต้องบำเพ็ญพระบารมีมาก เพราะฉะนั้น การจะบูชาในพระคุณ ก็ต้องบูชา ในลักษณะที่เห็นคุณค่าของธรรมที่ทำให้ตรัสรู้ แล้วประพฤติปฏิบัติตาม แต่นอกจากนั้นยังทรงแสดงพระธรรมอีกด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะเรื่องสติปัฏฐาน ไม่ใช่แต่เฉพาะเรื่องปรมัตถธรรม

    เพราะรู้ว่ายิ่งได้ยินได้ฟังมาก ยิ่งเห็นโทษของอกุศลมาก จิตใจของคนที่พิจารณาถึงจิตของตนเอง ก็เริ่มที่จะปฏิบัติบูชา แม้ในขั้นของศีล ในขั้นของความสงบของจิต แล้วในขั้นของการอบรมเจริญปัญญาด้วย แต่ถ้าเราศึกษาเพียงตัวหนังสือ เราก็จะไม่ได้อะไร เพราะว่าปัญญาของเราไม่ถึงระดับ ที่สามารถจะแยกรู้ลักษณะว่าวิริยะนี่ระดับไหน แล้วก็ต้องเป็นวิริยะที่ไม่ใช่ชื่อ ต้องเป็นสภาพของวิริยะขณะนั้นซึ่งปรากฏให้รู้ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเริ่มต้นจากการ รู้ว่าจริงๆ แล้วชีวิตของเราจะศึกษาธรรมโดยเปล่าประโยชน์ โดยไร้ประโยชน์ ไม่ได้อะไรเลย นอกจากชื่อ หรือว่าได้ยินได้ฟัง แล้วก็เป็นผู้ที่บูชาพระองค์ด้วยการประพฤติปฏิบัติ เท่าที่จะกระทำได้ ซึ่งเป็น จรณะด้วย

    วิทยากร. ความอดทนส่วนมาก เป็นไปในด้านกุศล ส่วนมาก ส่วนที่เป็นอกุศลก็มีเหมือนกัน เช่นเรากำลังมีความพยายามในด้านอกุศล เช่น ลักทรัพย์ เป็นต้นในความทน ในด้านกุศลนั้น ต้องมีความอดทนอย่างยิ่ง เช่น อดทนในความดี และความชั่ว สุข และทุกข์นั่นเอง ถ้าเราติดในสุข เราก็ติดในกามสุข เราไม่สามารถเจริญสติปัฏฐาน ได้ ถ้าเราติดในทุกข์เราก็ไปไม่ได้อีก เราก็ต้องเลิก ระลึกถึงนาม และรูป เพราะฉะนั้น ในสติปัฏฐาน ต้องอดทนทั้ง ๒ อย่าง ทั้งสุข และทุกข์ จิตจึงจะแล่นไปในนามรูปได้ ถ้าจิตมีกังวลในเรื่องความสุขบ้างทุกข์บ้าง ก็แล่นไป ไม่ได้ มีสังโยชน์ เป็นเครื่องผูก เพราะฉะนั้น แม้การฟังก็ต้องอดทน แม้ความเจริญก็ต้องอดทน อาศัยความอดทนแล้ว จึงพ้นจากทุกข์ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เราก็คงจะตัดสินไม่ได้ ว่าขณะนั้นเป็นกุศล หรือ อกุศล เคยทนเจ็บไหม ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่าที่ทนได้ ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ เพราะฉะนั้น ภาษาไทยก็เป็นสิ่งที่เราเข้าใจความหมาย แต่ว่าปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรม ที่เป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น เพียงแต่ว่าเราสามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นได้ตรงจริงๆ หรือเปล่าว่าขณะนั้น เป็นกุศล หรือ อกุศล แต่สภาพธรรมใดที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล สภาพธรรมใดที่เป็นอกุศล ก็เป็นอกุศล แต่ต้องรู้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ปัญญา ขณะใดที่เกิด ก็จะมีความเที่ยงตรงรู้แจ้งจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น คงไม่ต้องมานั่งถามว่ามันเป็นกุศล หรือมันเป็นอกุศลซึ่งขณะนั้น ด้วยความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับเร็วมาก ต้องเข้าใจจริงๆ เรื่องของสภาพธรรม ที่เป็นปรมัตถ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เรื่องของภาษา อาจจะใช้สับสนได้

    ผู้ฟัง ลักษณะของการระลึกรู้ คือ ระลึกรู้เวทนา ขณะเดียวกัน ก็ต้องระลึก ถ้าจะระลึกรู้ สภาพรู้ ก็คือ จิตที่ไปรู้เวทนา อันนั้น ใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่อง แล้วก็ยาวด้วย ถ้าเราพูดสั้นๆ ขณะนี้มีความรู้สึกไหม ความรู้สึกนี้มีกันทุกคน เวลาที่จิตเกิด ที่จะปราศจากความรู้สึกอย่างหนึ่ง อย่างใดไม่ได้เลย แค่นี้ คือต้องค่อยๆ ฟังให้เข้าใจสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ถ้าจะพูดถึงเรื่องความรู้สึกก็ต้องเข้าใจว่า มี แล้วก็มีเกิดกับจิตทุกขณะด้วยไม่เว้นเลยตั้งแต่เกิดจนตาย ใครจะรู้หรือไม่รู้ ก็จะต้องมีสภาพความรู้สึกเกิดกับจิต

    ซึ่งความรู้สึกมี ๓ อย่าง หรือ ๕ อย่าง ถ้าแยกเป็นทางกาย กับ ทางใจ ถ้าไม่แยกเป็นทางกาย ทางใจ ก็มี สุข๑ ทุกข์๑ อุเบกขา หรืออทุกขมสุขไม่สุขไม่ทุกข์ ๑ นี้ไม่แยก

    แต่ถ้าแยกก็แยกเป็น สุข ๑ หมายความถึงความรู้สึกสบายทางกาย

    ทุกข์ ๑ ความไม่สบายทางกาย

    โสมนัส ความสบายใจ แม้ว่ากายอาจจะเป็นทุกข์ แต่ใจไม่เดือดร้อน เพราะฉะนั้น ก็เป็นโสมนัสเวทนา ความรู้สึกสบายใจ ๑

    โทมนัสเวทนา ความรู้สึกไม่สบายใจ แม้ว่ากายไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่เดือดร้อนเลย แต่ใจเป็นทุกข์ ความรู้สึกนั้นก็เป็น โทมนัสเวทนา

    ส่วนอุเบกขาเทวนาก็คือ อทุกขมสุข

    เราไม่พ้นเลย เพราะเหตุว่า สภาพธรรม ที่เป็นเวทนาเจตสิก ต้องเกิดกับจิตทุกขณะ นี่หมายความว่าให้เข้าใจอย่างนี้ แทนที่จะไปแยกเป็นบรรพอะไร ไประลึกตอนไหน อะไร ให้รู้ความจริงว่ามีไหม แม้มี แต่เมื่อใดที่สติไม่ระลึก ขณะนั้นเวทนานั้นก็ไม่ได้ปรากฏ แม้ว่าเกิดขึ้นก็ดับไปเร็วมาก การเกิดดับของสภาพธรรมเร็ว เร็วมาก สั้นมาก เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงสติปัฏฐาน ต้องเป็นสติเจตสิกที่ระลึกเท่านั้น จึงสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา ค่อยๆ รู้ความจริงของสิ่งซึ่งเกิดดับ เร็วมากได้

    เพราะฉะนั้น เวลานี้เหมือนเห็นตลอดเวลา แล้วก็มีได้ยินบ้าง แล้วก็มีคิดนึกบ้าง มีความรู้สึกชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง แสดงว่าจิตเกิดดับเร็วมาก สติระลึกหรือเปล่า นี่ต้องเข้าใจว่า แม้สภาพธรรมนั้นมี แต่ก็ดับไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่กำลังปรากฏเท่านั้น ที่สติสามารถจะเกิดระลึกได้ แต่ทั้งสติ และสิ่งที่ปรากฏก็ดับเร็ว เวลานี้ถ้ามีความรู้สึกอย่างหนึ่ง อย่างใดเกิดขึ้น แล้วสติระลึกที่ความรู้สึก เป็นไปได้ไหม

    ผู้ฟัง เป็นไปได้

    ท่านอาจารย์ นั่นคือเรื่องของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ต้องคิดมากเกินกว่านั้น

    ผู้ฟัง ขณะนั้น เวทนานั้นก็เป็นเพียงลักษณะของนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่สติระลึก เพื่อที่จะรู้ลักษณะที่เป็นความรู้สึก ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วดับ

    ผู้ฟัง ทีนี้โดยการที่เราเรียนมาว่า ขณะที่ระลึกนั้นก็มีสติ ที่ระลึก แล้วก็มีลักษณะของอารมณ์ คือเวทนาที่ระลึก ในสภาพรู้นั้น ถ้าหากว่าเกิดเป็น ถึงขั้น นามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งเราจะพูดกันอยู่เรื่อยๆ ว่าแยกรูปแยกนาม ถ้าหากเป็น เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้วคงไม่ใช่เป็นการ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่แยกรูปแยกนาม สภาพธรรมที่ต่างกันปรากฏโดยลักษณะนั้นๆ ตามความเป็นจริง แยกขาดจากกัน ขณะนั้นปัญญาประจักษ์ ไม่ใช่ว่า ปัญญาไปแยก แต่ปัญญาประจักษ์ลักษณะที่แยกขาดจากกัน

    ผู้ฟัง ทีนี้ก็หมายความว่า ถ้าในขณะนั้นระลึกรู้ใน เวทนา ก็คือแยกขาดจากกัน ถึงสภาพที่เป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ระลึกค่อยๆ เข้าใจในสภาพที่เป็นนามธรรม ว่าไม่ใช่เรา จนกว่าสภาพนั้นจะปรากฏจริงๆ

    ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าขณะนั้น ไม่ได้ระลึกรู้สภาพที่เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ เราจะไม่ระลึกลักษณะของนามตลอดเวลา หรือไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของรูปตลอดเวลา แล้วแต่สติจะเกิด เพราะขณะนี้มีทั้งนามธรรม มีทั้งรูปธรรม แล้วถ้าเป็นปัญญา ปัญญาที่จะละ คลาย ไถ่ถอน ความเป็นเรา สละ ใช้คำว่า สละ ความเป็นเราออกจากสภาพที่กำลังเห็น ได้ยิน กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปัญญาต้องรู้ทั่วจริงๆ จนกระทั่งละความสงสัยได้

    ผู้ฟัง ยังระลึกไม่ได้ถึงสภาพรู้ที่แท้จริงแล้ว ก็ไม่มีสิทธิที่จะไปรู้ลักษณะของโทสะ โลภะ อะไรเลย ซึ่งเป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ รู้ได้ แต่หมายความว่าต้องรู้ความต่างกันของ ธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้ กับลักษณะของสภาพซึ่งไม่ใช่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เพราะว่าลักษณะที่ไม่ใช่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้ เป็นลักษณะของเจตสิก ไม่ใช่ไปกั้นเลย อย่างความรู้สึกนี้ก็เป็นเจตสิก จะบอกว่าไม่รู้ไม่ได้ เพียงแต่ว่าจะต้องรู้ในความต่างของนามธรรม กับ รูปธรรมจริงๆ แล้วถึงจะรู้นามธรรมนั้นหลากหลาย เป็นนามธรรมต่างชนิด

    ผู้ฟัง แต่ขณะที่เรายังไม่เห็นความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม ถึงขั้นนามรูปปริจเฉทญาณ เราก็สามารถที่จะเห็นความต่างกันในเจตสิกต่างๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมต่างกัน เราไม่ได้ไปสร้างไปฝันไปแต่ง แต่สภาพธรรม ในเมื่อต่างก็ต่างสติก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น ในพระไตรปิฎก มีผู้ที่รู้แล้วหลายระดับ ผู้ที่รู้แล้วระดับไหน ระดับพระโสดาบัน ระดับพระสกทาคามี ระดับพระอนาคามี ระดับพระอรหันต์ หรือว่าระดับที่ท่านประกอบด้วยคุณวิเศษ สามารถที่จะรู้ธรรมอย่างละเอียดกว่าสาวกธรรมดา เป็นมหาสาวก เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของปัญญาของผู้รู้แล้ว ผู้ที่กำลังศึกษาตัวหนังสือ ไม่ใช่ผู้ที่รู้แล้ว จะต้องรู้ว่า กำลังของปัญญาของตนเอง เริ่มมี เมื่อได้ฟัง แล้วก็ได้พิจารณา แต่จะต้องอบรมจนกว่า ความรู้จะค่อยๆ รู้ขึ้น ยังไม่ทั่วในพระไตรปิฎกทั้งหมดเลย แต่ว่าเริ่มรู้ว่า ถ้ารู้จริงก็คือ รู้ ความจริงอย่างนั้นไม่ใช่อย่างอื่น

    ผู้ฟัง เราจะรู้ได้อย่างไร ว่า นี่คือ เข้ากับเจตสิกอันไหน ซึ่งให้เข้าใจมากขึ้นแล้วให้ละเอียดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เวลาที่คุณชินทราบว่ามีจิต เจตสิก รูป อยากจะรู้ว่ามันคือเจตสิกอะไร หรือเปล่า แล้วเวลานี้ รู้ลักษณะของนามธรรม หรือรูปธรรม หรือยัง แต่ว่าถ้าคุณชินเริ่มศึกษาว่าเจตนามี เพราะอะไร ลักษณะของเจตนา เป็นสภาพที่จงใจ เวลาที่เราจะบอกว่าสภาพธรรมใด มี หมายความว่ามีลักษณะอย่างไร เป็นวิเสสลักษณะ เฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ เช่น เจตนา ลักษณะของเจตนา คือ สภาพที่จงใจ แต่เจตนาเจตสิก ผู้รู้ ผู้ที่ท่านประจักษ์แจ้ง ทรงแสดงไว้ว่ามี ๔ ชาติ เจตนาที่เป็นกุศลก็มี เจตนาที่เป็นอกุศลก็มี เจตนาที่เป็นวิบากก็มี เจตนาที่เป็นกิริยาก็มี นี่ผู้รู้แล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่รู้ สามารถจะรู้เจตนาที่เป็นวิบากไหม สามารถจะรู้เจตนาที่เป็นกิริยาไหม เพราะฉะนั้น เห็นความต่างแล้วใช่ไหมว่า ผู้ที่ไม่รู้ ต้องค่อยๆ อบรมเจริญ ไม่ใช่ไม่มีเจตนาที่จะรู้ได้เลย เจตนาที่เป็นกุศล มี เจตนาที่เป็นอกุศล มี ซึ่งสามารถจะรู้ได้ แต่ก่อนนี้ ทุกคนก็จะฟังธรรมหรือไม่ฟังธรรม ก็มีเจตนากันทั้งนั้น เจตนาที่จะทำกุศล ก็มี เจตนาที่จะทำอกุศล ก็มี แต่ไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรม คิดว่าเป็นเรา ที่ตั้งใจหรือว่ามีเจตนาอย่างนั้นๆ ถือเจตนานั้นว่าเป็นเรา แต่เวลาที่ศึกษาแล้ว แม้ว่าตัวหนังสือจะบอกว่าเจตนา ไม่ใช่เรา แต่เจตนาก็มีลักษณะจงใจ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีความจงใจเกิดขึ้น คนที่ติดตัวหนังสือ ก็จะบอกว่านี่เป็นเจตสิก เป็นเจตนาเจตสิก เป็นชาติกุศล หรือเป็นชาติอกุศล แต่ไม่รู้ลักษณะของเจตนา เพราะว่าเจตนา นั้นดับแล้ว เกิดแล้วดับแล้ว แล้วก็สลับกัน ทั้งเจตนาที่เป็นกุศล ที่เป็นวิบาก ที่เป็นกิริยาที่เป็นอกุศล

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567