ปกิณณกธรรม ตอนที่ 557


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๕๗

    สนทนาธรรม ที่ หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ อภิสมัย คือ ขณะที่ตรัสรู้อริยสัจธรรม สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมมีนิพพานเป็นอารมณ์ เราไม่ต้องไปคำนึงไกลถึงขนาดนั้น เพียงแต่ว่าให้เข้าใจความหมายของ จิรกาลภาวนา ว่าเป็นการอบรมที่ยาวนานตั้งแต่ขั้นการฟังด้วยดี ด้วยความเข้าใจจริงๆ ด้วยการรู้ว่าธรรมต้องสอดคล้องกัน เมื่อธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วโลภะเป็นสมุทัย ก็จะต้องไม่มีความอยากที่จะทำ อยากที่จะรู้ อยากที่จะให้สติเกิด อยากที่จะให้ผลเกิด เพราะว่านี่เป็นเครื่องกั้น ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งจึงเห็นยาก แม้แต่หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ก็ต้องให้ทราบว่าขณะใดที่หลงลืมสติ จะต่างกับขณะที่สติระลึก ไม่ใช่เราทำ ซึ่งข้อความในพระสูตร อาจจะ มีข้อความว่าเพียร เหมือนกับไฟไหม้บนศีรษะบ้าง หรือว่าจนเลือด เนื้อ กระดูกจะเหือดแห้งไปบ้าง แต่นั้นคือคำที่ เป็นวิริยารัมภกถา กถาที่ให้มีวิริยะ ให้มีความเพียรอย่างนั้น แต่ไม่ใช่หมายความว่าเดี๋ยวนั้น ทำอย่างนั้น แต่ให้รู้ว่ากว่าจะถึงอย่างนั้นได้ ต้องเป็นการอบรมเจริญนานมากทีเดียว ในขณะนี้ที่กำลังฟัง มีวิริยะแล้ว คือ รู้ว่าเราต้องเพียรอีกมาก ขณะที่รู้ว่าเราต้องเพียรอีกมาก คือ วิริยารัมภกถา ให้เห็นว่าต้องเพียร แต่ไม่ใช่ว่า พยายามที่จะให้เกิดปัญญาเดี๋ยวนี้ หรือว่าหาวิธีที่ว่าวันไหน ปัญญาจะเกิดขึ้น ไม่ใช่ แต่เพียรที่นี่ถ้าจะกำกับลงไป คือ ละโลภะด้วย ถึงจะเป็นทางที่ถูกต้อง ตั้งแต่เบื้องต้นทีเดียว ต้องพร้อมกับการละโลภะ หรือความต้องการ และรู้ว่าเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ อาศัยการฟัง แล้วก็มีความเข้าใจในขณะนี้ ว่าสภาพธรรม ไม่ขาดไปเลยสักขณะเดียว เป็นธรรมทั้งหมด แล้วเวลาที่สติเกิด คือ ขณะนั้นระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมโดยมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นการละ เป็นหนทางที่จะนำ ไปสู่การที่ไม่มีเรา ที่จะทำ หรือเราที่จะปฏิบัติ

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวบอกว่า รู้ว่าหลงลืมสติ แสดงว่าขณะนั้น เรารู้ว่าโมหะเกิด ไช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่สติไม่เกิด ขณะนั้นก็หลงลืมสติ

    ผู้ฟัง แต่ว่าเป็นโมหะ คือไม่ใช่โลภ ไม่ใช่โทสะ

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าเป็นโมหะ หรือ

    ผู้ฟัง ดิฉันหมายความ จะเป็นอย่างนั้นใช่ไหม ดิฉันรู้ว่าหลง

    ท่านอาจารย์ ไม่มีโลภะ หรือ

    ผู้ฟัง ประกอบด้วย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอกุศลขณะใดก็ต้องมีอวิชชาความไม่รู้ขณะนั้น

    ผู้ฟัง สังขารของร่างกาย กับ สังขารในขันธ์ ๕ ต่างกันอย่างไร ขอให้อธิบายให้แจ่มแจ้งด้วย เพราะมักจะเข้าใจผิดกันว่า สังขารคือร่างกายเรานี้ แล้วก็สังขารในขันธ์ ๕ จะรวมกันสับสนมาก

    ท่านอาจารย์ คำว่า สังขาระ หมายความถึง สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง สังขาระ แปลว่าปรุงแต่ง เมื่อปรุงแต่งแล้วเกิดก็เป็นสังขตธรรม เกิดแล้วปรากฏแล้ว แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น สังขาระ กับ สังขต ก็ความหมายคล้ายคลึงเหมือนกัน คือ สิ่งที่เกิดต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง

    เพราะฉะนั้น ถ้าการศึกษาธรรม คำแรกกับคำท้ายต้องตรงกันหมดเลย สังขารธรรมที่ไหนๆ ก็ต้องเป็นสังขารธรรม อะไรก็ตามที่เกิดเป็นสังขารธรรมทั้งนั้น เพราะว่าไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็ไม่เกิด หรือว่าเมื่อเกิดก็หมายความ แสดงว่า มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิด ถ้าไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็เกิดไม่ได้ แล้วเมื่อปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น อะไรๆ ทั้งหมด ใช้คำว่าทั้งหมด ไม่ว่าโลกนี้ โลกไหน เทวโลก พรหมโลก มารโลก หรือว่าในอบายภูมิ ที่ไหนก็ตาม สภาพธรรมใดที่มีเกิดปรากฏ สภาพธรรมนั้นเป็นสังขารธรรม นี้คือความหมายที่กว้างมากของสังขารธรรม ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ เป็นสังขารธรรม ถ้าไม่เป็นสังขารธรรม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น ก็ไม่ปรากฏ แต่เมื่อปรากฏ ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง แล้วเกิดขึ้นปรากฏ เสียงเป็นสังขารธรรม เพราะเสียงเกิดขึ้นปรากฏ กลิ่นเกิดขึ้นปรากฏ รสเกิดขึ้นปรากฏ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดปรากฏ เพราะปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นเป็น สังขารธรรม

    แต่สังขารธรรม ก็จำแนกเป็นขันธ์ ๕ คือ สภาพธรรม ที่ไม่ใช่สภาพรู้ทั้งหมด ไม่ว่าจะใน อดีต หรือ ปัจจุบัน หรือ อนาคต ไม่ว่าจะเป็นรูปชนิดหนึ่ง ชนิดใด ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เช่น เสียง กับกลิ่น เป็นรูป ๒ รูป เสียงก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย กลิ่นก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย กลิ่นหอมก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง กลิ่นไม่หอมก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง รสหวานก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง รสเค็มก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง รสใดๆ กลิ่นใดๆ รูปใดๆ ทั้งหมดเป็น รูปขันธ์ คือไม่เป็นอื่น ต้องเป็นกอง หรือส่วน หรือหมวด หรือประเภทของรูปนั่นเอง ซึ่งจะสวย จะงาม จะน่าเกลียด จะอะไร ก็คือ รูป เป็นรูปขันธ์เท่านั้น เพราะเหตุว่า ไม่ใช่สภาพ รู้ นี่คือขันธ์ที่ ๑ ใน ๕ ขันธ์

    เวทนาขันธ์ คือความรู้สึกเมื่อวานนี้ วันนี้ พรุ่งนี้ จะเสียใจ จะดีใจ จะสุข จะทุกข์อย่างไรก็ตาม ก็เป็นสภาพของเจตสิก หรือธรรม ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นความรู้สึกไม่ว่าจะในกี่ชาติมาแล้ว ก็มีแค่โทมนัส โสมนัส สุข ทุกข์ กาย ใจ หรือเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เป็นสภาพที่เป็น เวทนาขันธ์ เป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ เป็น รูปขันธ์ ๑ เป็นนามขันธ์ ๔ ในนามขันธ์ ๔ ก็ได้แก่ จิต และเจตสิก เวทนาขันธ์ เป็นเจตสิก ๑ ในเจตสิก ๕๒

    สัญญาขันธ์ เป็นเจตสิก ๑ ในเจตสิก ๕๒

    สังขารขันธ์ ได้แก่เจตสิก ๕๐

    เพราะฉะนั้น ความต่างกันของสังขารธรรม กับสังขารขันธ์ก็คือ สังขารธรรมรวมจิต เจตสิก รูป ทั้งหมด

    ส่วนสังขารขันธ์ หมายเฉพาะ เจตสิก ๕๐ เท่านั้น สำหรับจิตก็เป็นวิญญาณขันธ์

    คุณหญิง คงจะหมายความว่า ให้เน้น ความต่างของสังขารของคน ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมเลย เขาคิดถึงแต่เฉพาะร่างกาย ว่าสังขารไม่เที่ยง ก็คือ เกิดมา ตัวเล็กๆ แล้วก็โตขึ้น ในที่สุดก็แก่ ในที่สุดก็ตาย ก็เข้าใจว่าเฉพาะร่างกายอย่างเดียว

    แต่ในพระธรรม สังขาร หมายความถึง สภาพธรรม ทั้งหมดที่เกิด ไม่ใช่แต่เฉพาะที่ร่างกายนี้ เท่านั้น อะไรก็ตามที่ปรากฏ นั้น เป็นสังขาร เพราะเกิดจึงได้ปรากฏ

    แต่สังขารขันธ์หมายเฉพาะเจตสิก ๕๐ เว้นเวทนาเจตสิก กับสัญญาเจตสิก

    เพราะฉะนั้น คนหนึ่งๆ มี ๕ ขันธ์ คือรูปขันธ์ก็มี ที่บอกว่าสังขารไม่เที่ยง ไม่ใช่หมายเฉพาะรูปอย่างเดียว ทั้ง ๕ ขันธ์ ทั้งเวทนาก็ไม่เที่ยง สัญญาก็ไม่เที่ยง สังขารขันธ์ก็ไม่เที่ยง วิญญาณขันธ์ก็ไม่เที่ยง ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยงทั้งหมด

    ผู้ฟัง แสดงว่าผู้ที่อบรมเจริญปัญญา เจริญสติปัฏฐาน นี่จะต้องรู้จัก ลักษณะของสัมมาสติ ก่อน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ผู้นั้นสามารถที่จะรู้ว่าขณะใด เป็นความถูกต้อง เป็นปัญญาที่รู้ว่าขณะนั้นเป็นสติ

    ผู้ฟัง แต่ว่าถ้าสติปัฏฐาน ยังไม่เคยเกิด แล้วจะรู้ลักษณะของสัมมาสติจริงๆ ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ มีการฟังมาก่อน หรือเปล่า อยู่ดีๆ สติปัฏฐาน จะเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ในที่นี้หมายถึงว่า รู้เรื่องลักษณะของสติ

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะนั้นสติมีลักษณะระลึกหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน จะรู้ลักษณะของสติไม่ได้เลย เช่น ขณะที่ให้ทาน ขณะนี้ ที่กำลังฟังธรรมสติเกิด ไม่มีใครรู้ลักษณะของสติเลย ถ้าสติปัฏฐานไม่ระลึก

    ผู้ฟัง แต่ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด ก็ไม่มีลักษณะของสติปรากฏ นี่

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นกุศลจิตระดับอื่น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น สำหรับเหตุใกล้ให้เกิด สัญญาที่มั่นคง สัญญาที่จำในลักษณะของธรรม ก็หมายถึงว่า จำเรื่องลักษณะของธรรม ก่อนหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ด้วยความเข้าใจหรือเปล่า การฟัง อย่าลืมว่าไม่ใช่ฟัง จำชื่อ ไม่ใช่เรื่องจำชื่อ แม้แต่คำว่า ธรรม ไม่ใช่ให้จำคำ ธรรม แต่ที่บอกว่าทุกอย่างเป็นธรรม หมายความว่าเป็นธาตุ หรือ ธา-ตุ เป็นสิ่งที่มีจริง

    ธรรม คือสิ่งที่มีจริง ขณะนี้เรากำลังศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง ที่มีจริงในขณะไหน ในขณะที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ขณะที่ดับไปแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น ขณะที่ทุกคนรู้สึกเหมือนกับว่าไม่มีการดับเลย ปรากฏอยู่ตลอดเวลา ให้ทราบว่าตามความเป็นจริงแล้ว สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง คำนี้จะต้องถึงขั้นประจักษ์ แต่ในขั้นฟังให้ทราบว่า สังขารทั้งหลายไม่เว้นเลย สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป ไม่เที่ยง

    เพราะฉะนั้น อาศัยการฟัง เข้าใจว่าเป็นธรรม ก็จะทำให้ระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นธรรมมีจริงๆ กำลังปรากฏ ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งหนึ่ง ซึ่งปรากฏทางตา แต่การฟังด้วยความเข้าใจในคำที่ได้ยินโดยถูกต้อง นั่นคือการเข้าใจเรื่องราว ต้องเป็นปัญญาระดับหนึ่ง เพราะมีปัญญา ความเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม เป็นปัจจัยให้สติระลึกลักษณะของธรรม เพราะว่าเรื่องราวนั้น แสดงลักษณะของสติ แสดงลักษณะของธรรม

    ผู้ฟัง ทั้ง ๒ ขั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ ปัญญาที่เข้าใจ ธรรม แต่สติปัฏฐานไม่เกิด ต่างกับขณะที่สติปัฏฐานระลึก ศึกษาลักษณะ มีลักษณะให้เข้าใจ แต่นี่มีลักษณะปรากฏ แต่ไม่มีการระลึกลักษณะ เพราะฉะนั้น ก็จะเข้าใจลักษณะไม่ได้ เพียงแต่เข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม มีความเข้าใจถูกต้องแล้วไม่หลงลืม

    ผู้ฟัง ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ปรมัตถธรรม ไม่ว่าเสียง หรือว่าได้ยิน ขณะนั้น เหมือนว่าสติไม่ได้ระลึก เพราะมันไประลึกที่สภาพธรรมแล้ว

    ท่านอาจารย์ พูดอย่างไร เหมือนกับว่าสติไม่ได้ระลึก เพราะมันไประลึกที่สภาพธรรม

    ผู้ฟัง สติไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่สติระลึก ต้องต่างกับขณะที่ไม่ระลึก หมายความว่า ขณะนั้นสติปรากฏแล้ว เพราะระลึกแล้ว

    ผู้ฟัง การประจักษ์แจ้ง ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานี้ รู้สึก เข้าใจ แต่ว่าถ้าจะประจักษ์ ความเป็น อสุภะ นี้จะมีความเข้าใจอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย นี่เรื่อง ชื่อทั้งหมดเลย แล้วเวลาที่เราศึกษาธรรม เราไปศึกษาชื่อก่อน แล้วก็พยายาม หาตัวอย่าง หาอะไรๆ มา แต่นั้นไม่ใช่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือ ขณะนี้ ธรรมมี แล้วไม่เคยรู้ เมื่อฟังธรรมก็รู้ขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่อสุภะ มีไหม คนตายมีไหม เป็นของจริงหรือเปล่า ถ้ามีจริงขณะนั้น มีสติที่ระลึกหรือเปล่า เท่านั้นเอง

    ไม่จำเป็นต้องไปใส่ที่หมวดไหนอย่างไร แล้วพยายามที่จะไปหา มันเป็นอย่างไรหรืออะไร แต่ว่าจริงๆ แล้วก็คือว่า

    อสุภะ มี ซากศพมี ถ้ามี เป็นธรรมหรือเปล่า แค่นี้ ตรงกับที่ตั้งต้นไว้ ว่าทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ขณะที่เป็น อสุภะ เป็นธรรมหรือเปล่า เมื่อเป็นธรรม มีการที่สติเกิดหรือเปล่า แล้วถ้าสติขณะนั้นเกิดระลึกอะไร ที่จากเดิมเคยคิดว่าเป็นศพ เป็นซากศพ เป็นอะไร แต่ความจริงก็คือสภาพธรรม แต่ละอย่างซึ่งปรากฏแต่ละทาง

    เพราะฉะนั้น ก็จะไม่มีความสงสัยว่าทำไมสิ่งนี้จึงมีอยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือว่าเป็นหมวดต่างๆ เพราะเหตุว่าสภาพธรรม ทั้งหมดเป็นธรรม แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีการระลึกไหม มิฉะนั้นถ้าเอาอสุภะ ออกไป ความยึดถือว่าเป็น กายในขณะนั้น เอาออกจาก กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้วเวลาที่เห็นอสุภะ คนนั้นจะทำอย่างไร ระลึก หรือไม่ระลึก ไม่ใช่เป็นเรื่องไปดูหนังสือ แล้วมาทำ อย่างบางคน ก็จะอ่านหนังสือ นั่ง จะรีบไปนั่ง เหลียว ก็เลย เหลียว ทำเหลียว ก็เหลียวอยู่เป็นปกติ เมื่อเหลียวขณะใด สติจะเกิดระลึก ก็ระลึกขณะนั้น ถ้าสติไม่เกิดก็ไม่ระลึก เป็นชีวิตประจำวัน ตามปกติธรรมดาแล้วทรงแสดงว่าเป็นธรรมด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องไปทำเหลียว ไปทำคู้ ไปทำเหยียด ไปทำนั่ง ไปทำนอน ไปทำยืน ไปทำเดิน ไม่ใช่ สิ่งที่มีอยู่ในขณะนี้ เป็นความจริง ขณะนี้ ซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วดับทันที จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อปัญญาสมบูรณ์ ถึงระดับขั้น ที่จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป

    ผู้ฟัง อสุภะ มีจริงไหม

    ท่านอาจารย์ ในโลกนี้มี ซากศพ หรือไม่มีซากศพ

    ผู้ฟัง มีรูป

    ท่านอาจารย์ ก็ใช่ทั้งหมด เป็นรูป จึงได้ทรงแสดงไว้ ไม่ว่าเราจะเรียกอะไร ก็ตามทั้งหมด สภาพของรูป ก็คือสิ่งที่มีจริง แต่ไม่รู้ อะไร ไม่สามารถจะรู้อะไรได้

    ผู้ฟัง แต่ อสุภะ ที่เรารู้ เพราะเราคิด

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกัน ที่ตัว มีตัวเพราะเราคิด หรือเปล่า ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม จะมีไหม แต่เมื่อมีปรมัตถธรรมแล้ว ไม่รู้ จึงเข้าใจว่านี่เป็นตัวเขา นี่เป็นตัวเรา นั่นเป็นตัวเขา แล้วเขาตาย ก็มีความเป็นรูปร่างกาย ที่ปรากฏให้รู้ว่า นี่เป็นรูปเขาไม่ใช่รูปอื่น ศพนี้ ไม่ใช่ศพนั้น ถ้าไม่ประจักษ์การไม่เที่ยง ก็ยังเป็นเรา ดี กุ-ศล ดีงาม

    ผู้ฟัง ก็ประจักษ์ ความไม่เที่ยงใน นามธรรม ก็เป็นการประจักษ์ อสุภะ ด้วยหรือ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าต้องละทั้ง ๔ ให้ทราบว่า จิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะ อันนี้ลืมไม่ได้เลย แล้วจิต ขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลย ขณะนั้น มืด หรือสว่าง แต่เป็นธาตุรู้ เห็นไหมว่าจะต้องเข้าถึงลักษณะของธาตุซึ่งไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น มิฉะนั้น นามธาตุก็ไม่ปรากฏว่าเป็นนามธาตุ ยังคงเป็นเราคิด เรานึก เราเห็น เราได้ยิน แม้แต่คิดขณะนี้ก็ยังมีรูปที่นั่ง อยู่ แล้วก็มีใจ แล้วก็บอกว่าเป็นใจของเราที่คิด แต่ตามความเป็นจริงถ้าเป็นนามธาตุแท้ๆ อย่างอื่นจะเจือปนไม่ได้เลยทั้งสิ้น

    แต่การที่นามธาตุจะปรากฏ โดยความเป็นนามธาตุ ปรากฏกับปัญญาที่อบรมเจริญแล้ว เพราะฉะนั้น จึงมีการที่ประจักษ์ลักษณะที่ต่างกันของนามธาตุ กับ รูปธาตุ แต่ละลักษณะของรูปธาตุ ในขณะนั้นจะไม่มีสมมติบัญญัติใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเลย เพราะเหตุว่าขณะนั้นปรมัตถธรรม ปรากฏตามความเป็นจริง ว่าลักษณะนั้น เป็นธาตุ หรือเป็นธรรม หรือเป็นสิ่งที่มีจริงเท่านั้น ก็จะไม่มีสมมติบัญญัติ เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก่อนที่จะถึงอย่างนั้น เราเคยยึดถือว่านี่รูปของเรา นั่นเป็นเขา เพราะว่ามีรูปร่างของเขาอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่มีศพ อสุภะ นี่ใช้คำว่า อสุภะ ก็หมายความถึง วิกลวิการไปจากปกติแล้ว เป็นสิ่งซึ่งน่ารังเกียจ แม้แต่มารดา บิดาซึ่งเป็นที่รัก ก็ทอดทิ้งไป ไม่สามารถที่จะอยู่ต่อไปได้

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่าสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถ แต่ว่าเพราะความไม่รู้ สภาพธรรมนั้นๆ จึงเป็นบัญญัติ แต่บัญญัติด้วยความเห็นว่าเป็นกาย จึงอยู่ในประเภทของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ไม่ต้องไปติดกับชื่อไม่ต้องไปติดกับหมวด ไม่ต้องไปติดกับอะไรทั้งนั้น แต่ให้ทราบว่าถ้าปัญญาเกิด ขณะนั้นไม่มีหมวด ไม่มีชื่อ ไม่มีอะไรเลย มีแต่สภาพธรรมที่ปรากฏกับปัญญาเท่านั้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ให้ความต่างกันนั้น อสุภะที่เป็นภาวนา ที่เป็นสมถภาวนา กับ วิปัสสนาภาวนา ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จุดประสงค์ก็ต่างกันแล้ว ต่างกันที่จุดประสงค์

    ผู้ฟัง สำหรับ อสุภะ ที่เป็น วิปัสสนาภาวนา ความจริงก็เป็น อสุภะ แต่ว่า ระลึกเพื่อให้คลายจากความยึดถือว่า เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่เป็น อสุภะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็น วิปัสสนา เคยเห็นว่าเป็นคนตาย คนเป็นอย่างไรก็ตามแต่ แต่เวลาที่สติระลึก ก็ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม แต่ก่อนนั้นเคยเป็นกาย ที่เราใช้คำว่า ศพ อสุภะ ก็คือ กาย ร่างกาย เพราะฉะนั้น เขาเคยยึดถือว่าเป็นคนนั้นก่อนนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อมีสติระลึกรู้สภาพธรรมอะไรก็ตาม ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ก็คือว่า ตามความเป็นจริงเป็นสภาพธรรม ส่วนบัญญัติ จะคิดว่าเป็นอะไรนั้น ก็เป็นเรื่องของบัญญัติ

    ผู้ฟัง ทาน ศีล สมาธิ จะช่วยเกื้อกูลให้การปฏิบัติสติปัฏฐานดีขึ้นไหม

    ท่านอาจารย์ โดยมากทุกคนก็หวัง ถ้าไม่มีก็หวังว่าทำอย่างไรจะมี แต่ทำไมไม่คิดถึงเรื่อง ความรู้ ความเข้าใจ ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องไปหวังศีล หวังทาน หวังสมาธิใดๆ แต่ว่าความเข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ จะเกิดได้อย่างไร เอาต้นเหตุก่อน ว่าเราไม่เคยรู้มาก่อนเลย เรื่องสภาพธรรม ไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย แต่สภาพธรรม ก็มีปรากฏ ตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วไม่รู้ แล้วการที่จะรู้ว่าเป็นธรรม แล้วการที่จะเข้าใจธรรมขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมได้ จะโดยวิธีใด ตรงที่สุด ตรงที่สุดคืออะไร ที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม ทั้งๆ ที่แต่ก่อนนี้ก็มีธรรมปรากฏ แต่ไม่ เคยรู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ว่าเป็น ธรรม ทำอย่างไร อาศัยอะไร จึงรู้ได้ คนที่ให้ทานก็มีตั้งมากมายไป คนที่ศีลดี อยู่ในป่าก็มากมายไป แต่เขาจะทำให้เรา สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ไหม เพราะฉะนั้น อะไรกันแน่ ที่เป็นปัจจัยที่จะทำให้ สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ได้

    ผู้ฟัง ทำอย่างไร มันก็ไม่ออกมา นึกอย่างไร สติไม่ทันสักที

    ท่านอาจารย์ ยังหวังอยู่ ตราบใดไม่มีทางที่สัมมาสติจะเกิดได้ จะใช้วิธีอื่น แสนล้านวิธีอย่างไรก็ ไม่สามารถที่จะให้สติปัฏฐาน เกิดได้ เพราะว่ายังมีความหวังเป็นเครื่องกั้น

    ผู้ฟัง ถ้าไม่หวังเลย ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ไม่มีฉันทะ

    ท่านอาจารย์ เพราะคิดอย่างนี้ โลภะ ถึงได้ดึงไว้ให้อยู่ในสังสารวัฎ วนเวียนจนไม่เจอทางออก เพราะว่า มีแต่ความหวังอยู่ตลอดเวลา ไม่มีทางเลย ที่จะละความหวังอันนั้น แต่ขอให้ทราบตามความเป็นจริง

    วันนี้ก็ได้รับฟังจากท่านที่รับฟังรายการธรรมทางวิทยุ ท่านก็ขออนุโมทนาด้วย ที่ช่วยทำให้ท่านเปลี่ยนจากเดิม แสดงให้เห็นว่า ถ้าเรามีความเข้าใจธรรม ทานของเราจะเพิ่มไหม อย่างท่านหนึ่ง ท่านก็กล่าวถึงที่ว่าท่าน ไปช่วยเพื่อนบ้าน หรือใครที่ไฟไหม้ตรงนั้น แล้วก็ศีลของเราจะดีขึ้นไหม ยิ่งศึกษา เข้าใจละเอียดในความเป็นเหตุ เป็นผลว่าธรรม เป็นอนัตตา ถ้าเหตุที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลเกิดแล้ว จะสะสมสืบต่อ สะสมสิ่งที่เป็นพิษ อยู่ในใจ แล้วก็จะเป็นปัจจัยให้มีการกระทำ ทุจริต ทางกาย ทางวาจา เป็นเจตนาที่จะเป็นอกุศล สะสมสืบต่อไป จนถึงกาลที่จะทำให้ จิต ที่เป็นวิบากจิต จิตประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นเป็นผลของกรรม คือเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง ถ้ารู้เหตุผลตามความเป็นจริงอย่างนี้ คนนั้นก็จะเห็นโทษของอกุศล แล้วก็เวลาที่กุศลจิตเกิด เขาก็จะไม่ติดไม่หวังว่าเขาทำกุศลแล้ว เขาจะอยากเกิดบนสวรรค์ หรืออะไรต่ออะไรอย่างนั้น มีทรัพย์สมบัติมากมาย เพราะเหตุว่า เหตุก็ต้องตรงกับผลอยู่แล้ว แล้วในขณะนั้นเขาก็จะรู้ด้วยว่าถ้าตราบใดยังติดอยู่ ยังหวังในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง ในกลิ่นบ้าง ในทรัพย์สมบัติบ้าง ในลาภ ในยศ ก็ยังคงไม่ออกจากสังสารวัฏ และแม้ความหวังสติ ก็เป็นความหวังที่ปราศจากเหตุผล เพราะว่าถ้ามีปัจจัยที่สติปัฏฐาน จะเกิดสติปัฏฐานก็เกิด เหมือนกับมีปัจจัยที่ได้ยินจะเกิด เดี๋ยวนี้ ใครจะให้ไม่ได้ยินก็ไม่ได้ เมื่อมีปัจจัยที่ได้ยินจะเกิด ได้ยินก็เกิด มีปัจจัยที่จะให้โลภะเกิด โลภะก็เกิด มีปัจจัยที่สติจะระลึก ยับยั้งไม่ได้เลย สติเกิดแล้วเพราะปัจจัย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 102
    25 มี.ค. 2567