ปกิณณกธรรม ตอนที่ 592


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๙๒

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๔


    ผู้ฟัง ปัญหาของเรา นามธรรม รูปธรรม ที่ต่างกัน เพราะว่าไมมีสัมมาสติ ไม่รู้การเห็น หรือ สี การเห็นอย่างไร แล้วไม่รู้ลักษณะแต่ละอันเลย

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังบ่อยๆ อย่างเมื่อกี้นี้ บ่อยกี่กัป บ่อยกี่กัป ไม่ใช่บ่อยเพียงแค่กี่ชั่วโมงหรือ กี่นาที เพียงแค่ฟังว่าไม่มีอะไรเลย แล้วก็เกิดมีสิ่งที่ปรากฏ ขยายออกไปนิดหนึ่ง ต้องมีอายตนะ คือที่ประชุม ขยายออกไปอีก ก็เป็นธาตุแต่ละอย่าง คือค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ด้วยความอดทน

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์บอกว่า ไม่ให้ปล่อย ให้กายใจเสียเปล่าๆ ไปหมายความว่า เรานั่งหายใจอยู่เฉยๆ ควรจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ หรือศึกษาธรรม หรือฟังเทป หรืออะไรต่ออะไร ดีกว่าปล่อยให้หายใจไปเฉยๆ คือให้ทำความดี พิจารณาธรรมก็ได้ คิดที่จะทำอะไรก็ได้ จะสร้างกุศลก็ได้ จะช่วยใครก็ได้ ที่โกรธใครไว้ เราพยายามที่จะไม่โกรธ หรือไม่ผูกโกรธ อะไรพวกนี้ ซึ่งเป็นพรของตัวของท่านเองทุกท่าน เพราะว่าพรที่ใครเขาให้ สังเกตหรือเปล่าว่า ขอให้มีความสุขความเจริญ อายุมั่นขวัญยืน เป็นแต่เพียงสิ่งที่เขาพูดออกมาเท่านั้น เราต้องทำของเราเอง คือให้พรตัวเราเองทุกวัน ในฐานะที่เป็นวันเกิดวันนี้

    ถ้าหากท่านผู้ใดได้ประโยชน์ จากการฟังไป ดิฉันปิติมาก ไม่ได้หวังอะไร หวังให้ท่านได้รับความสุข แล้วความจริงของชีวิต ยังมีว่าเราไม่ควรจะคิด หรือนึกถึงความไม่ดีของคนอื่น ซึ่งท่านอาจารย์บอกว่าให้ดู ตัวของเราว่ามีสิ่งที่ไม่ดีอะไร แล้วก็ละ ดีกว่าที่จะไปดูว่าคนนั้นไม่ดี อย่างนั้นอย่างนี้ บางคนเราแก้ไขได้ บางคนเราแก้ไขไม่ได้ เพราะฉะนั้น ให้พรตัวของเราเองทุกวัน จะได้มีประโยชน์ต่อไป ถ้าบอกใครได้ ก็บอกต่อไป เพราะว่าอันนี้เป็นเรื่องจริง สิ่งที่เราให้คือกำไร ที่เราจะได้รับต่อไปในภพในชาติหน้า บางคนเสียดายว่าให้แล้ว อยากจะได้ของคนอื่น มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูก เราควรเป็นผู้ให้ ขอบพระคุณมาก

    ท่านอาจารย์ เมื่อเราอ่านย่อหน้าแรกก็ควรที่จะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่า ปุณณกะมานพ มีความสงสัย ในเรื่องของยันต์ และการบูชายันต์ เพราะฉะนั้น เราก็ควรที่จะมีความเข้าใจให้ถูกต้อง ว่ายันต์ คืออะไร โดยคำแปลหมายความว่าสิ่งที่ควรบูชา เพราะว่าเราคงจะไม่เอาสิ่งที่เราไม่บูชาไปให้ใคร เวลาที่จะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดกับใคร โดยเฉพาะผู้ที่สูงอย่างเทพ ก็จะต้องให้สิ่งที่เขาคิด หรือเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่เขาควรบูชา แก่ผู้ที่เป็นเทพ แต่ว่าแม้ว่าสมัยโน้นก็จะมีการกระทำแบบนี้ หรือว่าในสมัยนี้ก็ยังมีการบูชายันต์ แม้ว่าเราจะไม่เรียกว่า ยันต์ แต่สิ่งใดก็ตามที่เราให้บุคคลอื่นเพื่อบูชา สิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่ควรบูชา เพราะเหตุว่าเราจะไม่ให้สิ่งที่น่าบูชา ไม่ว่าเราจะให้แก่ใครทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ปัญหาก็มีอยู่ว่า ผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นฤาษี เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ แต่ว่ายังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง บูชายันต์เพราะอะไร หมายความว่าอาศัยอะไร ทำไมจึงเกิดมีการบูชายันต์ขึ้นเพื่อที่ว่าพระองค์จะได้ทรงแสดงว่า เพราะเหตุใด ผู้ที่ยังมีความติดข้องในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะเหตุว่าสิ่งที่เราต้องการตลอดชาติไม่ว่าภพไหน ชาติไหน เราก็ต้องการรูปต้องการเสียงต้องการกลิ่นต้องการรสต้องการโผฏฐัพพะ แม้การบูชาเทพ ด้วยสิ่งที่ควรบูชา ก็ด้วยความหวังว่าเราจะได้สิ่งนั้น คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้น เราจะไปถามใครว่าเขาหวังอะไรในการที่เขาบูชายันต์ คือให้สิ่งที่ควรบูชา แก่เทพเป็นต้น ก็ต้องมีผู้เดียวที่ควรจะทำ ก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงทราบทั้งหมดว่าการกระทำทุกอย่างเป็นไปด้วยอะไร มาณพผู้นี้ จึงได้ทูลถาม ถึงเรื่องการบูชายันต์ เพราะเหตุว่าต้องมีเหตุที่ลึกมาก คือความเป็นตัวตน ที่ต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทำให้ทำทุกอย่างแม้การบูชายันต์ แก่เทวดา

    ผู้ฟัง การกราบไหว้ การสวดมนต์อันนี้ เป็นยันต์ด้วยไหม จะนับเนื่องอยู่ในความหมายของยันต์ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ ถ้ายันต์ หมายความถึงสิ่งที่ควรบูชาก็มีความหมายที่กว้าง อย่างขณะนี้ที่พวกเรากำลังศึกษาธรรม ศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจธรรมให้ถูกต้อง เพื่อที่จะให้พระธรรมดำรงมั่นต่อไป คือผู้ใดที่มีความสนใจในพระธรรมก็จะได้เข้าใจในสิ่งซึ่งมีความสนใจนั้นถูกต้องยิ่งขึ้น การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ก็แล้วแต่ว่าจิตของผู้นั้นปฏิบัติ เพื่ออะไรอย่างไรเป็นอัตตาธิปไตยเพื่อตัวเอง หรือว่าเป็นโลกาธิปไตย หรือว่าเป็นธัมมาธิปไตยแต่ถ้าในขณะนี้ เราทุกคนมีการน้อมระลึกว่า แม้กุศลที่เราทำในขณะนี้ ก็เป็นการกระทำที่บูชาพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า การกระทำนี้ก็ย่อมเป็นยันต์ได้

    ผู้ฟัง การกระทำเพื่ออะไร ถ้าเป็นอัตตาธิปไตยก็เพื่อตนเอง ถ้าเป็นโลกาธิปไตยก็เพื่อชาวโลก แล้วถ้าธัมมาธิปไตย เพื่อกุศลธรรม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเป็นกุศล ทำกุศลถือตนเองเป็นใหญ่ หรือว่าทำกุศล เพราะถือชาวโลกเป็นใหญ่ หรือว่าทำกุศล เพราะถือธรรมเป็นใหญ่ ทั้งหมดเป็นกุศล

    ผู้ฟัง ถ้าทำกุศลเพื่อมีธรรมเป็นใหญ่ เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เพื่อตน ไม่ใช่เพราะเห็นแก่ชาวโลกว่า เราไม่ทำคนอื่นจะตำหนิ แต่ว่าเป็นสิ่งซึ่งแน่นอนที่สุดว่าควรจะกระทำ ไม่ใช่เพื่อใครทั้งนั้น

    ผู้ฟัง ทั้งหมดก็ต้องเป็นกุศลทั้งหมด แม้แต่ทำเพื่อตนเอง

    ท่านอาจารย์ อัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย ธัมมาธิปไตย ทั้งหมดเป็นกุศล

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นการทำเพื่อตัวเอง ขณะที่มีความหวัง หรือว่ามีความคิดว่าจะต้องทำเพื่อตน ขณะนั้นจะเป็นกุศลหรือ

    ท่านอาจารย์ บางคนก็บอกว่าเราต้องเป็นคนดี เราต้องไม่ฆ่าสัตว์ ต้องไม่ลักทรัพย์ เรา ก็เพื่อตัวเอง ที่เราจะต้องเป็นคนดี เราเป็นคนไม่ดีไม่ได้ เราจะไม่ทำอย่างนั้น เราจะไม่ทำอย่างนี้ นั่นคือมีตนเป็นใหญ่ แต่ว่าเป็นสิ่งที่ดี พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง ทรงแสดงสภาพธรรม ตามความเป็นจริง คนที่ไม่เข้าใจก็จะคิดว่าสั่งให้ทำอย่างนั้น หรือบอกให้ทำอย่างนี้ ฟังเหมือนจะเป็นอย่างนั้น แต่สิ่งที่ควรเจริญ ก็จะเปลี่ยนเป็นไม่ควรเจริญ หรือไม่ควรทำไม่ได้ สิ่งใดควรเจริญ ควรทำ ก็ทำ แต่ต้องมีความเข้าใจถูกประกอบกันทั้ง ๓ ปิฎก เราไม่ใช่เพียงแต่หยิบปิฎก ๑ ปิฎกใดขึ้นมา แล้วก็รวบรัดตัดความว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ จะต้องเป็นญาณวิปปยุตต หรือจะต้องเป็นอย่างนั้น แต่หมายความว่า เมื่อศึกษาธรรมต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ให้ละเอียดให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ความหมายที่แคบ ความหมายที่กว้าง ต้องเข้าใจด้วย หรือในที่นี้หมายความถึงอย่างไร รวมหรือแยกออกจากความหมายอื่น

    ผู้ฟัง ใน อาทิตตปริยายสูตร ท่านแสดงว่าเป็นการเจริญกุศลโดยมีการปรารภตน ชื่อว่าเป็นอัตตาธิปไตย ถ้ามีเป็นการเจริญกุศลโดยการปรารภผู้อื่น เรียกว่า โลกาธิปไตย ถ้ามีการเจริญกุศลโดยการปรารภธรรม เป็นธัมมาธิไตย เพราะฉะนั้น ก็เป็นได้ทั้ง ญาณสัมปยุตต แล้วก็ ญาณวิปปยุตต แต่ว่าบางคนเจริญกุศลโดยที่ไม่ได้ปรารภ อะไรเลย

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นหรือ ต้องมีตัวแน่ แต่ไม่ใช่เพื่อคนอื่นหรือเพราะคนอื่น หรืออะไร ที่จริงเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แม้แต่การที่จะใช้คำว่า พิจารณา โดยการที่ว่าถ้ายังมีความเป็นเราอยู่ เราก็จะเข้าใจความหมายเพียงว่า เป็นการพิจารณาด้วยเราเอง แต่ว่าถ้าเราศึกษา ได้ฟังธรรม ไม่ใช่ได้ฟังชาตินี้ชาติเดียว ฟังมานานหลายชาติแล้ว แล้วความเข้าใจในหลายๆ ชาติ สืบเนื่องมาจนถึงชาตินี้ ทำให้เราสามารถที่จะรู้ได้ว่า การเข้าใจธรรมของเราในขณะที่กำลังฟังแค่ไหน ถ้ามีการสะสมมามาก ฟังเท่านี้เราก็สามารถจะมีปัญญาระดับต่างๆ จนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันต์อย่างท่านปุณณกะได้

    เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดเป็นการตรวจสอบ แล้วความเข้าใจของเราก็ต้องละเอียดขึ้น เช่น ก่อนที่จะได้ฟังธรรม ทุกคนเห็น ทุกคนได้ยิน ทุกคนทำ ใช่ไหม การทำก็คือมีเราที่ทำ มีเราที่ไปโน่นมานี่ทำบุญ หรือว่าเรียนหนังสือ ทำกิจการงานต่างๆ ระหว่างที่ไม่มีความเข้าใจธรรมเลย ต้องเป็นความคิดอย่างนั้นว่า มีเราแน่นอน เพราะว่ามีสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้น ก็ยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นเรา แม้ในขณะที่เห็นชาติไหนก็ตาม หรือแม้ชาตินี้ ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ก็เรานั่นแหละเห็น ใช่หรือไม่ใช่ เราได้ยิน เราทำทั้งหมด จนกว่าจะมีการฟังพระธรรม

    ถึงแม้ว่ามีการฟังพระธรรมแล้ว ก็จะมีบุคคลบางคนที่เข้าใจว่าเป็นเราทำอยู่นั่นเอง เพราะเหตุว่าปัญญาไม่ถึงระดับที่สามารถจะรู้ จากการที่ศึกษาว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ลืมไม่ได้เลย ฟังแล้วว่าเป็นอนัตตา ก็ต้องเป็นอนัตตา จริงๆ โดยตลอด เพราะฉะนั้น ถ้าการประพฤติปฏิบัติ คล้อยตามปริยัติ คือมีความที่เข้าใจแน่วแน่มั่นคง ถูกต้องว่าไม่มีเรา เมื่อไม่มีเราแล้วทรงแสดงปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น ไม่ว่าที่ไหน ขณะไหนก็คือจิต เจตสิก รูป นั่นเองที่ทำ หน้าที่ของจิต เจตสิกต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่เห็น แม้ว่าการพิจารณาอีกระดับหนึ่ง ยังไม่เกิด แต่ระดับขั้นฟัง เริ่มที่จะพิจารณา และเข้าใจว่าขณะนี้ไม่ใช่เรา โดยชื่อใช้คำว่าจิต เจตสิกที่เห็นที่ทำกิจหน้าที่ของจิต เจตสิกนั้นๆ นี่คือความเข้าใจขั้นต้น ก็คือการพิจารณาเรื่องราวของสภาพธรรม ตามที่ได้ยินได้ฟัง ต้องถูก และต้องไม่ลืม แล้วต้องไม่สับสน คือไม่ว่าจะพูดถึงพระสูตร หรือไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องราวอะไร ก็ต้องไม่ลืมว่าเป็นธรรมที่เป็นจิต เจตสิก ที่สามารถจะเห็น สามารถที่จะคิด สามารถที่จะกระทำกิจต่างๆ สามารถที่จะพิจารณา แม้ขณะที่กำลังพิจารณาก็ไม่ลืมอีก ว่าต้องเป็นจิต และ เจตสิก มิฉะนั้นเดี๋ยวก็ลืม อย่างที่เคยพูดถึงบ่อยๆ อีกไม่นาน ประมาณสักอีกชั่วโมงหนึ่งเราก็จะลืม ถึงเวลาลืมปรมัตถธรรม หรือว่าถึงเวลาลืมธรรมแล้ว พอเพียงพ้นประตูไป ก็ถึงเวลาที่จะลืมเรื่องราวของธรรม แต่ระหว่าง ที่เราอยู่ตรงนี้ การฟังบ่อยๆ ไม่ว่าชาติไหน สะสมทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจขึ้นๆ ในลักษณะของสภาพที่ไม่ใช่เรา เป็นปรมัตถธรรม แม้กำลังพิจารณา แต่นี้ก็เป็นความเข้าใจก่อน เข้าใจจนกว่าจะถึงขณะที่ ที่สภาพธรรมปรากฏในขณะนี้ เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาเพราะจิตเห็น หรือว่าเสียงที่กำลังปรากฏ ทางหู เพราะจิตได้ยิน นี่เริ่มเห็นแล้ว จากไม่มีอะไร แล้วก็มีขึ้น อย่างน่าอัศจรรย์มาก เสียง ทำไมปรากฏได้ เสียงไม่มีรูปร่างเลย แล้วปรากฏกับสภาพที่ไม่มีรูปร่างเหมือนกันคือจิต ซึ่งเป็นสภาพที่ได้ยินเสียง

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาตัวธรรมจริงๆ ก็จะเห็น ความน่าอัศจรรย์มาก แต่นี่คือกำลังพิจารณา จนกว่าขณะใดที่มีเหตุปัจจัยที่จะให้สัมมาสติเกิด ผู้นั้นจะรู้ว่าแม้ขณะที่เคยเห็น เคยได้ยินแล้วก็เคยเข้าใจจากขั้นคิด ขั้นพิจารณาว่าเป็นแต่เพียง จิต เจตสิก เท่านั้น ก็จริง หรือว่าจะพิจารณาว่าเพราะมีอายตนะ ต้องมีรูปซึ่งกรรมทำให้เกิดดับ แล้วก็กระทบกับรูปภายนอก เช่น โสตปสาทรูป กระทบกับสัททรูป คือเสียง แล้วยังไม่ดับ ทำให้เกิดจิตได้ยินเท่านั้น นี้คือทางหนึ่ง ต่างกับทางตา ต่างกับทางจมูก ต่างกับทางลิ้น ต่างกับทางกาย นี่คือสิ่งที่กำลังพิจารณา จนถึงปัญญาระดับ ๑ ซึ่งสามารถที่จะเข้าใจถูกต้องได้ว่า เคยเป็นเสียงที่ปรากฏกับโสตวิญญาณ เท่านั้น แต่ภายหลังสติเกิด จึงเสียงนั้นปรากฏกับสติ เพราะฉะนั้น จะรู้ได้ว่ามีปัจจัยที่จะทำให้สัมมาสติเกิดหลังจากที่ได้ยินแล้ว ไม่ใช่เพียงได้ยินธรรมดา แต่ว่าเมื่อฟังธรรมมีความเข้าใจขึ้น รู้ว่าสติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสติ ความลึกของสภาพธรรม ที่เป็นแต่เพียงนามธรรม แต่ว่านามธรรมที่เคยผ่าน ก็เข้าใจโดยขั้นปริยัติ ที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แต่เวลาที่สัมมาสติเกิด ผู้นั้นก็จะรู้ว่ามีปัจจัยที่จะทำให้มีการระลึก เพราะฉะนั้น สิ่งที่เคยปรากฏนั้น เป็นปกติ ก็ปรากฏกับสติที่ระลึก แทนที่จะเป็นเรื่องเป็นราวต่อไปทันที

    การศึกษาธรรม และการปฏิบัติที่คล้อยตามปริยัติ คือไม่ผิดจากปริยัติเลย ความเข้าใจต้องอบรมจนกระทั่งเป็นปัญญาที่รู้จริงๆ จึงจะละความเป็นตัวตนได้ แต่ต้องเมื่อสภาพธรรมนั้นปรากฏ ตามความเป็นจริงตามระดับขั้นของปัญญา ที่สามารถจะเห็นสภาพนั้น โดยความที่ไม่ใช่ตัวตน ทั้งหมดที่เราเรียนเพื่อถึงจุดที่ประจักษ์แจ้งว่าสภาพธรรม เป็นสภาพธรรม ที่ไม่ใช่เราจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ ถ้าจะถามว่า เป็นเรื่องที่จะพิจารณา ก็จะต้องมีตั้งแต่พิจารณาขั้นฟัง แล้วก็พิจารณาไปจนกว่า สภาพธรรมปรากฏ แม้สภาพธรรมปรากฏก็ยังจะต้อง มีนามธรรมที่พิจาณาซึ่งไม่ใช่เราอีกต่อไป ค่อยๆ เป็นการรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเพิ่มขึ้น จึงจะเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว ในโลกไหนๆ เพราะฉะนั้น ลองคิดดู ความไม่หวั่นไหวจริงๆ ทั้ง ทางตา ไม่ใช่ยังสงสัยอยู่ ทั้งทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แม้แต่ความคิดนึก แม้แต่ความต้องการผลของการปฏิบัติ แม้แต่ความเห็นผิด ด้วยความเป็นสีลัพพตปรามาส ที่จะทำอย่างโน้นนิด ที่จะทำอย่างนี้หน่อย เคลื่อนไปจากการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ล้วนแต่เป็นธรรมทั้งหมด จึงไม่หวั่นไหว เพราะฉะนั้น ต้องถึงวันนั้น จึงจะไม่หวั่นไหว

    . ความไม่หวั่นไหว ในโลกไหนๆ ในที่นี้ถ้าจะสรุป คือ ในขณะนั้นสัมมาสติเกิด ระลึกรู้สภาพธรรม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะว่าที่จริงที่เป็นโลก ตลอด ชีวิตทุกชาติก็ไม่พ้นจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเกิดดับสืบต่อเร็วมาก เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถจะรู้จริงๆ หรือเกิดการระลึกหรือพิจารณาขึ้นบ้าง ว่าเรื่องราวทั้งหมดก็คือชั่วขณะที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเท่านั้นเอง แล้วก็เวลาที่ดับ ก็ดับไปเลย ดับหมดจริงๆ แล้วก็มีการเกิดอีกเรื่อยๆ นี่คือโลก ความหมายของสภาพธรรมที่เกิดดับ

    โลก คือ ทั้ง ๖ ทวาร

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่เกิดดับ

    ผู้ฟัง ต่อไปอีก ดิฉันยังติดใจ คำว่าพิจารณาฝั่งนี้ และฝั่งโน้น ช่วยขยายคำว่า อัตตภาพถือว่าเป็นเราคืออะไร

    ท่านอาจารย์ เวลาที่มีความเห็นว่าเป็นเรา แล้วก็เป็นคนอื่น เป็นกิเลสหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ หวั่นไหวไหม

    ผู้ฟัง หวั่นไหว

    ท่านอาจารย์ ใช่ แล้วก็ถ้าเป็นอย่างนี้ จะพ้นไปได้ไหม จะสงบได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่รู้เพราะ พิจารณา

    ผู้ฟัง มันก็สอดคล้องกับวรรคแรก ขอบคุณ

    ผู้ฟัง ขอความกรุณาอาจารย์ช่วย อธิบาย ตรงรู้ ตรงนี้ มันกว้างมากเลย

    ท่านอาจารย์ จากการศึกษาทราบว่าไม่มีตัวตนไม่มีคนไม่มีสัตว์ ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป แต่เพราะว่ามีจิต เจตสิก รูป จึงสมมติเรียกว่าเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นวัตถุ สิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นธรรมที่มีจริงแม้ว่าไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลยทั้งสิ้น แล้วก็มีลักษณะเฉพาะธรรมแต่ละอย่าง เช่น นามธรรมก็เป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ ซึ่ง มี ๒ อย่างคือจิต เป็นใหญ่ เป็นประธาน เฉพาะในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ส่วนเจตสิกก็เป็นสภาพธรรม ที่เกิดกับจิต ไม่มีจิตซึ่งไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เวลาที่มีจิตเกิดต้องมี เจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง แล้วแต่ว่าจะเป็นเจตสิกประเภทดี ประเภทชั่ว ประเภทกลางๆ ก็แล้วแต่ ก็ทำให้จิตนั้นมีสภาพต่างๆ กันไป ซึ่งถ้าไม่รู้อย่างนี้ก็เป็นเราตลอดชาติ แต่ว่าตามความจริงเป็นธรรม ซึ่งจะต้องฟังให้เข้าใจ แล้วแม้ในขณะนี้ ก็กำลังเข้าใจเรื่องที่กำลังพูด แต่ตัวธรรมจริงๆ กำลังปรากฏเฉพาะหน้า ตากำลังเห็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ อยู่เดี๋ยวนี้ เสียงที่กำลังมีจริงๆ ก็เพราะมีจิตได้ยิน เสียงนี้จึงปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นธรรมซึ่งเราเริ่มรู้ว่า ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ ไม่มีทางที่จะพ้นทุกข์ เพราะว่าแหล่งของทุกข์ต้องมาจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ถ้าไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้เลย ไม่มีการเกิดเลย ทุกข์ไม่มี ทุกข์ใดๆ ก็ไม่มี แต่สิ่งที่เราคิดว่าเป็นสุข ที่เราต้องการูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง เพราะว่าเราไม่รู้ความจริง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด มีปัจจัยจึงเกิด ถ้าไม่มีปัจจัยปรุงแต่งจะเกิดไม่ได้เลย แล้วเมื่อเกิดแล้ว ดับ ดับคือไม่กลับมาอีกเลย ทุกขณะตั้งแต่ขณะแรกของชีวิต ที่เกิดขึ้น คือ ปฏิสนธิจิต ไม่ได้มีอีกเลย แล้วก็สืบต่อมาตั้งแต่เล็ก จนกระทั่งจนถึงวันนี้ สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดแล้วก็ดับจริงๆ คือไม่กลับมาอีก

    เพราะฉะนั้น ก็มีสภาพธรรม ที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดอีกไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีการรู้ว่าเป็นธรรมก็เป็น เรากี่ภพกี่ชาติก็เป็นเราแล้วก็จะเป็นเราต่อไปอีก ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสรู้ ความจริง ทรงแสดงธรรมให้ผู้ที่ฟัง สามารถฟังด้วยความสนใจ ตั้งใจสดับจริงๆ ที่จะให้เข้าใจความจริงๆ ของสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง

    เพราะรู้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แม้มีจริง แต่ก็ลึกซึ้งมาก จึงเห็นยาก เช่น ขณะที่สภาพธรรม กำลังเกิดดับ ขั้นฟังก็มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าเห็น ไม่ใช่ได้ยินแน่นอน ต้องอาศัยตา คือจักขุปสาท แล้วก็คนที่ไม่มีจักขุปสาท แม้ว่ามีโสตปสาทก็ได้ยิน แต่ไม่เห็น เพราะฉะนั้น จะเป็นขณะเดียวกันจะเป็นอย่างเดียวกันเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้ เป็นจิตคนละขณะแล้ว ก็ตามความเป็นจริงก็ไม่มีใครเลย เป็นสภาพธรรมที่อาศัย ปัจจัยเกิดแล้ว ดับ ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง แล้วการศึกษาธรรม ไม่ใช่ว่ารีบร้อนที่จะทำอะไร แต่ว่าผู้นั้นจะต้องมีความเข้าใจจริงๆ ว่าแม้ในขั้นฟังขั้นต้นอย่างนี้ เริ่มเข้าใจถูก ว่าไม่มีสภาพธรรมที่เป็นเราที่เที่ยง ที่เป็นคนหนึ่งคนใด มีแต่ความคิด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567